- Car sharing = world sharing

Car sharing = world sharing

     สมัยยังอาศัยอยู่กรุงเทพมหานคร ตอนที่ต้องนั่งรถคุณอาผู้ที่ฉันไปอาศัยอยู่บ้านท่านแถวพัฒนาการเข้ากลางเมืองไปมหาวิทยาลัย โดยใช้เส้นทางที่รถติดกระหน่ำอย่างสุขุมวิทขณะยังไม่มีรถไฟฟ้าวิ่งอยู่เหนือหัว ฉันเคยมองรถยนต์ที่ต่อแถวติดแหง็กเป็นสาย แล้วคิดเล่นๆ ว่า เราน่าจะสามารถลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนได้หลายคันเลย ถ้าคนในหมู่บ้านเดียวกันที่ต้องเดินทางไปทำงานในเส้นทางเดียวกันออกเดินทางจากบ้านด้วยรถคันเดียวกัน

    อีกนานเลยหลังจากนั้น คือในตอนนี้ ฉันเพิ่งรู้ว่า การแบ่งกันใช้รถยนต์เพื่อไปในเส้นทางเดียวกันอย่างที่ฉันเคยได้แค่นึกคิดเล่นๆ มีการลงมือปฏิบัติกันจริงๆ จังๆ แล้วในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ เนเธอแลนด์ เยอรมัน และในฝรั่งเศส (โดยเฉพาะช่วงที่มีการประท้วงหยุดงานของสหภาพแรงงานรถไฟอย่างเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา) ตลอดจนหลายเมืองในแคนาดา นิวซีแลนด์ และบางเมืองในสหรัฐอเมริกา รวมกันทั่วโลกแล้วประมาณ 600 เมือง

    ในภาษาอังกฤษ เขาเรียกวิธีการเดินทางแบบนี้ว่า คาร์แชริ่ง (carsharing – แปลแบบตรงตัวได้ว่า การแบ่งกันใช้รถยนต์) เริ่มต้นทำกันมานานกว่า 50 ปีแล้ว แต่เพิ่งมาบูมใหญ่ในช่วงสิบปีหลังนี้ ในตอนแรกนั้น คาร์แชร์ริ่งจะทำกันในพื้นที่ห่างไกล ไม่ค่อยมีบริการขนส่งมวลชน เป็นการแบ่งปันกันใช้รถที่มีอยู่ในชุมชน เพื่อความสะดวกและความประหยัด

    แต่ในเวลาต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปีหลังๆ นี้ เมื่อประชากรครึ่งหนึ่งของโลกอาศัยอยู่ในเมือง เมื่อราคาน้ำมันพุ่งกระฉูดเป็นประวัติการณ์โดยไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ประกอบกับกระแสอนุรักษ์ธรรมชาติ ประหยัดพลังงานโลก ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอน็อกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของปรากฎการณ์เรือนกระจก อันก่อให้ก้อนน้ำแข็งขั้วโลกละลายจนระดับน้ำทะเลขึ้นสูงท่วมหลายๆ พื้นที่ซึ่งใครๆ หวาดกลัวกำลังมาแรง คาร์แชริ่งเลยมีเหตุผลพ่วงท้ายที่ฟังขึ้น ฟังแล้วดูดีเอามากๆ เพิ่มเติมเข้าไปอีกสองสามข้อ

    คาร์แชริ่ง เป็นระบบการแบ่งรถ (โดยเฉพาะรถยนต์) กันใช้ ทำได้หลายรูปแบบ จะแบ่งกันใช้ระหว่างบุคคลทั่วไปที่ใช้เส้นทางเดียวกัน ผ่านการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม ชมรม สหกรณ์ จะพูดคุยตกลงกันโดยตรงหรือเข้าไปประกาศหาคนแชร์รถในเวบไซต์อินเตอร์เน็ตที่เปิดเพื่อการณ์นี้โดยเฉพาะก็ได้

    โดยส่วนตัว ฉันให้ความสนใจกับวิธีการแบ่งรถยนต์อีกแบบหนึ่งมากกว่าการแบ่งกันใช้รถกันไปมาแบบดั้งเดิม เพราะนอกจากจะไม่มีปัญญาซื้อรถด้วยเงินตัวเองแล้ว ในฐานะเป็นเพศที่อ่อน... โยน การขึ้นรถยนต์ร่วมกับคนแปลกหน้าตามลำพังอาจจะทำให้รู้สึกหวาดผวาจนอาจจะตัดใจยอมทนรถติด ยืมรถพ่อ ยอมกัดฟันจ่ายค่าน้ำมันเอง พลาดหมดอดเข้าขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติเพราะรักที่จะสงวนตัวไว้ก่อนอย่างน่าเสียดาย

    วิธีการแบ่งรถอีกแบบที่ฉันว่า คือ การแบ่งกันใช้รถยนต์ของบริษัทให้เช่ารถ โดยคนที่แบ่งกันใช้รถยนต์ไม่จำเป็นต้องมีรถเป็นของตัวเอง ไม่ต้องจ่ายค่าน้ำมัน ไม่ต้องจ่ายค่าประกัน ไม่ต้องจ่ายค่าซ่อมแซมดูแลรถ รถคันที่สุดท้ายแล้วก็จอดเฉยๆ ในที่จอดรถระหว่างวันทำงาน การแบ่งปันรถกันใช้แบบนี้เหมาะกับเมืองที่มีบริการขนส่งสาธารณะเช่น รถไฟใต้ดิน รถเมล เพียบพร้อมแล้ว แต่คนในเมืองก็อาจจะมีความต้องการใช้รถยนต์ในบางวัน

    บริษัทคาร์แชริ่ง จะต่างกับบริษัทเช่ารถหรือคาร์เรนติ้ง ตรงที่มีการบริการครอบคลุมมากกว่าการให้เช่ารถเฉยๆ บริษัทที่เป็นผู้นำบุกเบิกให้บริการรถเช่าแบ่งปัน ซึ่งกำลังเป็นที่จับตามองในยุโรปอยู่ที่ประเทศเบลเยี่ยม ชื่อ กัมบิโอ (cambio) แนวคิดหลักของกัมบิโอที่ต้องการบอกกับลูกค้า คือ เมื่ออยู่ในเมือง คุณไม่จำเป็นต้องมีรถยนต์ก็ได้ ถ้าคุณไม่จำเป็นต้องใช้รถยนต์ทุกวัน

    วิธีการง่ายๆ เพียงสมัครเป็นสมาชิกทางอินเตอร์เน็ต ผูกบัญชีธนาคารไว้ เข้ารับการอบรมวิธีการใช้บริการที่จัดขึ้นทุกสัปดาห์ แล้วรับบัตรประจำตัวที่สามารถนำไปใช้แสดงตนเปิดประตูรถที่ได้รับการดูแลรักษาอย่างดี มีประกันให้เสร็จสรรพ โทรศัพท์หรือจองออนไลน์ได้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง อยากได้แบบเดี๋ยวนั้นเลยหรือจองล่วงหน้าก็ได้ จะจองหนึ่งชั่วโมงเดียว หนึ่งเดียว หนึ่งอาทิตย์ หรือนานกว่านั้นก็ตามแต่ใจ ถ้าจองล่วงหน้านานกว่า มีสิทธิเลือกใช้รถได้ตรงตามความต้องการมากกว่าจองปุ๊ปใช้รถปั๊บ เพราะนี่เป็นบริษัทรถเช่า ไม่ใช่โกดังเก็บรถเจ้าคุณพ่อที่จะมีรถรอบริการคุณหนูได้ตามประสงค์ตลอดเวลา

    รถยนต์ที่กัมบิโอให้บริการมีหลากหลายรูปแบบ มีทั้งรถเล็กขับง่ายๆ ในเมือง รถขนาดใหญ่สำหรับไปพักร้อนทั้งครอบครัว จนถึงรถตู้สำหรับขนย้ายของ บริษัทจัดจุดรับ-ส่งรถไว้บริการในย่านต่างๆ ทั่วบรัสเซล ตามเมืองใหญ่ๆ ในเบลเยี่ยม สามารถข้ามชายแดนไปรับ-ส่งรถในบางเมืองของประเทศเยอรมันเพื่อนบ้านได้

