Plastic road เมื่อบนถนนเต็มไปด้วยพลาสติก

Plastic road เมื่อบนถนนเต็มไปด้วยพลาสติก

a day - Oversee Aug 09

กาลครั้งหนึ่งในทุกวันนี้ ณ เมืองบังกาลอร์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองไอที ซิลิคอนวัลเลย์ของประเทศอินเดีย มีบริษัทตะวันตกทั้งยุโรปและอเมิรกาน้อยใหญ่แห่กันเข้ามาตั้งบริษัทลูก ใช้บริการพนักงานชาวอินเดียที่มีชื่อเสียงเลื่องชื่อด้านความสามารถทางคอมพิวเตอร์ ตึกรามใหญ่โตที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อรองรับการเจริญเติมโตทางเศรษฐกิจผุดขึ้นมาราวดอกเห็ด ถนนหนทางตัดใหม่มีให้เห็นอยู่ทั่วไป ถนนส่วนใหญ่ทำจากคอนกรีตและยางมะตอย และไม่นานมานี้มีการตัดถนนเส้นใหม่สร้างจาก “พลาสติกเหลือใช้” ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าแข็งแรงกว่า นุ่มนวลกว่า รถวิ่งแล้วกระโดดเด้งโคลงเคลงน้อยกว่า และที่สำคัญ เป็นมิตรกับธรรมชาติมากกว่า

ขณะที่เราๆ ทิ้งถุงพลาสติกเหลือใช้ลงถังขยะโดยไม่สนใจว่าจุดจบของถุงพลาสติกเหล่านี้จะเป็นอย่างไร มีโรงงานทำถุงพลาสติกแห่งหนึ่งได้ค้นพบวิธีการใช้งานขยะเหลือใช้เหล่านี้ด้วยวิธีการที่ไม่เป็นอันตราย เบื้องหลังความคิดนั้น คือ อาเหม็ด ข่าน ชาวอินเดียวัย 56 ปีเจ้าของรางวัล เดอะ เรียล ฮีโร่ (Real Hero Award - วีรบุรุษตัวจริง) ประจำปีที่แล้ว เจ้าของโรงงานผลิตถุงพลาสติก เคเค โพลีเฟล็กซ์

จุดแรกเริ่ม เกิดจากการที่เขารู้สึกถึงหน้าที่ทางสังคมของผู้ผลิตสินค้าที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ

“ตอนที่ราซูล ข่าน น้องชายของผม กับผมคิดหาทางแก้ปัญหาเพื่อลดผลร้ายที่เกิดจากสินค้าของเรา เราก็นึกขึ้นมาได้ว่ายางมะตอยที่ใช้ราดถนนกับพลาสติกทำมาจากผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปิโตรเลียมและไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเหมือนกัน”

ยางมะตอยเป็นส่วนผสมผลักของการทำถนน แต่เวลาที่ใช้ยางมะตอยอย่างเดียว ถนนมีแนวโน้มจะหลุดร่อนเมื่อใช้งานไปสักระยะหนึ่ง ในขณะเดียวกัน เวลาพลาสติกละลาย มันจะจับตัวแข็งมากภายในเวลาเพียงสิบนาที ข่านจึงเกิดความคิดว่าทำไมเราไม่ผสมพลาสติกกับยางมะตอยล่ะ สองพี่น้องจึงลองผสมวัตถุดิบทั้งสองเข้าด้วยกัน แล้วทดลองเอาไปถมหลุมบ่อตามถนนเป็นเวลา 2 ปี การทดลองดังกล่าวได้ผลดีอย่างไม่น่าเชื่อ หลังจากประสบความสำเร็จในการทดลองขนาดเล็กทำกันแบบบ้านๆ แล้ว พวกเขาก็จำเป็นต้องตรวจสอบว่ากระบวนการนี้ปลอดภัยเพียงพอหรือไม่สำหรับการนำไปใช้ตามถนนหนทางในเมือง

การติดต่อเพื่อรับการรับรองจากสถานศึกษาและสถาบันวิจัยอย่างเป็นทางการก็เริ่มขึ้น และต้องรอถึง 2 ปี กว่าบรรดาอาจารย์วิศวกรรมศาสตร์กับนักวิจัยจะออกรายงานรับรองเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดนี้ ต่อจากนั้น ขั้นตอนสำคัญก็ตามมาติดๆ นั่นคือการทำให้เทคโนโลยีใหม่นี้ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในถนนเมืองบังกาลอร์ ข่านติดต่อผู้หลักผู้ใหญ่ระดับผู้ว่าการรัฐ จนในที่สุดได้รับอนุญาตให้เข้าเสนอโครงการต่อที่ประชุม และโครงการนำร่องก็เริ่มต้นขึ้นบนถนนสายต่างๆ รวมระยะทาง 40 กิโลเมตร โดยมีการตรวจสอบติดตามผลอย่างใกล้ชิด และไม่ปรากฎว่ามีผิวถนนหลุดร่อนแต่อย่างใด



แม้จะเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก และมีผลการทดสอบที่ดี แต่กระนั้นก็ยังไม่พอที่จะได้รับสัมปทานขนาดใหญ่ได้ เพราะยังต้องมีการวิจัยอีกมากมายเพื่อยืนยันว่าเทคโนโลยีใหม่นี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงๆ ข่านจึงต้องไปติดต่อเป็นสปอนเซอร์ให้ศูนยวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำการวิจัย จนได้รายงานรับรองและได้รับอนุญาตให้ตัดถนนรวมความยาว 230 กิโลเมตรในบังกาลอร์

แหล่งพลาสติกสำหรับการทำถนนได้จากคนที่ทำอาชีพรับเก็บขยะ โดยข่านได้จ่ายเงินค่าขยะพลาสติกสูงกว่าราคาปกติ ข่าวราคาใหม่แพร่กระจายปากต่อปาก และมีคนเก็บขยะนำพลาสติกมาขายมากขึ้นเรื่องๆ ว่ากันว่าคนเก็บขยะที่ขยันๆ หน่อยจะสามารถนำพลาสติกมาส่งขายได้ถึง 20-25 ตันต่อวันเลยทีเดียว

