Apple has lost a visionary and creative genius, and the world has lost an amazing human being.

But his spirit will forever be the foundation of Apple. 6 October 2011

<<
ธันวาคม 2558
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
17 ธันวาคม 2558

เหลียวหน้า แลหลัง ดูหนังใหญ่ : ชุดพระนครไหว (2)




หนังใหญ่ถือเป็นศิลปะการแสดงของไทยชั้นสูง หลังปฏิรูปการปกครอง 2475
สิ่งเหล่านี้จึงได้เลือนลางหายไป โชคดีที่ยังมีบันทึกหลงเหลือไว้เป็นหนังสือ ชื่อ
เรื่องหนังที่เล่นในงานมโหรศพ ในเรื่องลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ 6
พิมพ์ในงานพระศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโตสินี พุทธศักราช 2463

ซึ่งเป็นเจ้านายวังหน้า 1 ใน 2 พระองค์ ที่ถือว่ามีความรู้ในเรื่องหนังเป็นอย่างดี
ทำให้องค์ความรู้โบราณของการเล่นหนังใหญ่ ยังคงสืบต่อกันมาได้จนปัจจุบัน
ผมจะขอถ่ายทอดออกมาเพื่อเป็นความรู้แก่ทุกคน ลิขสิทธิ์คงหมดไปนานแล้ว
เนื้อหาฉบับจริงไม่ยาวมาก แต่ก็คงมากอยู่ดี ผมจะพยายามสรุปประเด็นให้ก็แล้ว

การแสดงหนังเป็นเครื่องเล่นอย่างหนึ่งของชาวพระนคร ถ้ามีงานมโหศพเมื่อใด
ก็จำเป็นต้องตั้งจอขึ้นเล่นเมื่อนั้น เป็นเหตุให้ครึกครื้น เอิกเกริก แก่ประชาชน
นิยมเล่นเรื่องนารายณ์ปางที่สิบ ที่เรียกว่า เรื่องรามลักษณ์ ที่จับมาเป็นตอนๆ
โดยสลักแผ่นหนังขึ้นเป็นรูปภาพตามท้องเรื่อง มีรูปพระราม นางสีดา เป็นต้น
เอาขึ้นจอเชิดชูทาบเข้ากับจอให้สงไฟขาวส่องสว่างออกมาให้เห็นภาพนั้น

การทำตัวหนังขึ้นนั้นใช้หนังโคแช่น้ำให้อ่อนแล้วขึงผึ่งแดดไว้จนแห้ง
แล้วเอาเหล็กขูดๆ ให้บาง ดูจนเสมอเรียบร้อยจึงเอาเขม่าก้นหม้อ
หรือกาบมะพร้าวเผาละลายน้ำให้เข้ากันนำมาเช็ดผืนหนังให้ทั่วทั้งสองด้าน
ดูพอดำดีแล้วจึงไปตากให้แห้ง เมื่อแห้งแล้วให้ถูด้วยฝักเข้าประสงค์จนเป็นมัน

แล้วจึงหาช่างเขียนฝีมือดีมาเขียนเป็นรูปต่างๆ เมื่อเสร็จตรวจดูช่องไฟต่างๆ
ว่าไม่ขัดขวางกันดีแล้วจึงลงมือสลัก มีสิ่วฉาก สิ่วเล็บมือ มุกใหญ่ มุกกลาง มุกยอด
มุกเป็นเครื่องมือสำหรับกัดตามเส้นรูปภาพ ครั้นสลักเสร็จจึงย้อมให้เป็นสีต่างๆ บ้าง
ถ้าเป็นสีขาวก็ใช้เหล็กขูดเขม่าออก สีเขียวใช้จุลสีฝนมะนาว สีแดงใช้ฝางกับสารส้ม

