Amargosa

Amargosa : อมาร์กอซา อาณาจักรที่สร้างจากความฝัน


     Oversee ฉบับนี้จะเล่าเรื่องราวที่หลายคนอาจจะทราบแล้ว แต่เชื่อแน่ว่ายังมีอีกหลายคนเช่นกันที่ยังไม่รู้ เป็นเรื่องราวของอาณาจักรที่สร้างจากความฝันของคนที่มีหัวใจอิสระ ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิ่งที่ตนรัก และจะมีก็เพียงความตายเท่านั้นที่จะมาหยุดเธอได้

     เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 36 ปีที่แล้ว ที่ เดธ วัลเลย์ จังชั่น (Death Vally Junction)อันเป็นเมืองเล็กๆแห่งหนึ่งในรัฐแคลิฟอเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา วันหนึ่งในปี 1967 นักเต้นหญิงวัย 43 จากนิวยอร์ก ซึ่งอยู่ในระหว่างการเดินสายเปิดการแสดงเดี่ยวของเธอมาหยุดรถที่เมืองเดธ วัลเลย์ เนื่องจากยางรถยนต์แบน ระหว่างที่รอสามีของเธอเปลี่ยนยางรถ มาร์ทา เบ็คเค็ต ก็ออกไปเดินเล่นเยี่ยมชมเมือง และแล้วเธอก็ได้เจอหอประชุมที่ถูกทิ้งให้รกร้างไม่มีคนดูแล และข้างในนั้นมีเวทีที่สามารถจัดการแสดงได้

     หอประชุมแห่งนี้ที่คนแถวนั้นเรียกว่า “Corkhill Hall” ตั้งอยู่ในอาคารซึ่งแรกเริ่มเดิมทีเป็นโรงงาน สำนักงาน และบ้านพักคนงานของบริษัท แปซิฟิก บอแร๊กซ์ ก่อนที่จะถูกปล่อยทิ้งร้างรอให้มาร์ทามาพบ “ตอนที่ฉันมองเข้าไปทางประตูหลังที่เปิดทิ้งไว้ ฉันเห็นเวทีและอุปกรณ์ต่างๆที่ถูกทิ้งไว้ ฉันรู้สึกเหมือนว่าโรงละครแห่งนี้กระซิบบอกฉันว่า “ได้โปรดรับฉันไว้เถิด ดูแลฉันด้วย ฉันจะให้ชีวิตกับเธอ” “มาร์ทาและสามีเข้าไปคุยกับผู้ดูแลรับผิดชอบหอประชุมและตกลงใจเช่าโรงละครในวันรุ่งขึ้น เธอตั้งชื่อใหม่ให้สถานที่แห่งนี้ว่า “อมาร์กอซา โอเปรา เฮ้าส์ (Amargosa Opera House)

     การแสดงครั้งแรกของมาร์ทาที่อมาร์กอซามีขึ้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 1968 มีคนดูทั้งเด็กและผู้ใหญ่รวมทั้งสิ้น 12 คน และนับตั้งแต่นั้นมาการแสดงของมาร์ทาก็มีขึ้นไม่เคยเว้นวาย ในทุกคืนวันศุกร์-เสาร์และจันทร์ ในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤษภาคมของทุกปีเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ประตูโรงละครจะเปิดเวลา 19.45 น. และม่านหน้าเวทีจะเปิดขึ้นเพื่อเริ่มการแสดงซึ่งมีทั้งการเต้นการร้องและการแสดงละครที่เวลา 20.15 น. โดยมาร์ทารับหน้าที่ทำทุกอย่างตั้งแต่ ออกแบบเครื่องแต่งกาย ออกแบบฉาก วาดฉาก ออกแบบท่าเต้น นักแสดง ขายตั๋ว จนถึงคนทำความสะอาดโรงละคร

     สำหรับประวัติของมาร์ทา เบ็คเค็ต เองนั้น เธอเป็นคนนิวยอร์กโดยกำเนิด ในสมัยที่เธอเป็นเด็กหญิงตัวเล็กๆ คุณพ่อของเธอซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์มักจะได้บัตรชมการแสดงฟรีพาเธอไปดูการแสดงต่างๆทุกสัปดาห์ ทำให้เธอมีความใฝ่ฝันและสนใจที่จะเป็นนักเต้น ต่อมาเมื่อเติบโตขึ้น เธอได้ทำความฝันวัยเยาว์ให้เป็นจริง ได้เป็นนักเต้นและนักแสดงที่มีพรสวรรค์และเป็นที่ยอมรับในความสามารถในนิวยอร์ก