วิธีการทำถนนจากพลาสติกนั้น เริ่มจากการบดพลาสติกที่คนเก็บขยะมาส่งให้เป็นผง แล้วนำไปผสมกับยางมะตอยที่ไซต์งานก่อนจะเทราดลงบนผิวถนน โดยสามารถทำได้สองแบบคือแบบแห้งและแบบเปียกด้วยการผสมกับน้ำมันดิน และผลที่ออกมาก็จะเป็นถนนที่มีหน้าตาเหมือนถนนยางมะตอยปกติธรรมดา แต่คงทนแข็งแรง ไม่ต้องผันงบประมาณมาซ่อมแซมในอีกอย่างน้อยหกปี

ทำให้ชาวบังกาลอร์มีความหวังขึ้นมาว่าเมืองที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วของตนจะมีถนนที่ดีกว่าเดิม มิใช่เพียงถนนที่กว้างกว่าเดิมเท่านั้น

เรียบเรียงโดย อธิชา มัญชุนากร กาลูล็อง
ที่มา เห็นป้ายโฆษณาริมถนนที่เมืองบังกาลอร์ อินเดีย
ข้อมูลเพิ่มเติม //www.citizenmatters.in








 

Create Date : 15 เมษายน 2553    
Last Update : 15 เมษายน 2553 12:39:35 น.
Counter : 1478 Pageviews.  

Des nouvelles de Martha – จดหมายจากตัวละครในนิยายส่งถึงบ้านผู้อ่าน

Des nouvelles de Martha – จดหมายจากตัวละครในนิยายส่งถึงบ้านผู้อ่าน

a day - Oversee May 09

การใช้จดหมายเป็นเครื่องมือการเล่าเรื่องราวในนิยาย (Epistolary novel) ไม่ใช่เรื่องใหม่ สาวประวัติสืบเนื่องขึ้นไปถึงนิยายที่ใช้กลวิธีนี้เรื่องแรกเมื่อปี ค.ศ. 1485 ในนิยายเรื่อง Prison of Love (Cárcel de amor- พิษรัก) ของดิเอโก เดอ ซาน เปโดร ( Diego de San Pedro) นักเขียนชาวสเปน โดยเป็นนิยายเชิงบรรยายเล่าเรื่องแบบดั้งเดิมที่ใช้จดหมายสอดแทรกอยู่มากมายในเรื่อง

หลังจากนั้นมีนักเขียนใหญ่น้อยนำรูปแบบการสื่อสารนี้ไปใช้ทั่วโลก ตั้งแต่ มงต์เตสกิเออ, ฌอง-ฌาคส์ รุสโซ จนถึง เกอเต้และเจน ออสเตน การใช้จดหมายในนิยายผ่านยุคฮิตสุดๆ ซบเซาลงตามกระแส นิยายจดหมายผ่านร้อนผ่านหนาวเรื่อยมาจนถึงยุคที่จดหมายอิเล็คทรอนิคส์หรืออีเมลเข้ามาแทนที่การบรรจงจรดปลายปากาเขียนลงกระดาษด้วยลายมือ โลกในนิยายก็รับปรับเอาวิธีการสื่อสารนี้มาใช้แทนจดหมายเช่นเดียวกัน เห็นได้จากเรื่อง The Boy Next Door ของ เม็ก คาบ็อท

สำหรับในเมืองไทยของเรา มีจดหมายนิยายเรื่องดังไม่น้อย เท่าที่นึกออกตอนนี้ก็มี รัตนาวดี ของ ว. ณ ประมวญมารค และ จดหมายถึงคุณยาย โดย โสภาค สุวรรณ ที่ได้ข่าวว่ามีภาคสามภาคสี่ตามมาด้วยเมื่อคุณหลานของคุณยายเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว

นิยายจดหมายโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ แบบมีตัวละครเขียนจดหมายคนเดียวถึงตัวละครอีกตัว แบบตัวละครสองตัวเขียนโต้ตอบกัน และแบบมีตัวละครหลายตัวเขียนจดหมายถึงกันไปมา

หากในปีนี้ มีนิยายจดหมายอีกหนึ่งประเภทเกิดขึ้น เป็นนิยายที่ดำเนินเรื่องด้วยจดหมายที่ตัวละครเขียนเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวตนเองถึงผู้อ่านโดยตรง นิยายเรื่องนั้นชื่อ “Des nouvelles de Martha” (The news from Martha – ข่าวคราวจากมาร์ธา) เป็นนิยายที่เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสโดย มารี ลาแบร์จ (Marie Laberge) นักเขียนสาวใหญ่ชาวควีเบคในประเทศแคนาดา ผู้มีชื่อเสียงในหลายด้าน เพราะนอกจากเขียนนิยายที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องมา 20 ปี แล้ว เธอยังเป็นนักแต่งบทละคร ผู้กำกับการแสดง และนักแสดงด้วย

โครงการ “ข่าวคราวของมาร์ธา” ประกาศออกมาเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว เพื่อให้นักอ่านได้เข้าไปสมัครผ่านทางเว็บไซต์ //www.marielaberge.com แจ้งความจำนงค์ (และจ่ายเงิน 33,00 ดอลลาร์แคนาดา หรือประมาณ 855 บาท - ราคาสูงกว่าราคาหนังสือทั่วไปในท้องตลาดแคนาดา 2 เท่า ) เพื่อติดตามเรื่องราวใน “นิยาย” รูปแบบใหม่เล่มนี้ให้ตัวเองหรือให้เป็นของขวัญกับคนใกล้ตัว ไม่กี่สัปดาห์หลังจากเปิดรับสมัคร มีผู้อ่านนับหมื่นเข้าไปสมัคร และเมื่อปิดรับสมัครเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา จำนวนผู้สมัครรวมทั้งสิ้น 41,000 คน

