ไตรสิกขาระบบพัฒนาคนทั้งคน ![]() ลองมองไปข้างๆ และรอบๆ ตัวบ้าง อย่างน้อยก็คงมองเห็นว่าเวลานี้ ในวงการทางการศึกษา มีการก้าวไปในความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาเด็ก ดังที่มีการพูดถึงคติในการพัฒนาเด็กว่า ให้ เก่ง – ดี – มีความสุข พูดสั้นๆ นี่ก็คือการยอมรับว่า ในการพัฒนาคนนั้น ความสุขก็เป็นองค์ประกอบสำคัญ อันจำเป็นที่จะทำให้การพัฒนาคนนั้นสำเร็จ ขอให้ดูในจริยธรรมแบบพรหมจริยะที่ผ่านมานั้น จะเห็นว่า ไม่เฉพาะคุณธรรมเท่านั้น แต่ความสุขก็เป็นส่วนประกอบของจริยธรรม อยู่ในแดนของจิตใจ ทีนี้ ก็ต้องเดินหน้าต่อไป อย่างที่พระว่าไว้ คือบอกว่า คุณธรรมและจริยธรรมเท่านั้น ไม่พอหรอก จริยธรรมจะดีได้ ในใจต้องมีคุณธรรม แล้วคุณธรรมนั้นจะอยู่ได้ จิตใจต้องมีความสุข ถ้าคนไม่มีความสุข จิตใจมีความทุกข์ มันก็ดิ้นรน มันทุกข์ ก็จะดำรงจริยธรรมไม่ได้ จะรักษาความดีไม่ไหว เพราะฉะนั้น ต้องให้คนมีความสุขด้วย ตกลงว่า คุณธรรมและจริยธรรมไม่พอ ต้องมีความสุขด้วย คอยดูเถิด คงอีกไม่นานนัก นักแก้ปัญหาจริยธรรมก็จะต้องพูดว่า การอบรมคุณธรรมและจริยธรรมนั้น ยังไม่เพียงพอ จะต้องพัฒนาความสุขด้วย ทีนี้ละ งานอบรมจริยธรรมก็คงจะมีชื่อยาวออกไปอีก เช่น กลายเป็นว่า โครงการอบรมคุณธรรม จริยธรรม และความสุข แต่แค่นั้นยังไม่จบ ต่อไป ไม่ช้าหรอก วงการจริยธรรมก็จะตื่นขึ้นมาตระหนักรู้อีกขั้นหนึ่งว่า เออ ... คุณธรรม และจริยธรรม แล้วเพิ่มความสุขเข้ามาอีก ก็ยังไม่พอ ต้องมีปัญญาด้วยนะ ถ้าไม่มีปัญญาบอกให้ การประพฤติจริยธรรมก็ไม่สำเร็จจริง คือ ไปไม่ตลอด คนอาจจะผิดจริยธรรม โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ได้ เพราะฉะนั้น ที่ว่ามีความสุข ก็อาจจะสุขแบบโง่ๆ ถึงจะมีคุณธรรม ก็อาจจะมีแบบโง่ๆ เช่น เมตตา กรุณา อย่างโง่ๆ อะไรทำนองนี้ ไปๆมาๆ ก็ได้จริยธรรมแบบโง่ๆ ในที่สุดก็ไปไม่รอด พาชีวิตและสังคมเสียหายหมด เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีปัญญาด้วย เป็นอันว่า ที่พร่ำพูดกันอยู่ทุกวันนี้ ว่าคุณธรรมและจริยธรรมนั้น ไม่พอหรอก เราพลาดมานานแล้ว ถึงเวลาต้องสะสางกันแล้ว ตอนนี้ มากันได้แค่ที่พูดว่า คุณธรรม บ้าง คุณธรรมและจริยธรรม บ้าง ความสุขก็ยังไม่ค่อยถึงเลย ทางด้านวงการศึกษา เอาละ ตอนนี้ บอกว่า ต้องเก่ง ดี และมีความสุข นี่คือ ความสุขมาแล้ว แต่ปัญญาที่เป็นตัวคุมจริยธรรมก็ยังไม่มา มีแต่ปัญญาสำหรับหาผลประโยชน์ ถ้าปัญญาที่แท้นี้ยังไม่มา จริยธรรมก็ไม่เป็นระบบที่บูรณาการ ตอนนี้ ผู้จัดการศึกษา บางทีจะเอาปัญญาไปไว้ที่ “เก่ง” แต่อย่างที่ว่าแล้ว ปัญญานั้นอาจจะเป็นปัญญาที่ฉลาดหาผลประโยชน์ใส่ตัว ไม่ใช่ปัญญาสำหรับแก้ปัญหาชีวิตและสร้างสรรค์สังคม ที่อยู่ในระบบของจริยธรรม เขาอาจจะเก่งเอาเปรียบคนอื่น ไม่ใช่เก่งที่ประสานกับดี เป็นเก่งที่บูรณาการกับ “ดี” ไม่ได้ ฉะนั้น มันก็เลยไม่ชัด ฉะนั้น ก็ต้องให้ครบ ให้เป็นระบบที่ชัดกันไปเลยที่ว่า ต้องมีทั้งพฤติกรรมกายวาจา ต้องมีจิตใจ ต้องมีให้ครบถึงปัญญา ต้องมาบูรณาการกัน อย่างที่ชอบพูดกันนักว่าให้เป็นองค์รวมจริงๆ ถึงตอนนี้ นักจัดอบรม ก็ต้องขยายงานและชื่อโครงการออกไป กลายเป็นว่า โครงการอบรมคุณธรรม