Group Blog
 
 
กันยายน 2558
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
28 กันยายน 2558
 
All Blogs
 

คำฉันท์

.


รูปแบบร้อยกรองที่ไทยเรานำมาจากอินเดีย .. ไม่เหมือนโคลงที่มาจากทางล้านนา(ภาคเหนือ) ล้านช้าง(ลาว)

คำฉันท์ .. ได้ยินคำนี้ ไทยรุ่นใหม่หลายคนขี้หด ตดหาย 555

พูดแบบง่ายๆ คือ ทุกคำที่ใช้ในร้อยกรองไม่ว่าจะกลอน กาพย์ โคลง ฉันท์ เราสามารถหาความหมายที่ถูกต้องในพจนานุกรมออนไลน์ได้เหมือนๆกัน จึงไม่ใช่เรื่องที่ควร "เกรง" !

ข้อจำกัดหนึ่งของคำฉันท์ยุคใหม่คือเรื่อง ลหุ ที่มักเข้าใจกันไม่แจ่มแจ้งนัก .. ส่วนเรื่องครุ นั้นไม่ค่อยมีปัญหา

หากจะเขียนฉันท์ด้วยคำไทยล้วนๆ น่าจะเป็นเรื่องยาก เพราะการหา ลหุ มาใช้นี่แหละ โดยเฉพาะโคตรฉันท์อย่าง สัทธราฉันท์ ๒๑ ที่มีลหุติดกันถึง 6 ตัว .. คำบาลี สันสกฤต จึงต้องเอามาใช้เพราะเหตุว่า แยกคำออกเป็นเสียงลหุได้ ขณะที่คำไทยแท้ทำไม่ได้

เช่น ..

สุขุม .. พอตกตำแหน่งลหุ เราสามารถอ่านเป็น สุ-ขุ-มะ ได้ ทำให้ได้ลหุมาใช้ทีเดียว 3 ตัวโดยไม่เปลืองแรง ..

อุสุม .. อุ-สุ-มะ
วิเชียร .. ว-ชิ-ระ
เธียร .. ธิ-ระ
มณเฑียร .. มณ-ฑิ-ระ
สาวก .. สา-วะ-กะ
ไตรปิฎก .. ไตร-ปิ-ฎะ-กะ
ถวัลย์ .. ถะ-วัล-ละ-ยะ
นฤมิต .. นะ-ฤ-มิ-ตะ
จันทร์ .. จัน-ทะ-ระ
หทัย .. หะทะยะ
กมล .. กะมะละ
นิรันดร .. นิรันดะระ
มรรค .. มะคะ
ตรรกะ .. ตระกะ
วรรณ .. วะนะ
(ร หัน ทั้งหมดแทนไม้หันอากาศ หรือ สระอะ นั่นเอง)
.
.
ขณะที่คำไทย มันหาได้ยากมาก
เช่น
กะเทาะเสาะแกน
พิเคราะห์ .. พิเคราะหะ
ไพเราะ .. พิเราะ
เสนาะ
เถอะนะ
.
.
.
ทีนี้คำไทยที่แยกอ่านไม่ได้ เช่น
ตลบ .. อ่าน ตะละบะ ไม่ได้
สงบ .. อ่าน สะงะบะ ไม่ได้


ทีนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคำไหนเป็นบาลี สันสกฤต ที่แยกอ่านได้ หรือคำไทยที่แยกอ่านไม่ได้ ..
พื้นฐานที่สุดคือดู ศ ษ .. อันนี้รู้มาแต่เรียนประถม คำไทยแท้มักไม่มีอักษรสองตัวนี้

พจนานุกรมออนไลน์ ..
//dictionary.sanook.com/search/dict-th-th-pleang/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%B8%E0%B8%A1

หน้ารวม

แถบบนใต้คำว่า DICTIONARY
มีคำว่า "ค้นหาคำศัพท์" .. ให้พิมพ์คำที่ต้องการหาตรงนี้ .. เช่น สุขุม

ที่ช่องความหมายด้านล่างจะมีคำแปลให้ว่า
สุขุม(มค. สุขุม - สก. สูกฺษม) ว. ละเอียด, เล็ก, ประณีต เฉียบแหลม.

ในวงเล็บคือที่มาของคำ ..
มค.คือ มคธ คือภาษาของชาวมคธ หรือ ภาษาบาลี พุทธเถรวาทใช้ภาษานี้ถ่ายทอดพุทธธรรม
สก.คือ สันสกฤต คือภาษาของชนชาติอารยันที่วางรูปแบบไว้อย่างสมบูรณ์แบบ พุทธมหายานใช้ภาษานี้เผยแผ่ไปทางเอเชียเหนือ-ตะวันออก

รหัส(มค. รหสฺส - สก. รหสฺย) น. เหตุลับ, ความลับ, ความลึกลับ
ระบบสัญลักษณ์ที่ใช้เครื่องมือเครื่องใช้เช่นตู้นิรภัย.

พินทุ[พิน-ทุ] (มค. พินฺทุ - สก. พินฺทุ, วฺฤนฺท, วินฺทุ) น. หยาดน้ำ, จุด, จุดที่ใส่ไว้ใต้ตัวอักษร ลายแต้มสีที่หน้าผากระหว่างคิ้ว รูปวงเล็กๆ รูปสระดังนี้ ชื่อสังขยาจำนวนสูงเท่ากับโกฏิกำลัง ๗ หรือ ๑ มีศูนย์ตามหลัง ๔๙ ตัว.

บงกช[บงกด] น. บัว. (ป. ส. ปงฺกช).[บงกด] น. บัว. (ป. ส. ปงฺกช).ดู บงก- บงก์.

บางครั้งในวงเล็บที่บอกถึงที่มาของคำ อาจเจอ ป. กับ ส. แทนบ้าง ก็อย่าทำมึน
ป. คือ ประโยค คือ บาลี
ส. คือ สันสกฤต
.
.
มาว่าลงลึกถึงรากศัพท์สักสองสามตัวพอหอมปากหอมคอ ..

