พรหมวิหาร หลักประกันสันติสุข


170หลักประกันสันติสุข อยู่ที่พรหมวิหาร ตั้งแต่เลี้ยงดูลูกในบ้าน จนถึงอภิบาลคนทั้งโลก


   พรหมวิหาร ๓ ข้อแรก เป็นความดีที่ว่า ถ้าไม่คุมให้ดี อาจจะพาคลาดเคลื่อนจากความจริงและความถูกต้องไปได้ แม้แต่พ่อแม่ก็พลาดกันบ่อย เริ่มตั้งแต่ข้อแรก พ่อแม่มีเมตตามากจนเสียดุล ไม่รู้จักอุเบกขา เลยเลี้ยงลูกเสียคนไปก็มี

  ท่านให้มีเมตตาไว้ เพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีงาม เมตตาอันเป็นความรู้สึกที่ดีนี้แผ่กระจายออกไปยังลูกๆ เมื่อลูกได้รับความรู้สึกที่ดี ก็มีความประทับใจ และมีความรู้สึกที่ดีมีเมตตาเกิดขึ้นด้วย ใจก็โน้มไปในทางดีที่จะมีเมตตาต่อคนอื่นขยายออกไป ตั้งแต่รักพี่น้องและญาติทั้งหลาย เมตตาแผ่ขยายออกไปเรื่อยๆ ความเป็นมิตรมีความปรารถนาดีต่อกันในสังคมมนุษย์ก็แผ่ขยายออกไปด้วยการเริ่มต้นที่พ่อแม่

  แต่ทีนี้ พ่อแม่ปฏิบัติผิด มีแต่เมตตากรุณา จนกลายเป็นเอาใจลูกตามใจลูก เมตตากรุณามากไป เสร็จแล้ว แทนที่ลูกจะมีเมตตาต่อผู้อื่นขยายออกไป เรื่องตีกลับกลายเป็นว่า เขาเคยตัวกับการที่จะได้รับการเอาใจตามใจ คราวนี้เอาใจตามใจเท่าไรก็ไม่พอ เขาเดินหน้าไปสู่การเรียกร้อง แทนที่ว่าเราใส่ใจเขา แล้วเขาจะใส่ใจเราและใส่ใจคนอื่นต่อๆไป กลับกลายเป็นว่า เราเอาใจเขา แล้วเขาก็เอาแต่ใจเขา

  พอเริ่มผิดทาง เขาเอาแต่ใจตัวเขาเองแล้ว เขาก็ก้าวต่อไปกลายเป็นนักเรียกร้อง ทีนี้ เขาก็ไม่เมตตาคนอื่นแล้ว แต่ตรงข้าม คราวนี้ เขามีโทสะง่าย ไม่ได้อะไร ใครไม่ตามใจนิดหน่อย ก็หงุดหงิด โกรธเคือง เป็นคนโทสะแรงไปเลย การปฏิบัติธรรมเสียหลัก ผิดวัตถุประสงค์ไปหมด

  เพราะเหตุที่ว่านั้น ท่านจึงให้มีอุเบกขาไว้ดูและและคุมความพอดี พ่อแม่เลี้ยงลูก พอมีอุเบกขาคุม เมตตาก็จะไม่พาไปไถลเลยเถิด แต่อุเบกขาจะดูไปด้วยว่า เออที่เราทำนี่ถูกต้องแน่หรือ

  ความถูกต้องจะอยู่ได้ด้วยมีอุเบกขาคุมไว้ โดยปัญญาจะบอกให้ว่า เออ ลูกนี่ ต้องมีความถูกต้อง ต้องอยู่ในความเป็นธรรมด้วย นอกจากนั้น เราไม่ได้อยู่กับเขาตลอดไปนะ เราจะอยู่ทำให้เขาตลอดเวลาข้างหน้าไม่ได้ ต่อไป เขาจะต้องรับผิดชอบตัวเอง ต้องทำด้วยตัวเขาเอง เรื่องนี้ๆ ถ้าเขายังทำไม่ถูกต้องทำไม่เป็น แล้วต่อไป เมื่อถึงเวลาเขาจะต้องรับผิดชอบตัวเองแล้วทำไม่ถูกทำไม่เป็น เขาจะอยู่ได้อย่างไร ตอนนั้น เขาจะไม่มีเราอยู่ด้วยแล้ว เขาจะอยู่ได้อย่างไร

