Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2553
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28 
 
4 กุมภาพันธ์ 2553
 
All Blogs
 

พืชผักต่าง ๆ........ที่นิยมนำมาประกอบอาหาร

สวัสดีค่ะ....ทุก ๆ ท่านที่แวะเข้ามาเยี่ยมชม

กระทู้นี้.....จะเป็นการแนะนำ พืชผักต่าง ๆ ที่นิยมนำมาใช้ในการปรุงอาหารญี่ปุ่นทั่ว ๆ ไป เพื่อน ๆ หลายท่านอาจจะทราบอยู่แล้ว แต่ที่นำมาโพสอีก ก็เผื่อเพื่อน ๆ บางท่านที่ยังไม่ทราบว่า......พืชผักต่าง ๆ นั้น....ในภาษาญี่ปุ่นนั้น มีชื่อเรียกว่าอะไรกันบ้าง

อาหารญี่ปุ่น....ส่วนใหญ่มักจะไม่ปรุงรสจัด แต่เน้นที่ความสดใหม่ ทำให้ได้รสชาดที่แท้จริงของอาหารนั้น ๆ พืชผักต่าง ๆ หลายชนิด มีเหมือนของที่เมืองไทยเรา แต่จะมีรสชาดที่หวานกว่า สด ใหม่กว่า และถ้าเพื่อน ๆ ท่านใดสนใจ อยากทราบวิธีการปลูกผักหลากหลายชนิด ตามไปเยี่ยมชมที่ได้ที่ " ห้อง My Hobbies...แปลงผักสวนครัว " นะค้า

หมายเหตุ.....ที่นำมาโพสนี้....เป็นเพียงแค่ตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น เพราะพืชผักมีมากมายหลายชนิด แล้วก็คงจะต้องค่อย ๆ ทยอยนำมาโพสฝากกันเรื่อย ๆ เช่นเดิมนะค้า

รูปภาพที่นำมาโพสให้ชมกันนี้...บางส่วนก็มาจากสวนผักของตัวเองค้า บางส่วน (ที่ไม่ได้ปลูกเอง)....ก็เสริท์หามาจาก //www.google.co.jp/
ขอขอบคุณ...ท่านเจ้ารูปทุกรูปไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

ในภาษาญี่ปุ่น....คำว่า " ผัก " จะเรียกว่ากันโดยรวม ๆ ว่า " ยาไซ / ยาซัย - Yasai - 野菜 "  ดังนั้น...ในชื่อผักต่าง ๆ ส่วนใหญ่ก็เลยมักจะมีคำว่า " ไซ / ซัย " ต่อท้ายชื่อ และอาจจะเขียนได้ทั้งตัวฮิราคะนะ (ตัวหนังสือญี่ปุ่น) , คาตากะนะ (ตัวถอดเสียง) หรือตัวคันจิ (ตัวหนังสือจีน) การเรียกชื่อผักต่าง ๆ นั้น.....พยายามถอดเสียงให้ใกล้เคียงกับเสียงกับภาษาญี่ปุ่นค่ะ



สำหรับผักหลายชนิดที่เมืองไทยเห็นอยู่แล้วนั้น คาดว่า...ทุก ๆ ท่านก็คงรู้จักกันดีอยู่แล้ว จะไม่นำรูปมาโพสอีก เพราะเปลืองเนื้อที่ (อันที่จริง....ก็ครือว่า....คนโพสขี้เกียจมากกว่าค้า) แต่จะเขียนชื่อที่เรียกในภาษาญี่ปุ่น (ตัวหนังสือสีน้ำเงิน) บอกไว้ให้แทน