จดหมายที่ผู้สมัครจะได้รับในตู้จดหมายหน้าบ้าน จะเป็นจดหมายยาวสามหน้าที่พิมพ์เป็นตัวเขียนลงกระดาษ พับใส่ซอง ติดสแตมป์ ส่งให้ถึงบ้านเฉลี่ยสองสัปดาห์ต่อหนึ่งฉบับ ตลอดทั้งปีนี้รวมทั้งสิ้น 26 ฉบับ เริ่มต้นฉบับแรกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ฉบับสุดท้ายจะส่งถึงในวันที่ 31 ธันวาคม จดหมายแต่ละฉบับลงชื่อผู้อ่านแต่ละคนที่คำทักทายต้นฉบับ เหมือนเป็นจดหมายที่เพื่อนคนหนึ่งที่ห่างหายกันไประยะหนึ่งส่งให้จริงๆ

เพื่อนคนนั้นชื่อ มาร์ธา ซึ่งเป็นตัวละครที่ผู้อ่านจะได้ทำความรู้จักทีละนิดผ่านจดหมายแต่ละฉบับ เธอเป็นแม่และยาย เป็นผู้หญิงในยุคปัจจุบัน เป็นตัวละครที่ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านจะใจจดใจจ่อรอจดหมายของเธอเพื่อจะได้รู้เรื่องราวของเธอมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดทั้งปีนี้

หากไม่นับวิธีการเก๋ๆ ในการรู้จักดึงมนต์สเน่ห์ของการอดทนรอรับจดหมายเป็นแผ่นๆ แบบจับต้องได้ ซึ่งแทบจะสูญหายไปในยุคปัจจุบันกลับมาแล้ว สเน่ห์ของ “ข่าวคราวจากมาร์ธา” อีกอย่างหนึ่งอยู่ที่เนื้อความในจดหมายแต่ละฉบับ แม้ว่าเนื้อหาจะเป็นเรื่องเดียวกันคือชีวิตของผู้หญิงชื่อมาร์ธา แต่สไตล์การเขียนที่มาร์ธา (หรือที่นักเขียน) ใช้ในการเล่าเรื่องราวในชีวิตตนเองให้เพื่อน (ผู้อ่าน) ชาย-หญิงนั้นจะมีรูปประโยคที่แตกต่างกัน ไม่ใช่ประโยคเดียวกันแต่เปลี่ยนการผันคำตามไวยกรณ์ฝรั่งเศสซึ่งเป็นภาษาที่คำเปลี่ยนไปตามเพศของคำและเมื่อเพศของประธานกับกรรมต่างกันแต่เพียงอย่างเดียว

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาจดหมายฉบับแรกจำนวน 41,000 ฉบับ ส่งถึงนักอ่านเพื่อนของมาร์ธา เริ่มเปิดเรื่องด้วยการอัพเดทชีวิตและคนในครอบครัวของเธอ ประหนึ่งการแนะนำตัวละครหลักของเรื่อง ปฏิกิริยาของนักอ่านที่ได้รับจดหมายทั้งที่สมัครเองและที่ได้รับเป็นของขวัญจากคนใกล้ชิดต่างตื่นเต้นดีใจ บ้างเปิดอ่านทันทีที่ได้รับถึงมือ บ้างเก็บเอาไว้ละเลียดอ่านก่อนนอน และไม่ปรากฎว่ามีใครใจแข็งพอที่จะรอให้ครบปีก่อนแล้วค่อยๆ เปิดอ่านทีละฉบับจนจบรวดเดียว

และในอนาคตต่อไป หากเนื้อหาของนิยายในจดหมายนี้ได้รับความนิยมอย่างสูง ก็อาจจะมีการรวมเล่มวางแผงตามร้านหนังสือทั่วไป เพื่อที่นักอ่านที่พลาดการสมัครรับจดหมาย 26 ฉบับถึงบ้านก็ได้รับรู้ “ข่าวคราวของมาร์ธา” ถึงจะไม่มีโอกาสได้รับความรู้สึกตื่นเต้นยามบุรุษไปรษณีผ่านหน้าบ้านก็ตาม


เรียบเรียงโดย อธิชา มัญชุนากร กาบูล็อง
ที่มา TV5Monde (สถานีโทรทัศน์ฝรั่งเศส)
ข้อมูลเพิ่มเติม //www.wikipedia.com , //www.marielaberge.com








 

Create Date : 15 เมษายน 2553    
Last Update : 15 เมษายน 2553 12:17:53 น.
Counter : 1727 Pageviews.  

actions against hunger – ปฏิบัติการสังหารความหิว

actions against hunger – ปฏิบัติการสังหารความหิว

a day - Oversee April 09

“หิว”

เชื่อว่าไม่มีใครไม่เคยรู้จักเจ้าความรู้สึกแสนทรมาณนี้

ความหิวสามารถมีอิทธิพลใหญ่หลวงทำให้คนที่ใจดีกลายเป็นคนใจร้าย ทำให้คนที่สุภาพอ่อนหวานกลายเป็นคนหัวเสียโมโหร้ายเพราะโมโหหิว ทำให้ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ทำให้อะไรแย่ๆ เกิดขึ้นได้สารพัด ถ้าไม่มีอาหารมาประทังกระหนาบความหิวให้หายไปได้ทันท่วงที

ความหิวสำหรับคนโชคดีหลายคนอาจจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ชั่วยาม หิวปุ๊บ หาอาหารมาใส่ปากได้ปั๊บ แต่บนโลกใบนี้ยังมีคนที่ต้องหิวอยู่ตลอดเวลาเป็นล้านๆ คน ที่น่าสลดใจคือส่วนใหญ่ไม่ได้ตกเป็นเหยื่ออดอยากจากสภาพธรรมชาติอันแล้งแล้งเท่านั้น หากยังเป็นเพราะมีสงครามความขัดแย้งแย้งอำนาจทางการเมืองจนประชาชนตาดำๆ ไม่สามารถทำมาหากินได้อย่างเป็นปรกติสุขได้

