อาทิตย์สาดส่อง..ความจริงจักปรากฎทั่วปฐพี!!!
Group Blog
 
<<
เมษายน 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
23 เมษายน 2551
 
All Blogs
 
เพลงสรรเสริญในโรงนั้นมีมาแต่หนใด : ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ตอบคำถาม เพลงสรรเสริญในโรงนั้นมีมาแต่หนใด

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอบคำถามเรื่องธรรมเนียมการยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงหนัง ในเมล์ลิสต์ของนักวิชาการและนักกิจกรรมกลุ่มหนึ่ง ดังนี้

ต่อคำถามที่ว่าธรรมเนียมการยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงหนัง มีมาแต่เมื่อไร และมีขึ้นเพราะเหตุใดนั้น ขอตอบว่าธรรมเนียมนี้สยามประเทศ (ไทย) ลอกเลียนมาจากอังกฤษ เมื่อประมาณเกือบ 1 ร้อยปีมาแล้ว

กล่าวคือเมื่อประมาณทศวรรษ 1910 เมื่อเริ่มต้นมีโรงหนังนั้น เมื่อฉายหนังจบ อังกฤษก็ให้มีการฉายพระฉายาลักษณ์ของคิงยอร์ชแล้วก็ให้บรรเลงเพลง God Save the Kingธรรมเนียมนี้เกิดขึ้นในยุคสมัยที่อังกฤษต้องการปลุกระดมลัทธิชาตินิยมและความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ ตามคำขวัญว่า God, King, and Country

สมัยนั้น อังกฤษต้องต่อสู้กับเยอรมนีและอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 กษัตริย์อังกฤษ ต้องทำตนให้เหมือนเป็นอังกฤษแท้ๆ ต้องเปลี่ยนนามราชวงศ์ที่ฟังดูเป็นเยอรมันคือ "ฮันโนเวอร์" ให้ฟังดูเป็นอังกฤษ คือ "วินเซอร์"

ธรรมเนียมนี้ปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดในเมืองแม่และถูกนำไปใช้บังคับในอาณานิคมทั่วโลกด้วย ไม่ว่าจะเป็นในอินเดีย สิงคโปร์ มลายา และพม่า

ธรรมเนียมดังกล่าว ตกทอดมาจนถึงตอนต้นๆของรัชสมัยควีนอลิซาเบธ แต่ปัจจุบันนี้ อังกฤษได้ยกเลิกไปแล้วเพราะเมื่อประมาณปลายทศวรรษ 1950 กับต้นทศวรรษ 1960 บรรดานักศึกษาชั้นนำของทั้งออกซฟอร์ดและเคมบริดจ์ เริ่มประท้วงไม่ยอมยืนเคารพ แถมยังเดินออกจากโรงหนังเมื่อหนังจบอีกด้วย ร้อนถึงเจ้าหน้าที่และเจ้าของโรงหนังต้องแก้ไขด้วยย้ายการบรรเลงเพลงสรรเสริญ/การฉายภาพมาไว้ก่อนหนังฉายแต่ก็ไม่ได้ผล ตกลงเลยต้องยกเลิกธรรมเนียมนี้ไปเมื่อประมาณ 30 หรือ 40 ปีมานี้เอง

สำหรับสยามประเทศ (ไทย) ของเรา ก็ได้ลอกเลียนธรรมเนียมนี้มาจากอังกฤษโดยบรรดา "พวกหัวนอก/นักเรียนอังกฤษ" กับ "เจ้าของโรงหนัง" แต่เดิมก็บรรเลงเพลง/ฉายภาพเมื่อหนังเลิกส่วนก่อนหนังฉายก็มักจะมีโฆษณาสินค้าแต่เมื่อสักประมาณทศวรรษ 1970 ได้ดัดแปลงธรรมเนียมนี้ใหม่คือ ย้ายการเปิดเพลง "ข้าวรฯ" มาไว้ตอนก่อนหนังฉายกระทั่งทุกวันนี้