    อีกบริการหนึ่งที่ถูกใจลูกค้ากัมบิโออย่างยิ่ง คือ เรื่องที่จอดรถ เพราะมั่นใจได้เลยว่าจะสามารถหาที่จอดรถได้ เพราะบริษัทได้จัดจองพื้นที่จอดรถให้แล้ว ด้วยความร่วมมือเป็นอย่างดีของทางเทศบาลเมืองต่างๆ เนื่องจากเล็งเห็นว่า ธุรกิจนี้จะช่วยลดจำนวนรถยนต์ที่วิ่งขวักไขว่พร้อมกับปล่อยมลภาวะเป็นพิษในเมืองของตนได้

    ลูกค้าของกัมบิโอจึงไม่ต้องวนรถหาที่จอดรอบแล้วรอบเล่าให้เปลืองน้ำมัน เปลืองเวลา เปลืองอารมณ์ ใช้รถเสร็จแล้วไม่จำเป็นต้องย้อนเอารถไปเก็บที่เดิม ขับไปจอดในจุดบริการนัดหมายที่ใกล้ที่สุดเป็นอันเรียบร้อย พอสิ้นเดือนทางบริษัทจะส่งใบเรียกเก็บเงินแสดงรายละเอียดการใช้งานไปให้

    สำหรับค่าใช้จ่าย กัมบิโอจัดสรรสูตรการจ่ายเงินสำหรับผู้ใช้ที่มีความต้องการใช้งานแตกต่างกัน คล้ายๆ กับโปรโมชั่นมือถือบ้านเรา มีทั้งจ่ายรายเดือนน้อย จ่ายค่าโทร เอ้ย ค่าใช้รถสูงหน่อย เหมาะสำหรับคนที่ไม่ค่อยได้ใช้รถ ผู้ใดใช้รถบ่อยปานกลาง จ่ายรายเดือนมากขึ้นนิดแต่ค่าใช้ต่อครั้งราคาถูกลง ถ้าใครมีธุระต้องใช้รถบ่อย จ่ายรายเดือนแพงขึ้นไปอีกแต่ค่าใช้ต่อครั้งถูกมาก เป็นต้น



    กัมบิโอเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาของ EPOMM (European Platform on Mobility Management) ซึ่งเป็นเครือข่ายของรัฐบาลในสหภาพยุโรปที่เข้าร่วมในโครงการจัดการการขนส่งในประเทศของตน บนเวบไซต์ของหน่วยงานนี้ที่มีตัวอย่างการแก้ปัญหารถติดมากมายให้ศึกษา


    และถ้าเราจะ “ได้แรงบันดาลใจ” มาปรับใช้กับกรุงเทพฯ บ้าง ก็ไม่น่าจะติดปัญหาลิขสิทธิ์



ที่มา - โทรทัศน์ TV5 Monde (ฝรั่งเศส)

ข้อมูลเพิ่มเติม - //www.cambio.be , //www.wikipedia.org, //www.epommweb.org









 

Create Date : 21 ตุลาคม 2551    
Last Update : 21 ตุลาคม 2551 11:02:01 น.
Counter : 1542 Pageviews.  

Matchbox pinhole Camera

Matchbox pinhole Camera

    เมื่อวันก่อนอ่านนิตยสาร DPP (Digital Photo Pro) มีบทสัมภาษณ์ช่างภาพหลายคนว่ากล้องถ่ายรูปพิลึกกึกกือสุดๆ ที่แต่ละคนเคยใช้เป็นอย่างไร กล้องของบางคนเป็นกล้องแบบจับจีบสมัยพระเจ้าเหาที่ซื้อมาจากร้านของเก่า บางคนเป็นกล้องที่ติดเลนส์ “โฮมเมด” เบี้ยวๆ ที่เจ้าของหลอมเรซินเอง และมีกล้องของช่างภาพคนหนึ่งที่น่าสนใจ คือ กล้องถ่ายรูปรูเข็มทำจากกล่องไม้ขีด (Matchbox pinhole Camera)

    น่าสนใจเพราะเป็นกล้องประเภททำเองก็ได้ง่ายจังและถูกด้วย เหตุผลข้อหลังจูงใจให้คิดลงมือทำดูบ้าง เริ่มต้นด้วยการค้นหาข้อมูลวิธีการทำต่อในอินเตอร์เน็ต เจอบล้อกที่อธิบายวิธีการทำอย่างละเอียดทุกขั้นตอน ตามลิงก์ไปยังชุมชนของคนเล่นกล้องกล่องไม้ขีดที่ต่างนำรูปของตัวเองขึ้นอวดกันไปมาในเวบไซต์ช่วยเพิ่มความฮึกเหิม

    หลังจากทดลองทำกล้องถ่ายรูปรูเข็มจากกล่องไม้ขีดตัวแรกในชีวิตแล้วก็พบว่าความสนุกของการ “เล่น” กล้องถ่ายรูปรูเข็ม นอกจากช่วงเวลาตื่นเต้นขณะนั่งประดิษฐ์ประดอยกล้อง ยังมีความภาคภูมิใจกับการถ่ายภาพจากกล้องที่สร้างมากับมือ

    แถมด้วยความสุขที่คนสมัยนี้ไม่ค่อยรู้จักกันแล้ว คือการ “ลุ้น” ว่าภาพที่ถ่ายจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นความรู้สึกที่หาได้ยากจากการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มผลิตจากโรงงาน ที่ล้วนแต่ผ่านการทดลองลดอัตราความล้มเหลวมาให้ล่วงหน้า และคงไม่สามารถพบความสุขแบบนี้เลยจากกล้องดิจิตอลที่ถ่ายปุ๊บเห็นปั๊บลบปุ๊บ ไม่พอใจถ่ายใหม่ให้ได้ดังใจปรารถนา

    กล้องถ่ายรูปแบบรูเข็มหรือพินโฮล คาเมรา (Pinhole Camera) เป็นกล้องถ่ายรูปที่ใช้เทคนิคง่ายๆ อันเกิดขึ้นตามปรากฏการณ์ธรรมชาติ ด้วยการใช้ช่องเล็กๆ ทำหน้าที่แทนเลนส์รับภาพไปตกยังผนังอีกด้านที่มีฟิล์มถ่ายรูปกางรอรับอยู่ในกล่องที่ไม่มีแสงลอดเข้า

    ในท้องตลาด (ต่างประเทศ) มีกล้องถ่ายรูปแบบรูเข็มจำหน่ายหลายรูปแบบ ทั้งแบบสำเร็จรูปถ่ายได้เลยกับแบบกึ่งสำเร็จรูปเป็นแพตเทิร์นกระดาษแข็งให้พับประกอบเอง กล้องที่ขายๆ กันสวยๆ ทำจากไม้หรือโลหะบางตัวมีราคาสูงมาก แต่ราคาสูงๆ นั้นก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะถ่ายรูปออกมาได้ดีกว่ากล้องบ้านๆ ที่ทำกับมือหรอกนะ

    กล้องถ่ายรูปแบบรูเข็ม “ทำมือ” มีรูปร่างและขนาดแตกต่างกันสุดแต่การสร้างสรรค์ออกแบบ อาจจะทำจากเปลือกหอย กล่องซีเรียล กระป๋องน้ำอัดลม กล่องใส่คุกกี้ ตู้เย็นที่เสียแล้ว กล่องไม้สวยๆ อลูมิเนียมฟอยด์ห่ออาหารจนถึงรถตู้ กล้องถ่ายภาพรูเข็มบางตัวสวยงามด้วยตัวมันเอง เช่น กล้องถ่ายรูปของช่างภาพชาวสวิสส์คนหนึ่ง ทำจากกระดาษแข็งตัดเป็นรูปปราสาทและรูปตึกรามบ้านช่องสวยจนได้รับการนำเสนอเป็นผลงานศิลปะ แต่ใช้งานได้จริงแท้แค่ไหนไม่มีรายงาน