คนที่ติดตามข่าวความเคลื่อนไหวในต่างประเทศ อาจจะเคยผ่านตาว่ามีองค์กรเพื่อมนุษยธรรมต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่อยู่สภาวะลำบากเนื่องจากประเทศเกิดสงคราม และไม่ทราบว่าเคยสงสัยกันบ้างหรือเปล่าคะว่าองค์กรเหล่านั้นเอาเงินทองที่ไหนมาหาซื้ออาหารน้ำดื่มและสิ่งที่จำเป็นอื่นๆ มากมาย

คำตอบง่ายๆ คือ จากเงินงบประมาณช่วยเหลือของหน่วยงานรัฐและเงินบริจาคของผู้มีใจกรุณา

ในเมื่อสงครามไม่เคยสิ้นสุด องค์กรการกุศลต่างๆ จึงผุดขึ้นมากมายอย่างในทุกวันนี้ ครั้นจะตั้งกล่องรอรับบริจาคเฉยๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องล้าสมัยไม่อาจดึงดูดคนใจดีได้ง่ายๆ อีกแล้ว กลยุทธ์ในการหาเงินบริจาคจึงถูกคิดค้นกันออกมาอย่างเต็มที่ กลยุทธ์ที่โดดเด่นน่าสนใจที่จะนำมาเล่าให้ฟังในวันนี้ เป็นความคิดสร้างสรรค์ขององค์กรเพื่อมนุษยธรรมที่มีชื่อว่า แอคชั่น อะเกนสต์ ฮังเกอร์ (action against hunger – แปลคร่าวๆ ได้ว่า กลุ่มเคลื่อนไหวต้านความหิว)

แอคชั่น อะเกนสต์ ฮังเกอร์ หรือ อักซิยง กงเทรอะ ลา แฟง (Action Contre la Faim - ACF) ตั้งขึ้นในประเทศฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1979 โดยกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “องค์กรเพื่อมนุษยธรรมรุ่นที่สอง” จากการเล็งเห็นถึงข้อจำกัดในการทำงานตามธรรมเนียมของการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแบบดั้งเดิม พวกเขาพยายามกำหนดบทบาทที่น่าเชื่อถือให้กับคนที่ทำงานให้กับองค์กร ไม่ให้เป็นแค่คนทำหน้าที่คอยตามเช็ดคอยล้างสิ่งเลวร้ายในพื้นที่

จุดมุ่งหมายหลักของอักซิยง กงเทรอะ ลา แฟง คือการต่อสู้กับความอดหยากในประเทศต่างๆ ส่วนมากเป็นประเทศในทวีปแอฟริกา และในดินแดนที่มีการสู้รบ เช่น อัฟานิสถาน ปาเลสไตน์ รวมไปถึงพื้นที่ห่างไกลที่คนมักจะไม่นึกถึง เช่น มองโกเลีย เป็นต้น

วิธีการหาเงินบริจาคของ “กลุ่มเคลื่อนไหวต้านความหิว” ซึ่งมีหน่วยงานเครือข่ายตั้งอยู่ในสี่ประเทศ คือ ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกาและแคนาดา จะปรับตัวกันไปตามวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ เช่น ในฝรั่งเศส มีโครงการที่เรียกว่า โอเปราซิยง กาเฟ (OPERATION CAFÉ – ปฏิบัติการร้านกาแฟ) ทุกครั้งที่สั่งกาแฟในร้านคาเฟ่ที่เข้าร่วมโครงการ คุณจะมีส่วนในการบริจาคเงิน 0.10 ยูโรเข้าองค์กร ส่วนในอเมริกาจัดงานรวบรวมคนดังมาดูแฟชั่นโชว์ของดีไซน์เนอร์คลื่นลูกใหม่ที่ดีไซน์ชุดเข้ากับการทำงานขององค์กรในปาร์ตี้เก๋มีดีเจเปิดแผ่นที่นครนิวยอร์ก

ขณะที่ แอคชั่น อะเกนสต์ ฮังเกอร์ ในอังกฤษเสนอโครงการเด็ด ชื่อ เรสโตรองต์ อะเกนส์ ฮังเกอร์ (restaurant against hunger - ร้านอาหารต้านความหิว) โดยเชิญชวนเจ้าของร้านอาหารต่างๆ มาเข้าร่วมโครงการได้หลากหลายวิธี ได้แก่

- บริจาคเพิ่มลงบิล - เชิญชวน เปิดช่องให้ลูกค้าจ่ายเงินเล็กน้อยเพิ่มลงในบิลเรียกเก็บค่าอาหาร โดยให้บริกรอธิบายที่มาที่ไปของโครงการ และทางร้านอาจจะช่วยเติมเงินบริจาคลงไปเท่ากับจำนวนที่ลูกค้าบริจาคด้วยก็ได้

- กำหนดอาหารจานบุญ – ทางร้านเลือกอาหารในเมนูขอตนมาหนึ่งอย่าง ทุกครั้งที่มีคนสั่งอาหารจานนี้ จะเท่ากับเป็นการบริจาคเงินเล็กๆ น้อยๆ เช่น 20 เพ็นนี จากการขายให้กับโครงการ หรือคิดอาหารจานพิเศษในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นเดือนที่ทางองค์กรจะทำโฆษณากำหนดเป็นเดือนแห่งการชักชวนผู้คนออกไปกินอาหารนอกบ้านเพื่อขจัดความหิวโหยบนโลกเป็นพิเศษ นอกจากนั้นทางร้านยังอาจจะตั้งชื่ออาหารจานพิเศษให้เข้ากับการทำกุศลดึงดูดลูกค้า เช่น พุดดิ้งต้านความหิว

