Group Blog
 
<<
กันยายน 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
18 กันยายน 2550
 
All Blogs
 
Lester Brown ผู้รณรงค์ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” และชี้ทางออกจากวิกฤตอาหาร




สฤณี อาชวานันทกุล



แม้ว่าปัญหา “โลกร้อน” จะเริ่มเป็นศัพท์ที่ติดปากคนจำนวนมากในหลายๆ ประเทศ เพราะผลกระทบต่างๆ เริ่มมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ก็ยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกมากมายที่ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเนื่องจากไม่ได้เป็นปัญหาที่เราแต่ละคนสัมผัสได้ชัดเจนเท่ากับโลกร้อน เป็นเพียงแนวโน้มอันตรายที่ยังมาไม่ถึงตัว

หนึ่งในปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากวิถีการพัฒนาแบบ “มักง่าย” ของมนุษย์ ที่คนส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นแต่อาจเป็นอันตรายต่ออนาคตของมนุษยชาติไม่แพ้โลกร้อน คือวิกฤตอาหารที่ยังมาไม่ถึง แต่เราเริ่มเห็นเค้าลางแล้วจากเสียงบ่นของเกษตรกร และราคาธัญพืช (ซึ่งมีสามประเภทหลักคือ ข้าวสาลี ข้าวเจ้า และข้าวโพด) ที่ปรับตัวสูงขึ้นมากในตลาดโลก

ความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมอาหารและโลจิสติกส์ยุคโลกาภิวัตน์สามารถทำให้ “อาหารท้องถิ่น” แทบทุกจานกลายเป็น “อาหารสากล” ที่ทุกคนสามารถลิ้มลองได้โดยไม่ต้องขับรถหรือบินไปหาถึงต้นตอ ขอเพียงแต่มีเงินจ่ายเท่านั้น ฝ่ายคนชอบทำอาหารก็มีความสุขกับการได้ทดลองผสมผสานเครื่องปรุงต่างถิ่นเข้าด้วยกันอย่างไร้ขอบเขต เพื่อรังสรรค์อาหารจานใหม่ๆ ที่ทำลายพรมแดนทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมทั้งมวล

ในเมื่อรสนิยมของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน และเครื่องปรุงที่เคยถูกชนชาติหนึ่งละเลยเพราะไม่ถูกปาก อาจกลายเป็น “ของอร่อย” สำหรับชนอีกชาติหนึ่งเมื่อข้ามพ้นพรมแดนไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ ศิลปะการจับแพะชนแกะในห้องครัว ซึ่งปัจจุบันเรียกรวมๆ ว่า “ฟิวชั่น ฟู้ด” (fusion food) จึงนับเป็นแขนงหนึ่งของ “การผสมปนเปทางวัฒนธรรม” ที่มีพลังในการทำลายอคติระหว่างเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ ไม่ต่างจากการผสมปนเปในศิลปะแขนงอื่นๆ เช่น ดนตรี ภาพยนตร์ และวรรณกรรม

แต่ยังมีน้อยคนที่ตระหนักว่า ปรากฏการณ์อันน่าตื่นเต้นยินดีนี้อาจมี “ต้นทุน” ที่สูงจนน่าวิตก เพราะวิถีทางของ “เกษตรกระแสหลัก” และอุตสาหกรรมอาหารในปัจจุบันนั้นไร้ประสิทธิภาพ ไม่ยั่งยืน และเสี่ยงต่อการนำโลกเข้าสู่วิกฤตอาหารในอนาคต

ปัจจุบัน ผลจากการวิจัยมากมายชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนของพลังงานที่ต้องใช้ในการผลิตและขนส่งอาหารมาสู่จานเรา ต่อพลังงานที่เราใช้ มีอัตราสูงถึง 10 ต่อ 1, เงินทุกบาทที่ใช้ไปในการซื้อกับข้าวในประเทศพัฒนาแล้ว กลับไปสู่เกษตรกรรายย่อยเพียง 6 สตางค์เท่านั้น, และอุตสาหกรรมอาหารมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของปัญหาโลกร้อน กว่าร้อยละ 12.5 ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยทั่วโลกในแต่ละปี

เลสเตอร์ บราวน์ (Lester Brown) คือหนึ่งในนักสิ่งแวดล้อม “รุ่นบุกเบิก” ที่รณรงค์เรื่อง “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 สมัยที่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ยังไม่รุนแรงและเห็นชัดเท่ากับในปัจจุบัน

ความสนใจในปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลกของบราวน์มีจุดกำเนิดตั้งแต่เขายังเป็นชาวไร่มะเขือเทศ ต่อมาในปี 1959 เริ่มรับราชการในกระทรวงเกษตรของอเมริกาจนได้เป็นผู้อำนวยการฝ่าย International Agricultural Development Service ในปี 1974 เขาก่อตั้งสถาบันอิสระชื่อ WorldWatch Institute เพื่อทำวิจัยประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลระดับโลก และสิบปีหลังจากนั้น สถาบันนี้ก็เริ่มผลิตรายงานสรุปภาวะสิ่งแวดล้อมโลกประจำปีชื่อ “The State of the World Report” ซึ่งกลายเป็นรายงานสำคัญที่ “ไม่อ่านไม่ได้” สำหรับนักสิ่งแวดล้อม นักพัฒนา องค์กรโลกบาล และทุกคนที่มีห่วงใยต่อสถานการณ์ของโลก นอกจากบราวน์จะได้รับรางวัลมากมายในฐานะนักสิ่งแวดล้อม เขายังเป็นนักเขียนหนังสือตัวยง โดยมีผลงานออกมาแล้วกว่า 30 เล่ม อาทิเช่น World Without Borders (โลกไร้พรมแดน), Who Will Feed China? (ใครจะเลี้ยงเมืองจีน?), และ Eco-Economy: Building an Economy for the Earth (เศรษฐกิจสีเขียว : การสร้างระบบเศรษฐกิจเพื่อโลก)

ต่อไปนี้เป็นคำแปล
บทบรรยายและช่วงตอบคำถาม จากตอนที่บราวน์ไปพูดที่ Carnegie Council ในปี 2003 ในโอกาสออกหนังสือเรื่อง PLAN B: Rescuing a Planet under Stress and a Civilization in Trouble (แผน B : แผนกอบกู้โลกจากแรงกดดันและกอบกู้อารยธรรมที่มีปัญหา) ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าปัญหาของเราในขณะนี้คืออะไร และรัฐบาลทั่วโลกควรจะร่วมมือกันทำอะไรบ้าง

เพราะถึงเวลาแล้ว ที่ทุกคนจะหันมาระลึกถึงสุภาษิตโบราณของชาวอินเดียนแดงที่ว่า โลกไม่ใช่มรดกที่เรารับมาจากบรรพบุรุษ หากเป็นสิ่งที่เราหยืบยืมมาจากลูกหลาน.

