<<
สิงหาคม 2553
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
20 สิงหาคม 2553

วิถีชีวิตชุมชนบ้านยาง ก้าวย่างตามพระราชดำริ

..

“สมัยก่อน ชาวจีนที่เดินทางกลับประเทศไป มองพวกเราว่า เป็นไงล่ะ มาอยู่เมืองไทย ต้องเป็นคนอพยพไม่มีสัญชาติ

... แต่พวกเราก็บอกไปอย่างภูมิใจเลยว่า ในหลวงพระราชทานสัญชาติไทยให้กับพวกเรา

... มีโครงการหลวง ช่วยให้พวกเราได้ประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้




... จนถึงวันนี้ ชาวบ้านยางทุกคน ภูมิใจที่ได้เป็นคนไทย และพวกเราทุกคนรักพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

.

.

“ความงดงามที่ซ่อนตัว”


ก่อนสายลมเย็นแห่งเหมันตฤดูพัดจากไปในปลายกุมภาพันธ์
ผมตั้งใจเอาไว้ว่า จะออกเดินทางท่องเที่ยวทางภาคเหนือส่งท้ายเดือนแห่งความรักสักหน่อย

เมื่อโจทย์หลัก คือ ภาคเหนือ ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องยากเย็นอะไรสำหรับภูมิภาคที่เต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวให้เลือกมากมาย
... แต่การเดินทางครั้งนี้ ผมเพิ่มโจทย์รองอีก 2 ข้อ

ข้อแรก ผมได้ชมรายการสารคดีเฉลิมพระเกียรติรายการหนึ่ง ซึ่งเป็นการกระตุ้นแรงบันดาลใจ อยากไปสัมผัสใกล้ชิดกับแหล่งท่องเที่ยวที่มีความเกี่ยวเนื่องกับโครงการในพระราชดำริ

ข้อสอง กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ผมประทับใจมากกับสถานที่ท่องเที่ยวแนววิถีชีวิตชุมชนอย่างหมู่บ้านวาวี จังหวัดเชียงราย เหตุผลข้อนี้ จึงบังคับให้ผมต้องหาแหล่งท่องเที่ยวซึ่งห่างไกลจากความเป็นเมืองอีกครั้ง


การเดินทางมุ่งสู่หมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่ง ในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ จึงเริ่มต้นขึ้น

.
.


นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ คงรู้จักอำเภอฝางกันเป็นอย่างดี จากชื่อเสียงความงดงามของธรรมชาติในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม
อย่างดอยอ่างขาง หรือดอยผ้าห่มปก


แต่ผมเชื่อว่า นักท่องเที่ยวอีกหลายคนอาจยังไม่ทราบ
ว่าก่อนถึงดอยอ่างขางราว 18 กิโลเมตร จากเส้นทางหลักบริเวณแยกอ่างขาง ลัดเลาะถนนสายรอง
ผ่านพื้นที่เกษตรกรรมกว้างใหญ่ เข้าไปอีกประมาณ 9 กิโลเมตร

... มีหมู่บ้านซุกซ่อนตัวอยู่ใต้เงาแห่งขุนเขา อันเต็มไปด้วยเสน่ห์ รอคอยให้นักเดินทางเข้าไปสัมผัส

.

ความโดดเด่นของหมู่บ้านแห่งนี้ ไม่ใช่ความงดงามตระการตาของธรรมชาติ

หากแต่เป็นความงดงามของวิถีชีวิตในชุมชนที่ผสมผสานวัฒนธรรมหลากหลาย ทั้งพุทธ มุสลิม และคริสต์ โดยอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

นอกจากนี้ ยังเป็นความงดงามในความเรียบง่ายของวิถีชีวิตที่ดำเนินตามแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และเปี่ยมล้นไปด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

ซึ่งผู้มาเยือนสัมผัสได้ทุกย่างก้าว
หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ มีชื่อว่า “บ้านยาง”


.
.


“บ้านยาง เกสต์เฮ้าส์ : ราคาเบาๆ มิตรภาพหนักแน่น”


บ้านยางเป็นเพียงหมู่บ้านเกษตรกรรมเล็กๆ ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม
แต่สถานที่แห่งนี้ ก็มีที่พักรองรับนักเดินทางผู้มาเยือนให้เลือก ทั้งรูปแบบโฮมสเตย์ และเกสต์เฮ้าส์

ผมสืบค้นหาข้อมูลที่พักในหมู่บ้าน จนกระทั่งไปเจอ “บ้านยางเกสต์เฮ้าส์” (banyangguesthouse.com)




ซึ่งตอนแรกก็ลังเลใจอยู่บ้าง เนื่องจากภาพถ่าย และรายละเอียดที่ได้มา ยังขาดความน่าสนใจ หรือแรงดึงดูดชนิดที่เห็นแล้วอยากเก็บกระเป๋าเข้าไปพักทันที

... แต่ทว่าเมื่อลองได้ติดต่อกับผู้เป็นเจ้าของแล้ว ผมก็ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

.

น้ำเสียงทางโทรศัพท์ของ “ชาญชัย จารุวรกุล” หนุ่มใหญ่เจ้าของกิจการ นอกจากเต็มไปด้วยความเป็นมิตรแล้ว ยังแฝงไปด้วยความสุภาพ อ่อนน้อม และแสดงถึงความเต็มใจให้บริการแขกผู้กำลังจะไปเยือน

เมื่อเดินทางไปจนถึงที่หมาย ชาญชัย นำผมไปชมห้องพัก ซึ่งเป็นแบบชาวจีนยูนนาน

ในห้องนั้น มีเตียงนุ่มๆพร้อมผ้านวมสีสันสดใสสะอาดสะอ้าน และมีห้องน้ำในตัว พร้อมเครื่องทำน้ำอุ่น


ด้วยความเรียบง่ายของห้องพักนั้น ทำเอาผมรู้สึกได้ย้อนบรรยากาศกลับไป ในสมัยยังเป็นนักศึกษาหอพักอีกครั้ง
(ย้อนไปหลายปีเชียวล่ะครับ - -“)

.
.

ราคาห้องพักที่บ้านยางเกสต์เฮ้าส์ นับว่ามีราคาถูกมาก
ชนิดที่ค่าตั๋วชมภาพยนตร์ในโรง 3 มิติยังแพงกว่า

แต่เมื่อเทียบกับไมตรีจิต – service mind ที่ชาญชัยมีต่อลูกค้านั้น กลับตรงข้ามกับราคา จนไม่อาจตีมูลค่าเป็นตัวเงิน


ด้านความเรียบง่ายในบรรยากาศของบ้านยางเกสต์เฮ้าส์ ก็นับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง

... บ้านชั้นเดียวทรงจีนยูนนาน 1 หลัง แบ่งออกเป็นห้องพัก 2 ห้อง โต๊ะไม้หน้าห้อง ถูกใช้เป็นที่ตั้งของกระติกน้ำร้อน ชา กาแฟ

ขณะที่ฝั่งหน้าต่างห้องพักของผม มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ประดับไว้

ส่วนลานปูนกว้าง หน้าห้องพัก ถูกจัดเป็นพื้นที่ให้แขกได้นอนเล่นชมดาวใต้ลมหนาวยามค่ำคืน

..

