ตุลาการ ๔ ความหมาย


170สี่ความหมายของ  "ตุลาการ"  ส่องถึงงานสำคัญของผู้พิพากษา


  ถึงตรงนี้  ก็เห็นว่า  น่าจะมองฐานะและภารกิจของผู้พิพากษา  ในแง่ความหมายของถ้อยคำ ที่โยงไปถึงธรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในเชิงปฏิบัติ ในที่นี้ ขอกล่าวไว้ ๔ ความหมาย

  ๑. "ตุลา" แปลว่า เที่ยงตรง คงที่ เท่ากัน สม่ำเสมอ ความหมายนี้มีในพระไตรปิฎก ท่านใช้อธิบายการบำเพ็ญอุเบกขาบารมีของพระพุทธเจ้าว่า พระโพธิสัตว์ถืออุเบกขา ดำรงอยู่ในธรรม โดยมีความสม่ำเสมอ คงที่ เป็นอย่างเดียวกัน ไม่เอนเอียงไหวโอนขึ้นๆลงๆ ไปกับความชอบใจหรือขัดใจ ใครจะนอบนบเคารพไหว้หรือใครจะด่าว่าหยามเหยียด ใครจะบำเรอสุข หรือใครจะก่อทุกข์ให้ เหมือนดังผืนแผ่นดิน ซึ่งไม่ว่าใครจะใส่ฝังของดีมีค่าของสะอาดหรือใครจะเทราดสาดของสกปรกลงไป ก็คงที่สม่ำเสมอทั้งหมด (เช่น ขุ.พุทฺธ.๓๓/๑๘๒/๔๓๒...) ทั้งเป็นกลาง และเป็นเกณฑ์ คือ ไม่เอนเอียง ไม่ตกเป็นฝักฝ่าย ไม่เข้าใคร ออกใคร และถือธรรมดำรงธรรมมีธรรมเป็นมาตรฐานที่จะยึดเป็นแบบหรือใช้ตัดสิน ความหมายนี้ จะเห็นว่าตรงกับเรื่องอุเบกขา

  ๒. "ตุลา" แปลว่า ตาชั่ง ตราชู คันชั่ง ในแง่นี้  งานของผู้พิพากษา คือ การเป็นเครื่องวัด เป็นเกณฑ์วัด หรือเป็นมาตรฐานที่ตัดสินความถูกต้อง หรือเป็นเหมือนผู้ถือ ผู้ยก ผู้ชูคันชั่ง (ภาษาบาลีใช้คำว่า "ตุลาธาร" คือผู้ทรงไว้ซึ่งตุลา) ซึ่งทำหน้าที่ชั่งวัด เบื้องแรกย่อมรู้ความยิ่งหรือหย่อน ขาดหรือเกิน ถูกหรือผิด แล้วก็จะต้องประคองธำรงรักษาให้ตราชั่งเสมอกัน เท่ากัน ให้คันชั่งเที่ยง ตรงแน่ว เสมอกันเป็นนิตย์

   ๓. "ตุลา" แปลว่า ตราชู นี้ ในพระไตรปิฎกบางแห่ง หมายถึง บุคคลที่เป็นตัวแบบ เป็นเกณฑ์วัด หรือเป็นมาตรฐาน (ในข้อก่อน หมายถึงงาน ข้อนี้หมายถึงบุคคล) เช่น พระพุทธเจ้าตรัสถึงพระสาวกในพุทธบริษัททั้ง ๔ (เช่น องฺ.จตุกฺก.๒๑/๑๗๖/๒๒๒) เริ่มด้วยบรรดาภิกษุสาวก ว่ามีพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ เป็นตุลา   ส่วนในหมู่ภิกษุณีสาวิกา ก็มี พระเขมา และพระอุบลวรรณา เป็นตุลา แล้วในหมู่อุบาสกสาวก ก็มีตุลา ๒ คน (จิตตะคฤหบดี และหัตถกาฬวกะ) เช่นเดียวกับในหมู่อุบาสิกาสาวิกา ก็มีอุบาสิกา ๒ คน เป็นตุลา (นางขุขชุตตรา และเวฬุกัณฎกีนันทมารดา)

  ตามความหมายนี้  ผู้พิพากษา ในฐานะตุลาการ เป็นตุลา คือ เป็นตราชู เป็นตัวแบบ เป็นมาตรฐานซึ่งตั้งไว้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ที่คนทั้งหลายจะพึงพัฒนาตน หรือประพฤติปฏิบัติตัวให้เสมอเสมือน คือมีธรรมเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่น จะเรียกว่าเป็นยอดสุดของสังคมก็ได้

  ๔. "ตุลา" นั่นแล ได้มาเป็น "ตุลาการ" ซึ่งแยกศัพท์ได้ ๒ อย่าง คือ เป็น ตุลา+อาการ หรือ ตุลา+การ

  อย่างแรก ตุลา+อาการ แปลว่า ผู้มีอาการดังตุลา หมายความว่า มีความประพฤติ มีการปฏิบัติตัว หรือดำเนินงานทำกิจการเหมือนเป็นตุลา ในความหมายอย่างที่กล่าวแล้ว คือ เหมือนเป็นตราชู ตาชั่ง ที่รักษา ตัดสิน และบอกแจ้งความถูกต้องเที่ยงตรง

