Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
10 กรกฏาคม 2550
 
All Blogs
 
ป๋วย อึ๊งภากรณ์



ชีวประวัติ

เกิด นายป๋วย อึ๊งภากรณ์เกิดเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ที่บ้านตรอกโรงสูบน้ำ ตลาดน้อย บิดาเป็นชาวจีนชื่อซา แซ่อึ๊ง มารดาเป็นลูกครึ่งไทยจีนชื่อเซาะเซ็ง แซ่เตียว ชื่อป๋วยนั้น แปลว่า พูนดินที่โคนต้นไม้ บิดาคงหมายใจที่จะให้ความหมายว่า บำรุง หล่อเลี้ยง ให้แข็งแรงสมบูรณ์

มารดาเป็นบุตรสาวคนโตของเจ้าของร้านขายผ้าที่สำเพ็ง ส่วนบิดาทำงานช่วยพี่ชายอยู่แพปลาแถวปากน้ำ ครอบครัวป๋วยมีพี่น้อง ๗ คน ป๋วยเป็นคนที่ ๔

เรียน ถึงแม้ครอบครัวจะมีฐานะยากจน ก็ยังอุตส่าห์ตั้งใจส่งเสียป๋วยให้ได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกภาษาฝรั่งเศส ซึ่งมีค่าเล่าเรียนแพงมาก คือ ๗๐ บาทต่อปี อยู่มาบิดาก็ล้มป่วยเสียชีวิตโดยกระทันหัน เมื่อป๋วยอายุได้เก้าขวบ มิได้ทิ้งทรัพย์สมบัติอะไรไว้ให้เลย แต่ลุงก็รับอุปการะครอบครัวต่อ โดยส่งเสียให้เป็นรายเดือน มารดาก็พยายามส่งเสียจนกระทั่งป๋วยศึกษาจนสำเร็จ อายุได้ ๑๘ ปี เขาสมัครงานเป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนเดิมนั้นเอง โดยรับเงินเดือนสี่สิบบาท ให้มารดาเดือนละสามสิบบาท เก็บไว้ใช้เองสิบบาท

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองได้เปิดให้เข้าเรียน โดยคิดค่าวิชาเรียนละ ๒ บาท เขาใช้เวลาเรียนภาคค่ำและวันหยุดในการศึกษาเพิ่มเติม จนกระทั่งสำเร็จปริญญาตรีด้านกฎหมายและการเมืองในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เมื่อจบแล้วก็ลาออกมาทำงานเป็นล่ามให้กับอาจารย์ชาวฝรั่งเศส ที่มหาวิทยาลัยนั้นเอง

ปีถัดมา ป๋วยสอบชิงทุนรัฐบาลไปศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์และการคลัง ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน เมื่อป๋วยออกเดินทางไปได้หกเดือน มารดาก็ถึงแก่กรรม

ด้วยเวลาเพียงสามปี ป๋วยก็สำเร็จการศึกษา ด้วยผลการเรียนดีเด่น ทำคะแนนเป็นที่หนึ่งของ บรรดาผู้ได้เกียรตินิยม ทำให้ได้รับทุนลีเวอร์ฮูมส์ สามารถศึกษาต่อระดับปริญญาเอกได้เลย แต่เผอิญกับสงครามโลกครั้งที่สองถูกประกาศ เขาตัดสินใจพักการเรียน เพื่อทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของเสรีไทยในอังกฤษ มีชื่อรหัสแทนตัวว่า นายเข้ม เย็นยิ่ง

เขาได้รับการฝึกหัดการสู้รบที่อินเดีย ได้รับยศเป็นร้อยเอก ก่อนที่จะถูกส่งตัวเข้าไปในประเทศไทย เพื่อหาทางติดต่อกับรูธ ซึ่งเป็นรหัสแทนตัวของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในขณะนั้น และเป็นหัวหน้าเสรีไทยในประเทศไทย เพื่อส่งสัญญาณวิทยุติดต่อกับกองทัพอังกฤษที่อินเดีย โดยส่งข้อมูลุพิกัดสถานที่สำคัญ ดังเช่นพระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว เพื่อมิให้เครื่องบินอังกฤษทิ้งระเบิดมาทำลายได้

