Beyond Olympic : Olimpick

Beyond Olympic : Olimpick เหนือโอลิมปิค ยังมี โอลิมปิ๊ก


     ใครๆก็คงรู้ว่าเดือนสิงหาคมปีนี้ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน (Summer Olympic Games) จะจัดขึ้น ณ ประเทศกรีซ บ้านเกิดของการแข่งขันระดับโลกรายการนี้ แต่คงมีไม่กี่คนรู้ว่า งานแข่งขันกีฬาโอลิมปิ๊ก (Olimpick Games) ประจำปีนี้จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน คือในเดือนนี้แหล่ะ ส่วนสถานที่จัดงานก็เดิมๆเหมือนทุกปี คือ ที่เมืองชิปปิง แคมป์เดน ประเทศอังกฤษ

     ชิปปิง แคมป์เดน (Chipping Campden – ชาวเมืองเขาเน้นนักเน้นหนาว่าของแท้ต้องมีตัว p หลังตัว m ในคำว่า Campden คาดว่ามีคนเขียนผิดบ่อย เลยต้องรีบบอกกันไว้ก่อน) เป็นเมืองเล็กๆน่ารักแต่ไม่ธรรมดาเลยสักนิด ด้วยมีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ย้อนไปได้ถึงยุคกลางเลยทีเดียว เมืองแห่งนี้สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวมาแล้วมากมายจากการที่คนในเมืองนี้ใส่ใจดูแลบ้านและเมืองของตนให้สวยงามมีเอกลักษณ์จนเลื่องลือ

     ลักษณะของอาคารบ้านเรือนที่นี่เป็นบ้านแบบเก่าทำด้วยหินตามสไตล์เมืองบ้านนอกโบราณของอังกฤษ ในเมืองนี้มีบ้านแบบอังกฤษในสมัยต่างๆให้เยี่ยมชมมากมาย ย้อนไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ทั้งสถาปัตยกรรมยุคกลาง เอลิซาเบเทียน จอร์เจียน จาคอเบียน รีเจนซี จนถึงแบบวิคตอเรียน รวมกันอยู่ในเมืองเล็กๆแห่งนี้แห่งเดียว กลางใจเมืองมีถนนเส้นหลักแบบ high street อันเป็นถนนแบบที่ลาดขึ้นเนินและมีร้านค้าบ้านช่องเรียงกันไปตามรายทางที่ถือว่าสวยงามสมบูรณ์แบบที่สุดแห่งหนึ่ง ชื่อว่าถนนไฮ สตรีท (ก็คงเหมือนที่เราเรียกสะพานแขวนว่าสะพานแขวนมั้ง) มีคนพูดว่า เวลาเดินขึ้นถนนเส้นนี้ไปจะมีความรู้สึกเหมือนเดินย้อนกลับไปในอดีต ชาวเมืองที่นี่รู้ซึ้งถึงคุณค่าของความงามของบ้านเมืองตนและพยายามคงรูปแบบดั้งเดิมไว้ไม่เแต่งเติมแบบไร้ทิศทาง จึงไม่น่าแปลกใจว่าเมืองเล็กๆแห่งนี้ได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นหมู่บ้านที่สวยที่สุดในอังกฤษ

     แค่เพียงบ้านเรือนแปลกตาน่ารัก เมืองสะอาดสวยงามมีเอกลักษณ์น่าเยี่ยมชมก็คงจะไม่เท่าไหร่ สิ่งที่น่าทึ่งไปกว่านั้นก็เห็นจะเป็นการจัดเทศกาลมีการละเล่น การแข่งขัน การประกวด งานออกร้านกลางแจ้ง อย่างที่เคยจัดมาในอดีตตลอดทั้งปี โดยทุกคนในเมืองรวมทั้งจากเมืองข้างเคียงพากันมาร่วมกิจกรรมลงเล่นแข่งขันด้วยกายและใจเหมือนสมัยที่ปู่ย่าตายายเคยทำมิใช่เพียงการจัดฉากหลอกขายของเอาเงินคนหลงทางผ่านมา