……

“แผน B” เป็นแผนทางเลือกที่แตกต่างจากแผน A ที่เรากำลังใช้อยู่แต่ตอนนี้ทำงานไม่ค่อยดีนัก หัวใจของแผน B คือความพยายามที่จะต่อกรกับข้อเท็จจริงที่ว่า เรากำลังสร้าง “เศรษฐกิจฟองสบู่” ที่ตั้งอยู่บนการถลุง “ทุนธรรมชาติ” ของโลกแบบไม่บันยะบันยัง หนังสือเล่มนี้พูดถึงปัญหาต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นเช่น การตัดไม้ทำลายป่า, การปล่อยให้สัตว์แทะเล็มหญ้าเกินขนาด (over-grazing), ปัญหาพื้นที่แห้งแล้งกลายเป็นทะเลทราย (de-desertification), การสูบน้ำมาใช้มากเกินความจำเป็น (over-pumping) และการทำประมงเกินขนาด เหล่านี้เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า เรากำลังใช้ทุนธรรมชาติของโลกมากเกินไปแล้ว

สิ่งที่น่าเป็นห่วงของเศรษฐกิจฟองสบู่คือ ถ้าคุณไม่ทำให้มันแฟบลง ในที่สุดมันก็จะระเบิด นี่คือสิ่งที่ผมเป็นกังวลที่สุดในขณะนี้

ผมอยากจะเล่าตัวอย่างหนึ่งของการถลุงทุนธรรมชาติ นั่นคือปัญหาการสูบน้ำจากชั้นหินอุ้มน้ำในพื้นดิน (aquifer คือเป็นชั้นหินใต้ผิวดินที่มีคุณสมบัติยอมให้น้ำซึมเข้าได้ง่าย) มาใช้มากเกินควร แต่ก่อนอื่น ผมควรจะบอกว่า พวกเราทุกคนในขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมพูดกันมานานหลายปีแล้วว่า ถ้ากระแสต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อมยังดำเนินไปในทิศทางเดียวกันกับที่มันเป็นไปในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ในที่สุดเราก็จะเจอปัญหา แต่ตอนนั้นเรายังมองไม่เห็นชัดเจนว่า “ปัญหา” นั้นจะมาในรูปไหน และจะเกิดขึ้นเมื่อไร

ตอนนี้เราเห็นแล้วว่าปัญหาจะเกิดขึ้นในภาคอาหาร และราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะเป็นดัชนีเศรษฐกิจโลกตัวแรกๆ ที่สะท้อนปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างประชากรโลก 6.3 พันล้านคน กับระบบธรรมชาติที่เราต้องพึ่งพาอาศัย

การสูบน้ำมาใช้มากเกินความจำเป็น เป็นปัญหาค่อนข้างใหม่ในโลก ในประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของระบบชลประทานที่ผ่านมา มนุษย์เราไม่เคยมีศักยภาพในการสูบน้ำขนาดนั้น เราเพิ่งสูบน้ำได้เร็วกว่าที่ชั้นหินอุ้มน้ำจะ “รีชาร์จ” ใหม่ ก็เมื่อตอนที่เรารู้วิธีผลิตเครื่องสูบน้ำดีเซลและเครื่องสูบน้ำพลังไฟฟ้า ขณะนี้ปัญหานี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ผมจะเล่าคร่าวๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ในจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ประเทศผู้ผลิตธัญพืชสามรายใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งผลิตธัญพืชรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั่วโลก

ระดับน้ำเพื่อการเกษตรกำลังลดลงทั่วบริเวณครึ่งประเทศตอนเหนือของจีน ในแถบที่ราบสูงภาคเหนือ (North China Plain) ซึ่งผลิตข้าวสาลีได้กว่าครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ และข้าวโพดหนึ่งในสามของทั้งประเทศ รัฐบาลเคยประกาศในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ว่า ระดับน้ำกำลังลดลงมากกว่า 5 ฟุต (ประมาณ 1.5 เมตร) ต่อปี ตอนนี้รัฐบาลประกาศว่าระดับน้ำกำลังลดลงมากกว่า 10 ฟุต (ประมาณ 3 เมตร) ต่อปีแล้ว

ปัญหาการสูบน้ำเกินขนาด (over-pumping) เป็นวิธีขยายผลผลิตอาหารในระยะสั้น ที่ค่อนข้างแน่นอนว่าจะนำไปสู่ผลผลิตอาหารที่ลดลงในระยะยาว เมื่อน้ำในชั้นหินอุ้มน้ำถูกคนสูบไปใช้จนหมด ตอนนี้เรากำลังเริ่มมองเห็นปัญหาน้ำในชั้นหินอุ้มน้ำหมดลงในหลายๆ ประเทศทั่วโลก

ในอินเดีย เราเห็นปัญหาการสูบน้ำเกินขนาดในทุกๆ มลรัฐ มีเพียงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเท่านั้นที่ไม่มีปัญหานี้

ในสหรัฐอเมริกา ปัญหานี้เกิดทั่วที่ราบสูง Great Plains และภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ

ปัญหาการขาดแคลนน้ำซึ่งเคยเป็นปัญหาระดับท้องถิ่นในอดีต กำลังข้ามพรมแดนระหว่างประเทศตามเส้นทางการค้าธัญพืชระดับโลก เมื่อหลายประเทศเผชิญกับขีดจำกัดของอุปทานน้ำในประเทศ เช่น ประเทศส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกาตอนเหนือ ทวีปตะวันออกกลาง และจีน ประเทศเหล่านั้นตอบสนองต่อความต้องการใช้น้ำของคนกรุงด้วยการผันน้ำออกจากภาคเกษตร แล้วก็ชดเชยศักยภาพในการผลิตที่ลดลงด้วยการนำเข้าธัญพืช เนื่องจากการผลิตธัญพืช 1 ตันต้องใช้น้ำ 1,000 ตัน วิธีนำเข้าน้ำที่มีประสิทธิภาพสูงสุดอยู่ในรูปของธัญพืช

ปัญหาน้ำในชั้นหินอุ้มน้ำแห้งเหือดเป็นปัญหาใหม่สำหรับเกษตรกร ปัญหานี้ไม่เคยเป็นปัญหาใหญ่เลยในอดีต แต่ตอนนี้เป็นปัญหาในหลายสิบประเทศ ประชากรโลกจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในโลกที่ระดับน้ำเพื่อการเกษตรกำลังลดลง

ความท้าทายที่สำคัญประการที่สองที่เกษตรกรทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ คืออุณหภูมิโลกที่กำลังปรับตัวสูงขึ้นมาก โมเดลจำลองสภาพภูมิอากาศทั้งหลายที่ประเมินผลกระทบของปัญหาโลกร้อนต่อภาคเกษตร ล้วนตั้งอยู่บนสมมุติฐานกว้างๆ เกี่ยวกับผลกระทบของอุณหภูมิที่สูงขึ้นต่อภาคเกษตร แต่ใน 1-2 ปีที่ผ่านมา เราเริ่มจะเห็นงานวิจัยที่เน้นหนักไปที่การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิและผลิตผลทางการเกษตร จากสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (International Rice Research Institute) ในประเทศฟิลิปปินส์ และฝ่ายวิจัยเกษตรกรรม (Agriculture Research Service) ของกระทรวงการเกษตรของสหรัฐอเมริกา

