มองทางโลกให้มองต่ำ มองทางธรรม ให้มองสูง ทางธรรม ขอเสนอ ให้มองเจ้าคุณนรฯเป็นแนวทาง
ข่าวจาก น.ส.พ.มติชนรายวันวันจันทร์ ที่ 8 มกราคม พ.ศ.2549 คอลัมภ์ พระเครื่อง งานบำเพ็ญกุศล36ปีวันมรณภาพเจ้าคุณนรฯวัดเทพศิรินทราวาส ร่วมกับมูลนิธิพระยานรรัตนราชมานิต(ตรึก จินตยานนท์)และโรงเรียนเทพศิรินทร จัดงานบำเพ็ญกุศลครบรอบ 36 ปี แห่งวันมรณภาพของพระเดชพระคุณพระยานรรัตนราชมานิต(ตรึก จินตยานนท์) หรือ ที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า"ท่านเจ้าคุณนรฯ(ธมมวิตกโก ภิกขุ) ในวันจันทร์ที่ 8 มกราคม นี้ ณ อุโบสถววัดเทพศิรินทราวาสกำหนดงานเริ่มเวลา 09.15 น.เป็นการแสดงพระธรรมเทศนาโดยพระบรมไตรโลกาจารย์ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เวลา 10.30 น.สวดพระพุทธมนต์ เสร็จแล้วเป็นการถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ จากนั้นเป็นการสวดบังสุกุล เป็นอันเสร็จพิธีในงานทำบุญทุกปีที่ผ่านมา จะมีศิษยานุศิษย์และผู้ที่มีความเคารพศรัทธาเลื่อมใสในพระเดชพระคุณ"ท่านเจ้าคุณนรฯ"ไปร่วมบำเพ็ญกุศลกันอย่างเนืองแน่น รวมทั้งมีผู้นำอาหารคาวหวานไปร่วมกันเปิดโรงทานให้ผู้ร่วมงานได้รับประทานอาหาร"ฟรี"อย่างทั่วถึงซึ่งในปีนี้ก็จะเป็นเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมาขณะเดียวกันสำหรับท่านที่สนใจหนังสือ"วิทยาศาสตร์การหายใจ"ซึ่งเป็นผลงานการแปลของ"ท่านเจ้าคุณนรฯ"และหนังสือ"100ปี ธมมวิตกโก ภิกขุ "ก็จะหาซื้อได้ภายในบริเวณงานนี้ ในราคาเล่มละ200บาท และ 300 บาทตามประวัติ"ท่านเจ้าคุณนรฯ"เกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2440 ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ปีระกา ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ วันมาฆบูชา ท่านได้บรรพชาอุปสมบท เพื่อ ถวายเป็นพระราชกุศลในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และ ได้อยู่ในเพศบรรพชิต ณ วัดเทพศิรินทราวาส ตลอดจนมาถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2514ด้านพระเครื่องของท่านเจ้าคุณนรฯ นับเป็นพระยอดนิยมอีกประเภทหนึ่งที่มีผู้แสวงหากันอย่างกว้างขวาง แม้ว่าพระเครื่องทุกรุ่นจะมิใช่เป็นการสร้างขึ้นมาของท่านเองก็ตาม ที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ "พระสมเด็จหลัง"อุ" ที่เช่าบูชากันถึงหลักแสนขึ้นไปถึงหลักล้านก็มี นอกจากนี้ก็มีเหรียญรุ่นแรก(หลังเต่า)รูปเหมือนใบโพธิ์ ปี 2512,2513 ซึ่งเป็นพระเครื่องที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของท่านเอง.....................................................................................................................................................