Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2558
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
4 ตุลาคม 2558
 
All Blogs
 
โคลง





ขึ้นหัวข้อกระทู้ในชื่อ โคลง คำเดียว เพราะมีโคลงอยู่หลายรูปแบบเหมือนกัน แม้จะไม่หลากหลายเท่า ฉันท์ ก็ตาม

ในความเห็นส่วนตัวแล้ว โคลง เขียนได้ไม่ยากนัก .. แต่หากต้องการเขียนให้ได้ดี นั่นย่อมไม่ง่ายแล้ว

มีตำหรับตำรา ชี้แนะการเขียนโคลงอย่างเป็นเรื่องเป็นราวน้อยกว่าน้อย .. ผู้คนส่วนมากจึงฝึกหัดกันแบบ ครูพักลักจำ เป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งผู้เขียนในช่วงเริ่มต้น

ลำดับขั้นตอนมีว่า ..

1.อ่านแล้วชอบ ..
2.ชอบแล้วก็อยากเขียนได้บ้าง ..
3.ศึกษาเรียนรู้เรื่องฉันทลักษณ์ ซึ่งในยุคสมัยอินเตอร์เนตแพร่หลายนี้ มันง่ายนิดเดียว
4.อ่านงานของคนที่เขียนไว้ตามเวปร้อยกรองต่างๆ
5.ย้อนไปหาซื้อหาอ่าน วรรณกรรมในอดีตที่เขียนด้วยโคลง
5.ชอบไม่จริง ก็สนใจพักเดียว จอด
6.ชอบจริงก็คลุกคลีกับมันมาเรื่อยๆ ตามแต่โอกาสอำนวย มีแรงบันดาลใจก็เขียนออกมาตามพื้นที่ส่วนตัว หรือ พื้นที่ร่วมของบรรดาผู้นิยมเรื่องเดียวกัน ในสารพัดเรื่อง

ใน 100 คนตามลำดับที่พูดมา เหลือหลุดรอดมาเป็นยอดฝีมือโคลงได้ไม่เกิน 10 คน !



โคลงดั้น


ฉันทลักษณ์



เมื่อสืบสาวกลับไปในอดีตก็พบว่า บรรพบุรุษไทย เขียนโคลงดั้นกันก่อนเป็นปฐม เท่าที่มีหลักฐานยืนยันประกอบกับเนื้อหาในเรื่อง มันสืบเนื่องจากยุคกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ..



โองการแช่งน้ำ ..

... โองการแช่งน้ำเป็นวรรณคดีที่เก่าแก่ของไทย นักวิชาการส่วนใหญ่ลงความเห็นตรงกัน ว่าแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น แต่นักวิชาการบางคน เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ เชื่อว่าวรรณคดีเรื่องนี้น่าจะแต่งขึ้นอย่างน้อยก็ในสมัย พระเจ้าอู่ทอง ผู้ทรงสถาปนาเมืองอโยธยา (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นอยุธยา) ขึ้น

โองการแช่งน้ำเป็นวรรณคดีที่ใช้คำเก่า แต่เป็นคำไทยแม้เป็นส่วนมาก ทำให้อ่านเข้าใจยาก ทำให้นักวิจารณ์สับสน ซึ่งแตกต่างจากวรรณคดีที่ใช้ภาษาบาลีหรือสันสกฤต ที่สามารถสืบหาความหมายได้ง่ายกว่า เช่น ลิลิตยวนพ่าย ซึ่งใช้คำศัพท์บาลีสันสกฤตปะปนอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ...

ที่มา .. https://th.wikipedia.org/wiki/ลิลิตโองการแช่งน้ำ



ลิลิตยวนพ่าย ..