หลักทั่วๆ ไปซึ่งเป็นที่ยอมรับกันก็คือ เราจะได้ผลผลิตธัญพืช (ข้าวเจ้า ข้าวสาลี และข้าวโพด) น้อยลงร้อยละ 10 ต่อทุกๆ 1 องศาเซลเซียสที่อุณหภูมิช่วงฤดูเพาะปลูกปรับตัวสูงขึ้น และเมื่อคุณดูประมาณการอุณหภูมิของประเทศนี้ที่ IPCC (ย่อมาจาก Intergovernmental Panel on Climate Change คือคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ) ทำออกมา คุณจะเริ่มเข้าใจความเสี่ยงที่เราเผชิญอยู่ ในสองปีที่ผ่านมา ผลผลิตพืชผลทั่วโลกลดลงมากจากความร้อนและภัยแล้งในอินเดียและสหรัฐอเมริกา ปีนี้ปัญหาเดียวกันเกิดขึ้นในยุโรป ตั้งแต่ฝรั่งเศสจนถึงยูเครน คลื่นความร้อน (heat wave) ในเดือนสิงหาคมทำให้ผลผลิตลดลงอย่างฮวบฮาบ

ตอนนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าอากาศกำลังร้อนขึ้นทั่วโลก เราเคยพูดว่า 16 ปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นหลัง ค.ศ. 1980 เป็นต้นมา ตอนนี้เราพูดได้อีกว่า 4 ปีที่ร้อนที่สุดเกิดขึ้นในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา กระแสนี้มีแต่จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

กล่าวโดยสรุป ตอนนี้เกษตรกรกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ๆ สองประการคือ ปัญหาขาดแคลนน้ำที่ส่วนหนึ่งมาจากน้ำในชั้นหินอุ้มน้ำแห้งเหือด และปัญหาความร้อนสูงขึ้นซึ่งส่งผลให้ผลผลิตตกต่ำลง

ความท้าทายสองข้อนี้ทำให้เป็นเรื่องยากที่เกษตรกรจะเพิ่มผลผลิต ผลผลิตธัญพืชทั่วโลกอยู่ในระดับคงที่มานาน 8 ปีติดต่อกัน ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตธัญพืชลดลงต่ำกว่าปริมาณที่คนบริโภค ในปี 2000 ปริมาณที่ผลิตได้ต่ำกว่าปริมาณที่บริโภค 16 ล้านตัน ปีต่อมาช่องว่างนี้ขยายเป็น 27 ล้านตัน ปีที่แล้ว (2002) ช่องว่างนี้เท่ากับ 93 ล้านตัน ปีนี้ (2003) ช่องว่างนี้ลดลงเล็กน้อยเป็น 91 ล้านตัน ตัวเลข 91 ล้านตันนี้คิดเป็นร้อยละ 5 ของปริมาณธัญพืชที่คนทั่วโลกบริโภค นั่นแปลว่าสี่ปีที่ผ่านมาเราบริโภคธัญพืชในสต็อคเก่า แปลว่าพอถึงสิ้นปีนี้ สต็อคธัญพืชทั่วโลกจะลงลงถึงระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปี

ลองนึกย้อนไปถึงปี 1972 พวกคุณบางคนคงจำได้ว่านั่นคือปีที่ตลาดข้าวสาลีถูกสหภาพโซเวียตครอบงำอย่างลับๆ ส่งผลให้ราคาข้าวสาลีและข้าวเจ้าปรับตัวสูงขึ้นกว่าสองเท่า

ตอนนี้ทุกคนกำลังมองปีหน้า เพราะถ้าเกษตรกรทั่วโลกไม่สามารถปิดช่องว่าง 90 ล้านตันที่เราเห็นมาแล้วสองปี ก็จะนำความปั่นป่วนมาสู่ตลาดธัญพืช อุปทานทั่วโลกจะมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ และการแข่งขันระหว่างประเทศประมาณ 100 แห่งที่นำเข้าธัญพืชก็จะมีความรุนแรงมาก

ถ้าให้ผมเลือกเหตุการณ์ที่จะเป็นสัญญาณปลุกให้เราตื่น ผมคิดว่าเหตุการณ์นั้นคือวันที่จีนจะหันไปซื้อธัญพืชจากตลาดโลก ในหนังสือเรื่อง Who Will Feed China? (ใครจะเลี้ยงเมืองจีน?) ผมชี้ให้เห็นว่า ประเทศจีนจะเผชิญกับประสบการณ์ที่แปลกใหม่สำหรับประเทศผู้ผลิตธัญพืชรายใหญ่ กล่าวคือ ผลผลิตธัญพืชจะลดลง การที่นี่เป็นเรื่องสวนทางกับสิ่งที่คนทั่วไปคาดคิดทำให้ประเด็นนี้เป็นที่สนใจอย่างมาก

ผลผลิตธัญพืชของจีน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 90 ล้านตันในปี 1950 เป็น 390 ล้านตันในปี 1999 ได้ลดลงมาเหลือเพียง 330 ล้านตันเท่านั้น ปริมาณที่ลดลง 60 ล้านตันนี้เท่ากับผลผลิตของแคนาดาทั้งประเทศ หรือปริมาณธัญพืชส่งออกของแคนาดา ออสเตรเลีย และอาร์เจนตินารวมกัน นี่เป็นตัวเลขที่สูงมาก

ที่ผ่านมา คนจีนแก้ปัญหานี้ด้วยการบริโภคธัญพืชคงค้างในสต็อค แต่พวกเขาจะทำแบบนี้ได้อีกเพียงปีสองปี หลังจากนั้นจีนก็จะต้องมาซื้อธัญพืชปริมาณมหาศาล คือ 40, 50 หรือ 60 ล้านตัน จากตลาดโลก เพื่อให้เห็นภาพ ลองคิดดูว่าตอนนี้ประเทศที่นำเข้าธัญพืชสูงที่สุดในโลกคือญี่ปุ่น ซึ่งนำเข้าปีละ 26 ล้านตัน

เมื่อไหร่ที่จีนหันมาซื้อธัญพืชจากตลาดโลก ก็แปลว่าพวกเขาต้องติดต่ออเมริกา เพราะเราผลิตธัญพืชกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งโลก ตอนนี้เราจะเห็นภาพภูมิศาสตร์การเมืองที่น่าทึ่ง กล่าวคือ ผู้บริโภคชาวจีน 1.3 พันล้านคนมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกาประมาณ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ยอดเกินดุลขนาดนี้เพียงพอที่จะทำให้จีนซื้อผลผลิตธัญพืชทั้งอเมริกาได้สองเท่า เท่ากับว่าประเทศจีนจะแข่งกับเราเพื่อซื้อธัญพืชของเรา และก็จะทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น

ลองคิดว่าประธานาธิบดีอเมริกาจะทำอย่างไร โดยเฉพาะถ้าปีนั้นเป็นปีที่มีการเลือกตั้ง? ถ้านี่เป็นเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ประธานาธิบดีคงบอกว่า “เราจะตั้งเพดานการส่งออก หรือไม่ก็สั่งห้ามส่งออกไปเลย” ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เราทำจริงกับคู่ค้าบางประเทศในช่วงกลางทศวรรษ 1970 เมื่อตลาดธัญพืชโลกตึงตัว แต่ตอนนี้เรามีส่วนได้เสียในประเทศจีน เศรษฐกิจของจีนคือหัวจักรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอเชีย เพราะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นแทบจะไม่ขยับเขยื้อนเลยในรอบทศวรรษที่ผ่านมา