อัตราค่าที่พักของบ้านยางเกสต์เฮ้าส์ จะเพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง หากลูกค้าเลือกที่พักพร้อมอาหาร (มื้อ เช้า-เย็น)

โดยอาหารที่ว่านี้ เป็นเมนูอาหารง่ายๆแบบจีนยูนนาน ปรุงโดยแม่ครัวมือวางอันดับหนึ่งของบ้าน ซึ่งก็คือ คุณแม่ของชาญชัยนั่นเอง

ส่วนตัว ผมคิดว่า การเลือกที่พักพร้อมอาหารนั้นคุ้มค่า เพราะการทานอาหารแต่ละมื้อ เป็นรูปแบบโฮมสเตย์ นั่งทานกันไป พูดคุยกันไป ไม่ต่างจากการนั่งทานข้าวอยู่กับครอบครัว

ในแต่ละมื้อ ผม กับ ชาญชัย ต้องจัดการอาหารละลานตาบนโต๊ะ ส่วนคุณแม่นั้น ขอตัวไปนั่งบนโซฟาข้างๆแทน เนื่องจากท่านปวดหลัง และเพื่อจะดูทีวีได้สะดวกกว่า ... ซึ่งรายการที่คุณแม่ของชาญชัย เปิดดูส่วนใหญ่ มักเป็นละครที่รับสัญญาณมาจากฮ่องกงบ้าง จากจีนแผ่นดินใหญ่บ้าง




ผมใช้ตะเกียบพุ้ยข้าวเข้าปากไป ดูทีวีช่องภาษาจีนไป ... ก็ได้บรรยากาศราวกับอยู่เมืองจีนไปโดยปริยาย

(นี่ถ้ายกเท้าซักข้าง ขึ้นมาบนเก้าอี้ด้วย ... ใช่เลย)



อย่างไรก็ตาม ในคืนวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์

บรรยากาศการทานมื้อค่ำ จะกลับมาเป็นเมืองไทยอีกครั้ง เพราะคุณแม่ของชาญชัย เปิดดูเฉพาะ “เจ้าฮะ”

.

.

แม้ว่า “ชาญชัย” ไม่ได้เรียนจบมาทางด้านการโรงแรม และกิจการที่พักก็เป็นเพียงเกสต์เฮ้าส์ขนาดเล็กเรียบๆง่ายๆ แบบครอบครัว

แต่สิ่งทดแทน คือ มิตรภาพอันแสนประทับใจ

การเดินเที่ยวชมหมู่บ้านเล็กๆในช่วงเวลาวันสองวัน ผมจึงแทบไม่ต้องวางแผนอะไรมาก เพราะชาญชัยอาสามาเป็นมัคคุเทศก์ประจำตัวให้ และพาผมไปรู้จักกับสถานที่ ผู้คน และวิถีชีวิตของบ้านยางแทบจะทะลุปรุโปร่ง โดยไม่คิดค่าบริการเพิ่มเติมซักบาท


เมื่อพูดถึงวิถีชีวิตแห่งชุมชนบ้านยาง หมู่บ้านเล็กๆ เป็นที่ตั้งของ “โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง)” หรือที่เราคุ้นเคยในชื่อผลิตภัณฑ์ “ดอยคำ”

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากนักเดินทางทุกคนที่มาเยือนจะรับรู้ได้ ว่าชาวบ้านที่นี่ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากเพียงใด


โดยก่อนจะไปชมโรงงานฯ และพิพิธภัณฑ์ฯ ซึ่งตั้งอยู่เชิงเขา ... ชาญชัย นำผมแวะเข้าไปในร้านสะดวกซื้อประจำหมู่บ้าน (ชาวบ้านเรียกกันว่า 7-Eleven บ้านยาง) เพื่อขอยืมภาพถ่าย ภาพหนึ่งจากเจ้าของร้านมาให้ผมดู

ภาพนั้นเป็นภาพในเดือนตุลาคม ปี 2549 ซึ่งเกิดเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ ทำลายบ้านเรือน เครื่องมือทำมาหากินของชาวบ้านในชุมชน ไม่เว้นแม้กระทั่งโรงงานหลวงฯ ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก

ดินโคลน ท่อนไม้ สายน้ำ ... พัดพาบ้านเรือนหลายหลังพังราบเป็นหน้ากลอง ความแรงของกระแสน้ำ ยังฉุดรถกระบะ และอุปกรณ์ขนาดใหญ่ในโรงงานหลวงฯ ให้ล่องลอยไปราวกับกล่องกระดาษ

แต่ทว่า สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้รับความเสียหาย
คือ เพิงไม้เล็กๆหน้าโรงงาน ... ซึ่งใช้เป็นที่ตั้งประทับ “พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ”

.

.

“โรงงานหลวง ที่ 1 (ฝาง)”


หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในเดือน ตุลาคม ปี 2549

พื้นที่โรงงานเชิงดอย ได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง โดยมีการซ่อมแซมในส่วนของโรงงาน ตลอดจนสร้างอาคารสิ่งก่อสร้างใหม่ เพื่อจัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการหลวง นั่นคือ “พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง)”

ชาญชัย นำผมขึ้นมาที่พิพิธภัณฑ์ โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งเป็นบัณฑิตจบใหม่จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชื่อ “กล้วยใต้” คอยเป็นผู้นำชมอีกคนหนึ่ง


รูปประกอบ – สื่อมัลติมีเดียสมัยใหม่ ในพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงฯ
แสดงการเคลื่อนไหวของเงา เพื่อให้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านกับโครงการหลวง


.
.

แม้พิพิธภัณฑ์ฯ แห่งนี้ จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีขนาดเล็ก
หากใครใช้เวลาเดินชมแบบผ่านๆ ก็อาจจะไม่เกินครึ่งชั่วโมงเท่านั้น

แต่การตกแต่งสถานที่ รวมถึงข้อมูลต่างๆที่จัดแสดง ก็มีมาตรฐานไม่เป็นรองพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ทั่วไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “จิตวิญญาณ” ของเรื่องราวต่างๆนั้น คงความเข้มข้นเข้าถึงอารมณ์ได้อย่างถ่องแท้ เพราะข้อมูลส่วนใหญ่ คือ การถ่ายทอดพระราชกรณียกิจ วิถีชีวิตของชาวเขา และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนผืนดินอันอุดมใต้เชิงดอยที่ชาวบ้านตั้งถิ่นฐาน

.

.

กล้วยใต้ นำผมเดินชมพิพิธภัณฑ์ฯ ไปพลางพร้อมกับเล่าเรื่องราวอันติดตรึงอยู่ในใจของชาวดอยทุกคน เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จมายังพื้นที่ภาคเหนือในครั้งแรกๆ

ผมเองเคยอ่านเรื่องเกี่ยวกับพระราชอารมณ์ขันของพระองค์ จาก FWD Mail บ้าง หรือจากเว็บบอร์ดต่างๆมาบ้าง แต่เมื่อได้มารับรู้เรื่องราวผ่านภาพถ่ายเก่าๆในพิพิธภัณฑ์ฯ ก็ยิ่งเพิ่มอารมณ์แห่งความซาบซึ้งขึ้นอีกเป็นเท่าทวี

กล้วยใต้เล่าว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเยือนเพื่อศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ชาวไทยภูเขา ทรงไม่แสดงพระองค์ว่าตนเองเป็นกษัตริย์ เพื่อไม่ให้ชาวเขารู้สึกเกร็ง

เมื่อชาวบ้านต่างก็ไม่เคยเห็นพระพักตร์ ว่า พระเจ้าแผ่นดิน มีหน้าตาเป็นเช่นไร จึงเกิดเหตุการณ์ที่กลายเป็นเรื่องเล่าที่ใครได้ฟัง ต่างก็ซาบซึ้งในพระราชจริยวัตรอันเรียบง่าย ไม่ถือพระองค์


หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ผู้ทรงติดตามสนองพระบรมราชโองการโครงการหลวง เขียนบันทึกเหตุการณ์ในครั้งนั้นเอาไว้ว่า ...

