ปัญญาต้องรู้ชัด เจตนาตั้งไว้ถูก



170ปัญญาก็ต้องรู้ชัดแจ้งตรงความจริง  เจตนาก็ต้องตั้งถูกต้องตรงความดี

   กลับไปพูดเรื่องการที่มนุษย์จะบัญญัติจัดตั้งวางระบบชีวิต และสังคมของตนให้ได้ผลดี รวมแล้ว มีข้อสำคัญ ๒ อย่าง คือ

  ๑. ปัญญา ที่รู้จริง คือ ต้องมีปัญญารู้เข้าใจความจริงของธรรมชาติ รู้ธรรมชาติตามที่มันเป็นของมัน หรือรู้สิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น อันเป็นความรู้ขั้นที่ ่๑ เรียกสั้นๆว่า รู้ธรรม

  ๒. ปัญญา ที่รู้จัด คือ ปัญญา ที่ทำให้สามารถนำเอาความรู้ในความจริงของธรรมชาตินั้น มาดำเนินการจัดสรรสังคมมนุษย์ ตั้งต้นแต่การดำเนินชีวิต ให้ได้ผลดี ด้วยการบัญญัติจัดตั้งวางกฎกติกาบนฐานแห่งความจริงของธรรมชาตินั้น เป็นความรู้ขั้นที่ ่๒ ที่อาศัยปัญญา เรียกสั้นๆว่า รู้วินัย

   พระพุทธเจ้าที่ทรงเป็นบุคคลพิเศษ ก็เพราะมีปัญญาทั้ง ๒ ด้าน เชื่อมต่อโยงทอดกันเป็น ๒ ขั้น คือ

  ๑. มีปัญญา  รู้สภาวธรรม (หรือสัจธรรม) คือความจริงของธรรมชาติ หรือความจริงที่ดำรงอยู่ตาม  ธรรมดา

  ๒. มีปัญญา รู้วินัยบัญญัติ (หรือบัญญัติธรรม) คือรู้จักบัญญัติ จัดตั้งวางระเบียบระบบต่างๆ ที่จะช่วยให้คนอื่น หรือให้หมู่ชนจำนวนมาก พัฒนาชีวิตพัฒนาตัวขึ้นมาจนเข้าถึงความจริงแห่งธรรมเหมือนกับพระองค์ได้ เช่น ตั้งสังฆะ บัญญัติวินัย ให้มีวัด วางระบบการฝึกการศึกษาสั่งสอนเผยแผ่ธรรมให้ได้ผล

  เมื่อมีปัญญาความรู้ความสามารถครบทั้ง ๒ ขั้นนี้ จึงเป็นพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า สัมมาสัมพุทธได้

  ถ้ามีแค่ปัญญารู้ความจริงของธรรมชาติ รู้แล้วก็เกิดผลต่อตนเอง คือรู้เข้าใจความจริง ทำให้จิตใจของตนหยุดพ้นเป็นอิสระ แต่ขาดความสามารถที่จะไปสอนคนอื่น ที่จะไปจัดตั้งวางแบบแผนจัดสรรชุมชนให้คนหมู่ใหญ่ได้ประโยชน์ด้วย ได้ประโยชน์เฉพาะแก่ตัวเอง ก็เรียกว่าเป็นพระปัจเจกพุทธะ

  การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีปัญญา ๒ ระดับ คือ ระดับรู้ธรรมกับระดับบัญญัติวินัยนี้ เป็นเครื่องเตือนใจมนุษย์อย่างที่กล่าวแล้วว่าขั้นแรก เราจะต้องพยายามเข้าถึงความจริงของธรรมชาติอยู่เสมอ มิฉะนั้น การจัดตั้งวางระบบระเบียบแบบแผนในสังคมมนุษย์ ก็จะไม่สอดคล้องเข้ากันกับความจริงของธรรมชาติ ซึ่งก็คือรวมไปถึงความจริงที่เป็นไปในชีวิตและสังคมของเราเองด้วย แล้วการบัญญัติจัดตั้งนั้นก็จะเอาคืนแท้จริงไปได้

