Extreme Ironing – รีดผ้าท้านรก

Extreme Ironing – รีดผ้าท้านรก

    เวลาพูดถึงกีฬาเอ็กซทรีม (Extreme Sport) เชื่อแน่ว่าภาพที่แว่บเข้ามาในหัวสมอง คือ หนุ่มสาวเท่ๆ ใส่ชุดเก๋ๆ ท่าทางแคล่วคล่องกำลังเล่นกีฬาโลดโผนโจนทะยานสารพัดท่าชวนหัวใจวาย

    และถ้าเอ่ยคำว่า ไอรอนนิ่ง (Ironing) หรือ การรีดผ้า ภาพที่เข้ามาคงจะเป็นคุณป้าร่างอ้วนใส่เสื้อคอกระเช้ากับผ้าถุงลายปาเต๊ะ กำลังยืนเหงื่อไหลไคลย้อยถือเตารีดพ่นไอน้ำควันโขมง ข้างหนึ่งเป็นกองเสื้อผ้ารอรีดกองใหญ่ ส่วนอีกด้านเสื้อผ้าที่รีดแล้วเนี้ยบกริบแขวนรอท่าให้สวมใส่อย่างภาคภูมิ

    แต่นั่นก็เป็นเพียงภาพพื้นๆ ที่หาได้มีความสำคัญอย่างใดไม่ เพราะหากไม่บอก หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า การรีดผ้า งานบ้านที่สุดแสนจะป้านี่ก็มีหลักปรัชญาแฝงอยู่ คนไม่เคยรีดผ้าอาจจะไม่รู้ว่าเสน่ห์ของการรีดผ้าอยู่ที่ความสงบในจิตใจ เมื่อผ้ายับๆ กลับกลายเรียบลื่นไร้รอยขรุขระ ประดุจหนทางขจัดความมืดหม่นคับอกคับใจให้สะอาดใสบริสุทธิ์

    ถ้าไม่เชื่อ หลังจากอ่านอะเดย์เล่มนี้เสร็จ ลองหยิบเตารีด ตั้งโต๊ะรีดผ้า เสียบปลั๊ก แล้วหยิบผ้ายับๆ มาลองรีดดู (ตรวจสอบระดับไฟให้เข้ากับชนิดของเนื้อผ้าก่อนนะคะ จะได้ไม่มีปัญหาผ้าไหม้ให้หมองใจในภายหลัง)

    ด้วยเหตุผลประการฉะนั้นเอง บัดนี้จึงได้มีคนนำความรู้สึกผ่องแผ้วที่ได้จากการรีดผ้าดังกล่าวมาสอดประสานเข้ากับความท้าทายแบบกีฬาเอ็กซทรีม เกิดเป็นชื่อกีฬาใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในอังกฤษ เยอรมันและญี่ปุ่น ที่เขาเรียกกันว่า เอ็กซทรีม ไอรอนนิ่ง (Extreme Ironing – ชื่อย่อๆ คือ EI) โดยจะขอแปลอย่างฉวัดเฉวียนได้อารมณ์กันนิดนึงว่า “รีดผ้าท้านรก”


    เอ็กซทรีม ไอรอนนิ่ง ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1997 โดยพนักงานโรงงานเสื้อผ้าแบบถักในประเทศอังกฤษ ชื่อ ฟิล ชอว (Phil Shaw) ในเย็นวันหนึ่ง หลังจากวันทำงานอันนักหนาสาหัส เขากลับบ้านมาเจอผ้าที่กองรอให้รีด ในวินาทีนั้น เขาอยากออกไปสลัดความเครียดด้วยการปีนเขา ซึ่งเป็นงานอดิเรกที่เขาชื่นชอบเหลือเกิน แล้วความคิดหนึ่งก็แว่บวาบเข้ามาให้หัวสมอง ทำไมเราไม่รวมกิจกรรมสองอย่างคือรีดผ้ากับปีนเขาเข้าด้วยกันล่ะ

    นั่นคือประกายความคิดอันเป็นที่มาของกีฬา “รีดผ้าท้านรก”

    อุปกรณ์ที่จำเป็นในกีฬาชนิดนี้ คือ นักกีฬาที่มีชื่อขานในแวดวงว่า ไอรอนเนอร์ (Ironer – นักรีดผ้า) เตารีด แผ่นรองรีด และสถานที่แปลกๆ ที่จะทำให้คนเห็นแล้วอุทานขึ้นในใจว่า พระเจ้าช่วย ไม่
น่าเชื่อเลยว่าจะมีคนไปรีดผ้าในที่อย่างนั้นได้เลยนะจ๊อด คุณฟิล ชอว เจ้าของฉายานาม Steam (ไอน้ำ) ผู้คิดค้นกีฬาชนิดนี้ กล่าวให้คำจำกัดความกิจกรรมรีดผ้าท้านรกนี้ไว้ว่า “กีฬาโลดโผนล่าสุดที่ประสานความตื่นเต้นเร้าใจของกิจกรรมสนามผาดโผนเข้ากับความพึงพอใจกับเสื้อที่รีดเรียบ”

    ฟังดูแล้วอาจจะเพี้ยนๆ แต่เชื่อหรือไม่ว่าหลังจากที่คุณชอวเดินทางออกกทัวร์เพื่อโปรโมทกีฬาชนิดนี้ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1999 ในหลายๆ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ฟิจิ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้ ก็เริ่มมีผู้คนสนใจอย่างจริงจัง ขัดเกลาฝีมือเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันด้วยการยกเตารีดต่างดัมเบลล์ และฝึกปีนป่ายทรงตัวกับกระดานรองรีด เพราะเพียงแค่มีร่างกายที่แข็งแกร่งเพื่อให้ทนทานต่อการไปยังพื้นที่ซึ่งมีสภาพแวดล้อมสุดขั้วให้สำเร็จนั้น ยังไม่พอ เมื่อไปถึงจุดหมาย นักกีฬาต้องมีกำลังใจและความละเมียดละมัยในการรีดผ้าด้วย เพราะกีฬาชนิดนี้เป็นเหมือนศิลปะการแสดง อย่างการเต้นหรือยิมนาสติกลีลาเลยทีเดียว

