Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2548
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
21 มิถุนายน 2548
 
All Blogs
 

เล่ม ๒ บทที่ ๗ ชุบมือเปิบ (๔)

ย้อนกลับไป 300 ปีก่อน ณ จักรวรรดิทางช้างเผือก


บนดาวเคราะห์ดวงที่เจ็ดของหมู่ดาวอัลไตน์อันแสนจะหนาวเหน็บ ยังมีหนุ่มฉกรรจ์ผู้ฝักใฝ่ประชาธิปไตยคนหนึ่งที่ถูกใช้งานหนักในฐานะกรรมกรเหมืองแร่ เรียกได้ว่าเป็นทาสแรงงานดี ๆ นี่เอง ชื่อของเขาคือ อาร์เร ไฮเนสเซน


ชายหนุ่มผู้นี้มุ่งมั่นอยู่ตลอดเวลา ที่จะพาพรรคพวกผู้ฝักใฝ่ในประชาธิปไตยด้วยกันหนีออกจากดาวเคราะห์นั้น แล้วเดินทางไปในห้วงอวกาศอันไกลโพ้นเพื่อสร้างประเทศใหม่ขึ้นมา แต่ความคิดของเขาก็มีอุปสรรคสำคัญคือ วัตถุดิบที่จะนำมาสร้างยานอวกาศ


วันหนึ่ง ไฮเนสเซนเห็นพวกเด็ก ๆ กำลังเล่นสนุกบนเรือลำเล็ก ๆ ที่ทำขึ้นเอง เรือนั้นขุดจากก้อนน้ำแข็ง และนี่ทำให้ชายหนุ่มได้ไอเดียทันที


เขาลงมือสร้างยานอวกาศด้วยน้ำแข็งแห้งที่มีอยู่มหาศาลในดาวเคราะห์ที่เจ็ดของอัลไตน์ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเดินทางอันแสนจะยาวไกลนับเป็นเวลาถึงห้าสิบปี และนับเป็นระยะทางร่วมหนึ่งหมื่นปีแสง


ตำนานอันยิ่งใหญ่ของมหาบุรุษผู้เป็นบิดาแห่งสมาพันธ์ดาวเคราะห์เสรี- ไฮเนสเซนนั่นเอง


“ยุทธการในครั้งนี้ เลียนแบบมาจากวีรกรรมของไฮเนสเซน- บิดาผู้ก่อตั้งประเทศเรา”


หยางกล่าวนำ ไม่ใช่ด้วยอารมณ์อยากโอ่อวด แต่เป็นอารมณ์ตลกลึกมากกว่า เนื้อหาของยุทธการคือ


ดาวเคราะห์ทริวนากาลซึ่งเป็นดาวเคราะห์ดวงที่หกในหมู่ดาวบารัตนั้น เป็นดาวเคราะห์น้ำแข็งอันหนาวเหน็บ จากดาวนี้จะสกัดตัดเอาก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ออกมาสิบสองก้อน แต่ละก้อนมีขนาดหนึ่งลูกบาศก์กิโลเมตร คิดเป็นมวลก็ตกหนึ่งพันล้านตัน


ขนก้อนน้ำแข็งยักษ์ที่ได้ไปยังห้วงอวกาศอันไร้แรงโน้มถ่วง ในห้วงอวกาศอุณหภูมิเย็นถึงศูนย์องศาสัมบูรณ์ หรือติดลบ 273.15 องศาเซลเซียส ดังนั้นไม่ต้องห่วงว่าน้ำแข็งจะละลายแม้แต่น้อย


จากนั้นติดตั้งเครื่องยนต์สำหรับขับเคลื่อนยานอวกาศเข้ากับน้ำแข็งแต่ละก้อน โดยใช้แสงเลเซอร์เจาะตามแนวแกนของก้อนน้ำแข็งซึ่งมีรูปทรงกระบอก แล้วติดตั้งเครื่องยนต์เจ็ตชนิดบัสซาร์ดแรม (Bussard-Ram Jet Engine) เข้าไป