  อย่างไรก็ตาม   คนเรานี้  เมื่อจะทำอะไรก็ตาม  ไม่ใช่จะมีเพียงความรู้ที่ใช้ในการทำการนั้นเท่านั้น แต่เรามีความคำนึงถึงจุดหมายที่ตนต้องการและ "ตั้งใจ" ที่จะให้การกระทำของตนเกิดผลลุถึงจุดหมายนั้นด้วย

   สำหรับท่านที่มีปัญญา เข้าถึงความจริงถ่องแท้ และมีปัญญารู้ว่าควรหรือจะต้องทำอะไรให้เป็นอย่างไร และจะเป็นอย่างนั้นได้อย่างไรแล้ว ใจก็เพียงตั้งไปตามความรู้นั้น ทำเหตุปัจจัยที่ความรู้บอกให้ตรงไปตรงมา ความตั้งใจก็จึงไม่มีบทบาทพิเศษอะไร

  แต่สำหรับมนุษย์ทั่วไป   ที่เรียกว่าปุถุชนนั้น   นอกจากปัญหาว่า  เขามีปัญญาที่รู้ความจริงถ่องแท้หรือไม่แล้ว  ก็ยังมีปัญหาที่ความตั้งใจอีกด้วย โดยเฉพาะปัญหาที่ความตั้งใจนี้แหละมักเป็นเรื่องใหญ่ยิ่ง จนบางทีทำให้ลืมมองเรื่องความรู้ไปเลย ทั้งที่ตัวแท้ของเรื่องมีแต่ปัญญาเท่านั้น

  ปัญหาเกี่ยวกับความ "ตั้งใจ" ของปุถุชนนั้น โยงไปถึงปัญหาความต้องการ คือ เขามีความต้องของเขาเอง อาจจะเป็นความต้องการเพื่อตัวเขาเองบ้าง เพื่อคนหรือเพื่อพวกของเขาบ้าง เพื่อข้ามเพื่อขัดหรือกั้นคนอื่นพวกอื่นบ้าง เป็นต้น ซึ่งทำให้เขาตั้งใจทำการไปเป็นไปตามความต้องการนั้น ดีบ้าง ร้ายบ้าง ไม่ใช่แค่ตรงไปตรงมาตามความรู้

  ความ "ตั้งใจ" ของคนทั่วไปนี้  มีชื่อเฉพาะว่า เจตนา หรือเจตจำนง การกระทำของมนุษย์ทั้งหลาย ก็มาจากเจตนา และรวมศูนย์อยู่ที่เจตนานี้แหละ

  การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนานั้น ท่านเรียกว่า "กรรม"

  จะเป็นกรรมที่ออกมาทางกาย หรือพูดออกมาทางวาจาก็ตาม ก็เริ่มต้นด้วยการคิดข้างในใจ โดยมีความตั้งใจที่เรียกว่าเจตนานี้ ดังนั้น เมื่อเรียกแบบรวมตลอดทั้งกระบวน ก็บอกว่า เจตนานั่นเอง เป็นกรรม

   กรรมหรือลึกลงไปคือเจตนานี้ เป็นธรรมชาติหน่วยสำคัญในตัวมนุษย์ เป็นปัจจัยตัวแปรที่มนุษย์นำตัวเข้าไปร่วมผันแผกกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยในธรรมชาติทั้งหมด

  ถึงตอนนี้ เมื่อพูดถึงกระบวนการบัญญัติจัดตั้งในสังคมมนุษย์และกล่าวถึงองค์ประกอบที่ เกี่ยวข้องให้ครบ ก็จึงต้องพูดว่า มี ๒ อย่าง คือ

๑. ปัญญา ที่รู้เข้าใจเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ แยกเป็น ๒ ขั้น

    ก) ปัญญา ที่รู้จริง (หรือรู้แจ้ง) หยั่งเห็นธรรมชาติตามที่มันเป็นจริง เช่น ระบบและกระบวนความเป็นไปแห่งเหตุปัจจัยในสิ่งทั้งหลาย

    ข) ปัญญา ที่รู้จัด มองเห็นว่าจะจัดสรรดำเนินให้ระบบ และกระบวนแห่งปัจจยาการนั้น เป็นไปในทางที่จะเกิดผลดี เป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมมนุษย์นี้ ได้อย่างไร

