ธรรมะที่ทำให้เข้มแข็งและเป็นสุขในการทำหน้าที่


170มีธรรมที่กำกับให้ทำหน้าที่เที่ยงตรง ก็ดียิ่ง แต่มีธรรมที่ทำให้เข้มแข็ง และเป็นสุขในการทำหน้าที่ด้วย จะดีเยี่ยม

  เมื่อมีอุเบกขายืนเป็นหลัก และมีความไม่ยอมต่ออคติทั้ง ๔ มาช่วยกำกับ ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับด้านเจตนา ที่จะออกไปทำหน้าที่ได้อย่างดีที่สุด แต่กระนั้น ก็เป็นไปได้ที่จะเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างแห้งแล้ง แถมบางครั้งอาจจะเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี เช่น มีความเบื่อหน่ายท้อแท้ ขึ้นก็ได้

  ดังนั้น นอกจากมีธรรมที่ช่วยในด้านการออกปฏิบัติหน้าที่แล้ว ก็ควรมีธรรมบางอย่างไว้บำรุงหล่อเลี้ยงในตัวของผู้ปฏิบัติหน้าที่นั้นเองด้วย เพื่อให้เกิดมีกำลังความเข้มแข็งความแกล้วกล้าสามารถ และความสุขสดชื่นเบิกบานใจในการทำหน้าที่ ซึ่งในที่นี้ ขอพูดสักชุดหนึ่ง

  ธรรมชุดนี้ (ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา) ไม่เพียงหล่อเลี้ยงด้านเจตนาเท่านั้น แต่ส่งผลต่อเนื่องไปช่วยในการพัฒนาของปัญญาด้วย

  ข้อแรก คือ ศรัทธา ผู้พิพากษาต้องมีความเชื่อมั่นในหลักการแห่งความยุติธรรม เห็นตระเหนักในคุณค่าและความสำคัญของความเป็นธรรม ตั้งต่อชีวิตและสังคม มีความซาบซึ้งเลื่อมใสในกระบวนการยุติธรรม เชื่อมั่นว่าชีวิต แลสังคมจะดีและจะดำรงอยู่ได้ จำเป็นต้องรักษาธรรมไว้ให้ชัดเจนมั่นคง และมีความปรารถนาอย่างจริงจังหรือแรงกล้าที่จะทำให้ความถูกต้องชอบธรรมปรากฏเป็นจริงขึ้นให้จงได้

  ถ้าผู้พิพากษามีศรัทธานี้แล้ว นอกจากจะมีกำลังความเข้มแข็ง เอาจริงเอาจังในการทำหน้าที่ให้สำเร็จผลบรรลุจุดหมายของกระบวนการยุติธรรมแล้ว ก็จะมีความสุขสดชื่นเบิกบานด้วย และมิใช่จะสุขในการทำงานเท่านั้น แต่จะมีความสุขในการดำเนินชีวิตของตุลาการด้วย

  อีกทั้งเมื่อมีความเลื่อมใสใจมุ่งที่จะให้ถึงจุดหมายนั้น ก็จะทำให้เจตนามาสนองในการตั้งใจไตร่ตรองพิจารณาศึกษาเรื่องราวทุกอย่างที่เกี่ยวข้องซึ่งจะช่วยให้ก้าวไปสู่จุดหมายนั้น จึงทำให้ปัญญาพัฒนาเพิ่มพูนสมบูรณ์ขึ้นด้วย

  ข้อที่ ๒ มีความเพียรพยายาม ที่ทางพระเรียกว่า วิริยะ เมื่อมีศรัทธาเป็นแรงส่งให้มุ่งสู่จุดหมายแล้ว เกิดความเข้มแข็งมีกำลังขึ้นมาก็เพียรพยายามทำการให้ก้าวหน้าไป ไม่ระย่อท้อถอย ศรัทธาเป็นตัวกระตุ้นให้เพียรพยายาม และเมื่อเพียรพยายามก้าวหน้าไป เห็นคุณค่าเห็นประโยชน์ของสิ่งที่ทำ ศรัทธาก็ยิ่งเข้มแข็งแรงกล้ามากขึ้น ศรัทธา กับ ความเพียรพยายามก็หนุน ซึ่งกันและกัน