... ลิลิตยวนพ่าย เป็นวรรณคดีประเภทสดุดีวีรกรรมของพระมหากษัตริย์ จัดเป็นวรรณคดีประวัติศาสตร์ ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง แต่สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมรามาธิบดีที่ 2 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ คำว่า "ลิลิต" หมายถึง คำประพันธ์ประเภทร้อยกรองแบบหนึ่งซึ่งใช้โคลงและร่ายต่อสัมผัสกันเป็นเรื่องยาว ส่วน "ยวน" หมายถึง ชาวไทยทางล้านนา เรียกกันว่า ไทยยวน เพี้ยนมาจาก โยน หรือ โยนก ดังนั้น ลิลิตยวนพ่ายจึงมีเนื้อหากล่าวถึง สงครามที่กรุงศรีอยุธยามีชัยเหนือไทยเหนือหรือล้านนานั่นเอง ...

ที่มา .. https://th.wikipedia.org/wiki/ลิลิตยวนพ่าย

ตรงที่ขีดเส้นใต้ .. ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับข้อสันนิษฐานนี้ .. ด้วยเหตุผลดังนี้

1. สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถของกรุงศรีอยุธยา ร่วมสมัยกับ พระเจ้าติโลกราช ของเชียงใหม่ .. ทำสงครามกันตลอดรัชกาล

2. สมเด็จพระบรมไตรฯ มีโอรสจากมเหสีจากราชวงศ์สุพรรณภูมิที่กรุงศรีอยุธยาเป็นรุ่นแรก นาม พระบรมราชาธิราชที่ 3

3. นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าโคลงยวนพ่ายนี้เป็นพระราชนิพนธ์ใน"สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3" พระโอรสพระองค์โตของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถที่ประทับครองกรุงศรีอยุธยาช่วงที่พระบิดาเสด็จขึ้นไปประทับบัญชาการศึกที่พิษณุโลก ..

4. และเมื่อพระบรมไตรฯ ขึ้นไปประทับที่พิษณุโลกก็มีพระมเหสีอีกองค์หนึ่งจากราชวงศ์สุโขทัย พร้อมกับมีพระโอรสพระนามว่า "สมเด็จพระเชษฐาธิราช หรือต่อมาคือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2" ซึ่งเป็นน้องต่างมารดาของ "สมเด็จพระราชาธิราชที่ 3" เป็นน้องที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับโอรสของพี่ชายคือ "สมเด็จพระอาทิตย์วงศ์ หรือ ต่อมาคือ สมเด็จหน่อพุทธางกูร หรือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4

5. สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 นี้ครองราชย์นาน 38 ปีหลังจากพี่ชายต่างมารดาคือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ครองราชย์ต่อจากพระบรมไตร ฯ ได้เพียง 4 ปีก็สวรรคต .. การครองราชย์นานของพระองค์ทำให้ปรากฎชื่อในวรรณกรรมขุนช้างขุนแผนในพระนาม .. "พระพันวษา" ..

แปลต่อได้ว่า วรรณกรรมเรื่อง ขุนช้างขุนแผน น่าจะเขียนขึ้นในยุคสมัยนี้เป็นต้นไป หรือหลังจาก"พระพันวษา" สวรรคตไปได้ไม่นานนัก จึงยังเป็นที่กล่าวขวัญถึงกันอยู่ของชาวเมืองสุพรรณบุรี ที่เป็นต้นกำเนิดของราชวงศ์สุพรรณภูมิ .. เป็นยุคสมัยก่อนพระไชยราชา (สวามีศรีสุดาจันทร์) ไม่กี่ปี

ส่วนสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 นั้นนับเป็นกวีที่มีความรอบรู้ภาษาบาลีสันสกฤตสูงมากผู้หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย .. ซึ่งนักปราชญ์พระองค์นี้คงต้องแตกฉานทั้ง รามายณะ และมหาภารตะยุทธ เป็นอย่างดีจึงสามารถนำมาอุปมาอุปไมยในงานเขียนได้ .. จากบทนี้ ..

๏ จึ่งชักช้างม้าค่อย - - - ลีลา
ยังนครไคลคืน - - - เทศไท้
พยงบานทพาธิก - - - ทรงเดช
ที่คนเคารพไข้ - - - ข่าวขยรร ฯ

เมื่อ ..
บานทพา คือ ปาณฑพ
เคารพ คือ เการพ


6. สันนิษฐานว่าพระองค์เป็นผู้แต่งโคลง .. ทวาทศมาส .. และ .. กำสรวลสุมทร (ที่เคยเรียกกันว่า กำสรวลศรีปราชญ์) .. ด้วย .. มิใช่ 3-4 กวีร่วมกันแต่งในสมัยพระนารายณ์แต่อย่างใด ..