๒. เจตนา คือ ความตั้งใจในการกระทำ ที่จะให้เป็นไปเพื่อผลที่พึงเกิดพึงมีพึงเป็นตามที่ปัญญารู้ตรงไปตรงมา อย่างบริสุทธิ์ หรือเพื่อสนองความต้องการของตน ที่ดีหรือร้าย อย่างใดอย่างหนึ่ง

    พึงระลึกไว้เสมอว่า ในชีวิตประจำวันและสังคมมนุษย์นี้ เจตนาเป็นเจ้าบทบาทใหญ่ โดยมนุษย์ คือ โลกแห่งเจตจำนง และเป็นไปตามกระบวนของเตจำนง คือ กรรม

   เจตจำนงเป็นแกนนำของอารยธรรม   มนุษย์สร้างอารยธรรมทั้งหมดขึ้นด้วยเจตจำนง หรือพูดให้เต็มว่า เจตนาอาศัยปัญญาสร้างอารยธรรมขึ้นมา (คำพระว่า โลกอันจิตนำไป เป็นไปตามกรรม)

   เจตนาหรือเจตจำนงนั้นกำกับ  และครอบคลุมเรื่องจริยธรรม (ที่จะพูดต่อไป) และเรื่องบัญญัติธรรมทั้งหมด

   จะต้องตระหนักไว้อย่างแม่นใจว่า เจตจำนงหรือเจตนานี้  ก็เป็นธรรมชาตินั่นเอง มันเป็นธรรมชาติในตัวมนุษย์ เช่นเดียวกับปัญญา เป็นต้น ทีพามนุษย์เข้าไปเป็นส่วนร่วมอันสำคัญในปัจจยาการ คือ กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยในธรรมชาติ

เอาละเป็นอันว่า เมื่อมองไปที่พระพุทธเจ้า  เราได้หลักใหญ่ คือ

๑. มีปัญญา ที่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ

๒. มีปัญญา ที่จะจัดตั้งจัดการให้มนุษย์ได้รับผลดี บนฐานของความเป็นจริงนั้น

   จะต้องพยายามให้การกระทำของเราสำเร็จผล ด้วยปัญญาสองขั้น ที่บริสุทธิ์ตรงไปตรงมาอย่างนี้


   เป็นธรรมดาว่า   มนุษย์ที่ดำเนินชีวิตและทำการทางสังคมกันอยู่นี้ ก็ต้องทำต้องดำเนินไปตามความจริงของกฎธรรมชาติ ในเรื่องเหตุปัจจัยต่างๆเหล่านี้ทั้งนั้น แต่จะทำด้วยความรู้ ตรงความจริง (ตรงธรรม) หรือไม่ แล้วก็ได้ผลหรือไม่ได้ผลไปตามเหตุปัจจัยเท่าที่รู้และทำหรือไม่ทำอย่างไรนั้น

   ถ้ารู้ธรรม (รู้ความจริง) ชัดเจนสว่างแจ้ง  ก็รู้ว่าอย่างไรดีงามเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ชีวิต และสังคมแท้จริง  ก็ทำตามเจตนาให้ตรงที่จะเกิดผลดีนั้น

  ถ้าไม่รู้หรือรู้ไม่พอ ก็ทำไม่ได้ตรงความจริง (ตรงธรรม) หรือพอจะรู้ แต่ตั้งใจ (เจตนา) ทำไม่ให้ตรงที่จะดี ก็เลยทำไม่ตรงความจริง คือ ไม่ตรงธรรม

 



Create Date : 22 ตุลาคม 2564
Last Update : 22 ตุลาคม 2564 17:37:26 น.
Counter : 439 Pageviews.

0 comments
ทรัพย์จะไปทำอะไรดี Turtle Came to See Me
(25 มิ.ย. 2568 09:06:42 น.)
อำนาจของพุทโธ นาฬิกาสีชมพู
(23 มิ.ย. 2568 19:24:08 น.)
ไม่เปลี่ยนใจ ไม่โลภ รู้จักพอ แทนคุณ การอยู่ ทำผิด ความถูก ความดี ปัญญา Dh
(2 ก.ค. 2568 07:37:44 น.)
19 มิย 68 mcayenne94
(19 มิ.ย. 2568 09:14:06 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Samathijit.BlogGang.com

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]

บทความทั้งหมด