หมึกสีดำของไผ่สีทอง
ความโศกทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้มีจิตมั่นคง ไม่ประมาท เป็นมุนี ศึกษาในทางปฏิบัติถึงมโนปฏิบัติ เป็นผู้คงที่ ระงับแล้ว มีสติทุกเมื่อ,, การไม่ทําบาปทั้งปวงหนึ่ง การยังกุศลให้ถึงพร้อมหนึง การชําระจิตใจของตนให้ผ่องแผ้วหนึ่ง นี่แลเป้นคําสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
Group Blog
 
 
พฤศจิกายน 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
28 พฤศจิกายน 2554
 
All Blogs
 
รำลึกถึงหลวงปู่บุดดา ถาวโร ตอนที่ ๑



รำลึกถึงหลวงปู่บุดดา ถาวโร


พระอริยเจ้าผู้ไม่เกิด-ไม่ตายตลอดกาล


(โดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน)


          ผมสังเกตว่า คนที่เกิดมาในโลกมนุษย์นี้ ส่วนใหญ่มักจะลืมของดี ๆ, คนดี, เรื่องดี ๆ กันง่าย แต่กลับจำแม่นในเรื่องเลว ๆ, คนเลว ๆ และของเลว ๆ ได้อย่างไม่ยอมลืม เจอใครก็มักจะเล่าให้ฟังอยู่เสมอ (เพราะกลัวจะลืม) เล่าแล้วเล่าอีก ทั้ง ๆ ที่ไม่มีประโยชน์และไร้สาระ ส่วนพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์ทั้งหลายที่ท่านสอนไว้ ในขณะที่ร่างกายยังมีชีวิตอยู่ สอนแล้วสอนอีก, พูดซ้ำแล้วซ้ำอีก พวกเขาซึ่งมาฟังก็ยังจำไม่ได้ หรือจำได้ไม่กี่วันก็ลืม บางคนยังไม่พ้นครึ่งชั่วโมงก็ลืมแล้ว แต่ความชั่ว-ความเลว-ความไม่ดีทั้งหลาย เช่น ข่าวคนทำชั่ว-พูดชั่ว-คิดชั่ว กลับจำแม่นไม่ยอมลืม (มีจิตยินดีด้วยกับกรรมชั่วของผู้อื่น) ยิ่งถูกใครนินทา-ว่าร้าย-กลั่นแกล้ง-ยืมเงินแล้วยังไม่ได้ใช้ด้วยแล้ว จำแม่นเป็นพิเศษ บางคนเป็นสิบ ๆ ปีแล้วก็ยังจำได้ ผมขอเล่าเรื่องจริงให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง ดังนี้


          ที่วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี หลวงพ่อฤๅษี (พระราชพรหมยานมหาเถระ) ท่านจะเทศน์สอนธรรมะ โดยใช้เสียงมาตามสายทุกวัน วันละ ๔ เวลา คือ ตีสี่ (๐๔.๐๐น.), ๑๐.๐๐ น., ๑๖.๐๐ น.(พระวินัย) และ ๒๑.๐๐ น. (ธรรมะก่อนนอน) วันหนึ่งท่านถามลูกศิษย์ท่านซึ่งเป็นผู้หญิง และเคยเป็นลูกท่านในอดีตชาติ ว่าเมื่อตอนเช้ามืด (๐๔.๐๐ น.) เอ็งฟังข้าสอนหรือเปล่า เธอตอบว่าฟังค่ะ ไหนเล่าให้ข้าฟังหน่อยซิว่าข้าสอนอะไรบ้าง เธอตอบว่าลืมไปแล้วค่ะ หลวงพ่อท่านก็สอนว่า “แหมพระธรรมซึ่งมีคุณค่าสูงสุดในโลกนี้ เอ็งยังลืมได้ลืมดี หากใครมาด่าเอ็ง-นินทาเอ็ง-แกล้งเอ็ง แล้วเอ็งลืมได้เร็วอย่างนี้ก็จะดีไม่น้อย” (อ่านแล้วกรุณาเอาไปคิดพิจารณาด้วย จะเกิดประโยชน์กับตัวท่านเองมาก)


