อาทิตย์สาดส่อง..ความจริงจักปรากฎทั่วปฐพี!!!
Group Blog
 
<<
กันยายน 2551
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
15 กันยายน 2551
 
All Blogs
 
ขวาพิฆาตซ้าย 2551: การปลุกผีและการสร้าง “ความเป็นซ้าย” ตามสไตล์ของกลุ่มพันธมิตรฯ

กำพล จำปาพันธ์
นิสิตปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



<1>บทความและคำอภิปรายแต่ละชิ้นที่คัดเลือกมารวมไว้ในเล่มดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นความพยายามในการอธิบายแนวคิดและการเคลื่อนไหวของกลุ่มพธม. ในช่วงระยะที่ผ่านมา นับแต่ช่วงปักหลักอยู่ที่เชิงสะพานมัฆวานจนถึงปฏิบัติการยึดทำเนียบ ซึ่งเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า แกนนำ พธม. ได้ยกระดับข้อเรียกร้องของตนไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ มากกว่าจะต้องการเพียงเปลี่ยนตัวบุคคล แสดงให้เห็นอย่างง่าย ๆ ว่าภายใน พธม. มีการพัฒนาระบบคิดของตนขึ้นเป็นลำดับ ตามสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง ท่าทีของรัฐบาล สื่อมวลชน ตลอดจนอารมณ์ของพลพรรคที่ร่วมชุมนุม แต่จะสอดคล้องกับความเป็นจริงของสิ่งเหล่านี้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

ในงานดังกล่าวแม้จะไม่ใช่ครั้งแรกแต่อย่างใดที่คำนูณ และนักเขียนชาวพธม. จะเสนอระบอบ 70:30 แต่การอธิบายหรือชี้ให้เห็นความจำเป็นในการที่ต้องนำเอาระบอบดังกล่าวมาปฏิบัติใช้อย่างเร่งด่วน ถือได้ว่าเป็นจุดเด่นของแต่ละบทความในเล่มนี้ สังคมไทยปัจจุบันมีปัญหาอะไรในความเห็นของคำนูณและพธม. ถึงต้องแก้ไขด้วยการเปลี่ยนแปลงในทิศทางเช่นนั้น ? ปัญหาที่ว่านั้นมีอยู่จริงหรือคำนูณและพธม. สร้างกันขึ้นมาเอง ? นี่คือเป้าหมายของผู้เขียนที่จะชี้ให้เห็นผ่านการพิจารณางานของคำนูณในที่นี้

คำนูณก็เช่นเดียวกับนักเขียนชาวพธม. ท่านอื่น ๆ กล่าวคือต่างก็เห็นว่า ปัญหาวิกฤติสำคัญร้ายแรงของบ้านเมืองขณะนี้คือ กรณีที่มีคนบางกลุ่มบางพวกกระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่รัฐบาลกลับไม่จัดการกับคนเหล่านั้น ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับที่คำนูณนำเอาไปอภิปรายในที่ประชุมสภาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2551 ตั้งข้อกล่าวหารัฐบาลสมัครเป็น “ไม่” ที่ 10 ในจำนวน “ไม่” ทั้งหมด “ไม่ที่ 10” มีเนื้อหาดังนี้ :

“ไม่ที่ 10 – ไม่แสดงออกถึงการพยายามปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จากกลุ่มผู้คิดล้มล้าง ทำลาย หนำซ้ำยังมีพฤติกรรมปกป้อง ช่วยเหลือ ที่สำคัญยังเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีลักษณะล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550 แม้ญัตติดังกล่าวต้องตกไปเพราะมีผู้ถอนชื่อไม่ครบจำนวน แต่ก็แสดงให้เห็นอย่างล่อนจ้อนถึงลักษณะซ่อนปม ไม่รับรองสถานะขององคมนตรีชุดปัจจุบันเอาไว้อย่างจงใจ รวมทั้งการแต่งตั้งผู้ที่มีแนวความคิดเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีตำแหน่งสำคัญ” <2>


ทั้ง “10 ไม่” สำหรับคำนูณแล้ว ไม่ที่ 10 ที่ยกมาข้างต้นนี้สำคัญที่สุด ดังจะเห็นได้จากการพยายามอภิปรายขยายความเพิ่มเติม เช่นว่า “ได้เกิดขบวนการที่มีแนวคิดเชิงอุดมการณ์ขัดแย้งกับ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” เกิดขึ้นและยังดำรงอยู่” <3>น่าสังเกตว่าประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ถูกนำมาใช้เป็น “ไม่ที่ 10” ด้วยอย่างไม่ค่อยจะสมเหตุสมผลนัก การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวอะไรกับ “ไม่แสดงออกถึงการพยายามปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” หรือคำนูณคิดว่ารัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่ “แสดงออกถึงการพยายามปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์” หรือเป็นอย่างเดียวกับ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” หรือ/ฉะนั้นจึง ผู้ที่คิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นพวกเดียวกับผู้ที่ “ไม่แสดงออกถึงการพยายามปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ? ? แต่ที่ชัดเจนนั้น “การแต่งตั้งผู้ที่มีแนวความคิดเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีตำแหน่งสำคัญ” หมายถึง กรณีนายจักรภพ เพ็ญแข นั่นเอง

