Group Blog
 
 
ธันวาคม 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
18 ธันวาคม 2550
 
All Blogs
 
เครื่องปรุง และส่วนประกอบต่าง ๆ ของอาหารญี่ปุ่น....1

สวัสดีค่ะ....ทุก ๆ ท่านที่แวะเข้ามาเยี่ยมชม

กระทู้นี้.....จะเป็นการแนะนำ เครื่องปรุงและส่วนประกอบต่าง ๆ ที่มักจะใช้ในการปรุงอาหารญี่ปุ่นทั่ว ๆ ไป ซึ่งคิดว่า...เพื่อน ๆ น่าจะรู้ไว้บ้าง....เผื่อในเวลาที่ได้ไปอ่านสูตรอาหารญี่ปุ่น แล้วเห็นชื่อของเครื่องปรุงต่าง ๆ อาจจะเกิดความสงสัย ว่าหน้าตามันเป็นอย่างไร และจะได้ไม่เกิดความผิดพลาดในการไปเลือกซื้อ ทำให้เสียตังค์โดยสิ้นเปล่านะคะ

หมายเหตุ.....ที่นำมาโพสนี้....เป็นเพียงแค่ตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น เพราะมันมีหลายหลายยี่ห้อ และขนาดบรรจุ อีกทั้งคงจะต้องค่อย ๆ ทยอยนำมาโพสฝากกันเรื่อย ๆ นะคะ

รูปภาพที่นำมาประกอบ.....ส่วนใหญ่เสริท์หามาได้จาก //www.google.co.jp/
ขอขอบคุณ...ท่านเจ้ารูปทุกรูปไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ


ซีอิ้วญี่ปุ่น - Soy Sauce // Soy Bean Sauce

โชหยุ ( Shoyu - 醤油 / しょうゆ)


คือ....ถั่วเหลืองที่นึ่งสุก นำมาหมักกับเกลือ ผ่านกระบวนการผลิตจนเป็น น้ำซีอิ้วอย่างที่เราเห็นกัน ซึ่งเป็นเครื่องปรุงหลักในการทำอาหารญี่ปุ่นแทบทุกประเภท เรียกได้ว่า....เป็นเครื่องปรุงรส อเนกประสงค์ทีเดียวเชียวแระค้า ที่ทุกบ้านต้องมีติดครัวเอาไว้ ((เหมือนน้ำปลาของไทยเรา)) สามารถนำมาใช้ โดยการใส่ปรุงรสในอาหารแทบทุกชนิด หรือ นำมาผสมทำน้ำจิ้ม น้ำสลัด ฯลฯ

พอดีไปอ่านเจอประวัติและเกร็ดย่อยต่าง ๆ ของโชหยุ เห็นว่าน่าสนใจ ....ก็เลยเก็บมาฝากเพื่อน ๆ กันค่ะ ลิงค์นี้ค่ะ //ja.wikipedia.org/wiki/%E9%86%A4%E6%B2%B9

จุดเริ่มต้นของ....โชหยุ....เกิดขึ้นที่ประเทศจีนย้อนหลังไป 1 พันกว่าปี โดยพระชาวญี่ปุ่นที่ได้ไปเล่าเรียนเรื่องพุทธศาสนาในประเทศจีน ได้นำสูตรการทำซีอิ๊ว และเต้าเจี้ยว กลับมาใช้ในประเทศตัวเองบ้าง ประมาณศตวรรตที่ 13 โดยเริ่มแรกนั้น...จะเรียก "เต้าเจี้ยว... ว่า..... ทะมะริ มิโซะ (Tamari Miso)" และ "ซีอิ๊ว..... ว่า..... ทะมะริ โชหยุ (Tamari Shoyu) " ซึ่งต่อมาก็กร่อนเสียง เหลือแค่เพียง " มิโซะ (Miso)" และ " โชหยุ (Shoyu) " อย่างที่เรียกกันในปัจจุบันนี้

