อำลา อาลัย...คุณลุงสุเทพ วงศ์กำแหง










ร่างบล็อกนี้ไว้หลังจากอัพบล็อก คอนเสิร์ตครูชาลีและครูสุรพล ที่อัพไว้เมื่อช่วงต้นปี หลังจากอัพบล็อกไปไม่กี่วันก็ทราบข่าวการเสียชีวิตของ คุณลุงสุเทพ วงศ์กำแหง รู้สึกทั้งเสียใจและเสียดายมาก เพราะโตมากับเพลงของท่าน ชอบเพลงของคุณลุงในยุคแรก ๆ ที่สุด โดยเฉพาะเพลงที่เป็นต้นฉบับ อย่างเพลง ฟ้ารำลึก, สวรรค์มืด, อนุสาวรีย์รัก, เดือนหลงฟ้า, ยอดรักคนยาก, พะเนียงรัก, เจ้าคิดถึงพี่ไหม, หรีดรัก, เท่านี้ก็ซึ้ง, คำสารภาพของชายโฉด, บาดหัวใจ, กัลปังหา, จอมใจเวียงฟ้า, ลาทีความระทม, พรุ่งนี้ฉันจะรักเธอจนวันตาย, รักอย่ารู้คลายและอื่น ๆ อีกมากมายเกิน ๓,๐๐๐ เพลง

เพราะเป็นนักร้องในดวงใจ บล็อกไว้อาลัยก็เลยจัดเต็ม ยาวโลดดดด รวบรวมคอลัมน์และข้อมูลเกี่ยวกับคุณสุเทพมาลงบล็อก โดยเฉพาะคอลัมน์เพลงเก่าในนสพ.แทบลอยด์ไทยโพสต์ที่เอามาอัพประจำ คราวนี้ก็มี แต่เสียดายที่คอลัมน์หายไปแล้ว ลองเมล์ไปถามกองบ.ก.ดู ได้คำตอบมาว่า ต้องปรับลดหน้าลงก็เพราะโควิดยังรังควานไม่เลิก ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นอาจจะได้อ่านอีกครั้ง ที่ดีใจมากคือได้รู้ว่าผู้เขียนคอลัมน์นี้คือ อาจารย์สมพจน์ สิงห์สุวรรณ และต้องขออภัยที่บางคอลัมน์ไม่ได้บอกที่มา เซฟข้อมูลแแต่ลืมก็อปปี้ลิงค์เก็บไว้ ยังไงก็ขอขอบคุณท่านเจ้าของคอลัมน์ที่นำมาลงบล็อกนี้ทุกท่านเลยค่ะ

ขอแสดงความเสียใจต่อ ครอบครัววงศ์กำแหง ที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป ขอดวงวิญญาณ คุณลุงสุเทพ ไปสู่สุคติในสัมปรายภพค่ะ







ช่วงนี้โรคโควิดสิบเก้ากำลังระบาดอยู่
ถึงคนป่วยและเสียชีวิตจะน้อยลงก็อย่าวางใจ
อย่าลืมล้างมือ กินร้อน ช้อนใครช้อนมัน รักษาระยะอยู่ห่าง ๆ กัน
เพื่อน ๆ ดูแลสุขภาพกันด้วยจ้า









ลาก่อนสำหรับวันนี้
คำร้อง ชาลี อินทรวิจิตร
ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน


ลาก่อนสำหรับวันนี้
ขอลาทีทั้งที่อาลัย
จนกว่าจะพบกันใหม่
ถึงจากไปฝากใจมา

ลาก่อนแล้วอย่าโศกศัลย์
คิดถึงกันทุกวันดีกว่า
จำจากไปเพราะเวลา
หวังว่าคุณคงเห็นใจ

ให้อายุยืนหมื่นปี
ให้ราศรีงามแจ่มใส
ให้คนรักทั่วทั่วไป
ให้โพยภัยพินาศพลัน

ลาก่อนสำหรับวันนี้
ขอลาทีทั้งที่ตื้นตัน
จนกว่าจะถึงวันนั้น
หวังเจอะกันวันนั้นเอย

ลาก่อนสำหรับวันนี้
ขอลาทีทั้งที่อาลัย
จนกว่าจะพบกันใหม่
ถึงจากไปฝากใจมา

ลาก่อนแล้วอย่าโศกศัลย์
คิดถึงกันทุกวันดีกว่า…
จำจากไปเพราะเวลา
หวังว่าคุณคงเห็นใจ