เมื่อเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ป๋วยได้รับยศเป็นพันตรีแห่งกองทัพบกอัีงกฤษ ได้รับหน้าที่ไปเจรจากับอังกฤษร่วมกับเสรีไทยคนอื่น เพื่อให้รับรองสถานภาพของเสรีไทย และเจรจาให้ปล่อยเงินตราสำรองที่รัฐบาลไทยฝากไว้ในธนาคารกลางอังกฤษ

จากนั้นป๋วยก็คืนยศทหารให้แก่กองทัพอังกฤษ และเดินทางกลับไปสมรสกับนางสาวสมิธที่ลอนดอน พร้อมกับศึกษาปริญญาเอกต่อ โดยทำวิทยานิพนธ์หัวข้อ "เศรษฐศาสตร์การควบคุมดีบุก" โดยใช้เวลาศึกษาตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๔๘๙ - ๒๔๙๑ จึงสำเร็จการศึกษา แต่ยังกลับเมืองไทยไม่ได้ เพราะสถานการณ์การเมืองไม่ปรกติ รัฐบาลของปรีดี พนมยงค์ถูกทำรัฐประหาร ญาติจึงห่วงเรื่องความปลอดภัย



งาน ปีถัดมา เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย ป๋วยตัดสินใจเข้ารับราชการ ถึงแม้จะมีบริษัทเอกชน ห้างร้านต่าง ๆ มาติดต่อทาบทามจำนวนมาก พร้อมกับเสนอเงื่อนไขเงินเดือนสูง เพราะเขาถือว่า เกิดเมืองไทย กินข้าวไทย รับทุนรัฐบาลจากชาวนาไทยไปเมืองนอก จึงควรที่จะรับราชการเป็นเครื่องสนองคุณ

ตำแหน่งแรกที่ได้รับคือเศรษฐกร กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง จากนั้นก็ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นตามลำดับ มีตำแหน่งสำคัญในธนาคารแห่งประเทศไทย และได้ยืนยันที่จะรักษาผลประโยชน์ของชาติมากกว่าของผู้มีอำนาจในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชน์ หรือพลเอกเผ่า ศรียานนท์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังขณะนั้นจึงได้ย้ายเขา ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลัง ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยในอังกฤษ เพื่อความปลอดภัยของเขาเอง ในช่วงนี้ไทยสามารถขายดีบุกเป็นสินค้าออกสำคัญได้มากขึ้น

เมื่อจอมพลสฤษดิ์ก่อรัฐประหาร ได้เชิญเขา มารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งป๋วยได้ปฏิเสธ โดยอ้างคำสาบานครั้งปฏิบัติหน้าที่เป็นเสรีไทยว่า จะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดเลย จนกว่าจะเกษียณอายุราชการ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ในการเป็นเสรีไทยโดยไม่มุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมืองใด จอมพลสฤษดิ์จึงได้ตั้งให้ดร. ป๋วยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ช่วงระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ชื่อว่าปลอดจากการเมืองมาแทรกแซง เพราะนักการเมืองต่างให้ความเชื่อถือในฝีมือการบริหาร ความรู้ด้านเศรษฐกิจการเงิน และความซื่อสัตย์ของเขา มหาวิทยาธรรมศาตร์ก็เชิญให้รับตำแหน่งคณบดี และในปีพ.ศ. ๒๕๐๘ เขายังได้รับรางวัลแมกไซไซ ในสาขาบริการสาธารณะ อีกด้วย

เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๑๐ เขาได้ร่วมกับกลุ่มกัลยาณมิตรตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นองค์การพัฒนาชนบทองค์กรแรก เพราะเขามีความเห็นว่า การพัฒนาชนบท และคุณภาพชีวิตของคนยากไร้ เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ

เมื่อดำรงตำแหน่งมาได้ ๑๒ ปี ป๋วยจึงลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และลาไปสอนพิเศษและทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อังกฤษ เพื่อเตรียมตัวกลับมาทำงานในตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างเต็มที่ แต่ในปีพ.ศ. ๒๕๑๔ ปีเดียวกันนั้นเอง จอมพลถนอม กิตติขจร ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจตัวเอง ป๋วยจึงเขียนจดหมายจากอังกฤษ เรียกร้องให้จอมพลถนอมคืนอำนาจให้แก่ประชาชนโดยเร็ว จดหมายฉบับนี้สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งให้กับผู้มีอำนาจในขณะนั้น เขาจึงต้องลาออกจากตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในขณะที่อยู่อังกฤษนั้นเอง