ข่าวจากน.ส.พ.มติชนรายวัน วันอาทิตย์ ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10522ธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ ตอนที่ 1คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศโดย เสฐียรพงษ์ วรรณปกวันที่ 8 มกราคม 2549 เป็นวันครบรอบ 20 ปีแห่งวันมรณภาพของ ท่านธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ (พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต) วัดเทพศิรินทราวาส ผมมีโชคดี ได้รับหนังสือประวัติและโอวาทของท่าน จากศิษยานุศิษย์ของท่าน ขอขอบพระคุณมากครับเวลาเขียนถึงพระดี ผมมีความสุขใจอย่างประหลาด วันนี้ขอให้เป็นวันแห่งความสุขส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของผมสักวันเถอะครับผมเกิดทันหลวงพ่อท่านก็จริง แต่ไม่ได้พบปะศึกษาธรรมจากท่าน ได้รับทราบเรื่องราวของท่านจากปากคำของลูกศิษย์ท่านบางส่วน เคยได้แผ่นปลิวโอวาทของท่านที่เขียนโดยลายมือที่สวยงาม บอกวิธีปฏิบัติตน (มีภาษาฝรั่งกำกับด้วย) รู้สึกกินใจ จึงเก็บไว้กับตัว ตอนนี้แผ่นปลิวนั้นหายไปแล้ว แต่ใจความของโอวาทนั้นยังก้องอยู่ในสมอง Let it go and get it out อะไรทำนองนี้สั้น ง่าย เข้าใจดี แต่ทำยากครับ จนป่านนี้ยังทำไม่ค่อยจะได้เลย!หลวงพ่อท่านนามเดิม ตรึก นามสกุลพระราชทานคือ จินตยานนท์ เกิดวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2440 เป็นบุตรพระนรราชภักดี และนางนรราชภักดี ท่านเรียนจบมัธยมศึกษาแล้ว มีความประสงค์จะเรียนแพทย์ อยากเป็นหมอรักษาผู้ป่วยไข้ให้หายจากทุกขเวทนา แต่บิดาต้องการให้เป็นนักปกครองเพื่อปฏิบัติตามความประสงค์ของบิดา ทั้งที่ไม่ค่อยชอบ ท่านจึงเข้าเรียนวิชารัฐประศาสนศาสตร์ จบเป็นบัณฑิตจุฬาฯรุ่นแรก และท่านสอบได้ที่หนึ่งของรุ่นด้วยเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงตั้งกองอาสาสมัครเสือป่าและลูกเสือขึ้น ท่านได้สมัครเข้าเป็นเสือป่าเพื่อเรียนวิชาการรบไว้ป้องกันประเทศชาติ ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6 ทอดพระเนตรเห็นท่านรูปร่างเล็ก รับสั่งถามว่า ตัวเล็กๆ อย่างนี้ ถูกข้าศึกทำร้ายจะสู้ไหวหรือ ท่านกราบทูลว่า "ต้องลองสู้กันก่อน สู้ได้หรือไม่ได้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง" ทรงพอพระทัยมาก โดยเฉพาะทรงทอดพระเนตรเห็นแววตาท่าน ทรงชมว่าเป็นแววตาคนซื่อสัตย์มาก จึงรับสั่งว่า "เรียนจบแล้วมาอยู่กับข้าเถิด"ท่านมีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯถวายบริการรับใช้ใกล้ชิด โดยรับราชการในกองมหาดเล็กตั้งเครื่อง