จากคำ บงกช ล่าสุดนั่นแหละ
บงก์ .. บงกะ แปลว่า โคลนตม
ช .. ชะ ตัวเดียวนี้แปลว่า ผู้เกิด
บงกะ+ชะ .. บงกช แปลว่า ผู้เกิดในโคลนตม คือ ต้นบัว

อนุ .. แปลว่า ทีหลัง ตามมา
อนุ+ชะ .. อนุช อนุชา แปลว่า ผู้เกิดทีหลัง ผู้เกิดตามมา คือ น้องนั่นเอง

สระ .. แปลว่า ที่มีน้ำขัง บึง
สระ+ชะ .. สโรช สโรชินี .. แปลว่า ผู้เกิดในที่มีน้ำ คือ บัวอีกนั่นแหละ

ค่อนข้างเป็นเรื่องของภาษาไทยมากไปนิด ..
ทำให้เคยประเมินว่า พระ หรือ ผู้เคยเรียนนักธรรมน่าจะเขียนฉันท์ได้ดี เพราะรู้การสมาส สนธิ คำ รวมทั้งครูอาจารย์ที่จบเอกภาษาไทยมา .. อาจมีส่วนได้เปรียบอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เสมอไป


สมาส สนธิคำ


เป็นอย่างไร ?

คำสมาสเป็นการรวมคำ แต่ไม่มีการเปลี่ยนรูป และการแปลความหมาย จะแปลจากหลังไปหน้า
ส่วนคำสนธิจะมีการเปลี่ยนรูป

อัตตะ + อนุมัติ .. อัตโนมัติ
อรุณ + อุทัย .. อรุโณทัย
คุณ + อุปการ .. คุณูปการ
สาธารณะ + อุปโภค .. สาธารณูปโภค

ลักษณะนี้ ผู้เขียนเองก็ไม่สามารถ เพราะไม่เคยเรียนมา .. แต่กวีในอดีตใช้กันเป็นเรื่องปกติ เพราะยุคโบราณนั้น ชายไทยเรียนหนังสือกับพระ บาลี สันสกฤต เข้าใจกันได้ทุกคนที่มีโอกาสเรียน


ขอยกข้อเขียนของ "ครูไหวใจร้าย" ที่ได้สงเคราะห์ความรู้ด้านภาษาไทยให้กับผู้เขียนตลอดมา .. มาวางไว้ในที่นี้เพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อย ..
.
.
การสนธิคำ คือ ประสมกันแบบเชื่อมคำตั้งแต่ 2 คำ เข้าด้วยกัน มีหลายลักษณะ คือ

1. สระสนธิ คือ การเชื่อมคำหน้า กับ คำหลังด้วย สระ + สระ เช่น
- อะ, อา + อะ, อา = อา ตัวอย่าง ชีวะ + อาตม์ = ชีวาตม์
- อิ, อี + อิ = อิ ตัวอย่าง กรี + อินทร์ = กรินทร์
- อะ, อา, + อุ, อู = อิ, อี, อู, เอ ตัวอย่าง นร + อินทร์ = นรินทร์, นเรนทร์ / ปรม + อณู = ปรมณู
- อุ, อู + อุ อู = อุ, อู ตัวอย่าง ครุ + อุปกรณ์ = ครุปกรณ์
- อะ, อา + เอ, ไอ, โอ, เอา = เอ, ไอ, โอ, เอา ตัวอย่าง โภค + ไอศวรรย์ = โภไคสวรรย์
- อะ, + อุ = โอ ตัวอย่าง พุทธ + โอวาท = พุทโธวาท
- แปลงสระ อิ หรือ อี เป็น ย เช่น สามัคคี + อาจารย์ = สามัคยาจารย์
- แปลงสระ อุ หรือ อู เป็น ว เช่น ธนู + อาคม = ธันวาคม
- เปลี่ยนสระ อิ หรือ อี และ อุ เป็น โอ เช่น คณ + อิศวร = คเณศวร

2. พยัญชนะสนธิ เป็นการประสมระหว่างสระกับพยัญชนะ มี 3 ลักษณะ คือ

2.1 แปลง ปฏิ เป็น ปัจจ เช่น
ปฏิ + อุปปนฺน = ปจฺจุปนฺน (ปัจจุบัน)
ปฏิ + เอกบุคคล = ปจฺเจกบุคคล (ปัจเจกบุคคล)
ปฏิ + เอกภาว = ปจฺเจกภาว (ปัจเจกภาพ)

2.2 แปลง อธิ เป็น อัชฌ เช่น
อธิ + อาสย = อัชฌาสัย

2.3 เพิ่มพยัญชนะ โดยวิธี “อาคม” พยัญชนะที่เพิ่มมี 8 ตัว คือ ย ร ฬ ว ม ท น ต
เอต + อคฺค = เอตทคฺค (เอตทัคคะ)
ปริ + โอสาน = ปริโยสาน (ปริโยสาน)

3. นิคหิตสนธิ คือการเชื่อมนฤคหิตด้วยสระ หรือพยัญชนะ ตัวอย่างเช่น

3.1 สระอยู่หลังนิคหิต แปลง นิคหิตเป็น ม
สํ + อาคม = สมาคม
สํ + อุทัย = สมุทัย
สํ + ธิ = สนฺธิ (สนธิ)
สํ + เทส = สนเทส (สนเทส)
สํ + โพธิ = สมฺโพธิ (สมโพธิ)
สํ + พนฺธ = สมฺพนฺธ (สัมพันธ์)
สํ + คม = สงฺคม (สังคม)
สํ + ผสฺส = สมฺผสฺ (สัมผัส)

3.2 แปลงนิคหิตเป็นพยัญชนะแถวที่ 5 ของวรรค
สํ + ขาน = สงฺขาร (สังขาร)
สํ + ฐาน = สณฺฐาน (สัณฐาน)
สํ + ภาร = สมฺภาร (สมภาร)

.
.