เมื่อเขากลับมาในปีพ.ศ. ๒๕๑๖ และแม้ประชาคมธรรมศาสตร์จะลงมติเลือกให้เขารับตำแหน่งอธิการบดี แต่ผู้มีอำนาจในยุคนั้นไม่แสดงตัวว่าเห็นด้วย จึงต้องรอไปอีกสองปี เมื่อรัฐบาลทหารถูกขับไล่ เขาจึงได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความขัดแย้งทางการเมืองสูงขึ้นตามลำดับ ป๋วยไม่เป็นที่นิยมทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา เพราะเขามุ่งมั่นแต่หนทางของสันติประชาธรรม เขาไม่เชื่อในวิถีทางแห่งความรุนแรง

ป๋วยได้แสดงความเสียใจ ภายหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และได้ประกาศลาออก สภามหาวิทยาลัยได้ลงมติให้เขาเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อความปลอดภัย เพราะฝ่ายขวากำลังต้องการตัวเขา

จุดหมายปลายทางของเขาคราวนี้คือยุโรป เขาได้เดินทางไปประเทศต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องให้เกิดสันติภาพและประชาธิปไตยในเมืองไ่ทย และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เขาต้องล้มป่วยด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองแตก

ป๋วยได้กลับเมืองไทยอีกสี่ครั้ง ในปีพ.ศ. ๒๕๓๐ พ.ศ. ๒๕๓๖ พ.ศ. ๒๕๓๘ และครั้งสุดท้าย พ.ศ. ๒๕๔๐ จนกระทั่งวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงได้ถึงแก่อสัญกรรมที่บ้าน ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทางครอบครัวได้ทำการเผาศพ และนำอัฐิกลับมาลอยอังคารที่ประเทศไทย



ครอบครัว สมรสกับนางสาวสมิธ มีบุตรชายหนึ่งคน ชื่อ ใจ อึ๊งภากรณ์

ในความคิดของคนอื่ีน

แด่คนชื่อป๋วย จาก สารคดี ฉบับประจำเดือนตุลาคม ๒๕๔๒
บทนำจากสารคดีฉบับพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์
หนึ่งปีแห่งการจากไปของนายป๋วย อึ้งภากรณ์ โดย ส. ศิวรักษ์
สร้างสรรค์สันติประชาธรรมให้เป็นจริงในสังคม ปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ ๗ วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๔ ณ ห้องประชุมชั้น ๔ ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ชายชราท่าทางใจดี ผู้เป็นตำนานอยู่ในใจของผู้คนทั่วไปชั่วนิรันดร์
รำลึกถึงอาจารย์ป๋วย แด่ศาสนธรรมในดวงใจ โดย ยโสธโรภิกขุ ตีพิมพ์ในมติชนรายวัน วันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
เพื่อนร่วมชั้นของข้าพเจ้าชื่อ จำกัด พลางกูร ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ฯลฯ โดย ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
สันติประชาธรรม คำแนะนำหนังสือดีร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่าน

ที่มา //www.geocities.com/siamintellect/intellects/puay/others.htm


Create Date : 10 กรกฎาคม 2550
Last Update : 10 กรกฎาคม 2550 14:13:45 น. 2 comments
Counter : 2810 Pageviews.

 
รำลึก ๖ ปีแห่งการจากไปของอาจารย์ป๋วย
ผู้เขียน สุชาดา ตั้งทางธรรม สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช


อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นักเศรษฐศาสตร์ นักคิด นักเขียน และนักการศึกษาที่ได้รับการเคารพยกย่องอย่างสูงท่านหนึ่งของไทยได้จากไปแล้ว ๖ ปี แต่คุณงามความดีที่ท่านทำไว้ให้แก่บ้านเกิดเมืองนอนเป็นสิ่งที่ประทับอยู่ในความทรงจำของบรรดาญาติมิตร ลูกศิษย์ลูกหา และบุคคลทั่วไปจำนวนมากที่มีโอกาสศึกษาชีวประวัติและผลงานของท่านอย่างไม่รู้ลืม