    ถึงแม้ว่าในวงการถ่ายภาพ กล้องถ่ายรูปแบบรูเข็มจะเป็นเพียงอุปกรณ์สร้างภาพชนิดหนึ่ง ซึ่งมีทั้งข้อได้เปรียบและข้อจำกัด มีลักษณะและความสามารถเฉพาะตัวแตกต่างจากกล้องอื่นๆ แต่ถ้าดึงเอาศักยภาพสูงสุดของกล้องง่ายๆ นี้มาใช้ ก็ถ่ายภาพสวยๆ ไม่ด้อยน้อยหน้าไปกว่าใครออกมาได้ เพราะภาพบางภาพไม่สามารถถ่ายผ่านเลนส์ แม้แต่องค์การนาซ่าเองยังมีโครงการค้นคว้าเกี่ยวกับการใช้กล้องถ่ายภาพรูเข็มขนาด 10 เมตร ที่ทางยาวโฟกัส 200,000 กิโลเมตร เพื่อถ่ายภาพดาวเคราะห์ขนาดเท่าโลกที่อยู่ในระบบสุริยะจักรวาลอื่น


    ลักษณะของภาพที่ถ่ายจากกล้องรูเข็มนั้นจะมีความนุ่มนวลกว่า ชัดแจ่มน้อยกว่าภาพที่ถ่ายผ่านเลนส์ ช่วงความชัด (Depth of field) เกือบจะเป็นมีค่าอนันต์ (infinite) พูดง่ายๆ ก็คือ ภาพทั้งภาพจะชัดเจนเกือบเท่ากันหมด แทบจะไม่มีจุดไหนที่ชัดเด่นขึ้นมาโดยส่วนอื่นๆ ของภาพพร่ามัวกว่า ภาพที่ถ่ายแบบมุมกว้าง (Wide angle) จะเหยียดตรงเป็นเส้นยาว แต่ภาพที่ถ่ายจากกล้องถ่ายรูปรูเข็มจะเจอปัญหาเรื่องสีเพี้ยนมากกว่าภาพที่ถ่ายจากกล้องใช้เลนส์ และนำไปขยายใหญ่ได้ไม่มากนัก

    ส่วนปัญหาที่สำคัญที่สุดในการถ่ายรูปจากกล้องชนิดนี้ คืออาการแสงรั่ว (Light leak) ไปสร้างริ้วรอยบนภาพ แต่บรรดาคนเล่นกล้องแบบนี้ก็ยอมรับธรรมชาตินี้แต่โดยดี ถือให้เป็นเสน่ห์ของภาพจากกล้องถ่ายรูปรูเข็มไปเสียเลย

    ประวัติของกล้องรูเข็มย้อนไปไกลถึง 500 ปีก่อนคริสตกาล โดยมีนักปราชญ์ชาวจีนสังเกตเห็นภาพที่เกิดจากแสงลอดผ่านรูเล็กๆ ไปตกบนผนังอีกด้านแล้วเกิดภาพกลับหัว แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานการต่อยอดการค้นพบนี้ ส่วนทางฝั่งตะวันตกในอีกหนึ่งร้อยปีให้หลัง อริสโตเติล นักปราชญ์คนสำคัญของกรีกได้เคยกล่าวถึงภาพผ่านรูเล็กๆ ในงานเขียนของเขาโดยตั้งคำถามต่างๆ ไว้มากมาย แต่ไม่สามารถหาคำอธิบายที่น่าพอใจได้

    จนกระทั่งอีกพันห้าร้อยปีต่อมา อัลฮาเซ็น นักคณิตศาสตร์ชาวอาหรับ ทดลองจุดเทียนสามเล่มแล้วตั้งฉากเจาะรูเล็กๆ หนึ่งรูกั้นระหว่างเทียนไขกับกำแพง และสรุปผลไว้ว่าเทียนเล่มขวามือจะปรากฏภาพบนผนังอยู่ทางซ้ายมือ เป็นจุดเริ่มต้นของวิวัฒนาการติดกระดาษหรือฟิล์มบนผนังรับภาพ พัฒนาเป็นกล้องถ่ายรูปแบบใช้รูเข็มออกเป็นสินค้าวางตลาดขายได้รับความนิยมเฟื่องฟูสูงสุด ต่อด้วยซบเซาลงตามสมัยนิยมที่เปลี่ยนผัน หากในวงการต่างๆ ยังคงมีการใช้งานกล้องถ่ายรูปแบบรูเข็มอยู่ทั่วไป นับตั้งแต่วงการศิลปะ วงการสายลับ วงการดาราศาสตร์ จนถึงวงการวิทยาศาสตร์

    เรื่อยมาจนถึงยุคอินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน การถ่ายรูปด้วยกล้องแบบรูเข็มขึ้นออนไลน์กับเขาเหมือนกัน ศิลปินภาพถ่ายจากล้องรูเข็มหลายคนสแกนภาพขึ้นเปิดเป็นไซเบอร์แกลเลอรี มีเวบไซต์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกล้องถ่ายรูปแบบนี้ผุดขึ้นมากมาย รวมถึงเวบบอร์ดและชุมชนออนไลน์ของคนรักกล้องถ่ายรูปรูเข็มทั่วโลก จนถึงกับมีการตั้งวันแห่งการถ่ายรูปด้วยกล้องแบบรูเข็มโลก (Worldwide Pinhole Photography Day - WPPD) โดยกำหนดขึ้นในวันเสาร์สุดท้ายของเดือนเมษายนของทุกปี กิจกรรมที่จัดคือ เปิดรับผลงานที่ถ่ายจากกล้องถ่ายรูปแบบรูเข็มทุกประเภท เพื่อนำขึ้นจัดแสดงพลังของตากล้องรูเข็มทั่วโลกในเวบไซต์ //www.pinholeday.org

    วันแห่งการถ่ายรูปด้วยกล้องแบบรูเข็มโลกครั้งแรกคือวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 2001 มีผู้เข้าร่วมส่งผลงานจาก 24 ประเทศ ครั้งที่สอง 35 ประเทศ (903 รูป) ครั้งที่สาม 43 ประเทศ (1082 รูป) ครั้งที่สี่ 60 ประเทศ (2267 รูป) ส่วนในปีนี้ 2946 รูป จาก 68 ประเทศ

    เท่าที่ตรวจสอบดู มีรูปจาก Thailand แดนสยามของเราเข้าร่วมครั้งแรกในปี 2005 จนถึงปีนี้แค่คนสองคน จึงถือโอกาสนี้นำวิธีการสร้างกล้องถ่ายรูปแบบรูเข็มด้วยกล่องไม้ขีดไฟมาฝากให้ชาวอะเดย์ฝึกฝีมือเตรียมส่งเข้าร่วมแสดงความสามารถของพวกเราชาวไทยกันในปีหน้าค่ะ


อุปกรณ์

1.กล่องไม้ขีดไฟ 1 กล่อง

2.เทปพันสายไฟสีดำ

3.ปากกาหัวโตสีดำ

4.หลอดฟิล์มถ่ายรูปใช้แล้ว 1 หลอด (ขอได้ตามร้านอัดรูปใกล้บ้าน เลือกที่มีเศษฟิล์มเหลือโผล่ออกมา)

5.ฟิล์มถ่ายรูปใหม่แบบ 100

6.อลูมิเนียมฟอยด์ที่ใช้ห่ออาหารชิ้นขนาด 15x15 ม.ม.

7.สก็อตเทปใส คัตเตอร์ ไม้บรรทัด เข็ม

วิธีทำ

1.ตัดก้นกระบะใส่ไม้ขีดไฟตรงกลางเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 24x24 ม.ม. เอาปากกาทากระบะด้านในให้ทั่ว

2.ตัดตรงกลางกล่องไม้ขีดไฟด้านบนเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 6x6 ม.ม.