  เมตตาพาคนดีมีน้ำใจให้มาเอื้อเฟื้อเกื้อหนุน ส่วนอุเบกขาก็พาเอาปัญญามานำไปหาธรรมที่จะรักษาความถูกต้องและพอดี

  ถึงตอนนี้ อุเบกขาซึ่งประกอบด้วยปัญญา ก็จะบอกพ่อแม่ว่า เออ ถ้าอย่างนั้น เราต้องเตรียมเขาให้พร้อมไว้นะ จะทำอย่างไรล่ะ อ๋อ ตอนนี้ ก็คือโอกาสีที่เขาจะได้ฝึกตัวโดยมีพ่อแม่คอยช่วยเป็นที่ปรึกษาให้ นี่คือ โอกาสทอง อย่าให้พลาดไปเสีย เอาละ เริ่มฝึกกันเลย

  นี่คือ ท่านให้อุเบกขาไว้เพื่อจะมารักษาดุลว่า ชะลอๆ หยุดบ้างนะ อย่าทำให้ลูกอย่างเดียว แต่ดูให้ลูกทำด้วย พอมีอุเบกขา ก็คือดูว่า เออ ต่อไปลูกเราจะต้องทำอะไรเป็นบ้าง ควรจะเก่งในเรื่องอะไร แล้วก็เตรียมเลย ให้เขาฝึกหัดทำ โดยเราเป็นที่ปรึกษา

  “อุเบกขา”  แปลว่า  ดูอยู่ใกล้ๆ   (อุป+อิกข = อุเบกขา)  หรือคอยมองดูอยู่ ตอนนี้ เราอยู่ด้วย ก็เป็นโอกาสดี เพราะต่อไป ถ้าเขาไปทำเองฝึกเอง ไม่มีผู้ที่จะเป็นที่ปรึกษา ไม่มีใครช่วยแนะนำ เขาก็ทำยากลำบาก และไม่สมบูรณ์ เราก็ให้เขาฝึกโดยเราคอยดูอยู่ เป็นที่ปรึกษาและช่วยแก้ช่วยเติม เขายังทำไม่เป็น ถ้าเขาทำไม่ถูก ทำไม่ได้ผลดี ทำติดขัด เราก็จะได้ช่วยแนะนำบอกให้ เมื่อลูกได้ฝึกได้หัดทำเอง ก็จะทำให้ลูกเก่งจริงๆ แล้วก็ฝึกกันในบรรยากาศแห่งความรักด้วย

  ตอนนี้มีครบหมด ทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ใช้ครบในตอนที่ลูกฝึกตัวนี่แหละ เป็นการศึกษาอย่างแท้เลยทีเดียว แล้วลูกก็จะเก่ง จะดี มีความสุขความสามารถจนเป็นที่น่าพอใจ

  จึงต้องบอกว่า ความเป็นพ่อแม่จะสมบูรณ์ต่อเมื่อมีอุเบกขา ถ้ามีแต่เมตตา กรุณา มุทิตา ก็ได้ด้านความรู้สึกอย่างเดียว เสี่ยงต่อการที่ลูกจะอ่อนแอ ยิ่งสุดโต่งไปเอาใจกันนัก ก็ไม่ไปไหน ดีไม่ดีแม้แต่ด้านจิตใจก็จะพลอยเสียไปด้วย แทนที่ลูกจะมีเมตตา กรุณา มุทิตา ก็กลับกลายเป็นคนเอาแต่ใจ เอาใจยาก หรือเจ้าโทสะไปเลย

  แต่ถ้ามีอุเบกขาด้วย ลูกก็ได้ทั้งจิตใจดีงาม ทั้งมีปัญญา ได้ฝึกตัวดีมีความสามารถ ครบเลย ทั้งเก่ง ทั้งดี แล้วก็มีความสุข