ประเด็นนี้นอกจากจักรภพแล้ว ยังมีอีก 2 กรณี คือ กรณีนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง และคุณจิตรา คชเดช <4> รวมทั้งกรณีที่สถานีโทรทัศน์ NBT เสนอข่าวเนปาลยกเลิกระบบกษัตริย์ <5> ทั้ง 4 ถูกคำนูณรวบย่อให้เป็นเรื่องเดียวกันเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก ความสำคัญของกรณีนายโชติศักดิ์ตามนัยของคำนูณนั้น ไม่เกี่ยวเลยว่าการที่นายโชติศักดิ์ไม่ยืนทำความเคารพในคราวที่โรงหนังเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2550 ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ เพราะการพิจารณาในประเด็นดังกล่าวอย่างมากก็อาจพบเพียงความผิดส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวกับกลุ่มขบวนการใดที่คำนูณต้องการควานหาและนำมาแสดงให้ผู้อ่านของเขาได้เห็น แต่เหตุที่กรณีนายโชติศักดิ์ถูกหยิบยกมากล่าวถึงในบริบทของงานคำนูณก็เนื่องจาก “นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง เจ้าของฉายา “แมมมอธ” (เป็น) แกนนำกลุ่ม 19 กันยาต้านรัฐประหาร ซึ่งเป็นองค์กรแนวร่วมของ นปก.” <6>กล่าวคือกรณีนี้ดูเหมือนจะช่วยให้คำนูณ (และ พธม.) สามารถนำไปใช้เล่นงาน กลุ่มนปก. ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามได้ ดังที่จะเห็นมีการใช้วิธีเดียวกันนี้กับกรณีคุณดา ตอร์ปิโด ที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้เป็นทั้ง “นาย พี่ และครู” ของคำนูณ เป็นผู้เล่นเสียเอง แต่กรณีคุณดา ไม่ปรากฏการเล่นโดยคำนูณในเล่มนี้ และกรณีนายโชติศักดิ์นั้นคำนูณเล่าต่อจนโยงถึงกรณีคุณจิตราและ NBT ได้ว่า :

“ก่อนหน้านั้น ตั้งแต่หลังเกิดเหตุใหม่ ๆ มีการรณรงค์ของ นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง และผู้สนับสนุน ในโลกไซเบอร์มาโดยตลอด ในเว็บบอร์ดยอดนิยมต่าง ๆ โดยเฉพาะเว็บบอร์ดผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเว็บบอร์ดที่มีชื่อและเนื้อหาวิพากษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งแพร่กระจายเป็น “ฟอร์เวิร์ดเมล” ไปทั่ว

และก่อนจะเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ก็มีการรณรงค์ลงชื่อให้กำลังใจนัดแนะกันไปตั้งขบวนสนับสนุนหน้า สน.ปทุมวัน


หน้า สน.ปทุมวัน บ่ายวันอังคารก่อน จึงมีป้ายสนับสนุนการไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีเต็มไปหมด ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง สวมเสื้อรณรงค์เหมือนกับที่ คุณจิตรา คชเดช ใส่มาออกอากาศที่ NBT ในอีก 2 วันต่อมา”
<7>


“เสื้อรณรงค์” ที่ว่า คือ เสื้อสกรีนวลี “ไม่ยืน (ไม่ใช่) อาชญากร” “คิดต่าง (ไม่ใช่) อาชญากรรม” คำนูณทำหน้าที่ยามเฝ้า (เจ้า) แผ่นดิน ด้วยการโต้วลีข้างต้นอย่างกระตือรือล้นว่า “การไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ไม่ใช่อาชญากรในความหมายทั่วไป แต่อาจมองอีกมุมหนึ่งได้ว่า เข้าข่ายเป็นอาชญากรต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ความคิดเห็นต่างโดยทั่วไปไม่ใช่อาชญากรรมแน่นอน แต่ความคิดเห็นต่างบางประเภท ที่มุ่งเปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ย่อมมองอีกมุมหนึ่งได้ว่า เป็นอาชญากรรมต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข “ <8>สรุปคือ คำนูณตัดสินแทนเจ้าหน้าที่ไปแล้วว่า กรณีนี้ผู้กระทำมีความผิด เป็นอาชญากร (?!) ขณะที่ถ้าจะถือข้อสรุปนี้เป็นมาตรฐาน ผู้ที่มีความผิดร้ายแรงฐาน “มุ่งเปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ย่อมมองอีกมุมหนึ่งได้ว่า เป็นอาชญากรรมต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” สำหรับผู้ที่เสนอ “การเมืองใหม่” (หรือระบอบ 70 : 30) เข้ามาเปลี่ยนระบบ ยกเลิกประชาธิปไตยไปเป็นอื่น เมื่อเทียบกันแล้วมิเท่ากับมีความผิดในเรื่องนี้มากกว่าเป็นไหน ๆ หรอกหรือ ? <9>

หรือจะเถียงว่าข้อเสนอ “การเมืองใหม่” เป็นแต่เพียงตุ๊กตา ไม่ใช่จะมาเปลี่ยน “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แล้วสิทธิพิเศษที่ตุ๊กตา ( “การเมืองใหม่” ) จะให้ทหารสามารถยึดอำนาจได้ทันทีในกรณีที่มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทุจริตคอร์รัปชั่น รัฐบาลบริหารโดยขาดคุณธรรม และมีการเสียอธิปไตยของชาติ ที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล เสนอต่อที่ชุมนุมไว้ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2551 จนปรากฏเป็นข่าวครึกโครมตามหน้าหนังสือพิมพ์วันต่อมา <10> ไม่ได้มีความหมายตามตัวบทอักษรหรอกหรือ ? ซึ่งอาจจะเป็นเช่นนั้นก็ได้ ในเมื่อการรณรงค์ของพธม. เองก็ยังอ้าง “ประชาธิปไตย” ทั้งที่ประเด็นเนื้อหา ไม่ใช่เลย...