Photobucket
-จัดงานกิจกรรมในร้าน เช่น จัดงานประมูลมื้ออาหาร จัดปาร์ตี้ เปิดการชิมไวน์หรืออาหาร หรือจะคิดรูปแบบงานให้เข้ากับวันอาหารโลก วันที่ 16 ตุลาคมของทุกปีก็ได้

-จัดทำซองรับบริจาค – วางให้เห็นเด่นชัดกันไปเลยบนโต๊ะอาหาร ข้างๆ สติกเกอร์ แผ่นพับ การ์ดตั้งโต๊ะที่ทางโครงการจะจัดส่งให้เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ถ้าบางร้านต้องการบริจาคเงินช่วยเหลือตลอดปี ด้วยการปันผลกำไรเป็นเปอร์เซ็นต์เล็กๆ น้อยๆ ให้กับโครงการ หรือจะจัดอาหารจานบุญขึ้นมาตลอดปีก็ไม่รังเกียจ สรุปว่าจะทำแบบไหนก็ได้ ขอให้ได้ช่วยกันเถอะ

ในเว็บไซต์ของโครงการ (www.restaurantsagainsthunger.org) มีรายชื่อร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการยาวเหยียด นอกจากในอังกฤษประเทศต้นความคิดแล้ว ยังมีในประเทศอื่นอีกสองประเทศ หนึ่งในสองประเทศนั้น คือ ไทยแลนด์แดนสยาม ที่รีสอร์ทและสปาของกลุ่ม Six Senses ในภูเก็ตและเกาะสมุย

ลงชื่อกันชัดๆ แบบไม่คิดค่าโฆษณาและขอปรบมือดังๆ ให้ด้วยค่ะ


เรียบเรียง - อธิชา มัญชุนากร กาบูล็อง
ที่มา - ในร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการแห่งหนึ่ง
ข้อมูลเพิ่มเติม //www.restaurantsagainsthunger.org, //www.actionagainsthunger.org, //www.actioncontrelafaim.org











 

Create Date : 15 เมษายน 2553    
Last Update : 15 เมษายน 2553 11:56:18 น.
Counter : 1325 Pageviews.  

Auroville – The under construction utopia - เมืองในฝันที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

Auroville – The under construction utopia - เมืองในฝันที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

a day - Oversee March 09

Imagine there's no countries
- ลองนึกภาพ ว่าไม่มีประเทศ
It isn't hard to do
- มันไม่ได้ยากเย็นเลยสักนิด
Nothing to kill or die for
- ไม่มีอะไรให้ฆ่าอุทิศหรือถวายชีวิตให้
And no religion too
- และยังไร้ซึ่งศาสนา
Imagine all the people
– ลองนึกภาพเหล่าชาวประชา
Living life in peace...
- ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติ

ในสถานการณ์คุกกรุ่น มีการแบ่งพรรคแบ่งฝ่ายทำร้ายกันด้วยข้ออ้างเรื่องความแตกต่างทางศาสนาและเชื้อชาติที่ฝังรากลึกเกินจะเยียวยาด้วยวิธีอื่น นอกจากล้างแค้นฆ่าฟันกันให้สิ้นซาก เนื้อร้องในเสียงเพลงเก่าจากชาวคณะสี่เต่าทองเพลงนี้ดูเหมือนจะยิ่งเพิ่มความเข้มข้นให้กับความหมายของชื่อเพลงยิ่งขึ้นไปอีก - Imagine - คิดฝัน

You may say I'm a dreamer - คุณอาจกล่าวว่าผมฝันเฟื่อง
But I'm not the only one – แต่ผมไม่ได้ฝันอยู่คนเดียว
I hope someday you'll join us – ผมหวังว่าคุณจะมาร่วมฝันกับเรา
And the world will be as one - และโลกนี้จะรวมเป็นหนึ่งเดียว

กระนั้น ในเนื้อเพลงนี้ก็มีความจริงอยู่อย่างหนึ่ง คือ But I'm not the only one – แต่ผมไม่ได้ฝันอยู่คนเดียว เพราะถึงจะฟังดูฝันเฟื่องเกินกว่าจะเป็นไปได้ แต่เชื่อหรือไม่ ในโลกนี้มีดินแดนที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง “ความเป็นหนึ่งเดียวของชาวโลก” อย่างที่บรรยายในเนื้อเพลงนี้จริงๆ

เมืองแห่งนี้ชื่อ ออโรวิลล์ (Auroville) อยู่ในอินเดียใต้ ฝั่งตะวันตกแถวอ่าวเบงกอล บนพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างรัฐทมิฬนาดูกับรัฐพอนดิเชอร์รี พิธีก่อตั้งอย่างเป็นทางการมีขึ้นในวันที่ 28 กุมภาพันธุ์ ค.ศ. 1968 ในวันนั้นมีตัวแทนประเทศต่างๆ 124 ประเทศและจากทุกรัฐของอินเดียจำนวน 5,000 คนมารวมตัวกัน ณ บริเวณศูนย์กลางของพื้นที่ที่จะก่อสร้างเมือง โดยตัวแทนจากประเทศต่างๆ นำดินจากประเทศของตนมาผสมกันเพื่อเก็บเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นหนึ่งเดียว

หากแนวความคิดเรื่องเมืองของชาวโลกทั้งผองนี้ เกิดขึ้นย้อนไปในช่วงปีทศวรรษที่ 30 กับหญิงชาวฝรั่งเศสเชื้อสายตุรกี-อียิปต์ ชื่อ มีรา อัลฟาสซา (Mirra Alfassa) หรือที่รู้จักกันและเรียกขานในออโรวิลล์ว่า เดอะ มาเธอร์ (The Mother – คุณแม่) ผู้หวังว่าการสร้าง “เมืองสากล” แห่งนี้จะเอื้อให้เกิดการพัฒนาก้าวใหญ่ต่อ “ความก้าวหน้าของมนุษยชาติสู่อนาคตอันรุ่งเรือง ด้วยการรวบรวมผู้คนที่มีความตั้งใจจริงและมีแรงบันดาลใจที่จะสร้างโลกที่ดีกว่าเดิม” โดยตั้งใจจะให้เป็นเมืองที่มีประชากรจากทั่วโลกอยู่ร่วมกันสูงสุดไม่เกินห้าหมื่นคน