  ในเวลาเดียวกันนั้น  ก็ต้องมีสติ ไว้คอยตรวจตราและควบคุมให้พอดี ให้อยู่กับหลัก ให้อยู่ในทาง ให้ไม่พลาด ให้ไม่ถลำล้ำเลย แม้แต่ศรัทธา และความเพียร ที่ว่าดียิ่งนั้น ถ้าแรงนัก ไม่รู้จักใช้สติคุม ก็อาจจะทำให้ด่วนสรุปบ้าง เร่งรัดเกินไป หรือแม้แต่ผลีผลามพรวดพราด พลุ่งพล่าน ขาดความรอบคอบ จึงต้องมีสติไว้ตรวจ และคุมโยตลอด

  สติที่คุมดึงจิตไว้ได้นั้น ก็จะโยงจิตไปสู่ข้อที่ ๔ คือ สมาธิ ซึ่งทำให้จิตอยู่ตัว และสมาธินี้จะดุลความเพียรไว้ ไม่ให้เอาแต่แรงก้าวไปๆ จนบางทีว้าวุ่นพลุ่งพล่าน แต่ให้ทำการด้วยจิตใจที่สงบ และหนักแน่นมั่นคง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก เรียกว่าก้าวไปอย่างเรียบสงบหนักแน่น

  การทำงานของ ๔ ข้อที่ว่ามานั้น จะเป็นไปด้วยดี ต้องอาศัยปัญญาทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อ ๔ ข้อนั้นมา ก็เรียกร้องให้ปัญญาต้องมาทำงานด้วย เช่นว่า ที่จะก้าวไปนั้น จะไปได้อย่างไร จะใช้วิธีการใด เมื่อก้าวไปขั้นนั้นแล้ว จะต้องต่อต้องผ่านไปขั้นไหนต่อไป ตั้งต้นแต่มาพิสูจน์ความเชื่อของศรัทธา ตลอดจนถึงบอกว่าจุดหมายที่มุ่งไปจะสำเร็จได้อย่างไร

  เมื่อเป็นอย่างนี้ ๔ ข้อแรกก็ช่วยให้ปัญญาพัฒนาตัวมันเองด้วย โดยเฉพาะสมาธิ คือ ภาวะจิตที่ใส สงบ อยู่ตัว ไม่มีอะไรรบกวนนั้น เอื้อต่อการเกิดขึ้น การทำงาน การเจริญงอกงามของปัญญา และการใช้ปัญญาอย่างเต็มประสิทธิภาพของมัน

  คุณสมบัติ ๕ ข้อ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา นี้ มีชื่อว่าเป็นพละ ๕ คือเป็นกำลังทำให้เข้มแข็งยืนหยัดอยู่ได้ในการกิจโดยไม่ย่นระย่อห่อเหี่ยว และเรียกว่าเป็นอินทรีย์ ๕ คือ เป็นตัวทำการให้เกิดสมรรถภาพที่จะปฏิบัติงานได้บรรลุผลสำเร็จ

  ขอย้ำว่า ด้านหนึ่ง ผู้พิพากษามีอุเบกขาพร้อมด้วยความเว้นอคติมากำกับเจตนา ให้ออกปฏิบัติการทำหน้าที่ถูกต้องเที่ยงตรง และอีกด้านหนึ่ง ผู้พิพากษามีพละ ๕ ที่เป็นอินทรีย์ด้วยนี้ ไว้บำรุงหล่อเลี้ยงตัวให้มีกำลังเข้มแข็งมีสมรรถภาพและมีความสุข ทั้งในการทำหน้าที่และในการดำรงอยู่ในสถานะของตนที่เป็นตุลาการนั้น

  รวมความว่า ธรรมะสำหรับผู้พิพากษา ก็คือธรรมะอันเดียวกับที่รักษาชีวิต และสังคมมนุษย์ที่ต้องใช้สำหรับทุกคนนั่นเอง แต่ผู้พิพากษาเป็นแบบอย่างในเรื่องนี้ เพราะถือว่า ผู้พิพากษาเป็นตุลา คือเป็นตราชูของสังคม