ที่มา .. https://sites.google.com/site/raksamueng/sara-thi-5-reuxng-kha-snthi

.
.
.
สำหรับผู้สนใจศึกษาเรื่องคำสมาส-สนธิ
ที่นี่มีคำอธิบายเป็น PDF file สามารถ download เก็บไว้ศึกษาอ้างอิงได้เลย
ละเอียดมาก

//www.vcharkarn.com/uploads/80/80274.pdf

.
.
.
.
อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑


ฉันทลักษณ์
00100 - - 110102
00102 - - 110103 - บทที่ 1

00100 - - 110103
00103 - - 110104 - บทที่ 2

เมื่อ 1 คือ ลหุ นอกนั้นเป็นครุ
เลขเดียวกันสัมผัสสระ

O พิศภาคะหลากพรรณ - - - อภินันทะรำบาย
พันลอกและดอกลาย - - - กละร่ายระรัวรอ
O กลีบช่อลออชู - - - รสะภู่ ฤ รู้พอ
กลีบโง้งและโก่งงอ - - - ดุจะล่อจะให้หลง

O กลิ่นหวนและล้วนหอม - - - ขณะล้อม ฤ ล้างลง
กรุ่นดินและกลิ่นดง - - - รสะสงเคราะห์ยามสาย
O แดดทอดตลอดถิ่น - - - ภุมรินะร่อนราย
ส่องเช้าสุรีย์ฉาย - - - มรรคะปลายจะปลอดปรุง

O แว่วสรรพสุโนกซ้อง - - - พิเราะร้องจะอำรุง
เมียงหมายกระจายมุง - - - นิระมุ่งจะเป็นภัย
O หวีดหวิวละลิ่ววน - - - วตะบนสะบัดใบ
กิ่งแกว่งเพราะแรงไกว - - - วตะไล้แตะแล้วลา

O มาลย์ลิ่วและปลิวล่วง - - - ดุจะบวงพระบาทา
ลาดสู่พระผู้สา- - - - มัญะฝ่ากิเลศฝืน
O บาทเธียระเพียรธรรม - - - ระยะกรรมจะกลบกลืน
ล่วงคล้อยเพราะคอยขืน - - - บทะตื่น ณ ในตน

O รอบาทะลาดใบ - - - ขณะไท้ บ่ รอทน
ทุกข์ผ่านจะลาญผล - - - อัตะวนจะป่นวาย
O ลมวู่พบูวี - - - ปฐพีก็พร่างพราย-
ด้วยรัศมีฉาย - - - รพิป้าย ณ หนหาว

O เงาภาพกระหนาบพื้น - - - บทะยื่นน่ะยืดยาว
ทุกข์ฤทธิพิษร้าว - - - จะละน้าว บ จำนน
O เมื่อร้อนนะผ่อนแรง - - - ทิฐิแปร่งก็ผ่อนปรน
จิตไท้ก็ไม่ทน - - - อัตะตนก็ปลดวาง



เสียงท้ายวรรคของฉันท์


คมทวน คันธนู คือกวีซีไรต์คนเดียวที่ "เป็น" เรื่องฉันท์ในระดับลงลึก และผู้เขียนเดินตาม
ฉันท์ 4 วรรคต่อบท เสียงท้ายวรรคเหมือนกาพย์ยานี 11
เสียงท้ายวรรค 1 เต้น
เสียงท้ายวรรค 2 สามัญ
เสียงท้ายวรรค 3 จัตวา หากเป็นเสียงสามัญ ท้ายวรรค 4 ควรเป็นเสียงจัตวา
เสียงท้ายวรรค 4 จัตวา หรือ สามัญ

ทั้งหมดมาจากการอ่านทำนองเสนาะเช่นกัน

ทำนองเสนาะอินทรวิเชียนฉันท์ 11





วสันตดิลกฉันท์ ๑๔


ฉันทลักษณ์
00101110 - - 110102
00101112 - - 110103 - บทที่ 1

00101110 - - 110103
00101113 - - 110104 - บทที่ 2

เมื่อ 1 คือ ลหุ นอกนั้นเป็นครุ
เลขเดียวกันสัมผัสสระ

O ศัพท์แสงแสดง-ทิ-ฐิ-วิ-กฤต
ระ-บุ-มิจฉะมากมาย
ลูบคลำพระธรร-มะ-อ-ภิ-ปราย-
ระ-บุ-คล้ายจะเคยเห็น

O กาลามะสู-ต-ระ-ประ-การ
พระ-ประ-ทานเสมอเป็น -
หลัดยึดประพฤติ-ท-ศะ-ประ-เด็น
ฤ-จะ-เร้นจะเลือนสูญ

O เขาว่า..เพาะสา-ว-กะ-ส-ภาพ
ประ-ลุ-คาบทวีคูณ
เหนี่ยวรั้งพลัง-ฐิ-ติ-วิ-ทูร
ก-ละ-กูณฑะมอดเชื้อ

O เกรงว่าจะหา-ย-นะ-พระ-ศาสน์
เพราะ-ประ-ภาษะคลุมเครือ
ลุ่มหลงพะวง-ภ-พะ-อะ-เคื้อ
อรร-ถะ-เพรื่อสิพร่ำเผย

O ไพศาลประการ-อ-ริ-ยะ-วาท
จะ-ป-ลาตะล่วงเลย
เกรงเขลาคละเคล้า-บ-ทะ-เฉลย
น-ยะ-เปรยจะปลอมปน

O ยากเย็นประเด็น-อ-ริ-ยะ-สัจจ์
ภ-วะ-วัฏฏะเวียนวน
เสกสรรคะคัน-ถะ-อ-นุ-สน-
ธิ-วิ-กลวิการเขียน

O กำจายสยายอุ-บั-ติ-จิต
ระ-บุ-ทิศะดุจเธียร
รอบกรรมะนำ-ภ-วะ-เสถียร
นิ-ระ-เปลี่ยนกระทั่งปลาย

O เห็นไกลกระไร-นั-ย-นะ-ทิพย์
กระ-แดะ-หยิบมุบรรยาย
เกรงว่าจะพา-ข-ยะ-ข-จาย
มรร-คะ-ปลายจะเปล่าเปลือง

O เหตุต้น .. เพาะผล-กรร-มะ-กระ-ทบ
ด-ละ-ภพะรองเรือง
สัมผัสกระหวัด-ร-สะ-เมลือง
ทะ-นุ-เนื่องเขษมสันต์

O การณ์เหตุและเจ-ต-นะ-ผ-จง
อุ-ป-สงคะร่วมกัน
ก่อกรรมะนำ-ทุ-ก-ระ-ทัณ-
ฑะ-ผ-ชันเผชิญชนม์

O กรรมเหตุและเด-ชะ-จะ-ส-ลาย
ก็-เพราะ-คลายระดับ..ตน..
รู้วัตรขจัด-อ-ดุ-ระ-ผล
ละ-ก-มละพ้นหมอง

