Group Blog
 
<<
เมษายน 2558
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
4 เมษายน 2558
 
All Blogs
 
การปลูกข้าวต้นเดียว(SRI)






จาก เมล็ดพันธุ์ข้าวไรซ์เบอรี่ ที่ปลูกในกระถางได้ครั้งก่อน เลยนำมาทดลองปลูกแบบข้าวต้นเดียว(SRI) เพราะประหยัดเมล็ดพันธุ์ อีกทั้งประหยัดการรดน้ำดินแห้งบ้างก็ไม่เป็นปัญหากับดีซะอีก

คลิกดูวิธีการเพาะเมล็ด และผลงานเปรียบเทียบได้เลยค่ะ ปลูกแบบข้าวต้นเดียว(SRI)ดีกว่าจริงๆ ต้นแข็งแรงได้เมล็ดข้าวเยอะกว่ามาก

//www.bloggang.com/mainblog.php?id=imaginer&month=17-07-2013&group=13&gblog=13




ปลูกข้าวต้นเดียวแทนปลูกแบบเป็นกอหลายต้น ดูน้อยเหมือนจะไม่รอด





เริ่มมีแววรอดแล้ว ยืนตรงแข็งแรง






กำลังโต






โตแล้วจ้า





แตกกอต้นใหญ่มากเมื่อเทียบกับปลูกรุ่นก่อนหน้านี้










ลำต้นอวบใหญ่มากเมื่อเทียบกับปลูกรุ่นก่อน





กรี๊ดออกดอกแล้วตอนเกือบสามเดือน










ปลูกในขวดก็ติดดอก

















เป็นรวงข้าวมีเมล็ดแล้วเริ่มหนักโน้มกิ่ง









แก่จัด













ปลูกในขวดพลาสติค





เก็บเกี่ยว





ตากให้แห้ง







เก็บไว้ปลูกต่อได้








ส่วนรายละเอียดการปลูกดิฉันก็ประยุกต์มาจากข้อมูลในเนตเหล่านี้แหละค่ะ

การปลูกข้าวต้นเดียว(SRI)แบบอินทรีย์




การปลูกข้าวต้นเดียว System of Rice Intensification (SRI: เอส อาร์ ไอ) เป็นวิธีการจากมาดากัสการ์ ศรีลังกา กัมพูชา สู่การทดลองครั้งสำคัญบนผืนนาไทย การปักเดี่ยว ซึ่งประหยัดเมล็ดพันธุ์ ช่วยให้ต้นข้าวแสดงศักยภาพเต็มที่ใน การแตกกอและออกรวง

เทคนิคการปลูกข้าวต้นเดี่ยวโดยใช้แหนแดงและปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพในการปลูกข้าวต้นเดี่ยว

การปลูกข้าวในระบบประณีต (System of Rice Intensification; SRI) คือ การจัดการพืช การจัดการดิน และการจัดการน้ำร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะการเพิ่มผลผลิตข้าว ซึ่งการผลิตข้าวในระบบของ มทส. เป็นการประยุกต์และปรับปรุงมาจากวิธีการผลิตข้าวในระบบ SRI ของ Dr.Norman Uphoff และคณะ จึงเน้นเรื่องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นปัจจัยหลัก ซึ่งได้แก่ แหนแดง ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ โดยให้พื้นที่ปลูกข้าวมีน้ำขัง ประมาณ 2-5 ซ.ม. เพื่อให้สามารถเลี้ยงแหนแดงได้

แหนแดง (Azolla) เป็นพืชน้ำเล็ก ๆ พวกเฟิร์นพบเจริญเติบโตอยู่บนผิวน้ำในที่มีน้ำขังในเขตร้อนและอบอุ่น มีคุณสมบัติเป็นทั้งปุ๋ยพืชสดและปุ๋ยชีวภาพ
ความเหมาะสมของแหนแดงในการใช้เป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าว
– แหนแดงสามารถเจริญเติบโตและขยายปริมาณได้รวดเร็ว
– สามารถเลี้ยงแหนแดงได้ให้เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีไนโตรเจนต่ำ
– แหนแดงมีธาตุไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบอยู่สูง (3-5%)
– แหนแดงสลายตัวได้รวดเร็ว ใช้ระยะเวลาสั้นในการผลิตปุ๋ยให้กับข้าว


ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ (Bioorganic Fertilizer) หมายถึง ปุ๋ยที่เกิดจากกระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพพร้อมๆกัน และนำมาผสมกันในขั้นตอนสุดท้าย กระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพในระบบนี้จะต่างจากการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ทั่วๆไป เนื่องจากการผลิตปุ๋ยในระบบนี้จะใช้อุณหภูมิในระหว่างกระบวนการหมักสูงมาก จนสามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นเชื้อก่อโรคทั้งในคน สัตว์ และพืช ตลอดจนเมล็ดวัชพืชที่ติดมากับมูลสัตว์
ในการผลิตปุ๋ยชีวภาพนั้น ได้ทำการคัดเลือกจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการเป็นปุ๋ยที่มีคุณภาพ ซึ่งได้แก่ Plant Growth Promoting Rhizobacteria (PGPR) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการตรึงไนโตรเจนและผลิตออกซินได้ นอกจากปุ๋ยชีวภาพในกลุ่ม PGPR แล้วยังได้นำเชื้อราปฏิปักษ์ ไตรโคเคอร์มา (Trichoderma harzianum) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ และยับยั้งการทำลายเชื้อราที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่าในพืชใส่ลงไปในปุ๋ยดังกล่าวด้วย

ขั้นตอนการผลิตข้าวโดยการใช้แหนแดง และปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ในระบบการปลูกข้าวต้นเดี่ยวแบบประณีต

1. การเพาะกล้าสำหรับการผลิตข้าวในระบบ SRI
จากผลการทดลองในฟาร์มเกษตรอินทรีย์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีมีขั้นตอนและวิธีการในการเพาะกล้าดังต่อไปนี้
1. ใช้กระบะพลาสติกที่มีรูขนาดเล็กบรรจุด้วยขี้เถ้าแกลบที่เปียกชื้นจากการรดน้ำให้อยู่ตัว จากนั้นทำการเกลี่ยหน้าให้เรียบ (สามารถเพาะในแปลงขนาดเล็กได้)
2.โรยเมล็ดพันธุ์ข้าวที่แช่น้ำ 12 ช.ม. และห่อผ้า 1-2 คืน จนเมล็ดเริ่มมีรากงอก (เช่นเดียวกับการแช่เมล็ดสำหรับตกกล้า) โดยทำการโรยเมล็ดข้าวให้สม่ำเสมอ
3. โรยขี้เถ้าแกลบกลบบางๆ หนาประมาณ 1 ซม. ทำการรดน้ำให้ชุ่ม
4. วางกระบะกล้าไว้ในที่ร่ม เช่นในโรงเรือนเพาะชำ ใต้หลังคา หรือที่มีลมพัดผ่านได้ เมื่ออายุต้นกล้าได้ 5 วัน ให้นำออกตากแดดและเมื่ออายุได้ 8 วัน สามารถนำไปปลูก ในแปลงปลูกได้ ไม่ควรให้อายุกล้าเกิน 15 วัน เพราะรากกล้าจะยาวมากเกินไป การเพาะกล้าโดยวิธีนี้จะทำให้สามารถถอนกล้าไปปลูกได้ง่าย และเคลื่อนย้ายสะดวก สามารถยำไปได้ทั้งกระบะและวางไว้ใกล้ๆ กลับแปลงปลูก ทำให้ไม่เสียเวลาในการถอน และเคลื่อนย้าย แต่ถ้าเพาะในแปลงเพาะกล้าให้หว่านเมล็ดบางๆ
5. พื้นที่เพาะปลูก 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 1 กก.