  ในการที่จะรักษาสังคมไว้นั้น ท่านผู้พิพากษาเป็นแบบอย่างในขั้นปฏิบัติการเลยทีเดียวว่า เราจะต้องรักษาสังคมให้อยู่ดี มีความสุขความเจริญ โดยเฉพาะมีความมั่นคงอยู่ได้ ด้วยความเป็นธรรมะ ที่ตั้งอยู่บนฐานของจิตใจ ที่มีพรหมวิหาร ๔ ประการ อันมีอุเบกขาลงไปอยู่ในธรรม ที่ปัญญาบอกให้ แล้วก็ออกสู่ปฏิบัติการด้วยสมานัตตตา ซึ่งเป็นที่แสดงออกของอุเบกขา แล้วก็มั่นใจแน่ว่าแนบสนิทอยู่กับธรรม

  ตอนนี้ จะต้องมีสติมาช่วยด้วย เพื่อเตือนให้ตระหนักอยู่เสมอ ที่จะให้ปัญญาทำงานเต็มที่ ให้เจตนาต้องใสสะอาดดีแน่นอน  สติจะคอยเตือนให้เราไม่เผลอไม่พลั้งพลาดว่า หนึ่ง เราใช้ปัญญาเต็มที่ ถามตัวเองว่า ปัญญาของเรารู้ความจริงถึงที่สุดไหม ถ้ายังไม่รู้ความจริงถึงที่สุด ยังไม่ชัด อย่าหยุดนะ สืบค้นหาความจริงจนถึงที่สุด และ สองสติก็เตือนเจตนา  ว่าเรามีเจตนาใสสะอาดดีแน่ไหม เจตนาของเราบริสุทธิ์ยุติธรรม มีความปรารถนาดีต่อชีวิตมนุษย์  มีความปรารถนาดีต่อสังคมแน่นอนไหม  เจตนาต้องการรักษาธรรมไว้อย่างแน่นอนไหม

  สติเตือนทั้งปัญญาและเจตนา ให้เคลื่อนไปในทางที่จะพัฒนาให้เต็มที่ ให้สมบูรณ์ที่สุด แล้วการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาก็จะเป็นแบบอย่าง สมเป็นตุลาการอย่างแน่นอน

  ก็เป็นอันว่า  ธรรมทุกอย่างนั่นแหละ จำเป็นสำหรับผู้พิพากษาในฐานะที่ท่านเป็นตุลา คือเป็นตราชูของสังคม เป็นแบบอย่างในการรักษาธรรมไว้ให้แก่สังคม

  พูดถึงผู้พิพากษา ก็โยงมาที่ตุลาการ แล้วก็ทำให้แยกศัพท์ออกไป ซึ่งมีคำหลักคือ “ตุลา” แล้วเลยต่อไป ก็มีคำแปลว่า “ตราชู” อันเป็นข้อที่น่าศึกษา


173 171 172

รวมความว่า   ธรรมะสำหรับผู้พิพากษา   ก็คือธรรมะอันเดียวกับที่รักษาชีวิต และสังคมมนุษย์ที่ต้องใช้สำหรับทุกคนนั่นเอง    แต่ผู้พิพากษาเป็นแบบอย่างในเรื่องนี้  เพราะถือว่า ผู้พิพากษาเป็นตุลา คือเป็นตราชูของสังคม

176 อินทรีย์ ๕  พละ ๕  ได้แก่  ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ  ปัญญา ก็ชุดเดียวกับในโพธิปักขิยธรรมนั่นเอง



Create Date : 04 พฤศจิกายน 2564
Last Update : 4 พฤศจิกายน 2564 10:06:24 น.
Counter : 223 Pageviews.

0 comments
การหา เติมความมี ปัญญา Dh
(16 เม.ย. 2567 18:08:16 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 36 : กะว่าก๋า
(14 เม.ย. 2567 06:17:30 น.)
Day..10 โฮมสเตย์ริมน้ำ
(11 เม.ย. 2567 08:25:45 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 31 : กะว่าก๋า
(9 เม.ย. 2567 05:58:44 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Samathijit.BlogGang.com

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]

บทความทั้งหมด