อาทิตย์สาดส่อง..ความจริงจักปรากฎทั่วปฐพี!!!
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
4 กรกฏาคม 2551
 
All Blogs
 
แถลงการณ์..ตรวจสอบการใช้อำนาจตุลาการ

แถลงการณ์กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ ฉบับที่ ๗

๒ กรกฎาคม ๒๕๕๑

เรื่อง การตรวจสอบการใช้อำนาจตุลาการ
เรียน พี่น้องประชาชนชาวไทยผู้ที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย


ตามที่ได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในประเทศมาตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๘ ก็ได้มีความพยายามในการใช้อำนาจตุลาการเข้ามาแก้ไขปัญหาทางการเมือง ตามที่เรียกกันว่า “ตุลาการภิวัฒน” เริ่มตั้งแต่คำสั่งศาลปกครองกลางให้คุ้มครอง “ชั่วคราว” สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ เป็นโมฆะ การจำคุกกรรมการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่วิกฤตการณ์การเมืองกลับรุกลามต่อไปจนเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙

ภายหลังรัฐประหาร สถานการณ์และความเชื่อมั่นต่อองค์กรตุลาการกลับยิ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์มายิ่งขึ้น เมื่อปรากฏชัดว่า องค์กรตุลาการบางองค์กรได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างทางการเมืองกันอย่างโจ่งแจ้ง โดยมิได้นำพาต่อหลักนิติธรรมและหลักนิติรัฐแต่อย่างใด ดังปรากฏชัดในกรณีที่ตุลาการรัฐธรรมนูญที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารได้ตัดสินให้ยุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิ์ทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยจำนวน ๑๑๑ คน เป็นเวลา ๕ ปี ตลอดจน การที่บุคลากรของตุลาการหลายคนได้รับการแต่งตั้งให้มาเข้ามามีบทบาททางการเมืองยุครัฐประหาร ทั้งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) กระทั่งเข้าสู่อำนาจบริหาร เป็นรัฐมนตรีและปลัดกระทรวง เป็นต้น

แม้ภายหลังจากที่พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช แต่กลับมีความพยายามที่จะปฏิเสธผลการเลือกตั้งด้วยการสนับสนุนให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกครั้ง โดยร่วมมือกับพรรคการเมืองบางพรรค นำประเด็นทั้งเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์และกรณีเขาพระวิหารมาเป็นประเด็นทางการเมืองปลุกกระเเสเกลียดชังเพื่อโค่นล้มรัฐบาล

อำนาจตุลาการก็ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองครั้งล่าสุด ในกรณีเขาพระวิหาร เมื่อศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ๙๘๔/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ ให้รับคำฟ้องและเพิกถอนการเสนอร่างแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาต่อคณะรัฐมนตรีโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และเพิกถอนการลงนามในแถลงการณ์ร่วมฯของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นอกจากนี้ ศาลปกครองกลางยังได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครอง เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาไปในคราวเดียวกัน

ในการนี้ คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ รศ.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์ ดร.ฐาปนันท์ นิพิฎฐกุล อาจารย์ ธีระ สุธีวรางกูร และอาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้อาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๕๐ แสดงความคิดเห็นทางวิชาการวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งศาลปกครองกลางดังกล่าวเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑

นอกจากนี้ ก็ยังมีคดีการเมืองอื่น ๆ อีกหลายคดีที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาขององค์กรตุลาการ เช่น คดีละเมิดกฎหมายเลือกตั้งของนายยุงยุทธ ติยะไพรัช ซึ่งอาจนำไปสู่การยุบพรรคพลังประชาชนและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคอีกครั้ง คดี “ชิมไปบ่นไป” ของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจทำให้นายกรัฐมนรีและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะสิ้นสภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ก่อให้เกิดความกังวลในหมู่ประชาชนอีกครั้งว่า จะมีการใช้องค์กรตุลาการมาทำลายล้างทางการเมืองอีกหรือไม่

กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์เป็นองค์กรประชาธิปไตยที่ได้แสดงบทบาทต่อต้านเผด็จการ ปกป้องและสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอด ขอเรียกร้องให้ประชาชนชาวไทยผู้ที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง ได้ร่วมกันตรวจสอบการใช้อำนาจอธิปไตย ทั้งอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังต่อไปนี้

๑) ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยถูกใช้ผ่านองค์กรหลัก ๓ องค์กรคือ อำนาจบริหารโดยรัฐบาล อำนาจนิติบัญญัติโดยรัฐสภา และอำนาจตุลาการโดยศาล ตามหลักการสากลที่สามอำนาจจักต้องสมดุลกัน และมิก้าวล่วงขอบเขตอำนาจซึ่งกันและกัน มิฉะนั้นแล้ว การใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยอาจถูกนำไปบิดเบือนไปสนองประโยชน์และวัตถุประสงค์ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด กระทั่งถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามในทางการเมือง อันจะเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อองค์กรตุลาการและกระบวนการยุติธรรมโดยรวม