2. การถอนกล้า และการขนย้ายต้นกล้า
– ควรทำการย้ายปลูกกล้าที่อายุประมาณ 8-15 วัน และยังคงให้เมล็ดข้าวติดอยู่
– ในกรณีเพาะในถาดสามารถยกถาดไปยังแปลงปลูกได้เลย
– กรณีเพาะกล้าในแปลงควรทำการถอนทีละน้อยย้ายปลูกทันที
– ถอนต้นกล้าเบาๆตรงโคนต้น ใช้เครื่องมือเล็กๆ เช่น เกรียง หรือเสียม ขุดให้ลึกถึงใต้ราก ควรระวังอย่าให้ต้นกล้าหลุดออกจากเมล็ดพันธุ์ และให้มีดินเกาะรากไว้บ้าง
-ระหว่างการย้ายกล้าต้องทำอย่างเบามือ ไม่ควรทิ้งกล้าไว้กลางแดดและรีบนำกล้าไปปักดำทันที (ภายใน 15-30 นาที)
– ควรทำการปักดำกล้าที่ถอนให้แล้วเสร็จภายในเวลาครึ่งชั่วโมง
– ไม่ควรล้างรากหรือให้รากกล้าแห้งก่อนทำการปักดำ

3. การเตรียมแปลงปลูก และการปลูกข้าวต้นเดี่ยว
1. ปล่อยน้ำเข้าแปลงทิ้งไว้ 1 คืน ทำการหว่านปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพตามปริมาณที่ต้องการ
2. ใช้รถไถเดินตามตีดินให้เป็นโคลน โดยให้ระดับน้ำลึก 3-5 ซ.ม.
3. ทำการหว่านแหนแดง ประมาณ 1 กก./พื้นที่ 10 ตร.ม. ทิ้งไว้ 7-10 วัน
4. หลังจาก 7-10 วัน ให้ไถกลบแหนแดงลงแปลงปลูกและทำให้ดินมีลักษณะเป็นโคลน
5.นำเครื่องมือ ซึ่งทำจากท่อ PVC ลากขนานไปกับคันนาให้เป็นส้นตรงในแนวเดียวกันให้เต็มพื้นที่แปลงปลูกเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส
6. นำข้างที่เพาะไว้ในกระบะเพาะ มาปลูกตรงรอยตัดของสี่เหลี่ยม โดยใช้นิ้วกรีดดินในแนวราบลึกไม่เกิน 1 เซนติเมตร
ต้นข้าวจะต้องตั้งฉากกับแนวราก เป็นรูปตัว “L” (L-shape) และหลังจากการทำการปักดำ 1-2 วัน ให้ทำการปล่อยน้ำเข้าแปลงปลูกในระดับน้ำลึกประมาณ 2 ซ.ม. และทำการปล่อยแหนแดงให้ทั่วแปลงในอัตรา 10% ของพื้นที่

4. การดูแลรักษาแหนแดง และระดับน้ำในแปลงปลูก
– ทำการหว่านแหนแดงเพิ่มหลังจากการปักดำ 1-2 (หลังการใส่น้ำในแปลงข้าว)
– ควรให้ระดับสูงประมาณ 2 ซ.ม.ในครั้งแรก เพื่อป้องกันวัชพืชและการเพิ่มกระจายตัวของแหนแดงจากนั้นให้รักษาระดับน้ำไว้ประมาณ 5 ซ.ม.
– หว่านปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ครั้งที่ 2 เมื่อข้าวอายุได้ 30 วัน

5.การปักดำ
นำต้นกล้ามาปักดำอย่างเบามือ ใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้จับโคนราก แล้วนำไปปักให้รากอยู่ในแนวนอนลึกประมาณ 1 เซนติเมตร
ปักดำกล้าทีละต้น ให้มีความห่างของระยะต้นไม่น้อยกว่า 25 เซนติเมตรเท่าๆกัน จนเหมือนสี่เหลี่ยมจัตุรัส (ควรปักดำในระยะห่าง 30 x 30 เซนติเมตร สำหรับแปลงนาขนาดเล็ก หรือ 40 x 40 เซนติเมตร สำหรับแปลงนาขนาดใหญ่)

6. การจัดการน้ำ
1. การปล่อยให้ข้าวเจริญเติบโตในดินที่แห้งสลับเปียกทำให้ข้าวสามารถดึงออกซิเจนจากอากาศได้โดยตรง และรากของต้นข้าวสามารถงอกยาวออกเพื่อหาอาหาร
2. การปล่อยให้มีน้ำท่วมขังในแปลง ทำให้ซากพืชเน่าเปื่อย และก่อให้เกิดก๊าซมีเทนปลดปล่อยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศทำให้โลกร้อนขึ้น
3. การปล่อยให้ต้นข้าวเจริญเติบโตในน้ำท่วมขัง ทำให้รากต้นข้าวต้องสร้างถุงลมเล็กๆ เพื่อดูดออกซิเจนจากผิวดินทำให้การส่งอาหารไปสู่หน่อและใบถูกรบกวน รากข้าวจะหายใจลำบาก

7.การกำจัดวัชพืช
ควรมีการกำจัดวัชพืชอย่างน้อย 3 ครั้ง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
ครั้งที่ 1 เมื่ออายุข้าว 10 วัน
ครั้งที่ 2 เมื่ออายุข้าว 25-30 วัน
ครั้งที่ 3 เมื่ออายุข้าว 50-60 วัน
ทั้งนี้การกำจัดวัชพืช สามารถใช้เครื่องมือทุ่นแรง ทางที่เหมาะสมและดีที่สุดจึงเป็นการถอนด้วยมือนั่นเอง
นอกจากนี้การจัดน้ำเข้าออกอย่างสม่ำเสมอ หรือเอาฟางคลุมแปลงจะช่วยกำจัดวัชพืชได้ดี