ให้อายุยืนหมื่นปี
ให้ราศรีงามแจ่มใส
ให้คนรักทั่วทั่วไป
ให้โพยภัยพินาศพลัน

ลาก่อนสำหรับวันนี้
ขอลาทีทั้งที่ตื้นตัน
จนกว่าจะถึงวันนั้น
หวังเจอะกันวันนั้นเอย






ภาพจาก youtube.com


‘ลาก่อนสำหรับวันนี้’ สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติในดวงใจคนไทยนิรันดร์


“ลาก่อน สำหรับวันนี้

ขอลาที ทั้งที่อาลัย

จนกว่า จะพบกันใหม่

ถึงจากไป ฝากใจมา...”


เพียงได้ฟังวรรคแรก ท่อนแรกของเพลงนี้ ด้วยน้ำเสียงของผู้ขับร้องที่ขยี้หัวใจราว “ขยี้แพรในฟองเบียร์” อย่างนั้น จะหาใครแทนได้ หากมิใช่เสียงของศิลปินแห่งชาติในดวงใจของคนไทยที่ชื่อ สุเทพ วงศ์กำแหง ที่เพิ่งจากเราไปเมื่อเช้าวันพฤหัสบดีที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานี้เอง

เพลงนี้ชื่อ “ลาก่อนสำหรับวันนี้ เป็นผลงานของสามศิลปินแห่งชาติ คำร้อง ชาลี อินทรวิจิตร ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน ขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง


“ลาก่อน แล้วอย่าโศกศัลย์

คิดถึงกัน ทุกวันดีกว่า

จำจาก ไปเพราะเวลา

หวังว่าคุณคงเห็นใจ...”





ครูสมาน ครูสง่า และ ครูชาลี
ภาพจาก komchadluek.net และ บล็อกคุณก๋งแก่(หง่อมจริง ๆ)


ไม่น้อยกว่า ๕๐ ปีมาแล้วที่เราจะได้เคยฟังเพลงนี้จากรายการเพลงทางวิทยุทั่วประเทศ ที่นักจัดรายการเพลงทางวิทยุมักจะนำมาเปิดในตอนท้ายของแต่ละรายการ พร้อมกับการกล่าวอำลาแฟนเพลงช่วงใกล้จะจบรายการ แต่เมื่อมาถึงวันนี้ เพลงนี้คงจะต้องนำมาเปิดในช่วงต้นรายการของแต่ละรายการเพื่อประกอบคำไว้อาลัยด้วยใจรักในชายคนนี้ที่ชื่อ สุเทพ วงศ์กำแหง


“ให้อายุยืน หมื่นปี

ให้ราศี งามแจ่มใส

ให้คนรัก ทั่วทั่วไป

ให้โพยภัย พินาศพลัน...”





ภาพจาก sanook.com


และเมื่อเวลา ๑๖.๓๐ น. วันศุกร์ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ณ ศาลาพระครูประจักษ์ วัดธาตุทอง กรุงเทพฯ ได้มีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพและรดน้ำศพแก่ เรืออากาศตรีสุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) ปี ๒๕๓๓ หลังถึงแก่กรรมด้วยโรคชราในวัย ๘๖ ปี เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่บ้านเลขที่ ๒๖๗ ซอยปรีดีพนมยงค์ ๔๒ แยก ๗ แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ




บรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยความอาลัยรักของญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท ศิลปินแห่งชาติ และคนในวงการบันเทิง ที่มาร่วมแสดงความเสียใจกับครอบครัว นำโดย นายชวน หลีกภัย ประธานสภา และอดีตนายกรัฐมนตรี, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มาร่วมแสดงความไว้อาลัย รวมถึงศิลปินแห่งชาติ ครูชาลี อินทรวิจิตร, นายชรินทร์ นันทนาคร, สมบูรณ์สุข นิยมศิริ (เปี๊ยก โปสเตอร์), ครูนคร ถนอมทรัพย์, ครูพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตร, วิรัช อยู่ถาวร, วินัย พันธุรักษ์, สดใส ร่มโพธิ์ทอง, นันทวัน เมฆใหญ่, ศรีไศล สุชาติวุฒิ, วงจันทร์ ไพโรจน์, ธานินทร์ อินทรเทพ, ฎากร เทพทอง, พรเทพ เทพรัตน์, โฉมฉาย อรุณฉาน, ทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล, จิตติมา เจือใจ, นฤพนธ์ ดุริยพันธ์, รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส, สุชาติ ชวางกูล, เท่ห์-อุเทน พรหมมินทร์, นฤมล ล้อมทอง กรรมการผู้จัดการ ศาลาเฉลิมกรุง รวมถึงบรรดาแฟนเพลงเข้าร่วมพิธีรดน้ำศพอย่างคับคั่ง




กำหนดการสวดพระอภิธรรมศพ เรืออากาศตรีสุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) ปี ๒๕๓๓ ณ ศาลาพระครูประจักษ์ วัดธาตุทอง เขตวัฒนา กรุงเทพฯ รดน้ำศพ/พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ วันศุกร์ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ รดน้ำศพเวลา ๑๕.๐๐ น. พระราชทานน้ำหลวงอาบศพเวลา ๑๗.๐๐ น. สวดพระอภิธรรมวันศุกร์ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ถึงวันพฤหัสบดีที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๙.๐๐ น.




โดยจะมีวงดนตรีอาลัยจาก ๓ วงดนตรี วงกาญจนะผลิน, วงเฉลิมราชย์ และวงดนตรี กรมประชาสัมพันธ์ สลับแสดงดนตรีเพื่อเป็นการไว้อาลัย จากนั้นจะเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศล ๑๐๐ วัน และ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จะดำเนินการของพระราชทานเพลิงศพต่อไป


“ลาก่อน สำหรับวันนี้

ขอลาที ทั้งที่ตื้นตัน

จนกว่า จะถึงวันนั้น

หวังเจอะกัน วันนั้นเอย”



ข้อมูลจากนสพ.แทบลอยด์ไทยโพสต์ ๑-๗ มีนาคม ๒๕๖๓












"เรืออากาศตรี สุเทพ วงศ์กำแหง" เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ พ.ค. ๒๔๗๗ ที่จ.นครราชสีมา รับการศึกษาตั้งแต่เบื้องต้นจนจบชั้น ม. ๖ ที่จังหวัดบ้านเกิด โดยหลังจบ ม. ๖ ก็ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่กับญาติที่กทม. และด้วยนิสัยรักการวาดเขียนและงานศิลปะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงได้สมัครเข้าเรียนต่อที่รร.เพาะช่าง ซึ่งระหว่างที่เรียนอยู่ นอกจากท่านจะแสดงฝีมืออย่างโดดเด่นในทางศิลปะแล้ว ยังเป็นนักร้องเสียงดีประจำห้องเรียนอีกด้วย




คุณสุเทพ ได้มีโอกาสรู้จักและคุ้นเคยกับ ครูไศล ไกรเลิศ นักแต่งเพลงผู้มีชื่อเสียง เนื่องจากบ้านอยู่ใกล้กัน เมื่อ ครูไศล มองเห็นแววความสามารถของ คุณสุเทพ ก็คิดจะช่วยสนับสนุนส่งเสริม จึงชักชวนให้มาช่วยงาน เช่น ช่วยเขียนโน้ตเพลง เขียนตัวหนังสือ ตลอดจนติดตามไปช่วยงานในธุรกิจบันเทิงต่าง ๆ เสมอ ทั้งยังได้รับโอกาสให้ร้องเพลงสลับฉากละคร ร้องเพลงตามงานบันเทิงต่าง ๆ รวมไปถึงการทดลองเสียงแทนนักร้องตัวจริงก่อนที่จะทำการอัดเสียงเสมอ จนได้รับคัดเลือกให้ร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงของตนเองบ้าง