แต่หนังตัวนางนั้นมักนิยมแกะแบบหน้าแขวะ แทนที่จะฉลุก็แกะเอาพื้นหนังออก
เมื่อสิ่งเข้ากับไฟก็จะสว่างขาว จากนั้นก็เอาไม้มาสี่ซีกขนาบเข้าสองข้างสำหรับถือเชิด



หนังรูปเดิน เรียกว่า คเนจร
หนังรูปเหาะ เรียกว่า ง่า
หนังที่เป็นการประชุมพล เรียกว่า เขน
หนังที่เป็นลิงขาวมัดลิงดำมาหาฤาษีเรียกว่า เตียว
หนังที่เป็นรูปตลก เรียก จำอวด

หนังที่เป็นการเข้าโรมรันกัน เรียกว่า หนังจับ (จับหนึ่ง จับสอง จับสาม)
(คล้ายกับฉากยิงธนูที่จะมีสามท่าเช่นกัน ได้แก่ โก่งศร น้าวศร แผลงศร
ซึ่งสมัยโบราณเค้ามีตัวหนังเยอะ ท่าเหล่านี้ก็จะยืดเป็นหลายๆ ตัว
ปัจจุบันตัวหนังมันทำยากก็เลยมักจะยุบจากสามเหลือแค่ท่าเดียวพอรู้เรื่อง)

นอกจากนี้ยังมีฉากหนี ฉากไล่ ลากชาย หนังไหว้ หนังรถ หนังเมือง
หนังพลับพลา หนังปราสาทพูด หนังปราสาทโลม (เล้าโลมนั่นล่ะ)

หนังสำคัญสามตัวที่ผู้เบ่นเคารพกันนั้น ได้แก่ พระแผลง 2 ตัว รูปฤาษี 1ตัว
รวมเรียกว่า หนังเจ้า รูปพระแผลงสองตัวต้องใช้หนังโคตายพรายมาทำ
หนังฤาษีต้องหาหนังเสือหนังหมีก้ได้ เอามาทำจึงจะถือว่าขลัง
หนังเจ้าทั้งสามตัวนั้นคนสลักต้องนุ่งขาวห่มขาว แล้วทำให้เสร็จในวันเดียว

เวลาจะเขียนจะสลักต้องมีของคำนับครู คือบายศรีปากชาม เครื่องกระยาบวช หัวหมู
เงินติดเทียน 6 บาท ถือเป็นของให้แก่ผู้สลักเมื่อทำเสร็จ สลักเสร็จให้ระบายสี
ตัวหนึ่งสีเขียวสมมุติเป็นพระนารายณ์ ตัวหนึ่งสีเหลืองหรือปิดทองสมมุติเป็นพระอิศวร
หนังเจ้าทั้งสามระบายสีต่างๆ ตามลายผ้านุ่งแลกนก นำมาตั้งหน้าพระตั้งแต่เวลายังไม่ค่ำ



การทำจอ เอาผ้าขาวอย่างหยาบมาตัดเพลาะเข้าด้วยกันเป็นกลางจอ เพื่อให้ตัวหนังสว่าง
ถัดไปเป็นให้ผ้าดิบอย่างหนาเป็นด้านมืด ประสงค์ให้ค่อยๆ เห็นตัวหนังออกมา
ขอบจอทั้งสี่ด้านเป็นผ้าเขียวคราม เอาเชือกสอดบนและล่างใช้ขึงเรียกว่า หนวดพราหมณ์
ผ้าสำหรับวงหลังจอเรียกว่า บังคับเพลิง แต่ก่อนใช้ผ้าใบเรือ ต่อมาใช้เป็นผ้าขาวดิบ

ขนาดจอธรรมดายาว 7 วา 2 ศอกเศษ ถ้าเป็นงานใหญ่อาจยาวได้ถึง 9 วา 11 วา
ระบายก้อยหน้าจอใช้ผ้าแดงบ้าง เขียวบ้าง ดำบ้างสลับกัน แล้วเอาทองอังกฤษมาย่น
หรือกระดาษน้ำลายตะโก สลักเป็นลวดลายต่างๆ ติดเข้ากับระบายจอ บ้างใช้กระจกเงา
แล้วห้อยแขวนด้วยลูกลุ่ยตามชายระบายจอนั้น ประสงค์ให้ดูงามแปลบปลาบตา