... ผู้ใหญ่บ้านลีซอ ไม่ทราบว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ จึงกราบทูลชวนด้วยภาษาง่ายๆว่า “ไปแอ่วบ้านเฮาบ่”

พระองค์เสด็จตามเข้าไป ในบ้าน ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่ และมุงหญ้าแห้ง ผู้ใหญ่บ้านก็เอาที่นอนเก่าๆมาปูสำหรับประทับ แล้วรินเหล้าทำเองใส่ถ้วยที่ไม่ค่อยจะได้ล้าง จนมีคราบดำๆจับ

หม่อมเจ้าภีศเดช ทรงรู้สึกเป็นห่วง จึงกระซิบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ควรจะทรงทำท่าเสวยก็พอ แล้วส่งถ้วยมาพระราชทานมาให้จัดการเอง

แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงดวดเอง กร้อบเดียวเกลี้ยง และรับสั่งภายหลังว่า “ไม่เป็นไร แอลกอฮอล์เข้มข้น เชื้อโรคตายหมด”





..

พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง) ตั้งอยู่ในหมู่บ้านอันห่างไกลจากตัวเมือง น้อยคนที่จะรู้จัก

แต่ทว่าสำหรับ “โครงการหลวง” เป็นสิ่งที่ใครหลายคนคุ้นเคยกันดี ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้มาไกลอย่างชาวต่างชาติ

ในวันที่ผมแวะไปชมพิพิธภัณฑ์ จึงได้เจอกับกลุ่มนักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวญี่ปุ่นของสถาบัน AIT

... สิ่งที่น่าปลื้มใจ คือ นักศึกษาสาวๆจากโตเกียวกลุ่มนี้ ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องโครงการหลวง และเดินทางมาเพื่อทัศนศึกษาถึงอำเภอฝางโดยเฉพาะ

แน่นอนว่า ... สาวๆแดนซากุระ อุตส่าห์มาเยือนประเทศเราทั้งที
... หนุ่มไทยใจดีอย่างผม ย่อมไม่อาจนิ่งดูดาย จึงช่วยทำหน้าที่เก็บภาพหมู่ไว้ให้เป็นที่ระลึกอย่างเต็มใจ

.

.

ไม่เพียงเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทย หรือชาวต่างชาติเท่านั้น ที่ได้เดินทางมาศึกษา หาความรู้จากพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวง

แต่ในบางโอกาส สถานที่แห่งนี้ ก็เป็นแหล่งศึกษาให้กับเด็กๆในหมู่บ้านบ้านยาง ได้รับรู้ความเป็นมาของท้องถิ่นที่ตนอาศัย


รูปประกอบ- กลุ่มนักเรียนรุ่นจิ๋วแห่งบ้านยาง เรียงแถวเดินตามคุณครูต้อยๆกลับไปโรงเรียน หลังจากการทัศนศึกษาพิพิธภัณฑ์


..

เยื้องกับพิพิธภัณฑ์ ห่างกันเพียงไม่กี่ก้าว มีอาคารไม้ผสมปูนหลังหนึ่งปลูกสร้างเอาไว้
หากมองผิวเผิน เราอาจคิดว่าเป็นร้านค้า หรือบ้านใครสักคน

แต่ในความเป็นจริง อาคารไม้ที่ตั้งเยื้องกับพิพิธภัณฑ์ คือ อาคารอันทรงคุณค่าของชุมชนบ้านยาง

เพราะอาคารหลังนี้ คือ สถานีอนามัย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกในตำบลแม่งอน เมื่อปี 2515

ในปัจจุบัน หมู่บ้านมีสถานีอนามัยหลังใหม่ไปแล้ว และสถานีอนามัยหลังนี้ ก็ได้รับความเสียหายมาก ในช่วงเหตุการณ์อุทกภัยปี 49

แต่ด้วยความสำคัญแห่งคุณค่าทางจิตใจของชาวบ้านที่มีต่อสถานีอนามัยพระราชทาน อาคารจึงยังคงได้รับการบูรณะซ่อมแซม และปรับเปลี่ยนเป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการแทน


แม้วันเวลาจะผ่านมาหลายปี การพัฒนาได้เปลี่ยนแปลงหลายๆสิ่ง

... แต่สถานีอนามัยพระราชทาน ยังคงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และเป็นสัญลักษณ์ที่ชาวบ้านทุกคนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

..

“โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง)” ในปัจจุบัน ยังคงต้องทำการตกแต่ง ซ่อมแซมเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย
แต่สำหรับกระบวนการผลิตนั้น สามารถเริ่มต้นทำงานได้ตามปกติแล้ว

บรรยากาศของโรงงาน หากมองจากภายนอก โดยไม่ทราบมาก่อนว่าสถานที่แห่งนี้ คือ โรงงานผลิตภัณฑ์ดอยคำ

เราอาจจะนึกไปว่า ที่นี่เป็นอาคารสำนักงาน โรงแรม หรือโรงเรียน เพราะความสวยงามและความสะอาดสะอ้าน แตกต่างจากภาพโรงงานอุตสาหกรรมที่เรามักคิดว่า จะต้องเต็มไปด้วยความวุ่นวาย หรือมีมลภาวะไม่เหมาะสม

.

.

ผมเดินตัดโรงงานหลวงฯ ไปเนินเขาด้านหลัง มีพื้นที่สำหรับใช้เป็นแปลงเกษตรสาธิต ที่นักท่องเที่ยวสามารถแวะเข้าไปชมได้

แม้แปลงเกษตรสาธิต ไม่ได้มีขนาดใหญ่โตกว้างขวาง ตรงกันข้ามเป็นเพียงแปลงสาธิตเล็กๆ พื้นที่ไม่น่าจะเกินไร่สองไร่
แต่ผมก็ชอบบรรยากาศของแปลงเกษตรตรงนี้ไม่น้อย

คนงาน 3-4 คนกำลังขะมักเขม้นอยู่กับการดายหญ้า ท่ามกลางแดดอ่อนๆยามบ่าย

... เสียงพูดคุย ทักทาย และรอยยิ้มระหว่างคนงานด้วยกัน บ่งบอกว่า ออฟฟิศกลางแจ้งแห่งนี้ พนักงานต่างมีความสุขในการทำงานอย่างแท้จริง

..

ราว 40 ปีที่แล้ว พื้นที่รอยต่อชายแดนไทย พม่า ในอำเภอฝาง ก็ไม่ต่างไปจากพื้นที่อื่นๆแห่งหุบเขายอดดอย ซึ่งอุดมไปด้วยไร่ฝิ่น การทำไร่เลื่อนลอย และการตัดไม้ทำลายป่า

... ชาวเขา รวมถึงชายจีนยูนนานอพยพ ต่างดำเนินชีวิตไปอย่างไร้ความมั่นคง

แต่ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างบูรณาการ และยั่งยืน

... “โครงการหลวง” จึงเกิดขึ้น และเป็นรากฐานแห่งชีวิตของชาวบ้านจนถึงปัจจุบัน



..