๒) ตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ทั้งอำนาจบริหาร (คณะรัฐมนตรี) และอำนาจนิติบัญญัติ (สภาผู้แทนราษฎร) มีความยึดโยงกับประชาชนอย่างชัดเจนโดยผ่านกลไกการเลือกตั้ง แต่อำนาจตุลาการอันเป็นอำนาจอธิปไตยอีกอำนาจหนึ่งของปวงชนชาวไทยกลับไม่มีส่วนที่ยึดโยงที่ชัดเจนกับประชาชน ไม่มีกลไกและมาตรการใด ๆ ที่ประชาชนจะสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจตุลาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแก้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในส่วนของการใช้อำนาจตุลาการให้ยึดโยงกับประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยให้ศึกษาจากแบบอย่างในประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ แล้วปรับใช้ให้เข้ากับประเทศไทย

๓) การใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทั้ง อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ จักต้องอยู่บนพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ยึดถือเอาผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นที่ตั้ง โดยเฉพาะองค์กรที่มีหน้าที่ใช้อำนาจตุลาการแทนประชาชน จักต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักนิติธรรม หลักนิติรัฐ และผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยมิยอมให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซงกระบวนการใช้อำนาจตุลาการเป็นอันขาด

๔) ขอสนับสนุนการแสดงความเห็นทางวิชาการภายใต้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีต่อคำสั่งของศาลปกครองกลางในกรณีปราสาทเขาพระวิหาร และขอเรียกร้องให้คณาจารย์จากสถาบันการศึกษาอื่น ๆ องค์กรประชาธิปไตย และพี่น้องประชาชน ได้ออกมาร่วมกันเเสดงความคิดเห็นทางวิชาการต่อการใช้อำนาจตุลาการทั้งระบบ ทั้งนี้เพื่อเป็นการตรวจสอบการใช้หนึ่งในอำนาจอธิปไตยของปวงชน

พี่น้องประชาชนผู้ที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง จักต้องแสดงความกล้าหาญในการตรวจสอบการใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ ให้เป็นไปตามหลักนิติรัฐ นิตธรรม และประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสืบไป

ด้วยความเชื่อมั่นต่ออำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย
กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์




Create Date : 04 กรกฎาคม 2551
Last Update : 4 กรกฎาคม 2551 15:52:13 น. 2 comments
Counter : 814 Pageviews.

 
เมื่อมีความพยายามให้ระบบตุลาการเป็นความหวังใหม่ในการแก้ปัญหาประเทศ แต่ความถูกผิดทางการเมืองที่ตัดสินโดยปัจเจกชน หรือ องค์คณะ ก็ตามย่อมอาจผิดพลาดได้ เพราะความถูกผันแปรไปกับการแปรเปลี่ยนไปของภววิสัยภายนอก ถูกวันนี้อาจผิดพลาดมหาศาลในวันหน้าก็ได้ คำว่าตุลาการภิวัฒน์ที่เลิศหรือวันนี้ ข้างหน้าอาจถูกเหยียบให้เป็น "ศาลเตี้ย" ก็ได้ ความขัดแย้งทางการเมืองต้องแก้ที่การเมือง ซึ่งรูปธรรมก็คือ รัฐสภานั่นเอง ระบบตุลาการมิอาจดูดซับความขัดแย้งทางการเมืองได้หรอก
ยิ่งไม่สามารถสลายความขัดแย้งได้
ปัญหาทุกวันนี้เป็นเรื่องของความเห็นล้วนๆ เห็นไปคนละทิศละทาง แก้ไปคนละทิศละทาง สำหรับผมเห็นการเมืองทั้งระบอบเป็นเผด็จการ เพราะดูที่ตัวอำนาจยังไม่ได้เป็นของประชาชนเลย
มีแต่นายทุนใหญ่ ไม่ก็อำมาตยาธิปไตย ปกครองเราอยู่ทุกวันนี้


โดย: sarntee วันที่: 4 กรกฎาคม 2551 เวลา:17:16:01 น.  

 
หวังว่าอำนาจฝ่ายตุลาการทั้งหลาย
จะไม่เป็นร่างทรงของระบอบอำมาตยาธิปไตย
เนื่องจากเป็นอำนาจ 1 ใน 3 ของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่
เพียงอำนาจเดียวที่มิได้ยืดโยงจากประชาชน
เหมือนอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ และอำนาจฝ่ายบริหาร


โดย: หอมกร วันที่: 4 กรกฎาคม 2551 เวลา:21:45:56 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สุริยาอัสดง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




เปิดโลกด้วยแสงแห่งปัญญา
Thaiflood
Friends' blogs
[Add สุริยาอัสดง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.