ถ้ารู้เข้าใจ อนิจจัง ผิด ก็ยุ่ง


170รู้อะไรก็ต้องเข้าใจทั่วตลอดคมชัด จึงจะมีความเข้มแข็งทางปัญญา ที่นำพาสังคมให้ก้าวไปได้มั่นคง


  อีกอาจารย์หนึ่ง   ตอนนี้ท่านเป็นผู้ใหญ่แล้ว ไม่ต้องออกชื่อละ ท่านทำงานวิจัยขึ้นมาชิ้นหนึ่ง นานเป็นสิบปีแล้ว ท่านบอกว่า  คนไทยอีสานนี้มีชีวิตแบบอยู่ไปวันหนึ่งๆ เพราะถือหลักอนิจจังของพุทธศาสนา คือ หลักอนิจจังนั้นสอนว่าอะไรต่ออะไรมันก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนแปลงไป มันเจริญ เดี๋ยวมันก็เสื่อม มันเสื่อม เดี๋ยวมันก็เจริญ เราจะทำอย่างไรได้ ทำไปมันก็เปลี่ยน เราก็อยู่เรื่อยๆ ต้องปล่อยมันไป

  นี่ ถ้าคนไหนไม่รู้หลักอนิจจังชัดเจนพอ ก็ชักจะเห็นคล้อยไปตาม ว่า เออ มันคงจะจริงอย่างนั้นนะ ก็คนไทยนี่ถือหลักอนิจจัง แล้วก็ชอบปลงว่าอะไรมันเจริญ มันก็ต้องเสื่อม มันก็เป็นอย่างนี้แหละ แล้วก็เลยไม่ขวนขวาย ไม่เอาการเอางาน ทำอะไรก็ไม่จริงไม่จัง

  สำหรับอาจารย์ท่านนี้  ก็ทำนองเดียวกับ Prot. Sutton นั่นแหละ คือจับเอาความเข้าใจของชาวบ้านมาเป็นหลักพุทธศาสนา แทนที่จะแยกออกไปว่าชาวบ้านนับถืออย่างนี้ แต่นั่นไม่ตรงไม่เต็มตามหลักนะ ถ้าจับจุดนี้ได้ ก็ย้อนกลับ เอาหลักที่แท้กลับไปบอกชาวบ้าน ว่าพวกคุณนับถือคลาดเคลื่อนไปแล้ว ให้รีบศึกษาหลักที่ถูกต้อง ปรับแก้ความรู้เข้าใจ และการปฏิบัติเสียใหม่ ถ้าทำอย่างนี้ ก็จะใช้วิชาการมาช่วยสังคมไทยได้มาก

  อนิจจังนี่ ถ้ารู้เข้าใจใช้ผิด ก็ยุ่งเหมือนกัน  ฉะนั้น  จะต้องสอนกันให้เต็มที่ พระพุทธศาสนานี้อยู่ได้ด้วยการศึกษา  ถ้าไม่ศึกษาก็หมดเลย  จะตามกันไปผิดๆ ถือผิด ปฏิบัติผิด แล้วก็อาจจะทำให้สังคมเสื่อมโทรม และชีวิตก็เสียหาย

  พูดง่ายๆ หลักอนิจจังสอนว่า สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไป ไม่แน่นอน เสื่อมแล้วเจริญได้ เจริญแล้วเสื่อมได้  ทีนี้  จุดสำคัญอยู่ตรงที่ว่า  แต่ที่มันเปลี่ยนแปลงเจริญหรือเสื่อมไปนั้น  มันไม่ได้เป็นไปอย่างเรื่อยเปื่อยเลื่อนลอยนะ  มันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย  เพราะฉะนั้น  จึงมิใช่ว่าเราทำอะไรไม่ได้  แต่เรานี้แหละทำได้มากที่สุด


   เมื่อมันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย   ก็คือมันบอกเราว่า  ให้ใช้ปัญญาพิจารณาสืบค้นดู เหตุปัจจัยอะไรจะทำให้เสื่อม เหตุปัจจัยอะไรจะทำให้เจริญ แล้วถ้าเราไม่อยากเสื่อม และอยากเจริญ เราไปศึกษา เหตุปัจจัยเหล่านั้นแล้ว ก็ทำ เหตุปัจจัยที่ทำให้เจริญ และป้องกันแก้ไขเหตุปัจจัยที่ทำให้เสื่อม เราก็จะได้ความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เจริญ

  ที่สำคัญยิ่งก็คือ  เมื่อสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไป  ไม่แน่นอน  ท่านจึงให้ไม่นิ่งนอนใจ ให้อยู่อย่างไม่ประมาท เร่งประกอบ เหตุปัจจัยแห่งความเจริญ และป้องกันกำจัด เหตุปัจจัยแห่งความเสื่อม

  พระพุทธเจ้าถึงกับตรัสธรรมะที่เป็นหลักประกันว่า   ถ้าเธอทำอย่างนี้ๆ จะมีแต่เจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเลย   ทำไมพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าปฏิบัติหลักธรรมนี้แล้ว  เจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเลย เอ๊ะ ไม่ขัดกันหรือกับที่ตรัสว่า  สิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง   เดี๋ยวจะหาว่าพระพุทธเจ้าตรัสธรรมะขัดกัน เอาอีกแล้ว ดูมันยุ่งไปหมด  นี่ก็เพราะไม่ศึกษา ที่จริงนั้นมันหนุนกัน