จริยธรรม ความสุข และปัญญา นี่คือความคลุมเครือที่นำมาสู่ความสับสนวุ่นวายที่สังคมของเรายังเคว้งคว้างกันอยู่ แต่ถ้าจับหลักได้แล้ว เรามาถึงความหมายที่แท้ พอครบเป็นระบบจริงแล้ว ก็เป็นจริยธรรมในความหมายแบบพรหมจริยะ คือ พูดว่า “จริยะ” (หรือจริยธรรม” คำเดียว ก็รวมไปถึงคุณธรรม ความสุข ตลอดจนปัญญาด้วย พร้อมทั้งหมด ไม่ต้องคอยตามที่จะเติมเพิ่มเข้าไปทีละข้อๆ อย่างที่ทำกันมาและยังทำกันอยู่ แล้วก็ไปยังไม่ถึงไหน ซึ่งพูดรวบรัดก็คือ ยังหาจริยธรรมไม่เจอนั่นเอง ขอสรุปไว้อีกทีว่า “จริยะ” คือระบบการดำเนินชีวิตของเรานี้ มีส่วนประกอบอยู่ ๓ แดน ซึ่งประสานกลมกลืนไปด้วยกัน แยกจากกันไม่ได้ คือ ๑. แดนพฤติกรรม หรือแดนสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ที่ดำเนินไปด้วยกายและวาจา (พร้อมทั้ง ตา-หู-จมูก-ลิ้น-กายประสาท ที่รับรู้โลกภายนอก) ๒. แดนจิตใจ ที่ดำเนินไปด้วยเจตนา โดยมีคุณสมบัติมากมายในจิตใจหล่อเลี้ยง สนองงาน และเสวยผล มีทั้งด้านเครื่องปรุงแต่งให้ดี หรือ ชั่ว ด้านกำลังความสามารถ และด้านความสุขความทุกข์ ๓. แดนปัญญา ที่ดำเนินไปด้วยความรู้ ซึ่งเอื้อให้เจตนาในแดนแห่งจิตใจสามารถคิดหมายทำการต่างๆ ได้สำเร็จผล ให้ชีวิตเข้าถึงอิสรภาพได้ ครบหมดทั้ง ๓ แดนนี้ ดำเนินหรือเป็นอยู่เป็นไปด้วยกัน เรียกว่า จริยะ และทั้งนี้ ก็ควรให้มันเป็น จริยะที่ดีที่ประเสริฐ เต็มตัว เป็นของแท้ (พรหมจริยะ, พรหมจรรย์) เพื่อให้เป็นจริยะที่ดีงามประเสริฐดังที่ว่านั้น เราจึงต้องจัดการกับชีวิตทั้ง ๓ แดนนั้น โดยฝึกหัดพัฒนาแก้ไขปรับปรุงให้ชีวิตดำเนินไปได้ดียิ่งขึ้นไปๆ จนมีชีวิตที่ดีงามเป็นประโยชน์มีความสุขเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์ การฝึกหัดพัฒนาชีวิตทั้ง ๓ แดน ที่ว่านั้น เรียกว่า “การศึกษา” ซึ่งมี ๓ ส่วน ตรงกับ ๓ แดนนั้น คือ ๑. ฝึกศึกษาพัฒนาแดนพฤติกรรม หรือแดนสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม โดยฝึกหัดกาย – วาจา (พร้อมทั้ง ตา – หู - จมูก - ลิ้น - กายประสาท ที่รับรู้โลกภายนอก) เรียก ว่า ศีล (ชื่อเต็มว่า อธิศีลสิกขา) ๒. ฝึกศึกษาพัฒนาแดนจิตใจ โดยพัฒนาเจตนาให้เจริญในกุศลยิ่งๆขึ้นไป พร้อมทั้งมีความเข้มแข็งสามารถ และศักยภาพที่จะมีความสุข จนไร้ทุกข์สิ้นเชิง เรียกว่า สมาธิ (ชื่อเต็มว่า อธิจิตตสิกขา) ๓. ฝึกศึกษาพัฒนาแดนปัญญา โดยพัฒนาความรู้ความเข้าใจจนเข้าถึงรู้ทันเห็นประจักษ์แจ้งความจริงของสิ่งทั้งหลาย มีชีวิตที่เป็นอิสระและเป็นอยู่ด้วยปัญญา เรียกว่า ปัญญา (ชื่อเต็มว่า อธิปัญญาสิกขา) ในฐานะที่การศึกษานี้มีองค์ประกอบ ๓ อย่าง จึงเรียกว่า ไตรสิกขา พระพุทธศาสนาถือเรื่องการศึกษาเป็นสำคัญ ถึงกับจัดระบบของพระพุทธศาสนาทั้งหมด ให้เป็นระบบการศึกษา ที่เรียกว่า ไตรสิกขา นี้ ทั้งนี้ สาระสำคัญในที่สุดก็คือ เพื่อช่วยให้มนุษย์เข้าถึงความจริงและก็ปฏิบัติตามหลักความจริง หรือตามกฎความจริงนั้น ให้ความจริงเป็นไปในทางที่เกิดผลดี แก่ชีวิตและสังคมของตน เมื่อพัฒนาชีวิตด้วยไตรสิกขานี้แล้ว ก็จะมีจริยะ คือ การดำเนินชีวิตเป็นอยู่ ทั้งส่วนตน และขยายไปถึงสังคม ที่อยู่กันอย่างถูกต้องดีงาม มีสันติสุขที่ยั่งยืน |
บทความทั้งหมด
|