เข้าใจว่าในปัจจุบัน ธรรมเนียมดังกล่าวถูกยกเลิกไปหมดแล้วในประเทศในยุโรป รวมทั้งก็ได้ยกเลิกไปจากโรงหนังในอดีตอาณานิคมทั้งหลายเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม คำอธิบายดังกล่าวได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ฟ้าเดียวกันด้วย โดย อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลนักประวัติศาสตร์จากรั้วเดียวกันได้โต้แย้งและเพิ่มเติมประเด็นว่า “ประเด็น "เลียนธรรมเนียมนี้มาจากอังกฤษ" หรือไม่ ผมไม่ทราบนะครับ แต่ผมเข้าใจ(คลาดเคลื่อนขออภัย)ว่า การบรรเลงเพลง "ข่าว-ว" (นี่คือการเรียกแบบชาวบ้านๆสมัยก่อน เพราะสมัยก่อน การร้อง 2 คำแรก จะออกเสียงเป็น "ข่าว - ว" สมัยหลังจึงทำให้ "ชัด" และ "ถูก" คือ เป็น "ข้า - วอ - ระ - พุทธ...")

ของสยามนั้น ไม่ได้เริ่มจากหนังแต่เริ่มจากการแสดงมหรสพอื่น โดยเฉพาะลิเก เมื่อมีหนัง ซึ่งเป็น มหรสพ แบบใหม่ จึงเริ่มมีการนำมาใช้กับหนังด้วยระเบียบเรื่องบรรเลงเพลงสรรเสริญฯทุกครั้งที่มีมหรสพ ซึ่งมีมาตั้งแต่
สมบูรณาญาสิทธิราช จึงถูกนำมาใช้กับหนังด้วย”
---------------------------------------------------------------
โดย : ประชาไท วันที่ : 23/4/2551
------------------------------------------------------------

April 21, 2008
เรื่องการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ในโรงมหรสพ
ฟ้าเดียวกัน

โดย เจ้าน้อย

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสชวาเป็นครั้งที่ 2 ในปีพ.ศ. 2439 ได้ทรงเห็นการผลิตภาพยนตร์ที่ตำหนักเฮอริเคนเฮาส์ ณ เมืองสิงคโปร์ ซึ่งทรงบรรยายไว้ในจดหมายรายวันว่า

“เป็นรูปถ่ายติดๆ กันเป็นม้วนยาวๆ เอาเข้าไปในเครื่องไฟฟ้าหมุนไป แลเห็นเหมือนรูปนั้นกระดิกได้ ม้วนหนึ่งใช้รูปถึง 1,400 ท่า”

และในขณะที่ประทับอยู่ ณ เมืองสิงคโปร์ ทหารอังกฤษได้ใช้เพลง “God Save the Queen” เป็นเพลงบรรเลงในการรับเสด็จ จึงมีพระราชดำริแก่ครูดนตรีให้แต่งเพลงแตรวงรับเสด็จบ้าง และทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหารแต่งคำร้องเพื่อประกอบทำนองเพลงเป็นโคลง และให้นายปโยตร์ ชูรอฟสกี้ (Pyotr Schurorsky) แต่งทำนองเพลงตามอย่างเพลง “God Save the Queen” ซึ่งภายหลังก็คือเพลงสรรเสริญพระบารมีนั่นเอง (เรื่อง นายชูรอฟสกี้ เป็นผู้แต่งเพลงสรรเสริญพระบารมีหรือไม่นั้น ยังแบ่งความเห็นออกเป็นสองฝ่ายโดยดูได้จากความเห็นของ ดร.สุพจน์ที่โต้แย้งว่า ชูรอฟสกี้ ไม่ใช่ผู้แต่ง จากบทความเรื่อง “เพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติไทย” และ ดร.สุกรี เจริญสุข ผู้เสนอว่า ชูรอฟสกี้ เป็นผู้แต่งเพลงสรรเสริญฯ ดูได้ที่หนังสือ “99 ปีเพลงสรรเสริญพระบารมี”)