เครื่องยนต์นี้จะฉาย (project) สนามแม่เหล็กรูปบาสเก็ตขนาดยักษ์ทางด้านหน้า ทำให้สสารในห้วงอวกาศเกิดการแตกตัวเป็นไอออน (Ionization) แล้วจับตัวด้วยผลของประจุไฟฟ้า เมื่อประจุดังกล่าวเข้ามาใกล้ก้อนน้ำแข็ง ก็จะถูกบีบอัดอย่างรวดเร็วในเวลาสั้น ๆ และร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วกลายเป็นสภาวะของปฏิกิริยาฟิวชันภายในตัวเครื่องยนต์ แล้วพ่นออกไปทางด้านหลังด้วยพลังงานที่รุนแรงกว่าตอนขาเข้าจากด้านหน้าหลายเท่า


ในระหว่างที่ขับเคลื่อนไป ก้อนน้ำแข็งที่ไม่มีคนขับก็จะถูกเร่งความเร็วไปตลอดเวลา ยิ่งความเร็วเข้าใกล้ความเร็วแสงเท่าใด ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพในการดูดเอาสสารในอวกาศสูงขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ก้อนน้ำแข็งจะมีความเร็วใกล้เคียงความเร็วแสงได้


ทีนี้ ลองกลับมาพิจารณาทฤษฎีพื้นฐานอย่างทฤษฎีสัมพันธภาพดู กล่าวคือ ยิ่งวัตถุมีความเร็วเข้าใกล้ความเร็วแสงมากเพียงใด ก็จะยิ่งมีมวลประสิทธิผล (Effective Mass) สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว


ยกตัวอย่างเช่น ยานอวกาศที่เคลื่อนด้วยความเร็ว 99.9% ของความเร็วแสง จะมีมวลประมาณ 22 เท่าของมวลตั้งต้น หากมีความเร็วเป็น 99.99% ของความเร็วแสง มวลดังกล่าวจะเป็น 70 เท่า และหากเป็น 99.999% จะมีมวลเป็น 223 เท่า


ก้อนน้ำแข็งที่มีมวลตั้งต้น 1,000 ล้านตัน หากกลายเป็น 223 เท่าก็จะมีมวลถึง 223,000 ล้านตัน และหากก้อนน้ำแข็งที่มีมวลเท่ากับเอาตึกขนาดหกสิบชั้นมาอัดรวมกันถึง 3 ล้านตึก พุ่งเข้าชนเป้าหมายด้วยความเร็วใกล้แสงล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น? ดาวเทียมทหารที่มีรูปร่างเลียนแบบ “สร้อยพระศอของเทพีอาร์เตมิส” นั้นคงจะต้องแหลกลานไปไม่เหลือซากเดิมแม้แต่น้อยเป็นแน่


เพียงแต่ ประเด็นสำคัญคือ จะต้องตั้งทิศทางชนของก้อนน้ำแข็งยักษ์เหล่านั้นให้ละเอียดรอบคอบและแน่นอนที่สุด เพื่อมิให้มันมีโอกาสพุ่งเข้าชนหรือแม้แต่แฉลบกับดาวเคราะห์ไฮเนสเซนได้แม้แต่นิดเดียว เนื่องจากดาวเทียมทหารทั้งสิบสองดวงไม่มีคนประจำการ และก้อนน้ำแข็งก็ไม่ต้องมีคนบังคับ ดังนั้นจึงไม่มีการหลั่งเลือดแม้แต่หยดเดียว


“... ใครมีคำถามอะไรไหม?”


เชนค็อปยกมือขึ้นทันที


“ทำลายเรียบทั้งสิบสองดวงเลย จะดีหรือครับผม?”


กล่าวคือ เขาถามเป็นเชิงแดกดันว่า เหลือทิ้งไว้บ้าง เผื่อจะได้ใช้งานในอนาคตจะไม่ดีกว่าหรือ


“ดี ทำลายให้เกลี้ยงไปเลย”


หยางตอบง่าย ๆ ไม่มีน้ำเสียงลังเลแม้แต่น้อย เขาเชื่อว่า สาเหตุที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเชื่อฝังใจว่าจะไม่มีทางที่เกิดรัฐประหารได้สำเร็จในสมาพันธ์ ก็เพราะว่ามี “สร้อยพระศอของเทพีอาร์เตมิส” นี่ไม่ใช่หรือ