          ผมขอวกเข้าหาเรื่องของหลวงปู่บุดดาเสียที เพราะกลัวจะเผลอไปเขียนเอาเรื่องของหลวงพ่อฤๅษีแทนเข้า ผมจำได้ว่าผมเขียนเรื่อง “ หลวงปู่บุดดา ถาวโร (พระสังโฆ อัปปมาโณ) ” ไว้ในหนังสือ ๑ ศตวรรษหลวงปู่บุดดา ถาวโร (อนุสรณ์อายุ ๑๐๐ ปีของท่าน) ผมได้ข่าวว่าบทความนี้ทางวิทยุทหารอากาศเขาเอาไปออกอากาศบ่อย ๆ (ในขณะนั้น) และมีผู้ที่รวบรวมธรรมะของพระสุปฏิปันโนหลาย ๆ ท่านเพื่อพิมพ์จำหน่าย ก็เอาบทความที่ผมเขียนไปลงด้วย บางเล่มลงเกือบทั้งหมด บางเล่มก็ตัดตอนเอาบางส่วนลงก็มี มาครั้งนี้ คุณ สมใจ บัวพึ่งน้ำ ผู้ที่ยังนึกถึงคุณความดีของหลวงปู่อยู่ไม่รู้ลืม ท่านได้รวบรวมพระธรรมของหลวงปู่ที่ท่านเคยฟังจากหลวงปู่ และมาชวนผมให้ช่วยเขียนเรื่องของหลวงปู่ด้วย ผมก็ตกลง เพราะยังนึกถึงท่านทุกวัน วันละประมาณ ๒-๓ ครั้ง บางครั้งก็ได้รับคำสอนของท่านโดยตรงบ้าง โดยผ่านเพื่อนผู้ที่ปฏิบัติร่วมกันบ้าง เพราะพระที่เข้าสู่นิพพานแล้ว หากท่านมีกรรมผูกพันกับใคร เช่น เคยเป็นลูกหลานท่าน และนึกถึงท่าน ท่านก็จะมาสงเคราะห์ผู้นั้นทันที (จิตถึงจิต เพราะจิตไม่มีเวลาเป็นอกาลิโก)


          ดังนั้น การสนทนาธรรมกันกับกัลยาณมิตร, กัลยาณธรรม จึงได้ประโยชน์อย่างยิ่ง ผมจึงได้บันทึกคำสั่งสอนของหลวงปู่ไว้ตลอดมาจนถึงปัจจุบันก็ยังบันทึกอยู่ เพราะผมถือว่า “สิ่งที่มีค่าสูงสุดในโลกคือพระธรรม ” และหลวงปู่ท่านไม่ตาย หมายความว่า “ความดีหรือพระธรรมไม่ตาย หรือจิตหรืออาทิสมานกายของท่านไม่ตาย” (กายของจิตเรียกว่า อาทิสมานกาย พระองค์ทรงเรียกว่ารูปในนาม) ความจริงแล้วจิตของทุก ๆ คนเป็นอมตะไม่เคยตาย สิ่งที่ตายคือร่างกายหรือขันธ์ ๕ ที่เรามาขออาศัยเขาอยู่ชั่วคราวเท่านั้นที่ตาย แต่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิด ไปคิดว่าร่างกายหรือขันธ์ ๕ เป็นเรา เป็นของเรา หากยังหลงคิดผิดอยู่อย่างนี้ การหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลส-ตัณหา-อุปาทาน และอกุศลกรรม ก็ยังทำไม่ได้ ยังต้องเกิด-ตาย ๆ กันต่อไป