  อย่างที่สอง ตุลา+การ แปลว่า ผู้ทำตุลา (ผู้ทำดุล) หรือผู้สร้างตุลา (ผู้สร้างดุล) หมายความว่า เป็นผู้ทำให้เกิดความเท่ากัน เสมอกัน ความลงตัว ความพอดี ความสมดุล หรือดุลยภาพ ซึ่งในที่นี้มุ่งไปที่ความยุติธรรม

  อย่างไรก็ดี ตุลา หรือ ดุล นี้ มีความหมายกว้างออกไปอีก คือ ธรรมนั้น ไม่ว่าจะเป็นความยุติธรรม ความเป็นธรรม ความถูกต้องชอบธรรม หรืออะไรในทำนองนี้ก็ตาม เมื่อยังดำรงอยู่ ยังเป็นไปอยู่ในชีวิต และสังคม ก็จะทำให้มีดุล คือทำให้ชีวิตและสังคมอยู่ในภาวะที่มีความประสานสอดคล้อง ลงตัว พอดี มีดุลยภาพ ซึ่งหมายถึงความมั่นคงมีสันติสุข ผู้พิพากษาเป็นตุลาการ คือเป็นผู้สร้างดุลนี้ให้แก่สังคม

   ตุลา ดุล หรือ ดุลยภาพ นี้ สำคัญอย่างไร เห็นได้ไม่ยากว่า ดุลยภาพนี้แหละ ทำให้มีความมั่นคง และทำให้ดำรงอยู่ได้ยั่งยืน เช่น เราสร้างอาคาร หรือสิ่งก่อสร้างหนึ่งขึ้นมา ถ้าส่วนประกอบทั้งหลายประสานสอดคล้อง เข้ากัน ลงตัว พอดี ที่เรียกว่าได้ดุล ก็จะเป็นหลักประกันในขั้นพื้นฐานว่าอาคารหรือสิ่งก่อสร้างนั้น จะมั่นคงดำรงอยู่ได้ดี แต่ถ้าเสียดุล เช่น แม้จะมีเสาที่แข็งแรงมาก แต่เสานั้นเอนเอียง แค่นี้ อาคาร เป็นต้น นั้น ก็อาจจะพังลงได้ง่ายๆ

  ธรรม ทำให้ทุกอย่างเข้าที่ ลงตัว ได้ดุล หรือมีดุลยภาพ ในเมื่อธรรมนั้นกว้างขวางซับซ้อนนัก แต่ธรรมนั้นก็อยู่ในระบบสัมพันธ์ถึงกันทั้งหมด หลักธรรมต่างๆ ที่ท่านจัดไว้ ก็เป็นระบบย่อยที่โยงต่อไปทั่วถึงกันในระบบรวมใหญ่ เมื่อพูดถึงหลักธรรมสักชุดหนึ่ง ก็จึงโยงถึงกันกับธรรมอื่นได้ทั่วทั้งหมด และในที่นี้  ก็ได้ยกหลักธรรมสำคัญชุดหนึ่งมาเน้นย้ำไว้แล้ว คือ หลักพรหมวิหาร ๔

  หลักพรหมวิหาร ๔ นั้น เป็นระบบแห่งดุลยภาพครบบริบูรณ์อยู่ในตัว เราจะต้องปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมสังคมให้ถูกต้องอย่างได้ดุลตามระบบนั้น ดังที่ได้อธิบายแล้วว่า ยามเขาอยู่ดีเป็นปกติ เราเมตตา ยามเขาทุกข์ เรากรุณา ยามเขาสุขสำเร็จ เรามุทิตา ยามเขาจะต้องรับผิดชอบตามธรรม เราอุเบกขา

  การปฏิบ้ติทางสังคมอย่างถูกต้องครบตามสถานการณ์เหล่านี้ เป็นการรักษาดุลยภาพอยู่ในตัวแล้ว แต่หลักพรหมวิหาร ๔ นี้ ยังเป็นระบบพิเศษที่สร้างดุลยภาพกว้างออกไปอีกชั้นหนึ่งด้วย คือข้อที่ ๔ นอกจากเป็นตัวดุลให้อีกสามข้ออยู่ในภาวะพอดี เป็นระบบดุลยภาพในชุดของมันเองแล้ว มันยังเป็นภาวะได้ดุลหรือภาวะมีดุลยภาพของจิตใจ อันเป็นฐานที่จะสร้างดุลยภาพชีวิต และดุลยภาพของสังคมทั่วทั้งหมดด้วย

  เมื่อพูดให้จำเพาะ จับที่หลักพรหมวิหาร ซึ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาโดยตรง ก็อาจจะให้ความหมายของ "ตุลาการ" ได้อย่างสั้นๆว่า คือ ผู้สร้างดุลให้แก่สังคมด้วยพรหมวิหาร ๔ ประการ