มันคือสัญลักษณ์ของความเชื่อที่ว่า ต่อให้ดาวเคราะห์ดวงอื่น หมู่ดาวหมู่อื่นถูกศัตรูยึดครองไปได้หมดก็ตาม ไฮเนสเซนจะไม่มีวันแตก แต่ในความเป็นจริง หากมีข้าศึกบุกเข้ามาถึงรอบนอกของดาวไฮเนสเซนได้จริง มันก็แปลว่าการสงครามครั้งนั้นกำลังจะถึงขั้นสุดท้ายที่จบด้วยความพ่ายแพ้ของสมาพันธ์แล้วนั่นเอง เพราะฉะนั้นอย่ายอมให้ข้าศึกล่วงล้ำมาถึงจุดนี้ได้ตั้งแต่แรกจะดีกว่า หรือให้ดีที่สุด ก็หลีกเลี่ยงสงครามเสีย มีตั้งหลายวิธีที่จะเลี่ยงสงครามได้ ไม่ว่าจะใช้การเมือง การทูต เราควรทุ่มเทความพยายามไปทางนั้นมากกว่า


การไปฝากความหวังของการรักษาสันติภาพกับฮาร์ดแวร์ทางทหารนั้น เป็นผลลัพธ์อันเลวร้ายที่เกิดจากแนวคิดคร่ำครึของพวกชอบทำสงครามเท่านั้นเอง หากกล่าวในแง่ของระดับความนึกคิดแล้ว ก็แค่ระดับของหนังแอคชันหลอกเด็กที่ฉายในโซลิดวิชัน (โทรทัศน์สามมิติ) เท่านั้น ทำนองว่า อยู่มาวันหนึ่ง ก็มีเอเลียนที่แสนจะชั่วร้ายและบ้าสงคราม หลุดมาจากห้วงอวกาศไกลโพ้นตรงเข้ามาโจมตีดาวของเรา มนุษยชาติที่รักสงบและมุ่งมั่นในคุณธรรมจึงต้องต่อสู้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนั่น ก็ต้องใช้อาวุธสงครามที่ร้ายแรงหรือฐานทัพที่มีประสิทธิภาพ ทำนองนั้น


ทุกคราวที่หยางแหงนหน้าขึ้นและมองเห็นหมู่ดาวเทียมที่ล้อมรอบดาวเคราะห์ที่สวยงามนี้ เขาอดนึกถึงงูที่พันรอบคอของเทพีไม่ได้ และรู้สึกขยะแขยงขึ้นมาทันที


กล่าวคือ หยางไม่ชอบหน้า ไอ้สิ่งที่เรียกกันว่า “สร้อยพระศอของเทพีอาร์เตมิส” มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว จึงถือโอกาสจะทำลายมันเสียเลย และควบกับไปกับรักษาอาการบูชาฮาร์ดแวร์ของคนบางพวกไปด้วย ที่จริง วิธีปลดประจำการของ “สร้อยพระศอของเทพีอาร์เตมิส” มีอยู่มากมายเท่าที่หยางนึกได้ แต่เขาเลือกใช้วิธีที่โอเวอร์แอคชันที่สุด ด้วยเหตุดังกล่าวแล้ว




เริ่มยุทธการ


ก้อนน้ำแข็งยักษ์สิบสองก้อน ต่างมุ่งหน้าตรงเข้าหาดาวเทียมทหารทั้งสิบสองดวงนั้นอย่างมุ่งมาด


ช่างเป็นภาพที่เหนือคำบรรยายหรือจินตนาการเสียเหลือเกิน ยิ่งมีความเร็วสูงขึ้นเท่าใด มวลของก้อนน้ำแข็งก็ทวีคูณเป็นเงาตามตัว และมันกำลังอาศัยความมหึมาทั้งขนาดและมวลของมันเป็นอาวุธมหากาฬ