3.เจาะอลูมิเนียมฟอยด์ตรงกลางด้วยปลายเข็ม พยายามให้เล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้ แค่แสงลอดผ่านได้ก็พอ

4.ติดอลูมิเนียมฟอยด์ลงบนช่องด้านบนไม้ขีดไฟ

5.ทำชัตเตอร์ ด้วยการตัดกระดาษแข็ง (เอาจากกล่องกระดาษใส่ฟิล์มใหม่ก็ได้) ความยาวเท่ากับความกว้างของกล่องไม้ขีดไฟ ติดกระดาษกาวหัวท้าย ด้านหัวติดด้านบนกล่องไม้ขีด ให้กระดาษปิดหน้ารูเข็ม ส่วนปลายอีกข้างติดไว้กับด้านล่าง

6.ดึงฟิล์มหลอดใหม่ผ่านช่องกล่องไม้ขีดไฟ สวมกระบะไม้ขีดไฟเข้าไปทับฟิล์ม

7.ต่อปลายฟิล์มใหม่กับปลายฟิล์มเก่าอีกด้าน หมุนขยับฟิล์มให้เลื่อนเข้าหลอดฟิล์มเก่าจนหลอดฟิล์มทั้งสองด้านชิดกับกล่องไม้ขีด พันปิดช่องว่างระหว่างหลอดฟิล์มกับกล่องให้มิดชิดที่สุดด้วยเทปพันสายไฟ

วิธีใช้

    กล้องนี้เหมาะสำหรับถ่ายกลางแจ้ง แดดดีๆ โดยต้องติดตัวกล้องไว้กับขาตั้งกล้องหรือขอบโต๊ะ หรือยึดไว้กับวัตถุที่หนักๆ เช่น อิฐ เพื่อไม่ให้กล้องสั่นไหวเวลาปิด-เปิดชัตเตอร์ ไม่แนะนำให้ถือกล้องด้วยมือเปล่า เพราะความเร็วชัตเตอร์ประมาณหนึ่งวินาทีถ่ายด้วยกล้องที่มีน้ำหนักเบาขนาดนี้ ไม่มีทางที่กล้องจะไม่สั่น และถ้ากล่องสั่น ภาพที่ได้ก็จะสั่นไปด้วย ชัดเตอร์ต้องเปิดให้เร็ว ปิดให้สนิทอย่าให้แสงเข้ารูเข็มหลังถ่าย

    ถ่ายเสร็จแล้วเลื่อนฟิล์มด้วยการเอากุญแจเสียบลงช่องหมุนฟิล์มของฟิล์มหลอดที่ใช้แล้ว หมุนย้อนเข็มนาฬิกาแค่ครึ่งรอบพอ พอถ่ายหมดม้วน เอาไปส่งที่ร้านอัดรูป บอกให้เขาล้างอย่างเดียว เอาฟิล์มมาดูก่อนสั่งอัดลงกระดาษเพราะโอกาสถ่ายพลาดจะเยอะกว่าปกติหลายเท่าตัว แต่รับรองว่าถ้าถ่ายได้จะรู้สึกตื่นเต้นเป็นทวีคูณ

    ถ้าใครมีแสกนเนอร์ เอาฟิล์มเนฟาตีฟไปสแกนแล้วกลับภาพด้วยโปรแกรมจัดการภาพให้เป็นภาพโพสิตีฟในคอมพิวเตอร์ก่อนสั่งอัด หรือจะอัพโหลดขึ้นเวบไซต์หรือบล้อกส่วนตัวอวดประชาชีก็ชวนครึ้มอกครึ้มใจได้หน้าไม่น้อยทีเดียวค่ะ



ภาพถ่ายวิธีการทำ : //alspix.blog.co.uk/2005/12/31/matchbox_pinhole~428481

ที่มา : นิตยสาร Digital Photo Pro ฉบับเดือน ก.ค – ส.ค 07

ข้อมูลเพิ่มเติม : //www.wikipedia.com, alspix.blog.co.uk, //www.flickr.com/groups/matchboxpinhole, //www.pinholeday.org

อย่างไรก็ขอขอบคุณ : ร้านถ่ายภาพดุสิต อ.แกลง จ. ระยอง ที่ท้าทายด้วยการเอื้อเฟื้อล้างฟิล์มในการทดลองให้ผู้เขียนโดยไม่คิดค่าบริการจนกว่าจะถ่ายออกมาเป็นรูปได้สำเร็จ








 

Create Date : 20 ตุลาคม 2551    
Last Update : 20 ตุลาคม 2551 12:25:20 น.
Counter : 2688 Pageviews.  

Surveillance Camera Players

Surveillance Camera Players


     ป่านนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จักรายการโทรทัศน์ประเภทเรียลิตี้ทีวีที่ให้คนจริงๆ มาใช้ชีวิตตามล่าฝัน เงินรางวัล และชื่อเสียงอยู่ในจอบ้านคุณ (ที่มีเคเบิล) ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง หลายคนเฝ้าหน้าจอจับตาดู “ตัวละคร” หน้ากล้องที่ซ่อนในมุมต่างๆ ของบ้านจากโครงการหมู่บ้านของสปอนเซอร์ประจำรายการอย่างใจจดใจจ่อ คอยลุ้นเขาหรือเธอให้สามารถผ่านด่านทดสอบในรูปแบบต่างๆ ที่ทางผู้จัดกำหนด

     แต่รู้ตัวกันบ้างหรือเปล่าว่า เมื่อปิดทีวี ก้าวออกจากบ้าน (หรือจากห้องพักคอนโดมีเนียมและโรงแรม) ผู้ชมที่จับตามองตัวละครในจอโทรทัศน์ จะเปลี่ยนบทบาทไปเป็น “ผู้เล่น” ปรากฏตัวตามหน้าจอมอนิเตอร์ของหน่วยงานรักษาความปลอดภัย ทั้งส่วนเอกชนตามอาคารต่างๆ และส่วนราชการ ผ่านกล้องโทรทัศน์วงจรปิด หรือที่เรียกย่อๆ ว่า CCTV (Closed-circuit television) ที่ติดอยู่แทบทุกหัวระแหงตามถนนหนทางในทันที

     จากเหตุการณ์วุ่นวายที่ (กล่าวตามตัวอักษรได้เลยว่า) “ระเบิด” ขึ้นแทบทุกมุมโลกในเมืองใหญ่ๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกา ไม่เว้นแม้แต่กรุงเทพมหานคร เมืองฟ้าอมรของชาวสยาม รัฐบาลประเทศต่างๆ พากันเร่งดำเนินมาตรการวัวหายล้อมคอก ด้วยการหันไปพึ่งพากล้องวิดีโอวงจรปิด เทงบประมาณหลานพันล้าน สั่งอุปกรณ์พร้อมระบบราคาแพงลิบมาติดตั้งกันในย่านสำคัญ หน้าตึกรามใหญ่ๆ บนเสาไฟริมถนนเส้นยุทธศาสตร์ของตนกันยกใหญ่

     โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา หลังเหตุการณ์เครื่องบินถล่มตึกแฝดเวิลด์เทรด เมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 หรือที่เรียกกันติดปากว่าไนน์วันวัน (9/11) เทศบาลมหานครนิวยอร์กเพิ่มจำนวนกล้องวงจรปิดเพื่อ “ดูแลสอดส่อง” ประชาชนตามท้องถนนขึ้นอีกหลายเท่าตัว โดยหวังว่าจะลดอัตราการก่ออาชญากรรม และช่วยในการจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้ายที่อาจจะหมายตาตึกระฟ้าของตัวเองอีกครั้ง

     แค่ในเกาะแมนฮัตตัน ศูนย์กลางเมืองนิวยอร์ก ซึ่งมีพื้นที่เพียง 87.46 ตารางกิโลเมตร (กรุงเทพฯ มีขนาด 1,568.7 ตารางกิโลเมตร) มีกล้อง “รักษาความปลอดภัย” มากถึง 15,000 ตัว เฉพาะที่แถวๆ ไทม์แสควร์ แหล่งธุรกิจการเงินใหญ่แห่งเดียวก็ปาเข้าไปแล้ว 554 ตัว


     ได้รู้ข้อมูลแล้วน่าอุ่นใจดี ชาวอเมริกันส่วนใหญ่คิดอย่างนั้น แต่การต้องตกอยู่ในสายตาของทางการตลอดเวลาไม่ว่าจะขยับตัวไปทางไหน เป็นสภาพการณ์ที่คนกลุ่มหนึ่งมองว่าบั่นทอนสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และคนกลุ่มนั้นก็ไม่ได้นั่งคิดแค้นเงียบๆ อยู่ในบ้านของตน (หรือสวมหมวกไอ้โม่ง ใช้นามแฝงปลดปล่อยความอัดอั้นตามเวบบอร์ดต่างๆ)