ปัญหาคือ คำนูณเชื่อมั่นเช่นนั้นจริง ๆ หรือว่ากรณีการรณรงค์ของนายโชติศักดิ์และการสวมเสื้อคิดต่างฯ ของคุณจิตรา จะมีผลกระทบหรือเป็นอันตรายต่อ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และกรณีทั้งสองนี้ถือได้ว่า เป็นการ “มุ่งเปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ฉะนั้นจึง “ย่อมมองอีกมุมหนึ่งได้ว่า เป็นอาชญากรรมต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ตามตรรกของคำนูณ แน่ใจหรือว่าเป็นการประเมินนายโชติศักดิ์และคุณจิตรา ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของบุคคลทั้งสอง คำถามที่ตามมาก็คือว่า อะไรทำให้คำนูณคิดว่าบุคคลทั้งสองมีศักยภาพถึงเพียงนั้น ? หรือคำนูณเพียงแต่หยิบยกกรณีบุคคลทั้งสองนี้ขึ้นมา “ใช้” เป็นประเด็นปลุกระดมผู้อ่านให้หลงเชื่อว่า มีกลุ่มคนที่เป็นอันตรายต่อชาติและสถาบันดำรงอยู่จริงในสังคมปัจจุบัน ? เพียงไม่ยืนในโรงหนังกับการสวมเสื้อแค่นั้น คำนูณเห็นเป็นการ “มุ่งเปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เชียวหรือ ? ทำไมในความเห็นของผู้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการที่อ้างตัวทำหน้าที่ปกป้องชาติและสถาบัน ถึงได้คิดว่าชาติและสถาบันจะถูกกระทบเพียงเพราะเหตุเท่านี้ ?

กรณี NBT เสนอข่าวเนปาล ก็เช่นกัน คำนูณใช้ตรรกและวิธีคิดแบบเดียวกันนี้เสียจนเลยเถิด อ้างลอย ๆ ว่า “ระวังจะเป็นอย่างเนปาล!” คำถามก็คือว่า เราไม่ควรจะได้ “รู้” ว่าเกิดอะไรขึ้นที่เนปาลหรือที่อื่น ๆ บ้างเลยหรือ ? จะเหมือนกับสมัยรัชกาลที่ 6 – 7 ที่ฝ่ายสมบูรณาฯ ไม่ต้องการให้มีการเสนอข่าวโซเวียตและจีนตามหน้าหนังสือพิมพ์งั้นหรือ ? เช่นเดียวกัน คำนูณโยงกรณีข่าวเนปาลให้มีนัยสำคัญสำหรับยืนยันว่ามีกลุ่มขบวนการที่ “มุ่งเปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

กรณีคุณจักรภพ เพ็ญแข คำนูณยิ่งไปไกลกว่ากรณีข้างต้น “ซ้ายใหม่” “สหายเพ็ญ” และ “ลูกที่ดีของพรรค” คือ สมญาที่คำนูณใช้เรียกจักรภพ แสดงนัยสำคัญชี้ชวนผู้อ่านให้เห็นคล้อยว่า มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เกิดขึ้นกับคนในคณะรัฐบาล นอกเหนือจากการที่แกนนำ พธม. และพลพรรค มักเรียก “เจ๊เพ็ญ” เสียจนติดหูกันไปทั่ว ในเล่มนี้คำนูณใช้วิธีหยิบยกการพูดปาฐกถาที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2550 มากล่าวซ้ำ แสดงความเห็นว่า การที่ พ.ต.ท.วัฒนศักดิ์ มุ่งกิจการดี ไปแจ้งความขอให้ดำเนินคดีกับจักรภพ ฐานมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2551 ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากตนได้อ่านคำปาฐกถาจักรภพแล้วเห็นว่า :

“สปีชของ คุณจักรภพ เพ็ญแข ที่ FCCT ไม่ว่าจะมองโดยภาพรวมหรือตัดตอน ล้วนล่อแหลมหมิ่นเหม่ทั้งนั้น แต่ผู้พูดนอกจากจะกล้าหาญแล้ว ยังฉลาดพอตัวที่จะไม่เอ่ยถึงคำ “อมาตยาธิปไตย” และ/หรือ “ศักดินา” ใช้และเน้นแต่คำ “ระบบอุปถัมภ์” หรือ “Patronage System” เป็นหลัก กุญแจสำคัญในการต่อสู้คดีอยู่ที่ตรงนี้จะผิด ป. อาญา ม.112 หรือไม่ ผมไม่รู้ และไม่ใส่ใจ

เพราะเมื่อมองโดยองค์รวมแล้ว ผมเชื่อว่าผมรู้ว่า คุณจักรภพ เพ็ญแข มีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไร จะเรียกท่านว่าเป็น “ซ้ายใหม่” ตามเนชั่นสุดสัปดาห์ได้หรือไม่ ก็สุดแท้แต่ใจ แต่สำหรับภาษา “ซ้ายเก่า” ในอดีตแล้ว จิตใจที่กล้าต่อสู้กล้าเอาชนะกล้าประกาศอุดมการณ์ไม่เลือกที่เยี่ยงนี้ เขาเรียกว่า เป็นคนประเภท...

“ลูกที่ดีของพรรค”

นี่เป็นเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญกว่า ม.112 เยอะ !”
<11>


คำถามก็คือ “พรรค” ที่คำนูณบอกจักรภพเป็น “ลูกที่ดี” หมายถึง พรรคไหน พรรคพลังประชาชน ? นปก.? พคท.? พรรคพลังประชาชน มีสำนวนเรียกลูกพรรคเช่นนี้ด้วยหรือ ? นปก. ก็ไม่มีสถานะเป็นพรรคการเมือง คนที่เข้าร่วมกับนปก. ก็จึงไม่มีสถานะลูกพรรคเช่นกัน อันที่จริงเป็นที่ทราบกันดีว่า วลีนี้ พคท. ใช้เรียกผู้ปฏิบัติงานที่แข็งขันเสียสละเพื่อการปฏิวัติ สิ่งที่คำนูณทำ คือ การเปรียบเปรยเสมือนจริง แต่ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด ตัดต่อ ลดทอน ให้ร้าย ฯลฯ อย่างไรก็ตาม กรณีจักรภพได้ถูกคำนูณนำมาใช้ขยายเป็น “วิกฤตของระบอบ” เป็นวิกฤตที่เลวร้ายเสียยิ่งกว่ายุคสงครามเย็น (?!) คำนูณจึงปฏิเสธการใช้กฎหมายประมวลอาญา ม.112 ว่าไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม ดังที่เขาจบบทความ “”สหายเพ็ญ” คารวะจิตใจซ้ายใหม่ ที่แม้แต่ซ้ายเก่ายังหนาว!!” ว่า :


“ทางออกของปัญหานี้ ไม่ใช่แค่ด้วย ป.อาญา ม. 112!!

