อาทิตย์สาดส่อง..ความจริงจักปรากฎทั่วปฐพี!!!
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
6 กรกฏาคม 2551
 
All Blogs
 
‘การทำประชามติ’ ทางลงของม็อบ ทางออกจากรัฐประหาร

สัมภาษณ์ ‘สมชัย จึงประเสริฐ’: ว่าด้วย ‘การทำประชามติ’ ทางลงของม็อบ ทางออกจากรัฐประหาร

ฟ้ารุ่ง ศรีขาว

ในภาวะที่บ้านเมืองกำลังแบ่งเป็นฝั่งเป็นฝ่ายพร้อมทั้งความสับสนว่า “สิ่งที่ควรจะเป็น” ต้องเป็นไปตาม “หลักการ” หรือ “จำนวนเสียง” กันแน่??? เพราะทุกครั้งที่กลุ่มการเมืองทั้งนอกสภาและในสภาโจมตีฝ่ายตรงข้าม ต่างหนีไม่พ้นการอ้าง “เหตุผลชุดเดียวกัน” แต่เอามาพูดคนละที กล่าวคือ ฝ่ายหนึ่งอ้างจำนวนเสียงโหวต แต่อีกฝ่ายอ้างหลักการบางอย่าง ขณะเดียวกันเมื่อถึงคราวฝ่ายกุมอำนาจรัฐอ้างหลักกฎหมาย ฝ่ายตรงข้ามย่อมเกทัพด้วยจำนวนมวลชนผู้ชุมนุม

ส่วนการเมืองในระบบ/ในสภาดำรงอยู่ได้เพราะ “หลักการ/ความเชื่อ” ว่าเรามี “ตัวแทน/มาจากการเลือกตั้ง” ในขณะที่ชีวิตประจำวันของประชาชนส่วนใหญ่เดินดินกินข้าวแกงขึ้นรถเมล์ดูละครทีวีก่อนเข้านอน โดยสภาพหลังจากวันเลือกตั้งแล้วไม่สามารถมีอำนาจในการต่อรองใดๆ ทางการเมืองนอกจาก “การชุมนุม”


เรามีโอกาสได้มาพูดคุยกับนายสมชัย จึงประเสริฐ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะกรรมการองค์กรที่มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งและจัดการลงประชามติ แม้ด้านหนึ่งของบุคคลผู้นี้ คือ กกต.เสียงข้างน้อยที่บ่อยครั้งมีความเห็นอันถูกมองได้ว่าเอื้อประโยชน์เป็นแง่บวกแก่อดีตพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน และมีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มหนึ่ง เรียกร้องให้เขาลาออก กระนั้นก็ไม่ได้ทำเขาละทิ้งการยืนยันความคิดของตนเอง พร้อมทั้งบอกว่าหากใครเห็นว่าตนทำผิดกฎหมายก็ขอให้แจกแจงมาอย่างชัดเจน อย่าได้กล่าวหากันลอยๆ และยอมรับว่าการตีความกฎหมายของตน หากมันจะบังเอิญไปเข้าทางฝ่ายใดนั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่ต้องละทิ้งความเชื่อตัวเอง

ในแง่คิดนี้จึงมีความน่าสนใจเรื่องการจัดวางสถานะของความเห็นหรือข้อเรียกร้องของ “เสียงข้างน้อย” ที่แพ้เพราะ “จำนวน” แต่ “เหตุผล” อะไรที่คนแพ้ไม่ควรถูกกระทำราวกับพวกเขาไม่มี “เสียง” อยู่ในสังคม



00000

ถาม: มองอย่างไร ต่อสภาพการเมืองที่เรามีตัวแทนซึ่งมาจากการเลือกตั้งมีความชอบธรรมจากเสียงข้างมาก และขณะเดียวกันเราก็มีการชุมนุมเคลื่อนไหวมาถ่วงดุลและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอีกทางหนึ่ง

ตอบ: การออกมาชุมนุมเรียกร้องบางอย่าง ผมคิดว่าถูกต้องนะ เพราะบางครั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ก็ไม่ฟังเสียงส่วนน้อย หรือบริหารประเทศเอาแต่ประโยชน์ตัวเอง ดังนั้นผมจึงคิดว่าการชุมนุมเรียกร้องน่าจะทำได้ แต่ถ้าทำไปแล้ว สร้างความเดือดร้อนเสียหาย เราต้องหาทางแก้ไขเพราะการชุมนุมนั้นต้องมีขีดจำกัด ถ้าขืนปล่อยไปบ้านเมืองก็เสียหาย อันที่จริงในระบอบประชาธิปไตยก็มีฝ่ายค้านอยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลทำอะไรแบบว่าพวกมากลากไป โดยสิ่งที่ทำนั้นเพื่อประโยชน์ตนเอง หลายๆ ครั้งรัฐบาลอยู่ไม่ได้ เพราะประชาชนบอกว่าไม่เลือกแล้วพรรคการเมืองนี้มันแย่ ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยถ้ามันไม่ไหวจริงๆ เขาไม่เอาด้วยมันก็พัง จะเป็นรัฐบาลไหนท้ายที่สุดก็อาจต้องลาออก