ในสมัยนั้น.....โชหยุไม่ใช่ของแพร่หลาย หากแต่เป็นของแพงและหายาก (ไม่มีการจำหน่าย) ซึ่งจะผลิตใช้กันแต่ในบ้าน (ซึ่งที่จริงก็คือ...ประสาท , ราชวัง) ของตัวเองเท่านั้น และใช้กันแต่ในหมู่ชนชั้นสูง เช่น ซามุไร และ โชกุน สูตรและวิธีการผลิตโชหยุ จึงเป็นของหวงแหนและตกทอดกันในตระกูลเท่านั้น ดังนั้น.... โชหยุของญี่ปุ่น จึงมีความหลากหลาย แตกต่างกันมากมายตามแต่ละสูตรของแต่ละตระกูล

ประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น....ผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในประเทศ คือ ซามุไรผู้รวบรวมกำลังไพร่พลและอำนาจได้มากที่สุด และได้ทำการสถาปนาตัวเองขึ้นเป็น "โชกุน" ดังนั้นตำแหน่งโชกุน จึงมีการผลัดเปลี่ยนกันไปตามการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ ในปี ค.ศ.1598 อิเอยะสุ โตกุกาวา (Ieyasu Tokugawa) คนนี้แระค้า....ที่เราเคยได้ดูจากการ์ตูนเรื่องอิคิวซัง ได้ต่อสู้รวบรวมอำนาจ และสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นโชกุน แทนตระกูล โตโยโตมิ (Toyotomi) ซึ่งเป็นโชกุนคนก่อน

ตระกูลมากิ (Maki) ซึ่งเป็นซามุไรคนสนิทและรับใช้ตระกูล โตโยโตมิ (โชกุนคนก่อน) มานาน หัวหน้าของตระกูลจึงต้องทำฮาราคีรี (การคว้านท้อง) ฆ่าตัวตายตามไปด้วย ภรรยาและลูก ได้พากันหลบหนีออกจากปราสาทของตระกูล และต้องเปลี่ยนชื่อแซ่ของตัวเอง เพื่อป้องกันการไล่ล่า และจะได้ไม่มีใครจำได้ เป็น โมกิ (Mogi) ได้เดินทางจาก เมืองเอโดะ (Edo) ไปอาศัยที่เมืองโนดะ (Noda) พร้อมกับทำการเปิดกิจการผลิตและขาย โชหยุ สูตรต้นตระกูลของตัวเองขึ้น

กิจการของตระกูลโมกิเจริญก้าวหน้าอย่างยิ่ง เพราะว่า เป็นครั้งแรกที่มีการผลิตและนำโชหยุออกจำหน่าย ขายให้ประชาชนทั่วไป ตระกูลโมกิ กลายเป็นตระกูลพ่อค้าที่ร่ำรวยขึ้น ทำให้มีซามุไรอีกหลายตระกูล ได้พากันนำโชหยุสูตรของตัวเอง ออกมาผลิตขายบ้าง โดยเฉพาะในเมืองโนดะ มีการตั้งชมรมผู้ผลิตโชหยุขึ้น โดยรวบรวมผู้ผลิตโชหยุกว่า 200 สูตร ทำให้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งบริษัทผลิตโชหยุ ที่เรารู้จักกันดีทั่วโลกในชื่อ คิโคแมน (Kikkoman) ขืนปล่อยให้โม้ คงไม่ต้องโพสกัน...แฮ่ๆๆๆๆ ขอจบประวัติศาสตร์ไว้เพียงแค่นี้ก่อนดีกว่า

เรามาดู ซีอิ้วญี่ปุ่น -โชหยุ (しょうゆ / 醤油)....แบบต่าง ๆ ที่นิยมใช้กันดีกว่าค่ะ

1). โชหยุ..แบบทั่วไปที่ใช้ในครัวเรือน (โคอิคุจิ - 濃口しょうゆ).....มีสีค่อนข้างคล้ำออกดำ ใช้สำหรับทำอาหารทั่ว ๆ ไป เมื่อนำไปเป็นส่วนประกอบอาหาร สีของอาหารที่ได้ จะออกสีคล้ำขึ้นเล็กน้อย



*ในสูตรอาหารญี่ปุ่น....ถ้าไม่ระบุว่าให้ใช้.....โชหยุประเภทไหน ก็ให้เลือกใช้แบบนี้ได้เลยค่ะ