ยิ่งไปกว่านั้น เศรษฐกิจจีนเป็นระบบเศรษฐกิจใหญ่แห่งเดียวในโลกที่เติบโตอย่างร้อนแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้มีบทบาทระดับโลก ถ้าคุณลองใช้ทฤษฎี purchasing power parity (หลักเศรษฐศาสตร์ที่มองว่า หนึ่งหนวยของอัตราแลกเปลี่ยนควรสามารถซื้อสินคาและบริการชนิดเดียวกันได้ในทุกๆ ประเทศ) แทนที่จะใช้อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน เพื่อเปรียบเทียบขนาดของระบบเศรษฐกิจ ก็จะพบว่าตอนนี้จีนแซงหน้าญี่ปุ่นไปแล้ว เป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา

การนำเข้าธัญพืช จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีนที่ประเทศต้องพึ่งพิงแหล่งอาหารนอกประเทศ ความหมายสำหรับเรา (อเมริกา) ก็คือ เราต้องแบ่งอาหารของเราส่วนหนึ่งให้คนจีน ไม่ว่าเราจะชอบใจหรือไม่ก็ตาม เมื่อถึงจุดนั้น โลกก็จะเปลี่ยนไปในระดับพื้นฐานที่สุด ในทางที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับโลกที่เราคุ้นเคยมาตลอดชีวิต

ปัญหาใหญ่ที่เราเผชิญอยู่ตอนนี้เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ระดับน้ำเพื่อการเกษตรลดลง อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ราคาอาหารสูงขึ้น ประเด็นเหล่านี้ล้วนมีนัยยะทางการเมือง คนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักดีว่าเรากำลังเผชิญกับปัญหาที่เราเคยสามารถมองข้ามไปได้ เช่นปัญหาโลกร้อน

เรารู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้นในทวีปแอฟริกาเมื่อเราละเลยปัญหาการติดเชื้อไวรัส HIV (โรคเอดส์) เรารู้ว่าอัตราการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นมากในทศวรรษ 1980 แต่รัฐบาลและประชาคมโลกเพิ่งให้ความสำคัญกับปัญหานี้เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ประวัติศาสตร์กำลังซ้ำรอยกับปัญหาระดับน้ำเพื่อการเกษตรลดลงในจีนและอินเดีย จริงๆ แล้วเมื่อเรามองเห็นปัญหานี้ สัญญาณเตือนภัยน่าจะดังขึ้นทั่วโลก กดดันรัฐบาลให้หาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้น้ำ ลดอัตราการเกิดของประชากร และทำให้ทุกสิ่งกลับสู่จุดสมดุล แต่ยังไม่มีประเทศไหนทำอย่างนั้นเลย

ในเมื่อเราเห็นชัดว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กำลังเพิ่มสูงขึ้น และโลกกำลังร้อนขึ้นมากในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทั้งหลายน่าจะระลึกได้แล้วว่าต้องทำอะไรสักอย่าง แต่แล้วก็ยังไม่มีใครทำอะไรจริงจัง

สัญญาณเตือนภัยจะดังขึ้นมากในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ฉะนั้นคำถามคือ เราควรจะทำอะไรบ้าง?

แผน B มีองค์ประกอบสำคัญสามส่วน ได้แก่

1. นโยบายระดับโลกที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบน้ำ โดยเฉพาะระบบชลประทานในภาคเกษตร เราไม่ค่อยคิดถึงประเด็นนี้เพราะเราคิดเอาเองว่าโลกคงมีน้ำใช้เพียงพอสำหรับการผลิตอาหาร แต่นั่นเป็นความเข้าใจผิด มนุษย์เราแต่ละคนบริโภคน้ำเฉลี่ยวันละ 4 ลิตร ไม่ว่าจะในรูปน้ำเปล่า กาแฟ น้ำอัดลม หรือน้ำผลไม้ แต่อาหารที่เรารับประทานอยู่ทุกวันนั้นต้องใช้น้ำเฉลี่ยวันละ 2,000 ลิตรในการผลิต หรือ 500 เท่าของปริมาณน้ำที่เราดื่ม ดังนั้นถ้าเราเผชิญกับปัญหาขาดแคลนน้ำ ก็เท่ากับว่าเราต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนอาหารด้วย คนส่วนใหญ่ตอนนี้กำลังเริ่มมองเห็นเค้าลางของปัญหาขาดแคลนน้ำ แต่ยังมองไม่เห็นว่าปัญหานี้จะทำให้อาหารขาดแคลนด้วย

เราต้องเพิ่มผลิตภาพของน้ำ (water productivity) ในทางที่คล้ายกันกับความพยายามในช่วงกลางศตวรรษที่ผ่านมาเพื่อเพิ่มพูนผลิตภาพของที่ดิน สมัยก่อน ตอนที่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง เรามองไปข้างหน้าและเห็นว่าจะมีประชากรเกิดใหม่มากมาย ในขณะที่ที่ดินเพื่อการเกษตรแทบจะไม่ได้เพิ่มตามไปด้วย ดังนั้นเราจึงพุ่งความสนใจไปที่การเพิ่มผลิตภาพของที่ดิน ซึ่งเราก็ทำสำเร็จ เพราะผลิตภาพตอนนี้สูงกว่าเดิมเกือบ 3 เท่า จาก 1.1 ตันต่อเฮคตาร์ (1 hectare เท่ากับ 10,000 ตารางเมตร) ในปี 1950 เป็น 2.8 ตันต่อเฮคตาร์ในปี 2002

2. การนำประชากรโลกเข้าสู่จุดสมดุล ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องทำให้ได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง สหประชาชาติทำประมาณการแนวโน้มประชากรไว้สามกรณีคือ ขั้นสูง ขั้นกลาง และขั้นต่ำ ตอนนี้อัตราการเพิ่มของเราอยู่ในขั้นกลาง ซึ่งแปลว่าประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 10.8 พันล้านคนภายในปี 2080 ถ้าหากประชากรโลกเพิ่มขึ้นตามประมาณการขั้นต่ำของสหประชาชาติ ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ 7.4 พันล้านคน ภายในประมาณปี 2045 หรืออีก 40 ปีนับจากนี้ เราต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะลดขนาดครอบครัว เพื่อเปลี่ยนแนวโน้มขั้นกลางมาอยู่ที่ขั้นต่ำให้ได้

เราตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนประชากรโลกกับปริมาณอาหารมานานแล้ว แต่เราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างประชากรโลกกับปริมาณน้ำ สมาชิกใหม่ของโลกส่วนใหญ่ในจำนวน 3 พันล้านคนที่จะเกิดมาภายในปี 2050 จะเกิดในประเทศที่ระดับน้ำกำลังลดลงและบ่อน้ำกำลังเหือดแห้ง สถานการณ์แบบนี้ไม่เอื้ออำนวยต่อความเจริญทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเมืองแน่ๆ