การชุมนุมไม่ใช่การใช้เสรีภาพใส่ร้ายป้ายสี เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอำนาจรัฐ แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นต้องเปลี่ยนไปตามวิถีทางประชาธิปไตย แปลว่า คุณชุมนุมเพื่อบอกว่าไม่เห็นด้วยกับหลักการนี้มีความไม่ถูกต้องอย่างไร ควรต้องเป็นอย่างไร พูดแล้วก็ทำให้คนอื่นเข้าใจสิ่งที่ถูกต้อง มีโอกาสได้ชี้แจงหรือที่เรียกกันว่าไฮด์ปาร์ค ทุกคนมีสิทธิที่จะชุมนุม แต่ไม่ใช่การยึดพื้นที่แล้วบอกว่าใครจะผ่านต้องขออนุญาตก่อนแบบนี้เรียกว่าม็อบ ซึ่งมีความแตกต่างจากการชุมนุม ประชาชนบางคนยังเข้าใจผิดว่าการชุมนุมกับม็อบเป็นเรื่องเดียวกัน


การชุมนุมควรจะเป็นอย่างไร

ในกฎหมายมีการรับรองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ในระบอบประชาธิปไตย ถ้าเราเป็นเสียงส่วนน้อยที่ถูกต้อง เราก็สามารถถามว่าสิ่งที่เราต้องการนั้นควรได้รับการแก้ไขหรือไม่ เราสามารถตั้งโต๊ะรับลงรายชื่อได้ ถ้าใครยังไม่เข้าใจก็ให้เขามาฟังเราพูดก่อน คนก็จะเริ่มเข้ามา ถ้าเขาเห็นด้วยแต่ติดภารกิจอื่นก็ลงชื่อแล้วแยกย้ายกันไป ซึ่งหากกฎหมายกำหนดให้เข้าชื่อ 1 หมื่นหรือ 2 หมื่นรายชื่อ ก็นำมายื่น กกต. เพื่อให้ดำเนินการตามขบวนการที่กฎหมายกำหนดจัดการลงประชามติ อาจถามประชาชนทั่วประเทศหรือถามเฉพาะคนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งคำถามว่าการที่รัฐบาลซึ่งมาจากประชาชนจะจัดการหรือไม่จัดการเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้นมีความเห็นด้วยหรือไม่ หากประชาชนลงประชามติกึ่งหนึ่งบอกว่ารัฐบาลต้องทำให้เขาหรือระงับกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพราะเขาเดือดร้อน เช่น กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น เมื่อมีการจัดการแบบนี้ความร้อนในการชุมนุมที่เหมือนต้มน้ำเดือดมาได้ 80 หรือ 100 องศา แต่ละคนก็กลับบ้านได้ เพราะการขับเคลื่อนเกิดขึ้นแล้ว มีหน่วยงานของรัฐมารับช่วงต่อ ให้มีสภาพบังคับตามกฎหมาย รัฐบาลต้องทำให้เขา ถ้าไม่ทำจะถูกปลดออกเพราะอำนาจนั้นเป็นอำนาจที่แท้จริงของประชาชน


การทำประชามติเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยทางตรง ป้องกันไม่ให้มีการชุมนุมเดือดจนกระทั่งสถานการณ์ควบคุมไม่ได้ สร้างความวุ่นวาย หากมีทหารเข้ามาทำการรัฐประหารก็จะมีการฉีกรัฐธรรมนูญ เราจึงคิดว่าการตัดวงจรอุบาทว์อันหนึ่งก็คือ เมื่อประชาชนเริ่มเดือดร้อนแล้วมาใช้เสรีภาพชุมนุมโดยสงบ พอถึงจุดหนึ่งมี กกต. หรือหน่วยงานใดที่กฎหมายให้อำนาจออกมาจัดการให้เขา เพื่อป้องกันไม่ให้ทหารต้องออกมา


ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานใดทำหน้าที่รับประเด็นของประชาชนผู้ชุมนุมไปขับเคลื่อนต่อ

ไม่มีกลไกแบบนี้ที่ผ่านมามีแต่การร้องแร่แห่กระเฌอ เสียจนทหารขู่ยึดอำนาจ ทั้งที่การชุมนุมไม่ควรต้องถึงกับระเบิด และเมื่อการชุมนุมมีพลังพอก็ต้องมีกลไกของรัฐเข้ามารับลูกทำให้ข้อเรียกร้องมีค่าบังคับ ไม่ให้ระเบิดแล้วเกิดรัฐประหาร ถ้าถึงจุดนี้ทำประชามติแล้วสังคมไม่เอาด้วยกับเสียงข้างน้อยก็ต้องเคารพเขา