    สถานที่ประลองการรีดผ้ามีทั้งบนภูเขาสูงชัน ในป่า ในเรือแคนู และในกิจกรรมที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เช่น ขณะกำลังเล่นสกีหรือเล่นสโนว์บอร์ด นอกจากนั้นก็มีบนรูปปั้น กลางถนน ใต้น้ำ กลางอากาศขณะโดดร่มดิ่งพสุธา และใต้แผ่นน้ำแข็งที่ปกคลุมผิวน้ำของทะเลสาบ วิธีการที่หวาดเสียวได้รับการยกย่องนับถือว่าสุดยอด คือ ขณะเล่นบันจี้จั๊ม ทั้งนี้นักรีดผ้าท้านรกสามารถ “เล่น” ได้ทั้งแบบเดี่ยวและแบบทีม

    “กีฬา” ชนิดนี้ได้รับความสนใจในระดับนานาชาติเมื่อมีรายการสารคดีเรื่อง Extreme Ironing: Pressing for Victory (เอ็กซทรีม ไอรอนนิง : รีดผ้าเพื่อคว้าชัย) ออกอากาศทางช่อง 4 ของอังกฤษและต่อมาออกอากาศในช่อง National Geographic Channel ด้วย โดยเป็นรายการที่นำเสนอความเพียรพยายามของทีมนักรีดผ้าอังกฤษที่คว้าชัยชนะได้เหรียญทองกับทองแดงจากการแข่งขันเอ็กซทรีมไอรอนนิ่งนานาชาติครั้งที่ 1 ที่ประเทศเยอรมัน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2002 โดยตัวแทนประเทศต่างๆ 10 ชาติส่งทีมของตนเข้าร่วมการแข่งขัน

    ประเภทการแข่งขันประกอบด้วย การรีดผ้าในเมือง เป็นการรีดผ้าใน/บน/รอบๆ ซากรถยนต์ การรีดผ้าในแม่น้ำไหลเชี่ยว ซึ่งผู้แข่งสามารถใช้เซิร์ฟบอร์ด เรือแคนูหรือห่วงยางได้ การรีดผ้าในป่า-รีดกันบนต้นไม้ รีดผ้าบนกำแพง - ผู้แข่งต้องปีนกำแพงหินที่สร้างมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะเพื่อขึ้นไปรีดผ้า และสุดท้ายคือการรีดผ้าฟรีสไตล์ คือจะทำอะไรก็ได้สุดแต่ใจจะคิดฝันจินตนาการ

    รางวัลของการแข่งขันในครั้งนี้ มีตั้งแต่ตั๋วเครื่องบินไปเที่ยวฮาวาย เครื่องซักผ้าและเครื่องใช้ในบ้านอื่นๆ


    ปัจจุบัน รีดผ้าท้านรก เป็นแรงบันดาลใจให้เกิด “กีฬา” ประเภทต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ดูดฝุ่นท้านรก (Extreme vacuum-cleaning) เล่นเชลโลท้านรก (Extreme Cello Playing) ไปจนถึง ทำบัญชีท้านรก (Extreme Accounting)


    และพรุ่งนี้ อาจจะมีหมากเก็บท้านรกเป็นกีฬาชนิดใหม่เกิดขึ้นบนโลกนี้อีกหนึ่งรายการก็ได้ ใครจะรู้




ที่มา - //www.extremeironing.com/









 

Create Date : 29 ตุลาคม 2551    
Last Update : 29 ตุลาคม 2551 14:14:53 น.
Counter : 1704 Pageviews.  

Arab Superhero - ซุเปอร์ฮีโร่อาหรับ

Arab Superhero - ซุเปอร์ฮีโร่อาหรับ

    ซุเปอร์ฮีโร่ในการ์ตูนทุกเล่มนั้นล้วนแต่มีที่มา เช่น ซุเปอร์แมนลี้ภัยมาจากโลกที่กำลังย่อยยับ สไปเดอร์แมนถูกแมงมุมอาบกัมมันตรังสีกัด แบ็ตแมนต่อสู้กับเหล่าร้ายเพื่อแก้แค้นศัตรูที่สังหารพ่อแม่ของตน ส่วนซุลเลมาน บากิต ชายหนุ่มชาวจอร์แดนคนหนึ่งก็มีเรื่องราวซึ่งทำให้ลูกชายนายกรัฐมนตรีกลายเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์การ์ตูนแห่งเดียวในโลกอาหรับเช่นกัน

    เหตุการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตของเขาเกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2002 ในคืนหนาวเหน็บ ที่มหาวิทยาลัยมินเนโซตา สหรัฐอเมริกา ขณะนั้นบากิตกำลังเรียนอยู่คณะวิศวกรรมศาสตร์ตามความประสงค์ของบิดามารดา วันพุธนั้นเป็นคืนที่นักศึกษาอเมริกันดื่มสังสรรค์กันหนัก และเป็นคืนหลังเหตุการณ์ถล่มตึกเวิร์ลเทรด หรือที่รู้จักเรียกกันทั่วไปว่า นายน์ วันวัน ( 9/11) ไม่ถึงหกเดือนนั้น กลุ่มนักศึกษาอเมริกันมึนเมาสี่คนกรูเข้ารุมทำร้าย ใช้ขวดแตกเป็นปากฉลามปาดแทงบากิต ด้วยความชิงชังชาวอาหรับต้นเหตุเรื่องโศกสลด แม้เวลาจะผ่านเลยไปแล้วหกปี แต่ทุกวันนี้รอยแผลเหล่านั้นยังคงปรากฏให้เห็นเด่นชัดบริเวณข้างลำคอของเขา

    ด้วยความอัดอั้นตันใจในความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับตน คืนนั้นบากิตปฏิเสธความช่วยเหลือจากตำรวจอเมริกันที่เข้ามาช่วยเหลือ เขาไม่ไปโรงพยาบาลและตัดสินใจรักษาบาดแผลด้วยตัวเอง โดยการใช้มีดเผาไฟจี้บาดแผลเพื่อห้ามเลือด

    เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ หากเป็นคนอื่น อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของความคลั่งแค้น ลุกขึ้นฆ่าผู้คนตอบแทน แต่สำหรับบากิต เมื่อสงบจิตใจลงแล้ว เขาก็คิดได้ว่าตนเองมีทางเลือกอื่น เขาควรจะทำสิ่งที่สร้างสรรค์ในทางบวก เพราะถ้าเขาบ้าจี้หลับหูหลับตาร่วมขบวนการสร้างความรุนแรงไปด้วย ฝ่ายชนะก็คือกลุ่มคนที่เป็นสาเหตุทำให้เขาถูกรุมทำร้ายนั่นเอง