เราจำเป็นจะต้องให้คำปรึกษาด้านการวางแผนครอบครัว ตลอดจนสร้างโครงสร้างเชิงสังคมที่จะลดอัตราการเกิดลงให้ได้ เช่น ให้เด็กทุกคนโดยเฉพาะเด็กผู้หญิงได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ให้บริการด้านสุขอนามัยกับทุกคนตามเกณฑ์ที่ WHO เคยประกาศไปแล้วและเจฟฟรีย์ แซกส์ (Jeffrey Sachs นักเศรษฐศาสตร์ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The End of Poverty) เคยอธิบายว่าจะต้องใช้เงินจำนวน 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีทั่วโลก, และให้บริการอาหารกลางวันฟรีกับเด็กวัยเรียนทุกคนในประเทศยากไร้ 42 ประเทศ ซึ่งต้องใช้เงินอีก 62,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ตัวเลข 62,000 ล้านเหรียญสหรัฐอาจฟังดูมโหฬารมาก แต่เงินจำนวนนี้ก็ยังน้อยกว่าเงิน 87,000 ล้านเหรียญสหรัฐ [ที่อเมริกากำลังใช้จ่ายในโครงการ “ฟื้นฟูอิรัก” หลังจากจบสงครามที่ตัวเองเป็นผู้ก่อ]

3. การนำสภาพภูมิอากาศกลับเข้าสู่ภาวะสมดุล ผมขอเสนอให้เราลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (carbon emission) ลงเหลือครึ่งหนึ่งภายในปี 2015 ข้อเสนอของผมอาจเป็นเรื่องน่าแปลกใจในเมืองที่มองว่าเป้าหมายการลดปริมาณนี้ลงร้อยละ 7 ภายในปี 2012 (ซึ่งเป็นเป้าหมายตามพิธีสารเกียวโตหรือ Kyoto Protocol) เป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจ

ผมขอยกตัวอย่างสั้นๆ สองสามเรื่อง

1) ถ้าเราตั้งเป้าหมายระดับโลกไว้ว่า ในช่วง 3 ปีข้างหน้าเราจะค่อยๆ เลิกใช้หลอดไฟฟ้าแบบเก่าที่ใช้ไส้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีไร้ประสิทธิภาพที่แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนตั้งแต่สมัยเอดิสัน เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟนีออนที่ใช้ไฟฟ้าเพียงหนึ่งในสี่ของหลอดมีไส้ เราจะสามารถปิดโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินหลายร้อยโรงทั่วโลก นี่ผมไม่ได้พูดเรื่องปริมาณการใช้ไฟฟ้า ผมเพียงแต่บอกให้เราเปลี่ยนประเภทของหลอดไฟเท่านั้น

2) ถ้าเราตัดสินใจว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิงของยานพาหนะทุกคันในสหรัฐอเมริกาให้เทียบเท่ากับรถยนต์โตโยต้ารุ่น Prius ภายในปี 2010 เราจะสามารถลดปริมาณการใช้น้ำมันลงได้ถึงครึ่งหนึ่ง นี่ไม่ได้เปลี่ยนระยะทางที่คนขับ ไม่ได้เปลี่ยนจำนวนรถที่คนใช้ แค่ทำให้เครื่องยนต์มีประสิทธิภาพดีขึ้นเท่านั้น

3) ในด้านอุปทาน ลมจะเป็นแหล่งพลังงานอันดับต้นๆ ของโลกในอนาคต เพราะหาได้ทั่วไป มีราคาถูก (ประเมินกันว่าจะมีราคาถูกถึงสองเซนต์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงภายในปี 2010) ไม่มีวันหมด สามารถกระจายได้ในวงกว้าง สะอาด และไม่เป็นพิษภัยต่อสภาพอากาศ ไมมีแหล่งพลังงานชนิดอื่นที่มีคุณสมบัติครบทั้งหกข้อนี้

เมื่อใดที่เราผลิตกระแสไฟฟ้าราคาถูกได้จากพลังลม เมื่อนั้นเราก็จะสามารถใช้ไฟฟ้าแยกสารประกอบทางเคมีของน้ำ (ด้วยวิธีที่เรียกว่า electrolysis) เพื่อสกัดเอาไฮโดรเจนบริสุทธิ์ออกมา นี่ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่แต่อย่างใด

ไฮโดรเจนคือเชื้อเพลิงที่ดีที่สุดสำหรับเครื่องยนต์เซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell) ที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทุกยี่ห้อกำลังทำอยู่ แต่มันมีประโยชน์กว่านั้นอีกมาก ถ้าเราลองสมมุติว่าราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นมากในอีก 2 ปีข้างหน้า สาเหตุหนึ่งเพราะโลกร้อนขึ้น เราจะเห็นผู้บริโภคออกมาล็อบบี้ภาครัฐให้บังคับลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แล้วทุกอย่างก็จะเปลี่ยนแปลงไป

เราสามารถเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจทั้งระบบให้เป็นระบบที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นหลักได้ง่ายมาก ดูเหมือนว่าแฟชั่นสมัยนี้คือคำพูดทำนองว่า “การเปลี่ยนสาธารณูปโภคพื้นฐานต้องใช้เวลาหลายสิบปี” แต่เราต้องการเพียงสองสิ่งเท่านั้นที่จะผลิตไฮเดรเจน นั่นคือ ไฟฟ้าราคาถูก และน้ำ

ปัจจุบันมีปั๊มน้ำมันกว่า 160,000 แห่งทั่วอเมริกา ทุกแห่งมีไฟฟ้าและน้ำใช้ ดังนั้นปั๊มน้ำมันทุกแห่งจึงสามารถผลิตไฮโดรเจนด้วยตัวเองได้

สำนักงานของเรามีเครื่องผลิตไฮโดรเจนที่ตั้งเอาไว้สาธิตให้คนดู เราต่อเจ้าเครื่องเล็กๆ นี้เข้ากับเซลล์แสงอาทิตย์ (solar cell) ที่มีขนาดเพียง 3 คูณ 5 นิ้ว แล้วเราก็ต่อสายยางจากเครื่องนี้เข้ากับเซลล์เชื้อเพลิงเล็กๆ ที่ผลิตไฟฟ้าและทำให้พัดลมหมุน นี่ไม่ใช่วิธีที่ผมจะทำถ้าผมจะขายของ แต่พนักงานต้อนรับของเราสามารถเซ็ตเครื่องนี้ให้คุณดูได้ ทั้งๆ ที่เธอไม่ได้เป็นวิศวกร นี่ไม่ใช่เทคโนโลยีที่ซับซ้อนเลย

สิ่งที่ปั๊มน้ำมันต้องมีนอกเหนือจากเครื่องผลิตไฮโดรเจนคือเครื่องอัดอากาศ (คอมเพรสเซอร์) เพราะไฮโดรเจนเป็นก๊าซที่มีปริมาตรสูง ถ้าคุณอัดมันด้วยคอมเพรสเซอร์ก่อนที่จะใส่ตัวถัง รถของคุณจะวิ่งได้ถึง 300 ไมล์ (ประมาณ 480 กิโลเมตร) ก่อนที่จะต้องเติมเชื้อเพลิงอีกรอบหนึ่ง