การเลือกซื้อ+เก็บรักษาผักต่าง ๆ .....ให้คงอยู่ในสภาพที่ดี (คุณค่าทางสารอาหาร) ให้เหมือนเดิมเท่าที่จะทำได้ ไม่ควรซื้อมาครั้งละมาก ๆ จนใช้ไม่หมด (ควรคิดไว้ล่วงหน้า...ว่าจะสามารถนำผักชนิดนั้น ๆ ไปทำอาหารอะไรได้บ้างก่อน) เพราะจะทำให้มันเน่าเสียไปก่อนที่จะได้ทำ ซึ่งทำให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ อีกอย่าง...ก็ควรเลือกซื้อผักที่มีตามฤดูกาล ซึ่งจะทำให้ประหยัดตังค์ไปได้ไม่มากก็น้อย ผัก และผลไม้ ไม่ควรเก็บใส่ในกล่องเดียวกัน เพราะจะทำให้เน่าเสียได้เร็วขึ้น ดังนั้น....เราควรที่จะต้องทราบว่า จะเก็บอย่างไร ให้เหมาะสมกับผักชนิดนั้น ๆ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มด้วยกันคือ

1). ผักที่เน่าเสียง่าย......เช่น ผักชี ต้นหอม เห็ดต่าง ๆ ผักกาดหอม ถั่วงอก ผักบุ้ง ชะอม ฯลฯ......ผักพวกนี้ จะอยู่ในสภาพเดิมได้ในระยะสั้น ถึงแม้นว่า...เราจะแม้นว่าจะเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นก็ตาม ก็ไม่สามารถยืดอายุการเก็บได้ บางอย่างก็ไม่ควรล้างน้ำ เพราะถ้าโดนน้ำ จะทำให้เน่าเสียได้เร็วยิ่งขึ้น เวลาใช้ค่อยนำมาล้างน้ำให้สะอาดจะดีกว่า

2). ผักที่เก็บได้ในระยะเวลาจำกัด...... เช่น ผักกาดขาว ผักคะน้า มะเขือเทศ ฯลฯ ผักพวกนี้.....ควรเก็บเอาไว้ในตู้เย็น (ช่องผัก) ก่อนเก็บควรเลือกใบที่เน่าเสียทิ้งออกเสียก่อน จะล้างทำความสะอาดนิดหน่อยก่อนก็ได้ เก็บใส่ถุงพลาสติก (แยกประเภท) หรือกล่องพลาสติกแบบที่มีตระแกรงรองน้ำด้านล่าง ปิดฝาให้แน่น ก็จะช่วยยืดระยะเวลาทำให้เก็บได้นานขึ้น

3). ผักที่เก็บได้นานกว่าผักชนิดอื่น.....เช่น ฟัก แฟง เผือก มัน ฟักทอง ฯลฯ พวกนี้.....จะมีเปลือกหนา จึงคงทน ทำให้สามารถเก็บไว้ได้นานกว่าผักใบต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องเก็บรักษาไว้ในตู้เย็น (ห้องเย็น) สำหรับตัวเองแล้ว....จะเก็บโดยการใส่ลังกระดาษ ปิดฝาแล้วเก็บไว้ในที่ ที่ไม่โดนแสงแดง เวลาจะใช้ค่อยนำมาปอกเปลือก หั่น ล้างตามปรกติ


ผักที่ทานต้น ใบ และ ดอก


ผักกาดขาว...... ฮักคุไซ ( Hakusai - はくさい / ハクサイ)
ผักกวางตุ้ง......โคมัตทสึนะ (Komatsuna - 小松菜 / コマツナ)
ผักกะหล่ำปลี......เคียะเบะทสึ ( Kyabetsu - キャベツ)
ดอกกล่ำ / กล่ำดอก......การิฟุระว่า ( Karifurawaa - カリフラワー)
บล๊อคโคลี่...... บุโรกโครี่ (Burokori - ブロッコリー)
ผักกุ๋ยช่าย...... นิระ (Nira -にら)
ผักบุ้งจีน...... คูชินไซ (Kuushinsai -クウシンサイ)

ผักกวางตุ้งญี่ปุ่น หรือกว้างตุ้งไตหวัน...... จินเง็นซัย (Chingensai - チンゲンサイ)




