ถ้าเป็นธรรม ก็ถูกต้องตามความจริง ![]() ทีนี้ ก่อนที่จะพูดถึงธรรมสำหรับผู้พิพากษา ๒ ชุดนั้น ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สักหน่อย ก็มาพูดคุยกันในข้อปลีกย่อยต่างๆ เกี่ยว กับ ธรรม ให้เป็นเรื่องเบาๆเป็นพื้นไว้ ก่อนจะพูดเรื่องที่ยากขึ้นไป เราบอกว่า ผู้พิพากษาเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม เป็นตราชูอันทำหน้าที่ที่เรียกว่าดำรงธรรมไว้ให้แก่สังคมนั้น "ธรรม" นี้ แปลกันมาว่า ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ความหมายที่เป็นหลักเป็นแกนของธรรมนั้น ก็คือ ความจริง หรือสภาวะที่เป็นอยู่เป็นไปของมันอย่างนั้นๆ เป็นธรรมดา มนุษย์เรานั้น ต้องการสิ่งที่เกื้อกูลเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ตน แต่สิ่งทั้งหลายที่จะเกื้อกูลเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่คนแท้จริง จะต้องสอดคล้องกับความจริง มิฉะนั้น ก็จะไม่เกื้อกูลเป็นประโยชน์ได้แน่แท้ยั่งยืน สิ่งที่เกื้อกูลเป็นประโยชน์แก่มนุษย์แท้จริง เรียกว่า เป็นความดีงาม ความดีงาม จึงอยู่สอดคล้อง คือถูกต้องตามความจริง ความจริง เป็นหลักยืนตัว ความดีงาม เป็นคุณค่าที่มนุษย์ต้องการ ความถูกต้องเป็นความสัมพันธ์ที่น่าพอใจ ระหว่างคุณค่าที่มนุษย์ต้องการ กับความจริงที่เป็นหลักยืนตัวนั้น ที่ว่าผู้พิพากษาดำรงธรรมนั้น เราเน้นความหมายในแง่ของการรักษาความถูกต้อง ทำให้เกิดความถูกต้อง หรือพูดให้ตรงว่า ทำความถูกต้องให้ปรากฏ และความถูกต้องที่ว่านั้นก็ขึ้นอยู่กับความจริง แล้วความจริงและความถูกต้องนี้ก็พ่วงความดีงามมาด้วย ถ้าไม่มีความจริง ไม่มีความถูกต้อง ความดีงามก็ไม่แท้ไม่จริง เหมือนอย่างที่คนหลอกลวงก็สามารถทำให้คนรู้สึกว่า เขาเป็นคนดีได้ แต่แล้วในเมื่อไม่ถูกต้อง ไม่ตรงความจริง พอขาดความจริงเท่านั้น ที่ว่าดีก็หมดความหมายไป กลายเป็นไม่ดี ดังนั้น ความจริงและความถูกต้อง จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ทีนี้ ความจริงนั้น มีอยู่เป็นสภาวะของมันเอง หรือเป็นธรรมดาของธรรมชาติ และความถูกต้องก็อยู่กับความจริงนั้นด้วย แต่เมื่อเรื่องมาถึงคน หรือว่าเมื่อคนไปเกี่ยวข้องกับมัน ก็มีข้อผูกพันขึ้นมา ซึ่งทำให้คนเกิดมีเรื่องในภาคปฏิบัติว่า ๑.จะทำอย่างไร ให้ความจริงนั้นปรากฏขึ้นมา เพราะว่า บางทีความจริงมีอยู่ แต่ความจริงนั้นไม่ปรากฏ ๒.จะทำอย่างไร ให้คนดำรงอยู่ในความจริงนั้นได้ จะได้มีความถูกต้องที่จะตรึง หรือรักษาความดีงามไว้ และ ๓.จะทำอย่างไร ให้คนทำการได้ถูกต้องโดยสอดคล้องกับความจริงนั้น เพื่อให้คนอยู่กับความดีงาม ซึ่งเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมของเขา นี่เป็นเรื่องใหญ่ทั้งนั้น ตอนนี้ก็จึงเหมือนกับว่า ในเรื่องธรรมนี้ เรามอง ๒ ด้าน คือ หนึ่ง มองด้านความเป็นจริง หรือตัวสภาวะก่อนว่า ความจริงเป็นอย่างไร แล้วก็ สอง บนฐานของความจริงนั้น มองว่า เราจะทำอย่างไรให้มนุษย์นี้ ดำเนินไปกับความจริงนั้น โดยอยู่กับความจริง แล้วก็ปฏิบัติให้ถูกต้องตามความจริง ต้องครบทั้ง ๒ ขั้น ขาดขั้นใดขั้นหนึ่งไม่ได้ ทั้งนั้น บางทีเราจะเอาขั้นที่ ๒ คือ จะให้คนปฏิบัติถูกต้อง แต่เราไม่รู้ว่า ความจริง คือ อะไร มันก็ไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องมีหลักยันอยู่เป็น ๒ ด้าน คือ ด้านสภาวะที่เป็นความจริงตามธรรมชาติ และด้านที่คนเข้าไปเกี่ยวข้องกับความจริง อย่างไรก็ตาม ตามที่ใช้กันอยู่นั้น "ความจริง" มีความหมายค่อนข้างหลวมๆ ไม่เคร่งครัดนัก คือไม่จำเป็นต้องถึงกับเป็นความจริงตามสภาวะของธรรมชาติ แต่รวมทั้งความจริงตามที่มนุษย์ตกลงยอมรับกันด้วย เช่น หลักการ และข้อที่ตกลงยึดถือกันมาเป็นพวกสมมติสัจจะต่างๆ ดังนั้น ความดีงาม ความถูกต้อง บางทีจึงวัดเพียงด้วยความสอดคล้องกับความจริงระดับนี้ก็มี สำหรับคนทั่วไป เอาเพียงว่า ถ้ารักษาปฏิบัติทำความดีงาม ตามที่บอกกล่าวเล่าสอนกันมา ก็ใช้ได้ หรือนับว่าเพียงพอ เมื่ออยู่กับความดีงามแล้ว ก็ถือว่าดำรงความจริง และความถูกต้องพร้อมไปในตัวด้วย แต่สำหรับผู้ทำหน้าที่ในการรักษาธรรมนั้น จะต้องเข้าถึงธรรมทั้งระบบ เริ่มด้วยด้านที่หนึ่ง คือ ด้านความจริง และความจริงก็ต้องลงไปถึงความจริงตามสภาวะของธรรมชาติด้วย ที่พูดไปแล้ว ก็เป็นระบบของธรรมนั่นเอง แต่ใช้ภาษาง่ายๆ และยังค่อนข้างจะหลวม ทีนี้ ก็จะเดินหน้าไปดูให้ถึงระบบของธรรมทั้งหมด ให้ชัดยิ่งขึ้นอีกที |
บทความทั้งหมด
|