ยวนพ่าย
ทวาทศมาส
กำสรวลสมุทร

ทั้งหมดเขียนเป็นโคลงดั้น ไม่ใช่โคลงสี่สุภาพที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน

.
.

การเขียนทุกประเภท ไม่ว่าร้อยกรองหรือร้อยแก้ว มีจุดประสงค์เดียวเท่านั้นคือ การสื่อความหมายที่ผู้เขียนต้องการ ..

การสื่อความหมายจึงเป็นประเด็นหลักในความคิดตลอดเวลาที่กำลังเขียน
แล้วอะไรเล่า คือสิ่งที่เป็นองค์ประกอบของความหมายที่จะสื่อ ?

คำ - มีอย่างเดียวที่จะสื่อความหมายผ่านออกไปได้

ความหมาย จึงต้องสื่อผ่านคำ .. ย่อๆได้ว่า "เนื้อความ" สื่อผ่าน "คำ"
ดังนั้นหาก เนื้อความไม่เดินไปตามจุดประสงค์ ก็เพราะ คำ เป็นอุปสรรค

อุปสรรคในแง่ไหนบ้าง ?

ใช้ผิด
ใช้ฟุ่มเฟือย เยิ่นเย้อ ประมาณน้ำท่วมทุ่ง

ใช้ผิด คือ ผิดความหมาย .. ในเมื่อทุกคำมีความหมาย การใช้คำที่คิดเองที่ไม่มีในพจนานุกรม ย่อมไม่มีผู้ใดทราบความหมายของคำนั้นๆได้ การสื่อความออกไปย่อมล้มเหลว

ใช้ฟุ่มเฟือยคือ ซ้ำซ้อน เยิ่นเย้อ เขียนไปแล้วในบริบทหนึ่งแล้วมาใช้ต่างคำที่ความหมายเดียวกันซ้อนทับเข้าไปอีก ..

เป็นต้นว่า

อัมพรโอภาสแจ้ง .. จันทร์ฉาย
ศศินะย่อมผ่องพราย .. ค่ำนั้น

บาทแรก .. ท้องฟ้าสว่างด้วยแสงจัทร์
บาทสอง .. แสงจันทร์ย่อมผ่องใส ในค่ำนั้น

อย่างนี้เขาเรียก ความไม่เดินหน้า คือย้ำคิดย้ำพูดในเรื่องเดิมๆ ซึ่งมักเห็นได้บ่อยในผู้เริ่มต้นหัดเขียนคือ อยากบรรยายความสวยงามประทับใจแล้วพยายามพูดในบริบทที่ใกล้เคียงกับที่เขียนไปแล้วซ้ำซาก ทำให้มีเนื้อหาต่อบทน้อยมาก ..
.
.
ตัวอย่างการเขียนโคลงของปราชญ์โบราณจากโคลงดั้น ยวนพ่าย
ว่าการเดินหน้าของเนื้อหา ท่านทำกันอย่างไร .. (พระ - หมายถึงสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ .. ลูกชายเมื่อเขียนถึงพ่อก็ต้องยกย่องเป็นธรรมดา)

๏ พระมามลายโศกหล้า - - เหลึอศุข
มาตรยกไตรภพฤๅ - - ร่ำได้
พระมาบันเทาทุกข - - ทุกสิ่ง เสบอยแฮ
ทุกเทศทุกท้าวไท้ - - นอบเนึอง ฯ

แปล
.. พระองค์เสด็จมาทำให้ความโศกในโลกสูญสิ้นไป เหลือแต่ความสุข
.. พระองค์ทรงยกโลกทั้ง ๓ (ให้รุ่งเรือง) สุดที่จะพรรณนาได้
.. พระองค์เสด็จมาบรรเทาทุกข์ทำให้ทุกสิ่งมีแต่ความสุข (และ)
.. ทรงทำให้เจ้าบ้านเจ้าเมืองทุกถิ่นทุกประเทศพากันมานบนอบอยู่เนืองแน่นอยู่เสมอ