ผักโขม / ผักป๊วยเล้ง (ปวยเล้ง) / ผักป๊อบอาย (Spinach) ...... โฮเรนโซ (Hourensou - ほうれんそう /ホウレンソウ)....ก่อนนำมาประกอบอาหาร ควรล้างหลาย ๆ น้ำ หรือแช่ด้วยน้ำเกลือทิ้งไว้หน่อยก็ดีนะคะ เพราะจากประสพการณ์ที่ปลูกมานั้น....ซึ่งกว่าจะรู้ใจว่า เจ้าผักนี้....ก็ใช้เวลาพอควร เจ้าเนี่ยมันชอบปูนขาวมากเป็นพิเศษเชียวละค้า แบบว่า....ต้องใส่ปูนขาว ให้มันตามระยะเวลา มันถึงจะได้เจริญเติบโต งอกงามให้เก็บมากินได้ เพราะฉะนั้น.....เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ ควรแช่ล้างน้ำให้สะอาดจริง ๆ ก่อนนำไปประกอบอาหาร ไม่ว่าจะเป็นผัด , ต้ม, ลวก ฯลฯ ได้ตามชอบค่ะ

ปัจจุบันนี้.....มีผักโขมสำหรับทานแบบสด ๆ (แบบผักสลัด) ที่เรียกว่า Baby spenat เพื่อน ๆ อ่านดูจากห่อที่เค้าเขียนกำกับไว้นะคะ ลักษณะของต้นจะค่อนข้างเล็ก ใบมันจะเล็ก ๆ กลม ๆ แต่ก็ควรนำไปผสมกับผักกาดแก้ว หรือ ผักสลัดอื่น ๆ ตามชอบด้วย เพราะขืนให้กินแต่ผักโขมเปล่า ๆ มานจะไม่อร่อยนะค้า



ผักกาดแก้ว หรือ ผักกาดหอม ...... เรตัสซึ (Retasu - レタス)



ผักสลัด ...... สะระดะนะ (Saradana - サラダ菜)




ผักทาซัย (Taasai - タアサイ)....ช่วงที่ผักคะน้าขาดแคลน ก็ได้เจ้าเนี่ยมาผัดราดหน้าทานแทนประจำ ก้านมันกรอบอร่อยเชียวค่ะ


ต้นหอมญี่ปุ่น...... เนงิ ( Negi - ネギ) หรือบางทีก็เรียกว่า นางะ เนงิ ( Naga Negi - 長ネギ).......มีขนาดลำต้นอวบอ้วนใหญ่ และมีรสเผ็ดฉุนกว่าต้นหอมของไทยเรา



นิยมนำมาประกอบอาหาร.....โดย

ส่วนของลำต้นสีขาว .....นิยมนำมาซอยเป็นเส้นฝอย ใช้โรยตกแต่งอาหาร , สับละเอียดเป็นส่วนผสมในเครื่องปรุงอาหารต่าง ๆ เช่น เกี๊ยวซ่า , หั่นเป็นท่อน ๆ หรือหั่นแฉลบ ใส่ต้ม -ผัด ฯลฯ

วิธีการซอยต้นหอมแบบเส้นฝอยสีขาว ....ที่เรียกว่า ชิระกะเนงิ (Shirakanegi - 白髪ネギ )

1). ต้นหอมญี่ปุ่น

2). ตัดเฉพาะส่วนโคนต้นสีขาว หั่นเป็นท่อน ยาวประมาณ 5- 6 ซม.

3). ผ่าครึ่งตามความยาวของต้น



4). กลับเอาด้านในกดนาบ (ให้แน่น) กับเขียง ใช้มีดคม ๆ หั่นซอยเป็นเส้นฝอยละเอียด

5). นำต้นหอมที่ซอยได้ แช่ในน้ำเย็นแป๊ปเดียว เพราะถ้าแช่น้ำนานเกินไป เส้นจะหงิกงอ กอดกันเป็นขอด

6). เทใส่กระชอน ทิ้งไว้ให้แห้งสะเด็ดน้ำ นำไปโรยตกแต่งหน้าอาหารต่าง ๆ ตามชอบ

* ในการซอยต้นหอมแบบนี้...อาจจะค่อนข้างยากนิดหน่อยสำหรับผู้ที่ลองหัดซอยใหม่ ๆ เพราะต้นหอมมีเยื่อหุ้มบาง ๆ ซ้อนอยู่ในระหว่างชั้น อาจจะทำให้ลื่นไหลไป - มา ตลอดเวลาซอย เคล็ดไม่ลับ......ก็คือ...ระหว่างที่เราซอยนั้น ควรกดต้นหอมให้ แน่นแนบเขียง และมีดก็ต้องคมจริง ๆ นะค้า