2). โชหยุสีอ่อน (อุซุคุจิ โชหยุ - 薄口しょうゆ).......มีสีค่อนข้างอ่อน (สีใกล้เคียงกับซีอิ้วขาวบ้านเรา แต่เค็มน้อยกว่า) มีเปอร์เซ็นต์ของเกลือค่อนข้างสูงกว่าแบบที่ 1 (รสจะเค็มกว่า) ใช้สำหรับปรุงอาหาร ที่ไม่ต้องการให้อาหารมีสีดูคล้ำ เช่น ไข่ตุ๋นญี่ปุ่น - ชาวัน มูฉิ (Chawan Mushi) , ไข่ทอดแบบญี่ปุ่น (ไข่ม้วน) , ผักรวมมิตรตุ๋น ฯลฯ

*ในกรณีที่สูตรอาหารระบุไว้ว่า....ต้องใช้โชหยุ ประเภทนี้ แต่เราไม่มี สามารถใช้ โชหยุแบบที่ 1 แทนได้ แต่สีของอาหารจะดูของคล้ำกว่าปกติ ซึ่งดูแล้วจะไม่ค่อยสวย น่ากินเท่าที่ควร



นำตัวอย่างของโชหยุ...ทั้ง 2 แบบมาให้ชม เพื่อเปรียบเทียบสีค่ะ



3). โชหยุสำหรับจิ้มปลาดิบ (ซาชิมิ โชหยุ - さしみしょうゆ/ さしみ醤油)..... เป็นโชหยุ เกรดดี (ราคาค่อนข้างแพงหน่อย) มีสีอ่อน รสไม่ค่อยเค็ม ออกหวานนิด ๆ นิยมนำไปผสมกับวาซาบิ (เพียงเล็กน้อย) หรือ ดอกชิโซ สำหรับจิ้มพวกซาชิมิ (ปลาดิบ หรืออาหารดิบต่าง ๆ ) , จิ้มกับข้าวปั้นซูชิ (ข้าวเปรี้ยวปั้น หน้าปลาดิบต่าง ๆ ) หลังจากเปิดใช้แล้ว ควรเก็บไว้ในตู้เย็น

* ถ้าไม่มี....สามารถใช้โชหยุแบบที่ 1แทนได้ค่ะ



เพื่อน ๆ ลองดูสี เปรียบเทียบกันระหว่างโชหยุแบบต่าง ๆ กันดูนะคะ (ดูได้จากหมายเลขที่กำกับไว้) เฉพาะขวดที่ 4 เป็นโชหยุแบบที่เค้านิยมนำเอาไว้เหยาะโรยหน้าอาหาร



ปัจจุบันนี้.....มี " โชหยุ "....หลายหลายรูปแบบ (ลักษณะของถั่วเหลือง และปริมาณของเกลือ ที่นำมาผลิต) ให้เลือกซื้อตามความชอบของผู้บริโภค สนใจดูรายละเอียดและรูปประกอบเพิ่มเติมของโชหยุ....ที่มีจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นได้ที่ Kikkoman Shoyu ค่ะ


เหล้าสาเก หรือ นิฮน ชู (Sake - 酒 // Nihon Shu - 日本酒)

คือ....เหล้าที่ได้จากการหมักข้าวญี่ปุ่น ผ่านกระบวนการกลั่นกรอง จะมีสีใส รสหอมหวาน (แต่บางชนิดก็ไม่หวาน)....สามารถนำมาดื่มได้ทั้งแบบแช่ให้เย็น หรือนำไปอุ่นพอร้อน เพื่อดื่มแก้หนาว.....ในอาหารญี่ปุ่นหลายหลายชนิด นิยมใช้เหล้าสาเกมาเป็นส่วนประกอบของเครื่องปรุง เพื่อทำให้อาหารนุ่ม และมีรสอร่อยขึ้น


ปัจจุบันนี้....ตามซุปเปอร์มาเก็ตทั่วไป มีเหล้าสาเกแบบสำหรับไว้มาปรุงอาหารโดยเฉพาะ (ราคาค่อนข้างถูก) ที่เรียกว่า เรียวริสาเก (Ryouri Sake / Cooking Sake -料理酒) ซึ่งอันที่จริง.....เราสามารถจะนำเอาเหล้าสาเกแบบสำหรับดื่ม มาปรุงอาหารได้เช่นกัน...แต่จะทำให้มีต้นทุนของอาหารแพงขึ้น ซึ่งสิ้นเปลืองตังค์โดยใช่เหตุ

