Artist Pension Trust

Artist Pension Trust : ฤาจะถึงคราวศิลปินไส้แห้งสูญพันธุ์


      เมื่อร้อยกว่าปีก่อน มีศิลปินไร้ชื่อเสียงและเงินทองผู้หนึ่งขายภาพเขียนของตนภาพหนึ่งไปในราคา 2,700 บาท และภาพนั้นเป็นผลงานเพียงชิ้นเดียวที่ขายได้ขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ ไม่นานหลังจากเขาตายไป ผลงานของเขาได้รับความชื่นชมนิยมยกย่องอย่างกว้างขวาง ปัจจุบัน เขาเป็นศิลปินที่ติดอันดับเจ้าของผลงานภาพวาดที่มีราคาแพงที่สุดภาพหนึ่งของโลก ด้วยราคาขายจากการประมูล คิดเป็นเงินไทยได้ประมาณ 272,250,000,000 บาท

      เวลาผ่านไป สถานการณ์ดูเหมือนจะดีขึ้น ร้อยปีให้หลัง ศิลปินหน้าใหม่คนหนึ่งไม่มีเงินจ่ายค่ารถที่จะขนผลงานไปยังแกลเลอรีที่จะจัดแสดงผลงานของตนเป็นครั้งแรก เขาจึงขายผลงานชิ้นหนึ่งให้กับแกลเลอรี่แห่งนั้นไปในราคา 20,000 บาท หลังจากนั้นไม่นาน แกลเลอรี่แห่งนั้นก็สามารถขายผลงานชิ้นนั้นเก็บเงินเข้ากระเป๋าไปได้ 11,000,000 บาท โดยไม่ต้องรอให้ศิลปินตายเสียก่อนเหมือนในกรณีแรก เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และศิลปินได้แต่ทำตาปริบๆ มองพ่อค้างานศิลปะกอบโกยเงินที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของตนไป

      ศิลปะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ไร้ความยุติธรรมเป็นที่สุด มูลค่าของชิ้นงานศิลปะจะขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของศิลปิน ผลงานชิ้นแรกๆ ของศิลปินที่ยังไม่มีชื่อเสียงซึ่งซื้อขายในราคาเพียงน้อยนิดจะขยับขึ้นสูงลิบเมื่อผู้สร้างสรรค์มีชื่อเสียงมากขึ้น แต่ผู้ที่ได้ผลประโยชน์ ไม่ใช่ตัวศิลปินหากเป็นคนที่ซื้องานศิลปะชิ้นนั้นไป ซ้ำร้ายในโลกที่เร่งรีบแข่งขันกันตลอดเวลาอย่างในปัจจุบัน การแสดงผลงานของศิลปินในวงการศิลปะร่วมสมัยจะเป็นพียงช่วงเวลาสั้นๆ เพราะรายการแสดงผลงานต้องปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซากจำเจ ทำให้โอกาสที่ศิลปินส่วนใหญ่จะได้ขายผลงานของตนจนหมดจึงมีน้อยมาก

      คำถามก็คือ เมื่อแก่ตัวไปถึงวัยเกษียณ ศิลปินที่ทำงานศิลปะแบบเต็มเวลาจะมีชีวิตอยู่อย่างไร เมื่อไม่มีสิ่งใดมาประกันรายได้ ทั้งยังไม่ได้รับสวัสดิการเหมือนพนักงานบริษัทหรือข้าราชการ เนื่องจากลักษณะการทำงานแบบอิสระไม่ได้อยู่ในระบบสวัสดิการที่จะช่วยประกันสภาพชีวิตในวัยชรา ส่วนการซื้อประกันชีวิตตามบริษัทประกันคงจะเป็นได้แค่ความฝัน เนื่องจากไม่มีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ

      ด้วยคำถามนี้ก็นำไปสู่คำตอบอันเป็นจุดกำเนิดของกองทุนเกษียณอายุเพื่อศิลปินขึ้น ชื่อว่า อาร์ติส เพ็นชั่น ทรัสต์ (Artist Pension Trust - APT)

      โมติ ชนิเบิร์ก ผู้เป็นต้นคิดระบบกองทุนเลี้ยงชีพนี้เคยเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทที่ทำงานด้านการบันทึกลักษณะใบหน้าของมนุษย์ในรูปแบบดิจิตอล หลังจากเหตุการณ์การก่อการร้ายเครื่องบินพุ่งชนตึกเวิร์ลเทรดที่นครนิวยอร์คเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 เขาได้ถอนตัวออกจากวงการธุรกิจ ขายหุ้นบริษัทแล้วกลายเป็นมหาเศรษฐีที่สามารถอยู่สบายๆ ไม่ต้องทำอะไรไปทั้งชาติ