กรมมหาดเล็กรับใช้ตำแหน่งมหาดเล็กพิเศษ อายุ 18 ปี และได้รับพระราชทานนามสกุลว่า "จินตยานนท์" ดังกล่าวแล้วหลวงพ่อมีความรู้พิเศษคือโหราศาสตร์ โดยเฉพาะการดูลายมือ เล่าว่า ท่านดูลายมือให้คุณหญิงท่านหนึ่งในวังแม่นยำจนเป็นที่เลื่องลือ ด้วยความสนใจในวิชานี้ ท่านขออนุญาตเจ้าคุณพัสดีฯเรือนจำเข้าไปดูลายมือนักโทษที่จะถูกประหาร เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงของวิชานี้เล่าว่า ท่านได้แอบเห็นลายมือของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดเทพศิรินทร์ ขณะถวายของ จึงตั้งใจอยากจะบวชเป็นศิษย์เจ้าประคุณสมเด็จฯ เพราะเลื่อมใสในบุคลิกลักษณะของเจ้าประคุณสมเด็จฯเมื่อวันถวายพระเพลิงพระบรมศพของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6 ท่านได้บวชอุทิศถวายพระราชกุศลที่วัดเทพศิรินทราวาส โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายาว่า ธมฺมวิตกฺโก แปลว่า ผู้ตรึกธรรม เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2468พรรษาแรกเมื่อท่านไปรับบิณฑบาตโปรดญาติโยม กลับมาก็นำอาหารบิณฑบาตนั้นไปถวายสมเด็จพระอุปัชฌาย์ทุกครั้ง ท่านรู้ว่าในชีวิตของท่านที่ก้าวหน้ามาถึงขั้นนี้ เพราะได้กัลยาณมิตรเป็นผู้ช่วยเหลือทั้งทางโลกและทางธรรมในทางโลกนั้นได้ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6 ทรงเป็นกัลยาณมิตร ในทางธรรมมีสมเด็จพระอุปัชฌาย์พร่ำสอนหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอริยสัจ 4 จนท่านเห็นความจริงว่า ชีวิตมีความทุกข์ซ้อนอยู่ในความสุขนั้น เมื่อนำมาเปรียบกับชีวิตของท่านที่ผ่านมา เห็นได้ชัดเจนว่า ชีวิตเป็นทุกข์อย่างแท้จริง และอยากจะใฝ่หาความพ้นทุกข์ท่านจึงตัดสินใจไม่ลาสิกขาเมื่อโยมบิดาท่านบวชที่วัดโสมนัส ท่านขอร้องไม่ให้หลวงพ่อมาเยี่ยมท่านที่วัดเทพศิรินทร์ เพราะตามวินัยสงฆ์นั้น ผู้มีพรรษาน้อยกว่าจะต้องกราบไหว้ภิกษุผู้มีพรรษามากกว่า ท่านไม่อยากให้บิดาของท่านกราบไหว้ท่าน ท่านต้องการเทิดทูนเคารพบูชาคุณของหลวงพ่อท่านไว้เหนือเกล้า แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการียิ่งนักท่านปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด ไม่ย่อมล่วงละเมิดศีลแม้แต่เรื่องเล็กน้อย ท่านไม่ยอมออกไปนอกวัดเลย หากอยู่ปฏิบัติบำเพ็ญสมาธิภาวนาในกุฏิภายในวัด แม้กระทั่งเวลาหลวงพ่อท่านอาพาธ และโยมมารดาเจ็บป่วย ก็มิได้ไปเยี่ยม แต่ให้คุณตริน้องชายท่านดูแลแทน และได้เขียนข้อธรรมะฝากให้ลูกหลานไปอ่านให้ฟังเสมอท่านลงทำวัตรสวดมนต์ทุกวันไม่ขาด มีครั้งเดียวเท่านั้นที่ท่านไม่ได้ลงสวดมนต์ เพราะถูกงูกัด ท่านลงสรงน้ำหลังกุฏิ มืดมากจนมองไม่เห็นงู เหยียบมันเข้าเลยโดยมันกัด วันหนึ่งท่านถูกคางคกไฟกัด ว่ากันว่าคนที่ถูกคางคกไฟกัดเสียชีวิตได้ง่ายๆ แต่แปลกที่ท่านไม่เสียชีวิต คืนนั้นเท้าบวมมาก ความปวดค่อยเพิ่มขึ้นๆ ถึงหัวใจ ท่านพยายามเอาผ้ารัดเข่าซ้ายไว้ให้แน่น และขับไล่ความเจ็บปวดนั้น ต่อสู้กับทุกขเวทนาด้วยความอดทนตลอดคืนยันรุ่ง จนสว่างอาการปวดค่อยทุเลาลง สามารถลงโบสถ์ได้ท่านป่วยเป็นโรคมะเร็งกรามช้าง ท่านไม่ยอมไปหาหมอ ใช้อำนาจจิตรักษา ทนต่อทุกขเวทนา นับว่าท่านมีขันติธรรมเป็นเลิศ ท่านมิใช่คนที่แข็งแรง แถมยังฉันอาหารมื้อเดียว ฉันอาหารน้อยที่สุด แต่ก็ประหลาด ท่านกลับมีพลังแข็งแรง ยิ่งพลังจิตแล้วต้องนับว่าท่านมีสมบูรณ์เต็มที่ เพราะอำนาจพลังจิตนี้เอง ที่ท่านได้อาศัยเยียวยาร่างกายยามเจ็บป่วย โรคมะเร็งแทนที่จะลุกลามอย่างรวดเร็ว ก็สามารถสกัดไว้ได้ ถึงแม้จะไม่หายขาด แต่ก็ไม่ก่อทุกขเวทนามากท่านบอกว่า เมื่อตัดสินใจปฏิบัติทางจิตแล้ว ก็ต้องทำให้ได้โดยอาศัยอำนาจจิตรักษา เมื่อรักษาไม่ได้ก็ต้องตายไป ไม่ขออาศัยยาแก้เจ็บไข้ คนที่ปฏิบัติทางจิตนี้ต้องการสังขารเพียงเพื่อจะได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมต่อเท่านั้น ไม่ต้องการสังขารที่สุกใสเปล่งปลั่ง ท่านพูดเสมอว่า "ช้างพี ฤๅษีผอม"สุภาษิตคำกลอนที่ท่านยกมาสอนตนและคนอื่นเสมอคือ "อุทานธรรม" (ที่ท่านเจ้าคุณพระศาสนโศภน แจ่ม จตฺตสลฺโล ได้มอบให้ท่านนานแล้ว) ความว่าถึงกายแพ้แต่ใจเราไม่แพ้ใจไม่แก่เจ็บตายตามกายหนากายนี้มันจะเน่าเราก็ลาไปสวรรค์ชั้นฟ้านิพพานเอยเช้าวันศุกร์ที่ 8 มกราคม 2514 ท่านบอกว่าวันนี้จะไม่ลงอุโบสถทำวัตร การที่ท่านไม่ลงอุโบสถทำวัตรเป็นเรื่องใหญ่ เพราะท่านเคยพูดว่า ถ้าท่านขาดทำวัตรสวดมนต์เมื่อใด แสดงว่าท่านจะมรณภาพ จนกระทั่งประมาณ 20.00 น. คุณหมอไพบูลย์ บุษปธำรง ซึ่งไปชำระแผลให้ท่านประจำ ขึ้นกุฏิไป ไปตรวจชีพจรท่าน ก็รู้ว่าท่านได้ถึงแก่มรณภาพแล้วตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00 น.ธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ พุทธสาวกผู้เคร่งครัด ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ได้ละโลกนี้ไปแล้วเมื่ออายุได้ 74 ปีธมฺมวิตกฺโก "ผู้ตรึกธรรม, ผู้ไตร่ตรองธรรม, ผู้เห็นแจ้งธรรม" เราปุถุชนไม่รู้ดอกว่าท่านได้บรรลุธรรมขั้นใด และไม่ต้องเดา ไม่ต้องถาม เพราะท่านเองย่อมรู้ด้วยตัวท่านเอง คนอื่นไม่เกี่ยวคุณชายคนดังเคยเอ่ยถามท่านว่า ท่านเป็นพระอรหันต์หรือไม่ หลวงพ่อดึงหูท่านผู้นั้นมาใกล้ๆ แล้วพูดกรอกหูว่า "ไอ้บ้า"ชัดถ้อยชัดคำจังครับ ......................................................................................................................................................