O เพียงคุมผชุม-จิ-ตะ-ส-มา-
ธิ-ส-ภาวะตามตรอง
ใคร่ครวญชนวน-มุ-หะ-ละ-ออง
เฉพาะต้องจะตัดเตียน

O ติดหล่มเพราะสม-มุ-ติ-พิ-การ
วิ-ญ-ญาณะจำเนียร
สิ้นร่าง บ่ ร้าง-ภ-วะ-เสถียร
จะ-ผละ-เปลี่ยนและเวียนไป

O ดวงเดียวจะเหนี่ยว-อ-ม-ระ-ภาค
กระ-แหนะ-พากย์เพราะอำไพ
ลอยลิบกระพริบ-บ-ทะ-ไสว
ภ-พะ-ใหม่ตะบึงมอง

O แห่ตามเพราะพราห-ม-ณะ-ประ-สิทธิ์
นิ-ร-มิตะรับรอง
อวลอรรถเพาะปรั-ช-ญะ-ส-นอง
ผั-สะ-ต้องก็ติดตาย

O กาลล่วงก็ห่วง-ทิ-ฐิ-พิ-สุทธิ์
ธรร-มะ-พุทธจะเปล่าดาย
แผกผันเพาะคัน-ถะ-อ-ภิ-ปราย
อ-ธิ-บายะเบี่ยงเบน

O หลงมุขะยุค-อุ-ป-นิ-ษัท
พิ-เคราะห์-อรรถะโอนเอน
หลงรสประพจน์-อุ-ต-ริ-เถร
ด-ละ-เวระแฝงไว้

O แยบคายอุบาย-มุ-สะ-ประ-โยค
ระ-บุ-โลกะครรไล
พรางปมเพาะสม-มุ-ติ-พิ-สัย
ระ-บุ-ให้พิกลเห็น

O แปลกตอนสะท้อน-ร-หั-สะ-วา-
ก-ยะ-พาหะแผกเพ็ญ
ข้ามภพ บ่ จบ-ประ-ทุ-ษะ-เข็ญ
ต-ละ-"เป็น"เพราะกรรมปรุง

O เหตุนำเพราะคัม-ภิ-ระ-ก-ถา
อรร-ถะ-ราชะอำรุง
ภาษปวงพระร่วง-ลิ-ขิ-ตะ-ฟุ้ง
ก-ละ-รุ้งจรัสเหลือ

O ต้นเงื่อนเสมือน….วิ-สุ-ทธิ์-มรรค
เพราะ-ประ-จักษะจุนเจือ-
คลี่คลายสยาย-ภ-พะ-อะ-เคื้อ
ต-ละ-เหยื่อก็พร้อมยิน

O เหตุร้อน ณ ก่อน-ม-ร-ณะ-กาล
ฤ-จะ-ผ่านทลายภินท์
ย้อนสางมล้าง-ภ-วะ-อ-จิน-
ต-ยะ-สิ้นจะได้หรือ ?

O เมื่อเหตุเภท-ด-ละ-ประ-ภพ
ฤ-จะ-กลบซะด้วยมือ
รูปนาม ฤ ข้าม-ภ-พะ-กระ-พือ
ประ-ลุ-รื้ออดีตกรรม

O การณ์ใดกระไร-ด-ละ-เพราะเหตุ
บ-ริ-เฉทะเนื่องนำ-
ส่งผลทุรน-อ-ดุ-ระ-ล้ำ
ฤ-จะ-ห้ำประหัตหาย

O ความดับระงับ-ฤ-จะ-ประ-สบ
ผิ-วะ-ภพะวอดวาย
หนทางจะล้าง-ทุ-ขะ-ส-ลาย
ฤ-จะ-หมายจะมองไหน ?

O เหตุ-ผล ณ บน-ระ-ยะ-ระ-หว่าง-
ภ-พะ-ต่างจะอย่างไร ?
หรือเพียงจะเบี่ยง-ทิ-ฐิ-พิ-สัย
ระ-บุ-ไว้เพราะสับสน

O มืดมัวสลัว-รั-ฐะ-ไผท
ม-ติ-ไหนก็จำนน
แซ่ศัพท์สดับ-จิ-ตะ-ฉ-งน
เสนาะพ้นวิหคไพร !

O แม้นห้วงอรรณพนั้น - - - ไพศาล
ใช่กักทุกข์ทรมาน - - - หมดสิ้น
แต่อบายจดพรหมสถาน - - - ถ้วนหมู่
นับเนื่องเพียงกระผีกริ้น - - - รอด, พร้อม-นฤพาน !

แถมโคลงสี่สุภาพให้บทนึง 555

ทำนองเสนาะวสันตดิลกฉันท์ ๑๔




สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ ๑๙


ฉันทลักษณ์
000110101112
00102 - - - 13 - บทที่ 1

000110101113
00103 - - - 14 - บทที่ 2

1=ลหุ นอกนั้นครุ
เลขเดียวกัน = สัมผัสสระ


เอาบท "คืนแห่งจันทร์" ในบล็อกฉันท์มาลงให้ดูเป็นตัวอย่าง
เรื่องสัมผัสบังคับให้ดูในผังฉันทลักษณ์ เขาบังคับแค่นั้น ..
ส่วนสัมผัสในอะไรต่างๆ ไม่มีบทบังคับอะไร ว่ากันได้ตามใจชอบ