ส่วนของใบ.......นำไปซอยละเอียดผสมในเครื่องปรุงอาหารต่าง ๆ เช่น ข้าวผัด , ไข่เจียว ฯลฯ หรือจะหั่นเป็นท่อนยาว ๆ นำไปต้มกับน้ำซุป เพื่อให้น้ำซุปมีกลิ่นหอมและรสชาดดีขึ้น

ต้นหอมขนาดกลาง.... วาเคงิ ( Wakegi -わけぎ) ......มีขนาดและรสชาติ เช่นเดียวกันกับต้นหอมของไทยเรา....นิยมนำมาซอย ใช้สำหรับตกแต่งโรยอาหาร ฯลฯ คนญี่ปุ่นบางคนก็นิยมที่นำมาทานสด ๆ โดยจิ้มกับมิโซะ และถ้าปล่อยทิ้งไว้จนแก่จัด ก็จะกลายเป็นหอมหัวแดงขนาดเดียวกับบ้านเราค่ะ



ต้นหอมขนาดเล็ก......อะซะทสึกิ (Asatsuki - あさつき) หรือบางทีก็เรียกว่า......โคะเนกิ (Konegi -こねぎ) .......ขนาดของลำต้นจะเล็กและผอมกว่า วาเคงิ ( Wakegi -わけぎ) แต่ขนาดความยาวของต้นเท่ากัน.....มีกลิ่นและรสเผ็ดน้อยมาก....นิยมซอยละเอียด ใช้ตกแต่งโรยหน้าอาหารต่าง ๆ เพื่อสีสรร ทำให้ดูน่ารับประทานยิ่งขึ้น เช่น โรยใส่หน้าไข่ตุ๋น (ชาวันมูฉิ) , ซุปมิโสะ , ซุปแบบใส ฯลฯ



มิทสึบะ (Mitsuba - みつ葉)....ผักชีญี่ปุ่น (ตั้งชื่อให้มันเองค้า) เพราะลักษณะการนำไปประกอบอาหารนั้น คล้ายกับผักชีของบ้านเรานะคะ เพียงแต่ลักษณะของใบใหญ่กว่า และมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ (น้อยกว่าผักชีบ้านเรา) นิยมนำใช้โรยตกแต่งหน้าอาหาร หรือนำไปเป็นส่วนประกอบในอาหารต่าง ๆ



ผักชุนงิคุ (Shungiku- 春菊).....นิยมนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทหม้อไฟต่าง ๆ เช่น นาเบะ , สุกี้แบบญี่ปุ่น , ชาบู ชาบู (สุกี้หม้อไฟ - Shabu shabu) ในกรณีที่ไม่มี สามารถใช้ใบตั๋งโอ๋ หรือ ผักใบเขียวชนิดอื่น (ที่ต้มแล้วไม่เละง่าย และไม่มีกลิ่นฉุนจัด ) แทนได้ค่ะ



ใบชิโซ เขียว - อาโอจิโซ (Ao Jiso -青じそ) หรือบางทีก็เรียกว่า โอบะ (Ooba -大葉)....... มีกลิ่นหอมสดชื่น ทำให้อาหารมีกลิ่นน่าทานยิ่งขึ้น สำหรับใบนั้น.....นิยมนำมาจัดรองพวกปลาดิบ (ซาชิมิ) , นำมาซอยให้เป็นเส้นละเอียดโรยใส่หน้าอาหาร ทานแก้เลี่ยน ดับกลิ่นคาว ส่วนดอก.....ก็นิยมนำมาใส่ในโชหยุ (ซีอิ้วญี่ปุ่น) แทนวาซาบิ ใช้เป็นน้ำจิ้มสำหรับปลาดิบ