คำว่า "ฤา - - ร่ำได้" ในบาทสอง .. ร่ำ หมายถึง ร่ำร้อง แซ่ซ้อง พรรณนาความ หรือ โฆษณา ในปัจจุบันนั่นเอง .. มิได้หมายถึง ร่ำไห้ ที่คนจำนวนมากเข้าใจ .. การอ่านงานเก่าจึงต้องมองดูบริบททั้งบทโดยรวมให้เข้าใจ มิใช่เพียง "ตัวหนังสือผ่านสายตา" เท่านั้น 555

แต่ เนื้อความ ต้องผ่านเนื้อสมอง เสมอไป !
.
.
โคลงบทหนึ่งที่ชอบมากในยวนพ่าย คือบทนี้

๏ สารสยามภาคยพร้อง - - กลกานท นี้ฤๅ
คือคู่มาลาสวรรค์ - - ช่อช้อย
เบญญาพิศาลแสดง - - เดอมกรยดิ พระฤๅ
คือคู่ไหมแส้งร้อย - - กึ่งกลาง ฯ

แปล

.. หนังสือภาษาสยามที่พรรณาเป็นร้องกรองแล้วนี้มีความงดงามตามแบบฉันทลักษณ์
.. เปรียบเสมือนพวงดอกไม้สวรรค์ที่งามช้อย
.. พระปัญญาอันกว้างใหญ่ไพศาลของพระองค์ย่อมแสดงพระเกียรติคุณของพระองค์ที่ทรงมีอยู่แล้ว
.. เปรียบเสมือนเส้นไหมที่ประจงร้อยดอกไม้สวรรค์ให้เป็นพวงฉะนั้น


อีกบทที่ต่อเนื่องกัน ..

๏ เป็นสร้อยโสภิศพ้น - - อุปรมา
โสรมโสดศิรธรางค - - เวี่ยไว้
จงคงคู่กัลปา - - ยืนโยค
หายแผ่นดินฟ้าไหม้ - - อย่าหาย ฯ

แปล

.. สายสร้อยแห่งคำร้อยกรองที่งดงามสุดจะเปรียบปาน
.. อันบรรดานักปราชญ์ในราชสำนักเมื่อได้ฟังและได้ช่วยกันแก้ไขแล้วนี้
.. จงยั่งยืนอยู่คู่กัปกัลป์
.. แม้แผ่นดินจะสูญหาย แผ่นฟ้าจะไหม้ ก็ขอให้คำร้อยกรองนี้อย่าได้สูญหายไปด้วยเลย


บทต่อมาอีกบท

๏ ขอข้าแรมโรคร้อน - - อย่ามี หนึ่งเลย
ขอข้ารสายพิฆน - - นาศม้วย
ขอสํสิ่งศรืสํ - - ศุขสาธุ เสวยแฮ
แรงรํ่ายศไท้ด้วย - - หื่งรหรรษ ฯ

แปล

.. ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากโรค ความเดือดร้อนอย่างใดอย่างหนึ่งอย่าได้มีเลย
.. ขอให้ข้าพเจ้าได้ขจัดความขัดข้อง ความเสื่อม ให้หมดสิ้นไป
.. ขอให้ข้าพเจ้าประสบสิริมงคล ตวามสุขและควมดีงาม
.. (ด้วยพลังแห่งการที่ข้าพเจ้าได้)พรรณนาพระเกียรติยศของพระองค์ด้วยความปีติยินดี


ข้อสังเกตุ
บทแรกลงท้ายด้วย "กลาง"
บทสองต่อมารับด้วย "ศิรธรางค์" ในคำท้ายวรรคหน้า บาทสอง
บทสองลงท้ายด้วย "หาย"
บทสามต่อมารับด้วย "รสาย" คำที่สามบาทสอง