     พวกเขาตั้งกลุ่มทำกิจกรรมที่มีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นในคนทั่วไปได้ตระหนักว่าสิทธิความเป็นส่วนตัวของทุกคนกำลังถูกลิดรอน พยายามชักจูงให้เห็นว่ากล้องวงจรปิดไม่ได้ช่วยหยุดยั้งอาชญากรรมแต่อย่างใด ข้อพิสูจน์ที่เจ็บปวดข้อหนึ่งคือ ก่อนเกิดเหตุการณ์ 9/11 กล้องในสนามบินแห่งหนึ่งจับภาพผู้ก่อการร้ายที่ร่วมลงมือในครั้งนั้นได้สองคน แต่ไม่อาจระงับไม่ให้เหตุเศร้าสลดเกิดขึ้น

     ในบรรดากลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้านกล้องวงจรปิดของอเมริกา กลุ่มที่ร่วมแรงแข็งขันเป็นแนวหน้าของประเทศอยู่ในนิวยอร์ก ชื่อ Surveillance Camera Players (SCP) – (นักแสดงหน้ากล้องวงจรปิด) “กลุ่มละคร” นี้ได้รับแรงบันดาลใจจากบทความเกี่ยวกับการต่อต้านระบบกล้องวิดีโอวงจรปิดในที่สาธารณะ ชื่อ Guerilla Programming of Video Surveillance Equipment (แผนกองโจรของเครื่องมือจับภาพวงจรปิด) ซึ่งเป็นบทความที่เปิดประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของกล้องวงจรปิดบทความแรกๆ ของโลก เผยแพร่ที่เมืองโนวาสโกเทีย ประเทศแคนาดาในรูปแบบของใบปลิว เมื่อปี ค.ศ. 1995 ซึ่งเป็นปีเดียวกับการเริ่มเคลื่อนไหวของกลุ่ม Souriez, Vous Etes Filmes (ยิ้มสิครับ คุณกำลังเข้ากล้อง) ในฝรั่งเศส

     คณะบุกเบิกกลุ่มละคร SCP หกชีวิตเปิดการแสดงครั้งแรก เป็นละครนิทานสั้นๆ เรื่อง เมอซิเออร์ท็อด เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1996 เวลาประมาณสิบเอ็ดโมงเช้า หน้ากล้องวงจรปิดในสถานีรถไฟได้ดินยูเนียนสแควร์ในแมนฮัตตัน ขณะที่สมาชิกอีกสามคนและผู้ชมอีกจำนวนหนึ่งเฝ้าดูการแสดงที่หน้าจอโทรทัศน์วงจรปิดที่เปิดอยู่ในสถานีเดียวกัน

     น่าเสียดายที่การแสดงครั้งแรกต้องสิ้นสุดลงทั้งที่ไม่ทันได้เล่นจนจบ เนื่องจากถูกเข้าหน้าที่ตำรวจไร้อารมณ์ขันของนิวยอร์กมาขอให้หยุดการแสดงกลางคันในช่วงที่เรื่องราวกำลังเข้าด้ายเข้าเข็มเสียด้วย

     การแสดงของ SCP ตลอดสิบปีหลังจากนั้นสลับสับเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ จากการเล่นละครเป็นเรื่องๆ มาเป็นการชูป้ายเขียนประโยคเสียดสีให้เจ้าหน้าที่ควบคุมมอนิเตอร์อ่าน เป็นต้นว่า “ทุกอย่างเรียบร้อยดีครับ ท่านเจ้าหน้าที่” “ผมกำลังไปทำงาน” “ผมกำลังจะไปหาอะไรกิน” “ผมกำลังไปซื้อของ” “ผมกำลังกลับบ้าน” “ทำไมถึงมีกล้องวงจรปิดที่โบสถ์ พระเจ้าท่านไม่ได้เห็นทุกอย่างหรอกหรือครับ”



     ถึงแม้จะมีเจตนารมณ์ต่อต้านนโยบายเรื่องกล้องวงจรปิดของรัฐบาล และเคยร่วมงานกับกลุ่มเคลื่อนไหวรูปแบบเดียวกันในรัฐหรือในประเทศอื่นๆ แต่ SCP แห่งนิวยอร์กยืนยันหนักแน่นว่าไม่ได้ทำงานให้กลุ่มอำนาจไหนไม่ว่าจากภายในประเทศหรือภายนอกประเทศ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากใคร เป็นการควักกระเป๋าของสมาชิกเท่านั้น

     ที่เป็นเช่นนั้นได้ เพราะค่าใช้จ่ายของพวกเขานั้นน้อยนิด ข้าวของที่ต้องซื้อหามีแค่เครื่องมืออุปกรณ์ในการสร้างฉากและเวที ประกอบด้วย แผ่นกระดาษแข็งขนาดใหญ่ ปากกาเมจิกหัวโตที่ไม่ได้แพงมากมาย การแสดงละครแต่ละเรื่องใช้เงินสร้างเรื่องละประมาณ 30 เหรียญ ( 930 บาท) ระหว่างการแสดงแต่ละครั้งจะมีการแจกใบปลิวกับผู้ชมหรือผู้ผ่านไปผ่านมา คิดเป็นเงินค่าถ่ายเอกสาร 5 เหรียญ (150 บาท) ส่วนเวบไซต์ใช้เงินบำรุง 30 เหรียญต่อเดือน

     ถ้าจะมีรายได้มาจุนเจือบ้างก็จากหนังสือเรื่อง We know you are watching (เรารู้นะว่าคุณกำลังดูอยู่) ที่เขียนเกี่ยวกับแนวคิดและกิจกรรมของกลุ่ม กับวิดีโอเทปบันทึกการแสดงต่างๆ ที่ผ่านมาเท่านั้น

     นอกจากนี้ ใครที่มีโอกาสไปเยี่ยมนครนิวยอร์กบ้านของพวกเขา แล้วอยากเปลี่ยนบรรยากาศจากการไปชมเทพีเสรีภาพหรือย่านช้อปปิ้งแบบเดิมๆ ลองติดต่อร่วมทัวร์เดินชมกล้องโทรทัศน์วงจรปิดภายนอกอาคาร (Surveillance Camera Outdoor Walking Tours) ที่ SCP จัดกันเป็นประจำสลับไปในแต่ละมุมเมืองได้ (เช็คตารางทัวร์ในเวบไซต์ //www.notbored.org)

     ไม่เสียค่าใช้จ่าย เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วม ไม่ต้องจองล่วงหน้า แต่ละรายการใช้เวลาแค่ชั่วโมงครึ่ง

     หากต้องการชมเป็นหมู่คณะนอกเหนือจากตารางกำหนด กรุณาติดต่อเพื่อตกลงวันเวลานัดหมายก่อน





ที่มา : รายการโทรทัศน์ Nouvo (Switzerland)
ข้อมูลเพิ่มเติม : //www.notbored.org








 

Create Date : 26 กันยายน 2550    
Last Update : 26 กันยายน 2550 15:38:48 น.
Counter : 863 Pageviews.  