     ก่อนหน้าที่จะมาตั้งรกรากที่เมืองเดธ วัลเลย์ เธอเคยร่วมแสดงในละครบรอดเวย์หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น “Showboat” “A Free Grows in Brooklyn” “A Wonderful Town” และยังเคยเต้นที่ Radio City Music Hall อันเลื่องชื่อของนิวยอร์กด้วย นอกจากอาชีพบนเวทีการแสดงแล้ว เธอยังมีฝีมือในการวาดรูป และได้วาดรูปประกอบในหนังสือหลายเล่ม

     ด้วยจิตใจที่รักอิสระและรักการสร้างสรรค์ผลงานด้วยตัวเอง มาร์ทารู้สึกอึดอัดที่จะต้องเต้นภายใต้การกำกับท่าของนักออกแบบท่าเต้นคนอื่น รวมไปถึงการใส่เสื้อผ้าที่คนอื่นออกแบบ ด้วยเหตุนี้เธอจึงเปิดการแสดงเดี่ยวและเดินสายแสดงไปทั่วประเทศ ก่อนที่จะมาก่อตั้ง อมาร์กอซา โอเปรา เฮ้าส์ที่เมือง เดธ วัลเลย์ เธอกล่าวว่า “ฉันรู้สึกดีใจมากๆที่ได้พบสถานที่ที่ฉันสามารถเติมเต็มความฝันของฉันและแบ่งปันความฝันนั้นกับผู้อื่นผ่านการแสดงได้….ตราบเท่าที่ฉันยังมีกำลังทำอยู่”

     ในช่วงแรกๆที่โรงละคร อมาร์กอซา ยังไม่มีชื่อเสียงเท่าทุกวันนี้ ส่วนประกอบของโรงละครนั้นส่วนใหญ่มาจากการบริจาค ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ผู้ชม ซึ่งเคยเป็นเก้าอี้สวนสาธารณะ หรือแกรนด์เปียโนซึ่งได้รับบริจาคมาจากสามีภรรยาคู่หนึ่งที่มีโอกาสมาชมการแสดงของเธอในครั้งหนึ่งก่อนหน้านั้น มาร์ทายืนยันที่จะเปิดการแสดงตามกำหนดทุกรอบไปแม้ว่าบางรอบจะไม่มีผู้ชมเลยสักคน และด้วยความรู้สึกที่ว่าการแสดงนั้นอย่างไรก็ควรจะมีผู้ชมจึงจะครบกระบวนความตามหลัก มาร์ทาจึงเกิดความคิดที่จะการวาดรูปคนดูที่ผนังของโรงละคร อย่างน้อยเธอก็จะได้รู้สึกว่ากำลังเต้นและแสดงให้คนบางคนได้ดู เธอลงมือปีนบันไดวาดรูปคนดูในสมัยศตวรรษที่ 16 บนหลังคาและผนังของอมาร์กอซาในส่วนของคนดู มีภาพคนดูทุกชนชั้นตั้งแต่พระราชา พระราชินี เจ้าชาย เจ้าหญิง ขุนนาง พ่อค้า เด็กและผู้ใหญ่ จนถึงหญิงงามเมือง

     มาร์ทาค่อยๆวาดคนดูของเธอไปวันละเล็กละน้อย โดยใช้เวลาทั้งหมดในการวาดเสร็จเต็มผนังถึง 4 ปีเต็ม และต่อมาภาพเหล่านี้เองที่เป็นจุดเด่นเป็นที่กล่าวขวัญถึงอีกอย่างหนึ่งของโรงละครแห่งนี้ นอกเหนือไปจากเรื่องราวของนักแสดงผู้ไม่ยอมแพ้ผู้นี้ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของใครหลายๆคน รวมทั้งเคนเน็ต เบสต์ นักแสดงละครใบ้ อดีตเด็กชายชาวเมืองเดธ วัลเลย์ซึ่งรู้จักกับมาร์ทาเมื่อเขาอายุได้ 9 ขวบ “สิ่งสำคัญที่สุดที่ผมเรียนรู้จากมาร์ทา คือการรักสิ่งที่คุณทำ

     ทุกวันนี้ ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะคลี่คลายไปในทางที่ดี อมาร์กอซา โอเปรา เฮ้า ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์แห่งชาติ (National Register of History Places) มีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อการจัดการโรงละคร มีผู้ชมหลั่งไหลเข้ามาชมการแสดงของนักแสดงวัย 79 ผู้นี้มากมายจากทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาและจากต่างประเทศ ทั้งที่มาจากปากต่อปาก และจากสื่อมวลชนที่กล่าวขวัญถึงศิลปินผู้นี้อย่างชื่นชม มาร์ทา เบ็คเค็ตได้รับการยกย่องจากหอการค้าแห่งเมืองเดธ วัลเลย์ ให้เป็นบุคคลผู้ทำเกียรติประวัติให้กับเมือง เมื่อเดือนกันยายน 2003