     หนึ่งในกิจกรรมต่างๆของชาวเมืองนี้และถือเป็นงานเฉลิมฉลองใหญ่ประจำฤดูร้อนของเมือง คือ Robert Dover’s Olimpick Games ซึ่งตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่นายโรเบิร์ต โดเวอร์ (ค.ศ1582-1652) ผู้ริเริ่มจัดงานนี้เมื่อสามร้อยกว่าปีที่แล้ว งานครั้งแรกจัดขึ้นในปี ค.ศ 1612 โดยได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดงานอย่างเป็นทางการจากพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่ง สถานที่จัดในครั้งนั้นคือ เนินเขาโดเวอร์ (Dover Hill) ข้างๆเมืองชิปปิง แคมป์เดน บริเวณเดียวกับที่จัดงานในปัจจุบัน

     การแข่งขันสมัยแรกๆประกอบด้วยเกมประลองทักษะของร่างกายทั้งด้านพละกำลัง ความแม่นยำ และความอึด บางเกมรุนแรงหวาดเสียวถึงเลือดตกยางออก อย่างเช่นการแข่งขันฟันดาบและเตะหน้าแข้ง รวมทั้งเกมหมูสู้หมี ซึ่งปล่อยหมูกับหมีมากัดกันจนกว่าจะล้มไปข้างนึง

     ต่อมาในปัจจุบัน เกมเหล่านี้ก็ถูกตัดออกการแข่งขันไปหรือไม่ก็ถูกปรับกติกามารยาทให้ลดความรุนแรงลงตามมาตรฐานสังคมปัจจุบันไม่ให้ดูเป็นเกมป่าเถื่อนเกินไป คงเหลือไว้แต่การแข่งขันกีฬาแบบโบราณเรียบง่ายแต่ยังเรียกเสียงเฮฮาโห่ร้องได้เหมือนเดิม เพราะคนมาร่วมงานดื่มกันเพียบ เมากันแปล้ ตามประสางานรื่นเริงสังสรรค์ของคนอังกฤษ

     คำว่า 'Olimpick' มีหลักฐานว่าถูกนำมาใช้เรียกงานแข่งขันงานนี้ครั้งแรก ในหนังสือ Annalia Dubrensia ตีพิมพ์ในปี ค.ศ 1636 มีกล่าวถึงทั้งในบทบรรณาธิการและในบทกวีในหนังสือทั้งสิ้นสิบแปดบท นอกจากนั้นหนังสือเล่มนี้ยังลงภาพวาดกิจกรรมต่างๆในงาน โดยมี Robert Dover ใส่ชุดพระราชทานจากพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่งขี่ม้ายืนเด่นเป็นประธานของงานอยู่ในภาพ เป็นเพราะความหลากหลายของการแข่งขันที่รวบรวมมาประลองกันในงานนี้ กวีหลายคนจึงเปรียบการแข่งขันรายการนี้กับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกยุคเก่าซึ่งจัดขึ้นทุกๆสี่ปีในประเทศกรีซตั้งแต่ปี 776 ก่อนคริสตกาลจนถึงปี ค.ศ 396 ว่ากันว่า Pierre de Coubertin เจ้าของความคิดและเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกยุคใหม่ได้เดินทางมาชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิ๊กของโรเบิร์ต โดเวอร์และได้แรงบันดาลใจจัดการแข่งขันโอลิมปิกยุคใหม่ขึ้นในปี ค.ศ 1896

     ในวันงาน เริ่มจากพิธีเปิดการแข่งขันตอนเจ็ดโมงเช้า พิธีเปิดนอกจากจะสวยงามตระการตาน่าประทับใจแล้วยังเป็นที่ภาคภูมิใจของชาวเมืองเพราะเป็นพิธีต้นแบบให้กับพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกด้วย พิธีเริ่มด้วยขบวนแห่แหน May Queen หรือเทพีเดือนพฤษภา (หญิงสาวที่ได้รับการแต่งตั้งสวมมงกุฎดอกไม้ในวันแรกของเดือนพฤษภาตามธรรมเนียมอังกฤษ) ไปยังประรำพิธีบนเนินเขาเพื่อจุดคบเพลิงเปิดการแข่งขัน มีประธานพิธีเป็นผู้ทรงเกียรติของเมืองแต่งตัวย้อนยุคเป็นโรเบิร์ต โดเวอร์ ในชุดพระราชทานอยู่บนหลังม้าพร้อมอัศวินผู้ติดตาม