O โอ้..ราตรีขณะจันทร์ถวัลยะนภา
งันเงียบยะเยียบพา - - - สะพรึง

O โอ้..ราตรีสรรพะสิ่งนะนิ่งกละจะพึง-
คอยผัสสะรัดรึง - - - ระรัว

O รูปพักตร์งามก็สะอาง ณ กลางนิละสลัว
แนบขวัญและพันพัว - - - ฤทัย

O เนตรต่อเนตรขณะสบก็ครบทิฐิวิสัย
แจ้งเภทและเลศนัย - - - ะนั้น

O ริมฝั่งชลทุขะปวงละช่วงนิระประจัน-
จิตผู้เสาะรู้, บรร - - - ลุนัย

O แขเพ็ญดวงขณะชาติพินาศ, ภพะประลัย
ยึดมั่นก็สั่นไหว - - - บ เวียน

O น้ำค้างหยาดตั-ณ-หาละลาหทัยะเธียร
เวทน์ผัสสะตัดเตียน - - - เพราะตรอง

O กลางเงียบงันเฉพาะภาวะอายตนะผอง
หยุดเป็นและเว้นปอง - - - บ ปรน

O ปลิดปลงรูปะและนาม ณ ยามทิฐิพิมล
ห้าวหาญะลาญกล - - - ณ กาล

O ท่ามกลางจันทระภาสพิลาสะวิ-ญ-ญาณ-
หยุดยั้ง-เพราะสังขาร - - - ละคลาย

O จันทร์จางรูปและอวิชชะฤทธิก็สลาย
ตัวตนก็ป่นวาย - - - บ วน

O จบสิ้นอาสวะเหตุและเภททุระผจญ
หักสิ้นก็สิ้นมน - - - ตระมาร


การอ่านทำนองเสนาะ สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ ๑๙





ขอปิดท้ายกระทู้คำฉันท์ด้วย การร้อยเรียงเรื่องยาว
ด้วยคำฉันท์หลากหลายประเภท




O .. คืนแห่งจันทร์ .. O



บุรุษที่หนึ่งริมน้ำ ณ โคนพฤกษ์

อีทิสังฉันท์ ๒๐
010101012 - - - 10101012
103
1 = ลหุ
0,2,3 = ครุ

O ย้อนอดีตะกาละผ่านผจญ-
ผจัญกะเยาวะเขลานุสน-
ธิ-เมามาย

O จินตนาภวังคะยังสยาย
ประนังประเล่หะเพทุบาย
จะกลายกล

O แผ่วพระพายพะพลิ้วระริ้วสุคน-
ธะกลิ่นพะยอมก็ล้อมก็ลน
กระวนมา

O เงียบสงบสงัดพนัส, สภา-
วะธรรมะย่อมประนอมสถา-
ปนานัย

O หนึ่งดนูสมาธิพาฤทัย
กระวนพิจารณาพิจัย
พิสัยนั้น

O งามสงบสง่าสภาวะบรร-
ลุฌานประภาพ ณ คาบผจัญ
ผจญมาร

บุรุษที่สอง ริมใจ ณ ในกาย

สัทธราฉันท์ ๒๑
0000102 - - - 1111112
0102 - - - 103

O หนึ่งตั้งหยั่งลง ณ สงสาร
อุบัติพิริยะญาณ
เพลินเจริญนาน
ตระการกล

O แตกดอกออกช่อพะนอผล
สมรรถะภวะกมล
มุ่งจะปรุงปรน
สกลกาย

O แผ่หวานผ่านชื่นระรื่นปลาย
ศักยะพละสยาย
งามละลามสาย
ขจายตอน

O ดำรงคงอยู่บ่รู้มรณ์
สถิตะรตินิวรณ์
เมาหะเว้าวอน
บ่ผ่อนผลาญ

O จำรัสจำเริญเผชิญกาล
รัถยะมละตระการ
นำชอ่ำมาร
ผสานมนต์

O แล่นเลื่อนเคลื่อนชาติพิฆาตชนม์
สถิตะทุระทุรน
รัดกระหวัดลน
กมลหมอง

อาคันตุกะราตรี

สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ ๑๙
000110101112 - - - 00102 - - - 13

O ใครหนอนั่น-บ-ริ-บทเพราะยศ-ด-ละ-ผยอง
ตัวตนสิหล่นนอง - - - ไฉน

O คอนฐานัน-ด-ระ-ศักดิหนัก-ระ-ดะ-ไผท
คล้อยเคลื่อนจะเลื่อนไหล - - - ทะลาย

O หยัดตนเยี่ยง-ท-ระ-นงจะคง-ภ-วะ-บ่-กลาย
ภพชาติคาดหมาย - - - บ มรณ์

O ภาคหนึ่งนั่น-คุ-รุ-ศัพทะจับ-บ-ละ-บ-ถอน
ภาษสรรพกระชับคอน - - - สิขรม

O เสียงยอศี-ละ-ประ-นังสิดัง-ก-ละ-ระดม-
เรี่ยวแรงจะแข่งพรหม - - - ะดาล

O ใครหนอนั่น-นิ-ระ-หวั่นผจัญ-กะ-วิ-ญ-ญาณ
เย้ยหยันจะบั่นมาร - - - เผชิญ

โฉมสะคราญสุดแดนดิน

วสันตดิลกฉันท์ ๑๔
00101110 - - - 110102
00101112 - - - 110103

O กลางน้ำทิฆัมพระสะท้อน-
ศศิธร-ก็พิศเพลิน
พร้อมลมระห่ม, นัยน์สะเทิ้น-
ฤ จะเขินเพราะแววตา ?

O จันทร์ภาสพิลาส ณ คคนานต์
สิริปานจะปันปรา-
กฎมอบ ณ ขอบทิพะปุรา
กระจะฟ้าขจ่างฝัน

O ลมล้อชลาลัยะกระเพื่อม
บทะเหลื่อมรุจีจันทร์
พลัน..!.โฉมประโลมอุระถวัล-
ยะประชันจะรอชม

O ล้ำสรรพะอัปสระสวรรค์
จิตะนั้นก็จ่อมจม
ด้วยลักษณ์ฉลักรติภิรม-
ยะ ฤ ข่ม ฤ ขับหาย

O โดยเลศและเนตระสมร
ดุจะอ้อนจะเอียงอาย
ช้อยร่างระหว่างนัยนะชาย
ดุจะฉายประทับโฉม

O แนบอยู่ก็ภูษิตะพะพลิ้ว
ระดะริ้วพระพายโลม
ยิ้มเยื้อนและเคลื่อนรมยะโหม-
ภวะโสมนัสสนอง

O เนตรฉายสยายรหัสะเลศ
ประจุเจตะจับจอง
แผ่อิทธิฤทธิ์รชะตระกอง
ตละจ้องก็จับใจ

เงาดำจากบาดาล

อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑
00100 - - - 110102
00102 - - - 110103