  อนิจจังนี่แหละหนุนความไม่เสื่อม  (เท่าที่เราจะทำเหตุปัจจัยได้)  ถ้าไม่เข้าใจหลักกันทะลุจริง ก็ยุ่งแน่ ฉะนั้น ต้องพูดกันตรงๆ ว่า ชาวพุทธนี้ขาดการศึกษาอย่างหนัก พระพุทธศาสนานี่อยู่ได้ด้วยการศึกษาเท่านั้น ถ้าไม่มีปัญญารู้เข้าใจ ก็ปฏิบัติไม่ถูก เริ่มตั้งแต่เข้าใจผิด แล้วก็เชื่อผิด แล้วก็ปฏิบัติผิด พุทธศาสนาก็หมด มีแต่ชื่อ

  ตำราเรียนสังคมวิทยา ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ไม่ต้องออกชื่อ เขียนบอกว่า บทบาทของพระก็เหมือนหมอผี อ้าว....เป็นอย่างไรล่ะ   หมอผีก็ดี   ศาสนาก็ดี   มีไว้สำหรับเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เวลามีทุกข์มีภัย ก็ได้ปลอบประโลมใจ  (อย่างหมอผีนี่ เวลามีทุกข์ ก็ว่าผีมันมาเข้า ฉันจะไล่ผีออก ก็สบายใจไปใช่ไหม)  พระก็มีบทบาทช่วยปลอบประโลมใจให้คนสบายใจ เหมือนหมอผีนั่นแหละ อย่างนี้เป็นต้น

  (ที่ว่าบทบาทเหมือนหมอผี ก็คือศาสนาโบราณ แต่พุทธศาสนาไม่ใช่มีสาระอยู่ที่ปลอบประโลมใจ แต่อยู่ที่การศึกษาพัฒนามนุษย์ให้เป็นอิสระเหนือการที่จะต้องปลอบ)

   นี่คือตัวอย่างมากมายของความขาดการศึกษา แล้วรู้เข้าใจธรรมกันไม่เพียงพอ ไม่ถูกต้อง สับสน อย่างพรหมวิหารที่ว่ากันวุ่นวายไป และเมื่อเข้าใจผิดพลาด ก็ทำให้เกิดผลร้ายด้วย ฉะนั้น เขามาว่ามาด่านี่ ดีแล้ว ต้องเอาประโยชน์ให้ได้ อย่างที่ว่าแล้ว กว่าเขาจะมาด่าเราได้ เขาใช้เวลาและพลังงานสมองไปเยอะแยะ ทุ่นเวลาทุ่นแรงงานของเราไปมากมาย ถ้าไม่มีใครมาว่า บางทีเราก็ดูตัวเราเองไม่ออก เขาจะว่าถูกว่าผิด อันไหนใช้ประโยชน์ได้ เราก็เอามาใช้ซะ ก็กลายเป็นดีไปหมด

  เพราะฉะนั้น ถ้านับถือพระพุทธศาสนาถูกต้องแล้ว หนึ่ง ต้องได้ความจริง สอง ต้องได้ประโยชน์ พอประสบพบเจออะไรอะไร ก็ได้เรียนรู้ แล้วก็ได้สองอย่างที่ว่าแล้วนั้น คือ หนึ่ง ได้ความจริง สอง ถ้าไม่จำเป็นต้องหาความจริง ก็ได้ประโยชน์   มองให้เป็นประโยชน์ให้ได้ ก็เลยไม่เกิดผลเสียอะไรทั้งนั้น ไม่ว่าอะไรร้ายแค่ไหน  ต้องเอาประโยชน์ให้ได้ทุกอย่าง อันนี้ เป็นการฝึกตัวเอง

  แม้แต่ไปเจอสถานการณ์ร้ายอะไร   ก็ต้องฝึกตัวไว้ว่า   เราจะมองอย่างไร ให้ได้ประโยชน์ให้ได้ ให้มันได้สักแง่หนึ่ง และนี่ก็เป็นการฝึกปัญญา ด้วยหลักโยนิโสมนสิการ ซึ่งใช้กับงานทุกอย่างได้หมด.

172 170 173

ยุ่งเหมือนกัน

https://f.ptcdn.info/320/075/000/r1vkdhfuiYHVGby03l3-o.png

 



Create Date : 02 พฤศจิกายน 2564
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2564 16:44:48 น.
Counter : 491 Pageviews.

0 comments
: หยดน้ำในมหาสมุทร 33 : กะว่าก๋า
(11 เม.ย. 2567 05:15:42 น.)
Day..10 โฮมสเตย์ริมน้ำ
(11 เม.ย. 2567 08:25:45 น.)
ได้คะแนน ปัญญา Dh
(7 เม.ย. 2567 12:52:45 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 26 : กะว่าก๋า
(3 เม.ย. 2567 05:14:00 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Samathijit.BlogGang.com

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]

บทความทั้งหมด