    บาริตจึงเร่ไปตามโรงเรียนต่างๆในสหรัฐ เข้าพูดคุยกับเด็กประถมอายุหกขวบเกี่ยวกับความคิดที่พวกแกมีต่อคนอาหรับ พยายามปรับความเข้าใจผิดๆ ตอบคำถามใสๆตรงไปตรงมาเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 9/11 ของเด็กๆ เพื่อให้พวกแกได้เข้าใจว่า บินลาดินและอัลกออิดะห์ที่อยู่เบื้องหลังการถล่มตึกเวิร์ลเทรดนั้นไม่ได้เป็นตัวแทนของคนอาหรับทั้งโลก ให้เด็กๆได้รู้จักแยกแยะ ไม่เหมารวมคนอาหรับทุกคนว่าเป็นผู้ก่อการร้ายใจโหด

    การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนี้เองที่ต่อยอดนำไปสู่โครงการการ์ตูน “ซูเปอร์ฮีโร่อาหรับ” เมื่อเด็กๆอเมริกันสนใจไถ่ถามเกี่ยวกับชีวิตเด็กอาหรับ จนถึงคำถามซื่อๆว่า คนอาหรับมีซุเปอร์แมนหรือเปล่า บาริตจึงเกิดไอเดียในเรื่องนี้

    เขาจริงจังกับโครงการความฝันนี้มาก ถึงกับเลิกเรียนต่อ เดินทางกลับจอร์แดนบ้านเกิดเมืองนอน และรวบรวมเงินเก็บสะสม วิ่งเต้นหาเงินลงทุนเพิ่มเติม จนได้พระราชอุปถัมภ์จากกองทุนพัฒนาของกษัตริย์จอร์แดนมาหนึ่งก้อน ก่อนจะเปิดบริษัทอรานิม มีเดีย แฟคทอรี (Aranim Media Factory) ที่มีคำขวัญประจำบริษัทว่า The Impossible Dream (ความฝันที่เป็นไปไม่ได้) ขึ้น โดยมีพนักงานประจำห้าคน และพนักงานพาร์ทไทม์เป็นศิลปินนักวาดการ์ตูนคอยส่งงานจากทั่วโลกห้าคน

    เหตุผลหนึ่งที่บากิตเห็นเป็นโอกาสทอง คือจำนวนประชากรในโลกอาหรับซึ่งมีมากถึง 325 ล้านคน มากกว่าชาวอเมริกัน และกลุ่มเป้าหมายของหนังสือการ์ตูนคือคนที่อายุน้อยกว่า 29 ปีมีสูงถึง 60% แม้ว่าจะต้องเจอกับปัญหาใหญ่ คือ ช่องทางการจัดจำหน่าย และที่สำคัญคือปัญหาการขาดวัฒนธรรมการอ่านหนังสือการ์ตูนในโลกอาหรับ ยิ่งกว่านั้นวัฒนธรรมอาหรับเองก็ไม่ได้เป็นสังคมแห่งการอ่าน เวลาเฉลี่ยของการอ่านหนังสือต่อสัปดาห์ของคนอาหรับอยู่ที่ประมาณห้านาทีเท่านั้น

    อุปสรรคที่ดูหนักหนามากขึ้นไปอีก คือ ประเทศมุสลิมหลายประเทศไม่มีประเพณีการใช้รูปภาพนำเสนอมนุษย์ ต่างจากประเทศตะวันตกที่คริสตศาสนจักรทำนุบำรุงส่งเสริมภาพวาดเกี่ยวกับศาสนา นอกจากนั้น การที่ศาสนาอิสลามห้ามมิให้มีการนำเสนอภาพของพระโมฮัมเหม็ด ทำให้ในบางประเทศ หลักปฏิบัตินี้ขยายออกไปเป็นการไม่เชื่อถือในการแสดงภาพมนุษย์

    อันที่จริงแล้ว ความคิดเรื่องการ์ตูนอาหรับนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ก่อนหน้านี้มีการออกการ์ตูนในอียิปต์ที่เคยมียอดขายสูงถึง 15,000 เล่มแต่สุดท้ายปิดตัวไปเมื่อปี ค.ศ. 2006 รายที่สองคือในคูเวตออกหนังสือการ์ตูนชื่อ The 99 เมื่อไม่กี่เดือนก่อน บากิตให้ความเห็นว่าการ์ตูนของทั้งสองเจ้านี้มีอิทธิพลการ์ตูนอเมริกันมากเกินไป ตัวการ์ตูนล้วนกล้ามโตใส่ชุดผ้ายืดสแปนเด็กซ์ ความแตกต่างเดียวคือมีชื่อเป็นภาษาอาหรับ




    ขณะที่การ์ตูนของอรานิม มีเดีย แฟคทอรี ซึ่งกำลังจะออกภายในเดือนสองเดือนนี้ เรื่องแรกเป็นการติดตามกลุ่มนักรบเบดูอิน โครงเรื่องเป็นเรื่องแต่งที่มีรากฐานมาจากประวัติศาสตร์ อีกเล่มหนึ่งเป็นเรื่องราวของกลุ่มวัยรุ่นในอนาคต ค.ศ. 2050 เมื่อน้ำมันและผู้ใหญ่หายสาบสูญไปจากโลก โดยบาติกเน้นให้ให้การ์ตูนของเขาทุกเล่มแสดงวิถีของฮีโร่อาหรับ เช่น ฮีโร่อเมริกันมักจะมาแบบฉายเดี่ยวเพราะสังคมอเมริกันเป็นสังคมปัจเจก แต่คนอาหรับจะรวมกลุ่มกันมากกว่าเพราะมีรากฐานวัฒนธรรมชนเผ่ามากก่อน ฮีโร่ของเขาจึงเป็นกลุ่มฮีโร่มากกว่าจะเป็นฮีโร่เดี่ยวแบบข้ามาคนเดียว

    เมื่อความฝันแรกเป็นความจริงแล้ว ความฝันที่สองก็ติดตามมาโดยพลัน บาติกให้สัมภาษณ์นักข่าวบอกว่า ไม่แน่ ในอีกห้าปี โลกอาหรับอาจจะมีสวนสนุกอรานิมแลนด์ (Aranimland) เป็นดิสนีย์แลนด์ของตัวเอง


    เป็นความฝันที่เป็นไปไม่ได้ที่เขาตั้งใจจะทำให้สำเร็จเป็นลำดับต่อไป




ที่มา - หนังสือพิมพ์ The National (สหรัฐอาหรับเอมิเรต) ฉบับวันที่ 09 มิ.ย.08









 

Create Date : 28 ตุลาคม 2551    
Last Update : 28 ตุลาคม 2551 11:58:45 น.
Counter : 2526 Pageviews.  