สำหรับการกำจัดศัตรูของข้าว เช่น ปู หอยเชอรรี่
ทำได้โดยการเลี้ยงกบ เลี้ยงเป็ดในนาข้าว แต่เมื่อข้าวออกรวงจะต้องห้ามเป็ดเข้านาโดยเด็ดข้าว หรือทำน้ำหมักชีวภาพฉีดพ่น 1-2 ครั้งก็เพียงพอ

สำหรับวิธีการป้องกันนก
ทำได้โดยการขึงเชือกเทปล้อมรอบแปลงนา เมื่อลมพัดจะทำให้เกิดเสียงดัง แล้วนกจะไม่มารบกวน
ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ชาวนาในญี่ปุ่น และมาดากัสการ์ใช้กัน เรียกว่า คราดหมุน ซึ่งในขณะที่ไถทับวัชพืช จะเป็นการพรวนดินไปในตัว ช่วยเพิ่มอากาศในดิน ส่วนซากวัชพืชจะกลายเป็นปุ๋ยหมักสำหรับต้นข้าวอย่างดี แต่เมื่อทดลองไถพรวนใช้กับดินทางภาคอีสาน นั้นไม่เหมาะสม เนื่องจากดินเป็นดินทราย

เหตุใด ปลูกข้าวต้นเดียวจึงได้ผลผลิตดีกว่า
1. การใช้กล้าอายุสั้นและปักดำต้นเดียว
2. ต้นกล้าที่มีอายุ 8-12 วัน หรือมีใบเล็กๆสองใบ และยังมีเมล็ดข้าวอยู่ จะช่วยให้ประสิทธิภาพในการเจริญเติบโตดีและการผลิตหน่อจะมีมาก
3. การใช้กล้าต้นเดียวปักดำ จะช่วยในการแพร่ขยายของราก สามารถดูดซับธาตุอาหารได้ดีกว่าปลูกกล้าหลายต้น
4. การปักดำให้ปลายรากอยู่ในแนวนอน ปลายรากจะชอนไชลงดินได้ง่ายและทำให้ต้นข้าวตั้งตัวได้เร็ว
5. การปักดำในระยะห่างช่วยให้รากแผ่กว้างและได้รับแสงแดดมากขึ้น ง่ายต่อการกำจัดวัชพืช และประหยัดเมล็ดพันธุ์ ทำให้ข้าวแตกกอใหญ่


สรุปข้อดีของการปลูกข้าวต้นเดี่ยวร่วมกับแหนแดงและปุยอินทรีย์ชีวภาพ
1. ใช้เมล็ดพันธุ์น้อย
2. สามารถลดต้นทุนการผลิตจากการใช้ปุ๋ยเคมี โดยการใช้แหนแดงแทน
3. สามารถเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน
4. เพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ดินที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะจุลินทรีย์กกลุ่มส่งเสริมการเจริญเติบโต
5. ประหยัดน้ำ
6. กำจัดวัชพืชและข้าวปนได้ง่าย
7. อายุการเก็บเกี่ยวเร็วกว่าปกติ 10-15 วัน
8.จำนวนการแตกกอสงกว่าปกติ 2-3 เท่า
9.เปอร์เซ็นต์การสูญเสียจากข้าวลีบน้อยกว่าวิธีการผลิตแบบปกติ
10. ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น 50-70%










สัมภาษณ์ ชาวนาวันหยุด

คือกลุ่มคนที่ วันธรรมดาทำงานประจำอย่างอื่น ส่วนวันหยุดเอาเวลามาทำนา

ปลูกข้าวต้นเดียวโรคแมลงน้อยลง ประหยัดน้ำ ประหยัดน้ำมันปั๊มน้ำเข้านา ได้ผลผลิตมากไร่ละตัน
-เครื่องมือวัดระดับน้ำ ตัดท่อPVCสูง 25 ม. เจาะ 25 รู ฝังดินนานสูงกว่าพื้นดิน 5 ซม. มือล้วงลงท่อควักเอาขี้เลนในท่อออกมา เพื่อวัดระดับน้ำใต้ดิน
-จ้นข้าว อายุ 1 เดือน ปล่อยให้ดินแห้ง
-เอาปุ๋ยใส่ในดินที่แตกระแหง รากจะได้ปุ๋ยทันที
-ใส่แหนแดงคลุมหญ้าใช้ในนาที่มีพื้นที่
-ปล่อยเป็ดไร่ทุ่งช่วยกินหอยเชอรี่ กินแมลง ช่วยพรวนดิน และย่ำหญ้าในระยะข้าวแตกกอ
-ใช้เครื่องมือพรวนหญ้ากำจัดข้าวดีดข้าวเด้ง
-ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี
-ได้ข้าวเพิ่ม ได้ไข่เป็ด ได้ปุ๋ยพืชสดและปุ๋ยขี้เป็ด
-ปล่อยให้น้ำแห้งจะแตกกอเพิ่มดีกว่า ต้นแข็งแรง โรคไม่ค่อยกวน
-นาไม่หล่ม
-ข้าวใบเหลืองเป็นเพราะรากไม่แข็งแรง รากดำวิธีแก้ไม่ใช่ใส่ปุ๋ย ยิ่งซ้ำเติมเอาสิ่งเป็นพิษให้เขากิน เพราะรากไม่ดีเขาไม่ค่อยกิน ต้องแก้โดยให้ดินแห้งเพื่อให้เขาเกิดรากใหม่ชอนไชหาอาหารกิน
-การเตรียมดินไม่เผาตอซัง แต่ใช้วิธีไถฝังกลบ อย่าให้ฟางแห้งให้ชื้นๆ ทิ้งไว้สัก 1 สัปดาห์








ระบบเปียกสลับเเห้ง แกล้งข้าว





facebook ชาวนาวันหยุด

https://www.facebook.com/WeekendFarmerNetworks


เทคนิคดูแลข้าวไรซ์เบอรี่


ไรซ์เบอร์รี่ เป็นข้าวที่ได้รับการพูดถึงไม่น้อย ในระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา เพราะว่ากันว่าเป็นข้าวเพื่อสุขภาพ มีคุณค่าทางอาหารสูง กินเข้าไปในร่างกายแล้ว ช่วยป้องกันและรักษาโรคบางโรค ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ร่างกายมีความแข็งแรง


ไรซ์เบอร์รี่เขาดีจริง แต่กรรมวิธีการผลิตต้องดีด้วย งานปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ที่สิงห์บุรี เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมาก เกษตรกรรายเดียวทำได้ปริมาณค่อนข้างมาก คือ 300 ไร่เศษ ขั้นตอนการผลิตก็อินทรีย์ล้วนๆ ตั้งแต่การปลูก เก็บเกี่ยว แปรรูป เกษตรกรที่ว่า ชื่อ อาจารย์ชัชวาลย์ เวียร์ร่า อยู่บ้านเลขที่ 121 หมู่ที่ 5 ตำบลบางน้ำเชี่ยว อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี


สาเหตุที่ได้ไปดูแปลงปลูกข้าวของอาจารย์ชัชวาลย์ เริ่มต้นจาก พี่หลี คุณณิชกมล จิรภาไพศาล ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่

ฝ่ายโฆษณา บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) รู้จักกับ พี่ตุ๋ย ซึ่งทำงานอยู่ในแวดวงโฆษณา พี่ตุ๋ยไปทำงานการเกษตรอยู่จังหวัดเพชรบูรณ์ พี่ตุ๋ยเป็นลูกศิษย์อาจารย์ชัชวาลย์ ไปเรียนรู้การปลูกข้าวที่สิงห์บุรี...ช่วงนี้ไปดูงานผลิตของอาจารย์ก่อน ต่อไปจะไปเยี่ยมชมแปลงของลูกศิษย์ ซึ่งเป็นแฟนพันธุ์แท้ของเทคโนโลยีชาวบ้าน


ปลูก ไรซ์เบอร์รี่ มา 9 ปี


เดินทางออกจากกรุงเทพฯ 9 โมงเศษๆ ไปถึงบางน้ำเชี่ยวเกือบ 11 โมง เนื่องจากเจ้าของบ้านติดพูดคุยกับผู้มาเยือนอีกกลุ่มหนึ่ง จึงต้องรอ ขณะเดียวกันอาหารเที่ยงก็พร้อมแล้ว


เลยต้องจำใจกินข้าวก่อนทำงาน อาหารเที่ยงมีข้าวไรซ์เบอร์รี่หุงผสมกับข้าวสินเหล็ก กับข้าวประกอบไปด้วย ปลาช่อนนาทอด แกงส้ม ปลาทูทอด น้ำพริก และชะอมทอด ของหวานมี กะละแม อิ่มอร่อยมาก จนง่วงนอน แต่ก็ต้องฝืนพูดคุย ให้คุ้มกับเวลาและค่าข้าว


อาจารย์ชัชวาลย์เล่าว่า มามีครอบครัวที่บางน้ำเชี่ยวเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ตอนนั้นอายุ 61 ปี ปัจจุบันอายุ 70 ปี อาจารย์บอกว่า มีประสบการณ์งานเกษตรมาบ้าง เพราะบรรพบุรุษมีที่นาอยู่คลองสิบสาม รังสิต


“คุณปู่เป็นอังกฤษ คุณย่าเป็นเยอรมัน มีเชื้อสายโปรตุเกสเข้ามา มีญาติอยู่สิงคโปร์ จริงๆ แล้วผมอยู่กรุงเทพฯ ติดตามพ่อมีอาชีพทำไม้ อยู่จังหวัดไหนก็ไปเรียน ลำปาง พิษณุโลก สุดท้ายเรียนวัดสุทธิ ที่กรุงเทพฯ ที่บ้านมีนา คลองสิบสาม รังสิต ปิดเทอมไปช่วยเขาทำนา จบมาทางเครื่องยนต์ มารู้ความจริงเกษตรกรมีเครื่องจักร แต่ยากจนไม่มีเงินซ่อม ทำข้าวให้คนกิน ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ แสดงว่ามีความล้มเหลวทางการเกษตรเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนพันธุ์ข้าว เมื่อก่อนโรงสีคลองสิบสอง ไปซื้อข้าว เกวียนละ 380-450 บาท เป็นข้าวนาปี เราไม่รู้จักข้าวนาปรัง ชาวนาเก็บข้าวไว้ขายเดือน 12...เรามาคิด ชาวนาทำไมจน แต่โรงสี ร้านเคมีรวย โรงสี 1,477 โรง ชาวนาอยากเป็นตัวของตัวเองแต่ไม่มีใครส่งเสริม...ผมทำนา 9 ปี ไม่มีใครมาส่งเสริม...มาที่นี่เมื่อ 9 ปี ราคาล้มลุกคลุกคลาน การทำนา ใช้เวลาปีกับ 15 วัน ทำได้ 3 ครั้ง ผมมาที่นี่ผมทำไรซ์เบอร์รี่เลย ที่เริ่มก็มีแนวคิดจะขายให้ใคร ข้าวนี้เป็นข้าวโภชนาการรักษาคนได้ เป็นจุดเด่น มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ที่คนเป็นกันมาก เราต้องทำข้าวอินทรีย์ ทำสิ่งแวดล้อมให้ดีที่สุด เริ่มทำชาวบ้านไม่รู้จัก เขาถามว่า ข้าวจมน้ำหรือไรถึงดำหมด จะไปขายใคร ปีแรกทำ 7 ไร่ เขากลัวกระเด็นไปปนเปื้อนนาเขา” อาจารย์เล่า


เมล็ดพันธุ์ จุดเริ่มต้นที่ดี
เมื่อเริ่มต้นปลูกข้าว อาจารย์ชัชวาลย์ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ ต่อมาเพิ่มข้าวสินเหล็กอีกสายพันธุ์หนึ่ง


อาจารย์แนะนำว่า เมื่อเริ่มต้นการทำนา ต้องดูเรื่องสายพันธุ์ข้าว หากเริ่มต้นด้วยสายพันธุ์ที่ดี จะช่วยให้การทำนาประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก
พันธุ์ข้าวที่ดี ต้องมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ พันธุ์ข้าวมีความคงทนแข็งแรง อาจารย์ได้พันธุ์ข้าวมาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จำนวน 1 ถัง จากนั้นมาคัดเลือก ได้เมล็ดข้าวตามลักษณะที่ต้องการ จำนวน 4 กิโลกรัม แต่ก็เพียงพอ สำหรับปลูกในที่นา 7 ไร่


“พันธุ์ต้องมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีอะไรปลอมปนมาหรือเปล่า สิ่งที่ปนมาคือข้าวพันธุ์ใดบ้าง ความงอกเท่าไหร่ เรื่องพันธุกรรมข้าวสำคัญ ผมทำไรซ์เบอร์รี่และสินเหล็กเป็นหลัก จำนวน 318 ไร่ ผมทำผลผลิตได้ 1,300-1,400 กิโลกรัม ต่อไร่ พันธุกรรมของพืชอย่าให้เครียดจะเกิดความอ่อนแอ ผมศึกษาคัดพันธุ์ มีความทนทาน ขนาดแล้งน้ำเป็นเดือนยังไม่เหี่ยวเฉา เก็บที่แปลงทำพันธุ์เอง” อาจารย์ให้แง่คิด


แนวทางการทำนานั้น ที่พบเห็นอยู่ คือนาหว่านและนาดำ
การทำนาหว่าน...บางท้องที่เกษตรกรใช้พันธุ์ข้าว 25 กิโลกรัม ต่อไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ขนาดนี้ นอกจากสิ้นเปลืองแล้ว เวลาต้นข้าวเจริญเติบโต ต้องใช้ปัจจัยการผลิตมาก ต้นข้าวอยู่รวมกันหนาแน่น เกิดความอ่อนแอต่อโรคและแมลง ผลผลิตจึงได้ไม่ดีเท่าที่ควร อาจารย์เคยมีประสบการณ์ในการหว่านข้าว ใช้ 3 กิโลกรัม ต่อไร่ ซึ่งยังมากอยู่ จริงๆ แล้วน่าจะ 2.5 กิโลกรัม ต่อไร่


