อำลา...อาลัย (2) ![]() การทำงานอันยาวนาน หลังจากการรดน้ำศพลุงแจ๋วหรือ สง่า อารัมภีร์เรียบร้อย ถึงเวลาเย็นย่ำค่ำ ผมก็ตามคณะพรรคไปที่ร้านอาหารจีนเก่าแก่แห่งหนึ่งแถวนางเลิ้งขื่อ ร้านศรีนคร กินข้าวกินเหล้าและกล่าวเรื่องราวรำลึกถึงลุงแจ๋ว ซึ่งเป็นสมาชิกประจำของวงเหล้าเรา พรรคพวกคนหนึ่งก็ชงเล้าแก้วหนึ่ง จบวันทาบอกว่า นี่แก้วลุงนะ แล้วก็ตั้งไว้ที่หัวโต๊ะ เพื่อนบอกว่า ลุงแจ๋วชอบทำอย่างนี้เวลาเพื่อนร่วมวงเก่าๆของลุงตายใหม่ ๆ ลุงไปกินเหล้าที่ไหนก็จะชงเหล้าอีกแก้วหนึ่งตั้งไว้ให้เพื่อน เราก็ชงเหล้าแก้วหนึ่งตั้งไว้ให้ลุงบ้าง ผมนั่งใกล้กับหัวโต๊ะที่แก้วเหล้าของลุงตั้งอยู่ก็ชนแก้วกับลุง เหมือนว่าลุงนั่งอยู่ด้วยอย่างที่เคยชนแก้วกันมา ใกล้ ๆ กับโต๊ะที่เรานั่งมีเครื่องดนตรีและมีคาราโอเกะ ทางร้านเขาก็เปิดเพลงอยู่ หมดเหล้าขวดแรกก็ชวนกันร้องเพลงลงแจ๋วกันดีกว่า ก็ร้องเพลงลุงแจ๋วกันไปจนวงเหล้าเลิกรา ต่างคนต่างแยกย้ายกลับบ้าน ผมกลับบ้านก็นึกถึงลุงแจ๋วไปตลอดทาง นึกถึงอายุการทำงานอันยาวนานของลุงแจ๋วแล้ว ก็นึกเปรียบเทียบกับการทำงานของตัวเอง ลุงแจ๋วมีชื่อในฐานะนักแต่งเพลง ซึ่งเป็นเพลงประกอบเมื่ออายุยี่สิบกว่าปี ดูเหมือนจะยี่สิบสี่ปี และทำงานเกี่ยวกับการแต่งเพลงมาโดยตลอด จากการแต่งเพลงประกอบละครก็มาแต่งเพลงประกอบหนัง และเพลงอื่นๆอีกมากกมาย รวมถึงการเขียนหนังสือด้วย รวมเวลาที่ลุงแจ๋วท่องยุทธจักรอยู่ก็นับได้ห้าสิบกว่าปี เกือบหกสิบปี เรียกได้ว่าลุงแจ๋วท่องยุทธจักรอยู่จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต เพราะก่อนจะเจ็บจนต้องเข้าโรงพยาบาลนั้น ลุงแจ๋วก็ไปงานอะไรงานหนึ่งในยุทธจักร หนังสือลุงก็ยังเขียนอยู่ ก็ยังมีข้อเขียนให้ผมอ่านเมื่อไม่นานปีมานี่เอง เพลงลุงก็ยังแต่ง ลุงมีความคิดที่จะแต่งเพลงเกี่ยวกับแม่น้ำ เคยชวนผมไปล่องแม่น้ำแถวลพบุรีแต่ผมไม่มีจังหวะไป แต่ก็ได้ไปล่องแม่น้ำท่าจีนกับลุงครั้งหนึ่ง แม่น้ำสุพรรณบ้านผมนั่นแหละ เป็นที่เพลิดเพลินกันมาก ลุงก็บอกให้ผมเขียนเนื้อเพลงเรื่องแม่น้ำสุพรรณมา จะใส่ทำนอง ผมก็ไม่รู้ว่าจะเขียนยังไง ผมเขียนเพลงไม่เป็นประสา ลุงก็บอกว่าเขียนกลอนหกมาก็แล้วกัน นี่จนลุงเรียบร้อยศาลาวัดมกุฏฯไปแล้ว เนื้อเพลงแม่น้ำสุพรรณของผมก็ยังไม่มี ได้แต่คิด คิดแล้วก็ครั่นคร้าม ผมกลัวกลอนผมเชยหรือไม่ได้เรื่องราว