*ในกรณีที่ไม่มี..... สามารถใช้เหล้าไวน์ขาวแบบที่ไม่มีรสเจือ (ฝาด) ทดแทนได้ค่ะ




เหล้าหวานมิริน ( Mirin- みりん)

บางยี่ห้อก็จะเขียนว่า " ฮงมิริน - Hon Mirin -本みりん " หรือ " อาจิ มิริน - Aji Mirin - あじみりん " ......เป็น....เหล้าหวานชนิดหนึ่ง ที่ได้มาจากการหมัก และผ่านกระบวนการผลิตของ ข้าวเหนียวญี่ปุ่น + แป้งข้าวหมัก... มีรสออกหวาน คล้ายน้ำเชื่อม...สีเหลืองอ่อนใส ดูข้นเหนียวนิด ๆ ..... นำมาใช้เป็นส่วนผสมปรุงรสในอาหารญี่ปุ่น เพื่อให้มีรสหวานปะแล่ม...ซึ่งส่วนใหญ่มักจะนำมาผสมร่วมกับโชหยุ , ซุปสต็อกปลา(ดาชิจิหรุ) , เหล้าสาเก ฯลฯ

**ในกรณีที่ไม่มี....สามารถใช้เหล้าเชอรี่....ซึ่งมีรสหวานแบบเดียวกันทดแทนได้ค่ะ




เต้าเจี้ยวญี่ปุ่น - มิโซะ หรือ มิโสะ (Miso - 味噌)

เป็นส่วนประกอบในอาหารญี่ปุ่นหลากหลายชนิด ซึ่งได้มาจากการแปรรูปอย่างหนึ่งของถั่วเหลืองโดยใช้วิธีการหมัก เรียกง่าย ๆ ก็คือ " ถั่วเหลืองหมักเค็ม " ซึ่งที่วางขายโดยทั่วไปนั้น มีหลายชนิด ทั้งแบบที่บรรจุใส่ในกล่องพลาสติก หรือใส่ถุง ขนาดและประมาณ ขึ้นอยู่กับความต้องการและความชอบของผู้บริโภค มีทั้งแบบที่ ผสมน้ำซุปสต๊อกปลา (ดาชิ) ให้แล้ว หรือ แบบไม่ผสม.....มีให้เลือกใช้ทั้งแบบที่บดแบบเนื้อหยาบ , เนื้อละเอียด ฯลฯ



สนใจทำ (หมัก) เก็บเอาไว้ทานเอง....ตามไปชมได้ที่นี่ค้า การทำเต้าเจี้ยว (มิโซะ - Miso) เต้าเจี้ยวบดสามารถนำไปปรุงประกอบอาหารต่าง ๆ ได้หลายหลายชนิด เช่น ซุปเต้าเจี้ยว ( มิโซะชิหรุ - Miso Shiru ) , ปลาต้ม , ปลาย่าง ฯลฯ

ผงดาชิสำเร็จรูป - ฮนดาชิ ( Hondashi - ほんだし)

คือ...ผงสำเร็จรูปที่ใช้ทำ น้ำซุปสต๊อคปลา - ดาชิจิรุ (Dashi jiru - だし汁) เป็นส่วนประกอบหลักในอาหารญี่ปุ่น (แบบน้ำซุปบ้านเรา) สามารถนำไปเป็นส่วนประกอบของอาหารได้มากมายหลากหลายชนิด ดาชิ (Dashi - だし) ...... ที่นิยมนำมาเป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหารญี่ปุ่นนั้น ส่วนใหญ่มักทำมาจาก คัตทสึโอะดาชิ (Katsuo-dashi - かつおだし)..... ซึ่งก็ได้มาจากการที่เอาปลาโอที่นำไปอบจนแห้งแล้วฝนเป็นแผ่น คล้ายกระดาษบาง ๆ ที่เรียกว่า คัตทสึโอะบูชิ (Katuso bushi - かつおぶし) หรือ คอมบุดาชิ (Konbu dashi - こんぶだし)......ซึ่งได้มาจากสาหร่ายคอมบุ ( Konbu - こんぶ) ซึ่งเป็นสาหร่ายทะเลชนิดหนึ่ง