แปลว่าการร้อยโคลงดั้น ไม่ตายตัวนัก เข้าใจว่ารับสัมผัสที่คำที่ 2-5 ของวรรคหน้า บาทสอง ได้ทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องคำที่ห้า



โคลงสี่สุภาพ


ฉันทลักษณ์



อยากพูดว่าเนื้อความที่มีความหมายครอบคลุมมากต่อบท ควรเป็นจุดประสงค์หลักในการเขียนโคลง (สี่สุภาพ)


๏ คนพาลผู้บาปแท้ - - - ทุรจิต
ไปสู่หาบัณทิต - - - ค่ำเช้า
ฟังธรรมอยู่เนืองนิตย์ - - - บ่ทราบ ใจนา
คือจวักตักเข้า - - - ห่อนรู้รสแกง๚ะ๛

แปล

.. คนเลวที่มีจิตชั่วร้ายเลวทราม
.. แม้หมั่นไปมาหาสู่คบคนดี
.. หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่สามารถปรับปรุงตัวได้
.. เป็นเสมือนจวักตักแกงที่แม้จะอยู่ในหม้อแกงแต่ไม่อาจรู้รสของแกงได้
(ตรงกับสำนวน สีซอให้ควายฟัง หรือตักน้ำรดหัวตอ)


โคลงโลกนิติ .. เป็นโคลงที่เขียนสอนใจคน ออกแนวสุภาษิต คำคม ประมาณนั้น .. โคลงลักษณะนี้จะมีการอุปมาอุปมัย เปรียบเปรย เปรียบเทียบ เยาะเย้ย ถากถาง พร้อมอยู่ในตัว และจำต้องได้เนื้อหาครบในบทเดียว

จึงเป็นสำนวนการเขียนที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่งในหมู่ผู้เริ่มสนใจใหม่ๆ .. เพราะมีจุดเด่นที่พูดเนื้อหาได้ครอบคลุมจาก

ตั้งประเด็น .. บาทแรก
ขยายประเด็น .. บาทสอง
รวบประเด็น .. บาทสาม
ปิดประเด็น .. บาทสี่


๏ นาคีมีพิษเพี้ยง - - - สุริโย
เลื้อยบ่ทำเดโช - - - แช่มช้า
พิษน้อยหยิ่งโยโส - - - แมลงป่อง
ชูแต่หางเองอ้า - - - อวดอ้างฤทธี๚ะ๛

แปล

.. พญาจงอางมีพิษร้ายแรงปานดวงอาทิตย์
เริ่มด้วยการชงประเด็นขึ้นมาก่อนในเชิงเปรียบเทียบในบาทแรก
ว่า ดวงอาทิตย์นั้นมีแสงร้อนแรง เปรียบเป็นความยิ่งใหญ่หรืออำนาจกว่าสิ่งใด

.. เลื้อยไปตามปกติอย่างแช่มช้า
เริ่มขยายประเด็นต่อว่า นอกจากนั้นแล้วเวลาไปไหนมาไหนก็เลื้อยไปอย่างแช่มช้า
ธรรมดาๆ ไม่ต้องมีลูกหาบคอยแห่ตาม ไม่ต้องชูหางชูคอให้เอิกเกริกแต่อย่างใด

.. ส่วนที่มีพิษนิดหน่อย นิดเดียว ไม่พอทำร้ายใครถึงตาย
เปรียบเหมือนคนที่ไม่มีอำนาจเงินทองอะไร คือชาติพันธุ์แมลงป่อง

.. กลับชูคอ ยกหาง อวดแอ่นไปทั่ว กลัวคนจะไม่รู้ว่ามีฤทธิ์ มีเดช
เปรียบเหมือนคนพยายามคุยโวโอ้อ้อวด .. ทำเหมือนว่ามีอำนาจมีเงินทองให้คนเข้าใจเอาเช่นนั้น ทั้งๆที่กลวง ว่างเปล่าเหมือนสัดใส่ข้าวที่เขาเทออกหมด