สำหรับนาดำ...อาจารย์ชัชวาลย์ ดำโดยใช้ข้าวต้นเดียว ระยะระหว่างต้นระหว่างแถว 30 เซนติเมตร ปรากฏว่าข้าวแข็งแรง แตกกอดี เมื่อปลูกลงไปจำนวน 1 ต้น การแตกกออาจจะมีมากกว่า 30 ต้น ต่อกอ ขณะเดียวกัน หากต้องการปลูกข้าวไว้ทำพันธุ์ ใช้ระยะระหว่างต้นระหว่างแถว 50 เซนติเมตร จะทำให้ข้าวแข็งแรง มีผลต่อพันธุกรรม ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาจารย์ทำพันธุ์ไว้ใช้เอง ส่วนหนึ่งเผยแพร่ให้คนที่สนใจ


“ผมดำห่าง 40 เซนติเมตร ดำต้นเดียว ศึกษาจากข้าว 1 ต้น สามารถแตกกอได้ตรงแสงแดดพอ รวมทั้งมีลมพัดผ่าน บางครั้งพบว่าแตกกอได้ 60 ต้น จากข้าวต้นเดียว จึงปรับปรุงที่นาให้แสงแดดส่องได้พอ มาสรุปตอนหลัง ระยะปลูก 30 เซนติเมตร ปลูกข้าวต้นเดียว ให้ข้าวได้แสงแดดเท่ากันจะแตกกอดี ระยะปลูกจึงสำคัญ ปลูกระบบด้วยข้าวต้นเดียว ได้ผลผลิตมากกว่านาหว่าน ในพื้นที่เท่ากัน นาหว่านใช้ 25 กิโลกรัม ต่อไร่ ถ้าเราไม่เผาฟางเกิดอินทรียวัตถุ มีการอุ้มความชื้นในดิน ไม่ต้องกลัวแล้ง” อาจารย์บอกวิธีการหว่านและปักดำ


นาอินทรีย์แท้ๆ
ใช้จุลินทรีย์จากหน่อกล้วย


อาจารย์ชัชวาลย์ทำนาอินทรีย์แท้ๆ ไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ได้ใช้สารเคมี ขณะเดียวกันอุปกรณ์การเกษตรก็มีพร้อม ไม่ได้ใช้ร่วมกับนาไม่อินทรีย์ อุปกรณ์มีตั้งแต่รถเตรียมดิน เครื่องเกี่ยวข้าว รวมทั้งโรงสีเล็กๆ ที่อยู่ติดกับบ้าน


ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การทำนาอินทรีย์ประสบความสำเร็จ คือการทำจุลินทรีย์หน่อกล้วยเพื่อเตรียมและปรับปรุงบำรุงดิน รวมทั้งฮอร์โมนไข่

วัสดุอุปกรณ์การทำจุลินทรีย์หน่อกล้วย ประกอบด้วย ไส้ของหน่อกล้วย ที่ได้จากหน่อหนุ่มสาว ลอกกาบออก ให้เหลือเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-6 นิ้ว ตัดเป็นท่อนยาว 50 เซนติเมตร ทุบให้ช้ำ อย่างอื่นมี กลูโคส 1 กระป๋อง (ราว 450 กรัม) น้ำส้มสายชู 1 ขวด (ราว 750 ซีซี) ขัณฑสกร 2 ช้อนโต๊ะ แป้งข้าวหมาก 6 ก้อน นมเปรี้ยว 1 ขวดเล็ก นำสิ่งที่แนะนำมาใส่รวมกันในถัง 200 ลิตร จากนั้นเติมน้ำให้เต็ม นำไปวางไว้กลางแดด ใช้หินที่เป็นก้อนๆ ซึ่งเขาใช้ถมเป็นเขื่อนกันดินพัง หุ้มด้วยตาข่าย วางลงไปยังถัง 5-7 วัน ดูที่หินเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง แสดงว่าจุลินทรีย์เริ่มทำงาน สามารถนำออกใช้งานได้

อัตราที่แนะนำ 5 ลิตร ต่อไร่ หรือจะมากกว่านี้ก็ได้ มีมากใช้มาก มีน้อยใช้น้อย เริ่มใช้เมื่อมีการเตรียมดิน โดยเทลงแปลงนา หรือจุดปล่อยน้ำเข้า จะช่วยย่อยสลายฟางข้าว ไม่ต้องเผา จากนั้นเติมลงไปในนา 10 วันครั้ง


หมายเหตุ อาจารย์ไม่แนะนำให้ใช้กากน้ำตาล


ส่วนฮอร์โมนไข่ วัสดุอุปกรณ์ ประกอบด้วย ไข่อินทรีย์ที่มีเชื้อ หมายถึงเกิดจากการผสมพันธุ์ของตัวผู้และตัวเมีย จำนวน 4 ฟอง น้ำจุลินทรีย์ 5 ลิตร น้ำผึ้งแท้ 100 ซีซี กลูโคส 450 กรัม หากเป็นฤดูหนาวเติมน้ำมะพร้าว สังกะสีและแมงกานีสลงไปด้วย (มีจำหน่ายตามร้านวัสดุอุปกรณ์การเกษตร) ผสมแล้วใช้ได้เลย หากเหลือเก็บไว้ใช้ได้นาน อัตราที่แนะนำ ใช้ 1 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร ฉีดพ่นให้ต้นข้าวทุก 10 วัน


แมลงศัตรู มีบ้าง
การทำนาอินทรีย์ มีปัญหาเรื่องโรคและแมลงบ้าง แต่เพราะมีระยะของต้นข้าวที่พอเหมาะ ทำให้ต้นข้าวใบตั้งแข็งแรง แมลงบางตัว เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล จึงเพียงมาอาศัยอยู่เท่านั้น การทำลายแทบไม่พบเห็น


ข้อคิดที่น่าสนใจอย่างหนึ่งนั้น อาจารย์แนะนำว่า แมลงชอบมาทำลายต้นข้าวช่วงเดือนมืด ดังนั้น จะใช้กับดักกาวเหนียวดักจับแมลง