ออโรวิลล์ ไม่ได้เป็นสมบัติของผู้ใดผู้หนึ่ง หากเป็นสมบัติของมนุษยชาติทั้งโลก เมืองที่ประชาชนปราวารนาตนรับใช้จิตวิญญาณแห่งเทพ (Divine Consciousness) เมืองที่อุทิศตนให้กับศึกษาค้นคว้าอย่างไม่หยุดนิ่ง เป็นสะพานเชื่อมระหว่างอดีตกับอนาคต และความตั้งใจที่สวยงามน่าสนใจอื่นๆ อีกมากมาย

ความคิดฝันของคุณแม่ได้รับการสนับสนุนให้สานต่อจนเป็นรูปเป็นร่างจาก ศรี ออโรบินโด (Sri Aurobindo) กูรูและโยคีที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างสูงในเมืองปงดิเชอรี หลังจากนั้นมีการนำเสนอโครงการต่อรัฐบาลอินเดียเพื่อขอความสนับสนุนจนได้รับการยกเว้นไม่เก็บภาษีกับกิจการต่างๆ ของชาวออโรวิลเลียน ต่อมาโครงการออโรวิลล์ได้เข้าสู่วาระที่ประชุมใหญ่ของยูเนสโก จนได้รับงบประมาณสนับสนุนส่งเสริมด้วยเห็นว่าเป็นโครงการที่มีความสำคัญต่ออนาคตของมนุษยชาติ

Imagine no possessions
- ลองนึกภาพว่าไม่มีการครอบครอง
I wonder if you can
- สงสัยนักว่าคุณจะทำได้หรือไม่
No need for greed or hunger
- ไม่จำเป็นต้องมีความโลภหรือความหิว
A brotherhood of man
- มนุษย์อยู่ร่วมกันดุจพี่น้อง

ออโรวิลล์มีการปกครองแบบอนาธิปไตย ทุกคนเท่าเทียมไม่มีใครเป็นใหญ่กว่าใคร โครงการต่างๆ ที่จะกระทำขึ้นในเมืองต้องเข้าที่ประชุมผ่านการพิจารณาจะคณะกรรมการเมืองก่อน รวมไปถึงการเข้าเป็นสมาชิกของเมือง ซึ่งมีขั้นตอนคัดสรรค่อนข้างเข้มงวด ไม่ใช่ว่าใครอยากจะเข้าก็เดินเข้าไปอยู่ได้ง่ายๆ ต้องยื่นใบสมัคร ทดลองพักเพื่อทำความรู้จักชีวิตในเมืองชั่วระยะหนึ่ง ผ่านการอบรมทำความเข้าใจ เปิดบัญชีประจำตัวที่จะทำให้สามารถซื้อสินค้าต่างๆ จากร้านค้าในเมืองโดยไม่ต้องใช้เงินสด

หลังจากนั้น ชีวิตใหม่ในเมืองออโรวิลล์จะเริ่มขึ้น บ้านที่อยู่อาศัยสร้างบนที่ดินซึ่งเป็นสมบัติของชุมชน ชาวเมืองสามารถเปิดกิจการผลิตสินค้าหัตถกรรม เครื่องปั้นดินเผา กระดาษทำมือ เสื้อผ้าดีไซน์เก๋ ส่งขายทั้งในเมือง นอกเมือง รวมถึงบนเวบไซต์อินเตอร์เน็ต

ปัจจุบันมีชาวออโรวิลเลียนหรือชาวเมืองออโรวิลล์อยู่ประมาณ 1,700 คน จาก 35 ชาติ (มีคนไทย 2 คน) ทุกวัยตั้งแต่ทารกจนถึงแปดสิบกว่า อายุเฉลี่ยคือ 30 ปี จากทุกชนชั้น ทุกพื้นเพและวัฒนธรรม หนึ่งในสามเป็นชาวอินเดีย

อ่านผิวเผินมาถึงตอนนี้ ทุกอย่างช่างดูสวยงามแสนจะอุดมคติยิ่ง แต่ขึ้นชื่อว่ามนุษย์แล้ว ไม่มีทางหนีพ้นไปจากความซับซ้อนซ่อนเงื่อนเหม็นเน่าได้ เมื่อกลางปีที่แล้วมีรายงานข่าวทางสถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษเรื่องชาวออโรวิลล์ไม่ใส่ใจแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเด็กที่เกิดขึ้นในเมืองของตน ข่าวว่ามีชาวเมืองออโรวิลล์การจ่ายเงินซื้อบริการทางเพศจากเด็กๆ ชาวบ้านที่อยู่รอบๆ เมือง ชายหาดของเมืองเป็นตลาดเนื้อสดราคาถูกให้พวกวิตถารที่แฝงตัวเข้ามาอยู่ในหมู่ “ผู้คนที่มีความตั้งใจจริงและมีแรงบันดาลใจที่จะสร้างโลกที่ดีกว่าเดิม”

แน่นอนว่าชาวเมืองออโรวิลล์ไม่พอใจกันอย่างแรง ส่งจดหมายประท้วงสถานีโทรทัศน์ว่านำเสนอข่าวที่บิดเบือนข้อเท็จจริง แต่เป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะแทงแจ้งลงไปว่าความจริงคืออะไรกันแน่ เพราะต่างฝ่ายก็ต่างมีข้อเท็จจริงเป็นของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแนวคิดหลักของเมืองคือการเปิดรับผู้คนหลากหลายร้อยพ่อพันแม่ และเมืองในอุดมคติจำต้องสร้างจากคนในอุดมคติที่หาได้ยากยิ่ง จึงเป็นที่แน่นอนว่า ออโรวิลล์ เมืองเล็กๆ วัยเพียง 40 ปีที่มีจุดมุ่งหมายยิ่งใหญ่แห่งนี้ยังจะต้องก่อสร้างสมประสบการณ์ ล้มลุกคลุกคลาน ผลัดเปลี่ยนใบอีกหลายครั้งนัก กว่าจะถึงเส้นชัยของการเป็น “อนาคตของมนุษยชาติ” อย่างแท้จริง