      เขาเกิดความคิดเรื่องกองทุนเกษียณอายุเพื่อศิลปินขึ้นเมื่อได้ยินเพื่อนศิลปินผู้หนึ่งกล่าวว่าศิลปินไม่มีหลักประกันที่มั่นคงในชีวิตเหมือนคนที่มีอาชีพอื่นๆ ราคาของผลงานที่สูงลิบลิ่วหากเกิดมีชื่อเสียงขึ้นมา ไม่ได้หมายความว่าศิลปินจะมีส่วนแบ่งในเม็ดเงินเหล่านั้นด้วย

      การดำเนินงานในรูปแบบของกองทุนอื่นๆ โดยทั่วไปคือการรวบรวมเงินทุนเพื่อนำไปลงทุนและนำผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนมาแบ่งสรรปันส่วนให้กับผู้ลงทุน แล้วศิลปินผู้ต้องกระเสือกกระสนสร้างผลงาน และยังต้องรอขายชิ้นงานเพื่อเลี้ยงชีพจะเอาเงินที่ไหนมาลงในกองทุนแห่งนี้ คำตอบก็คือ สิ่งที่ศิลปินจะนำมามอบให้แก่กองทุนในฐานะเงินลงทุนคือสิ่งที่เขามีอยู่ในมือ นั่นคือผลงานของตนเอง

      ศิลปินที่เข้าร่วมกองทุนจะ “ลงทุน” ด้วยการทยอยมอบผลงานของตนให้อาร์ติส เพ็นชั่น ทรัสต์เป็นผู้ดูแลจำนวนยี่สิบชิ้นในช่วงเวลายี่สิบปี โดยส่งให้ปีละสองชิ้นในห้าปีแรก ห้าปีถัดไปปีละหนึ่งชิ้น และสิบปีหลังจากนั้นสองปีต่อหนึ่งชิ้น ทางกองทุนจะเก็บรักษาผลงานเหล่านั้นไว้ และมีสิทธินำออกแสดงได้ เมื่อศิลปินมีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับจนมูลค่าผลงานสูงเป็นที่น่าพอใจ กองทุนจะนำผลงานออกขายในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด

      เมื่อถึงเวลานั้น ซึ่งหมายถึงอีก 20 ปีข้างหน้า เมื่อศิลปินไร้ชื่อในวันนี้โด่งดังแล้ว รายได้จากการขายผลงานที่นำมามอบให้กองทุนจัดจำหน่ายจะแบ่งปันกันตามส่วน กองทุนจะเก็บไว้ 20% เป็นค่าดำเนินการ แบ่งให้ศิลปินเจ้าของผลงาน 40% อีก 40% หารแบ่งให้ศิลปินที่เป็นสมาชิกกองทุนทุกคนเท่าๆ กัน ดังนั้นไม่ว่าศิลปินจะดังมากดังน้อยต่างก็จะได้รับส่วนแบ่งของตนครบถ้วนหน้า กล่าวกันว่าระบบของกองทุนแห่งนี้เป็นการนำเอาข้อดีของระบบทุนนิยมมาผสานใช้กับการเผื่อแผ่ตามแบบสังคมนิยมได้เป็นอย่างดี

      กุญแจสำคัญที่จะนำมาไขสู่ประตูสู่ความสำเร็จคือการคัดเลือกศิลปินที่จะมาร่วมลงทุนด้วยกัน โดยศิลปินเหล่านั้นจะต้องเป็นคนที่มีฝีมือและมีแววว่าจะดังในอนาคต ถ้าจะให้ดีอายุไม่น่าจะเกินสี่สิบปี เพื่อจะได้สามารถสร้างผลงานมาลงทุนในระยะเวลายี่สิบปีได้อย่างครบถ้วน และหลังจากนั้นจะได้เก็บเกี่ยวเปอร์เซ็นต์รับเป็นบำนาญเกษียณของตนได้