ผู้มีความรู้ ความสามารถย่อมไม่อวดตนหรือคุยโม้ .. หากเจอคนชนิดนี้ให้รู้ว่า น่าจะมีปมด้อยในใจ ในแง่การยอมรับจากผู้อื่น พึงละไปเสีย เพราะน่ารำคาญมากมาย 555

ส่วน พฤติกรรมของนาคีตรงกับสำนวนคมในฝัก


อีกสักสำนวน

๏ รู้น้อยว่ามากรู้ - - - เริงใจ
กลกบเกิดอยู่ใน - - - สระจ้อย
ไป่เห็นชเลไกล - - - กลางสมุทร
ชมว่าน้ำบ่อน้อย - - - มากล้ำลึกเหลือ๚ะ๛

แปล

คนที่อยู่ในโลกหรือสังคมที่แคบย่อมคิดว่าสิ่งที่ตนพบเห็นนั้นยิ่งใหญ่แล้ว
ตรงกับสำนวน กบในกะลา อึ่งอ่างในกะลา หิ่งห้อยในกะลา




โคลงสอง


ฉันทลักษณ์


ลีลาโคลง 2 นี้ ใช้ได้ทีเดียวหากรู้จักวางเรื่องราวให้สอดรับลงตัวกับ คำโคลง
ด้านล่างนี้เขียนไว้ใน "ชั่วฟ้าดินดับ ภาค 1" มาลงให้ดูเป็นตัวอย่าง


O จนทัพศึกย่ำก้าว - - - ถึงอกเมือง, รูปอะคร้าว-
อยู่เฝ้าจึ่งเห็น

O จนดวงเนตรเหลือบชม้อย - - - ชม้ายสบ, ความละห้อย
จึ่งแห้งเหือดหาย

O จนอ้อมแขนโอบไว้ - - - อกอุ่นแนบชิดใกล้
สร่างสิ้นฤๅเขษม

O จบจูบแก้มนิ่มเนื้อ - - - อย่างแผ่วเบา, รูปอะเคื้อ
สั่นสะเทิ้นสุดถอน

O จบจูบ, ตาซ่อนยิ้ม - - - ถูกจบจูบ, ตาพริ้ม-
หลบ-สะท้อนสะท้านเขิน

O หน้าแนบอกกระซิบอ้อน - - - งามยิ่ง-ยามเหลือบค้อน
ฝ่าร้อนปรารถนา

O เอวคอดกิ่วรูปแก้ว - - - ถูกโอบรั้งเหนี่ยวแล้ว
จักแคล้วคลาดหรือ

O หอมกรุ่นผิวผ่าวเนื้อ - - - เพรียกเร่าร้อนโชนเชื้อ
อุ่นเอื้ออาวรณ์

O กลางจันทร์รูปต่ายแต้ม - - - กลางอกอวลกลิ่นแก้ม
ยั่วแย้มรมยา

O โอบนั้น-คือโอบเนื้อ - - - เพรียกอุ่นให้อุ่น-เชื้อ-
ช่วงร้อนระเร้าระรุม

O แผ่ว-ออดอ้อน,โอดอื้น - - - ผิว-ผุดผ่องพลิ้วพื้น
ผ่าวน้อมตฤษณา

O แว่ว-กระซิกระส่ำสร้อย - - - แว่ว-ออดอ้อนอ่อนน้อย
ข่มละห้อยฤๅหาย

O แว่ว-นกค่ำหวีดก้อง - - - พร้อม-อีกเสียงหวีดร้อง
กลบสิ้นสรรพเสียง



ส่วน โคลง 3 แค่มีอีกวรรค 5 คำมาวางหน้า โคลง 2 แถมไม่มีกำหนด เอก โท อะไร มีแค่สัมผัสสระตัวท้ายวรรคบาทแรกมาตัวที่ 2 หรือ 3 หรือ 4 บาทสองเท่านั้น
ทำให้ไม่น่าสนใจนักสำหรับผู้เขียน





Create Date : 04 ตุลาคม 2558
Last Update : 29 กันยายน 2560 8:09:52 น. 3 comments
Counter : 5694 Pageviews.