  รวมแล้ว ตั้งแต่ในครอบครัวออกไปจนถึงสังคมใหญ่ ในหมู่คน ชุมชน องค์กร วงงาน กิจการทั้งหลาย จะร่วมอยู่ร่วมงานกันดี ก็ต้องมีพรหมวิหารครบทั้งสี่ประการ

 ก็บรรดาสมาชิก คือผู้เป็นส่วนร่วม หรือเป็นองค์ประกอบของสังคม ทุกคนปฏิบัติต่อกันถูกต้องตามสถานการณ์ สังคมก็คงอยู่ได้ในดุล และสงบสุขมั่นคง

173โดยเฉพาะผู้พิพากษานี้   เป็นผู้มีหน้าที่ผดุงสังคมในวงกว้างระดับประเทศชาติ  เป็นผู้ทำให้กฎหมายมีผลชัดเจนเด็ดขาดขึ้นมา ก็จึงต้องใช้อุเบกขาเป็นตัวคุมสำคัญที่สุด เพื่อรักษาธรรมไว้ให้แก่สังคม ไม่ว่าจะเรียกว่า ความเป็นธรรม ความยุติธรรม ความชอบธรรม หรืออะไรธรรม ก็คือธรรมนั่นแหละ ต้องมีอุเบกขาเป็นตัวยืนที่จะรักษา  แต่ก็ไม่ปราศจากเมตตา กรุณา มุทิตา อย่างที่ว่าแล้ว

 นี่แหละคือหลักธรรมสำคัญ สำหรับประจำจิตใจของผู้พิพากษา เป็นอันว่ามีพรหมวิหารครบ ๔ โดยมีอุเบกขาเป็นตัวคุม หรือตั้งไว้เป็นหลักเป็นแกนที่จะคุม

 ตามที่ว่านี้ กลายเป็นว่า อุเบกขานี้ เหมือนจะสำคัญยิ่งกว่าเมตตา กรุณา มุทิตา แต่จะต้องเข้าใจความหมายให้ถูกต้อง

 ในสังคมไทยเรานี้ นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ที่คนทั่วไป หรือส่วนใหญ่ทีเดียว ไม่มีความเข้าใจ หรือมักเข้าใจผิดในเรื่องอุเบกขาแล้วก็ไม่เฉพาะอุเบกขาเท่านั้น  แต่เข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนมากบ้างน้อยบ้างทั้ง ๔ ข้อเลย จึงน่าจะย้ำเตือนกันให้หนักว่า เมื่อเราพูดถึงอะไร จะต้องมีความรู้ความเข้าใจชัดเจนในเรื่องนั้น

172 171 173

เมตตาที่แท้จริง จะเป็นไปในแบบที่ว่า

    "พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงมีจิตใจเสมอกัน ทั้งต่อนายขมังธนู ต่อพระเทวทัต ต่อโจรองคุลิมาล ต่อช้างธนบาลและต่อพระราหุล ทั่วทุกคน"   (ขุ.อป.32/8/68 ฯลฯ)

     เมตตาจิตไม่ใช่เรื่องง่ายเลย  ยิ่งเป็นฝ่ายเราฝ่ายเขา  ลูกเขาลูกเราด้วยหินสุดๆ  ตัวอย่างเช่น ลูกเรากับลูกคนอื่นตีรันฟันแทงกัน  เราๆท่านๆจะพูดว่าลูกฉันเป็นคนดี  ลูกของฉันก็คนดีนะ   



Create Date : 02 พฤศจิกายน 2564
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2564 16:39:24 น.
Counter : 404 Pageviews.

0 comments
: รูปแบบของอดีตกาล : กะว่าก๋า
(1 พ.ค. 2567 05:54:25 น.)
: รูปแบบของความปรารถนา : กะว่าก๋า
(29 เม.ย. 2567 05:52:35 น.)
: รูปแบบของการครอบครอง : กะว่าก๋า
(28 เม.ย. 2567 06:02:47 น.)
: รูปแบบของความลวง : กะว่าก๋า
(25 เม.ย. 2567 03:38:29 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Samathijit.BlogGang.com

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]

บทความทั้งหมด