วิธีการตั้งจอ กำหนดใช้เสาจอยาว 3 วา ถ้าจอกว้างมาก็ขยายตามส่วน ใช้เสา 4 ต้น
เหลาให้กลมมีเม็ดรูปต่างๆ ติดปลายเสา ต่ำลงมาศอกหนึ่งติดรอกสำหรับชักผ้าใบ
ปลายเสาสี่ด้านปักหางนกยูงเป็นกำใหญ่ ยอดหางนกยูงเสียบธงแดงธงช้างบ้าง

เสาสำหรับจอบังเพลิงที่ล้อมวงหลังจอ ใช้ 6 ต้น มีธงแดงเสียบปลายแต่ 4 ต้น
สองต้นไม่ต้องเสียบธง เพราะเหนี่ยวมาผูกติดไว้จอจนมองไม่เห็น เพราะเหนี่ยวมา
ผูกติดไว้กับจอ แล้วมีเชือกแดงสองเส้นผูกเข้ากับตระกรุดเบ็ด ไว้ที่คร่าวข้างบนข้างละเส้น
สำหรับเหนี่ยวรั้งเอาเสาบังเพลิงมาผูกกับจอให้แน่น แล้วโยงถ่างไปข้างหน้าข้างหลัง
ด้านสองสายมิให้จอล้ม เสาบังเพลิงอีก 4 ต้น ที่เสียบธงนั้นก็มีเชือกเหนี่ยวโยงไปข้างหลัง



การเล่นหนัง พอตั้งจอเสร็จ นายหนังก็จะใส่ให้คนขนตัวหนังมาทอดไว้ในจอ
แล้วขนเครื่องพิณพาทย์และสิ่งของในการเล่นมาโดยพร้อมเพรียง
พอได้เวลาก็เชิญหนังเจ้าทั้งสามมาตั้งที่หน้าจอ เจ้าที่เป็นรูปอิศวรและนารายณ์
หันหน้าเข้าหากัน เจ้าฤาษีตั้งตรงกลาง ไม่ให้ลอดจอ ต้องอ้อมมาด้านหลังจอ

เจ้าของงานเอาเทียน 3 เล่ม กับเงินสองสลึงเฟื้องมาให้แก่นายหนัง
นายหนังเอาเทียนให้แก่เครื่องพิณพาทย์เล่มหนึ่ง รับมาจุดไว้ที่ตะโพน
ทำเพลงโหมโรงตั้งสาธุการและออกตระ รัวสามลา เข้าม่าน ลา เสมอ
เป็นหกเพลงด้วยกัน พิณพาทย์หยุด คนเจรจาจุดเทียนมาผูกที่หนังเจ้าสององค์

คนเชิดชูรูปพระอิศวรและพระนารายณ์ขึ้นจอ พวกพิณพาทย์ก้ทำเพลงเชิดต่อไป
แต่รูปฤาษีเชิญกลับเข้าจอ แล้วยกมือปะที่จอห้ามพิณพาทย์ พิณพาทย์หยุด
คนเจรจาสองคนก็พากย์กันคนละที เรียกว่า พากย์สามตระ

ข้าไหว้พระเสร็จเรืองฤทธา ทศรฐมหา
เป็นสำหรับพระธรณี

..............

เรียกว่า 1 ทวย พิณพาทย์เชิดอีก คนเจรจายกมือขึ้นห้ามพิณพาทย์ แล้วพากย์ทวยสอง

โอมฤาษีสิทธิฤทธิเดโชไชย เดชพระเลิศไกร
ประสิทธิพรมงคล

................