นอกจากนี้ (สำหรับเพื่อน ๆ ที่ไม่มีเครื่องเคราตามที่กล่าวมาข้างต้น) ในการทำ....ดาชิ (Dashi - だし).......สามารถใช้ปลาตัวเล็กอบแห้ง , เห็ดหอมแห้ง , กุ้งแห้ง , แกนหอยเชลล์แห้ง นำมาต้มกับน้ำ ทดแทนได้ค่ะ

ในปัจจุบันนี้.....เพื่อความสะดวก เหมาะสำหรับแม่บ้านยุคใหม่ ที่ไม่มีเวลามากนัก... จึงมีทางเลือกแบบสะดวกและรวดเร็ว ก็คือใช้ ผงดาชิสำเร็จรูป - ฮนดาชิ ( Hondashi - ほんだし)...... ซึ่งมีขายทั้งแบบบรรจุขวด หรือแยกเป็นซองแบ่งขนาดบรรจุ (กรัม) ใส่กล่องกระดาษ ไว้ให้เลือกซื้อใช้ได้ตามชอบ


สำหรับท่านที่มีเวลา และมีเครื่องเคราส่วนประกอบครบถ้วนอยู่แล้ว.....สามารถทำ น้ำซุปสต๊อคปลา - ดาชิจิรุ (Dashi jiru - だし汁) เอาไว้ใช้ในการปรุงอาหารได้เอง ซึ่งจะได้ความหอม และรสชาดที่อร่อยกว่า สนใจตามไปเก็บรายละเอียดได้ที่กระทู้นี้นะค้า ชาบู ชาบู (สุกี้หม้อไฟ - Shabu shabu) หรือ ซุปสต็อกปลา - ดาชิจิรุ (Dashijiru)

คัตทสึโอะบูฉิ (Katsuo bushi - かつおぶし)......คือ ปลาโอสด ที่นำมาแล่เอาแต่เนื้อ (ผ่านกรรมวิธีการทำที่ค่อนข้างยุ่ง อีกทั้งใช้เวลานาน) แล้วนำไปอบรมควันหลาย ๆ ครั้งจนแห้งแข็ง (เหมือนท่อนไม้) หลังจากนั้น....ก็จะนำไปเก็บไว้ในลังต่ออีกเวลาระยะหนึ่ง จนเกิดราขึ้น ซึ่งราชนิดนี้จะเป็นตัวแปรที่ทำให้ได้สารที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย คือ กรดอะมิโน , โปรตีน และวิตามินบี สนใจอยากทราบคุณสมบัติเพิ่มตามไปอ่านต่อได้ที่นี่ค่ะ (เป็นภาคญี่ปุ่นจ้า ) //ja.wikipedia.org/wiki/%E9%B0%B9%E7%AF%80 หลังจากที่ผ่านกระบวนการต่าง ๆ ก่อนที่นำมาฝนไสเป็นแผ่นบาง ๆ นั้น มีลักษณะเป็นแท่งคล้ายไม้แห้งอย่างนี้ค่ะ



ถ้าเรามีที่ไส....ลักษณะเป็นกล่องไม้ มีใบมีดอยู่ตรงกลาง คล้าย ๆ กบที่ใช้ไสไม้ ซึ่งจะทำให้ได้ความหอมเพิ่มมากขึ้น เพราะไสใช้กันแบบใหม่ ๆ



ปัจจุบันนี้...แม่บ้านยุคใหม่....ไม่ค่อยมีเวลามากนัก จึงมีทางเลือกให้ คือสะดวกเข้าไว้ก่อน (ไม่จำเป็นต้องมานั่งไสกันเองแล้ว) มีจำหน่ายแบบสำเร็จรูปหลายหลายยี่ห้อ และขนาดบรรจุให้เลือกใช้ ตามประเภทของอาหารที่เราจะทำ



น้ำส้มสายชู - ซุ / ซึ ( Su - 酢)

เป็น....น้ำส้มสายชูที่ได้มาจากการหมักข้าวญี่ปุ่น , ผลไม้ ฯลฯ ที่ผ่านกระบวนการผลิตกลั่นกรอง จนได้น้ำส้มสีเหลืองอ่อนใส มีหลากหลายชนิดและยี่ห้อ แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน

แบบที่ 1.... โขกขุโมะทสึ ซุ (Kokumotsu Su - 穀物酢) หรือ ชกขุ ซุ (Shoku Su - 食酢) .....แบบนี้...ก็มีหลากหลายชนิดเช่นกัน นิยมนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารประเภทยำแบบเปรี้ยว - ซึโนโมะโนะ (Sunomono - 酢の物) เช่น ยำสลัดรสเปรี้ยวแบบต่าง ๆ (ซึโนะ โมโนะ - Sunomono) , ยำแมงกระพรุนแบบเปรี้ยว (คุราเงะ โน ซึโนะโมะโนะ - Kurage no sunomono) ฯลฯ , นำไปเป็นส่วนผสมของการดองผัก เช่น , รักเกียวดอง ( Rakkyo Tsuke ) ฯลฯ , นำไปปรุงรสผสมทำน้ำส้มสำหรับ วิธีการหุงข้าวญี่ปุ่น และการทำข้าวเปรี้ยวซูชิ


น้ำส้มสายชู...ที่เห็นวางขายทั่วไปตามซุปเปอร์มาร์เก็ต และคนญี่ปุ่นนิยมใช้กันมาก ก็คือยี่ห้อ มิตทสึกัง ( Mitsukan - ミツカン) (จะได้ค่าโฆษณากะเค้ามั้ยเนี่ย).... เพราะมีราคาไม่แพง บรรจุในขวดแก้ว ที่เมืองไทย ก็มียี่ห้อนี้ขายเช่นกันค่ะ สามารถหาซื้อได้ตามแผนกของสินค้าอาหารญี่ปุ่น



ในกรณีที่ชอบให้อาหารที่ปรุงได้ ออกรสหวานหน่อย นิยมใช้

โคะเมะ ซุ (Kome su - 米酢)....เป็นน้ำส้มสายชูที่กลั่นจากข้าวหมัก มีรสหวานนิดหน่อย ราคาอยู่ในระดับปานกลาง



ริงโกะ ซุ (Ringo su - りんご酢)....เป็นน้ำส้มสายชูที่กลั่นจากแอ๊ปเปิ้ลหมัก จะมีรสหวานมากหน่อย แต่ก็จะมีราคาแพงกว่าชนิดอื่น ๆ



แบบที่ 2.....ซูชิ ซุ (Sushi Su - すし酢).....เป็นน้ำส้มสายชูที่หมักจากข้าวญี่ปุ่น แต่จะผสมน้ำตาลทราย และเกลือ มาให้แล้ว (มีรสเปรี้ยว, เค็ม , หวาน อยู่เสร็จสรรพ) จึงสามารถนำไปผสมกับข้าวสุก ที่หุงเสร็จใหม่ ๆ พร้อมใช้ได้ทันทีในการทำข้าวเปรี้ยว - ซูชิ , ข้าวปั้นหน้าปลาดิบ , ข้าวห่อสาหร่าย ฯลฯ

จากรูป...(ดูขวดไล่เรียงลำดับจากด้านซ้ายมือ)

ขวดที่ 1 - 4 เป็น.......น้ำส้มสำเร็จรูปปรุงรสแบบทั่วไป (แบบมาตรฐานที่ใช้กันทั่วไป)
ขวดที่ 5 - 6 เป็น.......น้ำส้มสำเร็จรูปที่ใช้ คุโระ ซึ (Kuroi Su - น้ำส้มสีคล้ำ)
ขวดที่ 7 - 8 เป็น.......น้ำส้มสำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของดาชิที่ทำจากสาหร่ายคอมบุในการหมักด้วย


แบบที่ 3.....คุโระ ซุ (Kuro Su - 黒酢)......เป็นน้ำส้มสายชูที่กลั่นมาจากข้าวกล้องแท้......มีสีน้ำตาลเข็ม รสเปรี้ยวอมฝาดนิด ๆ แบบนี้....นิยมนำมาใช้ผสมในเครื่องดื่ม สำหรับดื่มเพื่อสุขภาพ และเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลดความอ้วน อีกทั้งยังสามารถนำไปเป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหารได้เช่นกันค่ะ



น้ำส้มปรุงรสแบบผง - ซูชิโนะโกะ (Sushi no ko - すしのこ) ...ในการทำข้าวเปรี้ยวก็ได้ ซึ่งแบบนี้...ค่อนข้างง่ายสำหรับมือใหม่หัดทำ ไม่ต้องกลัวว่าข้าวจะแฉะ รสชาดออกมาใกล้เคียง ขาดแต่ความหอมนิดหน่อยเท่านั้นเอง