“โรงเรียนสอนภาษาจีน”

บ้านยางไม่มีโรงเรียนสามัญขนาดใหญ่ เด็กๆต้องเดินทางออกไปเรียนนอกหมู่บ้าน

แต่พื้นที่ริมหุบเขาไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์และโรงงานหลวง มีโรงเรียนสอนภาษาจีนขนาดเล็กที่มีชื่อว่า “โรงเรียนจงเจิง” ซึ่งเป็นแหล่งศึกษาภาษาจีนกลางให้กับเด็กๆในพื้นที่หมู่บ้านบ้านยาง และหมู่บ้านใกล้เคียง

โดยการเรียนการสอนภาษาจีนนั้น มีตั้งแต่ระดับเริ่มต้นของเด็กวัยประถม ไปจนถึงระดับนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 3

ตารางการเรียนในแต่ละวัน เริ่มต้นเวลา 6 โมงเย็น ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ ไปจนถึงเวลาสองทุ่ม และมีการเรียนการสอนในวันเสาร์อีกครึ่งวันเช้า

..

ผมเดินเข้าไปในโรงเรียนในเวลาเกือบ 6 โมงเย็น เด็กๆบางส่วนยังวิ่งเล่นอยู่ในสนามกลางโรงเรียน บางส่วนก็จับกลุ่มพูดคุยอยู่หน้าห้อง

แน่นอนว่า การที่มีไอ้หนุ่มผมยาว สะพายกล้อง หน้าตาแปลกๆมาเดินชมโรงเรียน ย่อมกลายเป็นจุดสนใจของเด็กๆได้ไม่ยาก

แต่เสียงทักทายจากระเบียงห้องเรียนที่ตะโกนมาว่า

“พี่ๆ ถ่ายรูปผมหน่อยสิครับ”...




จากคำทักทาย พร้อมรอยยิ้มนั้น ทำให้ผมรับรู้ได้ถึงความเป็นมิตร ที่สมาชิกรุ่นเยาว์มีต่อผู้มาเยือน

..

คุณครูใหญ่ประจำโรงเรียนจงเจิง ไม่ได้นั่งโต๊ะประชุม หรือทำงานฝ่ายบริหารเพียงอย่างเดียว
แต่ยังทำหน้าที่เป็นพ่อพิมพ์ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่เด็กๆด้วยตนเอง



เมื่อถึงเวลา 6 โมงเย็น ... การเรียนการสอนก็เริ่มต้นขึ้น เสียงเพลงภาษาจีนจากลำโพงเงียบไป ถูกแทนที่ด้วยเสียงท่อง เสียงอ่านภาษาจีนดังเซ็งแซ่จากแต่ละชั้นเรียน

..

ในห้องเรียนระดับเล็กสุดอย่างประถมศึกษาชั้นปีที่ 1 นั้น เด็กๆยังไม่ได้เรียนภาษาจีนอย่างเข้มข้นมากนัก

คุณครูยังให้การบ้านง่ายๆ ฝึกนักเรียนรุ่นจิ๋วหัดคัดลายมือ และรู้จักคำ หรือประโยคพื้นฐาน

บ่อยครั้ง ที่ผมยังได้ยินเสียงสนทนาภาษาไทยในห้องเรียนอยู่บ้าง ตรงกันข้ามกับบรรยากาศภายในห้องเรียนที่เป็นเด็กโต ซึ่งจะเพิ่มความเข้มข้นในด้านวิชาการขึ้นไปตามระดับชั้น

.

.

บ้านยาง ก็ไม่ต่างจากพื้นที่ในชนบททั่วไป ที่แม้ว่าจะมีสถานศึกษา หรือโรงเรียนก็ตาม

แต่โอกาสทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายด้านวิชาการ ความทันสมัยของเนื้อหา เครื่องไม้เครื่องมือ สื่อการเรียนการสอน ฯลฯ ย่อมมีความด้อยกว่าพื้นที่ในเมืองใหญ่

กระนั้น แม้ว่าโต๊ะเรียน กระดานดำ สมุด หนังสือ ... อาจจะชำรุด ทรุดโทรมไปบ้างตามกาลเวลา และสภาพความห่างไกล

แต่หัวใจของเด็กๆในโรงเรียนสอนภาษาจีนจงเจิงทุกคน ต่างก็ยังเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นต่อหน้าที่อันสำคัญของตนเอง



.

.

“ชีวิตหลากหลาย ใต้ร่มพระบารมี”

ก่อนเดินทางมาบ้านยาง ผมทำการบ้านหาข้อมูลล่วงหน้าว่า ชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งลุ่มน้ำแม่งอน ตั้งรกรากถิ่นฐาน สร้างความมั่นคงในแห่งชีวิตได้ด้วยโครงการหลวง


เมื่อผมเอ่ยปากพูดคุยกับชาญชัยในเรื่องนี้ จึงกลายเป็นที่มาของการ ชวนออกไปพบปะกับคนในหมู่บ้าน เพื่อแลกเปลี่ยน พูดคุยวิถีชีวิตอันน่าประทับใจ


ขณะที่ผมทานอาหารมื้อแรกที่ร้าน “ข้าวซอย บ้านยาง” ก็เหลือบไปเห็นรูปภาพบนฝาผนัง ที่ประดับไว้ภายในร้าน

... ในภาพนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรัสกับเจ้าหน้าที่ โดยผู้หญิงคนหนึ่งยืนรับเสด็จอยู่ข้างๆอย่างนอบน้อม


ผู้หญิงในภาพนั้น คือ “คุณครูอารี” ซึ่งมีโอกาสได้เฝ้ารับเสด็จเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว




... ครูอารี เล่าให้ผมฟังว่า “สมัยนั้น ชาวบ้านยังไม่รู้จักวิธีคุมกำเนิด ครอบครัวหนึ่งมีลูก 7-8 คน เมื่อพระองค์เสด็จมาที่หมู่บ้าน และพระราชทานสถานีอนามัย ชาวบ้านก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งด้านการสาธารณสุข และการผดุงครรภ์”

..

หลังจากอิ่มอร่อยกับข้าวซอยประจำหมู่บ้านไปแล้ว ชาญชัยก็นำผมเดินทางต่อ ... หรือ ความจริงแล้วควรเรียกว่า เดินต่อไปอีกไม่กี่ก้าวน่าจะเหมาะกว่า


เพราะหมู่บ้านขนาดเล็กแห่งนี้ หากใครตั้งใจเดินทักทายผู้คนตามบ้านเรือนแต่ละหลังจริงๆ ใช้เวลาประมาณวันสองวันก็คงครบทุกครัวเรือน

ซึ่งก็กลายเป็นเสน่ห์ไปอย่างหนึ่ง เพราะแต่ละคนในหมู่บ้าน ต่างก็รู้จักสนิทสนมกันดี เข้าถึงได้ง่าย



รูปประกอบ – น้องบากัต ลูกชายคนเล็กของเจ้าของร้านเสริมสวยประจำหมู่บ้าน หันมามองนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนตาแป๋ว

... บรรยากาศที่เราสามารถเข้าไปพูดคุยได้อย่างใกล้ชิดเป็นกันเองแบบนี้ เกิดขึ้นได้ที่บ้านยาง



.

.

พื้นที่เกษตรกรรมบ้านยาง มีพืชผักผลไม้หลายประเภท
แต่ในช่วงที่ปริมาณผลผลิตมีจำนวนมากเกินไป หรือในบางช่วงที่ราคาตกต่ำ การนำมาแปรรูปจึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สร้างรายได้แก่ชาวบ้าน

“วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลไม้การเกษตรบ้านยาง” เป็นทั้งบ้าน และโรงงานผลิตแบบครัวเรือนของ “จรวยพร ปัญญาเจริญ” ...