Cybercafé Artist - ศิลปินร้านเน็ต

Cybercafé Artist

    ขณะนั่งกินมื้อเที่ยงในร้านอาหาร มีชายสองคนในชุดเสื้อผ้าเรียบง่ายเลอะฝุ่นเป็นปื้นๆเข้าร้านมานั่งโต๊ะข้างๆ มองเผินๆ ใครก็เดาออกว่าพวกเขาทำงานก่อสร้างตึกที่ตั้งอยู่ไม่ไกล

    เมื่อเห็นกิริยาท่าทางการกินอาหารเรียบร้อยหมดจด วิธีพูดจาสุภาพมีการศึกษา รวมทั้งหัวข้อ (ที่ฉันเงี่ยหูแอบฟัง) เขาพูดคุยกัน ใจฉันก็ไพล่นึกถึงเรื่องราวของคนๆหนึ่งที่เพิ่งอ่านมาหมาดๆ

    คนๆนั้นเป็นชาวญี่ปุ่น ชื่อ โชเฮอิ คาวาซากิ (Shohei Kawasaki)

    เขาอายุเพียง 26 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งโตเกียวอันเลื่องชื่อ ได้รับเลือกเป็นหนึ่งใน “108 ศิลปินรุ่นใหม่ของญี่ปุ่น” จากนิตยสารศิลปะบิจูทซึ-เทโช (Bijutsu-techo) ในปี 2006

    แล้วยังไงล่ะ หลายคนอาจจะกำลังนึกในใจ

    หากศิลปินผู้มีดีกรีด็อกเตอร์คนนี้มีชีวิตแบบที่เขาเปรียบเปรยไว้ว่า “ตกต่ำที่สุด” คือ หาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างทำงานรายวันขนเหล็กตามสถานที่ก่อสร้าง เป็นพนักงานขายตามร้าน เป็นคนงานตกแต่งงานแสดงนิทรรศการศิลปะ

    “จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมได้ตระหนักว่า ยิ่งผมขยับเขยื้อนร่างกายในตอนกลางวัน ตอนกลางคืน จิตใจของผมจะยิ่งโล่ง ผมเลยชอบทำงานที่ต้องออกแรง แต่ถึงอย่างไร ผมทำงานพวกนี้เพียงเพื่อหาเงินเลี้ยงตัวไปวันๆ สิ่งสำคัญที่สุดของผมคือการได้ทำงานศิลปะของตัวเองต่อไป”

    ตกกลางคืน คาวาซากิมีชีวิตเป็นคนเร่ร่อนอาศัยหลับนอนตามเน็ตคาเฟ่ในโตเกียว ซึ่งเปิดบริการโดยแบ่งล็อกเล็กๆกว้างขนาดเสื่อตาตามิหนึ่งผืน หรือราว 1.65 ตารางเมตร ข้าวของในห้องประกอบด้วย คอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องกับเก้าอี้เท้าแขนหนึ่งตัว ราคาค่าเช่าคืนละประมาณ 2000 เยนต่อคืน เขาย้ายออกจากบ้านพ่อแม่หลังจากจบการศึกษาและกลายเป็นศิลปินตามสาขาวิชาที่ร่ำเรียนมา

    “ผมเคยชินกับเน็ตคาเฟ่ตั้งแต่ตอนที่ผมเรียนอยู่ ที่นี่เป็น ‘สตูดิโอ’ ของผมด้วยเช่นกัน เน็ตคาเฟ่เหมาะสำหรับการหาข้อมูล บรรยากาศสงบไม่มีใครเข้ามารบกวน แต่ในขณะเดียวกัน เราก็รู้สึกอุ่นใจว่ามีคนอยู่ที่ด้านหนึ่งของผนังห้อง”


    ขณะใช้ชีวิตเยี่ยงนี้ เขาทยอยออกผลงานศิลปะรูปแบบต่างๆ ทั้งผลงานวิดีโอ ภาพถ่าย ภาพวาด แต่ที่ประสบความสำเร็จที่สุดเห็นจะเป็นงานเขียน หลังจากจบด็อกเตอร์ เขาได้ตีพิมพ์บทความเล่มแรกที่เขียนในเน็ตคาเฟ่ เรื่อง “ไม่ต้องรู้จัก ก็สามารถดูงานศิลปะได้” โดยเขาพยายามบอกคนอ่านว่า สิ่งสำคัญ คือ การดูงานศิลปะและปล่อยอารมณ์ที่งานชิ้นนั้นบันดาลใจให้รู้สึกออกมา โดยเนื้อแท้ของงานศิลปะ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความรู้แบบเบ็ดเสร็จ ต้องพยายามตีความผลงานที่เราไม่เข้าใจด้วยตัวเอง

    ผลงานเขียนชิ้นต่อมาของเขาคือ “ผู้ลี้ภัยในเน็ตคาเฟ่ - ชีวิตที่อยู่ระดับต่ำสุด” เป็นความเรียงที่มีพื้นฐานจากประสบการณ์ชีวิตของเขาเอง อธิบายวิธีการนอนในห้องแคบๆขนาดนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อใส่ชุดชั้นในตัวเดิมหลายๆวัน หรือวิธีใช้ชีวิตแบบปกติทั้งๆที่ไม่ได้อาบน้ำเป็นเวลานาน