ท่านเป็นหนึ่งในคนไทยที่เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย เสี่ยงตายทำงานให้แก่ชาติบ้านเมืองจนแทบเอาชีวิตไม่รอด ทำให้ประเทศเราสามารถประกาศสันติภาพให้โลกเห็นได้ในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อ ๖๐ ปีที่แล้ว

ท่านมีส่วนอย่างมากในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยภายหลังสงคราม และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศเนื่องจากดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง ทั้งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ตำแหน่งสุดท้ายของท่านก่อนที่จะต้องระหกระเหินจากบ้านเกิดเมืองนอนไปใช้ชีวิตเมืองนอกหลายปีต่อมาก็คือ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ท่านใช้ความรู้ความสามารถทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ และกล้าหาญ ยึดความถูกต้องเป็นหลักโดยไม่หวั่นเกรงอำนาจอิทธิพลใดๆ การกระทำและงานเขียนต่างๆ ของท่านแสดงให้เห็นถึงการมองการณ์ไกลและจุดยืนในการทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง

เนื่องในวาระครบรอบ ๖ ปีแห่งการจากไปของท่านในวันที่ ๒๘ กรกฎาคมนี้ จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะกลับมาทบทวนสิ่งต่างๆ ที่ท่านได้กล่าวไว้เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้ร่มเย็นเป็นสุข ทั้งส่วนบุคคลและประเทศชาติโดยรวม

อาจารย์ป๋วยเป็นผู้ที่ “ คิดใหม่ ทำใหม่” ตัวจริง ในบทความเรื่อง เหลียวหลัง แลหน้า ที่เขียนเมื่ออายุครบ ๖๐ ปี ใน พ. ศ. ๒๕๑๙ ท่านกล่าวว่า “ ผมเสียดายที่รู้สึกว่าได้บกพร่องไปในการพิจารณาเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ คือดูแต่ความเจริญเติบโตของส่วนรวมเป็นใหญ่ ไม่ได้เฉลียวถึงความยุติธรรมในสังคม ข้อนี้จึงพยายามแก้ด้วยวิธีพัฒนาชนบทอย่างจริงจัง … อาจารย์บางท่านบอกว่าถ้ามัวแต่เอาใจใส่เรื่องความยุติธรรมทางสังคม จะทำให้ประเทศในส่วนรวมเจริญช้าลง ฉะนั้นจึงควรพัฒนาเศรษฐกิจเสียก่อน ถึงคนมีจะมีมากขึ้น คนจนจะจนลงก็ตาม ในไม่ช้าความเจริญก็จะลงมาถึงคนจนเอง เราได้ใช้วิธีนี้มา ๒๐ – ๓๐ ปีแล้วปรากฏว่าไม่ได้ผล”

ท่านกล่าวว่า “ความยุติธรรมในสังคมมีความหมายกว้างกว่าการกระจายรายได้หรือการกระจายทรัพย์สิน เพราะความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับทรัพย์สินอย่างเดียว ในระบบสังคมที่ผู้หญิงแพ้เปรียบผู้ชาย เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคมก็ต้องแก้ไขระบบ เครื่องมือหากิน ถ้าใครไม่มีก็ต้องหยิบยื่นให้ การศึกษา การอนามัย และอาชีพเป็นเรื่องที่จะต้องให้แก่มนุษย์ทุกคน ความยากจนทำให้มนุษย์เสื่อมค่าของความเป็นมนุษย์ เรามีหน้าที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันทั้งนั้นแล ”

ท่านให้ความสำคัญอย่างมากกับเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ในบทความเรื่อง ศีลธรรมและศาสนาในการพัฒนาชาติ ที่เขียนในปี ๒๕๑๒ ท่านกล่าวว่า