Slow fish

Slow fish : another view of fish


     ในโลกปัจจุบันที่นอกจากปลาใหญ่จะกินปลาเล็กแล้ว ปลาทุกขนาดยังต้องเคลื่อนไหวรวดเร็ว เพื่อหลีกเลี่ยงปรากฏการณ์ ‘ปลาเร็วกินปลาช้า’ อย่างที่คุณคาร์ล ออนอเร สะกิดให้เห็นภาพในหนังสือเรื่อง In praise of slowness หรือในภาคภาษาไทยชื่อ “เร็วไม่ว่า ช้าให้เป็น” (แปลโดยคุณกรรณิการ์ พรมเสาร์ จัดพิมพ์โดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค)

     ไม่ต้องยกตัวอย่างธุรกิจพันล้านอื่นใดไกลตัว แค่งานเขียนคอลัมน์เล็กๆ อย่างโอเวอร์ซี ช่วงหลังนี่ ยังมีการ “ปาด” กันฉึบฉับ เริ่มจากการเขียนถึงหัวข้อเดียวกันของสองนักเขียนร่วมคอลัมน์ ซึ่งพอจะให้อภัย เป็นที่เข้าใจได้ว่าสลับเขียนกันมานานแล้ว จะเลี้ยวเข้าซอยเดียวกันก็คงไม่แปลก (ที่น่าแปลกคือทำไมเพิ่งมาชนกันเอาป่านนี้) ประกอบกับข่าวดีๆ ที่พอเข้าเค้าในโลกนี้มีจำกัด จึงต้องแบ่งปันเอื้อเฟื้อกัน

     ครั้นเข้าซอยใหม่ ว่าจะเขียนเรื่อง สโลวฟู๊ด ใจก็ดันไปตรงกับคุณบ.ก. แถมท่านรวดเร็วกว่า ตัดหน้าเขียนลงฉบับปกคุณเรย์ไปเรียบร้อยแล้ว

     หันรีหันขวาง หาหนทางหลบหลีกการแข่งขันประชันความเร็วกับคนหนุ่มสาว ฉันตัดสินใจหักพวงมาลัยเข้าข้างทาง ลงเรือประมงมุ่งหน้าสู่ทะเลกว้าง

     สโลวฟู๊ด ไม่ทัน ถ้างั้น... ขอเขียนถึง สโลว ฟิช

     สโลวฟิช เป็นหนึ่งในโครงการของสโลวฟู๊ด สโลวฟู๊ด (Slow food) คือ องค์กรที่ก่อตั้งขึ้นในอิตาลี เพื่อสนับสนุนการทำเกษตรและปศุสัตว์แบบดั้งเดิม ปลอดสารเคมีและการเร่งรีบ เน้นอนุรักษ์วัฒนธรรมการกินอาหารแบบละเลียดละเมียดถึงรสชาติแท้ๆ อย่างในอดีต สโลวฟู๊ดสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย พยายามเปิดตลาดและโอกาสให้ผู้ผลิตพบผู้บริโภค ตัดตอนพ่อค้าคนกลาง ต่อต้านอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารฟาสต์ฟู๊ดที่กำลังครองโลก

     ปัจจุบัน ลัทธิ...เอ้ย แนวความคิดของสโลวฟู๊ด ได้กระจายไปแทบจะทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่ได้ชื่อว่าพัฒนาแล้วซึ่งมีการแข่งขันทางธุรกิจเข้มข้น จนชีวิตของคนเหลือเพียงฟันเฟืองของเครื่องจักรผลิตเงิน


     แต่ก็อย่างที่สัจธรรมว่าไว้ เงินทองอาจจะซื้อข้าวของและบริการเพื่อตอบสนองความพอใจได้ แต่ซื้อความสุขไม่ได้ พอได้เห็นแนวความคิดเรื่องการอภิเชษฐ์การกินแบบช้าๆ เน้นคุณภาพของสโลวฟู๊ด ชาวเมืองใหญ่มากมายปลีกตัวจากความเร่งด่วนและการรีบกินเร็วจนลืมความสุขง่ายๆ หันมาให้สนใจในเรื่องคุณภาพชีวิตผ่านการกินอาหารดีๆ ตามหลักสโลวฟู๊ด ซึ่งสอดคล้องกับขบวนการเนิบช้าที่กำลังฮิตขึ้นทุกขณะ

     ส่วนขบวนการเนิบช้าคืออะไร ของดเว้นไม่กล่าวถึงในที่นี้ (ใครอยากรู้จริงๆ ไปหาหนังสือที่กล่าวถึงในย่อหน้าแรกมาอ่านนะคะ) เพราะว่าการค่อยๆ เล่า ค่อยๆ อธิบายช้าๆ นั้นดีแน่ แต่ถ้าโอ้เอ้พล่ามมากไป มันจะไม่ถึงเรื่องสโลวฟิชเสียที

     สโลวฟิช (Slow fish) เป็นงานออกร้านครั้งใหญ่ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 4-7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จัดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างองค์กรสโลวฟู๊ด แคว้นลิกูเรียของประเทศอิตาลี และบริษัทห้างร้านผู้สนับสนุนโครงการมากมาย มีกำหนดจัดปีเว้นปี ในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่สามที่เมืองเจโนอา

     จุดประสงค์ของงานนี้คือการกระตุ้นให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจปัญหาเรื่องการประมง ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ โดยเน้นคุณภาพดีๆ เป็นหลัก ส่วนปริมาณไม่ต้องเยอะก็ได้ ชุมชนคนทำประมงและผู้ที่เกี่ยวข้องกับปลาจากหลากหลายประเทศทั่วโลกมาร่วมงานกันอย่างคึกคัก เพื่อช่วยกันแสดงพลังและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางทะเลให้ผู้เข้าชมได้รับรู้

     จากรายงานขององค์การอาหารโลก ปลาทะเลจำนวนครึ่งหนึ่งของโลกถูกจับจนสูญพันธุ์ไปแล้ว และมีแนวโน้มว่าการจับปลาเกินโควตากับการรุกรานทำประมงในพื้นที่เขตสงวนจะเพิ่มมากขึ้น

     ปลาในทะเลเหนือที่เคยอุดมสมบูรณ์ขณะนี้ได้ร่อยหรอลงแทบไม่มีเหลือ ปลาในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกำลังถูกรุกรานจากปลาต่างถิ่นที่ข้ามเข้ามาเนื่องจากสภาพอากาศปั่นป่วนจนกระแสน้ำอุ่น-น้ำเย็นไหลปะปนกันมั่ว อุตสาหกรรมการประมงขนาดใหญ่กำลังใช้ตาข่ายขนาดยักษ์กวาดปลาในมหาสมุทร ทะเลแทบทุกแห่งทั่วโลกกำลังเริ่มเน่าเสีย หลังจากรับหน้าที่เป็นถังขยะให้มนุษยชาติตลอดหลายสิบปีหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และปลาที่จับได้ก็ถูกนำไปใช้ประโยชน์พร่ำเพรื่อโดยไม่จำเป็น


     ด้วยแนวคิดที่ว่า การตระหนักในปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เป็นเอกสิทธิ์สำหรับบรรดาหัวกระทินักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม แต่เป็นหน้าที่ของผู้บริโภคโดยทั่วไปที่จะต้องตัดสินใจร่วมมือกันสงวนรักษาธรรมชาติและแหล่งอาหารของตน สโลวฟิชจึงไม่ได้เป็นงานโปรโมทผลิตภัณฑ์ประจำท้องถิ่นแบบผิวเผิน แต่มุ่งเน้นเรื่องการสะกิดให้ผู้คนหันมาดูแลระบบนิเวศวิทยาทางทะเลที่กำลังอยู่ในขั้นวิกฤติ

     ในงาน นอกจากการประชุมสัมมนา สัมมนาเชิงปฏิบัติ (ที่เขาเรียกกันว่าเวิร์กชอฟ) แล้ว ก็มีนิทรรศการภาพถ่าย และภาพยนตร์วิดีโอ เกี่ยวกับปลาและกิจกรรมการหาปลาแบบพื้นบ้านซึ่งเป็นมิตรกับพันธุ์ปลา อย่างเช่นโครงการ ผู้หญิงในกิจกรรมสโลวฟิช ( women in slowfish)

     ข้อจำกัดทางกายภาพที่ทำให้ออกทะเลลึกๆ ไม่ได้ของผู้หญิงกลายเป็นสิ่งดีสำหรับสุขภาพทางทะเล ผู้หญิงมีบทบาทในการทำประมงน้ำตื้นทั่วโลก อันเป็นการประมงเล็กๆ ที่ค่อยๆ ทำไปไม่โลภมูมมาม สอดคล้องกับหลักการของสโลวฟิช เช่น กลุ่มหญิงเก็บสาหร่ายในชิลี กลุ่มหญิงเก็บหอยแมลงภู่ในมอร็อกโก รวมถึงกลุ่มผลิตน้ำพริกปลาแห้งและกุ้งแห้งของกลุ่มแม่บ้านทางภาคใต้ของประเทศไทยเราด้วย