ข่าวจากน.ส.พ.มติชนรายวัน วันอาทิตย์ ที่ 07 มกราคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10529คุณธรรมของหลวงพ่อ "ธมฺมวิตกฺโก" ตอนที่ 2คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศโดย เสฐียรพงษ์ วรรณปกอาทิตย์ที่แล้ว ได้เขียนถึงหลวงพ่อพระนรรัตนราชมานิต หรือหลวงพ่อธัมมวิตักโกเพื่อรำลึกถึงพระเดชพระคุณหลวงพ่อในโอกาสวันครบรอบ 100 ปี แห่งวันมรณภาพของท่านจบด้วยประโยคลือลั่นที่เล่าขานกันทั่วไป "ไอ้บ้า" ต่อคำถามว่า "ท่านเป็นพระอรหันต์หรือเปล่า"แปลกนะครับ คนไทยสมัยนี้ มักให้ความสนใจพระเกจิอาจารย์ดังๆ กันทั่วไป ถึงกับจัด "ทัวร์" (เรียกอย่างนั้นก็ไม่ผิด) ไปไหว้พระที่ตนเข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์กันทั่วไป ไปถึงก็พากันกราบๆ ไหว้ๆ บ้างก็เดินชมโน่นชมนี่ตามความพอใจแล้วก็กลับน้อยนักที่จะนั่งสนทนาธรรมจากพระท่าน รับเอาโอวาทท่านไปปฏิบัติเพื่อเกิดประโยชน์แก่ชีวิต อย่างที่ท่านพุทธทาสว่า "คนสมัยนี้เอาแต่ไหว้ พอบอกให้ประพฤติธรรมก็กำหู"ยิ่งผู้ที่สนใจอยากจะรู้ว่า ก่อนที่พระท่านจะมาถึง "จุดนี้" เป็นที่เคารพนับถือกันโดยทั่วไป ท่านได้ฝึกฝนฝึกปรือตนเองมาอย่างใดบ้างจุดนี้ต่างหากที่ให้แง่คิด และแบบอย่างแก่ผู้สนใจปฏิบัติตนหลวงพ่อธัมมวิตักโก ท่านได้ฝึกฝนตนเองอย่างเข้มงวดตลอดชีวิตของท่าน แม้ร่างกายท่านจะอ่อนแอ ถูกโรคร้ายรบกวน ไม่ใช่โรคธรรมดา หากเป็นโรคมะเร็ง ที่เมื่อกำเริบแต่ละครั้งก็ก่อทุกขเวทนาเป็นอย่างมาก หลวงพ่อปฏิเสธการพยาบาลรักษาแผนใหม่ท่านรักษาด้วยพลังจิตขงท่านเอง และด้วยอำนาจพลังจิต ท่านก็สามารถสู้กับโรคร้ายได้ หลายท่านอาจคิดว่า ท่านแพ้แก่โรคร้าย ใช่ ในที่สุดท่านก็มรณภาพเพราะโรคร้ายนั้น แต่จิตใจท่านมิได้แพ้ ชนะเสียด้วยซ้ำท่านสามารถแยกนามขันธ์ของท่านออกจากรูปขันธ์ได้ พ้นจากความทุกข์แห่งรูปขันธ์ รูปขันธ์มันจะสลายไปตามธรรมดาของมันก็ปล่อยให้มันสลายไป เพราะท่านละความปรารถนาที่จะอาศัยร่างนี้ต่อไปแล้วกลอนบทนี้ จะเป็นเครื่องยืนยันคำกล่าวนี้อย่างดีถึงกายแพ้แต่ใจเราไม่ยอมแพ้ใจไม่แก่เจ็บตายตามกายหนากายนี้มันจะเน่าเราก็ลาไปสวรรค์ชั้นฟ้านิพพานเอยท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ผู้ล่วงลับ ได้พรรณนาคุณธรรมของหลวงพ่อไว้ครอบคลุมมาก รวมทั้งหมด 9 ข้อด้วยกัน ผมขอสรุปเท่าที่กระดาษจะอำนวยดังนี้1.