“ มนุษย์เราเกิดมามีร่างกายและปัญญา สมอง ไม่เสมอกัน … เมื่อเริ่มต้นก็เกิดความอยุติธรรมเสียแล้วเช่นนี้ ก็เป็นหน้าที่ของสังคมที่จะขจัดปัดเป่าความไม่เสมอภาคนั้นให้น้อยที่สุดที่จะกระทำได้ ดั่งที่ประธานาธิบดีแมกไซไซกล่าวไว้ว่า “ ใครเกิดมามีน้อย ควรจะได้รับให้มากจากกฎหมาย” ธรรมข้อนี้ก็คือความเมตตากรุณานั่นเอง … ความเมตตากรุณาเป็นธรรมะสำคัญของสังคม เพราะสมรรถภาพอย่างเดียวอาจจะทำให้เกิดความอยุติธรรม ต้องอาศัยความเมตตากรุณาด้วย สังคมนั้นจึงจะเจริญพัฒนาโดยสมบูรณ์”

ในบทความเดียวกัน ท่านยังกล่าวว่า “ นักเศรษฐศาสตร์มักจะเพ่งเล็งแต่เฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ถ้าเป็นเช่นนี้จะนับว่ามีการพัฒนาสมบูรณ์มิได้ จำต้องพิจารณาเลยไปถึงพัฒนาการทางสังคมด้วย ซึ่งหมายถึงการศึกษา สาธารณสุข สาธารณูปการ และนอกจากนั้น นักเศรษฐศาสตร์ควรคำนึงถึงหลักใหญ่แห่งชีวิต คือความงาม ศิลปะ กวีนิพนธ์ และดนตรี ต้องอยู่ในข่ายแห่งการพัฒนาขั้นสำคัญ”

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ ท่านไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างเดียว หากแต่ให้ความสำคัญอย่างมากกับความเท่าเทียมกันในสังคมด้วย ท่านมองปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นองค์รวม เห็นความสำคัญของการศึกษา สาธารณสุข และศิลปวัฒนธรรม

ท่านยังเป็นห่วงเกษตรกรและคนยากจนทั้งในเมืองและชนบท ในหนังสืออนุสรณ์ ม . จ. สิทธิพร กฤดากร ในปี 2514 ท่านกล่าวว่า “ สำหรับนักเศรษฐศาสตร์อย่างผม ผู้มีหน้าที่ในเรื่องเศรษฐกิจการเงินเบื้องต้น เราได้รับประโยชน์เหลือล้นจากข้อสะกิดใจจากท่านสิทธิพร นักบุกเบิกเกษตรว่า เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง อนาคตของเกษตรกรไทยเป็นเรื่องที่จะต้องทะนุถนอมอย่างระมัดระวัง”

ในบทความเรื่อง การหางานให้ชาวชนบททำ ที่เขียนเมื่อปี ๒๕๑๙ ท่านเสนอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาชนบท เสนอให้มีการจัดรูปที่ดิน ปฏิรูปที่ดิน การนำเอาวิทยาศาสตร์มาใช้ในการเกษตร การใช้เครื่องมือจักรกลอย่างเหมาะสม การสังคมสงเคราะห์ การฝึกอบรมและให้การศึกษาด้วย

บทความเรื่อง แนวใหม่ในการพัฒนาประเทศ ที่เขียนก่อนหน้านั้น ๒ ปี คือในปี ๒๕๑๗ แสดงให้เห็นว่าท่าน “ คิดใหม่ ทำใหม่” มานานแล้ว ท่านกล่าวว่า

“ ไม่ว่าปัญหาทางเศรษฐกิจก็ดี ปัญหาทางสังคมก็ดี หรือปัญหาทางการเมืองเกี่ยวกับประชาธิปไตยก็ดี ถ้าหากว่าเราจะคิดแนวใหม่แล้ว คิดจะแก้ด้วยแนวใหม่แล้ว เราจะต้องอาศัยใช้พลังใหม่ของเราให้เป็นประโยชน์จริงๆ เราจะต้องอาศัยความเคารพระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง และไม่ว่าประชาชนจะมีการศึกษาต่ำเพียงใด จะยากจนสักเพียงใด ผมเห็นว่าหลักสำคัญในการที่จะอยู่ร่วมกันด้วยสันติสุขก็คือ การเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์แต่ละคนนั้น ถ้าหากขาดสิ่งนั้นแล้ว ไม่ว่าเราจะมีพลังใหม่ มีแนวใหม่ เราก็ไม่สามารถที่จะพัฒนาชาติไทยเราให้เจริญได้”