ภายหลังเมื่อมีภาพยนตร์เข้ามาฉายในสยาม ซึ่งมีแตรวงบรรเลงประกอบ และยังได้มีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เพื่อถวายความเคารพพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม เมื่อภาพยนตร์ฉายจบ ธรรมเนียมการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ น่าจะมีมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 5 เมื่อเริ่มมีการตั้งโรงภาพยนตร์ โดยเฉพาะที่โรงหนังญี่ปุ่นหลวง ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์ถาวรแห่งแรกในสยาม และเป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ประดับตราแผ่นดิน

อาจเชื่อได้ว่าธรรมเนียมปฏิบัตินี้ได้แบบอย่างมาจากเมืองสิงคโปร์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ซึ่งจะทำการฉายพระบรมรูปพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ และบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เมื่อจบการฉายภาพยนตร์ โดยให้ผู้ชมยืนถวายความเคารพต่อเจ้ากรุงอังกฤษ

การให้วงดนตรีบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเมื่อจบการฉายภาพยนตร์นั้น ในสมัยแรกได้ปฏิบัติกันเป็นธรรมเนียมไปทั่วทุกโรงภาพยนตร์ในสยาม โดยมิได้มีกฎหมายบังคับแต่อย่างใด

จนมาถึงในรัชกาลที่ 6 ช่วงต้นรัชกาล การบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีก็ยังมีการบรรเลงหลังจากฉายภาพยนตร์จบดังแบบแผ่นดินที่แล้วอยู่ ตามที่ปรากฏในบทความของ หนังสือพิมพ์รายวันชื่อ บางกอกไตมส์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับสำคัญของสยามในสมัยรัชกาลที่ 5, 6 และ 7

ในบทความที่ชื่อ OUR CINEMA. (ลงพิมพ์ในฉบับวันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2465) ในส่วนท้ายของบทความได้มีการกล่าวถึงเรื่องการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเมื่อจบการฉายภาพยนตร์ได้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

“แต่แล้วก็มีคำประกาศปรากฏบนจอความว่า ‘ตอนต่อไปของหนังระทึกขวัญเรื่องนี้จะฉายพรุ่งนี้’ แม้จะขัดกับสิ่งไรที่สมควรแห่งเจตนาสำหรับเพลงสรรเสริญพระบารมี แต่พวกเราก็ทะลักกันออกจากโรงหนังทางช่องประตูเล็กๆ ช่องเดียว อันเป็นกับดักแห่งมฤตยูแท้ๆ หากเกิดอัคคีภัยขึ้น ทั้งนี้เพื่อออกมาสู่บรรยากาศเย็นลมยามดึก” (วารสารหนังไทย ปีที่ 3 ฉบับที่ 11 กรกฎาคม-กันยายน พ.ศ. 2544)

จากบทความนี้ทำให้เราเห็นว่าในช่วงปี พ.ศ. 2465 นั้น การบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ก็ยังบรรเลงกันหลังจากฉายภาพยนตร์จบ แต่ที่สำคัญผมถูกใจในความตรงไปตรงมาของนักข่าวผู้เขียนบทความนี้ ก็ตรงที่เขาบอกว่า “แม้จะขัดกับสิ่งไรที่สมควรแห่งเจตนาสำหรับเพลงสรรเสริญพระบารมี แต่พวกเราก็ทะลักกันออกจากโรงหนัง” นั้นก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าแม้แต่ในสมัยนั้น ก็ไม่มีใครอยากที่จะมัวมานั่งสรรเสริญพระบารมีกัน ต่างคนก็ต่างที่จะรีบกลับบ้านกันทั้งนั้น

อาจจะเป็นตรงนี้เองที่ต่อมารัชกาลที่ 6 จึงได้มีคำสั่งว่า ก่อนที่จะเล่นมหรสพทุกครั้งให้มีการบรรเลงเพลงสรรเสริญฯ แรกๆ ก็เป็นพวกการแสดงลิเก ต่อมาก็รวมไปถึงการแสดงละครต่างๆ จนสุดท้ายก็รวมถึงในโรงภาพยนตร์ด้วย