Imagine all the people ลองนึกภาพผู้คนทั้งหลาย
Sharing all the world... แบ่งปันอยู่ร่วมโลกเดียวกัน


สู้ต่อไปนะ ออโรวิลล์


เรียบเรียง - อธิชา มัญชุนากร กาบูล็อง
ที่มา – จากการเยี่ยมเยือน
ข้อมูลเพิ่มเติม - //www.auroville.org











 

Create Date : 15 เมษายน 2553    
Last Update : 15 เมษายน 2553 11:03:25 น.
Counter : 2337 Pageviews.  

- The Yes Men ขบวนการหลอกลวงเพื่อสะกิดโลก

The Yes Men ขบวนการหลอกลวงเพื่อสะกิดโลก

a day - Oversee Feb 09



ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยไหน ในโลกแห่งความเป็นจริงหรือจินตนาการ ก็มักจะมีเรื่องราวของวีรบุรุษผู้กล้าที่ลุกขึ้นมาต่อสู้อภิบาลคนยาก เปิดหน้ากากคนชั่วที่แฝงตัวอยู่ในคราบคนรวยลอยมาให้ได้ยินชุ่มชื่นหัวใจ ตั้งแต่อดีตมา มีตำนานมากมายเล่าขานเลื่องลือ ที่โดงดังที่สุดเห็นจะเป็น โรบินฮูด กับ โซโร สองจอมโจรผู้ปล้นทรัพย์สินหักหน้าเศรษฐีใจทรามนำเงินทองมาแจกจ่ายให้ประชาราษฐต์ตาดำๆ ที่ถูกกดขี่ข่มเหง

หากในยุคโพสต์โมเดิร์นอย่างที่ใครๆ เรียกขานช่วงเวลาปัจจุบันทุกวันนี้ การกระโดดขึ้นม้าขาว โบกชายผ้าคลุมสะบัดคว้างในแบบสโลวโมชั่น แล้วกระชากดาบออกจากฝักหรือคว้าคันธนูตั้งท่าแสนเท่เล็งเป้าหมาย คงจะไม่ทันใจได้ผลเสียแล้ว ครั้นจะลงไปเดินขบวน ชูป้ายประท้วง ก็ยากนักที่จะประสบความสำเร็จได้โดยไม่ทำให้คนไม่รู้อิโหน่อิเหน่เดือดร้อนไปทั่วจากรถติด หรือที่แย่กว่าคือการต้องตกเครื่องบิน

ด้วยเหตุนี้เองจึงเกิดขบวนการป่วนขาใหญ่แบบแสบๆ คันๆ จนถึงขั้นแสบสันต์สุดขั้วหัวใจโดยไม่ลากประชาชนตาดำๆ มาข้องเกี่ยว ชื่อ เดอ เยส เมน (The Yes Men) ขึ้นมา เพื่อปฎิบัติภารกิจที่พวกเขาเรียกว่า "identity correction" (การแก้ไขอัตลักษณ์) สวมรอยเป็นผู้ทรงอิทธิพล ปลอมตัวเป็นโฆษกของหน่วยงานใหญ่ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่พวกเขาเห็นว่ามีความไม่ชอบมาพากล หลบซ่อนหรือเพิกเฉยต่อเรื่องชั่วร้ายที่ตนก่อขึ้น แล้วใช้สื่อต่างๆ เป็นเครื่องมือแฉ

สมาชิกหลักของ เดอะ เยส เมน ฌาคส์ เซอร์วิน (Jacques Servin) กับ อิกอร์ วามอส(Igor Vamos) คนแรกเป็นนักเขียนนิยายทดลองผู้ได้ชื่อว่าเป็นคนแอบใส่รูปผู้ชายจูบกันในเกมคอมพิวเตอร์ชื่อซิม คอปเตอร์ (SimCopter) ส่วนวามอส เป็นผู้ช่วยสอนวิชานิเทศศิลป์ในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง

ขั้นตอนการดัดหลังหน่วยงานและบุคคลต้องสงสัยเหล่านั้นได้รับการวางแผนจัดทำแบบสมยุคสมสมัย เริ่มจากการสร้างเว็บไซต์ปลอมของเป้าหมาย เมื่อมีคนเข้าใจผิด ไม่ดูตาม้าตาเรือส่งคำเชิญต่างๆ ผ่านเว็บไซต์เข้ามา พวกเขาก็ตอบรับคำเชิญ และไปปรากฎตัวตามงานประชุมสัมนา ให้สัมภาษณ์ออกโทรทัศน์ เพื่อออกโรงเริ่มปฎิบัติการป่วนต่อหน้าสาธารณชน ณ ที่นั้นในทันที

วิถีแนวทางที่พวกเขานำมาใช้ป่วนมักจะเป็นไปในเชิงประชดประชันเสียดสี บางทีซ่อนเงื่อนงำแอบหลอกด่าอยู่ลึกๆ จนคนที่อยู่ในที่นั้นไม่ทันเก็ตมุก ถ้าไม่เช่นนั้น ก็จะให้แกล้งความเห็นแบบโจ๋งครึ่มตรงไปตรงมาจนน่าตกใจ โดยเป็นคำพูดที่พวกเขาเห็นว่าเป็นความคิดที่หน่วยงานนั้นๆ ซุกซ่อนไว้ภายใต้ฉากหน้าและคำพูดสวยหรู ตัวอย่างเช่น ที่จริงประชาชนควรจะขายเสียงได้ หรือ คนจนควรจะกินอาหารที่ทำจากการนำขยะมารีไซเคิล