ต่อมาท่านได้รับการสนับสนุนจาก พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ชื่นชอบการร้องเพลงของท่าน โดยช่วยส่งเสริมท่านในทางต่าง ๆ ทั้งยังชักชวนให้เข้ารับราชการในกองทัพอากาศ โดยได้ประจำอยู่ที่วงดุริยางค์ทหารอากาศ โดยมี ครูปรีชา เมตไตรย์ เป็นผู้ควบคุมวง ระหว่างนั้น คุณสุเทพได้บันทึกแผ่นเสียงมากขึ้นอีก และสถานีวิทยุต่าง ๆ ก็ได้นำเพลงที่ท่านร้องบันทึกแผ่นเสียงนี้ไปเปิดจนเป็นที่รู้จักแพร่หลายอย่างรวดเร็ว




ภายหลังจากออกจากกองทัพอากาศแล้ว คุณสุเทพก็ได้ร้องเพลงเป็นอาชีพหลักอย่างเต็มตัว ได้เข้าร่วมกับคณะชื่นชุมนุมศิลปิน และได้มีโอกาสร้องเพลงทั้งในรายการวิทยุและโทรทัศน์อยู่เนือง ๆ ทำให้ชื่อเสียงเพิ่มขึ้น ได้ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ไทยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งได้ร่วมแสดงภาพยนตร์บางเรื่อง ทำให้ท่านเป็นนักร้องที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงภายในระยะเวลารวดเร็ว จนได้รับฉายาจาก รงค์ วงษ์สวรรค์ ว่า "นักร้องเสียงขยี้แพรบนฟองเบียร์" มีผลงานดีเด่นเป็นเวลาต่อเนื่องมานานกว่า ๔๐ ปี




สำหรับ รางวัลเชิดชูเกียรติตลอดชีวิตในวงการบันเทิงนั้น "คุณสุเทพ วงศ์กำแหง" ได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ไม่น้อยกว่า ๕ ครั้ง รางวัลเสาอากาศทองคำในฐานะนักร้องยอดเยี่ยม ๒ ครั้ง และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล – ขับร้อง) ในปีพ.ศ. ๒๕๓๓




นอกจากนี้ ในด้านการเมือง "สุเทพ วงศ์กำแหง" เป็นศิลปินที่สนใจการเมือง มีส่วนสนับสนุนนักศึกษาให้เรียกร้องประชาธิปไตยสมัยเหตุการณ์ ๑๔ ต.ค. พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นสมาชิกพรรคแนวร่วมสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ต่อมาได้ได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคพลังใหม่ และได้รับเลือกตั้งหลายสมัย




โดยในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เคยเข้าร่วมก่อตั้งและเป็นเลขาธิการพรรคพลังใหม่ ซึ่งนำโดยนายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ หัวหน้าพรรค ร้อยตรีสมหวัง ศรีชัย รองหัวหน้าพรรค และแกนนำคนสำคัญอาทิเช่น ชัชวาลย์ ชมภูแดง บรรลือ ชำนาญกิจ ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรคกิจประชาคม

ทั้งนี้ "สุเทพ" เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคพลังธรรม ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้ร่วมลงนามทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน เมื่อวันที่ ๕ มี.ค. พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยอ้างอิงความตามมาตรา ๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ อีกด้วย






ข้อมูลจาก wikipedia.org









หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ นอกจากจะประสบความสำเร็จเป็นนักร้องชื่อดังแล้ว ครั้งหนึ่งท่านยังเคยเป็นนักเขียน เขียนเรื่องราวประสบการณ์ส่วนตัวลงในนิตยสารบันเทิงหลายเล่ม และยังเป็นนักแสดงละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ เรื่องที่อยู่ในความทรงจำ ได้แก่เรื่อง สวรรค์มืด, ขบวนการเสรีจีน




ผู้เขียนกลับไปอ่านนิตยสารบันเทิงในอดีตหลายเล่มที่เก็บไว้ เจอข้อเขียนของ สุเทพ วงศ์กำแหง บ่อยครั้ง อย่างตอนหนึ่งที่สุเทพเขียนลงในนิตยสารดาราฉบับ ๑ มกราคม ๒๕๐๑ ในหัวข้อ ‘สุเทพ วงศ์กำแหง เขียนผมยังรักคุณไม่คลาย’ เมื่อสมัยหนึ่ง ที่โรงเรียนเพาะช่าง ชีวิตของผมรุ่งโรจน์ขึ้นที่นั่น ด้วยอาชีพช่างเขียนที่บรรยายความเพ้อฝันลงบนแผ่นผ้า ชีวิตอิสระและการทำงานเพื่อประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่ผมรักมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ดังนั้น ผมจึงได้ความรู้อันแตกฉานมาจากสถานศึกษาแห่งนี้เต็มที่ ชีวิตของช่างเขียนหรือดาราก็มีจุดหมายเหมือน ๆ กัน นั่นคือการเสนองานออกสู่ประชาชนให้ได้รับความบันเทิงและพึงพอใจ ผมเองหวังแต่เพียงว่าอย่างมากก็เป็นเพียงช่างเขียนเท่านั้นเอง เห็นจะไม่มีทางอื่นอีกแล้วที่จะก้าวเข้าไปทำหน้าที่ให้ความพึงใจกับคุณดีกว่านั้นแน่