 
ท่านสดายุครับ
ผมมีข้อสงสัยมาแต่เพรงกาลข้อหนึ่งครับ
(ขอแสดงความเขลาไว้ ณ ที่นี้ครับ ฮ่าๆๆ)

ข้อสงสัยนั้นคือ...
ตัวเลข ที่กำกับอยู่ในชื่อฉันทลักษณ์ประเภทโคลง
(เช่น โคลง "สอง" , โคลง "สาม" , โคลง "ห้า")
นับด้วยหลักเกณฑ์อันใดหรือครับ ?

ไฉนโคลง "สอง" มี "สาม" วรรค
และไฉนโคลง "สาม" มี "สี่" วรรค
โคลง "สี่" มี "สี่" บาท...นี่พอจะสอดคล้องกันอยู่ครับ
แต่พอมาดู โคลง "ห้า" ไยสั้นกว่าโคลงสี่เสียอย่างนั้น !?


โดย: ศารทูล IP: 202.28.250.99 วันที่: 4 ตุลาคม 2558 เวลา:16:43:02 น.  

 
ศารทูล ..

ผมเอามาจากวิกิพีเดียมาตอบละกัน มันน่าเชื่อถือที่สุดสำหรับการอ้างอิง ..

"...[โคลงนั้น] จะคิดแต่งเมื่อครั้งไรไม่ปรากฏ มีเค้าเงื่อนแต่ว่าโคลงนั้นดูเหมือนจะเป็นของพวกไทยข้างฝ่ายเหนือคิดขึ้น

มีกำหนดอักษรนับเป็นบาทสองบาท สามบาท สี่บาท เป็นบทเรียกว่าโคลงสอง โคลงสาม โคลงสี่

โคลงเก่า ๆ มีที่รับสัมผัสและที่กำหนดใช้อักษรสูงต่ำน้อยแห่ง แต่มามีบังคับมากขึ้นภายหลัง เห็นจะเป็นพวกไทยข้างฝ่ายใต้ได้รับอย่างมาแต่งประดิษฐ์เติมขึ้น..."

ไทยข้างฝ่ายเหนือ คือ ล้านนา (ภาคเหนือ) ล้านช้าง (ลาว ซึ่งในสมัยอยุธยาเป็นของไทยมาตลอด .. จนเสียไปเด็ดขาดให้แก่ฝรั่งเศสช่วงเสียดินแดนยุค ร.3-4-5)

ไทยข้่างฝ่ายใต้หมายถึงกลุ่มสยามรัฐ เริ่มจากราชวงศ์อู่ทอง สุพรรณภูมิ เป็นปฐม

โคลงห้า
เป็นคำประพันธ์ที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมเพียงเรื่องเดียว คือ ลิลิตโองการแช่งน้ำ ซึ่งเป็นวรรณกรรมร้อยกรองยุคแรกของไทย และไม่ปรากฏว่าต่อมามีกวีใช้โคลงห้าแต่งวรรณกรรมเรื่องใดอีกเลย

ในจินดามณี ฉบับพระโหราธิบดี กล่าวถึงโคลงห้าไว้เพียงยกตัวอย่างคำประพันธ์ชื่อ มณฑกคติโคลงห้า โดยไม่มีคำอธิบาย แต่ยกตัวอย่างที่สองว่าเป็น อย่างโคลงแช่งน้ำพระพัฒน์ ซึ่งก็คือ ลิลิตโองการแช่งน้ำ นั่นเอง

มีผู้พยายามอธิบายฉันทลักษณ์ของโคลงห้าอยู่หลายคนได้แก่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี (พ.ณ ประมวญมารค) พระยาอุปกิตศิลปสาร และจิตร ภูมิศักดิ์

คำอธิบายของ จิตร ภูมิศักดิ์ ค่อนข้างจะมีน้ำหนักมากกว่าข้อสันนิษฐานของคนอื่น โดยมีข้อสนับสนุนจากลักษณะโคลงลาวที่ปรากฏในวรรณคดีล้านช้างเรื่อง ท้าวฮุ่งท้าวเจือง