ที่นี่จะนำผลไม้ต่างๆมาแปรรูปเป็นไวน์ และเหล้า

เรื่องรสชาติเป็นอย่างไรนั้น ผมไม่ได้ลองชิม
แต่เมื่อเดินไปชมโรงงานผลิตด้านหลังบ้านแล้ว ยอมรับว่ากลิ่นของไวน์ผลไม้อย่างลิ้นจี่นั้น หอมยั่วใจมาก




จรวยพร เล่าให้ผมฟังด้วยแววตาเปี่ยมความสุขว่า หมู่บ้านเล็กๆที่ไม่มีใครสนใจ พลิกฟื้นสู่วิถีแห่งเกษตรกรรมเลี้ยงตนเองได้ ด้วยพระบารมีอย่างแท้จริง

“สมัยก่อน ชาวจีนที่เดินทางกลับประเทศไป มองพวกเราว่า เป็นไงล่ะ มาอยู่เมืองไทย ต้องเป็นคนอพยพไม่มีสัญชาติ ต้องกินอยู่อย่างลำบาก

... แต่พวกเราก็บอกไปอย่างภูมิใจเลยว่า ในหลวงพระราชทานสัญชาติไทยให้กับพวกเรา และพระองค์ยังทรงมีพระราชดำริโครงการหลวง ช่วยให้พวกเราได้ประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ ...


... จนถึงวันนี้ ชาวบ้านยางทุกคน ไม่มีใครอยากกลับไปเมืองจีนอีก เพราะพวกเราภูมิใจที่เป็นคนไทย และพวกเราทุกคนรักพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”


.

.

“เมื่อก่อนทำไร่ส้มขนาดใหญ่จนขาดทุน ทำอะไรก็ขาดทุน เพราะสินค้าล้นตลาด ขนาดเอาไปขายกรุงเทพก็ยังไม่หมด จนเกษตรกรรายย่อยอยู่ไม่ได้”

คำบอกเล่าของ “อุษา แซ่ม้า” ทำให้ผมรับทราบปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต จนทำให้สมาชิกแห่งหมู่บ้านรายนี้ ตัดสินใจว่าจะย้ายไปทำมาหากินที่อื่น

แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้ อุษา เลือกที่จะอยู่สู้ต่อไป คือ การได้ทราบข่าวจากเจ้าหน้าที่ว่าจะมีโครงการพระราชดำริเกิดขึ้น เพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของหมู่บ้านบ้านยาง

“เคยอ่านเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาบ้าง สุดท้ายเมื่อโครงการเข้ามาก็ได้รับการอบรม เราก็ทำตามศักยภาพที่มีอยู่ คือ หันมาทำอาชีพไร่สตรอเบอรี่ ทำเท่าที่ทำได้ จึงไม่ขาดทุนเหมือนก่อนแล้ว”




ปัจจุบัน นอกจากจะมีไร่สตรอเบอรี่ขนาดย่อมๆของตัวเอง อุษายังเปิดร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตามโครงการพัฒนาฯ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ได้แก่ เส้นหมี่เหลืองสูตรดั้งเดิมตำรับจีนยูนนาน รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารและสมุนไพร

“เราทำมาก ก็ต้องลงทุนมาก พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ยิ่งดื้อลงทุน ก็ยิ่งเป็นเพิ่มหนี้ ... แต่เมื่อหันมาใช้หลักความพอเพียง เราก็อยู่ได้”




..

ผมมีโอกาสเดินทางขึ้นไปบนภูเขาท้ายหมู่บ้าน เพื่อชมไร่สตรอเบอรี่เล็กๆของอุษา จึงได้พบกับสามีของเธอ

“กว้างอู้ แซ่จาง” คู่ชีวิตของ อุษา ... ผู้เป็นอดีตทหารกองกำลังที่ 3 ซึ่งอพยพเข้ามาในเมืองไทย

ชายวัยกลางคนคนนี้ แม้ภายนอกดูน่าเกรงขามตามบุคลิกของทหารผู้เคยจับปืนผ่านศึกสงคราม แต่ทว่าเนื้อแท้เป็นคนอารมณ์ดี และอัธยาศัยไมตรีเป็นเลิศ

ทันทีที่อดีตทหารผ่านศึกเชื้อสายจีนเห็นผม ก็ปรี่เข้ามาทักทายขอจับไม้จับมือ พลางเล่าถึงอดีตของตนเองว่า สมัยก่อนบ้านไหนมีลูกชาย 2 คนขึ้นไป อย่างน้อย 1 คนต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร จะหนีก็ไม่ได้ไม่เช่นนั้น พ่อแม่จะโดนจับ

เมื่อพูดคุยกันได้พักใหญ่ กว้างอู้ ก็เล่าถึงตำนานรักของตนเองกับอุษาว่า “ผมไปฉุดเค้ามา ตอนนั้นเป็นทหารอยู่บนภูเขา จะไปขอลูกสาวเค้าก็มีเงินติดตัวแค่ 40 บาท เลยพาพรรคพวกทหารถือปืนลงไปฉุดจากหมู่บ้าน อุ้มกันขึ้นมา พามาอยู่กับเรา แล้วค่อยไปขอขมาทีหลัง”

แม้รูปแบบความรักจะออกแนวโหดๆห้าวๆไปบ้าง ราวกับนำมาจากบทภาพยนตร์ หรือละครโทรทัศน์

แต่นั่นก็เป็นเรื่องจริง และทุกวันนี้ทั้งคู่ก็ยังอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

ฟังแล้วอาจไม่มีเหตุผล ... แต่คงเป็นเพราะคนบางคน “เกิดมาคู่กัน”




.
.

กว้างอู้ เล่าถึงชีวิต หลังจากวางมือจากการเป็นทหารว่า “เมื่อได้สัญชาติไทย รัฐบาลปลดอาวุธ พวกเราก็ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกร ไม่ต้องไปสู้รบกันใครอีกแล้ว ทุกวันนี้ผมทำไร่สตรอเบอรี่ สวนลิ้นจี่ ไร่กาแฟ ผสมผสานกัน วันนึงมีรายได้ตั้งแต่ 700-1,000 บาท ผลผลิตที่ได้ก็เก็บไปส่งโรงงานหลวง เพราะโครงการหลวงเข้ามา ชีวิตเราก็เปลี่ยนไป”




ผมมองดูไร่สรอเบอรี่เล็กๆของกว้างอู้-อุษา ... มีคนงานเพียง 2-3 คน ไม่กว้างใหญ่มากมาย ไม่ล้นเกินกำลัง

ภาพนั้นเป็นคำตอกย้ำได้ดีว่า โครงการหลวงทำให้ชีวิตของคนที่นี่เปลี่ยนไปอย่างไร



.

.

นอกจากบ้านยางเป็นชุมชนที่เต็มไปด้วยวิถีชีวิตเกษตรกรเรียบง่ายแล้ว
หมู่บ้านเล็กๆยังมีจิตกรอาวุโส ซึ่งฝีมือวาดภาพลวดลายจีนไม่เป็นรองใครถึง 2 ท่าน

ผมแวะไปหาอากงท่านแรก ซึ่งอดีตเคยเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการที่โรงเรียนและเคยเป็นครูสอนภาษาจีนมาก่อน ทั้งที่ประเทศจีน พม่า จนกระทั่งมาอยู่ที่เมืองไทย

เมื่ออายุถึงวัยพักผ่อนจากการทำงานหนัก อากง ก็ใช้เวลาว่างในการวาดภาพลวดลายจิตรกรรมแบบจีน ซึ่งภาพที่วาดเสร็จนั้น หากนักท่องเที่ยวอยากซื้อเก็บเป็นที่ระลึก ก็สามารถตีราคาได้เองตามความพอใจ




ผมถามอากงไปว่า มาอยู่ที่เมืองไทยเป็นอย่างไรบ้าง

ชายชราวัย 80 ปีเศษ ตอบสั้นๆพร้อมรอยยิ้มว่า “เมืองไทยมีพระเจ้าอยู่หัวที่ดี”

..