ใบชิโซ แดง - อากะจิโซ (Aka Jiso -赤じそ)...... มีกลิ่นหอมสดชื่นและให้สีแดงอมม่วง (สี ธรรมชาติ) ส่วนใหญ่นิยมมาประกอบในอาหารต่าง ๆ ที่ต้องการให้มีสีแดงสวย ดูน่าทานยิ่งขึ้น เช่น นำมาหมักกับ บ๊วยดอง (อุเมะโบฉิ) , ผักดองต่าง ๆ หรือนำไปต้มกับน้ำ ผสมน้ำตาลนิดหน่อย เก็บไว้สำหรับดื่มหอมเย็นชื่นใจ นำไปเป็นส่วนประกอบของขนมต่าง ๆ เช่น ท๊อฟฟี , เจลลี่ ฯลฯ



เมียวกะ (Myoga - みょうが )... เป็นดอกของข่าชนิดหนึ่ง นิยมนำมาดองน้ำส้ม (รสเปรี้ยว หวาน) หรือ นำมาทานสด ๆ โดยนำซอยบาง ๆ ใช้โรยหน้าอาหารเพื่อความหอมสดชื่น แก้เลี่ยน ดับคาว




พืชผักที่ทานหัว + ราก


หอมใหญ่ หรือ หอมหัวใหญ่...... ทะมะเนงิ (Tamanegi - 玉ねぎ / たまねぎ)
หอมแดง (ใหญ่) ...... อากะทามะเนงิ ( Aka tamanegi - 赤玉ねぎ / あかたまねぎ) หรือ มุราซากิ ทามะเนงิ (Murasaki tamanegi - 紫玉ねぎ / ムラサキタマネギ).....ลูกมีขนาดใหญ่พอ ๆ กับหอมหัวใหญ่ มีรสเผ็ดฉุนน้อยกว่าหอมแดง (หัวเล็ก) นิยมนำมาทานสด แบบสลัดต่าง ๆ
หอมแดง (เล็ก - ขนาดบ้านเรา)....อากะ โคะ ทามะเนงิ ( Aka ko tamanegi - 赤小玉ねぎ)
มันฝรั่ง ......จางัยโมะ (่Jagaimo - じゃがいも )
มัีนเทศ ......ซัสซึมัยโมะ (Satsuma imo - さつまいも )
เผือก...... ซาโต้อิโมะ (Satoimo - さといも )
กระเทียม......นินนิคุ (Ninniku - にんにく)
ขิง...... โชงะ (Shouga - しょうが)
แครอท...... นินจิน (Ninjin - にんじん)

หัวไชเท้า หรือ หัวผักกาด...... ไดกง (Daikon - 大根) ........ในประเทศญี่ปุ่น มีหลากหลายพันธุ์ มีทั้งแบบลูกใหญ่ยาว , ลูกสั้น , ลูกกลมป้อม ฯลฯ และนอกจากสีขาว ซึ่งเราเห็นกันแล้ว ก็ยังมีสีอื่นอีกด้วย



ดังนั้น....ตอนเลือกซื้อ เราก็ควรจะเลือก หัวไชเท้า ให้เหมาะสมกับประเภทของอาหารที่เราจะนำไปประกอบ อีกทั้งแต่ละส่วน ก็ยังให้รสที่แตกต่างกันอีกด้วย ซึ่งสามารถแยกตามส่วนต่าง ๆ ได้ดังนี้ (ดูรูปประกอบ)

ส่วนที่ 1....ส่วนใบ.... ...นำไปต้ม หรือลวกให้สุก หลังจากสุกแล้ว ควรผ่านด้วยน้ำที่เย็นจัด ๆ จะช่วยทำให้สีของใบเขียวสด บีบน้ำให้แห้งสนิท หั่นซอยเล็ก ๆ หรือขนาดตามต้องการ นิยมนำไปเป็นส่วนประกอบอาหารต่าง ๆ เช่น ข้าวผัด , ผักรวมชุปแป้งทอด , มิโซะชิหรุ , ผัดกับน้ำมันงา , ตกแต่งหน้าอาหาร ฯลฯ