*สนใจวิธีการใช้น้ำส้มสายชูในการทำอาหารต่าง ๆ ...ตามไปเก็บสูตรได้ที่นี่ค่ะ การหุงข้าวญี่ปุ่น + การทำข้าวเปรี้ยวซูชิ (ซูชิเมฉิ - Sushi Meshi) , บะหมี่เย็นทรงเครื่อง ( ฮิยาชิ จูกะ - Hiyashi chuuka ) , ยำสลัดรสเปรี้ยวแบบต่าง ๆ (ซึโนะ โมโนะ - Sunomono)

น้ำมันงา - โงมะ อะบูระ (Goma Abura - ごま油).... เป็นน้ำมันที่ได้มาจากการสกัดของเมล็ดงาขาว หรือ งาดำ ให้เลือกใช้ตามความชอบ ใช้เหยาะนิดหน่อยในอาหาร เพื่อเพิ่มความหอม ชวนรับประทานมากขึ้นในอาหารต่าง ๆ เช่น ผัด (กับรากบัว รากโกโบ แครอท และ ผักต่างๆ ฯลฯ) , นำไปผสมกับน้ำมันพืช (ในอัตราส่วนประมาณ 1/3)ใช้สำหรับทอดอาหารประเภทเทมปุระ.. จะได้รส+สี+กลิ่นหอมชวนรับประทานยิ่งขึ้น หรือ จะใช้เป็นแทนน้ำมันพืชในการผสมน้ำสลัด ฯลฯ




น้ำมันงารสเผ็ด - รายุ ( Raayu - ラー油 /辣油) ......เป็นน้ำมันงาที่ผสมด้วยพริกแห้งที่นำไปทอด หรือนำไปป่นให้ให้เป็นผง แช่ทิ้งไว้ ทำให้มีรสเผ็ดนิดหน่อย ส่วนใหญ่....มักใช้เป็นเครื่องปรุงรสในอาหารจีน หรืออาหารที่ต้องการความเผ็ดเล็กน้อย หรือนำไปผสมกับน้ำส้มสายชู + โชหยุ ใช้เป็นน้ำจิ้มของ Gyoza เกี๊ยวซ่า แบบทอด ,ซุยเกี๊ยวซ่า - Sui Gyoza (เกี๊ยวซ่าแบบต้ม) , ราเม็ง ฯลฯ



เส้นคุซึกิริ ( Kuzukiri- くずきり).... ลักษณะคล้ายวุ้นเส้น แต่เส้นโตกว่า (รูปด้านซ้าย) ลักษณะเส้นเป็นสีขาวขุ่น เมื่อนำไปต้มเส้นจะดูใสและเหนียวขึ้น แต่ถ้าต้มทิ้งไว้นาน เส้นจะพองขึ้นอืด และเละง่าย นิยมนำไปประกอบอาหารประเภท...ยำกึ่งสลัด , ชาบู-ชาบู , หม้อไฟ (นาเบะ) ฯลฯ ที่มีจำหน่ายมี 2 ชนิด คือ

- แบบอบแห้ง (รูปบนซ้าย...ที่อยู่ในซองสีเหลือง).... ต้องนำไปแช่น้ำอุ่นให้พองตัวและนิ่มก่อน จึงนำไปประกอบอาหารต่าง ๆ ตามชอบ

- แบบสด (รูปล่างซ้าย).... เทออกจากถุง นำใส่กระชอน ล้างน้ำให้สะอาด ทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ ตัดเส้นขนาดพอรับประทาน แล้วนำไปประกอบอาหารได้ทันทีเช่นกัน (ทั้ง 2 แบบ)