อากงอีกท่านหนึ่ง อายุกว่า 90 ปีแล้ว แต่ยังคงใช้เวลาว่าง สร้างผลงานจิตกรกรรมแบบจีนอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน

อากง ท่านนี้ก็เป็นคนอารมณ์ดีไม่แพ้ท่านแรก ซึ่งเป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ที่เรารู้กันว่า คนที่อารมณ์ดี ไม่เครียดนั้น สุขภาพร่างกายมักแข็งแรง อายุยืนยาว



อากง เล่าว่าอยู่เมืองไทยมายาวนานราว 54 ปี โดยกว่า 30 ปีที่แล้ว อากงเป็นผู้ใหญ่บ้าน จึงมีโอกาสได้เข้าเฝ้ารับเสด็จทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

จนกระทั่งเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเยือนบ้านยางหลังเหตุการณ์อุทกภัยในปี 49 อากง ก็มีโอกาสเข้าเฝ้าพระองค์อย่างใกล้ชิด

ชายชรา กล่าวถึงพระองค์ว่า “พระเทพฯ พูดภาษาจีนเก่ง เขียนภาษาจีนก็สวยมาก”

..

ถัดมาที่ “ชุย ยุ่งโก่ว” ผู้อาวุโสสูงสุดแห่งบ้านยาง ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมา 97 ปี

ทุกวันนี้ ชายผู้มีอายุมากที่สุดในหมู่บ้าน ยังคงมีสุขภาพแข็งแรง เดินจากบ้านไปละหมาดที่มัสยิดทุกวัน

ผู้เฒ่าอาวุโส บอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตของตนเองด้วยภาษาจีน ผ่านหลานสาวซึ่งทำหน้าที่เป็นล่ามให้ผมฟังว่า เขาเคยใช้ชีวิตอยู่ในจีน และพม่า ก่อนจะมาปักหลักสุดท้ายที่ประเทศไทย




“ที่อยู่เมืองไทยมานานขนาดนี้ ก็เพราะประเทศไทยน่าอยู่ มีในหลวงดี รักประชาชนเท่าๆกันไม่มีแบ่งชนชั้น การทำมาหากินก็ไม่มีการแบ่งแยก” ปู่บอกว่า ปู่รักแผ่นดินไทย และรักในหลวงมากค่ะ หลานสาวของชายชราแปลให้ผมฟัง

.

.


“เดินเล่น ชมตลาด”


ปากทางเข้าหมู่บ้าน เป็นที่ตั้งของตลาดสดขนาดเล็ก มีแผงขายของไม่กี่แผง แต่ก็เพียงพอแล้วสำหรับคนในหมู่บ้านที่ไม่ได้มีจำนวนประชากรมากมายนัก




ตลาดสดบ้านยางช่วงเย็นๆ ค่อนข้างเงียบเหงาในวันธรรมดา แต่เมื่อถึงวันเสาร์ ที่นี่จะกลายเป็นความคึกคัก

..

ทุกวันเสาร์ พื้นที่บริเวณตลาด และพื้นที่รอบๆ จะแปรสภาพเป็นวันนัด หรือตลาดนัดใหญ่





ไม่เพียงแค่พ่อค้าแม่ขายในบ้านยางเท่านั้นที่จะมาชุมนุมสร้างความคึกคักในทุกบ่ายถึงเย็นวันเสาร์

แต่จะมีชาวเขา รวมถึงชาวบ้านจากหมู่บ้านละแวกใกล้เคียง นำสินค้าต่างๆมาวางขายกัน



.


.

แม้อำเภอฝาง อยู่ห่างจากทะเลมาไกลแสนไกล

แต่ชาวบ้านที่นี่ ก็ไม่ขาดอาหารทะเลมาตรฐานอย่าง ปลาทู

แม้ในวันธรรมดา อาจจะมีจำนวนน้อยไปสักนิด แต่เมื่อถึงวันเสาร์จะมีแผงขายปลาทูโดยเฉพาะ


รูปประกอบ – แม่ค้าแม่ลูกอ่อน ขายปลาทูไปพร้อมกับกระเตงลูกชายที่กำลังหลับปุ๋ย



..

ทุกครั้งที่ผมมองเด็กๆในชนบทที่ห่างไกลสีสันอันทันสมัยแบบสังคมเมือง
ผมมักรู้สึกประทับใจในความบริสุทธิ์ และความเรียบง่ายในชีวิตของพวกเขาเหล่านั้น

สิ่งที่เห็นตรงหน้าทำให้ได้มองย้อนกลับไปในอดีตของตัวเอง


ผมเคยเป็นเด็กต่างจังหวัด ซึ่งในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตไม่เคยรู้จักสเวนเซ่นส์ ไม่เคยกินพิซซ่า ... ไก่เคเอฟซี แมคโดนัล เป็นอย่างไร ก็เคยเห็นแค่ในโทรทัศน์


แต่ชีวิตของผมในช่วงเวลานั้น ... ขอแค่มีน้ำแข็งไสหลากสีให้เลือก นั่นก็มีความสุขที่สุดแล้ว




..

นอกจากข้าวของต่างๆที่หาได้ไม่ต่างจากตลาดทั่วไปแล้ว บ้านยางก็พอจะมีสินค้าอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่บ้าง

นั่นคือ ร้านขายบะหมี่ยูนนาน

มองอย่างผิวเผิน เส้นบะหมี่ใหญ่สีเหลืองสด ก็คล้ายกับบะหมี่ทั่วไป แต่ความเหนียวนุ่มและรสชาติหวานจากแป้งหมี่ก็ดูจะสร้างความต่างได้พอสมควร รวมถึงแป้งอะไรสักอย่างสีขาวๆที่ตั้งวางขายอยู่ด้วยกัน ซึ่งทำมาจากถั่วเหลือง รสชาติเหมือนน้ำเต้าหู้หอมๆ

ผมแวะทักทายแม่ค้าวัยใส ถามไถ่พอเป็นพิธี จากนั้นก็ขอตัวไปเดินชมตลาด ออกไปถ่ายรูปสถานที่ต่างๆอีกราวชั่วโมงเศษ




เมื่อกลับมาอีกครั้งพบว่า บะหมี่ขายหมดเกลี้ยงไปแล้ว

... ถ้าให้เดาก็คงเป็นเพราะรสชาติที่อร่อยถูกใจ หรือไม่ก็เพราะรอยยิ้มหวานสดใสของแม่ค้า

.

.

“หลากหลายความเชื่อ ความศรัทธา รวมเป็นหนึ่งเดียว”


แม้บ้านยางเป็นชุมชนเล็กๆอันห่างไกล แต่ก็เต็มไปด้วยความหลากหลายของความเชื่อทางศาสนา ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม

โดยความแตกต่างไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการอยู่ร่วมกันของคนในหมู่บ้าน



สำหรับศาสนาอิสลาม ชาวบ้านยางมี “มัสยิดอัล-เอียะห์ซาน” เป็นศูนย์รวมใจ




มัสยิดขนาดย่อม ที่ตั้งเยื้องกับตลาดสดไม่กี่ก้าว อาจจะเงียบเหงาในเวลาที่ไม่มีพิธีกรรม

แต่หากถึงเวลาละหมาดแต่ละวัน ชาวมุสลิมผู้เคร่งครัดต่างจะทยอยกันมาร่วมพิธีแห่งความศรัทธากันอย่างคึกคัก

..