บางครั้ง เดอะ เยส เมน ในคราบโฆษกก็ประกาศแถลงภาพในฝันสวยหรูสำหรับนักเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านกระแสโลกานุวัตรหรือกลุ่มต่อต้านบริษัทข้ามชาติ เช่น ข่าวเรื่องการล่มสลายขององค์การการค้าโลก (WTO) หรือบริษัทใหญ่จะจ่ายเงินเพื่อชดใช้และชำระความเสียหายทางธรรมชาติและต่อเพื่อนมนุษย์ในเขตที่พวกเขาไปสร้างความสกปรกเอาไว้ ที่เด่นๆ เห็นจะเป็นกรณีของ บริษัท โดว เคมีคัล (Dow Chemical) ที่ปล่อยสารมีพิษตกค้าง จนทำให้ชาวบ้านที่อยู่รอบๆ โรงงานจำนวนมากมายทนทุกข์ทรมาณเป็นโรคร้ายตลอดชีวิต

Photobucket


โดวเจอเดอะ เยส เมน เล่นงานในทุกรูปแบบ ตั้งแต่สร้างเว็บไซต์ปลอม ลงประกาศแจ้งเจตนารมณ์ที่ไม่ไกลจากความจริงและไม่เคยมีใครกล้าพูดตรงๆ ออกมาแบบฉาวโฉ่ว่าโดวจะไม่ทำอะไรเพื่อแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น ส่งผลให้บริษัทถูกวิพากย์วิจารณ์อย่างสูง และออกมาแก้ข่าวปฏิเสธ แต่หลังจากนั้นก็ยังคงนิ่งเฉยไม่ได้ลงมือจัดการอะไรเป็นชิ้นเป็นอันตามเคย

เดอะ เยส เมน ขบวนการโรบินฮูดยุคใหม่เลยเปลี่ยนกลยุทธ์ ตัดสินใจกดดันบริษัทยักษ์ใหญ่ ด้วยการออกข่าวว่าโดวมีแผนการจัดสรรงบประมาณก้อนใหญ่ สูงถึงหมื่นสองพันล้านเหรียญสหรัฐสำหรับช่วยรักษาชาวบ้านที่ตกเป็นเหยื่อ และทำความสะอาดบริเวณที่มีสารเคมีตกค้าง และใช้เป็นเงินในการค้นคว้าวิจัยเรื่องอันตรายของสินค้าตัวอื่นๆ ของตน สองชั่วโมงหลังจากนั้น โดวออกข่าวปฏิเสธเรื่องดังกล่าวในทันที

นอกจากกรณีโดวที่ทำให้เดอ เยส เมน เป็นที่รู้จักและเข็ดเขี้ยวในหมู่ขาใหญ่ที่ไม่ชอบมาพากลแล้ว พวกเขายังสอดส่ายหาเรื่องกับบริษัทและหน่วยงานรัฐอีกหลายแห่ง เช่น บริษัทน้ำมัน ExxonMobil ,BP และสรรหากลวิธีการต่างๆ เพื่อสะกิดให้โลกหันมาครุ่นคิดถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลก เช่น การเล่นตลกร้ายออกหนังสือพิมพ์เดอะ นิว ยอร์ก ไทมส์ (New York Times) ฉบับแจกฟรี ที่มีเนื้อหาเป็นข่าวดีปลอมๆ เช่น สงครามอิรักสงบแล้ว, หลายชาติเริ่มหันมากำหนดนโยบายเศรษฐกิจแบบใสสะอาด รวมไปถึงข่าว (อดีต) จอร์จ ดับเบิล ยู บุช ตำหนิพฤติกรรมของตัวเองในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐ

หากใครสนใจอยากรู้เรื่องราวและวิธีการป่วนอื่นๆ ของพวกเขาเพิ่มเติม ขณะนี้มีภาพยนตร์เชิงสารคดีบันทึกปฎิบัติการทั้งหมดออกมาแล้วในชื่อ The Yes Men และในรูปแบบหนังสือในชื่อเดียวกัน ส่วนผู้ที่สนใจอยากเข้าร่วมขบวนการ ติดต่อผ่านเว็บไซต์ของพวกเขาได้ตามที่อยู่ด้านล่างค่ะ



เรียบเรียงโดย : อธิชา มัญชุนากร กาบูล็อง
ที่มา : รายการโทรทัศน์ฝรั่งเศสแห่งหนึ่ง (ไม่แน่ใจว่าเป็นช่องไหน)
ข้อมูลเพิ่มเติม : //www.theyesmen.org , //www.wikipedia.com


Photobucket









 

Create Date : 15 เมษายน 2553    
Last Update : 15 เมษายน 2553 10:41:13 น.
Counter : 961 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  

Mutation
Location :
somewhere in Hong Kong SAR

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ฉั น คื อ ใ ค ร

     สาวพฤษภชาวแกลงแห่งเมืองระยอง ลอยละล่องเรื่อยไปจนปาเข้าสามสิบ กว่าจะได้พบอาชีพที่ต้องจริตจนคิดตั้งตัวเป็นนักแปลรับจ้างเร่ร่อนไร้สังกัด ปัจจุบันเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อ "กำมะหยี่"

     จุดหมายในชีวิต หลังจากผันผ่านคืนวันมาหลายปีดีดัก ขอพักไม่หวังทำอะไรใหญ่โต ขอเพียงมีชีวิตสุขสงบ ได้ทำสิ่งที่ดีๆ ทำตามหน้าที่ของตนในทุกด้านอย่างดีที่สุด แค่นั้นพอ

      ฉันมีหวานใจ- สามี - สุดที่รักแสนดีชาวฝรั่งเศส แถมเรือพ่วงสองลำเล็กๆ ตอนนี้มาใช้ชีวิตกันอยู่ที่ฮ่องกง



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Mutation's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.