ถ้าคุณเปลี่ยนมาใช้ไฮโดรเจน คุณก็ไม่จำเป็นต้องซื้อเซลล์เชื้อเพลิงด้วย เพราะเราสามารถแปลงเครื่องยนต์ปกติของรถยนต์ให้ใช้ไฮโดรเจนได้ง่ายมาก ด้วยเครื่องแปลงเครื่องยนต์ (kit) ที่มีสนนราคาไม่กี่ร้อยเหรียญ ถ้าคุณเคยไปโตเกียว คุณคงเคยนั่งรถแท็กซี่ที่ไม่ใช้น้ำมัน แต่ใช้ก๊าซโพรเพนหรือมีเทนเป็นเชื้อเพลิง มาตรการนี้ทำให้อากาศสะอาดขึ้นมาก

ความท้าทายที่สำคัญคือ เราจะทำอย่างไรไม่ให้เศรษฐกิจฟองสบู่นี้ระเบิด ด้วยการค่อยๆ ทำให้มันแฟบลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจฟองสบู่ด้านอาหารที่เป็นฟองสบู่ที่ใหญ่และเรามองเห็นชัดที่สุด ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราอาจจะพบว่าเราต้องเร่งแก้ปัญหาด้วยสปีดเดียวกับประเทศยามสงคราม

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้อ่านวรรณกรรมเศรษฐกิจช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอีกรอบหนึ่ง ผมอ่านสุนทรพจน์ประจำปีของประธานาธิบดีรูสเวลท์เมื่อวันที่ 6 มกราคม 1942 หนึ่งเดือนหลังจากท่านประกาศเป้าหมายของอเมริกาในการผลิตอาวุธสงคราม ท่านบอกว่า “เราจะผลิตรถถัง 45,000 คัน รถยนต์หุ้มเกราะ 60,000 คัน ปืนต้านอากาศยาน 20,000 กระบอก และอุปกรณ์อื่นๆ อีก 6 ล้านตัน” นั่นคือความท้าทายด้านโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ ตอนนี้เราลืมคิดไปว่าภายในชั่วข้ามคืน อเมริกากระโจนเข้าร่วมรบในสมรภูมิหลายแห่งที่อยู่สุดขอบของทะเลสองผืน โลจิสติกส์ของการรบแบบนั้นเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก

รูสเวลท์และพรรคพวกในรัฐบาลตระหนักดีว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ของอเมริกาในขณะนั้นคือขุมพลังการผลิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้นหลังจากที่ท่านกล่าวสุนทรพจน์จบลง รูสเวลท์ก็เรียกผู้นำในอุตสาหกรรมนี้มาพบ แล้วบอกว่า “เราต้องพึ่งกำลังของพวกคุณให้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านี้”

พวกเขาตอบว่า “เราจะพยายามอย่างสุดความสามารถ แต่คงเป็นเรื่องยากที่จะให้เราผลิตทั้งรถยนต์และอาวุธในเวลาเดียวกัน”

รูสเวลท์ตอบว่า “พวกคุณไม่เข้าใจ เราจะสั่งแบนการขายรถยนต์ส่วนบุคคลในประเทศนี้” และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น ระหว่างเดือนเมษายน 1942 ถึงปลายปี 1944 อเมริกาผลิตรถยนต์เพียงไม่กี่ร้อยคันต่อปี เทียบกับ 3-4 ล้านคันต่อปีในทศวรรษก่อนหน้า เรามีฐานการผลิตทางอุตสาหกรรมที่ถูกเปลี่ยนอย่างน่าพิศวงไปเป็นฐานผลิตอาวุธสงคราม ไม่ใช่ในช่วงข้ามปีหรือข้ามทศวรรษ แต่ภายในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น ไครสเลอร์ (Chrysler ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของอเมริกา) ก็เปลี่ยนจากรถเป็นรถถัง

ถ้าพวกเขาทำได้ตอนนั้น เราก็ทำได้ตอนนี้ ความแตกต่างคือ ความเสี่ยงที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน อาจอันตรายมากกว่าสิ่งที่เราเผชิญเมื่อปี 1942

ดังนั้นคำถามคือ เราจะเปลี่ยนได้ไหม? ปีที่แล้วงบประมาณทางทหารของอเมริกามีมูลค่าถึง 343,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นี่ยังไม่รวมเงินที่ใช้ในอิรัก เงินจำนวนนี้มีมูลค่าสูงกว่างบประมาณทางทหารของพันธมิตรนาโต้ของเราทุกประเทศ บวกด้วยงบประมาณด้านนี้ของรัสเซีย จีน และทุกประเทศใน “อักษะแห่งความชั่วร้าย” (Evil Axis) รวมกัน

พลเรือเอกยูจีน แคร์รอล (Admiral Eugene Carroll) เคยกล่าวไม่นานก่อนที่ท่านจะไปสู่สุขคติว่า “เราแข่งกันสร้างอาวุธกับสหภาพโซเวียตเป็นเวลา 45 ปี ตอนนี้เรากำลังแข่งสร้างอาวุธกับตัวเอง”

ถ้าเราเอาเงินจำนวน 343 ล้านเหรียญสหรัฐ มารวมกับงบประมาณเงินบริจาคให้ต่างประเทศ ที่เรียกว่างบ USAID ผลรวมก็จะออกมาประมาณ 360 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นคำถามคือ ถ้าเราตั้งเป้าที่จะใช้เงิน 369 ล้านเหรียญสหรัฐที่อยู่ในงบประมาณด้าน “นโยบายระหว่างประเทศ” เราจะใช้เงินนั้นให้เกิดประโยชน์ที่สุดอย่างไร เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของอเมริกาในโลก? ถ้าเราถอยกลับไปหนึ่งก้าวแล้วคิดถึงคำถามนี้ เราจะได้คำตอบใหม่ที่ไม่ตรงกับการจัดสรรในปัจจุบัน

ประเด็นสุดท้ายของผมคือ โศกนาฏกรรม 11 กันยายน 2001 และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นเตือนสติผมว่า ผู้นำทางการเมืองและสื่อมวลชนทั้งหลายต่างให้ความสนใจกับการก่อการร้ายและอิรัก จนเราแทบจะลืมไปแล้วว่ามีสถานการณ์มากมายที่เป็นภัยต่อความอยู่รอดของเรา วันนี้ผมได้พูดถึงอันตรายสองประการ แต่ยังมีอันตรายอื่นๆ อีกเป็นสิบเรื่อง

ถ้าโอซามา บิน ลาเดน (Osama bin Laden) และพรรคพวกของเขาประสบความสำเร็จในการหันเหความสนใจของเราออกจากสถานการณ์อันตรายต่างๆ ที่บ่อนทำลายอนาคต นั่นก็จะเป็นความสำเร็จที่อยู่เหนือความคาดหมายของพวกเขา นั่นคือความท้าทายของเรา

คำถาม: วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทอย่างไรในการแก้ไขปัญหา เช่นปัญหาการขาดแคลนน้ำ? กระบวนการแยกเกลือออกจากน้ำ (desalinization) และพืชดัดแปลงพันธุกรรม (พืชจีเอ็มโอ) ที่สามารถเพิ่มผลผลิต จะช่วยเราได้หรือไม่?