กลัวเนื้อเพลงที่เขียนจะไม่ได้ ไม่ควร ไม่เหมาะกับฝีมืออันล้ำเลิศในการใส่ทำนองดนตรีของลุงแจ๋ว ผมโตทันและประกอบกับการอ่านหนังสือมาพอที่จะรู้เรื่องราว และลักษณะชีวิตการทำงานของลุงแจ๋วอยู่เหมือนกัน ละครเวทีทำนองเดียวกับยุคที่ลุงแต่งเพลงประกอบให้ก็เคยได้ดูอยู่บ้างตอนเด็ก ๆ อ่านหนังสือที่ลุงเขียนเล่า และคนในวงการเดียวกับคนอื่นๆเขียนถึงพูดถึงก็พอจะทำให้นึกออก และผมเองก็แวะเวียนอยู่ในแวดวงทำนองเดียวกับลุงเคยอยู่ คือแวดวงหนังละครเพลงและหนังสือเพียงแต่ต่างยุคสมัย ลุงแจ๋วเข้าวงการมาด้วยการแต่งเพลง ผมเข้าวงการมาด้วยการแต่งหนังสือ ลุงแจ๋วเคยเขียนเล่าเรื่องสมัยที่เข้าวงการใหม่ๆในข้อเขียน "น้ำตาแสงไต้แห่งความหลัง" พูดถึงสมัยปีสองสีบแปดแปดที่ทำละครพันท้ายนรสิงห์ตอนหนึ่งว่า "...ข้าพเจ้าเป็นนักดนตรีใหม่ๆ ยังไม่ถึงปีเลย เพลงก็แต่งกับเขายังไม่เป็น และยังไม่เคยคิดเลยว่าจะแต่งกับเขาได้ยังไง ได้แต่ดูเขาแต่งเท่านั้น วันหนึ่งๆก็ได้แต่ดีดเปียโนจนเมื่อยนิ้วไปหมด" ผมว่าผมเข้าวงการนักเขียนหรือนักหนังสือพิมพ์ด้วยก็ได้ เป็นอะไรทำนองเดียวกับที่ลุงแจ๋วเขียนถึงตัวเองนี่เหมือนกัน ผมเขียนกลอนมานาน ได้ชื่อว่าเป็นนักกลอนคนหนึ่ง จนเรียนจบมหาวิทยาลัยก็ไปทำงาน ทำงานหนังสือพิมพ์ก็ทำหน้าที่แปะอาร์ตเวิร์ก ไม่ได้เป็นงานกองบรรณาธิการ ไม่เคยนึกเคยรู้สึกว่าดัวเองจะเขียนข้อเขียนอะไรลงตีพิมพ์ได้ ระยะนั้น สุจิตต์ วงษ์เทศ กับขรรค์ชัย บุนปานกำลังวิ่งเต้นซื้อหัวหนังสือพิมพ์รายวันเพื่อมาทำ ยังจำได้ว่าพยายามจะไปซื้อหัวหนังสือพิมพ์รายวัน "เสรีไทย" หนังสือพิมพ์รายวัน เจ้าของเป็นคนที่ผมรู้จักชื่อ คุณสถิตย์ ปรีชาศิลป์ เป็นคนสุพรรณบุรีบ้านเดียวกับผม พวกบ้านผมเรียกกันว่าเฮียเอี๋ยว เฮียเอี๋ยวเป็นเจ้าของรถเมล์สายหก บุคคโล-บางลำพู สีเขียวคาดเหลือง และเป็นเจ้าของไนต์คลับโรเฟโน่ที่อยู่ตรงข้ามศาลาเฉลิมไทย ไนต์คลับโรเฟโน่นี้พวกสุพรรณฯบ้านผมอยู่กันเป็นดงเลย มีทั้งบ๋อย กัปตัน และผู้จัดการ ผมแวะไปบ่อย ได้ข่าวว่าซื้อไม่สำเร็จ เขาจะเอาตั้งล้าน สุจิตต์-ขรรค์ชัยก็เลยมาเปิดโรงพิมพ์ ก็โรงพิมพ์พิฆเณศ อยู่ตรงแพ่งสรรพศาสตร์ อรุณ วัชระสวัสดิ์เพื่อนผมไปทำงานที่พิคเณศผมก็ตามไป ไปเกาะวงเหล้าของสุจิตต์ที่ร้านนามชัย ซึ่งอยู่เยื้องๆกับประตูแพร่ง วงเหล้าของสุจิตต์ขยับไปตรงไหนผมก็ไปเกาะด้วยทุกครั้งที่มีโอกาส ตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์สิบสี่ตุลาจนหลังเหตุการณ์สิบสี่ตุลา เขาไปทำหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันกัน ผมก็ตามไปเกาะ ผมเกาะเวลาวงเหล้าฟังเขาพูดคุยกัน เรื่องการบ้านการเมือง เรื่องสังคม คนนี้จะเขียนเรื่องนั้น คนนั้นจะเขียนเรื่องนี้ เขามีข้อเขียนเป็นนักเขียนที่มีชื่อกันแล้วแทบทุกคน ผมยังไม่รู้เลยว่าผมจะเขียนอะไรได้ เกาะวงเหล้าร้องเพลงลูกทุ่งให้สุจิตต์ฟัง จนสุจิตต์บอกว่ามึงน่าจะเขียนเรื่องเพลงลูกทุ่งได้ ผมก็เขียนคอลัมน์เพลงลูกทุ่งลงในประชาชาติรายวันอยู่สองสามตอน แล้วก็มีอันได้โอกาสไปอเมริกา กลับมาถึงได้เขียนหนังสือเป็นพายุบุแคม อายุงานในแวดวงตอนนี้ นับตั้งแต่เริ่มเกาะวงเหล้าของสุจิตต์ก็เกือบสามสิบปีแล้วละครับ ยังอยู่อีกเกือบๆสามสิบปีถึงจะเท่าอายุงานของลุงแจ๋ว ![]() "น้ำตาแสงไต้" หลั่งให้ "สง่า อารัมภีร์" แม้นามปากกา "แจ๋ว วรจักร" ในปัจจุบันจะไม่ปรากฏบนหน้ากระดาษ แต่นามปากกานี้เคยเป็นที่รู้จักกันมาแล้วในนิตยสาร และหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่างไทยรัฐ แจ๋ว วรจักร หรือ จ้อน บางกระสอ เป็นนามปากกาที่ สง่า อารัมภีร์ เขียนบทวิจารณ์หนังทั้งใน ชาวกรุง และหนังสืออื่นๆ เรื่องราวของสง่า อารัมภีร์ ในความทรงจำของคนวัยไล่เลี่ยกันอย่าง อาจินต์ ปัญจพรรค์ ย่อมเป็นความทรงจำที่มีเรื่องราวและสีสัน ![]() อาจินต์ ปัญจพรรค์ ข่าวคราวการแยกจิตออกจากสังขารของครูสง่า อารัมภีร์ หรือ ครูแจ๋ว ย่อมนำความเศร้าเสียใจมาสู่ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ อาจินต์ ปัญจพรรค์เป็นอย่างมาก แม้จะต้องทนต่อความเจ็บปวดเนื่องจากดวงตาเจ็บ แต่ด้วยความรักและเคารพผู้จากไป อาจินต์จึงยินดีเล่าเรื่องราวที่ผ่านมาด้วยความเต็มใจ "เรื่องที่มีเกียรติที่สุดของครูแจ๋วคือ วิจารณ์ทีวีวันแรกที่ออกอากาศของเมืองไทย วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นช่องสี่บางขุนพรหม" อาจินต์เริ่มเรื่องด้วยเสียงปร่าแปร่ง ดวงตาหม่นเศร้า :ก่อนนั้นครูแจ๋วทำอะไรอยู่? "ครูแจ๋วพักจากการเล่นเพลงของโรงละคร เพราะตอนนั้นโรงละครกำลังเงียบเหงา ครูแจ๋วก็หางานทำเพื่อเลี้ยงครอบครัว" :ทำงานอะไรบ้าง? "ก็ไปได้งานที่นิตยสาร ดาราไทย-รายสัปดาห์ ของคุณสุรัตน์ พุกกะเวส ผู้มีความรู้เรื่องหนัง ละคร และเป็นนักแต่งเพลง แต่งเพลงให้สุนทราภรณ์ด้วย ฉบับแรกที่ครูแจ๋วเขียนให้หนังสือดาราไทยก็เขียนวิจารณ์ทีวี.ช่องสี่ บางขุนพรหมด้วยคำชมหนึ่งคอลัมน์เลย ใช้นามปากกา แจ๋ว วรจักร นับเป็นคนแรกที่เขียนวิจารณ์ทีวี.ในประเทศไทย" :การทำงานในแวดวงคนทำหนังสือ? "เขาอยู่ในทุกที่ เขียนคอลัมน์ มองศิลป์ในด้านดีในไทยรัฐ เขาจะเล่าว่าวันนี้เขาไปทำอะไร ไปเจอใคร ใครทำอะไรที่ไหน เขาเขียนในไทยรัฐนานปี งานชิ้นนั้นรวมทั้งที่เขียนในฟ้าเมืองไทยด้วย มีคนให้ไปรวบรวมมาพิมพ์เป็นเล่มไว้ เพื่อให้เป็นที่รู้กันในวงการบันเทิงไทย นอกจากในคอลัมน์มองศิลป์ในด้านดีในไทยรัฐแล้ว เขายังมีคอลัมน์เขียนในหนังสืออื่นๆอีกมาก มีผู้ติดตามอย่างกว้างขวาง" :โดยสรุปแนวเนื้อหาที่เขียนเป็นอย่างไร? "เป็นการเขียนเพื่อผดุง ชื่นชม และชมเชยศิลปินดนตรีของไทยทั้งหมด ให้เกียรติ ให้กำลังใจ เชียร์ให้ซื้อตั๋วไปชม สง่า อารัมภีร์เป็นผู้มีคุณค่าต่อทุกชีวิตในเพื่อนร่วมรุ่น เขามีจิตใจที่จะสนับสนุน แม้จะไม่ได้ร้องเพลงเขา เขาก็ไม่ได้เกี่ยงงอน" :วงดนตรีที่ สง่า อารัมภีร์ ทำงานอยู่? "เขามีวงส่วนตัวชื่อกระชับมิตร เขามีอยู่ด้วยกันสี่ห้าคน มีเครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้น เขาเรียกว่า ควอเต็ท หรือ แชมเบอร์มิวสิค แต่ก่อนนั้นเขาอยู่วงดนตรีทหารอากาศ :ด้านความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่าง อาจินต์ ปัญจพรรค์ กับ สง่า อารัมภีร์ เป็นมาอย่างไร? "เจอกันที่ไทยทีวี.ช่องสี่ ผมเป็นฝ่ายจัดรายการและโฆษณา เป็นเบ้ของ จำนงค์ รังสิกุล ผมคุมบัญชีโฆษณา ครั้งหนึ่ง สอ เศรษฐบุตรก็ไปหาให้ทำโฆษณาพจนานุกรมภาษาอังกฤษให้ ครูแจ๋วเขาก็ไปหาเพื่อจะให้โฆษณาตู้เย็นยีอีที่ กมลสุโกศล โฆษณาขายทางทีวี. ผมก็พาครูแจ๋วจากกรมประชาสัมพันธ์ขึ้นรถรางมาบางขุนพรหม ค่าโดยสารคนละห้าสิบสตางค์ บางขุนพรหมเป็นออฟฟิศใหญ่ เสร็จงานแล้วแราก็จากกัน เขากลับไปบริษัทที่สามยอด ส่วนผมกลับออฟฟิศที่หลังกรมโฆษณาการ เมื่อถึงกำหนดโฆษณาออกฉาย ครูแจ๋วก็เอาเงินจากนายเขามาจ่าย แต่เขายังไม่กลับ ไปนั่งกินเหล้าอยู่ที่ร้านอาหารซึ่งอยู่ใต้ถุนอาคารที่เราทำทีวี. พองานผมเลิกผมจะต้องเอาแผนผังรายการมาส่งให้คนทำทีวี.