          ดังนั้นการเขียนของผม บางคนอ่านแล้วอาจจะสงสัย เพราะไม่เข้าใจธรรมะในจุดนี้ และหากสงสัยก็ควรจะได้อ่านเรื่องที่ผมเขียน
“หลวงปู่บุดดา ถาวโร (พระสังโฆ อัปปมาโณ)” ก่อน จึงจะช่วยคลายความสงสัยลงได้ ผมเลือกเอาเฉพาะบางตอนที่ผมเห็นว่าสมควรจะเปิดเผยและมีประโยชน์กับผู้อ่านเท่านั้น


          : เรื่องแรก คือ “เหม็นภายนอกกับเหม็นภายใน”


          ท่านสอนลูกสาวในอดีตชาติของท่าน เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๐ ม.ค. ๓๖ เวลาประมาณ ๑๗.๔๕ น. มีความสำคัญดังนี้


          ๑. “ทุกข์บางอย่างก็ละได้ ทุกข์บางอย่างก็ละไม่ได้ ทุกข์ของกายเกิดก็ละไม่ได้ ต้องหาทางระงับ หรือดับมันไปตามเรื่องตามราว ส่วนทุกข์ของจิตนั้นละได้นะ” (เหตุเพราะขณะนั้นลูกสาวท่านกำลังนั่งขับถ่ายอยู่ ซึ่งเป็นทุกข์ของกาย)


          ๒. ท่านถามว่า “ถุงเท้า-เสื้อ-ผ้าที่ใช้แล้วยังไม่ได้ซัก เหม็นไหม?”


          ตอบ เหม็นค่ะ


          ท่านถามว่า “แล้วขี้ เยี่ยว เหม็นไหม”


          ตอบ เหม็นค่ะ


          ท่านถามว่า “เสื้อผ้าที่ยังไม่ได้ซัก กับขี้เยี่ยวที่อยู่ข้างในอันไหนเหม็นกว่ากัน”


          ตอบ ข้างในเหม็นกว่าค่ะ


          ท่านถามว่า “แล้วไอ้ขี้ที่อยู่ข้างนอก ตั้งแต่หัวจดเท้าลงมาเหม็นไหม แล้วซักได้ไหม”


          ตอบ ซักได้ชั่วคราวค่ะ


          ท่านถามว่า “แล้วร่างกายมันมีดีตรงไหน”


          ตอบ ไม่มีดีเลยค่ะ


          ในเมื่อกายไม่ดีเหม็นขี้ทั้งตัว แก้ไขระงับได้ชั่วคราว โดยอาศัยความโง่ที่เราไปหลงเกาะติดกาย ทำให้เกิดมาเป็นตัวเป็นตน ทุกข์ของกายอย่างนี้แก้ไขให้หายเด็ดขาดไม่ได้ จนกว่ากายจะตายไป


          ๓. ท่านถามว่า “แล้วปาก-วาจาของเอ็งเหม็นไหม”


          ตอบ ยังเหม็นอยู่ค่ะ


          ท่านถามว่า “แล้วจิตของเอ็งเหม็นไหม”


          ตอบ ยังเหม็นอยู่ค่ะ


          “นั่นน่ะซิ ถ้าจิตเหม็นเสียอย่างเดียว วาจาก็เหม็นด้วย ถ้าเอ็งหมั่นชำระจิตให้หายเหม็น วาจาก็หายเหม็นได้ ส่วนกายนั้นแก้ไม่ได้ มีแต่ขี้ทั้งนั้น จิตนั้นแก้ได้ต้องแก้ที่จิต ทุกข์-สุข-เกิด-ดับ ต้องแก้ที่ตรงจิตนี้ สิ้นทุกข์-สุข รู้เกิดดับเมื่อไหร่จิตก็หายเหม็นเมื่อนั้น ”


          ๔. “อย่ามัวแต่ท่องจำ ศีล-สมาธิ-ปัญญา ๆ ๆ แบบนกแก้วนกขุนทองนั้นแก้ไม่ได้ หากจะแก้ให้ได้จริง จะต้องรู้ว่า ศีลคืออะไร สมาธิคืออะไร ปัญญาคืออะไร”