เพราะนี่คือ “วิกฤตของระบอบ” ที่แขวนอยู่บนเส้นด้ายเบาบางยิ่งกว่ายุคสงครามเย็น เมื่อเผชิญหน้ากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเสียอีก

คนบางคน ณ วันนี้ของปี 2551 ต่างกับท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เมื่อปี 2475

นอกจากมีทั้ง “อำนาจ“ และ “ประสบการณ์” แล้ว – ยังมี “เงิน” และ “ลูกพรรคที่ดี” อีกต่างหาก!”
<12>

ขณะที่สร้างภาพ “ผู้ร้าย” ให้แก่ฝ่ายที่คิดต่างไปจากตนเป็นที่เรียบร้อย ก็น่าทึ่งที่คำนูณไม่ลืมที่จะสร้างภาพ ”พระเอก” ให้แก่นายสนธิ ลิ้มทองกุล และกลุ่มพธม. เมื่อฝ่ายที่คิดต่างเป็นผู้ร้ายทำลายสถาบัน ดูหมิ่นเบื้องสูง ไม่รักชาติบ้านเมือง ตามตรรกนี้ สนธิ ผู้เป็น “นาย” ของคำนูณ จึงเป็นผู้ช่วยกอบกู้สถานการณ์ เป็นผู้รักชาติ รักสถาบัน ต่อเสียงวิพากษ์ที่ว่า สนธิและกลุ่มพธม. เป็นผู้เทียบเชิญให้ทหารออกมายึดอำนาจในเหตุการณ์วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 คำนูณแก้ต่างให้กับนายด้วยการเขียนว่า :

“ในขณะที่ผู้ไม่เข้าใจและแกล้งไม่เข้าใจ ประณามว่า คุณสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นผู้ออกเทียบเชิญทหารมารัฐประหาร แต่ไม่ใช่เขาคนนี้หรือ ที่ออกมาประณามแนวทางของคมช. และรัฐบาลที่ คมช. ตั้งเป็นคนแรก ๆ

คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ไม่เคยต้องการรัฐประหารแบบเก่า ๆ ที่สักแต่เปลี่ยนมือผู้กุมอำนาจรัฐ

แต่ก็ไม่ต้องการระบอบเผด็จการรัฐสภา ที่บงการโดยทุนใหญ่

ไม่ต้องการ “วงจรอุบาทว์ใหม่” ที่จะสลับกันครองอำนาจระหว่างเผด็จการรัฐสภา กับเผด็จการทหารหน่อมแน้มไร้วิสัยทัศน์”
<13>

เท่าที่ผู้เขียนยังจดจำได้เป็นอย่างดี (และเชื่อว่าหลายท่านคงจำได้เช่นกัน) ผู้ที่ “ออกมาประณามแนวทางของคมช. และรัฐบาลที่ คมช. ตั้งเป็นคนแรก ๆ” มีหลายคน ส่วนใหญ่เป็นคนที่เคลื่อนไหวอยู่ในกระแสเดียวกับกลุ่มนปก. ไม่ก็มีจุดยืนสอดคล้องกับนปก. ไม่ใช่หรือ ? หรือหากจะให้เครดิตกับสนธิเช่นนั้น ก็น่าจะขยายความหน่อยว่า สนธิทำอะไรบ้าง ที่เป็นการ “ประณามแนวทางของคมช.” หรือต่อให้สนธิได้ “ประณามแนวทางของคมช.” จริง ก็ยังต้องถามต่อได้ว่า แล้วทำไมไม่มีการเคลื่อนไหวขับไล่จากสนธิและพธม. หรือว่าสนธิและพธม. เพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับคมช. ในบางประเด็นเท่านั้น โดยส่วนใหญ่แล้วก็ยังยอมรับคมช. และรัฐบาลสุรยุทธ์ เพราะเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มาจากเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ และที่บอก “คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ไม่เคยต้องการรัฐประหารแบบเก่า ๆ ที่สักแต่เปลี่ยนมือผู้กุมอำนาจรัฐ” ก็เท่ากับเผยไต๋ว่า ต้องการรัฐประหารแบบใหม่ ที่ไม่ใช่เพียงเปลี่ยนมือผู้กุมอำนาจรัฐ เพราะความต้องการที่แท้จริงของสนธิและพธม. คือ ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ ใช่หรือไม่ ? หรือคำนูณและสนธิจะดึงดันว่า มีรัฐประหารที่ดี และเผด็จการที่ดี ที่รัฐไทยควรจะนำมาใช้ ?

ต่อการเคลื่อนไหวของพธม. เอง คำนูณก็เป็นคนอธิบายเทียบเคียงการเคลื่อนไหวเช่นนี้ว่า มีลักษณะดุจเดียวกับการเคลื่อนไหวของ 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาคม 2535 มองเพียงรูปแบบว่า เป็นการประท้วงขับไล่รัฐบาลเท่านั้น ไม่ได้พิจารณาเนื้อหาว่า การเคลื่อนไหวของพธม. แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับกรณี 14 ตุลาคม 2516 และ พฤษภาคม 2535 เพราะสองกรณีหลังเป็นการขับไล่รัฐบาลเผด็จการ ไม่ใช่การขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งดังกรณีพธม. อย่างไรก็ตาม ต่อกรณีการปักหลักยืดเยื้อของพธม. คำนูณก็อธิบายด้วยคำซ้าย ๆ ตามเคย เช่นว่า “นี่คือการชุมนุมของ “พรรคการเมือง – ในทางปฏิบัติ” ที่มีลักษณะ “พรรคมวลชน” ไม่ใช่ “พรรคสภา” และมีโอกาสพัฒนาไปเป็น “พรรคปฏิวัติ” ได้!!” <14>