    สำหรับคาวาซากิ งานเขียนเล่มนี้เป็นผลงานศิลปะด้วย “เนื่องจากมันอยู่ในรูปแบบหนังสือ คนอาจจะมองกันว่าเป็นงานเขียนด้านสังคมวิทยา แต่ถ้าเปิดอ่านดู จะได้รู้ว่าเป็นเหมือนบันทึกส่วนตัวหรือการค้นหาที่พัฒนาไปเรื่อยๆ ส่วนตัวผม ผมมองว่าเป็นการตั้งคำถามต่อสาธารณชน”

    อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ไม่มีอะไรที่เลวร้ายไร้ประโยชน์หรือดีงามไร้โทษ สำหรับคาวาซากิ การเป็นผู้ลี้ภัยในเน็ตคาเฟ่ ถึงจะเป็นชีวิตตกต่ำ แต่ก็เป็นแรงขับดันในการสร้างงานศิลปะของเขาเช่นกัน และเขาถือเป็นข้อได้เปรียบ ทำให้เขาแตกต่างจากศิลปินร่วมรุ่น

    “มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งโตเกียวมากมายที่เก่งทางด้านเทคนิค แต่ขาดซึ่งแรงขับดันในการสร้างผลงาน ไม่เหมือนในอดีต เช่น ในช่วงปี 1960 แค่ประกาศตนเป็นฝ่ายซ้ายจัดหรือต่อต้านระบบทุนนิยมก็ทำงานได้แล้ว ถ้าอยากให้คนซื้อมั่นใจ แค่สร้างศัตรูในจินตนาการขึ้นมาสักอย่าง หาเป้าหมายสักเรื่องก็พอ แต่ในปัจจุบัน ไม่มีศัตรูในจิตนาการอย่างนั้นอีกแล้ว เทคนิคเป็นเรื่องสำคัญก็จริง แต่ผลงานที่ไร้ที่ติทางด้านเทคนิคน่าสนใจหรือเปล่า เป็นอีกเรื่องนึง”


    “ผมว่า โตเกียวเป็นจุดรองรับ เป็นก้นบ่อของญี่ปุ่น ผู้คนหลั่งไหลมาที่นี่เหมือนน้ำที่ไหลลงพื้นที่ลาดต่ำ และในบรรดาสถานที่ที่ผู้คนไปรวมตัวกันในโตเกียว เน็ตคาเฟเป็นสถานที่ที่อยู่ระดับต่ำสุด จุดนี้เองที่ผมนำมาเป็นแรงขับดันในการสร้งงานศิลปะ เพราะที่นี่เป็นจุดที่อยู่ลึกที่สุดในสังคม ที่ซึ่งดวงอาทิตย์ไม่อาจส่องแสงอุทัยมาถึงได้”

    คาวาซากิปฏิเสธไม่ใช้เงินที่ได้จากค่าลิขสิทธิ์หนังสือมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เขานำเงินดังกล่าวไปซื้อผลงานของเพื่อนศิลปินร่วมยุคเดียวกัน โดยตั้งใจจะเปิดพิพิธภัณฑ์เพื่อเปิดแสดงผลงานเหล่านั้นในอนาคตที่ยังอยู่อีกยาวไกลนักข้างหน้า

    เมื่อปลายปีที่แล้ว คาวาซากิรับเชิญไปร่วมเสวนาที่มหาวิทยาลัยที่เขาจบการศึกษา เขายืนยันระหว่างการประชุมว่า

    “ผมเลือกทำงานรายวันเพื่อจะได้เป็นศิลปิน ผมเชื่อมั่นว่าเป็นวิถีชีวิตที่มีเกียรติ”




ที่มา - Courrier international ฉบับวันที่ 27 มีนาคม – 2 เมษายน 2551









 

Create Date : 27 ตุลาคม 2551    
Last Update : 27 ตุลาคม 2551 15:44:13 น.
Counter : 997 Pageviews.  

Restos du Coeur – โรงอาหารจากธารน้ำใจ

Restos du Coeur – โรงอาหารจากธารน้ำใจ

     ในปี ค.ศ. 1985 เมื่อ โกลุช (Coluche 1944-1986) นักแสดงและตลกชาวฝรั่งเศสกล่าวผ่านรายการวิทยุช่องเออโรป 1 ว่า

    “ผมได้รับจดหมายจากคนตกงานหลายคน เขียนมาว่า พวกคุณช่างใจดี ร้องเพลงการกุศลช่วยคนที่อดอยาก แต่เงินเหล่านั้นถูกส่งไปต่างประเทศ (ช่วงนั้นศิลปินนักร้องจัดงานร้องเพลงการกุศลเพื่อรวบรวมเงินช่วยเด็กๆ ในเอธิโอเปีย) แล้วเมื่อไหร่พวกคุณจะช่วยคนในประเทศบ้างล่ะ ผมเลยเกิดความคิดเล็กๆขึ้นมาว่าจะหาคนรับเป็นสปอนเซอร์ เปิดโรงอาหารที่แจกจ่ายอาหารฟรีๆให้คนที่ขัดสน เริ่มจากในปารีสก่อน แล้วค่อยๆขยายไปหัวเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศ...”

    ในตอนนั้น ไม่มีใครคาดว่าความคิดเล็กๆ ของตัวตลกคนหนึ่งจะสามารถสืบสานต่อเป็นชิ้นเป็นอัน และขยายใหญ่โต กลายเป็นองค์กรการกุศลที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในฝรั่งเศสจนถึงทุกวันนี้

    หลังจากออกอากาศกระจายความคิดของตนในครั้งนั้นแล้ว โกลุชกับผองเพื่อนและอาสาสมัครก็ได้เปิดสมาคมที่เรียกขานกันทั่วไปว่า “เรสโตส์ ดุ เคอร์” (Restos du Coeur) หรือในชื่อยาวๆแบบเป็นทางการว่า เลส์ เรสโตรองต์ส์ ดุ เคอร์ – เรอเลส์ ดุ เคอร์ (Les Restaurants du Cœur - Relais du Cœur) ขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคมโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอาหาร ด้วยการให้มีอาหารกินและเปิดให้มีการร่วมกันต่อสู้ความยากจนในทุกรูปแบบ ผ่านสโลแกนเรียกร้องต่อสาธารณชนคือ

    On compte sur vous! (อง กงป์ ซุร์ วูส์ – ขอฝากไว้ในมือคุณ)