  เมื่อผู้พิพากษา ปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการเต็มตามความหมายทั้ง ๔ ดังที่กล่าวมา ก็ย่อมรักษาธรรม และดำรงสังคมไว้ได้ แต่มิใช่เฉพาะผู้พิพากษาเท่านั้น มนุษย์ทุกคนมีหน้าที่ในการรักษาความดีงามให้แก่สังคม รักษาธรรมไว้ให้แก่สังคม และรักษาสังคมให้ดำรงอยู่ในธรรม เพราะฉะนั้น ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามธรรมนี้ โดยมีผู้พิพากษา คือตุลาการ เป็นตราชู เป็นแบบอย่างให้

  สถานะที่ว่านั้น เท่ากับบอกไว้ในที่นี้ ถึงความสำคัญองผู้พิพากษาคือตุลาการ ว่าเป็นมาตรฐานของสังคม และในเมื่อธรรมเป็นสิ่งสูงสุด เมื่อพิพากษาเป็นผู้ทำหน้าที่รักษาธรรม จะเรียกผู้พิพากษาว่าเป็นบุคคลในระดับยอดสุดของสังคม ก็ย่อมได้

  สังคมนี้จะอยู่ได้ ถ้าตุลาการยังเป็นหลักให้ ถึงแม้สังคมจะเสื่อมลงไปแค่ไหนๆ ถ้าตุลาการยังมั่นอยู่ ถึงอย่างไร ก็ยังมีความหวัง แต่ถ้าที่มั่นนี้หมดไป สังคมก็ล่มสลายแน่ เพราะฉะนั้น จึงต้องช่วยกันรักษาไว้

  ในที่สุดก็เป็นการย้ำถึงสถานะของผู้พิพากษาตุลาการ ที่ท่านเป็นบุคคลที่เรียกว่าสำคัญสุดยอดในสังคมที่จะต้องเป็นแบบอย่างดังที่ บอกแล้วว่า เราเรียกว่าตราชู

  ในสังคมทุกยุคทุกสมัย จะต้องมีตุลา และเราก็ได้นำเอาคำนี้มาใช้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ก็จะต้องทำให้สมจริง ดังที่เรามีตุลาการอยู่ และก็ขอให้เรามีต่อไป

  ขอให้ตุลาการ อยู่ยั่งยืนนาน ยั่งยืนทั้งในสถานะแห่งระบบการและยั่งยืนด้วยหลักการ คือ ธรรมที่ทำให้เกิดความเป็นตุลาการทีแท้จริง



  เป็นอันว่า วันนี้ ที่ได้พูดมา ในที่สุดก็เป็นการย้ำถึงสถานะของผู้พิพากษาตุลาการ ที่ท่านเป็นบุคคลที่เรียกว่าสำคัญสุดยอดในสังคม ที่จะต้องเป็นแบบอย่างดังที่บอกแล้วว่า เราเรียกว่าตราชู

  ในสังคมทุกยุคทุกสมัย จะต้องมีตุลา และเราก็ได้นำเอาคำนี้มาใช้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ก็จะต้องทำให้สมจริง ดังที่เรามีตุลาการอยู่ และก็ขอให้เรามีต่อไป

  ขอให้ตุลาการ อยู่ยั่งยืนนาน ยั่งยืนทั้งในสถานะแห่งระบบการและยั่งยืนด้วยหลักการ คือ ธรรมที่ทำให้เกิดความเป็นตุลาการทีแท้จริง

  อาตมภาพขออนุโมทนาคุณหญิง และท่านผู้พิพากษา พร้อมด้วยทุกท่านที่อยู่ในวงการตุลาการ ตลอดจนญาติโยมผู้สนใจใฝ่ธรรมทุกท่าน  ขออนุโมทนาน้ำใจของท่านที่มีต่อท่านองคมนตรีผู้ล่วงลับ ในฐานะที่เป็นท่านประธานศาลฎีกา   ผู้ได้ทำคุณประโยชน์ไว้ให้แก่ประชาติสังคม และวงการตุลาการ ด้วยการเจริญคุณธรรมเป็นแบบอย่าง

ฯลฯ

  ขอให้มีความร่มเย็นงอกงามในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีกำลังที่จะแผ่ขยายประโยชน์สุขไปให้แก่ประเทศชาติสังคม และชาวโลก ตลอดกาลยั่งยืนนาน ทุกเมื่อ เทอญ.

 



Create Date : 04 พฤศจิกายน 2564
Last Update : 4 พฤศจิกายน 2564 11:29:14 น.
Counter : 434 Pageviews.

0 comments
봄 처녀(Virgin spring) by 홍난파(NanPa Hong) ปรศุราม
(17 เม.ย. 2567 10:09:12 น.)
: รูปแบบของการค้นพบตนเอง : กะว่าก๋า
(16 เม.ย. 2567 06:05:58 น.)
เติมให้ความมี เติมให้ความไม่มี ปัญญา Dh
(14 เม.ย. 2567 20:54:29 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 35 : กะว่าก๋า
(13 เม.ย. 2567 05:51:40 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Samathijit.BlogGang.com

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]

บทความทั้งหมด