หลักศาสนาอิสลามแท้จริงนั้น มิได้มีข้อห้ามเรื่องการเลี้ยงสุนัข เพียงแต่มีบทบัญญัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการปฏิบัติเอาไว้ เช่น มิให้สัมผัสน้ำลาย มิให้เลี้ยงเพื่ออวดฐานะบารมี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ถึงจะไม่ใช่ข้อห้าม แต่ในพื้นที่ศาสนสถานอย่างมัสยิด คงไม่มีใครอยากให้สุนัขเข้าไปยุ่มย่ามสักเท่าใด

มัสยิดอัล-เอียะห์ซาน แห่งบ้านยางก็เช่นกัน ... ผมไม่เห็นมีสุนัขมาป้วนเปี้ยนสักตัว


แต่อีกสาเหตุหนึ่งก็เป็นไปได้ว่า สถานที่แห่งนี้มีเจ้าถิ่นคุมอยู่ก่อน




..


ถัดจากมัสยิดไม่ไกล เป็นที่ตั้งของ “ศาสนจักรบ้านยาง” ศาสนสถานรวมใจของชาวคริสต์ในหมู่บ้านแห่งนี้



ช่วงสายวันอาทิตย์ก่อนบาทหลวงจะเริ่มอ่านพระคัมภีร์ ยังคงเป็นบรรยากาศสบายๆ มีเด็กๆที่ติดสอยห้อยตามพ่อแม่มาวิ่งเล่นอยู่ด้านหน้า

..

ทุกวันอาทิตย์ ชาวคริสต์ในหมู่บ้านบ้านยาง รวมถึงชาวเขาจากหมู่บ้านใกล้เคียง ต่างเดินทางมาร่วมพิธีทางศาสนากันอย่างพร้อมเพรียง

โดยก่อนที่บาทหลวงจะเริ่มทำพิธี ชาวบ้านก็จะทยอยกันมาทีละคนสองคน เพื่อร่วมร้องบทเพลงสรรเสริญพระเจ้าที่เต็มไปด้วยความศรัทธา



.
.

ศาสนาที่ 3 ประจำหมู่บ้านบ้านยาง คือ พุทธศาสนา

แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่ของหมู่บ้านแห่งนี้ นับถือคริสต์ และอิสลามมากกว่า แต่พุทธศาสนาก็มิได้ถูกลืมเลือน

โดยชาวบ้านยาง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าพระราชทานที่ดินสำหรับสร้างวัดพุทธศาสนาขึ้น เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2524

.

.

วัดแห่งนี้ ตั้งอยู่บนเนินเขาเล็กๆ เหนือพิพิธภัณฑ์ฯ – โรงงานหลวง และมีอาณาเขตติดกับโรงเรียนจีน

แม้พื้นที่ศาสนสถานขนาดเล็ก ไม่ได้มีความโอ่อ่าอลังการทางวัตถุ แต่ผมก็รู้สึกสงบนิ่งภายในจิตใจ มากกว่าเดินทางไปวัดขนาดใหญ่ชื่อดังหลายๆแห่ง


ด้วยวัดแห่งนี้เป็นวัดจีน บรรยากาศจึงเป็นทั้งวัดพุทธศาสนาที่เราคุ้นเคย และเป็นศาลเจ้าแม่กวนอิม ในสถานที่แห่งเดียวกัน

.

.

ภายในอุโบสถขนาดย่อม ยามบ่าย ไร้ผู้คน

ผมถามแม่ชีด้านนอก ท่านบอกผมว่า กว่าจะเริ่มสวดมนต์อีกครั้ง ก็เป็นช่วงเย็น

บ่ายวันนั้น จึงมีเพียงเสียงลมหายใจ เข้า – ออก และความเงียบสงบที่อยู่ตรงหน้าผมเท่านั้น

.


.

สถานที่แห่งนี้ ชาวบ้านยางเรียกว่า วัดเจ้าแม่กวนอิม บ้างก็เรียก ศาลเจ้าแม่กวนอิม

ทั้งนี้ ความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์อีกอย่าง คือ วัดแห่งนี้มีเพียงแม่ชีจำวัด และไม่ใช่แม่จีนห่มขาวอย่างที่เราคุ้นตา แต่ทว่าเป็นแม่ชีที่สวมชุดสีกากีแบบชาวจีน

(นึกภาพหลวงจีนวัดเส้าหลินไว้ครับ)


มีแม่ชีที่เป็นพระอาจารย์ 1 ท่าน ซึ่งมีอายุสักหน่อย แต่ที่เหลืออีกราว 10 ท่าน ล้วนเป็นแม่ชีอายุราววัยรุ่น ซึ่งเป็นชาวจีน และชาวพม่า

สิ่งที่ผมได้ยินมา และรู้สึกชื่นชม คือ แม่ชีในวัดแห่งนี้ จะต้องอุทิศตนแด่พุทธศาสนาไปตลอดชีวิต

.


.

“ที่นี่ ... บ้านยาง”


ผมใช้เวลาสืบค้นข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองไทยอยู่นานพอสมควร ว่ายังมีแห่งไหนซึ่งไม่เป็นที่นิยมมากนัก

หรืออย่างน้อยๆ หากเป็นที่นิยมแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้เปรอะเปื้อน หรือถูกยัดเยียดความทันสมัยแบบคนเมืองแต่งเติมเข้าไปจนขาดเสน่ห์





สุดท้าย ผมก็ได้เจอกับหมู่บ้านเล็กๆ ก่อนถึงดอยอ่างขางแห่งนี้

..

แม้ความเรียบง่ายของบ้านยาง อาจกลายเป็นความน่าเบื่อ ไร้สีสันของ “นักท่องเที่ยว” ได้เช่นกัน

แต่สำหรับนักท่องเที่ยวที่สวมบทบาทของ “นักเดินทาง” เอาไว้ด้วย



ผมเชื่อว่า การที่เราได้ออกเดินทางไปเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมที่แตกต่าง มิตรภาพจากคนแปลกหน้า หรือกระทั่งรอยยิ้มจากใครสักคนรอบๆตัว

สิ่งเหล่านั้น ล้วนเป็นประสบการณ์อันควรค่าแก่การจดจำ




..

หลายร้อยกิโลเมตรที่เดินทาง

หลายร้อยโค้งที่ลดเลี้ยว

ทั้งหมด คือ ความคุ้มค่าที่ผมได้มารู้จักกับหมู่บ้านเล็กๆใต้เงาขุนเขาโอบล้อม

.

.

ในวันที่เดินทางขึ้นไปบนไร่สตรอเบอรี่

ผมเดินมาอีกฟากหนึ่งของภูเขา ซึ่งเป็นจุดชมทิวทัศน์ ... มองลงไปเบื้องล่างเห็นหมู่บ้านบ้านยางได้อย่างทั่วถึง





เมื่อมองด้วยสายตา ตามปกติ สิ่งที่ปรากฏตรงหน้า คือ ขุนเขากว้างใหญ่ ผสมผสานพื้นที่เกษตรกรรม บ้านเรือน โรงเรียน ศาสนสถาน พิพิธภัณฑ์ และโรงงานหลวง

เมื่อมองด้วยสายตาอย่างลึกซึ้ง ภาพเบื้องล่าง คือ ความสุขจากวิถีชีวิตอันเรียบง่าย ที่เลือกเดินตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว








และสุดท้ายหากลองมองด้วยหัวใจ ... ผมเห็น “ความรักของพ่อ” ที่มีต่อลูกทุกคนบนผืนแผ่นดิน





- จบบริบูรณ์ -

..