คำถาม คือ ถ้าพธม.เป็น “พรรคปฏิวัติ” คำนูณจะอธิบายการปฏิวัติของพธม. ด้วยศัพท์แสงเดียวกันนี้อย่างไร ? “ศักดินาจะปฏิวัติทุนนิยม” หรือ “ทุนศักดินาจะปฏิวัติทุนโลกาภิวัตน์” ใช่หรือไม่ ? ต่อเมื่อมีการเคลื่อนกำลังเข้ายึดทำเนียบในวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2551 สนธิจึงได้คิดคำใหม่สำหรับอธิบายเป็นคำว่า “ประชาภิวัฒน์” เพื่อลบเลือนนัยรุนแรงของคำ “ปฏิวัติ” ซึ่งก่อนหน้านั้นเพียงเล็กน้อยนายสุริยะใส กตะศิลา ได้นิยามการเคลื่อนกำลังเข้ายึดสถานที่ต่าง ๆ ในวันดังกล่าว ด้วยศัพท์ซ้าย เช่น “กองทัพประชาชนปฏิวัติ” สะท้อนว่านักการเมืองกลุ่มนี้สามารถฉกฉวยทุกกระแสมาทำประโยชน์ให้กับการรณรงค์ของตน ไม่ใช่เพียงกระแสขวา ๆ สไตล์ “เรารักในหลวง” และกระแสชาตินิยมการเสียดินแดนเท่านั้น แต่กระแสซ้าย ๆ ก็ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่เช่นกัน

นอกจากนี้ ที่สำคัญ คือ ยังมีความพยายามจากกลุ่มพธม. ในการฟื้นบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองแบบที่เคยเกิดขึ้นระยะก่อนเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยวิธีการปลุกผีคอมมิวนิสต์ ปลุกผีขบวนการล้มสถาบัน ผีการเสียอธิปไตยของชาติ ผีคนชั่ว รัฐบาลชั่ว ฯลฯ ทั้งนี้โดยเป็นการกระทำของคนซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีส่วนร่วมอยู่ในบรรยากาศการเมืองระยะ 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 และที่น่าแปลกไปกว่านั้นก็คือ บุคคลข้างต้นเมื่อครั้งหลัง 14 ตุลา’ ต่างเป็นฝ่ายที่เคยผ่านประสบการณ์ถูกกระทำจากขบวนการ “ขวาพิฆาตซ้าย” ซึ่งมีรูปการณ์เดียวกับที่กลุ่มพธม. กำลังกระทำอยู่ในปัจจุบันนี้ แถมปัจจุบันบุคคลเหล่านี้ยังอ้างตัวเป็น “ซ้าย” ในเมื่อแนวคิดและจุดยืนเปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง โรคความจำเสื่อมระบาดหนักในสังคมทุกวันนี้อย่างรุนแรง วันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2551 นายสมศักดิ์ โกสัยสุข ถึงขนาดกล่าวปราศรัยบนเวทีพธม. ด้วยซ้ำไปว่า “ตีคนชั่วไม่บาป” ลืมแล้วหรือไรว่าครั้งหนึ่งกิตติวุฒโฑ ก็เคยกล่าวในลักษณะนี้ ( “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ) <15>

ต่อคำถามที่อาจยังค้างอยู่ คือ ในเมื่อจักรภพถูกทำให้เป็น “ซ้ายใหม่” แล้ว “ซ้ายเก่า” (ที่ว่า “ยังหนาว” อยู่) นั้น คำนูณ หมายถึงใคร ? แม้จะไม่ปรากฏคำตอบจากคำนูณในเล่ม “เริ่มต้น (การเมือง)ใหม่ฯ” นี้ก็ตาม แต่ในงานก่อนหน้านี้ของเขา เช่น “ปรากฏการณ์สนธิ จากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้า” <16>ในบทที่คำนูณเล่าถึงที่มาของวลี “การต่อสู้ครั้งสุดท้าย” (ที่ตอนหลังกลายมาเป็น “สงครามครั้งสุดท้าย” ) ว่าได้รับแรงบันดาลใจจากเพลง “แองเตอร์นาซิอองนาล” (ในเวอร์ชั่นคำแปลเป็นไทยโดยจิตร ภูมิศักดิ์) คำนูณกล่าวว่า :

“คนที่ผ่านบรรยากาศทางการเมืองระหว่าง 14 ตุลาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519 ในลักษณะที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวในระดับใดระดับหนึ่ง รวมทั้งคนที่เป็นคอเพลงเพื่อชีวิต ส่วนใหญ่จะรู้จักเพลง “แองเตอร์นาซิอองนาล” นี้ดีพอสมควร เพราะเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ทางชนชั้น การต่อสู้ของผู้ถูกกดขี ถือเป็นเพลงคอมมิวนิสต์สากล ซึ่งที่จริงก็ไม่ได้เกี่ยวกับการต่อสู้กับระบอบทักษิณเลย แต่เรากลับได้ยินเพลงนี้บ่อยครั้งบนเวทีชุมนุมในช่วง 33 วัน 33 คืนแห่งการปักหลักพักค้าง และการรณรงค์ไปในจังหวัดต่าง ๆ เพราะมีวงดนตรีเพื่อชีวิตจากหาดใหญ่ สงขลา ชื่อ “บาโรย” นำมาเล่นได้อย่างมีอรรถรสในทุกครั้งที่ขึ้นเวที

ซ้ายเก่าและแก่อย่างผมและเพื่อน ๆ ก็เลยอดนึกถึงอดีตไม่ได้ นำมาฮัมเล่นเป็นบางครั้ง”
<17>