O ครืนครั่นสนั่นสรวง
ชุติช่วงก็ชอนไช
ส่ายเส้นและเต้นไหว
กละใกล้จะถึงกาล-

O เปลวไฟประลัยล้อม
ชิวะหลอมปลาตลาญ
โศกศัลยะบรรสาร-
ทรมานและมืดมน

O เงาภาพะรูปพิมพ์
แสยะยิ้มก็เมื่อยล
แววเนตรและเลศฉล
ดละกลประกอบการณ์

O ราวเรื่อง ณ เบื้องหลัง
ตละครั้งก็คืบคลาน-
สร้างภาพะโวหาร
พิสดาระลวกลน

O ยึดโลกะรายรอบ
ดละกรอบประกันตน
ถ้วนพิศะติดกล
อัตะดละเหนี่ยวดึง

O เมาโมหะโลภหลง
กุธะองคะอื้ออึง
น้อมนำ ณ คำนึง
เฉพาะซึ่งมโนสรรค์

O ครบถ้วนกระบวนถ้อย
ก็ประดอยประดิษฐ์พัน-
ผูกล้อมและย้อมขวัญ
ระบุชั้นกะเชื้อชน

ดับกล .. อนธการ

ภุชงค์ปยาตฉันท์ ๑๒
100100 - - - 100102
100102 - - - 100103

O ประหนึ่งหมอกระลอกมัว
จะล้าตัวละลายตน
เพราะเรื้องแสงและแรงสน-
ธิอำพนกมลพร้อม

O ระบิลบทะงดงาม
พยายามและยินยอม-
พิจัยเรื่องและหล่อหลอม-
กมลน้อมประนังนัย

O นิวรณ์ล้อมตะล่อมร่าง
ก็รู้วางและรู้ไว
สะคราญรูปะวูบไหว
ก็รู้ใจ บ รู้จน

O อุฬารอัตตะขัดออก
จะหลุดลอก บ ลวกลน
อหังการะแกร่งกล
ขจัดผละเผาผลาญ

O ประคองธรรมะนำทิศ
กระบวนพิศะพ้องพาน,
กระบวนทัศน์ปทัสถาน
เหมาะควรการณ์และควรกรรม

O พิจัยความ บ ฟุ้งเฟื่อง
และรูปเรื่องก็ควรนำ-
ประกอบถ้อยและคอยทำ-
นุ หนุนค้ำและย้ำคิด

O ประดาสรรพะจับจ้อง
จะครอบครองและปองสิทธิ์
เพราะไตร่ตรองและมองพิศ
ก็แจ้งจิตเพราะปัญญา

สยบนงคราญ

เหมันตดิเรกฉันท์ ๑๕
00101110 - - - 1101012
00101112 - - - 1101013

O บัดดลพิมลศศินะแสง
กระจะแจ้งประโลมนภา
บัดนั้นก็พลันวุฒิสถา-
ปนะภาวะโลมฤทัย

O เผยงาม ณ ยามระยะเหยาะย่าง
สรพางคะงามประไพ
วงพักตร์ประจักษ์เฉพาะจะไหว-
หฤทัยถวิละหวัง

O งามพิศก็จิตพิริยะพร้อม-
จะถนอมประนอมประนัง
ช้อยรูปะลูบบทะภวัง-
คะประดัง ณ ห้วงฤดี

O โหยหาเพราะอาลัยะกระหวัด
ปฏิพัทธะพร้อมจะพลี-
ชาติภพะจบสุภะสรี-
ระสตรีทุรนทุราย

O ใคร่ครวญะล้วนสมระรูป
จิตะวูบ บ เว้น บ วาย
วรรณาเพราะกาละจะสลาย
สิริกลายสภาพะการณ์

O ร่วงโรยจะโบยสรรพะสรีร์
นิระที่จะทนจะทาน
เหี่ยวย่นจะวนสมะสมาน-
วรรณะคราญระคนระคาย

O วันชื่น ฤ ฝืนยุคะสมัย
ก็เพราะขัยจะกร่อนจะกลาย
น้ำนวลจะหวนบทะ ฤ หมาย ?
พิศะชายจะเฉื่อยจะช้า

เอกะยุทธกระบวน

สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ ๑๙

O โอ้..ราตรีขณะจันทร์ถวัลยะนภา
งันเงียบยะเยียบพา - - - สะพรึง

O โอ้..ราตรีสรรพะสิ่งนะนิ่งกละจะพึง-
คอยผัสสะรัดรึง - - - ระรัว

O รูปพักตร์งามก็สะอาง ณ กลางนิละสลัว
แนบขวัญและพันพัว - - - ฤทัย

O เนตรต่อเนตรขณะสบก็ครบทิฐิวิสัย
แจ้งเภทและเลศนัย - - - ะนั้น

O ริมฝั่งชลทุขะปวงละช่วงนิระประจัน-
จิตผู้เสาะรู้, บรร - - - ลุนัย

O แขเพ็ญดวงขณะชาติพินาศ, ภพะประลัย
ยึดมั่นก็สั่นไหว - - - บ เวียน

O น้ำค้างหยาดตั-ณ-หาละลาหทัยะเธียร
เวทน์ผัสสะตัดเตียน - - - เพราะตรอง

O กลางเงียบงันเฉพาะภาวะอายตนะผอง
หยุดเป็นและเว้นปอง - - - บ ปรน

O ปลิดปลงรูปะและนาม ณ ยามทิฐิพิมล
ห้าวหาญะลาญกล - - - ณ กาล

O ท่ามกลางจันทระภาสพิลาสะวิ-ญ-ญาณ-
หยุดยั้ง-เพราะสังขาร - - - ละคลาย

O จันทร์จางรูปและอวิชชะฤทธิก็สลาย
ตัวตนก็ป่นวาย - - - บ วน

O จบสิ้นอาสวะเหตุและเภททุระผจญ
หักสิ้นก็สิ้นมน - - - ตระมาร

จอมคนบนปฐพี

วสันตดิลกฉันท์ ๑๔

O จันทร์พร่างระหว่างภพะประลัย
นิระใดจะบันดาล-
ปรุงแต่ง-เพราะแรงทิฐิพิชาน
อุปการะบทกรรม

O แจ้งการณ์เพราะลาญมุหะ ณ ใน-
หฤทัยะด้วยธรรม
ดับฤทธิ์อวิชช์บทะกลัม-
พ-ระตำหนิในตน

O แจ้งใดจะดั่งอริยะญาณ
ประจุมาน-ละมืดมน
แจ้งนั้นเพราะสัทะและกมล
อนุสนธิกลางศศิน




 

Create Date : 28 กันยายน 2558
7 comments
Last Update : 12 มิถุนายน 2560 13:48:32 น.
Counter : 6225 Pageviews.