ท่านเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ไม่ว่ามนุษย์คนนั้นจะมีการศึกษาต่ำหรือยากจนเพียงใด นอกจากนี้ยังเห็นความสำคัญในการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นของตน ในบทความเดียวกันท่านกล่าวว่า

“ เราจะต้องพยายามที่จะดูแลให้รัฐบาลต่อไปนี้ กระจายอำนาจออกไปให้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ … เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่การปกครองท้องถิ่นต่างๆ โดยให้หน่วยการปกครองท้องถิ่นนั้นสามารถที่จะมีสิทธิอิสระและการดำเนินงานได้”

อาจารย์ป๋วยเห็นความสำคัญของมนุษย์ จึงให้ความสำคัญอย่างมากกับการศึกษา ในบทความเรื่อง การศึกษา ที่เขียนไว้เมื่อปี ๒๕๐๘ “ ถ้าเราไม่สามารถเจียดเงินมาเพื่อการศึกษา ก็ไม่น่าจะสามารถเจียดเงินไปสำหรับเรื่องอื่น เพราะปัญหาอื่น ๆ เช่น ภัยคอมมิวนิสต์ อันธพาล อาชญากรรม วัยรุ่น การปกครองประชาธิปไตย หรือแม้แต่การเศรษฐกิจและการผลิตต่ำ ปัญหาเหล่านี้จะป้องกันแก้ไขไม่ได้ถ้าเราไม่ยอมลงทุนในสิ่งที่ประเสริฐที่สุด คือคน”

ท่านยึดมั่นในหลักการ ไม่ประนีประนอมกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ในบทความ จะมานั่ง ( หรือยืน) ทำบัญชีกันทำไม? ที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ ท่านกล่าวว่า

“ พรหมวิหาร อุเบกขา คือความวางใจเฉยอยู่ ตั้งใจเป็นกลางนั้น จะเป็นธรรมะที่ดีได้บางโอกาสก็จริง แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่มีหน้าที่ตรวจตราสอดส่องการบริหารราชการ ถ้าเจอข้อทุจริตแล้วจะหลบตัวอาศัย “ อุเบกขา” เป็นร่มโพธิ์พร้อมกับเปล่งสุภาษิตว่า “ รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” นั้นแหละเป็นลักษณะกังฉิน เพราะนอกจากจะแสดงความขลาดแล้ว ยังเป็นการบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง การยอมรับความชั่วนั้นเป็นความชั่วอยู่ในตัว”

อาจารย์ป๋วยรักสันติและความเป็นธรรม ใน บันทึกประชาธรรมไทยโดยสันติวิธี ที่เขียนในปี ๒๕๑๕ ท่านกล่าวว่า

“ ถ้ายึดมั่นในหลักประชาธรรมแล้ว ไม่มีวิธีอื่นใดเพื่อได้มาซึ่งประชาธรรมนอกจากสันติวิธี… การใช้อาวุธขู่เข็ญประหัตประหารกันเพื่อประชาธรรมนั้น แม้จะสำเร็จ อาจจะได้ผลก็เพียงชั่วครู่ชั่วยาม จะไม่ได้ประชาธรรมถาวร เมื่อฝ่ายหนึ่งใช้อาวุธแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งแพ้ ก็ย่อมคิดใช้อาวุธโต้ตอบ เมื่ออาวุธปะทะกันแล้ว จะรักษาประชาธรรมไว้ได้อย่างไร…

ประชาธรรมคือธรรมเป็นอำนาจ ไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม … ประชาธรรมย่อมสำคัญที่ประชาชน ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการประชาธรรมก็ย่อมไม่มีทางที่ใครจะหยิบยื่นให้”

ทั้งหมดข้างต้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งของงานเขียนที่อาจารย์ได้ฝากไว้ให้เราช่วยกันคิดต่อไป หากผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองได้มีโอกาสอ่านงานของท่านและยึดถือเป็นแนวทางในการทำงานด้วยแล้ว ก็เชื่อว่าสังคมไทยจะก้าวไกลและคนไทยจะอยู่เย็นเป็นสุขกว่านี้แน่นอน