จะเห็นได้ว่า สิ่งที่คำนูณทำนั้น คือ การสร้างคู่ตรงข้ามขึ้นมาเอง ขีดเส้นแบ่งระหว่างซ้ายใหม่ - เก่า จนเป็นที่ชัดเจนว่า สำหรับคำนูณแล้ว “ซ้ายใหม่” ในแง่นามธรรม หมายถึง พวกหัวใหม่, หัวรุนแรงสุดขั้ว, นิยมการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้า, ไม่รักชาติ ไม่เอาสถาบัน, เป็นพวกทุนสากล (หรือ “ทุนสามานย์” ตามคำฝ่ายพธม.), ธำรงระบอบทักษิณ, นิยมระบอบสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยเสรีนิยม, เน้นว่าอำนาจชอบธรรมมาจากการเลือกตั้ง, มองคนจน คนชนบท คนชั้นล่าง เป็นฐานเสียงหรือฐานอำนาจ, ฯลฯ ส่วนแง่รูปธรรมก็หมายถึง พรรคพลังประชาชน และกลุ่มนปก.

ส่วน “ซ้ายเก่า” เช่นเขานั้น แง่นามธรรม หมายถึง พวกหัวเก่า, เทอดทูนชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เหนืออื่นใด, เน้นทุนสัญชาติไทย, ปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, เน้นว่าอำนาจไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ รัฐประหารก็ดี แต่งตั้งจากองค์พระประมุขยิ่งดี, อนุรักษ์นิยม ไม่ชื่นชมความเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้า, นิยมระบอบอมาตยาธิปไตย, เน้นอภิสิทธิ์ชน คนชั้นสูง และพวกผู้ดีมีการศึกษา มองคนจน คนชนบท คนชั้นล่าง อย่างดูถูกเหยียดหยาม ว่าโง่ ขายเสียง เลือกคนไม่ดีมาบริหารบ้านเมือง ฯลฯ ส่วนแง่รูปธรรม ก็แน่นอนว่า คำนูณ หมายถึง กลุ่มพธม.

ที่นี้ว่าเมื่อขีดเส้นแบ่งใน “ซ้าย” เช่นนี้แล้ว ใครเป็น “ขวา” ในทัศนะของคำนูณ ? แม้จะไม่เขียนบอกโดยตรง แต่จากเส้นแบ่งข้างต้น โดยระนาบแล้ว “ขวา” จะได้แก่ ข้าราชการ, ทหาร, อภิสิทธิ์ชน, คนชั้นสูงที่รักชาติ และสถาบัน ซึ่งซ้ายเก่า (แบบคำนูณ) มองเป็นมิตรที่ต้องสามัคคี บางส่วนสามารถเป็นฐานพลังในการผลักดันประเด็น ให้ซ้ายเก่า (แบบคำนูณ) ได้อิงแอบเพื่อมรรคผลทางการเมืองเป็น ส่วน “ซ้ายเก่า” ที่ยังยึดมั่นในแนวคิดและจุดยืนเดิมที่มีมาแต่ครั้งระยะ 14 ตุลาคม 2516 สำหรับคำนูณแล้ว พวกเขา คือ ศัตรู และเป็นแนวร่วมที่สำคัญของ “ซ้ายใหม่” ที่ต้องถูกกำจัดให้สิ้น คำนูณใช้คำเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “เหมาอิสต์อารมณ์ค้าง” (น.80) และ “ผู้นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ดื้อรั้นบางกลุ่ม” (น.108, 109, 111) แต่หากเรามองจากมุมของกลุ่มคนที่ “...อารมณ์ค้าง” และ “...ดื้อรั้น” ดูบ้าง จะเห็นได้ว่า “ซ้ายใหม่” แบบคำนูณนี้เป็นพวก “ฉวยโอกาสเอียงขวา” หรือ “ขวาใหม่” ที่สุดแสนจะร้ายกาจและเป็นอันตรายยิ่ง

อย่างไรก็ตาม การพยายามฟื้นบรรยากาศการเมืองระยะ 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 เช่นนี้นี่เองที่เป็นกุญแจไขข้อข้องใจ ในประเด็นการกลับเฟื่องฟูขึ้นอีกครั้งของศัพท์แสงแบบซ้าย ๆ นับแต่การพยายามอธิบายกรณีปรากฏการณ์ “หลังพิงวัง” ของนายสุริยะใส กตะศิลา จากบทสัมภาษณ์ในนิตยสารอิมเมจ ฉบับเดือนธันวาคม 2549 <18> แต่ ”คำ” และ “ภาษา” ของฝ่ายซ้ายที่ใช้กันจนเฝือระยะหลัง ๆ มานี้มีการเปลี่ยนย้ายบริบทการใช้ อีกทั้งยังถูกถอดความหมายที่เคยทรงพลังในการวิพากษ์วิจารณ์ดังที่มันเป็นในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 และคำซ้ายเหล่านี้เองที่ถูกใช้เป็นเฉดสีสำหรับป้ายให้ฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นภัยคุกคามชาติและสถาบัน การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถูกนำมาขยายและใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองทั้งที่เรื่องยังอยู่ในการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ เรื่องนี้ถูกทำให้เป็นจริงมากเสียยิ่งกว่าที่มันเป็นจริง ๆ

“ความเป็นซ้าย” (ทั้งเก่าและใหม่) ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยฝ่ายพธม. ในลักษณะนี้ สร้างความชอบธรรมให้กับการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลในยุคนี้ไม่ใช่น้อยเลย ในทางตรงข้ามสิ่งนี้ย่อมแสดงให้เห็นความไม่ชอบธรรมของกลุ่มพธม. ในการเคลื่อนไหวเองด้วย เพราะไม่มีความชอบธรรม พวกเขาจึงต้องสร้างความชอบธรรมนี้ขึ้นมาเอง เป็นความชอบธรรมแบบปลอม ๆ เต็มด้วยการหลอกล่อ ยั่วยุ ปลุกเร้า ให้ประชาชนหลงงมงายเสียจนเลยเถิด ท้าทายกลบฝังประวัติศาสตร์ราวกับสังคมนี้ไม่มีนักประวัติศาสตร์ตัวเป็น ๆ หลงเหลืออยู่เลย