ท่านมีคุณธรรามเป็นที่ยกย่องของกษัตริย์ถึงสามรัชกาลพระมหากษัตริย์ทั้งสามพระองค์คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 พระราชทานบรรดาศักดิ์และตำแหน่งสำคัญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ทรงแต่งตั้งท่านเป็นองคมนตรี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จไปเป็นประธานในงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน2.อยู่ในวัดในกรุงให้ผลเท่ากับอยู่ในป่าท่านได้ปฏิวัติความเชื่อถือและความคิดอ่านของคนทั่วไปที่ว่า ถ้าจะบวชหาความสงบควรอยู่ในดงในป่า สงบสงัดจากสิ่งรบกวนภายนอก จึงจะได้ผลตามมุ่งหมาย ท่านทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ว่า ไม่ต้องไปอยู่ในป่าเลย บวชอยู่ในกรุงเทพฯนี้แหละ ขอให้เป็นคนทำอะไรทำจริงเสียอย่างเดียว จะแก้ปัญหาต่างๆได้หมด กุฏิของท่าน ถ้าไม่เปิดรับใคร ก็จะมีสภาพเหมือนป่าดงพงพีไปเอง ภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกามากมายในวัดเทพศิรินทราวาส ก็มิได้เป็นเครื่องขัดขวางการบำเพ็ญเพียรทางจิตเพื่อแสวงหาความสงบแต่ประการใด3.เป็นอยู่อย่างง่ายๆท่านครองชีวิตสมณะอย่างเรียบง่าย มีสมบัติน้อยที่สุด ชีวิตของท่านจึงเบา สบายเช่น ในเรื่องอาหาร ท่านฉันเพียงมื้อเดียว ฉันมังสวิรัติเช่น ถั่วนึ่งแล้วบด ใบไม้ เช่นใบฝรั่งบด โดยเฉพาะในวันพระ ท่านฉันเพียงกล้วยน้ำว้าเพียงอย่างเดียว โดยมีคุณตริ น้องชายท่านคอยทำถวาย เคยมีผู้ศรัทธานำอาหารไปถวายท่าน ท่านก็รับเป็นการสงเคราะห์เขา แล้วบอกให้เขานำไปถวายพระรูปอื่น สุดแต่เขาจะพอใจถวายรูปไหนในเรื่องผ้านุ่งห่ม ท่านใช้ผ้าเพียงสามผืน แม้ใครจะนำผ้าไตรจีวรไปถวาย ท่านก็รับเพื่ออนุเคราะห์เขา เมื่อรับแล้วก็คืนให้เขานำไปถวายพระรูปอื่น ท่านไม่ใช้ไฟฟ้า ไม่ใช้รองเท้า เพราะการเดินทางของท่านมีอยู่เพียงระหว่างกุฏิกับพระอุโบสถเท่านั้นซึ่งห่างกันไม่เกิน 80 เมตรเรื่องที่อยู่อาศัยก็อยู่ง่ายๆ กุฏิเป็นตึกแถวแบ่งเป็นห้องๆ เฉพาะรูป ไม่รับแขกในกุฏิใครมีธุระจำเป็นจริงๆ มาขอให้เป็นที่พึ่งทางใจ ท่านก็อาจยืนพูดด้วยผ่านหน้าต่างลูกกรงชั้นล้างบ้าง ชั้นบนบ้าง ส่วนใหญ่ก็สอนให้เขาอยู่ในความสงบ อยู่ในศีลธรรม4.ทำอะไรทำจริงท่านทำอะไรทำจริง เช่นลงโบสถ์สวดมนต์เช้าเย็นไม่ขาด ลงฟังพระธรรมเทศนาในวันพระเช้าเย็นไม่ขาด ไม่แสดงอาการเบื่อหน่าย ท่านทำอย่างนี้ติดต่อกันมายาวนานไม่เคยขาด เท่าที่ทราบตลอดชีวิตของท่าน ท่านขาดลงโบสถ์สวดมนต์เพียงครั้งเดียวเนื่องจากถูกงูกัด และขาดอีกครั้งก็คือวันถึงแก่มรณภาพของท่าน5.สามารถควบคุมกายได้ท่านสามารถควบคุมกายของท่านโดยใช้หลัก 2 ประการคือ อาศัยการบริหารกายอย่างหนึ่ง อาศัยการบริหารจิตอย่างหนึ่งวันหนนึ่งหลังกลับจากฟังเทศน์ในวันพระ รู้สึกว่ากายท่านซีกซ้ายหมดแรง คล้ายจะเป็นอัมพาต ทรงตัวเดินต่อไปไม่ได้ ท่านมีสติทรุดลงนั่ง เอามือขวาคลำหัวใจ ตรวจดูชีพจรยังเต้นดี จึงใช้ directing the Circulation (อำนวยการหมุนเวียน) ให้มาทางซีกซ้าย ต่อมาค่อยๆ ร้อนขึ้นจากปลายนิ้ว และร่างกายซีกซ้ายค่อยๆ อุ่นขึ้นเป็นปกติ แล้วก็เดินขึ้นห้องได้6.