ระบบตรวจการณ์ของดาวเทียมเหล่านั้น เช่น เรดาร์ เซ็นเซอร์ (อุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณ) ฯลฯ ล้วนจับได้ถึงวัตถุขนาดยักษ์ที่พุ่งตรงเข้าหาพวกมัน แต่สิ่งที่ตรวจพบนั้น ไม่ใช่ทั้งลำแสงพลังงาน ไม่ใช่วัตถุโลหะ แต่เป็นเพียงสารประกอบของธาตุไฮโดรเจนกับธาตุออกซิเจนเท่านั้น โดยพื้นฐานแล้วไม่มีพิษมีภัยแต่ประการใดไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีปัจจัยความอันตรายอยู่เนื่องมาจากมวลและความเร็วอันมหาศาล ดังนั้นคอมพิวเตอร์ของดาวเทียมจึงทำงานตอบสนองทันที


ปืนแสงเลเซอร์ถูกเล็งไปที่ก้อนน้ำแข็ง แล้วก็ปล่อยลำแสงพลังงานที่ร้อนแรงออกไปเป็นลำกลม


เกิดรูกลมดิกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 เมตรขึ้นที่ผิวของก้อนน้ำแข็งทันที แต่ไม่สามารถเจาะทะลุทะลวงผ่านก้อนน้ำแข็งนี้ไปได้ต่อให้เป็นปืนเลเซอร์พลังงานสูงก็ตาม ตรงกันข้ามสมบัติเฉพาะตัวของแสงเลเซอร์ที่บีบรวมโฟกัสและความเข้มแสงไว้เป็นลำขนานนั้นกลับเป็นผลร้าย กล่าวคือ ทำให้มันไม่สามารถขยายความเสียหายบนเป้าหมายในครั้งนี้ให้ลุกลามใหญ่โตไปได้ เพียงทำให้ส่วนหนึ่งของน้ำแข็งระเหิดเป็นไอน้ำ เกิดเป็นควันขาวคลุ้งขึ้น และดึงดูดเอาความร้อนของเลเซอร์ไปจนหมด ยิ่งกว่านั้น เมื่อไอน้ำสัมผัสกับความเย็นระดับศูนย์สัมบูรณ์ในห้วงอวกาศก็ถูกทำให้เย็นตัวอย่างรวดเร็ว (Rapid cooling) และควบแน่นกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็งละเอียด ซึ่งก็ยังคงวิ่งด้วยความเร็วใกล้แสงอยู่ดี ตามหลักของความเฉื่อยในการเคลื่อนที่ ดังนั้นมวลรวมของวัตถุที่กำลังพุ่งเข้ามาจึงไม่ได้หดหายไปตามการทำลายของเลเซอร์เลยแม้แต่น้อย คราวนี้ เป็นทีของจรวดมิสซายล์จะทำงานบ้าง ส่งผลให้เกิดระเบิดลูกใหญ่บนผิวของก้อนน้ำแข็ง แต่ดูด้วยสายตาก็เห็นชัดว่า มันไม่ได้ส่งผลใด ๆ ในการทำลายหรือแม้แต่จะยับยั้ง


บนสะพานเรือของเรือธงไฮเปอเรียนของหยาง คนในนั้นต่างกำลังมองภาพที่เกิดขึ้นอย่างเงียบกริบ พนักงานสื่อสารได้แต่จับจ้องมองตัวเลขของมวลก้อนน้ำแข็งที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยไม่คิดจะทำอย่างอื่น ตัวเลขนั้นทวีค่าขึ้นอย่างน่ากลัวเมื่อยิ่งเข้าใกล้ความเร็วแสงเข้าไปทุกขณะ




แล้วก้อนน้ำแข็งก็พุ่งเข้าชนเป้าหมาย!!!




ก้อนน้ำแข็งแหลกละเอียดไปทันที... และดาวเทียมก็เช่นกัน เศษน้ำแข็งกระจายกลาดเกลื่อนสะท้อนแสงของดาวอาทิตย์และดาวเคราะห์เป็นประกายระยิบระยับ เศษแต่ละชิ้นยังคงมีมวลถึงหลายร้อยตัน แต่มองจากจอภาพ ดูมันเบาหวิวยิ่งกว่าเกล็ดหิมะหนึ่งกำมือเสียอีก แยกแยะไม่ออกว่า บัดนี้เศษของดาวเทียมทหารเหล่านั้น หายไปไหนแล้ว




 

Create Date : 21 มิถุนายน 2548
0 comments
Last Update : 21 มิถุนายน 2548 9:45:53 น.
Counter : 452 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


star_seeker
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add star_seeker's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.