     เมื่อจบพิธี การแข่งขันกีฬาก็เริ่มขึ้น ณ บริเวณที่ราบเชิงเขา ประเดิมรายการแรกด้วยการวิ่งกระสอบโดยมัดปากกระสอบที่คอผู้วิ่ง ส่วนผู้ชมก็ปักหลักนั่งกันบนลาดเขาชมและเชียร์การแข่งขันพร้อมไปกับชมทัศนียภาพอันสวยงามของหุบเขา

     หลังจากนั้นทีมนักกีฬาตัวแทนจากเมืองโดยรอบเข้าแข่งขันกีฬาแบบโบราณ ทั้งมวยปล้ำ ชักเย่อ พุ่งหลาว ปีนบันได (ลื่นๆ) ยืนกระโดดไกล ปาเป้า ขว้างค้อน ดึงรถบรรทุก และที่เพิ่มเติมมาเมื่อปีที่แล้วคือการงมโคลนหาทอง พระเอกของแข่งขันซึ่งถือเป็นรายการเด็ดของงานคือ การชิงแชมป์เตะหน้าแข้งแห่งชาติประจำปี (Shin kick Championship of Britain) กติกาเบาะๆสำหรับการแข่งขันในปัจจุบันคือ ผู้เข้าแข่งขันสองคนหันหน้าเข้าหากันเอาคางพาดบนไหล่ของคู่ต่อสู้และพยายามใช้ขาของตนเตะหน้าแข้งซึ่งพันด้วยฟางหรือผ้าไว้แน่นหนาของคู่ต่อสู้เพื่อตัดกำลังก่อนจะจับลำตัวของผู้เพลี่ยงพล้ำกดลงกับพื้น ชาวบ้านบอกว่ากติกานี้ลดความรุนแรงลงจากเดิมมากแล้ว เพราะสมัยก่อน ผู้เข้าแข่งขันจริงจังกับเรื่องแพ้ชนะระหว่างเมืองมากถึงกับมีการฝึกให้หน้าแข้งแข็งแกร่งด้วยการตีด้วยค้อนตีถ่านหิน (น่าจะเป็นทฤษฎีเดียวกับการฝึกนิ้วเหล็กด้วยการจิ้มทรายร้อนๆของวัดเส้าหลิน) ยิ่งไปกว่านั้นผู้เข้าแข่งขันในสมัยก่อนยังใส่รองเท้าบู๊ตหุ้มเหล็ก เวลาโดนเตะคงจะเจ็บไม่น้อยเลย

     หลังจากทีมผู้ชนะประจำปีการแข่งขันขึ้นรับถ้วยรางวัลและเหรียญเป็นแชมป์เปี้ยนประจำเนินเขาแล้ว ฝูงชนก็จะถือคบเพลิงเคลื่อนขบวนกลับไปที่จตุรัสกลางเมืองชิปปิง แคมป์เดน และเริ่มควงแขนเต้นรำแบบโบราณ เฉลิมฉลองดื่มกิน จุดพลุ ดอกไม้ไฟกันจนถึงดึกดื่นมืดค่ำ