แต่แล้วผมก็ไปถึง เมื่อ ไสล ไกรเลิศ ผู้ได้หมุนเข็มชีวิตของผมไปเสียอีกทางหนึ่ง ด้วยเสียงของผมเอง เพลงคนธรรพ์รำพึง จึงได้รับการต้อนรับจากประชาชนผู้อารีอย่างคับคั่ง หัวใจผมพองโตจนคับอก ถ้าจะบรรยาย ก็เห็นจะหลายสมุดเล่มไทสำหรับความปิติครั้งนั้น ชีวิตผมหมุนไปสู่ความรุ่งโรจน์ในอาชีพนักร้องอย่างรวดเร็ว ผมแทบจะไม่มีเวลาเป็นตัวของตัวเองเลย จากเวทีนี้ไปสู่เวทีนั้น ทั้งแผ่นเสียง ละคร ตลอดจนถึงการปรากฏกายในภาพยนตร์ เพราะคุณเท่านั้นที่เป็นแรงผลักดันให้ชีวิตผมเด่นชัดถึงเพียงนี้ คุณยังรักผมไม่คลายต่างหาก ผมจึงต้องรักคุณไม่คลายดุจเดียวกัน







สุเทพ วงศ์กำแหง เข้าสู่วงการละครเวทีโดย สุวัฒน์ วรดิลก นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์อาวุโส ให้แสดงคู่กับ เยาวนารถ ปัญญะโชติ ในละครประวัติศาสตร์สมัยพระเจ้าตากสิน เรื่องจอมดาบพิชัยสงคราม สุเทพเคยให้สัมภาษณ์ว่า เหนื่อยตรงฉากฟันดาบเพราะเขาใช้ดาบจริง ต้องระมัดระวัง พอแสดงไปก็ชักชิน แสดงตามธรรมชาติ เคยมีนักข่าวถาม สุเทพ ว่าชอบแสดงหนังหรือละครมากกว่า สุเทพตอบว่าชอบแสดงหนังมากกว่า เริ่มจากเป็นดาราประกอบในเรื่อง ‘ก่อนอรุณจะรุ่ง’ ของประภาพรรณ นาคทอง เรื่องที่สองคือ ‘วิมานรัก’




เรื่องที่สามคือ ‘สวรรค์มืด’ ของบริษัทกัญชลาภาพยนตร์ฯ สวรรค์มืด ภาพยนตร์เสียงสี ๓๕ มม. จากบทประพันธ์ละครโทรทัศน์ของ สุวัฒน์ วรดิลก นำแสดงโดย สุเทพ วงศ์กำแหง, สืบเนื่อง กันภัย, เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, ชาลี อินทรวิจิตร, อดิศักดิ์ เศวตนันท์, พูลสวัสดิ์ ธีมากร และชูศรี มีสมมนต์ กำกับการแสดงโดย รัตน์ เปสตันยี กำกับภาพโดย ประสาท สุขุม ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย ม.จ.ไกรสิงห์ วุฒิชัย ออกโดย อุไร ศิริสมบัติ, ปง อัศวินิกุล บันทึกเสียง ปัจจุบันเขายังมีชีวิตอยู่