ทุกคนรู้ ผมแจกเสร็จก็เดินมาที่ร้านอาหาร เห็นครูแจ๋วนั่งอ่านหนังสืออยู่ ทักทายกับผมก็รู้จักกันมากยิ่งขึ้น ![]() สุเทพ วงศ์กำแหง กับครูแจ๋วผู้เล่นเปียโน ในรายการทีวีหนึ่งทางช่อง ๔ บางขุนพรหม ปี ๒๕๓o :จำได้ไหมครูอ่านหนังสืออะไร? "แกอ่านหนังสือ ห้วงมหรรณพ ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเพิ่งจะออกในวันนั้น แสดงว่าครูแจ๋วเป็นนักอ่าน อ่านแต่หนังสือดีๆ ไม่ว่าจะเป็น ขุนช้าง ขุนแผน เวตาล แกเป็นคนอ่านหนังสือมาก ผมเคยไปเที่ยวบ้านแก ผมมีหนังสือเก่าๆยังมีไม่เท่าแกเลย" :ช่วยเล่าตอนที่ ครูแจ๋ว เข้ามาเขียนใน ฟ้าเมืองไทย? "ผมมาทำฟ้าเมืองไทยเมื่อ ๒๕๑๒ ก่อนนั้น ครูแจ๋วทำเพลงละครให้กับรพีพร ไม่ว่าจะเป็นเจ็ดโจร ขุนศึก ครูแจ๋วเป็นคนทำเพลง ส่วนรพีพรเป็นนักเขียนบทที่ยิ่งใหญ่มาก ตอนนั้นผมยังทำไทยโทรทัศน์รายเดือนอยู่ ปี ๒๕๑๒ ผมก็ออกจากทีวี.มาเข้าหุ้นกับลูกจีนคนหนึ่งทำฟ้าเมืองไทย ครูแจ๋วเขาก็มาร่วมเขียนตั้งแต่เริ่มเลย ผมเปิดคอลัมน์ หนังสือ หนังดี ดนตรี ทีวี. กีฬา วาทะ ทัศนาจร เป็นคอลัมน์เรียงร้อยกันไปเลย อ่านนี่จบถึงจะไปขึ้นเรื่องสั้น เรื่องราว" ![]() ครูแจ๋ว (คนยืน) กับมงคล ชัยบุรินทร์ หัวหน้าออมสินภาคอิสาน ผู้เป็นคนคิดคำว่า "ดวงใจ ทุกคนมีสิทธิ์จะรักกันได้" :ครูแจ๋วเขียนเรื่องอะไรบ้าง? "หนังสือผมเขียน หนังสือคือ หนังทีวี. และหน้าโรง ดนตรี ทัศนาจร ครูแจ๋วเขียน แต่นอกจากนั้นหากไม่มีใครทำผมทำ เพราะแต่ละหัวข้อเขียนเพียงหน้ากระดาษเดียว :แล้วยังมีคอลัมน์อะไรอีก? ยังมีคอลัมน์ประจำชื่อ แจ๋วเจอผี คอลัมน์นี้แสดงความฉลาดของแจ๋ว แกอยากเขียนเรื่องผีอย่าง เหม เวชกร แกเล่นดนตรีแต่มีจิตใจละเอียดอ่อนแบบพี่เหม ผมออกฟ้าเมืองไทยได้ ๖ เล่มพี่เหมก็เสียชีวิต นอกจากเรื่องจากย่ามความทรงจำของเหม เวชกรก็งดไป เพราะแกเสียชีวิต เมื่อครูแจ๋วจะเขียนผมก็ให้เขียน จึงเกิดคอลัมน์ แจ๋วเจอผี เรื่องผีนี่คนชอบอ่านมากทำให้หนังสือขายดี ![]() ครูแจ๋วไปที่ไหนต้องมีเสียงเพลงที่นั่น ส่วนคนขวามือคือ นพพร บุณยฤทธิ์ :ทำไมคนถึงชอบอ่านเรื่องผี? "ตราบใดที่โลกยังมีความมืด ตราบนั้นเรืองผีจะต้องขายดี เพราะคนเรากลัวความมืด" :ผลงานรวมเล่มของครูแจ๋วมีอะไรบ้าง? "แกเป็นนักเขียนคอลัมน์ นอกจากเขียนคอลัมน์ แจ๋วเจอผี ในฟ้าเมืองไทย ตอนหลังแกมาเขียนความหลังในการเล่นละคร ผมก็รวมเล่มให้แกชื่อว่า ความเอยความหลัง ต่วยตูนมาซื้อไป มีคำนำของผมด้วย