 

เงาใจระบายโบก......ศุภโชค ชวนเปล่งตา
เอื่อนเอ่ยมธุรสา..... วจนา ผนึกเคียง
คล้องคำวณประทีป... กละรีบ จะโรยเรียง
สรรสายระบายเคียง... ตลบพื้น สุธาดล
จันทร์งามณยามนี้.... ศศิศรี มณีกมล
ผ่องพรรณถวัลย์วน....บริมาศ สะอาดภางค์
กายจิตวจีจับ....... ปลุสรรพ มนัสวาง
ดิ่งธรรมรรินทร์ทาง.....สุสว่าง สวรรค์วอน
จันทร์เลื่อนระโรยไกล...ฤดีไห้ ระโหยอ่อน
ดังรักจะตัดรอน.......บ่มิแคล้ว คะนึงครวญ

 

โดย: กฤษณา เวชศิลป์ IP: 171.5.147.224 28 กันยายน 2558 22:07:35 น.  

 

สวัสดีครับคุณกฤษณา
ขอแสดงความชื่นชมในความวิริยะพยายามครับ ..

หากที่เขียนคือ อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ แล้ว .. ยังมีฉันทลักษณ์บางจุดผิดอยู่นะครับ

เงาใจระบายโบก......ศุภโชค "ชวน"เปล่งตา - ต้องเป็นลหุครับ
เอื่อนเอ่ย"มธุร"สา..... วจนา ผนึกเคียง - ลหุเกินครับ จะอ่าน มะทุน ไม่ได้.. อ่านได้เพียง มะธุระ

คล้องคำ"วณประ"ทีป... กละรีบ จะโรยเรียง - ลหุเกิน ครับ
สรรสายระบายเคียง... "ตลบ"พื้น สุธาดล - ตลบ ใช้แทนลหุคู่ไม่ได้ครับ แต่หากเป็นฉันท์โบราณที่ใช้เสียงหนักเบา อาจใช้ได้

จันทร์งามณยามนี้.... "ศศิ"ศรี มณีกมล - จันทร์ กับ ศศิ เป็นความหมายเดียวกัน คือคำซ้ำ ความหมายไม่เดินหน้า
ผ่องพรรณถวัลย์วน....บริมาศ สะอาด"ภางค์" - เข้าใจว่าจะหมายถึง สรรพางค์ หรือ สรพางค์

กายจิตวจีจับ....... "ปลุ"สรรพ มนัสวาง - ประลุ เขียน ปลุ ไม่ได้ครับ
ดิ่งธรรม"รรินทร์"ทาง....."สุ"สว่าง สวรรค์วอน - ริรินทร์ ไม่มีความหมายครับ ส่วน สุ แปลว่า ดีงาม

จันทร์เลื่อน"ระโรย"ไกล...ฤดีไห้ ระโหยอ่อน - แสงจันทร์โรยแสง พอเข้าใจได้ แต่ ระโรย นี่ไม่มีความหมาย
ดังรักจะตัดรอน.......บ่มิแคล้ว คะนึงครวญ - บ มิ คือ ปฏิเสธซ้อนปฏิเสธนะครับ ความหมายคือ ไม่ไม่

ลองพิจารณาดูคำที่ใช้เป็นหลักนะครับ ต้องเลือกใช้คำที่มีความหมายเท่านั้น เรากำหนดคำ สร้างคำเอาเองไม่ได้ครับ .. ผมแนะนำให้เขียนเป็นกาพย์ยานี 11 ก่อนแล้วค่อยแปลงเป็นอินทรวิเชียรฉันท์ ทีหลัง

สามัคคีเภทคำฉันท์จะเป็นต้นฉบับที่ดีมากในการศึกษาลีลาของกวีรุ่นก่อน

 

โดย: สดายุ... 29 กันยายน 2558 6:51:10 น.  

 

สวัสดีครับท่านสดายุ
คุณคมทวน คันธนู ฝีมือฉกาจนัก
แต่ช่วงหลังนี้ไม่ค่อยได้เห็นผลงานใหม่ ๆ เลยครับ
หลายปีก่อนทราบข่าวว่าคุณคมทวนไม่สบาย
หลังจากนั้นก็เงียบหายไปเลย...

ในยุคที่ย้อนอดีตไปไม่ไกลนักนี้
มี "ฉันทกร" ที่ผมชื่นชมมาก ๆ อีกท่าน คือ "นายผี" ครับ
ที่จริงแล้วผมไม่ได้รู้จักนายผีจาก "เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า"
แต่รู้จักเพราะได้อ่าน "ควายคนรึคนควาย" ครับ

(อ้าพ่อลำเภาพัก-
ตรพำนักพนาลี
อ้าพ่อรำพึงพี-
รยภาพอันเพ็ญ... ฯ )

ปกติผมจะรู้สึกธรรมดากับอินทรวิเชียรฉันท์
เพราะคล้ายกับกาพย์ยานี (ทำให้ดู "ดาดๆ")
แต่งานของนายผีชิ้นนี้ อ่านแล้วไม่รู้สึกเช่นนั้นครับ
และพอรู้จักแล้ว ตามไปอ่านงานชิ้นอื่น ๆ
ก็พบว่าใช้คำที่เปี่ยมพลัง เสมอต้นเสมอปลาย
นอกจากนี้ การใช้ครุ-ลหุแบบโบราณของนายผี
ไม่ได้ทำให้ฉันท์เสียจังหวะเลยครับ

 

โดย: ศารทูล IP: 202.28.250.110 30 กันยายน 2558 9:19:27 น.  

 

ศารทูล ..