หนังฉายที่เฉลิมกรุงและเฉลิมบุรี กลางเดือนมกราคม ๒๕๐๑ สวรรค์มืด เล่าเรื่องราวเของเนียร นำแสดงโดย สืบเนื่อง กันภัย สาวกำพร้าไปขโมยอาหารของเศรษฐีคนหนึ่งซึ่งตั้งใจซื้อไปเลี้ยงสุนัขที่บ้าน เธอวิ่งหนีตำรวจหลบไปอยู่ในรถเก็บขยะของชูวิทย์ คนเก็บขยะ นำแสดงโดย สุเทพ วงศ์กำแหง ชูวิทย์พาเนียรไปซ่อนที่บ้าน ทั้งสองเกิดหลงรักกัน จนกระทั่งชูวิทย์ถูกเกณฑ์ทหาร ถูกส่งไปรบและถูกสะเก็ดระเบิดจนตาบอด ขณะเดียวกันเนียรได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากเศรษฐีหญิงใจบุญ เมื่อชูวิทย์กลับมาหาเนียร เธอทำตัวไม่ถูก ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป







อีกเรื่องหนึ่งที่ยังคงความประทับใจกับหลาย ๆ คน ได้แก่ ‘ขบวนการเสรีจีน’ จากบทประพันธ์ของ สด กูรมะโรหิต เป็นหนังขาวดำ ๓๕ มม. เสียงในฟิลม์ อำนวยการสร้างโดย คันจราภาพยนตร์, ประสาท สุขุม ถ่ายภาพ, ลัดดา สารตายน เป็นผู้กำกับม ผู้แสดงได้แก่ มิสคูมี่, สุเทพ วงศ์กำแหง, สวลี ผกาพันธุ์, อดิศักดิ์ เศวตนันท์, ประจวบ ฤกษ์ยามดี, ศรินทิพย์ ศิริวรรณ, อดิเรก จันทร์เรือง ‘ขบวนการเสรีจีน’ เป็นภาพยนตร์ชีวิตการต่อสู้ของนักศึกษาจีนผู้มีความรักชาติเหนือสิ่งอื่นใดในช่วงญี่ปุ่นยึดครอง ‘ขบวนการเสรีจีน’ ฉายที่โรงภาพยนตร์คาเธ่ย์ เยาวราช ในวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๐๑ หนังได้รับรางวัลตุ๊กตาทองบทประพันธ์ยอดเยี่ยมโดย สด กูรมะโรหิต และดาราประกอบหญิงยอดเยี่ยมมอบให้กับ ศิรินทิพย์ ศิริวรรณ ทางบริษัทคาเธ่ย์ออร์กาไนเซชันซื้อภาพยนตร์เรื่องนี้จัดจำหน่ายทั่วเอเชีย









แด่.. “พี่เทพ” ครูที่แสนดี
โดย ธานินทร์ อินทรเทพ



เช้ามืด ๒๗ ก.พ. เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น..ใครวะ โทรมาแต่เช้า...

“พี่เล็ก” เสียงจากปลายสายดูร้อนรน.. “พี่เทพ เสียแล้วตอนตี ๔”

เฮ้ย! เราใจหายวูบ ทั้ง ๆ ที่ได้พยายามทำใจอยู่บ้าง เพราะปีที่แล้ว พี่เทพ เข้าๆ ออก ๆ รพ. อยู่ประจำ แต่ก็ไม่นึกเลยว่าจะรวดเร็วจนตั้งตัวไม่ทัน จากนั้นภาพความหลังเก่า ๆ ก็ผุดขึ้นมาเต็มในหัว

ย้อนอดีต ปลายปี ๒๕๐๔ พี่เทพ ไปงานวันเกิด อาพยงค์ มุกดา ครูคนแรกของผมที่ตึก มุกดา ดุริยางค์ แถวสามแยกไฟฉาย ฝั่งธนฯ




อาพยงค์ พูดกับ พี่เทพ ว่า.. “เทพ พี่ฝากลูกศิษย์คนนึง ชื่อ ธานินทร์ ชอบ เทพ มาก ร้องแต่เพลง เทพ พี่ฝากให้ เทพ ช่วยสนับสนุนต่อ ถ้าอยู่กับพี่คงไปได้ไม่ไกล เพราะวงดนตรีของพี่ต้องเดินสายออกต่างจังหวัดบ่อย คงไม่เหมาะกับแนวเพลงที่เค้าร้อง”