ส่วนที่ 2 .... ส่วนหัวที่ติดกับใบ....มีความขื่นเล็กน้อย นิยมนำไปประกอบอาหารต่าง ๆ เช่น มิโซะชิหรุ , ผัด , ผักดอง (ทสึเกะโมโนะ) ฯลฯ

ส่วนที่ 3....ส่วนค่อนทางหัว ....ส่วนนี้จะมีความหวานมากที่สุด จึงนิยมที่จะทานกันแบบสด ๆ โดยไม่ต้องผ่านความร้อน เช่น สลัด , ฝนบดละเอียด (ไดกง โอโรฉิ) เป็นเครื่องเคียง หรือใส่ในน้ำจิ้ม (ทสึยุ) ต่าง ๆ , ดองกับน้ำส้มสายชู ฯลฯ




ส่วนที่ 4....ส่วนกลาง .....ส่วนนี้ จะมีความหวานเพิ่มขึ้น ถ้าได้โดนความร้อน จึงนิยมนำไปประกอบอาหารประเภทที่ต้อง ต้มตุ๋นต่าง ๆ , โอเด้ง (ลูกชิ้นปลาต้มรวมมิตร) ฯลฯ

ส่วนที่ 5....ส่วนค่อนทางปลาย .....ส่วนนี้ จะมีความขื่น (ขม+ เผ็ด) จึงนิยมนำไปประกอบอาหารประเภทที่ต้องปรุงรสจัด ๆ ด้วยมิโซะ , โชหยุ ฯลฯ แล้วนำไป ผัด ต้ม หรือตุ๋น และถึงแม้นว่า...จะปรุงรสเข้มข้นขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังจะมีรสขมหลงเหลืออยู่เล็กน้อย ต่าง ๆ , โอเด้ง (ลูกชิ้นปลาต้มรวมมิตร) ฯลฯ

ส่วนที่ 6....ส่วนปลาย .....ส่วนนี้ จะมีความขื่น มากกว่าส่วนที่ 5 จึงควรนำไปต้มน้ำทิ้ง เพื่อลดความขื่นเสียก่อนนำไปประกอบอาหาร และควรปรุงรสจัด ๆ เช่นเดียวกับส่วนที่ 5


คะบุ...... Kabu - かぶ/カブ) .......ดูเผิน ๆ คล้ายหัวไชเท้า หรือ หัวผักกาด ที่มีหัวขนาดเล็ก (กลม) รสชาดใกล้เคียงกันมาก แต่ไม่มีกลิ่นฉุน นิยมนำมาต้ม ตุ๋น ซึ่งใช้เวลาในการต้มน้อยกว่าหัวไชเท้า หรือนำมาทำผักดอง



รักเกียว (らっきょう - Rakkyo) ชื่อในภาษาอังกฤษ จะเรียกว่า..... Rakkyo Onion หรือ Allium chinense.....เป็นพืชล้มลุก มีลำต้นใต้ดินที่เป็นหัวสะสมอาหาร และแบ่งแตกแยกออกเป็นกอ ลักษณะของหัวคล้ายหอมหัวแดงที่ใช้ประกอบอาหารของบ้านเรา แต่ส่วนของหัวจะมีสีขาว ส่วนที่เป็นลำต้น และใบอยู่เหนือพื้นดินขึ้นมา ลักษณะของใบคล้ายต้นหอม แต่มีส่วนแบนกว่าเล็กน้อย ลักษณะของช่อดอก และกลิ่นของใบคล้ายต้นกุ๋ยช่าย



ช่อดอกของรักเกียวจะเป็นสีม่วงค่ะ



ลักษณะของหัวและต้น



เคยนำวิธีการดองมาฝากไว้แล้วที่นี่ค่ะ รักเกียวดอง ( Rakkyo Tsuke )