นอกจากโรคความจำเสื่อมแล้ว อาการสมองเสื่อมยังกำเริบกันถ้วนหน้า บุคคลชั้นที่ได้ชื่อว่าเป็นปัญญาชน นักคิด นักวิชาการ ฯลฯ ต่างโดดเข้าร่วมขบวนการ “ขวาใหม่” นี้อย่างกระตือรือร้น การกดปราบความเห็นต่าง ไม่ยอมรับประชาธิปไตย เสนอให้ทหารออกมารัฐประหาร ใช้ความรุนแรงแต่พูดพร่ำอหิงสาและอารยะขัดขืน ฯลฯ ไม่ได้ถูกวิพากษ์ตรวจสอบกันเท่าที่ควร พวกเขาบางส่วนกลับมัวหลงเสนอแต่ทางออกแบบเอาใจผู้ชุมนุม เช่น ให้รัฐบาลลาออกหรือยุบสภา โดยไม่คำนึงถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับสังคมและประชาธิปไตยไทย หากฝ่ายพธม. ได้ชัยชนะในอนาคตอันใกล้นี้...

ก็ได้แต่หวังว่าพฤติกรรม “ฉวยโอกาสเอียงขวา” เช่นนี้จะยุติโดยเร็ว!

ท้ายสุดนี้ฝากถึงคำนูณและพลพรรคพธม. ด้วยว่า พฤติกรรมการปลุกผีและ “ขวาพิฆาตซ้าย” ที่กำลังปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่องอยู่นี้ อาจทำให้ผีกลับฟื้นขึ้นมา “เฮี้ยน” ได้จริง ๆ ถึงจุดนั้น ก็แน่นอนว่า นั่นย่อมจะเป็นจุดจบของพธม. เอง

โปรดระวังให้จงหนัก!



การอ้างอิง



<1> คำนูณ สิทธิสมาน. เริ่มต้น (การเมือง) ใหม่: รวมงานเขียนในสถานการณ์สู้รบสงครามครั้งสุดท้าย จาก “รัฐบาล 10ไม่” ถึง การเมืองใหม่. กรุงเทพฯ: บ้านพระอาทิตย์, 2551.

<2> เรื่องเดียวกัน, น. 17-18 เส้นใต้ขีดโดยผู้อ้าง

<3> เรื่องเดียวกัน, น. 22.

<4> เรื่องเดียวกัน, น. 91.

<5> เรื่องเดียวกัน, น. 76-81.

<6> เรื่องเดียวกัน, น. 91.

<7> เรื่องเดียวกัน, น. 91 เส้นใต้ขีดโดยผู้อ้าง

<8> เรื่องเดียวกัน, น. 92 เส้นใต้ขีดโดยผู้อ้าง


<9> ต้องขอขอบคุณเกษียร เตชะพีระ ในบทความ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของสนธิ ลิ้มทองกุล.” มติชนรายวัน. 25 กรกฎาคม 2551 ที่ช่วยชี้ให้เห็นความเป็นเผด็จการทางความคิดของสนธิและกลุ่มพธม. ว่ามีลักษณะเป็น “Ultra-royalist หรือ "เป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชา-ธิบดี" ตามคำแปลของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์... โดยเฉพาะข้อเสนอ "การเมืองใหม่" ของสนธิอาจเปลี่ยนแปลง... ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นผลสำเร็จทางการเมืองที่สำคัญที่สุดในรัชกาลปัจจุบัน ไปเป็นระบอบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ใช่ระบอบรัฐธรรมนูญ!” (เส้นใต้ขีดโดยผู้อ้าง ) ปล. สามารถอ่านบทความนี้ทั้ง4ตอนได้ที่ //www.matichon.co.th/news_detail.php?id=42483&catid=16 และก็ด้วยลักษณะเผด็จการสุดขั้วที่จะเห็นได้จากข้อเสนอ “การเมืองใหม่” นี้เอง ทำให้คอการเมืองในโลกไซเบอร์บางท่าน ถึงขนาดมองว่า “เป็นการเมืองเก่าในระบบคอมมิวนิสต์” โปรดดูกระทู้ “การเมืองใหม่ในระบบประชาธิปไตยของสนธิ แต่เป็นการเมืองเก่าในระบบคอมมิวนิสต์” โดยผู้ใช้นาม delagroix ใน //www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P6772198/P6772198.html - 20k.

<10> โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ นสพ. ผู้จัดการ. ปีที่ 18 ฉบับที่ 5486 ( 5 – 6 กรกฎาคม 2551) น. 1, 2 โดยในที่หนึ่ง นายสนธิกล่าวชัดว่า “ทหารกับการเมืองใหม่ ต้องขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แต่ทหารมีสิทธิ์เข้ามาบริหารประเทศ หากรัฐบาลมีการทุจริตคอร์รัปชัน รัฐบาลบริหารโดยขาดคุณธรรม ถ้ามีการยกอธิปไตรของประเทศ ทหารก็มีสิทธิ์เข้ามาบริหารประเทศทันที ที่เหลือนอกจากนี้ทหารไม่ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวแต่วันนี้ทหารอยู่ใต้การเมือง” (น. 2 เส้นใต้ขีดโดยผู้อ้าง) ในทางประวัติศาสตร์แท้จริงแล้วข้อเสนอนี้ต่างหากที่เป็นการเมืองเก่าที่รู้จักกันเป็นอย่างดีภายใต้นามต่าง ๆ เช่น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” “ อมาตยาธิปไตย” “ประชาธิปไตยแบบไทย” “เผด็จการทหาร” “ขุนศึก” ฯลฯ