     จากความตั้งใจทำในสิ่งที่ตนรักและมุ่งมั่นทำตลอดมาอย่างไม่หยุดยั้ง แม้จะต้องดิ้นรนฝ่าฟันเพียงลำพังนี่เอง ที่ทำให้เกิดหนังสารคดีที่ถ่ายทอดชีวิตของเธอออกมาถึงสองเรื่อง คือเรื่อง Der Mulleimer Gottes ของ Michael Mrakitsch จากประเทศเยอรมัน และ “Amargon” ของ Todd Robinson ผู้กำกับและนักเขียนบทภาพยนต์สารคดีมือรางวัลแห่งฮอลลีวู๊ด

     ท๊อด โรบินสันได้ยินเรื่องราวของมาร์ทาจากน้องสาวของเขาและสนใจที่จะนำมาทำสารคดี เขามาใช้เวลาอยู่กับมาร์ทาถึงหนึ่งปีที่เดธ วัลลย์ และ “Amargosa” ผลงานภาพยนต์สารคดีของเขาที่ออกมาก็ได้รับความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ได้รับรางวัลภาพยนต์สารคดียอดเยี่ยมในงานเทศกาลหนังในนานาประเทศถึง 7 เทศกาล และได้รับการเสนอชื่อเข้ารอบสุดท้ายรางวัลออสการ์ครั้งที่ 72 (1999-2000) ในสาขา Best Documentary Feature ในหนังที่มีชื่อเดียวกับโรงละครของเธอคือ “Amargosa” ท๊อด นำเสนอเรื่องราวชีวิตและความรักในงานแสดงของมาร์ทาโดยมีแก่นของเรื่องคือ การสร้างสรรค์อันปลอดการค้า (Creativity without commerce) มาร์ทากล่าวไว้ในหนังตอนหนึ่งว่า “ถ้าคุณสร้างมันขึ้นมา พวกเขา (คนดู) จะมาเอง” ( หนังเรื่องนี้กำลังฉายทางทีวีที่ช่อง Sundance Channel )

     ปัจจุบัน ด้วยวัย 79 ปี เธอจึงหนีไม่พ้นอุปสรรคจากสังขารที่ร่วงโรยไปตามกาลเวลา เข่าของเธอเริ่มเสื่อม และหมอแนะนำให้หยุดแสดง "ไม่มีทาง … ฉันสร้างชีวิตครึ่งหนึ่งของฉันที่นี่ ฉันไม่ต้องการเห็นมันสูญสลายไป" และหากวันใดวันหนึ่งเธอจากโลกนี้ไป ความหวังสุดท้ายของเธอก็คือ การที่อมาร์กอซาจะกลายเป็น “Amargosa Complexe” ชุมชนแหล่งรวมสำหรับนักเต้นที่ปลดเกษียณ

     มาร์ทาได้กล่าวไว้คราวหนึ่งว่า เมื่อคุณมีเวลาเหลือ จงไปหาสถานที่สักแห่งหนึ่ง สร้างอาณาจักรที่ซึ่งคุณสามารถอยู่รอดกับความฝันของคุณได้ แม้ว่ามันจะอยู่บนยอดเขาหรือกลางทะเลทรายก็ตาม

     ฝันของใครก็ของคนนั้น อาณาจักรของใคร คนนั้นต้องสร้างเอง

เรียบเรียงจาก : “Le Monde” Section “The New York Times” Page 5, Saunday, january 25, and Minday, January 26, 2004
ข้อมูลเพิ่มเติม: //www.amargosa-opera-house.com , //www.amargosafilm.com, //www.death-valley.us, //www.sundancechannel.com





Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2550
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2550 1:48:32 น. 0 comments
Counter : 863 Pageviews.

Mutation
Location :
somewhere in Hong Kong SAR

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ฉั น คื อ ใ ค ร

     สาวพฤษภชาวแกลงแห่งเมืองระยอง ลอยละล่องเรื่อยไปจนปาเข้าสามสิบ กว่าจะได้พบอาชีพที่ต้องจริตจนคิดตั้งตัวเป็นนักแปลรับจ้างเร่ร่อนไร้สังกัด ปัจจุบันเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อ "กำมะหยี่"

     จุดหมายในชีวิต หลังจากผันผ่านคืนวันมาหลายปีดีดัก ขอพักไม่หวังทำอะไรใหญ่โต ขอเพียงมีชีวิตสุขสงบ ได้ทำสิ่งที่ดีๆ ทำตามหน้าที่ของตนในทุกด้านอย่างดีที่สุด แค่นั้นพอ

      ฉันมีหวานใจ- สามี - สุดที่รักแสนดีชาวฝรั่งเศส แถมเรือพ่วงสองลำเล็กๆ ตอนนี้มาใช้ชีวิตกันอยู่ที่ฮ่องกง



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Mutation's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.