ขณะที่หัวยังอ่อนอยู่.....จะเรียกว่า เอะชาเระโตะ ( エシャレット - Esharetto ) เคยถามคนญี่ปุ่นหลาย ๆ คน บางคนก็ว่า...ชนิดเดียวกัน บางคนก็ว่า...คนละชนิดกัน ((ทำให้งงอยู่เหมือนกัน)) แต่จากที่ปลูกเองแล้วนั้น......คิดว่ามันน่าจะเป็นพันธุ์เดียวกันนะคะ เพราะถอนมาให้คุณพ่อบ้าน ทานแกล้มเหล้าอยู่หลายครั้งแล้วเหมือนกัน

( เอะชาเระโตะ ) นั้น...สามารถนำมาทานกันแบบสด ๆ ได้ (สำหรับคนที่ชอบ เพราะจะมีรสเผ็ดและมีกลิ่นฉุนหน่อย) วิธีทำนั้นก็ง่ายมากค่ะ เพียงแค่เราลอกเปลือกที่แข็ง ๆ ออก ล้างแล้วแช่น้ำทิ้งไว้สักพัก นำมาจิ้มกับมิโซะ (เต้าเจี้ยวบด) ฯลฯ



หรือจะเพิ่มด้วยการโรย คัตทสึโอะ บูชิ (ปลาโออบแห้งฝนเป็นแผ่นบาง ๆ ) ราดด้วยโชหยุ (ซีอิ้วญี่ปุ่น) หรือ โชหยุรสเปรี้ยว (ปอนซุ) นิดหน่อย ก็อร่อยเหมือนกันค่ะ



พืชผักที่เพาะจากเมล็ด (ใช้ส่วนลำต้น+ใบ)


ถั่วงอก......โมยาชิ ( Moyashi - もやし)


ไควาเระ (Kaiware - かいわれ) ...... ส่วนใหญ่ที่เห็นขายกันทั่วไปตามซุปเปอร์นั้น มักจะเป็น... ต้นอ่อนของหัวไชเท้า (ไควาเระ ไดกง - Kaiware Daikon) หรือ หัวผักกาดแดง (เรดิช - Red Radish ) บางทีก็เป็น ต้นมัสตาร์ดอ่อน ซึ่งเราสามารถดูได้จากข้างกล่อง จะมีเขียนกำกับเอาไว้ว่า....เพาะมาจากเมล็ดอะไร ก่อนนำไปประกอบอาหาร ควรตัดรากและล้างน้ำเอาเศษดำ ๆ (เปลือก) ที่ติดมาออกเสียก่อน (ถ้ายังไม่ใช้ให้เก็บเข้าตู้เย็นทั้งแพ็คโดยไม่ต้องล้าง) นิยมนำมาทาน....ได้ทั้งแบบสด ๆ (ผสมในผักสลัด) หรือจะนำมาลวกแค่แป๊ปเดียว ก่อนนำไปประกอบอาหารต่าง ๆ มีวิตามิน B 12 , Multi vitamin B12 และ Mineral สูงค่ะ ประโยชน์และที่มาจาก สนใจอ่านเพิ่มเติม ตามไปอ่านได้ที่ลิงค์นี้ค่ะ //www.murakamifarm.com/info/release/040616/index.html




ผักโตวเหมี่ยว หรือ โต้วเหมี่ยว (ตามที่บ้านเราเรียก)....." โตเมียว (Toumyou - 豆苗) " ...มีกำเนิดมาจากประเทศจีน ซึ่งก็คือ ต้นอ่อนของเมล็ดถั่วลันเตา ใช้เวลาในการเพาะประมาณ 10 วัน ก็จะได้ต้นอ่อนที่กำลังเหมาะในการเก็บมารับประทาน ให้รสชาติหวานกรอบคล้ายกับถั่วลันเตา มีวิตามินเอ , บี , ซี และมีกากใยสูงมากกว่าผักชนิดอื่น ๆ หลายเท่า มีสารที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายคนเรามากมาย สนใจอยากทราบสรรพคุณต่าง ๆ ตามไปอ่านต่อได้ที่ลิงค์นี้ค่ะ //www.murakamifarm.com/market/toumyou/index.html