      สำหรับเด็กๆ ที่ติดตามผู้ปกครองไปงานสโลวฟิช จะได้เข้าร่วมฟังนิทานปลา (Fish tale) วัยรุ่นระดับมัธยมจะได้ร่วมกิจกรรมเสริมความรู้เรื่องปลาต่างๆ (Which fish?) เป็นการปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งงการระแวดระวังรักษ์ธรรมชาติตั้งแต่เยาว์วัย

     ส่วนกิจกรรมที่เรียกผู้ชมได้คึกคักที่สุดเห็นจะเป็น ตลาดปลา ที่ชาวประมงนำปลามาเปิดประมูลขายกันสดๆ และมีเชฟจากร้านดังระดับโลกหลายร้าน มาเปิดครัวทำอาหารจากปลาให้กินกันถึงที่

      งานสโลวฟิช ที่มีองค์กรสโลวฟู๊ดเป็นแม่งานจัดในครั้งนี้ จึงเป็นการรณรงค์เพื่อเรียกร้องความใส่ใจในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีจิตสำนึก พร้อมๆ กับการพัฒนาความรู้และความเพลิดเพลินในการการกินอาหารตามหลักการที่สรุปสั้นๆ สำหรับงานนี้ได้ว่า


     กินปลาช้าๆ กันเถิดนะ แล้วจะได้กินปลากันไปนานๆ





ที่มา : //www.slowfish.it







 

Create Date : 08 กันยายน 2550    
Last Update : 8 กันยายน 2550 12:13:18 น.
Counter : 1231 Pageviews.  

Da la Rey

Da la Rey


     ถ้าเอ่ยถึง ทวีปแอฟริกา คุณนึกถึงอะไร

     อาจจะหนีไม่พ้น สัตว์ป่า ซาฟารี ทะเลทราย ความแห้งแล้ง ความอดอยาก เมืองขึ้นยุคอาณานิคม สงครามกลางเมือง เหมืองเพชร โรคเอดส์ และคนดำในชุดประจำเผ่า

     เชื่อว่าน้อยคนนักจะนึกถึงคนผิวขาวชาวแอฟริกันที่เรียกตัวเองว่า แอฟริกันเนอร์ (Afrikaner) พวกเขาเป็นลูกหลานที่สืบเชื้อสายมาจากพวกโบร์ (Boer) อันเป็นคำเรียกกลุ่มผู้อพยพจากยุโรปมาตั้งถิ่นฐานและตั้งตนเป็นประชาชนของทวีปแอฟริกา โดยส่วนใหญ่จะเป็นชาวดัทช์ และคนผิวขาวจากยุโรปอย่างพวกเยอรมันและฝรั่งเศส รวมถึงคนเชื้อชาติอื่นๆ เช่น มาเลย์ อินเดียใต้

     ในปี ค.ศ.1899 พวกโบร์ ซึ่งในภาษาดัชท์หมายถึง ชาวนา ได้เปิดศึกทำสงครามเพื่อปกป้องอิสรภาพและถิ่นฐานของตนกับกองกำลังของสหราชอาณาจักร ที่เรียกว่าสงครามโบร์ (The Boer war) แต่สุดท้ายน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ ต้องพ่ายศึกถูกกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมอังกฤษ

     ปัจจุบัน โบร์กลายเป็นคนกลุ่มน้อยที่วัฒนธรรมประจำตัวกำลังจะหายสาบสูญ ถึงขนาดที่ชื่อถนนและเมืองในภาษาแอฟริกาน (ภาษาของพวกแอฟริกันเนอร์) กำลังจะถูกเปลี่ยนเป็นภาษาอื่น หนุ่มสาวผิวขาวในแอฟริกาใต้กำลังไม่พอใจกับการถูกมองว่าเป็นปีศาจสกปรกจอมเหยียดสีผิวที่ไม่เคยทำอะไรถูก มีสิ่งต่างๆ กระตุ้นพวกเขาให้นึกถึงประวัติศาสตร์ “ที่น่าอับอาย”อยู่ตลอดเวลา ในหนังสือเรียนที่ใช้สอนตามโรงเรียนต่างๆ ในประเทศแอฟริกาใต้กล่าวถึงเรื่องสงครามโบร์ไว้เพียงสี่บรรทัด


     แต่ขณะนี้กำลังมีกระแสปลุกใจรักเชื้อชาติที่กำลังมาแรงในหมู่ชาวแอฟริกันเนอร์ พวกเขากำลังคลั่งไคล้บทเพลงเพลงหนึ่งที่ขับขานถึงตำนานวีรบุรุษผู้หนึ่งจากสงครามโบร์ซึ่งบรรพบุรุษของตนต่อสู้กับกองทัพอังกฤษ เพลงที่กล่าวถึงนายพล คูส์ เด ลา ไรย์ (Koos De La Rey) เพลงนี้ได้สร้างผลกระทบทางวัฒนธรรมต่อชุมชนชาวผิวขาวในแอฟริกาใต้ มีการพูดถึง "อัตลักษณ์ใหม่" ไปจนถึงลัทธิชาตินิยม

On a hill in the night
บนเนินเขายามราตรี
We lie in wait in the dark
เราซุ่มรอในความมืดมิด
In the mud and the blood I lie cold,
ในเลนและเลือด ข้านอนหนาวเหน็บ
Pack and rain clinging to me
เป้หลังและฝนหลั่งแนบร่างข้า


     เด ลา ไรย์ De La Rey บทเพลงที่ขับขานโดยศิลปินหนุ่ม บ็อก แวน เบลิก (Bok van Blerk) วัย 28 ปี ผู้มีชื่อจริงว่าหลุยส์ ดิปเปนาร์ ได้สร้างปรากฏการณ์ด้วยยอดขายสูงระดับดับเบิลแพลทติเนี่ยม ( 2 ล้านแผ่น) เพลงๆ นี้ถึงจะจัดอยู่ในประเภทร็อคแอฟริกันเนอร์ แต่เริ่มต้นเพลงด้วยทำนองเพลงมาร์ชทหาร

And my home and my farm burned to the ground so they can catch us
ทั้งบ้านและไร่นาข้าถูกเผาราบ เพื่อเปิดทางให้พวกมันจับตัวเรา
But those flames and that fire now burn deep, deep within me
แต่เปลวไฟนั่นและไฟนั้น บัดนี้แผดเผาลึก ลึกอยู่ในใจข้า


De La Rey, De La Rey, will you come to lead the Boers?
เด ลา ไรย์ เด ลา ไรย์ ท่านจะมานำเหล่าโบร์หรือไม่
De La Rey, De La Rey
เด ลา ไรย์ เด ลา ไรย์


     แล้วทำไมถึงต้องเป็นนายพลเด ลา ไรย์

     เพราะเด ลา ไรย์ เป็นตัวอย่างของวีรบุรุษคนดีที่แม้จะรักสงบ ไม่เห็นด้วยกับการทำสงคราม แต่เพื่อกองทัพของตน เขาเก่งกาจห้าวหาญสู้ไม่ถอย อีกทั้งยังมีจิตใจเปี่ยมมนุษยธรรม เขาเคยส่งตัวประกันทหารอังกฤษกลับคืน เพราะทหารผู้นั้นป่วยหนัก และมีเพียงการแพทย์ของอังกฤษเท่านั้นที่จะรักษาชีวิตไว้ได้

General, General as one man we shall fall about you
ท่านนายพล ท่านนายพล ท่านคือผู้เดียวที่เราจะตามมาช่วย
General De La Rey.
ท่านนายพลเด ลา ไรย์


     ถึงผู้แต่งเพลงคือ ฌอน เอลส์ กับโจฮัน โวสเตอร์จะปฏิเสธว่าไม่ได้ตั้งใจจะใช้เพลงนี้โปรโมทแนวความคิดทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น แต่ก็มีคนตั้งคำถามขึ้นมากมาย