Create Date : 20 สิงหาคม 2553
Last Update : 20 สิงหาคม 2553 19:45:12 น. 15 comments
Counter : 8779 Pageviews.  

 
ถ่ายภาพสวยดี เขียนเยอะจัง..ตาลายเลยค่ะ
ใส่รูปเยอะๆหน่อย จะน่าอ่านอีกค่ะ


โดย: mcayenne94 วันที่: 20 สิงหาคม 2553 เวลา:19:12:00 น.  

 
ที่นี่คือประเทสไทยที่ในหลวงคอยดูแล


โดย: dongchoo วันที่: 20 สิงหาคม 2553 เวลา:20:11:30 น.  

 
กลับมาอ่านอีกรอบแล้ว
เขียนได้ เลิศเลอ เพอร์เฟคมาก
คุณครู ให้ 10 เต็มไปเลยค่ะ


โดย: mcayenne94 วันที่: 20 สิงหาคม 2553 เวลา:22:43:09 น.  

 
ตามมาอ่าน เห็นกระทู้ในห้อง BP เลยลองคลิกเข้ามาเยี่ยมชมบล๊อคนี้ ได้อ่านเรื่องราวและรูปเล่าเรื่องของคุณแล้ว น่าสนใจมากค่ะ


โดย: Messilovely วันที่: 20 กันยายน 2553 เวลา:13:20:43 น.  

 
ตามมาชมบล็อคคุณ POGGHI คร่า ภาพสวยสาระเพียบอีกแล้ว ^^


โดย: เจ้าจิ๊กโก๋ตัวอ้วน IP: 61.90.143.146 วันที่: 22 กันยายน 2553 เวลา:16:02:56 น.  

 
ผมเกิดและโตที่หมู่บ้านนี้ ต้องขอบคุณ คุณ pogghi สำหรับภาพสวยๆ ถ้าใครมีโอกาสลองมารับบรรยากาศและมิตรภาพจากที่นี่ได้ครับ


โดย: tui IP: 125.24.231.254 วันที่: 29 กันยายน 2553 เวลา:11:23:25 น.  

 

แวะมาคิดถึงน้องป๊อกกี้^^


โดย: พี่โบว์ blueberry_cpie IP: 202.149.29.81 วันที่: 8 ตุลาคม 2553 เวลา:15:19:26 น.  

 
ไปมาละ แถวบ้านเราเอง


โดย: สาวต.แม่งอน IP: 110.164.39.6 วันที่: 20 ตุลาคม 2553 เวลา:16:25:03 น.  

 
สวัสดีค่ะ พี่ป๊อกกี้

กล้วยใต้ จากพิพิธภัณฑ์ฯ เองค่ะ

ต้องขอขอบคุณพี่ มากๆ ที่ลงภาพ และเนื้อหา ประชาสัมพันธ์ของหมู่บ้านยาง

ใต้เพิ่งเจอลิงค์ (ไม่เคยได้เล่นเว็ปพันธ์ทิพเลยค่ะ)

ตอนนี้ที่นี่เปลี่ยนแปลงไปมากเหมือนกัน

การพัฒนา..ไม่เคยหยุดนิ่ง

แต่มันก็ยังคงไว้ซึ่งวิถีชีวิต แบบที่พี่เคยมาสัมผัสเหมือนเดิม

ว่างๆ แวะมาเที่ยวอีกนะนะ

มีคนแถวนี้เขาฝากชมว่า ภาพของพี่สวยมาก

อยากเอามาทำโปสการ์ด อ่ะ

แต่อยากติดต่อพี่ให้ได้ก่อน (ขอพี่ก่อนอ่ะ)

จะได้หรือเปล่า?

ไงก็รบกวนพี่ติดต่อกลับ หาน้องกล้วยใต้ด้วยนะคะ

เมลล์ taii_littleprincess@hotmail.com

โทร 0875775702

รอนะคะ

เที่ยวไปถึงไหนแล้วเนี่ย 555+



โดย: กล้วยใต้ IP: 118.175.80.132 วันที่: 31 ตุลาคม 2553 เวลา:11:22:44 น.  

 
ป๊อกเป็นคนที่ถ่ายรูปแล้วดูมีอะไรมากว่าเป็นภาพสองมติธรรมดาๆ

วัตถุ คน แสง เงา เป็นใจอะไรอย่างนี้

เราในฐานะเรียนถ่ายรูปมาแต่ถ่ายทีไรโดนเพื่อนด่าทุกที..........

ขอคารวะ


โดย: สวยทรหด (สวยทรหด ) วันที่: 11 พฤศจิกายน 2553 เวลา:6:52:30 น.  

 
ผมชอบมากเลยครับ ดูแล้วผมไม่เคยรู้เลยว่าบ้านผมแท้ๆจะสวยได้ขนาดนี้ ผมโตมาจากหมู่บ้านนี้ครับ

ดูแล้วอยากกลับไปเที่ยวจริงๆ สุดยอดครับพี่


โดย: คเชน IP: 180.183.152.153 วันที่: 9 สิงหาคม 2554 เวลา:4:06:12 น.  

 
หมู่บ้านใกล้เคียงบ้านผมเองครับ ลองไปช่วงหน้าหนาวครับ อากาศดีมากๆ ข้าวซอยอร่อย อย่าบอกใครเชียว อิอิ


โดย: ต้องตา IP: 192.168.49.220, 27.130.69.199 วันที่: 16 ตุลาคม 2554 เวลา:23:24:51 น.  

 
คุณชาญชัยน่ารักมากๆค่ะ เป็นเจ้าของที่พักที่น่ารักและเป็นกันเอง พาคนที่พักที่เกสท์เฮ้าส์เที่ยวในชุมชนจีนยูนานด้วย


โดย: แพร ธนวีรกานต์ IP: 110.168.182.196 วันที่: 15 มกราคม 2556 เวลา:12:32:45 น.  

 
สุดยอดจริงๆ อ่านแล้วได้ฟิว ได้อารมณ์..อยากไปจริงๆ


โดย: ฝ้าย IP: 110.77.204.236 วันที่: 30 เมษายน 2556 เวลา:17:02:07 น.  

 
บ้านเราอยู่ละแวกนี้ ไกล้บ้านยางเลยนะ เป็นทางผ่านก่อนขึ้นดอยอ่างขาง สี่

แยะซ้ายไปบ้านยาง โอ้...ขอบคุณจริงๆ อ่านแล้ว..คิดถึงตอนเด็กๆ

ขอบคุณช่วงชีวิตหนึ่งได้เติบโตอยุ่ที่หุบเขาแห่งนี้

ทุกๆ วันหลังเลิกเรียนไทย เราต้องเตรียมตัวเดินทางไปโรงเรียนจงเจิง

คือเดินจริงๆ ด้วยเท้านะ ไม่มีรถ เพราะเราจน หนาวก็หนาว หิวก็หิว ก็ต้อง

ไปเรียนแต่...ขอบคุณวันนั้น จนมีวันนี้

-เราจะนำความรักไปตอบแทนมาตภูมินี้-


โดย: เด็ก...เจ้าแม่หลวงฯ IP: 58.8.130.96 วันที่: 22 สิงหาคม 2556 เวลา:12:48:21 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

POGGHI
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




..

บทความ และผลงานภาพถ่าย โดย เจ้าของ Blog นี้
สงวนลิขสิทธิ์ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗

ห้ามผู้ใดละเมิด ด้วยการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของข้อความ และ ผลงานภาพถ่าย โดย เจ้าของ Blog ไปใช้ โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร


POGGHI

..
[Add POGGHI's blog to your web]