หลังจากทราบว่ามันมีคุณประโยชน์มากมาย แถมราคาก็ถูก (อันนี้สำมะคัญ)......ก็ซื้อมาทำอาหารบ่อยมาก ไม่ว่าจะนำไปลวกแค่พอสุกทานแบบหม้อไฟ , นำไป ผัดโตวเหมี่ยว , เอาไปทำแกงส้มบ้านเราก็อร่อยจ้า




พริกต่าง ๆ


พริกขี้หนูสด...... โทอุงะระชิ (Tougarashi -とうがらし / トウガラシ .......คนญี่ปุ่นไม่นิยมนำมาทานแบบสด ๆ มักจะใช้แบบพริกแห้งแล้ว นำมาเป็นส่วนประกอบของอาหาร

พริกชิชิโต (Shishito - ししとう / シシトウ).....เป็นพริกชนิดหนึ่ง มีขนาดของเม็ดยาว ประมาณพริกชี้ฟ้าของบ้านเรา แต่ไม่มีรสเผ็ดเลย นิยมนำมาย่างไฟพอสุก จะมีกลิ่นหอม ราดด้วยโชหยุ (ซีอิ้วญี่ปุ่น) หรืออาจจะเพิ่ม คัตทสึโอะบูชิ (ปลาโออบแห้งฝนเป็นแผ่นบาง ๆ ) นำไปเป็นเครื่องเคียงของอาหารหลากหลายประเภท , นำไปชุปแป้งทอด (เทมปุระ) ฯลฯ




มะนาว + ส้มต่าง ๆ



ยูซุ (Yuzu -ゆず)....เป็นพืชตระกูลส้มชนิดหนึ่ง เปลือกมีสีเหลืองคล้ายมะนาวฝรั่ง... มีรสเปรี้ยวและมีกลิ่นหอมสดชื่น นิยมนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารหลายชนิด



ซึดะจิ (Sudachi - すだち)....... เป็นพืชตระกูลส้มชนิดหนึ่ง ขนาดของลูกและเปลือกมีสีเขียวคล้ายมะนาวไทยเรา..... มีรสเปรี้ยวแต่น้อยกว่ามะนาว มีกลิ่นหอมสดชื่น นิยมนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารหลายชนิด เช่นเดียวกันกับ ยูซุ (Yuzu -ゆず)



ไว้ค่อยมาทยอยโพสต่อไปเรื่อย ๆ นะค้า

***ขอปิดการให้ Comment ในกระทู้นี้ไว้แค่นี้ก่อน***

หากเพื่อน ๆ ท่านใดมีความประสงค์ อยากเพิ่มเติม , ติ ชม หรือมีคำถามใด ๆ กรุณาแวะไปฝากข้อความไว้ได้ที่นี่ค่ะ

♥♥♥ Guestbook .....เล่มที่ 4 ♥♥♥

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียน และขออภัยในความไม่สะดวก ไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ






 

Create Date : 04 กุมภาพันธ์ 2553
0 comments
Last Update : 8 มีนาคม 2554 6:04:16 น.
Counter : 92398 Pageviews.


เต่าญี่ปุ่น
Location :
埼玉県 Japan

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 234 คน [?]




ขอขอบคุณเพื่อน ๆ ทุกท่านที่แวะเข้ามาเยี่ยมชมนะคะ จุดประสงค์หลักก็คือ... อยากเก็บประสพการณ์ต่าง ๆ ของชีวิตในต่างแดน (ญี่ปุ่น) ซึ่งได้อยู่มาเข้ารอบปีที่ 15 แล้ว เพื่อบันทึกความทรงจำ กันลืม เพราะแกร่แย้วววว ^o^ มีหลายเรื่องที่อยากเขียน....จนตัดใจเลือกไม่ถูกว่าจะเลือกเรื่องไหนเป็นหลัก......"รักพี่เสียดายน้อง" ไหน ๆ ก็ตัดใจเลือกไม่ได้ ก็เขียนมันเสียทุกเรื่องจะดีกว่าเนอะ.... บล๊อคนี้...ก็เลยกลายเป็น " บล๊อคจับฉ่าย " อย่างที่เพื่อน ๆ เห็นละนี้แระคร้า
Friends' blogs
[Add เต่าญี่ปุ่น's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.