      เพื่อไม่ให้เกิดการผิดพลาด ทางกองทุนถือมาตรฐานการคัดเลือกศิลปินที่พิถีพิถันระดับเดียวกับการคัดเลือกงานแสดงในพิพิธภัณฑ์ การคัดเลือกจะทำโดยคณะกรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิในวงการศิลปะ ทั้งเจ้าของแกลเลอรี่ ภัณฑารักษ์ ศิลปินที่มีชื่อเสียง ในช่วงแรกๆ จะเป็นการคัดเลือกจากผลงานและส่งเทียบเชิญศิลปินให้เข้าร่วม ขณะเดียวกันก็เปิดกว้างให้ศิลปินสามารถสมัครเข้าร่วมได้ทางเวบไซต์ของกองทุน มีการกำหนดจำนวนศิลปินสำหรับกองทุนประจำเมืองต่างๆ ไว้กองทุนละ 250 คน และวางแผนการไว้ว่าจะรับศิลปินเข้าร่วมปีละ 50 คน เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ทุกฝ่าย ทั้งตัวศิลปินผู้เข้าร่วมเองและแก่ผู้ที่จะมาซื้อผลงานเหล่านั้นในอนาคต

      จากความคิด สู่การลงมือกระทำ อาร์ติส เพ็นชั่น ทรัสต์ เปิดตัวขึ้นครั้งแรกที่นิวยอร์กเมื่อปีที่แล้ว ตามติดด้วยที่ลอสแองเจิลลิซ ลอนดอน และที่เบอร์ลิน ทั้งยังมีโครงการจะขยายไปยังปักกิ่ง บอมเบย์ โซล โตเกียว เมกซิโกซิตี้และเซา เปาโล ในไม่ช้า ศิลปินจากทุกมุมโลกจะสามารถมีหลักประกันในชีวิตหลังเกษียณได้อย่างที่ควรจะเป็น

      ถึงแม้จะยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่ากองทุนนี้จะสามารถดำเนินกิจการตามเป้าหมายได้อย่างแน่นอน เพราะการนำผลงานออกขายยังต้องรอไปอีกยี่สิบปี แต่ถ้าเป็นไปตามที่หวังศิลปินไส้แห้งคงจะหมดไปจากโลกนี้เสียที



ที่มา : Courrier International n° 773 - 25 สิงหาคม ค.ศ. 2005
ข้อมูลเพิ่มเติม : //www.artistpensiontrust.org , //www.wikipedia.org

หมายเหตุ :

-ศิลปินที่กล่าวถึงในย่อหน้าแรกคือ วินเซนต์ แวนโก๊ะ(Vincent van Gogh ค.ศ . 1853 -1890) ศิลปินโพสต์อิมเพรสชั่นนิสชาวฮอลแลนด์

-ภาพที่ขายได้เพียงภาพเดียวเมื่อแวนโก๊ะยังมีชีวิตอยู่คือภาพ The Red Vineyard (ไร่องุ่นแดง) เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1888

-ผลงานของแวนโก๊ะ ที่ขายได้ 272,250,000,000 บาท คือ Portrait of Dr. Gachet (ภาพเหมือนของ ดร. กาเชต์) ในการประมูลที่จัดโดยบริษัทคริสตีส์ ที่นครนิวยอร์คเมื่อปี ค.ศ. 1990

-ศิลปินที่กล่าวถึงในย่อหน้าที่สองคือ จอห์น บัลเดสซารี (John Baldessari ค.ศ. 1931- ปัจจุบัน) ศิลปินคอนเสปชวลชาวอเมริกัน






Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2550
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2550 22:19:56 น. 0 comments
Counter : 1073 Pageviews.

Mutation
Location :
somewhere in Hong Kong SAR

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ฉั น คื อ ใ ค ร

     สาวพฤษภชาวแกลงแห่งเมืองระยอง ลอยละล่องเรื่อยไปจนปาเข้าสามสิบ กว่าจะได้พบอาชีพที่ต้องจริตจนคิดตั้งตัวเป็นนักแปลรับจ้างเร่ร่อนไร้สังกัด ปัจจุบันเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อ "กำมะหยี่"

     จุดหมายในชีวิต หลังจากผันผ่านคืนวันมาหลายปีดีดัก ขอพักไม่หวังทำอะไรใหญ่โต ขอเพียงมีชีวิตสุขสงบ ได้ทำสิ่งที่ดีๆ ทำตามหน้าที่ของตนในทุกด้านอย่างดีที่สุด แค่นั้นพอ

      ฉันมีหวานใจ- สามี - สุดที่รักแสนดีชาวฝรั่งเศส แถมเรือพ่วงสองลำเล็กๆ ตอนนี้มาใช้ชีวิตกันอยู่ที่ฮ่องกง



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Mutation's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.