โดยจิตร อธิบายว่า โคลงห้าเป็นโคลงดั้นชนิดหนึ่ง มีบาทละ 5 คำ นิยมแต่งในอาณาจักรลาวล้านช้างยุคโบราณ ส่งสัมผัสแบบโคลงบาทกุญชร และอาจเพิ่มคำต้นบาท รวมทั้งมีสร้อยได้ทุกบาท ทั้งยังสามารถตัดใช้เพียงบทละ 2 - 3 บาท ได้เช่นเดียวกับโคลงลาวด้วย

อีกทั้งเมื่อจัดวางรูปแบบฉันทลักษณ์ตามที่จิตรเสนอ มีความเป็นไปได้ค่อยข้างมาก

ที่มา .. https://th.wikipedia.org/wiki/โคลง


โดย: สดายุ... วันที่: 4 ตุลาคม 2558 เวลา:17:48:17 น.  

 
ขอบพระคุณมากครับ


โดย: ศารทูล IP: 202.28.250.99 วันที่: 4 ตุลาคม 2558 เวลา:18:07:57 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สดายุ...
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 152 คน [?]









O สิ้นสวาดิ .. O





O ให้เราสองขาดกันแต่วันนี้
อย่าได้มีหัวใจอาลัยหา
ความรู้สึกอ่อนหวานมันด้านชา
ปรารถนาคงเหลือ .. เพียงเพื่อลืม

O อัสดงคต .. ดวงรพี .. คล้ายรีรอ
จะทอดทอสุรภาพ .. ให้ปลาบปลื้ม
ก่อนโอนแสงดาวกระพริบให้หยิบยืม
ไว้ร่วมดื่มด่ำงาม .. ยิ่งงามนั้น
O เงียบงันด้วยเยียบเย็น .. ใต้เพ็ญแข
สุดตาแลเหลียวไป .. ภาพไหวสั่น
คล้ายภาพพจน์อันตระการแห่งวานวัน
ค่อยบิดเบี้ยวแปรผัน .. เกินกั้นไว้
O คลื่นแสงพาดราศี .. สู่ชีวิต
โลมดวงจิตมุ่งมั่นกับฝันใฝ่
สุรภพอัมพร .. ผ่านตอนไป
สุมฟอนไฟนิรมิตเป็นสิทธา
O โลกราตรีรู้ผ่านแต่ด้านมืด
ให้เย็นชืดแห่งวิกาลเผยผ่านหา
โหมรอบหม่นหมองหมาง .. ให้ย่างมา
คลุมครอบอารมณ์คน .. อยู่อลเวง
O มีจันทร์แสงเรื่อรอง .. สู่คลองเนตร
คลายแววเลศกราก-รุมเข้ากุมเหง
ผ่านความหมายเร้ารัว .. บอกตัวเอง
ให้รุดเร่งถือสิทธิ์ .. ในจิตตน
O นิมิตใดกันเล่าที่เฝ้าหมาย
เช่นวิชชุรำร่ายกลางสายฝน
ฤๅผกายมณีน้ำ .. แสงอำพน
จักปลาบปนผ่องผาย .. สบสายตา ?
O งามเคยงาม .. ราววิชชุที่ลุแล่น
เมื่อห้อมแหนภาคโพยม .. เข้าโถมถา
แค่เพียงชั่วคาบยาม .. ก็ทรามทา-
ทาบแผ่นฟ้ามืดคล้ำ .. ร่วมรำบาย
O ใช่ผกายวิชชุ .. อันคุเพลิง
ที่จะเริงโรจน์เต้น .. ฟาดเส้นสาย
แต่เป็นมืดหม่นคล้ำ .. ค่อยกำจาย
ย้อนความหมายถ่ายช่วง .. บ่งท่วงที

O เฉกเช่นสายสาคร .. ไม่ย้อนกลับ
ผ่านเลยแล้วผ่านลับไม่กลับที่
ขาดกันเถิด .. ชิดเชยที่เคยมี
ตราบชั่วชีวาตม์จม .. ลงล่มลาญ !




Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.