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 อะไรหลายๆ อย่างก็เปลี่ยนแปลงไป เรื่องราวต่างๆ ที่เป็นการสรรเสริญ ยกยอปอปั้นเจ้าก็ลดน้อยถอยลงไปเช่นกัน ในสมัยนั้นจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยกเลิกการบรรเลงเพลงสรรเสริญฯ ในโรงมหรสพไปทีหนึ่ง โดยให้มายืนเคารพ “ท่านผู้นำ” แทน เพื่อต้องการปลูกฝังแนวคิดชาตินิยมและเทิดทูนผู้นำ จึงให้มีการเปิดเพลงให้ประชาชนเคารพตนเองในฐานะผู้นำประเทศ

ในปี พ.ศ. 2478 ได้มีระเบียบออกมาว่าด้วยเรื่องให้ยืนตรงทำความเคารพเมื่อได้ยินเพลงชาติและเพลงสรรเสริญฯ โดยที่ยังไม่มีการกำหนดโทษ แล้ว ต่อมาในปี พ.ศ. 2485 จึงได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมแห่งชาติ 2485 ซึ่งได้กำหนดใน มาตรา 6 ว่า

“บุคคลทุกคนจักต้องเคารพตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณี คือ (๑) เคารพธงชาติ(๓) เคารพเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงเคารพอื่นๆ ซึ่งบรรเลงในงานตามทางราชการ ในงานสังคม หรือในโรงมหรสพ”

ต่อมาในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อการรัฐประหาร เพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจ จึงได้เชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอ่อนแอลงมากหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และได้เปลี่ยนแปลงการเปิดเพลงเคารพผู้นำในการมหรสพต่างๆ ให้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีเพื่อถวายความเคารพต่อกษัตริย์แทนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในระยะแรกนั้นจะเป็นการเปิดเพลงเพลงสรรเสริญฯ หลังจากที่มีการฉายภาพยนตร์จบแล้ว ต่อมาถึงได้มาเปลี่ยนเป็นเปิดเพลงเพลงสรรเสริญฯ ก่อนที่หนังจะฉายเมื่อไม่ถึง 17-18 ปีมานี้เอง

โดยที่เพลงสรรเสริญฯ ในสมัยแรกๆ ที่เปิดกันในโรงหนังนั้นด้วยเทคโนโลยียังไม่ดีนัก มีแค่เฟดอัปเฟดดาวน์เท่านั้น มีภาพขึ้นมาสองภาพ ตอนนั้นเป็นแบบภาพสีซีเปียก็คือเป็นภาพที่มีทั่วไปของในหลวงตั้งแต่สมัยทรงพระเยาว์
จนมาถึงในเรื่องของพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ต่างๆ
--------------------

พัฒนาการของเพลงสรรเสริญฯ ในโรงภาพยนตร์ *

โรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์ เพลงสรรเสริญฯ เวอร์ชั่นปัจจุบันใช้ชื่อชุด ‘นิทรรศการ’ เปิดมาเป็นคำถวายพระพร เป็นฉากเด็กยืนถวายพระพรหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ตัดเป็นภาพพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่พระองค์ท่านเสด็จฯ ทรงเยี่ยมพสกนิกรตามภาคต่างๆ ภาพที่พระองค์ท่านให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในเรื่องการเกษตรเช่นเรื่องฝนเทียม ตอนท้ายภาพพสกนิกรมากมายยืนไหว้ถวายพระพร ภาพจะตัดสลับระหว่างภาพในหลวงกับประชาชน ภาพในหลวงจากพื้นดินแห้งแล้ง เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ภาพในหลวง พื้นดินแห้งแล้ง มาเป็นภาพฝนตก

(เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ จัดทำร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ผู้เรียบเรียงดนตรี คือ บรูซ แกสตัน แห่งวงฟองน้ำ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2538 จัดทำบทเพลงสรรเสริญพระบารมีเพื่อใช้ในโรงภาพยนตร์ทั้งสิ้น 4 เวอร์ชัน)