    เรสโตส์ ดุ เคอร์ เปิดตัวครั้งแรกที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1985 และขยายสาขาไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว ในช่วงปีแรกได้แจกจ่ายอาหารไป 8 ล้าน 5 แสนมื้อ (นับแต่ละมื้อของแต่ละคน) ขณะที่เป้าหมายของผู้ก่อตั้งคือ 2 แสนมื้อต่อวัน รายได้ของสมาคมในช่วงปีแรกนี้มาจากการขายเพลงที่ ฌอง-ฌาคส์ โกลแมน นักร้องชื่อดังของฝรั่งเศสเพื่อนของโกลุชแต่งให้ และการรวบรวมเงินบริจาคผ่านรายการโทรทัศน์ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 26 มกราคม ค.ศ.1986 โดยโคลุชรับหน้าที่เป็นพิธีกร

    รายการพิเศษนี้ออกอากาศตลอดช่วงบ่าย รวบรวมผู้มีชื่อเสียงในทุกแขนง ทั้งนักการเมืองจากทุกฝ่าย พิธีกรและดีเจจากช่องโทรทัศน์และวิทยุทุกค่าย ศิลปินนักร้องกับนักกีฬาทุกประเภทมาเปิดแสดงและนั่งรับโทรศัพท์อย่างมากมายชนิดที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน

    ตั้งแต่ก่อตั้งมาเป็นเวลา 22 ปี เรสโตส์ ดุ เคอร์ ขยายตัวอย่างสม่ำเสมอเรื่อยมา จำนวนอาหารที่แจกจ่ายไปแล้วรวมกันได้เกิน 1 พันล้านมื้อ มีผู้ได้รับความช่วยเหลือประมาณ 7 ล้านคน มีศูนย์สาขา 2 พันแห่ง จนปีล่าสุด ในช่วงหน้าหนาวช่วงปี ค.ศ. 2006-2007 สมาคมได้แจกจ่ายอาหารไปแล้ว 87 ล้าน 7 แสนมื้อ

    ในปีที่เปิดตัว เรสโตส์ ดุ เคอร์ มีอาสาสมัครรวมทั้งสิ้นราว 5 พันคน และในปัจจุบันเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นมากกว่า 4 หมื่นคนทั่วประเทศ อาสาสมัครเหล่านี้ทำงานตั้งแต่ดูแลการบริหารจัดการ ลงสนามแจกจ่ายอาหาร ให้บริการผู้ยากไร้ตามกำลังความสามารถและอาชีพของตน เช่น ช่างตัดผมช่วยลงแรงตัดผมคนยากจนโดยไม่คิดเงิน เชฟใหญ่จากร้านอาหารระดับติดดาวเดินทางมาช่วยสอนวิธีดัดแปลงทำอาหารจากวัตถุดิบพื้นฐานที่สมาคมแจกจ่ายในแต่ละวันเพื่อสร้างความสุขในการกินและได้สารอาหารครบถ้วนมีสมดุล เป็นต้น

    ทุกวันนี้สมาคมได้ขยายกิจกรรมการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆมากมาย เช่น เปิดศูนย์แจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคสำหรับเด็กทารกให้กับพ่อแม่ผู้มีรายได้น้อย จัดรถตู้เปิดจุดแบ่งปันอาหารให้กับคนเร่ร่อน ให้ความช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัย การช่วยเหลือเพิ่มเติมทางด้านการศึกษา จัดการพักร้อน “เหมือนกับคนอื่นๆ” ให้กับเด็กๆจากครอบครัวที่ขาดโอกาส จนเป็นตัวอย่างให้เกิดองค์กรในลักษณะเดียวกันที่เบลเยี่ยมและเยอรมัน

    ความสำเร็จของเรสโตส์ ดุ เคอร์ มาจากความตั้งใจจริงของเจ้าของความคิด คือ โกลุช ซึ่งมองเห็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์สมาคมของตนผ่านความนิยมชมชอบจากประชาชน เขาไม่เคยปล่อยโอกาสไม่พูดประสัมพันธ์กิจกรรมของสมาคมในระหว่างการปรากฎตัวผ่านสื่อมวลชนเลยสักครั้งเดียว

    นอกจากต่อสู้ผ่านสื่อแล้ว เขายังใช้วิธีการต่อสู้ทางกฎหมาย โดยในปี ค.ศ.1988 เป็นตัวตั้งตัวตีเสนอให้ปรับเปลี่ยนกฎหมายให้ผู้บริจาครายย่อยสามารถได้รับสิทธิในการหักลบในรายได้สำหรับคำนวณภาษี ซึ่งแต่เดิมกำหนดสงวนสิทธิให้กับผู้บริจาครายใหญ่เท่านั้น จนกฎหมายที่ช่วยจูงใจให้คนบริจาคเงินเพื่อการกุศลมากขึ้นที่ออกมาใหม่ได้ชื่อว่าลา ลัว โกลุช (la loi Coluche – กฎหมายโกลุช)

    ต่อมา เมื่อโกลุชเสียชีวิตในอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ชนรถบรรทุกเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน1986 ซึ่งสร้างความตกตะลึงและความเศร้าโศกกับชาวฝรั่งเศสทั่วประเทศ ทำให้หลายคนจับตามองว่าเมื่อขาดเสาหลักและโฆษกเอกประจำสมาคมแล้วเรสโตส์ ดุ เคอร์จะยังยืนหยัดต่อได้หรือไม่ แต่ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมและอาสาสมัครของเรสโตส์ ดุ เคอร์ ก็ไม่ท้อถอยตัดสินใจที่จะเดินหน้าต่อไป โดยนอกจากการเปิดรับบริจาคเงินและสิ่งของตามปกติแล้ว ยังมีกลุ่มศิลปินดารานักร้องที่รวมตัวกันในนาม เลส์ อองฟัวเรส์ (Les enfoirés) เข้ามาช่วยเหลือหาเงินสนับสนุนอีกแรง ศิลปินนักร้องกว่า 40 ชีวิตกลุ่มนี้จะผลัดเปลี่ยนกันมาร่วมเปิดคอนเสิร์ตใหญ่ประจำปีสลับเปลี่ยนสถานที่แสดงไปตามเมืองต่างๆ มีการถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์และเป็นรายการที่มีเรทติ้งคนดูสูงถึงกว่าสิบล้านคนในคืนออกอากาศ จนได้รับความสนใจเป็นสปอนเซอร์บันทึกการถ่ายทำจากสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ กลายเป็นงานระดับชาติที่ทุกคนรอคอยอีกงานหนึ่ง