คมทวน นี่แหละที่ประดิษฐ์ ทวนไฟฉันท์ ๓๙ โดยเอาสองฉันท์ใหญ่ สัททุล กับ อีทิสัง มาผสมกัน

วสันตดิลกฉันท์ ๑๔
O ขวัญเอย .. จะเย้ยจะเยาะจะหยัน
เถอะนะ .. ขวัญก็ลองดู
แรงหวานจะซ่านกมละรู้
นยะชู้จะเชื้อเชิญ

O จงต้านและทานกะพิสมัย
ผิวะใกล้จะก้ำเกิน
ป้องไว้นะใจผิวะเผอิญ
จะสะเทิ้นสะท้านไหว

O พากย์นี้พิถีทะลุทะลวง
เฉพาะทรวงและดวงใจ
หมายตรึงระรึงรติพิสัย
ระบุให้ละห้อยหา

O คำถ้อยจะปล่อยนยะประสิท-
ธิประชิดและบัญชา
จักเริ่มกระเหิมพละสถา-
ปนะภาวะอาวรณ์

ทวนไฟฉันท์ ๓๙
O หมายพากย์สัมผัสะต้องตระกองจิตะสมร (วรรคแรกสัททุล)
ประสงคะวางระหว่างนิวรณ์ - - - ฉะอ้อนนั้น (วรรค 2-3 อีทิสัง)
หวังจะพิมพ์เพราะศัพทะขับประพันธ์ (วรรคแรก อีทิสัง)
กล่อมเกลี้ยงประเดียงขวัญ - - - นะเอย (วรรค 2-3 สัททุล)


ส่วนนายผี .. เราเรียกกวีได้เต็มปากเต็มคำ
เป็นคนที่เอา สัททุล มาเขียน "ชะนะแล้วแม่จ๋า" ได้อย่างมีพลัง ..

ผมมีเรื่องนี้ กับอีกเรื่อง ความเปลี่ยนแปลง กาพย์ยานี 11 ในลีลา อินทรวิเชียรฉันท์ ที่สุดยอด ไว้หาเจอแล้วจะเอามาลงให้ดู

เพลงคิดถึงบ้าน ที่คาราบาวเอามาร้องในชื่อ เดือนเพ็ญ น่าจะเป็นงานชิ้นสุดท้ายของกวีอหังการผู้นี้ที่ยอมข้ามแดนไปตายในลาว ไม่ยอมวางอาวุธมา"ร่วมพัฒนาชาติไทย" สมัยป่าแตกหลัง 66/23 และ 65/25 ออกฤทธิ์ สมัย จิ๋ว หวานเจี๊ยบเป็นเสธ ฯ ทบ.

ผมชื่นชมคนเช่นนี้ ..

 

โดย: สดายุ... 30 กันยายน 2558 19:08:23 น.  

 

บท คืนแห่งจันทร์ งดงามมาก

สาธุ

..

มาวางตรงหัวข้อแล้วกัน -- ลองเขียนตอน จขบ กำลังเขียนกระทู้เรื่องนี้อยู่ .. ยากนะ แต่น่าสนใจดีค่ะ

ปางบรรพ์สวรรคะนิรมิต
เพราะอธิษฐานธรรม
สบเนตรต้องเลศจิตะถลำ
นัยะล้ำก็ทาบทา
.
พบงามก็หวามทั่วหฤทัย
จิตะนัยก็บัญชา
รวมหลอมถนอม..ประลุสภา-
วะระรัวระรึงเร้า

--ในแต่ละประเภทของคำฉันท์ มีวัตถุประสงค์เฉพาะไหมคะ หรือ ในหัวเรื่อง ๆ หนึ่ง สามารถเขียนโดยชนิดใดก็ได้ ตามชอบใจ ตามถนัด

 

โดย: มาย IP: 124.120.190.245 3 ตุลาคม 2558 0:48:24 น.  

 

มาย ..

ปางบรรพ์สวรรคะนิรมิต
เพราะอธิษฐานธรรม
สบเนตรต้องเลศจิตะถลำ - "ต้องเลศ" ตรงนี้ผิดฉันทลักษณ์ครับ .. ควรเป็น สบเนตรและเลศจิตะถลำ
นัยะล้ำก็ทาบทา
.
พบงามก็หวามทั่วหฤทัย - "ทั่ว" หฤทัย ตรงนี้ต้องเป็น ลหุ .. ควรเป็น พบงามก็หวาม ณ หฤทัย
จิตะนัยก็บัญชา - พิสมัยะตรึงตรา
รวมหลอมถนอม..ประลุสภา - รวมหลอมถนอมประดุจะผา-
วะระรัวระรึงเร้า - ณิตะดาละรุมเร้า


ที่จริงฉันท์แต่ละชนิดมี "ความนิยม" เฉพาะจุดประสงค์ต่างกันไป ..

สัททุลฯ ขรึมขลัง อลังการ นิยมใช้ขึ้น ปณามคาถา
วสันตดิลก จังหวะลงตัวที่สุดในบรรดาฉันท์ด้วยกัน เหมาะกับ พรรณนาความสวยงามของสถานที่ ธรรมชาติ

ผมเคยผ่านตา แต่จำไม่ได้แล้วว่าจากที่ไหน ว่าโบราณเขาจะมีข้อนิยมกันประมาณนี้ ครับ

 

โดย: สดายุ... 3 ตุลาคม 2558 7:07:39 น.  

 

..ไม่ตรงฉันทลักษณ์จริง ๆ ด้วย ดีจริง ขอบคุณค่ะ เหมือนเป็นสัญญาณร้องเตือน ช่วยชี้บอกเลยค่ะ

.
ปางบรรพ์สวรรคะนิรมิต
เพราะอธิษฐานธรรม
สบเนตรและเลศจิตะถลำ
นัยะล้ำก็ทาบทา
.
พบงามก็หวาม ณ หฤทัย
พิสมัยะตรึงตรา
รวมหลอมถนอมประดุจะผา-
ณิตะดาละรุมเร้า
.
..ขอบคุณค่ะสำหรับที่แก้และเกลาให้ถูกและดี และสำหรับข้อมูลต่าง ๆ

งั้น..ขอลองใหม่นะ..

อาวรณ์สะท้อนจิตตะกระหวัด
ปฏิพัทธ์ บ่ บรรเทา
รูปโฉมประโลมกมลเคล้า
สุขะเข้าประคองใจ

.เฮ้อ..แทบแย่..กว่าจะจบได้..
..จบพร้อมถอนหายใจเฮือกใหญ่..

 

โดย: มาย IP: 124.122.178.232 8 ตุลาคม 2558 0:28:12 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.