สามารถควบคุมจิตเมื่อได้รับทุกขเวทนาทางกาย ซึ่งจะส่งผลคือความกระวนกระวายไปยังจิต ท่านสามารถควบคุมจิตท่านมิให้กระสับกระส่าย เข้าลักษณะว่า "เมื่อกายเดือดร้อน จิตของเราจะไม่เดือดร้อน" ด้วยการใช้อำนาจทางจิตนี้เอง ท่านสามารถควบคุมความเจ็บปวดทางกายได้ เมื่อคราวถูกงูกัด และถูกคางคกไฟกัด ท่านใช้อำนาจจิตขับไล่ความเจ็บปวดได้ อาการบวมพองก็ยุบลงได้7.ไม่แสดงความยิ่งใหญ่ ไม่เรียกร้องอภิสิทธิ์เหนือผู้อื่นคนที่มียศศักดิ์ทั่วไป แม้จะบวชแล้ว ก็ยากจะตัดความยึดมั่นถือมั่นและทิฐิมานะให้หมดสิ้นไปได้ เป็นที่อัศจรรย์ว่า หลวงพ่อธัมมวิตักโก ไม่มีอาการเหล่านี้เลย คุณตริเคยเล่าว่าสมัยท่านเป็นคฤหัสถ์ เป็นพระยาพานทองแล้ว ท่านนั่งรถลาก พอมืดๆหน่อย ท่านให้คนจีนนั่งรถแทนท่าน ท่านเป็นผู้ลากเสียเอง เมื่อถึงจุดหมายปลายทางแล้ว กลับให้เงินคนจีนลากรถอีกเมื่อท่านบวชแล้ว ท่านไม่แสดงว่าท่านเคยเป็นพระยาพานทองมาก่อน เข้ากับพระเณรทั่วไปได้อย่างดี แสดงความเคารพตามลำดับอาวุโส8.เป็นนักปฏิบัติผู้ส่งเสริมปริยัติคือการศึกษาเล่าเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นเสมอคือ พระผู้เป็นนักปฏิบัติก็จะตำหนิผู้เล่าเรียนตำรับตำราว่า ไม่สนใจปฏิบัติจึงไม่รู้ของจริง ผู้เป็นนักปริยัติก็จะตำหนิผู้ปฏิบัติว่า ไม่สนใจหลักวิชาการ อธิบายธรรมะเอาตามชอบใจ แต่ท่านธัมมวิตักโก เป็นนักปฏิบัติที่อิงอาศัยปริยัติ คือเล่าเรียนศึกษาตลอดเวลา ท่านฟัง ท่านอ่าน ท่านไม่รังเกียจว่าผู้เทศน์ในโบสถ์นั้นเป็นเพียงพระผู้น้อย มีความรู้น้อย ท่านฟังด้วยความเคารพ แม้ผู้เทศน์จะอธิบายผิดหลัก ท่านรู้ว่าไม่ถูก ท่านก็ไม่ว่าอะไร หากคิดเอามาเป็นแง่มุมสำหรับปฏิบัติให้จนได้9.เป็นที่รวมแห่งคุณธรรม ท่านประพฤติธรรมหลายอย่าง บรรดาที่นับว่าดีงามเช่น เป็นผู้มีกตัญญูกตเวทิตาธรรมอย่างสูง เป็นผู้มีเมตตากรุณาสูงยิ่ง และเป็นพยานแห่งการใช้พลังทางจิตให้เป็นประโยชน์ท่านแสดงออกซึ่งความเป็นผู้กตัญญูกตเวทีอย่างสูง เช่นโยมมารดา บิดา ยาย น้าผู้หญิง หม่อมยาย ผู้เคยเลี้ยงดูท่าน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระอุปัชฌายะ โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 คุณธรรมข้อนี้เป็นตัวอย่างแก่บุคคลทั่วไปอ่านเรื่องราวของหลวงพ่อแล้ว ทำให้ได้คิดว่า ความเก่งหาได้ด้วยการตั้งใจศึกษาเล่าเรียน แต่ความดียิ่งเรียนก็ยิ่งหาไม่เจอต้องฝึกปฏิบัติเองครับ หลวงพ่อธัมมวิตักโกเป็นแบบอย่างของพระดีแท้จริง