เอสเอฟ เปิดทำการมาตั้งแต่ปี 2542 ได้เปลี่ยนเพลงสรรเสริญฯ ทั้งหมดทั้งสิ้น 2 เวอร์ชัน ชุดที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นชุด ‘หยาดฝน’ ที่เป็นเสียงดนตรีไทย ผู้เรียบเรียงดนตรีคือ บรูซ แกสตันเซ็นจูรี่ เครือใหม่ เปิดมาได้เพียง 2 เดือน เนื่องจากทางโรงภาพยนตร์ได้มองเห็นอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีของในหลวงในการเป่าแซ็กฯ เพลงสรรเสริญฯ ชุดที่ใช้อยู่จึงเป็นชุดที่มีเสียงแจ๊ซเป็นดนตรีหลัก และไม่มีเสียงร้อง เรื่อง

การดำเนินภาพจะเป็นกรอบรูปที่เป็นพระราชกรณียกิจของพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จนถึงปัจจุบันขึ้นมาทีละภาพ ซึ่งหนึ่งในรูปภาพเหล่านั้นมีภาพที่ในหลวงทรงกำลังเป่าแซ็กโซโฟนอยู่ด้วย เสียงเป่าแซ็กฯ โดยเศกพล อุ่นสำราญ หรือโก้ แซ็กแมน เรียบเรียงโดย ปราชญ์ มิวสิค

ลิโด้, สยาม, สกาล่า เป็นโรงหนังในเครือเดียวกันเปิดทำการมาไล่เลี่ยกัน โดยเปิดมาได้ประมาณ 40 ปีแล้ว เปลี่ยนเพลงสรรเสริญฯ มาแค่เพียง 2 เวอร์ชันเท่านั้น ซึ่งเวอร์ชันล่าสุดที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นชุด ‘จิ๊กซอว์’ ที่มีภาพออกมาพร้อมกับเพลงสรรเสริญฯ มีภาพในหลวงขึ้นมาเป็นภาพจิ๊กซอว์มาต่อกัน จะมีภาพพระองค์ท่านเสด็จไปสถานที่ต่างๆ แล้วภาพจะค่อยๆ เลื่อนมาเป็นจิ๊กซอว์รูปพระพักตร์ของในหลวง ผู้เรียบเรียงดนตรี บรูซ แกสตันโรงหนังเฮาส์ เพิ่งเปิดมาได้ปีครึ่ง เพลงสรรเสริญฯ ที่ใช้เป็นเวอร์ชั่นเดียวกับของโรงหนังลิโด้,สยาม และสกาล่า

สำหรับเครืออีจีวี ฟิล์มเพลงสรรเสริญฯ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทำเป็นกราฟิก ในหลวงทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในรูปแบบต่างๆ ภาพการขึ้นครองราชย์ ท้ายสุดเป็นภาพเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์ เสียงร้องเพลงสรรเสริญฯ นี้มาจากบุคคลมีชื่อเสียงมากมาย อาทิ เจริญ วรรธนะสิน, อุ้ม-สิริยากร พุกกะเวส, ดร.อ้อ-กฤติกา คงสมพงษ์ และดีเจพีเค ซึ่งจะร้องกันคนละท่อน แล้วมีเสียงประสานของ นักร้องอินดี้อย่าง แพม-ลลิตา ตะเวทิกุล เป็นแบ็กกราวนด์

หมายเหตุ* ผู้เขียนเป็น(เจ้าน้อย)ผู้ตั้งชื่อใหม่ เพราะได้ตัดมาแต่ข้อความบางส่วนในบทความของคุณภัททิรา ชิงนวรรณ์ โดยที่ชื่อของบทความเต็มนั้นคือ “เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ เพลงสรรเสริญฯ ในโรงหนัง”
----------------
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง : โชติศักดิ์ กับข่าวที่ไม่ได้พิมพ์กรณีขวางโลกไม่ยืนในโรงหนัง




Create Date : 23 เมษายน 2551
Last Update : 23 เมษายน 2551 20:51:11 น. 1 comments
Counter : 1589 Pageviews.

 


โดย: หอมกร วันที่: 23 เมษายน 2551 เวลา:21:05:22 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สุริยาอัสดง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




เปิดโลกด้วยแสงแห่งปัญญา
Thaiflood
Friends' blogs
[Add สุริยาอัสดง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.