“แมลงบางชนิดมีประโยชน์ เกษตรกรไปกำจัดหมด เมื่อมีแมลงศัตรูพืชมา ต้องมีตัวห้ำตัวเบียน เดือนมืดโจรมา ผมใช้ฟิวเจอร์บอร์ดทาด้วยกาวดักแมลง เดือนมืดแมลงมา ข้างขึ้นไม่มา คนเกิดข้างขึ้นฉลาดกว่าคนเกิดข้างแรม พืชเกิดข้างขึ้น เติบโตดีกว่าข้างแรม โบราณถือเป็นตำนาน ทำนาข้าวต้องทำข้างขึ้นครับ ปลูกพืช ปลูกบ้าน ทำงานมงคลข้างขึ้น ผมทำอะไรเน้นข้างขึ้น...ควรให้เกษตรกรรู้เรื่องการใช้ปัจจัยการผลิต ผมไม่ให้เข้าเลยยูเรีย ตัวอย่าง คนเหนือกินอาหารอย่าง คนภาคกลางกินอาหารอย่าง เพราะฉะนั้น เอ็นพีเค ไม่ใช่อาหารสำเร็จ ไม่รู้ว่าพืชขาดอะไร เกษตรกรรู้ เอ็นพีเค ว่าต้องใส่ ขาดไม่ได้ ถามว่าทำไมขาดไม่ได้เพราะว่าในตลาดมีขาย แนะนำกันไว้อย่างนี้ ในแปลงนาอินทรีย์ของเราไม่ใช้เคมีเลย เราใช้จุลินทรีย์ น้ำร้อนเพราะดูดซับแสงแต่ดินต้องเย็น ไม่ว่าฤดูกาลไหน ไม่เห็นรากพืชเราเป็นสีน้ำตาล เราเห็นรากสีขาวแตกฝอยเป็นเส้น ไม่มีการเจ็บป่วยทางราก รากกระจายรอบต้นเยอะมาก อายุข้าว 1 เดือน ถอนไม่ขึ้น ผมบอกเกษตรกรให้ทำนาดำ เกษตรกรจะลดต้นทุนได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ครับ กำไร 50 เปอร์เซ็นต์ อยู่ได้แล้วครับ นาที่ใส่ปุ๋ยเคมี 30-40 ปี ดินเป็นกรด ถ้านำดินไปสังเคราะห์นั่นแหละเป็นโรงงานปุ๋ย” เป็นแง่คิดในการทำนาหลายๆ เรื่อง


เริ่มแรกไม่มีใครซื้อ
ไรซ์เบอร์รี่ และสินเหล็ก
ปัจจุบันไม่พอขาย
อาจารย์ชัชวาลย์เริ่มทำตลาดข้าวไรซ์เบอร์รี่ใกล้ๆ บ้านคือ วัดหลวงพ่อจรัญ
แรกๆ ไม่มีคนซื้อ แต่ทุกวันนี้ ผลผลิตไม่พอจำหน่าย ลูกค้าต่างประเทศก็สนใจ
“ผมมองดูคนเจ็บป่วย เราทำมาไม่รู้ขายให้ใคร...เอาไปหุง คนจะบอกว่าข้าวกล้องหอมนิลรู้จัก เราบอกว่าไรซ์เบอร์รี่ เขาบอกไม่มีหรอกอย่าโกหกเลย...หน้าอย่างนี้หรือชาวนา ให้ดูมือก็แล้ว เราต้องยกเท้าให้ดู ไม่มีคนซื้อ ครั้งแรกขายกิโลกรัมละ 60 บาท ไม่มีคนซื้อ ขายไม่ออก ขายวันหนึ่งได้ 200-300 บาท มีผู้หญิงคนหนึ่งมาซื้อ เขาบอกถุงละ 5 กิโลกรัม หนักไป ให้แบ่งถุงละ 1 กิโลกรัม มีถุงหิ้ว ก็แบ่งให้ ก็เอาไป 6 กิโลกรัม รุ่งขึ้นถอยรถเก๋งมาจอดรถซื้อไป ทุกวันนี้ยังเป็นลูกค้าผมอยู่ เมื่อไม่นานมานี้ก็ไปส่ง...อีกตัวอย่างหนึ่ง เจ้าของ จ.เจริญชัยแทรกเตอร์ เมียตาเจ่าป่วยหนัก เอาข้าวไปกินอยู่ได้ถึงทุกวันนี้ ตาเจ่าไม่เป็นไรแต่ตายก่อนเมีย ทั้งๆ ที่เมียป่วยเป็นโรค เจ้านี้สั่ง 15 กิโลกรัม ต่อเดือน...ครั้งแรกขาย 60 บาท ตอนนี้ 110 บาท ครับผม ทำ 3 ครั้ง ต่อปี ได้ผลผลิตประมาณ 1,500 ตัน ต่อปี คนจะซื้อมีส่งไป เป็นอัมพฤกษ์เราส่งไปรษณีย์ไปให้เกาะพะงัน สมุยบ้าง นครศรีธรรมราช ปัตตานี ผมกินเองมาตลอด ผมตอนนี้อายุ 70 ปี จะมาง่วงนอนอ่อนเปลี้ยเพลียแรงไม่มี กลางวันผมทำงาน บางทีไปเป็นวิทยากรอยู่บนเวที 8 ชั่วโมง ขับรถไปต่ออีกเวทีหนึ่ง เดินทางกลางคืน ไม่มีพฤติกรรมเหนื่อยล้าเหมือนคนอื่นเขา ออกงานกลับมาถึงบ้านสว่างทำงานต่อไม่ได้หยุด งานของเราหนักไหม ไม่หนักเพราะเราไม่เครียด”


อาจารย์เล่าและบอกต่ออีกว่า
“เมื่อก่อนฝนตั้งเค้าผมเป็นภูมิแพ้ ปัจจุบันไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง ผมไม่เป็นอะไรเลย ไปนาไม่ใส่หมวก ขับรถตีนา ขับรถเกี่ยวเอง บางทีทำจนสว่างไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย เหล้าไม่กิน บุหรี่ไม่สูบ ไม่ได้ไปเที่ยว ใช้แรงงานน้อยมาก มีคนมาฝึกงานช่วย ผมกับภรรยาเป็นหลัก...การทำพืชปลอดภัย บั้นปลายที่ได้คือผู้บริโภค ต้องเข้าใจ รถเกี่ยวต้องมีเอง โรงสีต้องมีเอง อย่าให้เกิดการปนเปื้อน ต้องผลิตอาหารพืชใช้เอง อย่าไปเอาอาหารพืชที่ขายตามท้องตลาด ที่เขาบรรจุขวดมาใช้ พนักงานขายไม่กล้าเอานิ้วจุ่มใส่ปาก แสดงว่าไม่ปลอดภัย...ผมว่าให้เกษตรกรพึ่งตนเองให้มากที่สุด เรื่องการตลาด ถามว่าสำคัญไหม ไม่สำคัญครับ คนในประเทศไทยป่วยกันเท่าไหร่ ถ้าเราทำอาหารให้คุ้มครองได้ ต้องซื่อตรง ทำข้าวมีคุณภาพ ไม่ต้องกลัวเรื่องการตลาดจะไม่มีครับ มีคนพิการเอาข้าวผมไปขายเดือนละครึ่งตัน เขาไม่มีขาเดิน เขายังขายได้เลย เขาเรียนปริญญาโท อนาคตเขาจะเป็นแหล่งรวบรวมอาหาร จำหน่ายให้คนเป็นอัมพฤกษ์ คนโทร. มาสั่ง 1 กิโลกรัม ก็ส่ง ค่าส่งและอีเอ็มเอส 75 บาท ผลิตแบบสุญญากาศส่ง”