          ๕. “แล้วไอ้ประเภทที่รู้ว่าศีล-สมาธิ-ปัญญาคืออะไร แต่ดันเอามือหรือจิตไปซุกหีบ กูไม่ทำ กูไม่เพียร ตัวเหม็นก็หายไปจากจิต-จากวาจาไม่ได้ รู้แล้วต้องหมั่นทำ หมั่นเพียรด้วย ตัวเหม็นมันจึงจักหายไปจากจิตจากวาจาได้”


          : เรื่องที่ ๒


          “การวางเฉย หรืออุเบกขา หรือการปล่อยวาง”


          (๒๘ ม.ค. ๓๖ ตอนใกล้ ๐๔.๐๐ น.)


          ลูกสาวในอดีตของท่านกำลังคิดว่า ขณะนี้เรากำลังถูกคนทำคุณไสย แต่ก็ทำอะไรเราไม่ได้ หากเราพบบุคคลเหล่านั้นอีก เราจะไม่ปรุงแต่งจิตของเรา แม้เขาจะมุ่งประทุษร้าย เราก็จะปล่อยวางหรือวางเฉยจะดีไหม คิดเพียงแค่นี้ หลวงปู่บุดดาท่านก็มาแล้วสอน มีความว่า


          ๑. “เฉยอย่างนั้นก็โง่นะซิ บางอย่างต้องต่อสู้ แก้ได้ต้องแก้ไป ไม่ใช่เขาใช้ให้ไปตายก็ยอมไปตายแหงแก๋ สิ่งที่ให้วางเฉยก็คือ กิเลสที่มากระทบอายตนะ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตัวธรรมล้วน ๆ คือ ไม่ปรุงแต่งในธรรมที่เข้ามากระทบสัมผัสนั้น ๆ เช่น ใครคิดร้ายต่อเราก็ช่างเขา แต่ถ้าถึงขั้นเอาไม้หวดตีกายเรา ถ้าเรารู้จักเมตตาตัวเองก็ต้องหลบซิ เพราะถ้าให้เขาตีกายเรา จิตเราอาศัยมันอยู่ก็ต้องเจ็บไปด้วย แต่ถ้าเขาแค่คิดยังไม่ได้ทำ ก็กรรมของเขา เขาทำแล้วเราหลบ เราแก้ไข ไม่ได้ต่อกร ก็กรรมของเขาอีกนั่นแหละ มันคนละกรรมกัน อย่าไปยุ่งให้จิตวุ่นวาย”


          ๒. “กรรมใครกรรมมันนะอย่าลืม ใครเขาอยากจะตีให้เขาตีไป เราหลบได้เราหลบ หลบอยู่ในธรรม” ธรรมะของพระพุทธเจ้า ไม่มีตัวมีตน หลบพ้นนะลูก ถ้าหลบไม่พ้นก็ให้รับอย่างพระโมคคัลลานะ รับอย่างคนฉลาด อย่ารับอย่างโง่ ๆ รับแล้วไปนิพพาน คือ รับด้วยจิตผ่องใสบริสุทธิ์ ไม่ใช่รับด้วยความขัดข้องหมองใจ จิตไม่บริสุทธิ์ การไปของจิตก็บริสุทธิ์ไม่ได้ อย่ารับอย่างคนโง่เพราะมีอบายภูมิ ๔ เป็นที่ไป


          ๓. “เรามันประกาศตัวเป็นลูกพระพุทธเจ้าแล้ว ต้องเชื่อท่านซิ ” เชื่อพระพุทธ-พระธรรม-พระอริยสงฆ์ ท่านว่าอย่างไร เราก็ว่าอย่างนั้นจึงจะได้ดี จึงจะไปพระนิพพานได้ตามท่าน



โปรดติดตามอีกตอนนะครับ

ที่มา ทางนิพพาน

ทำนองเพลง ลาวม่านแก้ว



Create Date : 28 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 28 พฤศจิกายน 2554 13:22:39 น. 0 comments
Counter : 533 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หมึกสีดำ
Location :
ขอนแก่น Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add หมึกสีดำ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.