หมายความว่าควรขับเคลื่อนเป็นประเด็นๆ ไป แล้วให้ กกต.จัดการลงประชามติ

ใช่ ตอนนี้กฎหมายก็มีอยู่แล้ว เป็นบางเรื่องที่ให้ทำประชามติ แบ่งเป็น 2 แบบ คือ เรื่องที่ต้องทำประชามติถามคนทั่วประเทศ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีความเกี่ยวข้องกับคนทั่วประเทศ ขณะที่บางเรื่องอาจถามคนเฉพาะในพื้นที่หรือจังหวัดที่เกี่ยวข้อง เช่น กรณีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น อาจกระทบคน 4-5 จังหวัดก็ต้องทำประชามติถามคนในจังหวัดที่รับผลกระทบ แต่หากเห็นว่าการสร้างเขื่อนนั้นกระทบผังบ้านเมืองซึ่งทุกคนต้องควักภาษีเหมือนกัน ต้องถามคนทั่วประเทศว่ามีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องสร้างเขื่อน

มีขอบเขตแค่ไหน ถ้าเชื่อในเรื่องตัวแทนแล้วรัฐบาลมาจากเสียงข้างมากแบบนี้ประชาชนควรจะมีส่วนร่วมหรือไม่

การตอบคำถามประชามติเป็นประเด็นๆ นี่แหละคือการใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรง แต่การมีส่วนร่วมที่พูดกันโดยทั่วๆ ไป บางครั้งเป็นการอ้างเลอะเทอะ เพราะการมีส่วนร่วมนั้นเริ่มตั้งแต่เราเลือกตัวแทน เราก็มีส่วนร่วมแล้ว แต่บางเรื่องที่เราคิดว่าประชาชนควรจะตัดสินใจเอง ก็เป็นการมีส่วนร่วมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งในการบริหาร ถ้าเราบอกให้ประชาชนมีส่วนในทุกเรื่อง ก็ต้องถามว่าประชาชนกลุ่มไหน ประชาชนพวกไหน แบ่งแยกกันตายเลย

คนบางกลุ่มก็มักจะไปสร้างเงื่อนไขว่าเราต้องมีส่วนร่วมทุกเรื่อง จะไปร่วมทุกเรื่อง ร่วมซะจนคิดว่าตัวเองคือรัฐบาล คือผู้บริหารประเทศ ทั้งที่บางเรื่องอาจกระทบคนไม่กี่จังหวัดแล้วคนกรุงเทพฯ จะไปมีส่วนร่วมอะไรกับเขา การบอกว่ามีส่วนร่วมก็คือการใช้อำนาจรัฐ แต่ถ้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นแล้วจะไปร่วมตรงไหน

การมีส่วนร่วมก็คือว่าเรื่องนั้นกระทบเขา กระทบชุมชนเขา เขาควรมีส่วนตัดสินใจ ไม่เหมือนกับการเป็นตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง ที่แม้มาจากพื้นที่จังหวัดที่เลือกเขา แต่ทุกคนต้องถือว่าเป็นตัวแทนปวงชนทั้งประเทศ ไม่งั้นมันจะกลายเป็นว่าเอาแต่ดึงงบประมาณมาสร้างในจังหวัดตัวเอง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเป็น


คนอื่นก็อยากมีส่วนร่วมเพราะเอางบประมาณจากเงินภาษีของเราไปจ่ายในเรื่องนั้น

นี่แหละที่ผมพูดว่า ถ้าประชาชนพูดมาอย่างนี้ก็แสดงว่าเป็นเรื่องใหญ่ ที่กระทบต่อภาษีมากมายเหลือเกิน จนกระทั่งคนทั้งประเทศต้องมาโหวต คือเราคงไม่มองในแง่ว่าจะสร้างหรือไม่สร้างโครงการเพราะเหตุกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่เรามาโหวตว่า สร้างหรือไม่เพราะงบประมาณเป็นเงินในกระเป๋าฉันด้วย ซึ่งการตั้งคำถามก็ต้องเป็นอีกแบบหนึ่งแล้วโหวตออกมา

การชุมนุมของไทยไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดที่ผ่านมา มีข้อบกพร่องอย่างไร

อย่างน้อยที่สุดการชุมนุมต้องบอกว่าเรียกร้องอะไรให้ชัดเจน มิเช่นนั้นจะทำให้การรวมตัวชุมนุมนั้นเสียเปล่า จัดชุมนุมกี่ครั้งก็แพ้แล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน แล้วก็กลับมาชุมนุมใหม่ หรือไม่ก็มีการรัฐประหาร ไม่มีการส่งต่อประเด็นให้กลไกของรัฐขับเคลื่อนเรื่องที่เรียกร้องให้มีค่าบังคับ ถ้าทำตามกลไกกฎหมายประสานกับองค์กรของรัฐเพื่อทำตามเจตนารมณ์ได้ ก็จะไม่เสียแรงใช้เสรีภาพในการชุมนุม


--------------------------------------------------
ที่มา : ประชาไท วันที่ : 4/7/2551




Create Date : 06 กรกฎาคม 2551
Last Update : 6 กรกฎาคม 2551 10:15:23 น. 0 comments
Counter : 711 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สุริยาอัสดง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




เปิดโลกด้วยแสงแห่งปัญญา
Thaiflood
Friends' blogs
[Add สุริยาอัสดง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.