    เมื่อจบคอนเสิร์ตแล้ว เลส์ อองฟัวเรส์ จะออกซีดีและดีวีดีบันทึกภาพคอนเสิร์ต จำหน่ายหารายได้เข้าเรสโตส์ ดุ เคอร์ โดยไม่รับค่าตัวและส่วนแบ่งลิขสิทธิ์ ช่วยหาเงินเข้าสมาคมได้หลายล้านยูโร ส่วนคนที่อุดหนุนจะได้ชื่อว่าเป็นผู้บริจาคอาหาร 18 มื้อต่อซีดีหรือดีวีดีที่ซื้อไปหนึ่งแผ่น และได้รับความสนใจจากแฟนๆของนักร้องเล่านั้นไม่น้อย

    ก็ใครเล่าจะใจแข็งไม่ยอมควักเงินซื้อเมื่อนักร้องคนโปรดของตนหันมาสบตาผ่านกล้องแล้วกล่าวว่า


    On compte sur vous!






ที่มา - รายการโทรทัศน์ช่อง TF1 (ฝรั่งเศส)

ข้อมูลเพิ่มเติม - Wikipedia.fr, restosducoeur.org










 

Create Date : 24 ตุลาคม 2551    
Last Update : 24 ตุลาคม 2551 11:37:18 น.
Counter : 1541 Pageviews.  

On demand book machine – The future of publishing

On demand book machine – The future of publishing

    หลังจากที่ในสมัยหนึ่งมีคนกริ่งเกรงกันนักหนาว่าหนังสือบนอินเตอร์เน็ตหรืออีบุค (E-book) จะเข้ามาแทนที่หนังสือที่พิมพ์ออกมาเป็นเล่ม ทุกวันนี้ สิ่งที่ปรากฏอยู่คงจะทำให้สิ้นข้อสงสัยในเรื่องนี้กันแล้ว เพราะกาลเวลาและพฤติกรรมของคนอ่านทั่วโลกที่ยืนยันว่ายังพิสมัยการสัมผัสกระดาษพร้อมกับสูดกลิ่นหมึกพิมพ์ และปฏิเสธการเพ่งอ่านตัวหนังสือบนหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ ได้ “เคาะ” ออกมาแล้วว่า หนังสือยังจะเป็นสิ่งที่เหมาะในการอ่านสำหรับมนุษย์มากกว่าการอ่านผ่านสื่ออื่นๆ

    แต่ในยุคที่นักเขียนส่วนใหญ่หันมาส่งต้นฉบับเป็นไฟล์อิเลคทรอนิคส์ผ่านไปรษณีย์อิเลคทรอนิคส์ บรรณาธิการตรวจแก้และส่งไฟล์อิเลคทรอนิคส์ไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ของโรงพิมพ์ที่มีเครื่องรับที่แปลงข้อมูลอิเลคทรอนิคส์ไปยังแท่นพิมพ์ที่รองรับระบบอิเลคทรอนิคส์ ในวงการพิมพ์ที่หันมาใช้อิเลคทรอนิคส์กันในทุกขั้นตอนอย่างนี้ ในยุคที่วงการอื่นๆ เช่น วงการเพลง ที่ปรับตัวจนหาเงินได้เป็นกอบเป็นกำจากไฟล์อิเลคทรอนิคส์ด้วยการขายผลงานให้ดาวน์โหลดง่ายๆ ทางอินเตอร์เน็ตอย่างในสมัยนี้ วงการหนังสือควรจะหยุดนิ่งอยู่กับความพอใจที่ได้เป็นสื่อโบราณแสนรักสุดหวงของนักอ่านในรูปแบบเดิมๆ อีกหรือไม่

    เป็นไปได้หรือไม่ที่หนังสือจะสามารถคงรูปแบบกระดาษเข้าเล่มอันศักดิ์สิทธิ์ ให้จับต้อง ชื่นชมและสะสมจนซีดกรอบได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะเชิดหน้า วางท่าเหนือกว่าหรือตั้งตัวเป็นอริกับเทคโนโลยีส่งถ่ายข้อมูลผ่านเครือข่ายที่นับวันจะส่งได้ใหญ่ขึ้นและเร็วขึ้นโดยสิ้นเชิง ถึงเวลาหรือยังที่หนังสือจะปรับตัวและใช้ประโยชน์จากต้นฉบับที่เป็นไฟล์อิเลคทรอนิคส์อย่างคุ้มค่า หยุดพอใจให้ระบบเครือข่ายอย่างอินเตอร์เน็ตเป็นเพียงสื่อโฆษณาหรือหน้าร้านออนไลน์เท่านั้น

    จากคำถามเหล่านี้ เกิดเป็นแนวความคิดในการสร้างเครื่อง “พิมพ์ตามสั่ง” (print on demand) ออกมาสองยี่ห้อในสหรัฐอเมริกา คือ Instabook (น่าจะมาจากคำว่า Instant –สำเร็จรูป ควบกับ book – หนังสือ) กับ Espresso book machine (Espresso - เหมือนกาแฟเอสเพรสโซ คาดว่าจะให้ความรู้สึกเหมือนรวดเร็วเหมือนกดกาแฟจากตู้ขายกาแฟกระมัง)

Espresso book machine
    ถึงแม้รูปร่างหน้าตาของเครื่องจะแตกต่างกัน แต่เครื่องพิมพ์ตามสั่งของทั้งสองเจ้ามีแนวคิดเหมือนๆ กัน คือ การจัดจำหน่ายหรือให้เช่าอุปกรณ์เครื่องมือที่สามารถพิมพ์เนื้อหาในเล่ม พิมพ์ปก เข้าเล่ม ตัดขอบ ออกเป็นหนังสือที่ลูกค้าต้องการซื้อเสร็จสิ้นสวยงาม มีคุณภาพเทียบเท่ากับผลงานจากโรงพิมพ์ได้ภายในไม่กี่นาที เพื่อใช้ประโยชน์จากไฟล์อิเลคทรอนิคส์ในวงการหนังสืออย่างเต็มที่ เพิ่มโอกาสให้กับผู้อ่านในการครอบครองหนังสือที่ขายหมดสต็อคไปแล้ว ตัดปัญหาและค่าใช้จ่ายในการจัดส่งราคาแพง