คำถามข้อที่สองคือ คุณพูดถึงปัญหาทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่เมืองจีนอาจจะอยากนำเข้าเมล็ดธัญพืชจากอเมริกา แต่กรณีนี้น่าจะช่วยทำลายกำแพงเงินอุดหนุนในภาคเกษตรที่อเมริกาและประเทศอื่นๆ ใช้ ซึ่งนั่นก็จะช่วยสถานการณ์ของเกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนา มิใช่หรือ?

ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเรา คือความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจกับจีน เพราะตอนนี้เรานำเข้าสินค้าจากจีนมากเกินไป ฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องดีหรือถ้าจีนจะสั่งซื้อธัญพืชของเราในราคาสูง?

เลสเตอร์ บราวน์: 1) ในประเด็นเทคโนโลยีและกระบวนการแยกเกลือออกจากน้ำทะเลนะครับ เราประสบความสำเร็จค่อนข้างดีในการลดต้นทุนของกระบวนการนี้ลงเรื่อยๆ แต่เรายังต้องลดต้นทุนลงไปอีก 10 เท่า ก่อนที่จะใช้มันในกระบวนการผลิตอาหารได้ ตอนนี้เราต้องใช้น้ำ 1,000 ตันเพื่อผลิตธัญพืชจำนวน 1 ตัน น้ำปริมาณมหาศาลขนาดนั้นทำให้เกษตรกรเสียเปรียบ เราอาจใช้น้ำที่ผ่านกระบวนการแยกเกลือมาใช้เป็นน้ำดื่มที่เราดื่มกันวันละ 4 ลิตรได้ แต่ถ้าพูดถึงน้ำ 2,000 ลิตรที่ต้องใช้ในการผลิตอาหารแล้วละก็ กระบวนการนี้ยังไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

2) ในประเด็นพืชจีเอ็มโอ ดูเหมือนการโฆษณาว่าพืชจีเอ็มโอจะคือวิธีแก้ปัญหาวิกฤตอาหารโลกนั้น จะกลายเป็นแฟชั่นของบรรดาบริษัทอาหารไปแล้ว ข้อเท็จจริงที่ผ่านมาคือ ความสำเร็จของจีเอ็มโอส่วนใหญ่คือการผลิตพันธุ์พืชที่มีภูมิต้านทานแมลง ทำให้การใช้ยาฆ่าแมลงในภาคเกษตรลดลงมาก นอกจากนี้ พืชจีเอ็มโอยังเพิ่มภูมิต้านทานยาฆ่าแมลงสำหรับพืชบางชนิด เช่น ถั่วเหลือง

แต่บริษัทที่กำลังออกพืชจีเอ็มโอใหม่ๆ ยังไม่เคยออกพันธุ์ข้าวสาลี ข้าวเจ้า หรือข้าวโพด ที่เพิ่มผลผลิตต่อไร่ เหตุผลก็คือเกษตรกรทั่วโลกได้ทำทุกวิถีทางแล้วที่จะเพิ่มผลผลิต ซึ่งนั่นก็ทำให้ผลผลิตต่อไร่ของที่ดินทั่วโลกสูงกว่าเดิมแล้ว 3 เท่า

3) การขายเมล็ดธัญพืชให้เมืองจีนจะทำให้ดุลการค้าระหว่างเรากับจีนดีขึ้น และก็จริงที่ภาครัฐจะไม่ต้องใช้เงินอุดหนุนแล้ว เพราะเกษตรกรจะได้ราคาดีกว่าเดิมมาก แต่นั่นจะไม่ได้ช่วยประเทศกำลังพัฒนาเท่าไรนัก เพราะผู้รับเงินอุดหนุนส่วนใหญ่คือผู้นำเข้าธัญพืช ซึ่งไม่สามารถเพิ่มผลผลิตได้สูงกว่านี้มากแล้ว

ถ้าเรายกเลิกเงินอุดหนุนฝ้ายและน้ำตาล ก็จะทำให้ผู้ผลิตพืชสองชนิดนี้(ในประเทศกำลังพัฒนา)สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น เพราะพวกเขาแข่งกับอเมริกาในตลาดข้าวโพดและข้าวสาลีไม่ได้

คำถาม: คุณเล่าหนทางที่จะต่อกรกับปัญหาในอนาคตแบบมองโลกในแง่ดีไม่น้อย เช่น การใช้พลังลม หรือการเปลี่ยนตัวเองของจีนจากประเทศผู้ผลิตธัญพืชสุทธิ เป็นประเทศผู้นำเข้าธัญพืชสุทธิ หรือจากการพึ่งตัวเองเป็นการนำเข้า

ถ้าคุณผนวกแนวคิดนั้นเข้ากับข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อไม่นานมานี้ประเทศจีนเปลี่ยนจากการเป็นผู้ส่งออกปิโตรเลียมสุทธิ เป็นผู้นำเข้าปิโตรเลียมสุทธิ แล้วถ้าคุณมองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีนกับโลก และแนวโน้มว่าจีนจะกลายเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด เป็นมหาอำนาจในอีก 25-50 ปีนับจากนี้ ความจริงที่ว่าจีนต้องอาศัยทั้งปิโตรเลียมและธัญพืชจากต่างประเทศ น่าจะแปลว่าผลประโยชน์ของจีนน่าจะเป็นการสร้างสันติสุขระดับโลก ระบบเศรษฐกิจโลกที่ปราศจากความขัดแย้ง ใช่หรือไม่?

เลสเตอร์ บราวน์: ผมเห็นด้วยครับ จีนกลายเป็นผู้นำเข้าน้ำมันประมาณ 7 ปีที่แล้ว และปริมาณการนำเข้าก็สูงขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มว่าจะเป็นเช่นนั้นต่อไปในอนาคต สาเหตุหลักคือการที่คนจีนใช้รถยนต์กันมากขึ้น

ผมสงสัยมากๆ ว่า ประเทศจีนจะสามารถพัฒนาประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่มีรถยนต์เป็นศูนย์กลางได้จริงหรือ สาเหตุหลักคือข้อจำกัดด้านที่ดิน ในประเทศจีน คุณต้องถางทางขนาดเท่าสนามฟุตบอล ต่อรถยนต์ใหม่ทุกๆ 5 คัน แล้วถ้าคุณลองคิดดูว่า ประเทศจีนต้องใช้ที่ดินเท่าไหร่ ถ้าโรงรถทุกบ้านมีรถอย่างน้อยหนึ่งคัน...