<11> คำนูณ สิทธิสมาน. เริ่มต้น (การเมือง) ใหม่ฯ, น. 98 เส้นใต้ขีดโดยผู้อ้าง

<12> เรื่องเดียวกัน, น. 99 เส้นใต้ขีดโดยผู้อ้าง

<13> เรื่องเดียวกัน, น. 115 เส้นใต้ขีดโดยผู้อ้าง

<14> เรื่องเดียวกัน, น. 144 เส้นใต้ขีดโดยผู้อ้าง

<15> ความจริงผู้เขียนเกิดไม่ทันยุคนั้น แต่หวังใจว่า การที่คนเกิดทีหลังอย่างผู้เขียน ต้องมาคอยตั้งคำถาม ถามกันแบบนี้กับคนเกิดรุ่นนั้น จะทำให้บางคนได้สะดุ้งสะเทือนหรือเจ็บอายกันบ้างก็เท่านั้น – กำพล

<16> คำนูณ สิทธิสมาน. ปรากฏการณ์สนธิ จากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้า. กรุงเทพฯ: บ้านพระอาทิตย์, 2549.

<17> เรื่องเดียวกัน, น. 275-276 เส้นใต้ขีดโดยผู้อ้าง

<18> ขอให้เราลองอดทนอ่านพิจารณาความเห็น (หรือการ “เผยไต๋” ) ของนายสุริยะใสดังต่อไปนี้ :

“ - การต่อสู้ของพันธมิตร มันมีกระบวนการหลังพิงวัง ตรงนี้สร้างความอึดอัดให้ฝ่ายซ้ายจำนวนมากในพันธมิตรหรือไม่

ปัญหาในเรื่องปรากฏการณ์หลังพิงวังมีมาตลอด และมีความอึดอัดเพราะเป็นกระแสที่เรา ก็ต่อต้านมาตลอด ถึงขนาดฝ่ายซ้ายมาขอคุยให้ ครป.ถอยออกมา แต่เราต้องยอมรับว่า การสู้กับระบอบทักษิณ เมื่อภาคประชาชนเห็นว่าระบอบทักษิณเป็นตัวปัญหา แต่ภาคประชาชนเองไม่มีกำลังพอที่จะโค่นล้มคุณทักษิณได้ ฉะนั้นก็ต้องเชื่อมประสานกับพลังอื่น ไม่ว่าจะพลังชนชั้นกลาง พลังทุนนิยมในชาติ พลังศักดินา ก็ต้องร่วมกันเพื่อจัดการคุณทักษิณ เพราะพลังศักดินาโดดๆ ก็จัดการคุณทักษิณไม่ได้ ต้องมาเชื่อมประสานกับพลังของภาคประชาชน ดังนั้นก็เลยเกิดธงหลายผืนในที่ชุมนุมประเด็นจึงอยู่ที่ว่าเราจะจัดลำดับความสำคัญอย่างไร เราอาจจะไม่ได้ทั้งร้อยในการต่อสู้ครั้งนี้ แต่เมื่อต่อสู้แล้วไม่มีใครอยากแพ้ จึงเป็นเหตุให้เราไม่ถอย

- ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เหมือนพลังศักดินาสามารถยืมมือพลังประชาชนในการจัดการและดึงอำนาจคืนจากคุณทักษิณ พลังศักดินาอาจจะยืมมือเรา แต่ที่แน่ๆ คือเราไม่ได้รับธงเขามาเคลื่อน

ผมไม่ปฏิเสธว่า หลังการรัฐประหาร พลังศักดินาเกิดใหม่ ระบอบอำมาตยาธิปไตยสามารถเห็นได้ชัดเจนภายใต้โครงสร้างรัฐบาลใหม่ ตรงนี้เราต้องสรุปบทเรียนว่า จะจัดการกับการเกิดใหม่ของพลังศักดินาหรือระบอบอำมาตยาธิปไตยอย่างไร และที่ทางของประชาชนหรือการเมืองแบบใหม่ที่สู้กันมาทั้งชีวิตจะอยู่ตรงไหน เราจะทำอย่างไร เพื่อสร้างพื้นที่ขึ้นมาในการกำหนดให้วาระของประชาชนเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และต้องผลักดันให้ก้าวหน้ากว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

ส่วนหนึ่งที่ต้องยอมรับในสังคมไทยคือ องค์อำนาจในสังคมไทยมีหลายองค์อำนาจ ไม่ใช่แค่กลุ่มทุนใหม่กับฝ่ายประชาชนเท่านั้น พลังศักดินาระบอบอำมาตยาธิปไตยมีอยู่จริง มีอำนาจที่เป็นจริง มีการเคลื่อนไหวปฏิบัติการในตัว และมีการปรากฏตัวออกเป็นช่วงๆ ดังนั้นจึงไม่ควรมองข้ามองค์อำนาจส่วนนี้ …” (เส้นใต้ขีดโดยผู้อ้าง)
-------------------------------------------------------------------------
โดย : ประชาไท วันที่ : 11/9/2551




Create Date : 15 กันยายน 2551
Last Update : 15 กันยายน 2551 13:07:06 น. 2 comments
Counter : 824 Pageviews.

 
ขวาพิฆาตซ้าย คือะไรหรอค่ะ


โดย: ใบเตยหอม IP: 125.25.229.158 วันที่: 12 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:7:49:26 น.  

 
ซ้ายศักดินาขี้ข้าทักษิณอารมณ์ค้างว่ะ เขียนจับผิดอะไรว่ะไม่รู้เรืองว่ะ


โดย: คอมมิวนิสต์ขี้ตีน IP: 202.149.25.225 วันที่: 1 พฤษภาคม 2552 เวลา:2:26:47 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สุริยาอัสดง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




เปิดโลกด้วยแสงแห่งปัญญา
Thaiflood
Friends' blogs
[Add สุริยาอัสดง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.