น้ำมันรำข้าว
เพิ่มรายได้ดี
น้ำมันรำข้าว เป็นการนำเอาสิ่งที่เหลือมาแปรรูป สร้างรายได้ดี
น้ำมันรำข้าว ได้จากรำอ่อนกับจมูกข้าว
บางคนทำไม่ได้ เหม็นหืน เพราะข้าวและรำเก็บไว้นานเกินไป
เวลาจะทำ จะต้องเอาออกมาทำทันทีทันใด

อาจารย์อธิบายว่า ข้าวไรซ์เบอร์รี่ 1,000 กิโลกรัม (ข้าวเปลือก) สีข้าวสารได้ 650-780 กิโลกรัม ข้าวสาร มีปลายข้าวใหญ่ 18 กิโลกรัม จมูกและรำอ่อน 120 กิโลกรัม ถ้าเอาเข้าเครื่องบีบเลย หน้าร้อนจะได้ 5 ลิตร หน้าฝนจะได้ประมาณ 6 ลิตร หน้าหนาวได้ 6-8 ลิตร ใน 1 ลิตร บรรจุแค็ปซูลด้วยมือ ได้ 1,900 แค็ปซูล ถ้าใช้เครื่องจักรได้ 2,000 แค็ปซูล ขายส่งแค็ปซูลละ 5 บาท ถ้าได้ 1,000 แค็ปซูล ได้ลิตรละ 10,000 บาท ขายสดเลยได้ลิตรละ 8,000 บาท


น้ำมันรำข้าวช่วยเรื่องคนเป็นกรดไหลย้อน ภูมิแพ้ ผู้หญิงที่ร้อนในหัวอกวืบๆ หายเร็ว มุตกิตฤดูขาว คนเป็นมะเร็งนำไปรักษาบรรเทา คนเป็นเกี่ยวกับลำไส้ใหญ่ก็ใช้รักษา



น้ำมันรำข้าวไรซ์เบอร์รี่ มีสีม่วง
อาจารย์ยกตัวอย่าง รายได้จาก ข้าวไรซ์เบอร์รี่ดังนี้
เกษตรกรทำไรซ์เบอร์รี่ ทำได้ข้าว 1 ตัน ต่อไร่ ได้ข้าวสาร 600 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 100 บาท ได้เงิน 60,000 บาท ทำน้ำมันอีก 5 ลิตร ทำเป็นแค็ปซูล ขาย 5 บาท เขาได้อีก 50,000 บาท ได้แสนกว่าบาท



“ตอนนี้ผมทำ 300 ไร่เศษ ส่วนตัวอยากทำสัก 1,000 ไร่ มีเครื่องจักรไม่เหนื่อย จะวางแผนการทำงานได้ ง่ายสำหรับคนรู้ ถ้าไม่รู้ 10-100 ไร่ ก็เหนื่อย ถ้าข้าวสุขภาพดี ทำนาไม่เหนื่อย ข้าวถ้าสุขภาพดีไปอยู่ เพชรบูรณ์ก็ไม่เป็นไร ถ้าผมทำ 1,000 ไร่ ทำมากผลผลิตต่ำผมจะได้ 1 ตัน ต่อไร่ ผมมีอุปกรณ์พร้อม ตั้งแต่ตีดิน ดำนา เกี่ยว และโรงสี...ชาวนาทั่วไปไม่ค่อยพร้อม ทุกวันนี้ 300 ไร่ ข้าวไม่พอ ไต้หวันมามีเท่าไรเอาหมด ผมบอกไม่พอ คนไทยสุขภาพร่างกายยังไม่ดี ยังไม่ส่งออกดีกว่า ผมยังไม่มีข้าว การบินไทยก็มา ที่บ้านขายส่ง 100 บาท ต่อกิโลกรัม ผมทำจากเงิน 7,400 บาท ทอง 2 สลึง ที่คอเมียผมไปขาย...เรามาทำเห็นชาวนาต้นทุนสูง ไม่มีตลาด ผลผลิตต่ำ เผาฟางทิ้ง...ใครสนใจมาดูงาน มาฝึกงานที่นี่...ฟรีครับ โทร. (081) 281-9355” อาจารย์ชัชวาลย์ย้ำ



วิธีปลูกข้าวในบ่อซีเมนต์



การปลูกข้าวในบ่อซีเมนต์มีข้อดีหลายๆ อย่าง สามารถควบคุมจัดการได้ง่ายกว่า จึงสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ใน 1 ปีสามารถปลูกได้ 3-4 ครั้งเหมาะกับคนที่มีพื้นที่น้อย สามารถจัดการเรื่องวัชพืชได้ง่าย 1 คน ถ้าปลูกข้าว 30 บ่อ ปีละ 3 ครั้ง ก็จะมีข้าวบริโภคอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี
การเตรียมต้นกล้าเพื่อปลูก
โดยการแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำ 1 คืน แล้วนำไปบ่มในกระสอบ 1 คืน แล้วนำเมล็ดข้าวที่บ่มแล้วประมาณ 2 กำมือ ไปหว่านในบ่อซีเมนต์ 1วง ที่เตรียมดินและแช่น้ำมาอย่างน้อย 2 วัน หลังหว่านไปประมาณ 4 วัน เมล็ดข้าวจะเริ่มแตกใบ ให้ดูแลอย่าให้ขาดน้ำ จนต้นกล้าอายุได้ 20-25 วัน จึงถอนไปปักดำได้
การปลูกข้าวอินทรีย์ในบ่อซีเมนต์