เส้นชิราตะกิ (Shirataki - しらたき)....(รูปด้านขวา) ...ทำมาจากหัวบุก ไม่มีแคลลอรี่ เหมาะสำหรับคนที่จะอยากลดน้ำหนัก.....ที่บ้านก็มักจะนำมาใช้แทนเส้นก๋วยเตี๋ยว... ทำก๋วยเตี๋ยวราดหน้า ทานบ่อย ๆ อร่อยไปอีกแบบค่ะ ......ก่อนนำไปประกอบอาหารควรนำไปต้ม หรือ ลวกน้ำร้อน หรือ จะล้างผ่านน้ำหลาย ๆ ครั้งก็ได้ ให้หมดกลิ่นเหม็น (อธิบายกลิ่นของมันไม่ถูก เอาเป็นว่า...ก่อนล้าง ลองดมกลิ่มของมันดูก่อน พอผ่านกรรมวิธีการล้างทั้งหลายแล้ว ดมกลิ่นดูอีกที ถ้าไม่มีกลิ่นตุ ๆ เหมือนเดิม ก็แสดงว่าล้างได้สะอาดแล้วค่ะ) เสร็จแล้วก็ตัดเส้น ให้มีความยาวขนาดพอควร นำใส่กระชอนพักให้สะเด็ดน้ำ ตัดเส้นขนาดความยาวพอประมาณ (ยาวไปหนักจะติดคอเอานะค้า)

**เพื่อน ๆ คงต้องเลือกใช้ให้ถูกกับลักษณะอาหารที่เราจะทำนะคะ เพราะสำหรับเจ้า เส้นคุซึกิริ ( Kuzukiri- くずきり)....เจ้าเนี่ย...ถ้าเป็นอาหารที่ต้องต้มเคี่ยวนาน ๆ ไม่เหมาะ มาก ๆ เพราะมันจะดูดน้ำ แล้วขึ้นอืดเหมือนวุ้นเส้นบ้านเราเลยละค้า ส่วนเจ้า เส้นชิราตะกิ (Shirataki - しらたき)......จะต้มนานแค่ไหนก็ไม่เละไม่อืดค้า ทั้ง 2 อย่าง.....สามารถนำไปประกอบอาหารได้คล้าย ๆ กัน เช่น ชาบู ชาบู (สุกี้หม้อไฟ - Shabu shabu) , เนื้อต้มมันฝรั่ง ( นิคุจากะ - Niku jaga ) , สุกี้แบบญี่ปุ่น (สุกียากี้ - Sukiyaki ) ฯลฯ

ไว้ค่อยมาทยอยโพสต่อไปเรื่อย ๆ นะค้า

***ขอปิดการให้ Comment ในกระทู้นี้ไว้แค่นี้ก่อน***

หากเพื่อน ๆ ท่านใดมีความประสงค์ อยากเพิ่มเติม , ติ ชม หรือมีคำถามใด ๆ กรุณาแวะไปฝากข้อความไว้ได้ที่นี่ค่ะ

♥♥♥ Guestbook .....เล่มที่ 3 ♥♥♥

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียน และขออภัยในความไม่สะดวก ไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ




Create Date : 18 ธันวาคม 2550
Last Update : 4 กุมภาพันธ์ 2553 16:11:29 น. 2 comments
Counter : 88604 Pageviews.

 
ถ้าอ่านไม่ออกละคงยุ่งเลย ปรุงผิดปรุงถูก
เกลือกะน้ำตาล


โดย: PIWAT วันที่: 22 ธันวาคม 2550 เวลา:0:18:03 น.  

 
มารอดูและจดค่ะ


โดย: น้านก (Aunti-นก ) วันที่: 25 ธันวาคม 2550 เวลา:11:16:11 น.  

เต่าญี่ปุ่น
Location :
埼玉県 Japan

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 234 คน [?]




ขอขอบคุณเพื่อน ๆ ทุกท่านที่แวะเข้ามาเยี่ยมชมนะคะ จุดประสงค์หลักก็คือ... อยากเก็บประสพการณ์ต่าง ๆ ของชีวิตในต่างแดน (ญี่ปุ่น) ซึ่งได้อยู่มาเข้ารอบปีที่ 15 แล้ว เพื่อบันทึกความทรงจำ กันลืม เพราะแกร่แย้วววว ^o^ มีหลายเรื่องที่อยากเขียน....จนตัดใจเลือกไม่ถูกว่าจะเลือกเรื่องไหนเป็นหลัก......"รักพี่เสียดายน้อง" ไหน ๆ ก็ตัดใจเลือกไม่ได้ ก็เขียนมันเสียทุกเรื่องจะดีกว่าเนอะ.... บล๊อคนี้...ก็เลยกลายเป็น " บล๊อคจับฉ่าย " อย่างที่เพื่อน ๆ เห็นละนี้แระคร้า
Friends' blogs
[Add เต่าญี่ปุ่น's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.