     "ความตั้งใจของเพลงนี้เป็นเรื่องทางวัฒธรรมล้วนๆ" เอลส์กล่าว "ตอนที่แต่งเรามองว่าชาวแอฟริกันเนอร์พร้อมแล้วที่จะรับเพลงนี้ เราเขียนขึ้นเพื่อคนที่เปิดใจกว้าง ที่เลือกนายพลเด ลา ไรย์ เพราะว่าเขาเป็นผู้ปราดเปรื่อง ต่อสู้ในสงครามจนถึงที่สุด ถึงแม้จะในใจจะไม่ชอบก็ตาม"

     นักสังคมวิทยาผู้หนึ่งให้ความเห็นว่าความโด่งดังของเพลงนี้ในทางสัญลักษณ์แล้วแสดงถึงความไม่มั่นคงปลอดภัยในจิตใจ แฟนๆ ที่ชื่นชอบเพลงนี้แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกอายุ 40-50 ปี ผู้ที่อาจจะรู้สึกขมขื่นเพราะไม่มีอภิสิทธิ์เหมือนคนในสมัยที่มีการแยกคนต่างผิวในแอฟริกาใต้ อีกกลุ่มคือหนุ่มสาวที่อายุน้อยลงมาที่กำลังหาอัตลักษณ์หรือภาพที่แสดงตัวตนใหม่ให้ตนเอง


     เพลงนี้สร้างกระแสใหญ่โตจนกลายเป็นหัวข้อเสวนา ณ สถาบันความสัมพันธ์ทางด้านเชื้อชาติ (Institute for Race Relations -SAIRR) หัวหน้าฝ่ายพัฒนาของสถาบันนี้กล่าวว่า คนแอฟริกันเนอร์ยุคหลังๆ กำลังหาเอกลักษณ์ใหม่ให้เชื้อชาติของตน และไม่รู้สึกข้องเกี่ยวกับตัวตนที่ได้รับสืบทอดจากการแบ่งแยกสีผิวในสมัยก่อน “เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย และเป็นสิ่งดีสำหรับความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติ แต่ก็เสี่ยงว่าจะมีกลุ่มทางการเมืองยื่นเข้ามาฉวยโอกาสนี้ปลุกปั่นหาเสียง ชาวแอฟริกันเนอร์รุ่นใหม่มีความรู้สึกรุนแรงเพราะกำลังมองหาผู้นำที่แข็งแกร่ง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกตรงไหน”

Against the Kakies* who laugh ต่อต้านอังกฤษชุดกากีที่หัวร่อ
A handful of us against a whole great army พวกเราเพียงหยิบมือต่อกรกองทัพเกรียงไกร
And the crags at our backs, และหลังเราชนภูผา
They think it's all over. พวกมันคิดว่าจบสิ้นแล้ว


      สำหรับนักร้อง เขาหวังว่าจากบทเพลงๆ นี้ หนุ่มสาวชาวแอฟริกันเนอร์จะสามารถค้นหาเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามระหว่างอังกฤษกับชาวโบร์ และประวัติศาสตร์โดยทั่วไปของพวกตนมากขึ้น

      “หนุ่มสาวผิวขาวในประเทศแอฟริกาใต้เติบโตขึ้นมากับความรู้สึกผิดในเรื่องการแบ่งแยกผิวในอดีต ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาภาคภูมิใจได้” นักร้องหนุ่มกล่าว “การกลับไปหาหนึ่งในบรรดาแม่ทัพในสงครามโบร์ที่ยืนหยัดเพื่อสิ่งที่ถูกต้องและการต่อสู้เพื่ออิสรภาพไม่ใช่สงครามเป็นสิ่งที่ผู้คนต้องการ นี่คือเหตุผลพวกเขาจึงชื่นชอบเพลงนี้ เพราะทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง ได้รู้ว่าตนมาจากไหน มีหลักให้ยึดและรู้ว่าจะไปที่ใด”

But the heart of a Boer lies deeper and wider, they shall see it yet
หากหัวใจเหล่าโบร์สถิตอยู่ลึกล้ำและกว้างใหญ่กว่านั้น พวกมันจะได้เห็น
On a horse he is coming, the Lion of the West Transvaal.
อยู่บนอาชา เขากำลังมา สิงห์แห่งเวสต์ ทรานสวาล


     ความทะเยอทะยานทางดนตรีของบ็อกไม่ได้สูงส่งเลิศเลอ ก่อนที่จะออกเทปโด่งดังขนาดนี้ เขาเคยเล่นดนตรีรอบกองไฟให้ครอบครัวฟัง และทำงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นผู้จัดการไซต์งาน หลังจากนั้นเขาได้รับการติดต่อจากค่ายเทป และเริ่มทำงานดนตรีอย่างจริงจังจนออกอัลบั้มเพลงชุดแรกในชื่อ De la Rey เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว

     จากความสำเร็จอย่างล้นหลามเป็นที่รู้จักทั่วโลกทำให้คิวคอนเสิร์ตของเขาในปีนี้เต็มเหยียด มีตารางเล่นสดหกรอบต่อสัปดาห์ หลังจากเดินทางไปเปิดแสดงที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เดือนสิงหาคมนี้ เขาจะเดินสายจัดทัวร์คอนเสิร์ตในสหรัฐอเมริกา แคนาดา เนเธอร์แลนด์และออสเตรเลีย นอกจากนั้นยังได้รับการติดต่อให้ไปเล่นคอนเสิร์ตให้แฟนเพลงที่เป็นบรรดาทหารอเมริกันที่กำลังปฏิบัติการณ์อยู่ในอิรัก

     “ตอนที่ผมร้องเพลงเด ลา เรย์ คุณจะได้เห็นในดวงตาของพวกเขา คุณจะเห็นผู้คนที่ภาคภูมิใจ ยืนกำมือกุมหัวใจ และบางคนร้องไห้ เพลงๆ นี้เติมเต็มสิ่งที่พวกเขาปรารถนา”



Because my wife and my child lie wasting away in a camp*
เพราะลูกเมียข้านอนตายซากในค่ายกักกัน
and the Kakies' marrow runs over a nation which shall rise again.
และเลือดพวกสีกากีไหลนองทั่วแผ่นดินที่จะผงาดขึ้นอีกครา



* พวกโบร์เรียกทหารอังกฤษสมัยนั้นว่าพวกสีกากี จากเครื่องแบบที่สวมใส่
* ค่ายกักกันของอังกฤษในช่วงสงครามโบร์ มีชายหญิงและเด็กชาวโบร์ล้มตายจากความอดอยากและโรคภัยหลายหมื่นคน
เนื้อเพลงภาษาอังกฤษแปลจากภาษาแอฟริกานนำมาจากเวบไซต์ //www.answp.com




ที่มา : Sunday Times Online
ข้อมูลเพิ่มเติม : wikipedia.com
ขอขอบคุณ : สมาชิกห้องรวมพลนักแปลแห่งพันทิพดอทคอม สำหรับความช่วยเหลือในการปรับปรุงบทแปลเพลงในภาษาไทย








 

Create Date : 02 กรกฎาคม 2550    
Last Update : 2 กรกฎาคม 2550 18:49:06 น.
Counter : 3586 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  

Mutation
Location :
somewhere in Hong Kong SAR

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ฉั น คื อ ใ ค ร

     สาวพฤษภชาวแกลงแห่งเมืองระยอง ลอยละล่องเรื่อยไปจนปาเข้าสามสิบ กว่าจะได้พบอาชีพที่ต้องจริตจนคิดตั้งตัวเป็นนักแปลรับจ้างเร่ร่อนไร้สังกัด ปัจจุบันเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อ "กำมะหยี่"

     จุดหมายในชีวิต หลังจากผันผ่านคืนวันมาหลายปีดีดัก ขอพักไม่หวังทำอะไรใหญ่โต ขอเพียงมีชีวิตสุขสงบ ได้ทำสิ่งที่ดีๆ ทำตามหน้าที่ของตนในทุกด้านอย่างดีที่สุด แค่นั้นพอ

      ฉันมีหวานใจ- สามี - สุดที่รักแสนดีชาวฝรั่งเศส แถมเรือพ่วงสองลำเล็กๆ ตอนนี้มาใช้ชีวิตกันอยู่ที่ฮ่องกง



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Mutation's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.