พิณพาทย์เชิดอีก คนเจรจายกมือขึ้นห้ามพิณพาทย์ แล้วพากย์ทวยสาม

สำเร็จสนทสานนท์สำแดง เขียนแล้วดัดแปลง
เป็นเกียรติยศพระรามา

……………

จุดๆ แทนโคลงซึ่งยาวประมาณ 20 บท ผมพิมพ์ไม่ไหวนะ



ส่วนนายไต้ที่คอยอยู่ในจอถือไฟไว้สามลำ ก็เอาใต้ขึ้นวนบนแป้นสามรอย
แล้วเอาวางลงบนแป้นที่กองไต้ไว้ ไฟก็ติดโชนขึ้น พวกพิณพาทย์ก็ทำเพลงเชิด
ขึ้นพร้อมกัน ฝ่ายคนเจรจาก็ออกมาดับเทียนที่จุดบูชาหนัง แล้วจุดเจิมเสกเป่า
ตามที่ได้ร่ำเรียนมา คนเชิดหนังเจ้ากลับเข้าจอ ทั้งหมดนี้เรียกว่า เบิกหน้าพระ

การเบิกหน้าพระนี้ใช้เฉพาะงานราษฎรเท่านั้น สำหรับงานหลวงแล้วใช้ปล่อย
ลิงจับหัวค่ำทีเดียว ออกลิงหัวค่ำคือเชิดง่าลิงขาวกับลิงดำออกจับกัน มีจับหนึ่ง
แล้วปล่อย จับสองแล้วปล่อย สุดท้ายคือจับสาม แล้วลิงขาวมัดลิงดำแลฤาษีออก
ตรงนี้คนเจรจาตามเรื่องทำเสียงเป็นชาเหนือกลายๆ แล้วเชิดเตียวกลับ

หนังบางโรงเมื่อเบิกหน้าพระแล้วเชิดบ้องตันแทงเสือออกแทนลิงหัวค่ำก็มี
ก็นานๆ ครั้ง จึงจะได้เห็น เมื่อปล่อยลิงหัวค่ำแล้วก็จับเรื่องรามเกียรติ์ต่อไป

การเล่นหนัง โบราณนั้นชอบเล่นเมื่อทูตขรตรีเศียร พอเล่นไปถึงยามสอง
พอถึงฑูตขรตายเรียกว่า ขรล้ม แต่คนดูมักจะเรียกว่าล้มขร แล้วก็หยุดเลี้ยงคราวหนึ่ง
แล้วนอนในจอหนังเรียกว่าหนังยับ คือเอาหนังพักไว้ที่หน้าจอก่อน
ครั้นสิบเอ็ดทุ่มจวนสว่าง ก็ปลุกกันขึ้นมาเล่นไปอีกพักต่อสว่างจึงเลิก

แต่ปัจจุบัน (ตามปีที่เขียน) เล่นกันเพียงครึ่งคืนน สองยามหรือเจ็ดทุ่มก็เลิก


จากการตรวจสอบ หนังใหญ่ที่ประดับอยู่ในห้องหุ่นละครพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
พบว่าไม่ใช่หนังใหญ่ชุดพระนครไหว หวังว่าสักวันเราจะได้ยลของจริง .. สักครั้ง



Create Date : 17 ธันวาคม 2558
Last Update : 17 ธันวาคม 2558 15:40:28 น. 1 comments
Counter : 1123 Pageviews.  

 
ความรู้ใหม่แทบทั้งหมดค่ะ เพราะไม่เคยดูเลย


*** จนป่านนี้ ยังไม่ได้พาลูกนั่งรถไฟเลยค่ะ


โดย: สายหมอกและก้อนเมฆ วันที่: 17 ธันวาคม 2558 เวลา:16:51:55 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ผู้ชายในสายลมหนาว
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 21 คน [?]




New Comments
[Add ผู้ชายในสายลมหนาว's blog to your web]