1.การปลูกเริ่มต้น ด้วยการเตรียมท่อปูนขนาด 50×50 เซนติเมตร (บ่อส้วม)
2.ใส่ดินลงไปในบ่อให้มีความสูงขนาด 40 เซนติเมตร
3.นำดิน 1 กิโลกรัม ผสมกับปุ๋ยหมัก 1 กิโลกรัม เทลงไปบนหน้าดิน แล้วใส่น้ำให้เต็มบ่อแช่ดินไว้เพื่อกำจัดวัชพืช 15 วัน
4.เมื่อครบกำหนด 15 วัน ให้ทำการใส่ปุ๋ยคอก แล้วนำข้าวมาปักต้นกล้า โดยปักบ่อละประมาณ 7 กอ กอละประมาณ 3-4 ต้น ถ้ามากกว่านี้จะทำให้แน่นไป
5.หลังจากปักดำครบ 15 วัน ให้ใส่น้ำเต็มบ่อ เพื่อให้มีความชุ่มชื้น60% และใส่ปุ๋ยคอกลงไป 1 กก./บ่อ ใส่ 15 วันต่อครั้ง
6.เมื่อต้นข้าวสูง 50-60 เซนติเมตร ข้าวจะสมบูรณ์ อยู่ในช่วงข้าวตั้งท้อง หากมีใบเหลืองให้ใส่ปุ๋ยคอก 3 ขีดต่อ 1 บ่อ ตามด้วยการฉีดน้ำหมัก พด.2 และ พด.7 เพื่อป้องกันแมลง โดยเบื้องต้นการป้องกันแมลงให้นำมะกรูดมาผ่าเป็นซีกแล้วนำไปลอยน้ำในบ่อไว้ เพื่อป้องกันการเข้าทำลายของหนอน แมลง
7.ในการเก็บผลผลิตข้าว ให้เก็บรวงข้าวโดยการเด็ดชุดแรกตรงป้องแรกของรวงข้าว ต่อ 1 ต้นสามารถเก็บได้ 3รอบ โดยให้เก็บผลผลิตเมื่อข้าวเริ่มมีการตั้งท้องในปล้องที่สองของต้นข้าว หลังจากเก็บเกี่ยวรุ่นที่สามแล้ว ให้ทำการกดต้นข้าวฝังลงไปในดินในบ่อ เหมือนการไถกลบตอซังข้าวและปล่อยน้ำเข้าบ่อให้ท่วมพอดีเป็นการปรับปรุงบำรุง ดินเพื่อเตรียมบ่อลงปลูกรอบต่อไป

ผลผลิตใน 1 บ่อต่อรอบที่เก็บจะได้ปริมาณข้าวเปลือกบ่อละประมาณ 1 กิโลกรัม



สูตรน้ำหมักบำรุงนาข้าว

วัตถุดิบ กล้วยสุก 5 กิโลกรัม ,มะละกอ 5 กิโลกรัม,ฟักทอง 5 กิโลกรัม
สับผลไม้เป็นชิ้นเล็กๆ ผสมกับกากน้ำตาล 10 ลิตร หัวเชื้อ 5 ลิตร พด.2 1 ซอง ละลายน้ำ 150 ลิตร
หมักนาน 3 เดือน
อัตราส่วนในการใช้ น้ำหมัก 1 ขวดลิโพต่อน้ำ 20 ลิตร จะช่วยเร่งการเจริญเติบโต
สูตรน้ำหมักกำจัดป้องกันไล่แมลง
1.พริกสด 1 กิโลกรัม
2.กระชาย 1 กิโลกรัม
3.มะกรูดผ่าซีก 50 ผล
4.กากน้ำตาล 5 ลิตร
5.น้ำหมักหัวเชื้อ 5 ลิตร
6.น้ำส้มควันไม้ 5 ลิตร
นำส่วนผสมมาคลุกเคล้าคนให้เข้ากัน ผสมกากน้ำตาลที่ละลายกับน้ำ 20 ลิตรเอาไว้ ตามด้วยการนำ พด.7 มาละลายน้ำ 15นาที นำมาหมักรวมทั้งหมดในถัง หมักนานอย่างน้อย 20 วัน สามารถนำไปใช้ได้ น้ำหมัก 1 ขวดลิโพต่อน้ำ 20 ลิตร จะช่วยกำจัดป้องกันไล่แมลงทุกชนิด













Create Date : 04 เมษายน 2558
Last Update : 1 กันยายน 2559 10:29:16 น. 0 comments
Counter : 9232 Pageviews.

ใจรัก Jairuk Channel
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 91 คน [?]








ติดตามดูต่อที่YouTube

ใจรักJairukChannel



ติดตามดูต่อที่Facebook

ใจรักJairukChannel



แนะนำให้ชม

บัวหิมะ
บัวหิมะ
วิธีเลี้ยงบัวหิมะ
เกิดมาทำไม ตายแล้วไปไหน
บั้งไฟพญานาคที่ไปดูมา
ติดอันดับTOP Page Views
อาหารและการดูแลสุขภาพ ผู้ป่วยมะเร็งและคนทั่วไป
เที่ยวขอนแก่น
Michael Jackson
คอนเสิร์ตบอย Peacemaker
คลิปเจ้าขุน
การกลับมาของX Japan

ท่องเที่ยว

UFOที่เคยเห็น
บั้งไฟพญานาคที่ไปดูมา
หาดใหญ่และปัตตานี
ไข่มุกอันดามัน
อะ พีพี
เกนติ้ง
กัวลาลัมเปอร์
หาลิงเข้าถ้ำทะเลภูเขาเลยจ้า นอนดูหมอกที่ปราจีนบุรี
เที่ยวปราจีนบุรีต่อ
เลยจะถึงไหมละนี่
พักค้างแรมที่เลย
เลยจนเกือบถึงลาว
ขุดกรุเขื่อนป่าสัก
บึงแก่นนคร ขอนแก่น
พระธาตุขามแก่น
เดินทางไปลพบุรี
กินข้าวอิงภูชัยภูมิ
ลาว เวียงจันทร์
ลาว2
ปิดทริปเที่ยวลาว
ล่องเรือเจ้าพระยา
รถไฟลอยฟ้า ฟ้า ไทย
รถไฟใต้ดินไทย
ทะเลน้ำจืดหาดวังโกขอนแก่น บ้านปราสาทโคราช
วังน้ำเขียวโคราช
ชอปปิ้งหนองคาย
ตัวเมืองขอนแก่น
น้ำผุดทับลาว ชัยภูมิ
สนามหลวง2
ไปดูงานศิลป
สายน้ำกับปลาที่ไปปล่อย
งานExpro
เขื่อนอุบลรัตน์
เที่ยวป่าวัดพรไพรวัลย์
ล่องแพอ่างเก็บน้ำห้วยไร่
ทะเลหมอกภูพานน้อย
วัดเจดีย์ชัยมงคล
ครั้งหนึ่งที่เคยโบกรถ
น้ำหนาว,เพชรบูรณ์
พระพุทธชินราช,พระธาตุลำปางหลวง
น้ำพุร้อน,วัดร่องขุ่น
มหาลัยแม่ฟ้าหลวง,น้ำตกก้างปลา
เวียงแก่น,ภูชี้ฟ้า
ดอยแม่สลอง
อุทยานฯขุนแจ
สวนโลกราชพฤกษ์
วัดเจดีย์7ยอด,วัดเจดีย์หลวง
ดอยสุเทพ,ทุ่งสแลงหลวง
โครงการครูบ้านนอก
วัดหลวงพ่อโตใหญ่ที่สุดในโลก
ที่พักปากช่อง
เลย-ลาว-ท่าลี่
ถึงระยองแล้วจ้า
ทะเลตอนเช้า
งานเที่ยวภาคใต้






Friends' blogs
[Add ใจรัก Jairuk Channel's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.