พี่เทพ มองหน้าผม แล้ว อาพยงค์ ก็เปิดเพลงที่อัดเสียงผมไว้ ให้ พี่เทพ ฟัง พี่เทพ ฟังแล้วบอกโอเค. แต่มีข้อแม้เรื่องชื่อ ธานินทร์ อินทรแจ้ง ต้องเปลี่ยนเป็น “ธานินทร์ อินทรเทพ” ซึ่ง อาพยงค์ ก็ไม่มีข้อแม้แต่อย่างใด




ผมหิ้วกระเป๋าเสื้อผ้ามาอยู่กับ พี่เทพ ที่ซอยจันทโรจน์วงค์ ย่านถนนพหลโยธิน และ พี่เทพ ก็พาไปออกงานที่ พี่เทพ ไปร้องตลอด โดยแนะนำผมให้แฟนเพลงรู้จัก และว่า นี่คือตัวแทนของ พี่เทพ ในอนาคต

พี่เทพ พาผมไปร้อง นาทูริสต์ ไนท์คลับ ถนนสาทรใต้ ซึ่ง พี่เทพ ร้องอยู่ประจำ จน อาจารย์แมนรัตน์ มาได้ยินผมร้องเพลง “รักเอย” ที่ท่านแต่ง จึงบอก พี่เทพ ว่าให้นำเพลงนี้ไปอัดเสียง โดยให้ผมร้อง

นั่นคือการบันทึกเสียงเพลงแรกเมื่อมาอยู่กับ พี่เทพ




ช่วงนั้น พี่เทพ เป็นสุดยอดนักร้องในประเทศไทย นักแต่งเพลงไม่ว่าเก่าหรือใหม่ก็อยากให้ พี่เทพ ร้องเพลงที่ตัวเองแต่งกันทั้งนั้น

มีนักแต่งเพลงมือใหม่ชื่อ จงรัก จันทร์คณา เอาเพลงมาให้ พี่เทพ ร้อง เพลง “เหมือนคนละฟากฟ้า” พี่เทพ บอกว่า "เพลงพี่ฮิทมากมายแล้ว เพลงนี้น่าจะให้ ธานินทร์ ร้อง รับรองดังแน่ จะเป็นการสานต่อให้ ธานินทร์"




แล้วก็เป็นจริง..เพลงนี้ได้รับรางวัล “แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน” ปี ๒๕๐๗

จากถนนพหลโยธิน พี่เทพ ได้ย้ายไปอยู่ซอยสวนพลู ทุ่งมหาเมฆ และที่นั่น คือจุดเริ่มต้นของการรวมตัว “สุเทพโชว์” ก็มีพี่เทพ, พี่อ๊อด-อดิเรก จันทร์เรือง, พี่ปื๊ด-ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา, อดุลย์ กรีน แล้วก็ผม-เด็กสุด




ความเป็นครูของ พี่เทพ ไม่ใช่แค่ให้ความรู้ในการร้องเพลงอย่างเดียว เวลาพาไปทานอาหารตามโรงแรมหรู ๆ ใหญ่ ๆ พี่เทพ จะคอยสอนวิธีการกินอาหารด้วยเอาใจใส่ ช้อนควรถืออย่างไร ส้อมควรถือยังไง เวลาตักซุปควรตักอย่างไร แม้กระทั่งเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ พี่เทพ ก็จะคอยแนะนำอยู่ตลอด




ช่วงหนึ่ง พี่เทพ หันไปเล่นการเมือง เป็นส.ส.อยู่พักใหญ่ แต่คงด้วยได้เห็นสัจธรรมบ้างอย่าง จึงได้กลับมาร้องเพลงอีก ซึ่งแฟน ๆ ก็ยังคงให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

เมื่อสัก ๕-๖ ปีที่ผ่านมา ทรูฯ จะจัดคอนเสิร์ต “สามตำนานเพลงรักแห่งสยาม” โดยจะรวม พี่เทพ, พี่ชรินทร์ นันทนาคร และผมเป็นครั้งแรกบนเวที แต่ไม่สามารถจะเจรจาให้พี่ทั้งสองร่วมเล่นคอนเสิร์ทเวทีเดียวกันได้ เหตุผลใครไม่รู้ แต่ผมรู้!