ตอนผมรวมเล่มผมให้ พนม สุวรรณบุณย์ เขียนรูปให้แจ๋วนั่งอยู่หน้าแสงเทียนเหมือนเรื่อง น้ำตาแสงไต้ แล้วนัยน์ตาของแกเกิดประกายวับขึ้นมาจากแสงเทียน" :ช่วยเล่าความสัมพันธ์ส่วนตัว และบุคลิกลักษณะของครูแจ๋วตามมุมมองของอาจินต์ ปัญจพรรค์? "ผมรักพี่แจ๋วเหมือนพี่ชายของผมคนหนึ่ง ผมร่วมเที่ยว กินเหล้า กินอยู่ หลับ นอน มาด้วยกัน ผมกินเหล้าเมาแกก็พาไปนอนบ้านแก เช้าแกก็มาส่งที่ทีวี. บางวันกินเหล้าเมาแกพาไปเที่ยวที่บางปู ที่นั่นมีห้องให้เช่านอนอยู่ริมทะเลเลย รุ่งเช้าก็กลับมาทำงานกัน มีอยู่สมัยหนึ่งที่เรากินเหล้าด้วยกันทุกเย็น เที่ยวไนท์คลับด้วยกันทุกคืน ถ้าเป็นวันปีใหม่ก็ไปกินเหล้ากันจนเช้า พอพระมาบิณฑบาตก็ซื้อข้าวที่ร้านเหล้าใส่บาตรด้วยกัน ![]() การดวลแอคคอเดียนระหว่างครูแจ๋วกับปฐมทัศน์ สัชฌุกร ในงานเลี้ยงวันเกิด อาจินต์ ปัญจพรรค์ ปี ๒๕๒๒ :ผลงานเขียนของครูแจ๋วในสายตาอาจินต์ ปัญจพรรค์? "ครูแจ๋วแกเขียนด้วยภาษาง่ายๆ เหมือนคนเขาพูดกัน เขาไม่ได้จบอักษรศาสตร์มา ทำให้เนื้อเพลงของเขาสวย มีความฟูเฟื่องทางด้านศิลปะ เหมือนนักด้นกลอนลิเกเพราะแกศึกษามามาก แกอ่านหนังสือทุกเล่มที่เป็นวรรณคคีไทย" :บุคลิกของครูแจ๋ว? "เขาเป็นคนอ่อนน้อม ไม่เบ่ง ทำตัวเป็นคนโบราณ แต่เขามีคำพูดดี ๆ สนุก ขี้เล่น ขี้ล้อ เขาเป็นคนง่ายๆมีเสน่ห์ เสน่ห์ที่เกิดจากความเรียบง่าย และเป็นคนติดดิน ภูมิปัญญาชาวบ้านเขามีเต็มตัว เขามีความรู้ด้านวรรณคดีทำให้เขานำมาประกอบกับตัวโน้ต เนื้อเพลงของเขาถึงได้ไพเราะจับใจคน" ชีวิตที่เรียบง่ายแต่งดงามของ ครูสง่า อารัมภีร์ หรือ แจ๋ว วรจักร หรือจ้อน บางกระสอ หรือครูแจ๋ว แม้ "กาย" จะถึงกาลสูญสลาย หากแต่วิญญาณยังคงอยู่-ยังอยู่ในเนื้องานที่เคี่ยว กลั่นออกมาฝากไว้ในโลกดนตรีและวรรณกรรมหลายเรื่อง หลายรส หลายอารมณ์ ต่อแต่นี้ไปถ้าจะถามถึงกายครูแจ๋ว คงต้องมองรูปถ่าย ถ้าหากถามถึงชิวิตและจิตวิญญาณของครูแจ๋ว ก็มีให้เห็นในข้อเขียนต่าง ๆ และท่วงทำนองของดนตรี ![]() ครูแจ๋ว (คนหันหลังใส่หมวก) กับอาจินต์ แวะกินข้าวแกงที่สุโขทัย ขณะไปเยี่ยมบ้านครูนิมิตร ภูมิถาวร ปี ๒๕๒o โดยสัจภูมิ ละออ เรื่องจากปกหนังสือจุดประกายวรรณกรรม วันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๒ บีจีจากคุณยายกุ๊กไก่ ไลน์จากคุณญามี่ Free TextEditor |
บทความทั้งหมด
|