แต่ผมเชื่อแน่นอนว่า การที่จีนต้องพึ่งพิงต่างประเทศสำหรับพลังงานและอาหาร ยังไม่นับแร่ธาตุต่างๆ และวัตถุดิบเช่นเหล็กและผลิตภัณฑ์จากป่า จะส่งผลดีต่อให้ประเทศจีนที่มีสันติสุขและเสถียรภาพ เป็นสมาชิกรายสำคัญของประชาคมโลก

คำถาม: เราต้องใช้น้ำเท่าไหร่ในการผลิตไฮโดรเจน? คำถามที่สองคือ ผมเข้าใจว่าการผลิตเนื้อวัวเพื่อการบริโภคนั้น เป็นกระบวนการเกษตรที่ไร้ประสิทธิภาพที่สุด เพราะการผลิตเนื้อหนัก 1 ปอนด์ (2.2 กิโลกรัม) ให้คนกินนั้น ต้องใช้ธัญพืชและน้ำมากกว่านั้นถึง 7 เท่า คุณคิดว่าจะมีประโยชน์หรือไม่ ถ้าหากรัฐบาลจะกดดันให้คนบริโภคเนื้อวัวและบิ๊กแมคน้อยลง?

เลสเตอร์ บราวน์: เนื้อวัวและเนื้อแกะที่คนบริโภคส่วนใหญ่ในโลกนั้นผลิตจากหญ้า ข้อยกเว้นคือที่ดินที่ใช้เพื่อขุนวัวโดยเฉพาะ (feedlot) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณที่ราบสูง Great Plains ทางตอนใต้ เนื้อวัวส่วนใหญ่ที่เราชาวอเมริกันกิน เนื้อส่วนใหญ่ในบิ๊กแมค มาจากอาหารวัวที่มนุษย์ทำให้วัวกิน (roughage) ไม่ใช่ธัญพืช ในช่วง 2-3 เดือนสุดท้ายของชีวิตวัวก่อนที่มันจะถูกส่งเข้าโรงฆ่า วัวจะใช้ชีวิตใน feedlot เพื่อ “ขุน” ให้อ้วนเป็นครั้งสุดท้าย นี่คือจุดที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะนี่คือจุดที่เราต้องใช้ธัญพืช 7 ปอนด์ เพื่อผลิตเนื้อวัว 1 ปอนด์

ชาวอเมริกันส่วนใหญ่บริโภคไขมันสัตว์มากเกินไปในรูปอาหารไขมันสูง เราควรจะหันมาบริโภคสิ่งที่อยู่ในระดับล่างของห่วงโซ่อาหาร (เช่น ผัก) กันมากขึ้น

ถ้าสถานการณ์อาหารโลกวิกฤตจริงๆ ทางเลือกหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะใช้ได้ คือการให้รัฐเก็บภาษีผู้บริโภคเนื้อ เพื่อลดการบริโภค โดยเฉพาะในเมื่อถ้าชาวอเมริกันบริโภคเนื้อน้อยลง จะแปลว่าประเทศอื่นๆ จะมีธัญพืชบริโภคมากกว่าเดิม (เพราะธัญพืชเป็นอาหารวัว) นี่คือหนึ่งในวิธีจัดการกับวิกฤตอาหารที่จะส่งผลกระทบน้อยที่สุด ถ้าวิกฤตนั้นเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน

กลับไปที่คำถามแรกของคุณ: เราไม่ต้องใช้น้ำมากนักในการผลิตไฮโดรเจน ตัวเลขนั้นใกล้กับ 4 ลิตรที่เราแต่ละคืนดื่มต่อวัน มากกว่า 2,000 ลิตรที่ต้องใช้ในการผลิตอาหาร

เมื่อคุณใช้ไฮโดรเจนไปแล้ว มันจะผสมกับอ็อกซิเจน กลายสภาพเป็นน้ำอีกรอบหนึ่ง ดังนั้นวงจรนี้จึงมีอายุสั้นมาก จึงไม่เป็นภาระต่อแหล่งน้ำ และอันที่จริง วิธีนี้น่าจะช่วยประหยัดพลังงานได้มหาศาล เพราะยกตัวอย่างเช่น เวลาคุณใช้โรงไฟฟ้าพลังความร้อน (thermal power plant) ในการผลิตไฟฟ้า คุณต้องใช้น้ำปริมาณมหาศาล ถึงแม้จะยังไม่เท่ากับปริมาณน้ำที่ต้องใช้ในระบบชลประทานเพื่อการเกษตร มันก็กำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ

คำถาม: เป็นไปได้หรือไม่ที่แต่ละประเทศจะผลิตอาหารพอใช้ในประเทศตัวเอง อาหารจะเป็นสินค้าเพื่อการค้าตลอดไปเลยหรือ?

เลสเตอร์ บราวน์: ที่ผ่านมา หลายประเทศสามารถเพิ่มจำนวนประชากรเพียงเพราะสามารถนำเข้าอาหารจากประเทศอื่น ญี่ปุ่นคือตัวอย่างคลาสสิก เมื่อหลายชั่วอายุคนที่แล้ว เมื่อญี่ปุ่นเริ่มเผชิญกับแรงกดดันจากอัตราการเติบโตของประชากรเป็นครั้งแรก พวกเขาก็ออกไปหาโปรตีนจากสัตว์ในทะเล บริโภคอาหารที่เน้นปลากับข้าวเป็นหลัก

ชาวญี่ปุ่นบริโภคอาหารทะเลกว่า 10 ล้านตันต่อปี ถ้าจีนเจริญรอยตามญี่ปุ่น ก็หมายความว่าจีนจะต้องบริโภคอาหารทะเลปีละ 100 ล้านตัน เพราะมีประชากรมากกว่าญี่ปุ่น 10 เท่า ตัวเลข 100 ล้านตันนี้เท่ากับปริมาณอาหารทะเลที่ชาวประมงทั่วโลกจับได้ในแต่ละปี ดังนั้นทางเลือกนี้จึงเป็นไปไม่ได้ จีนต้องหาทางออกอื่นในการเลี้ยงประชากรซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

ผมคิดว่าการค้าอาหารจะยิ่งทวีความสำคัญขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะในเมื่อภาวะขาดแคลนน้ำกำลังเริ่มกำหนดทิศทางการค้า กล่าวโดยสรุปคือ การค้าอนาคตของธัญพืช คือการค้าอนาคตของน้ำ การค้าระหว่างประเทศจะดำเนินต่อไปและจะขยายตัวขึ้นให้มากเท่าที่เป็นไปได้.

ที่มา //www.onopen.com/2007/02/2144


Create Date : 18 กันยายน 2550
Last Update : 18 กันยายน 2550 16:53:43 น. 3 comments
Counter : 1398 Pageviews.

 
ะทั่ะะา


โดย: สุทธิพงษ์ IP: 118.173.145.13 วันที่: 3 มีนาคม 2551 เวลา:11:14:42 น.  

 
ะทั่ะะา


โดย: สุทธิพงษ์ IP: 118.173.145.13 วันที่: 3 มีนาคม 2551 เวลา:11:15:24 น.  

 
อยากให้ทุกคนมาช่วยกันลดภาวะโลกร้อนค่ะ


โดย: น้องกี้ IP: 202.28.181.200 วันที่: 21 สิงหาคม 2551 เวลา:23:32:21 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.