ทรูฯ จึงมอบให้ผมเป็นคนเจรจา ซึ่งก็ต้องบอกล่ะว่า.. พี่เทพ ง่าย ไม่มีปัญหา ส่วน พี่ชรินทร์ ยากมาก สารพัดเรื่อง ผมเทียวไปเทียวมาบ้าน พี่ชรินทร์ อยู่หลายรอบ จน พี่ชรินทร์ บอกว่า “ธานินทร์ มีปัญหาเรื่องเงินเอาที่เรา”

ผมตอบไปว่า “พี่ให้ผม ๆ ไม่มีปัญญาคืนพี่หรอก พี่ไปร้องเพลงร่วมกับผมกับพี่เทพดีกว่า”

แกก็ไม่ตอบ จนในที่สุดผมเอาเงินมัดจำไปให้ที่บ้าน พี่ชรินทร์ บอกว่า “อย่าเอาเงินมามัดมือเรา พี่อี๊ด-เพชรา นั่งอยู่ใกล้ ๆ ได้ยินจึงบอกกับผม “เล็ก เค้าไม่เอา มาให้พี่” เท่านั้นแหละ จึงได้เกิดคอนเสิร์ต “สามตำนานเพลงรักแห่งสยาม”

โดยในวันที่แถลงข่าว พิธีกรได้สัมภาษณ์ พี่ชรินทร์ ว่า มาคอนเสิร์ตนี้ได้อย่างไร? พี่ชรินทร์ตอบ “ไม่รู้มาได้ไง เพชรา ซิ เค้ารัก ธานินทร์ เราถึงต้องมา”




หลังจบคอนเสิร์ต “สามตำนานเพลงรักแห่งสยาม” พี่เทพ-พี่ชรินทร์ ก็กลับมารักกันเหมือนเดิม ไปไหนไปด้วยกัน จนถึงวันที่ พี่เทพ มาจากไป

พี่เทพ ครับ... ผมรู้ว่า พี่เทพ รักผม และพี่ก็รู้ คนใกล้ชิดพี่ก็รู้ว่าผมรักเคารพพี่เพียงใด

พี่ครับ..พี่เหนื่อยมาพอแล้วหลับให้สบายเถิดครับ ทุกคนเสียใจอาลัยพี่

เช้าวันที่พี่จากไป ท้องฟ้ามืดครึ้มทั้งที่ไม่ใช่ฤดูของมัน…

แม้แต่ฟ้ายังรํ่าไห้กับ “ครูที่แสนดี!"


ข้อมูลจาก เพจ Anjali Jumnong







รวมเพลงประทับใจ (๑) สุเทพ วงศ์กำแหง




เพลงแห่งความทรงจำ สุเทพ วงศ์กำแหง (๑)




เพลงแห่งความทรงจำ สุเทพ วงศ์กำแหง (๒)









บีจีจากคุณจอมแก่นแสนซน กรอบจากคุณ goffymew ไลน์จากคุณญามี่

Free TextEditor





Create Date : 05 พฤษภาคม 2563
Last Update : 7 พฤษภาคม 2563 21:09:39 น.
Counter : 5991 Pageviews.

0 comments

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณโอน่าจอมซ่าส์, คุณสองแผ่นดิน, คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณปรศุราม, คุณSai Eeuu, คุณอาจารย์สุวิมล, คุณtoor36, คุณThe Kop Civil, คุณSweet_pills, คุณnewyorknurse, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณกะว่าก๋า, คุณSleepless Sea, คุณภาวิดา คนบ้านป่า, คุณตะลีกีปัส, คุณเริงฤดีนะ, คุณInsignia_Museum, คุณสันตะวาใบข้าว, คุณmariabamboo, คุณวลีลักษณา, คุณอุ้มสี, คุณหอมกร, คุณ**mp5**, คุณที่เห็นและเป็นมา, คุณkae+aoe, คุณmcayenne94, คุณTui Laksi, คุณไวน์กับสายน้ำ, คุณALDI, คุณชีริว, คุณkatoy, คุณร่มไม้เย็น, คุณnonnoiGiwGiw, คุณทุเรียนกวน ป่วนรัก, คุณบาบิบูเบะ...แปลงกายเป็นบูริน, คุณนกสีเทา, คุณOldbuff 1222, คุณทนายอ้วน


Haiku.BlogGang.com

haiku
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]

บทความทั้งหมด