    ปัจจุบัน หนังสือส่วนใหญ่ในแคตาล็อกที่เชื่อมต่อกับศูนย์กลางเครือข่าย ที่เปิดจำหน่ายให้ลูกค้ากดปุ่มพิมพ์เอง เป็นหนังสือเก่า...เอ้ย..คลาสสิค ที่หมดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์แล้ว รายงานจากองค์กรระดับนานาชาติ เช่น ธนาคารโลก ที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายปีละเป็นล้านเหรียญสหรัฐในการพิมพ์และแจกจ่ายรายงานที่ไม่ค่อยจะไม่คนสนใจอ่านหรือเมื่อมีคนสนใจจะอ่านแต่ไม่รู้จะไปหาซื้อที่ไหน และหนังสือของนักเขียนใหม่ที่เบื่อจะง้อสำนักพิมพ์ และมีความมั่นใจว่าหนังสือของตนเองดีพอที่จะมีคนซื้อไปอ่าน แต่ไม่อยากลงทุนเปิดสำนักพิมพ์ พิมพ์เอง ขายเอง เผชิญความเสี่ยงที่จะทำตัวไม่ถูกหากหนังสือเกิดขายดิบขายดีจนร่ำรวย

    จุดติดตั้งเครื่อง “ชง” หนังสือสำเร็จรูปที่มีขนาดและรูปร่างหน้าตาไม่ต่างจากเครื่องถ่ายเอกสารขนาดใหญ่สักเท่าไหร่นี้ ได้แก่ ห้องสมุด องค์กรรัฐ ร้านหนังสือท้องถิ่น ซุปเปอร์มาร์เก็ตและแม้แต่ตามร้านถ่ายเอกสาร ทั้งนี้ มีคนฝันไกลจนถึงขนาดว่าจะส่งเครื่องของตนไปเผยแพร่ความรู้ ขายหนังสืออันทรงคุณค่าตามประเทศกำลังพัฒนาในโลกที่สามด้วย

    ประโยชน์ของระบบพิมพ์ตามสั่งแบบนี้ นอกจากจะเปิดให้ขายหนังสือที่ขาดตลาดได้เรื่อยๆ โดยสำนักพิมพ์ไม่ต้องเสี่ยงจัดพิมพ์ออกมาแล้วขายไม่คุ้มทุนแล้ว ยังช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องสต็อคหนังสือ ซึ่งเป็นปัญหาชวนปวดหัวของวงการหนังสือไม่ว่าจะเป็นประเทศโลกที่หนึ่งอย่างสหรัฐอเมริกาหรือโลกที่สามอย่างประเทศไทยออกไปได้เป็นอย่างมาก เพราะไม่ว่าจะร้านหนังสือในโลกที่เท่าไหร่ต่างมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการที่บีบบังคับจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับหนังสือแนวยอดนิยมกำลังได้รับการกล่าวขวัญถึง เช่น หนังสือหวานแหวว เรื่องรักวัยรุ่นหรือเรื่องแฉคนดัง มากกว่าหนังสือที่ได้รับการยอมรับว่ามีคุณค่าทางวรรณกรรมแต่ยอดขายไม่วิ่ง

    ทำให้อายุการวางบนชั้นแบบเปิดปกออกสู่คนซื้อหดสั้น จำต้องหันสันปกออกเพื่อประหยัดพื้นที่หลังการวางแผงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้หนังสือขายไม่ค่อยออกเพราะคนอยากซื้อหาไม่เจอ และในที่สุดก็หายสาบสูญไปจากร้านอย่างน่าเสียดาย

    ปัญหานี้จะหมดไป เมื่อผู้ซื้อสามารถสั่งพิมพ์หนังสือโดยตรงจากเครื่อง “พิมพ์ตามสั่ง” ที่อยู่จุดจำหน่ายใกล้บ้าน ในฐานข้อมูลไฟล์อิเลคทรอนิคส์มีต้นฉบับสำหรับพิมพ์หนังสือดีๆ หายาก รวมถึงหนังสือจากสำนักพิมพ์ที่เล็งเห็นอนาคตของการพิมพ์แบบใหม่นี้ที่ทยอยเข้าร่วมโครงการมากมายให้เลือกในราคาที่ยุติธรรม เพราะทางสำนักพิมพ์สามารถลดภาระค่าสายส่งที่แบ่งส่วนค่าหนังสือไปไม่น้อย และการคงไฟล์อิเลคทรอนิคส์อยู่ในเครือข่ายของเครื่องพิมพ์ตามสั่งแบบนี้มีแต่จะเปิดโอกาสให้คนอ่านกดซื้อ ไม่ได้ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไปมากกว่าการเก็บไฟล์ไว้เฉยๆ เลย


    แถมยังช่วยประหยัดน้ำมัน ลดค่าขนส่งหนังสือ เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนที่กำลังตื่นตัวกันเหลือเกินในขณะนี้อีกด้วย










 

Create Date : 22 ตุลาคม 2551    
Last Update : 22 ตุลาคม 2551 12:07:53 น.
Counter : 1092 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  

Mutation
Location :
somewhere in Hong Kong SAR

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ฉั น คื อ ใ ค ร

     สาวพฤษภชาวแกลงแห่งเมืองระยอง ลอยละล่องเรื่อยไปจนปาเข้าสามสิบ กว่าจะได้พบอาชีพที่ต้องจริตจนคิดตั้งตัวเป็นนักแปลรับจ้างเร่ร่อนไร้สังกัด ปัจจุบันเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อ "กำมะหยี่"

     จุดหมายในชีวิต หลังจากผันผ่านคืนวันมาหลายปีดีดัก ขอพักไม่หวังทำอะไรใหญ่โต ขอเพียงมีชีวิตสุขสงบ ได้ทำสิ่งที่ดีๆ ทำตามหน้าที่ของตนในทุกด้านอย่างดีที่สุด แค่นั้นพอ

      ฉันมีหวานใจ- สามี - สุดที่รักแสนดีชาวฝรั่งเศส แถมเรือพ่วงสองลำเล็กๆ ตอนนี้มาใช้ชีวิตกันอยู่ที่ฮ่องกง



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Mutation's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.