ในวันเสาร์ที่ ๓๐ กรกฎาคม นี้ ตั้งแต่เวลา ๑๒.๐๐ – ๒๐๐๐ น.” คณะทำงานป๋วยเสวนาคารร่วมกับสถาบันปรีดี พนมยงค์ และมูลนิธิ ๑๔ ตุลาคมจะจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการรำลึกถึงอาจารย์ ที่วัดปทุมคงคา เขตสัมพันธวงศ์ ในงานจะมีการแสดงทางวัฒนธรรม ปาฐกถา และอภิปรายในหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจเพื่อสืบสานแนวทางสันติประชาธรรมของอาจารย์ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางต่อไป จึงขอเชิญทุกท่านที่สนใจเข้าร่วมงาน

---------------------------------------------------------

ผู้เขียน สุชาดา ตั้งทางธรรม สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช


..................................................................................................
นำขึ้นเว็บ //www.semsikkha.org เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๘


โดย: Darksingha วันที่: 10 กรกฎาคม 2550 เวลา:14:14:45 น.  

 

"ฐานคติแห่งการดำเนินชีวิตของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากร"

"อันความเย้ายวนแห่งโลกมายานี้แหละ ที่ทำให้เราเกิดความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีผู้เคร่งในการเรียน เป็นสมถะแห่งวิทยา และผู้รักเรียนนั่นเองก็มีหน้าที่และสิทธิ
ที่จะบังคับโลก ให้เดินตาม มิใช่ตนเดินตามโลก

จงน้อมรับเอารสธรรมอันขจรตลบอยู่แล้วในของทุกสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นธรรมชาติ จงช่วยเป็นลิ้นให้ธรรมชาติได้ กล่าวมธุรส กล่อมใจมนุษย์ และจงแสดงให้โลกอันเขลา เล็งเห็นเสียทีว่า วิชาความรู้นี้ ประเสริฐเพียงใด

เมื่อเราเห็นอยู่ตำตาแล้วว่า กาลสมัยของเรานี้ มีบาปอยู่หนาแน่น และบ้านเมืองของเรามีความเท็จความชั่วดาษดื่นอยู่ ก็ขอให้เราทั้งหลายจงเข้าสู่ความร่มเย็นแห่งวิชา และแสวงหาความรู้ ซึ่งใครเขาได้ละเลยเสียแล้ว ถึงแสงแห่งวิชาจะริบหรี่ ก็จงพอใจเถิด.. เพราะแม้จะเป็นสิ่งเล็กน้อยก็ยังเป็นของของเราจริง จงมุ่งหน้าค้นหาแล้วค้นอีกต่อไป อย่าได้ท้อถอย อย่าได้ทะนงจนถึงกับวางมือจากการค้นคว้าหาความรุ้ อย่าเชื่อถือในความคิดของท่านจนงมงาย และก็อย่าหลงลืมผู้อื่น จนไม่พิจารณาถึงเหตุผล

ท่านมีสิทธิ์จะเดินทางข้ามทะเลทรายไปสู่วิชา ถึงจะเป็นทะเลทรายทุรกันดาร ก็มีดวงดาราส่องแสงอยู่แพรวพราว และเหตุไฉนเล่าท่านจึงสละสิทธิ์ข้อนี้ของท่านเสีย ไปชิงสุกก่อนห่ามโดยเห็นแก่ความสำราญ ที่ดินสักแปลง บ้านสักหลัง และยุ้งข้าวสักหนึ่งยุ้ย

วิชาเองก็มีหลังคา มีฟูก ที่นอน มีอาหาร ไว้ต้อนรับท่าน
จงบำเพ็ญตนให้เป็นผู้จำเป็นแก่โลกนี้ มนุษยชาติก็จะนำอาหารมาสู่ท่านเอง แม้จะให้ไม่ถึงยุ้ง ถึงฉาง.. แต่ก็เป็นบำเหน็จ.. ชนืดที่ไม่ลบล้างบุญคุณของท่าน ที่ทำไว้แก่มนุษยชาติ...ไม่ลบล้างความรักใคร่นิยมของคนทั้งหลายและไม่ลบล้างสิทธิของท่านที่มีอยู่ต่อศิลป ต่อธรรมชาติ และต่อความหวังของมนุษย์"

ราล์ฟ วัลโด เอเมอสัน เขียน
ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์.. ถอดความ


โดย: พุ่มสกี้ IP: 58.8.119.130 วันที่: 27 กรกฎาคม 2550 เวลา:10:30:55 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.