     Olimpick ของชาวเมืองชิปปิง แคมป์เดนนั้นผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อยกว่า Olympic ของชาวกรีกเลย มีการเว้นช่วงขาดตอนการจัดงานไปภายหลังปี ค.ศ.1852 สองร้อยปีล่วงมาหลังการเสียชีวิตของนายโดเวอร์ในปี ค.ศ 1682 สาเหตุที่หยุดจัดก็เนื่องจากหุบเขาโดเวอร์ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานถูกปิด จนกระทั่งปี ค.ศ.1951 ซึ่งเป็นปีที่ทั่วประเทศอังกฤษจัดงาน Festival of Britain การแข่งขันรายการนี้ก็ถูกจับมาปัดฝุ่นแข่งขันกันอีกรอบ หลังจากนั้นก็มีการจัดงานนี้กันต่อมาแบบต่อเนื่องบ้างไม่ต่อเนื่องบ้างเรื่อยจนถึงปี ค.ศ.1965 และนับแต่นั้นมามีการจัดตั้งหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการจัดงานนี้อย่างจริงๆจังๆ เพื่อให้งานนี้มีขึ้นทุกๆปี Olimpick จึงรอดพ้นการถูกลืมเลือนไปได้อย่างหวุดหวิดโดยประการฉะนี้

     ถึงจะกระท่อนกระแท่นขาดๆหายไปบ้างแต่กระนั้นชาวเมืองก็ยังภาคภูมิใจเพราะเมื่อดูจากความต่อเนื่องและจำนวนครั้งในการจัดงานก็จะเห็นว่าบ่อยครั้งและยาวนานไม่แพ้รายการแข่งขันกีฬาอื่นใดเลย

     ครั้นถามชาวเมืองถึงเหตุผลที่จัดงานนี้ต่อไป คำตอบที่ได้ก็คือ - For the fun of it! (ก็มันสนุกดี)

     เหตุผลเรียบง่ายไม่ต้องลำบากสรรคำสวยๆแจงเป็นวัตถุประสงค์มานำเสนอให้ฟังเพราะๆ และน่าจะเป็นเหตุผลที่ไม่ไกลไปจากเหตุผลในการจัดครั้งแรกเมื่อสามร้อยปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่าการฟื้นฟูกิจกรรมโบร่ำโบราณที่บรรพบุรุษคนสมัยก่อนทำกันมา ถ้าหากต้องการให้ยั่งยืนแท้จริง ต้องไม่ทำเพื่อ “โชว์” ชั่วครั้งชั่วคราว หรือถนอมเทิดทูนเหมือนเครื่องถ้วยชามสังคโลกตั้งฝุ่นจับในตู้กระจก แต่เป็นการ “ใช้” จานชามให้ตรงตามประโยชน์ หรือสนุกไปกับมันด้วยใจจริงเหมือนที่คนสมัยก่อนเค้าทำกัน

     และถ้าจานเก่าๆใบไหนไม่เหมาะกับการใช้งานในปัจจุบัน เราก็มีสิทธิ์ดัดแปลงปรับแต่งหรือแม้แต่ลงมือปั้นจานของยุคเราขึ้นมาใหม่ได้

ที่มา : “Oddball Olympics” in the Apr. 12, 2004 issue of TIME Europe magazine
ข้อมูลเพิ่มเติม : //www.olimpickgames.co.uk , //www.chippingcampden.co.uk , //www.chipping-campden.net







Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2550
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2550 2:10:57 น. 0 comments
Counter : 859 Pageviews.

Mutation
Location :
somewhere in Hong Kong SAR

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ฉั น คื อ ใ ค ร

     สาวพฤษภชาวแกลงแห่งเมืองระยอง ลอยละล่องเรื่อยไปจนปาเข้าสามสิบ กว่าจะได้พบอาชีพที่ต้องจริตจนคิดตั้งตัวเป็นนักแปลรับจ้างเร่ร่อนไร้สังกัด ปัจจุบันเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อ "กำมะหยี่"

     จุดหมายในชีวิต หลังจากผันผ่านคืนวันมาหลายปีดีดัก ขอพักไม่หวังทำอะไรใหญ่โต ขอเพียงมีชีวิตสุขสงบ ได้ทำสิ่งที่ดีๆ ทำตามหน้าที่ของตนในทุกด้านอย่างดีที่สุด แค่นั้นพอ

      ฉันมีหวานใจ- สามี - สุดที่รักแสนดีชาวฝรั่งเศส แถมเรือพ่วงสองลำเล็กๆ ตอนนี้มาใช้ชีวิตกันอยู่ที่ฮ่องกง



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Mutation's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.