เสพภาพยนตร์เป็นจานหลัก พักสายตาฟังเจป๊อบเป็นจานรอง ให้อาหารสมองด้วยโดระมะ แปลเนื้อเพลงญี่ปุ่นเป็นงานอดิเรก
Group Blog
 
<<
มกราคม 2556
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
19 มกราคม 2556
 
All Blogs
 

Tokyo Family (aka 東京家族) เหล้าเก่าในขวดใหม่จากผกก. ยามาดะ โยจิ




ในช่วงที่ตัวเองเริ่มทำความรู้จักกับ "ภาพยนตร์" อย่างจริง ๆ จัง ๆ เป็นครั้งแรก ๆ ก็มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Tokyo Story/東京物語 (1953) ผลงานการกำกับของสุดยอดผกก.ภาพยนตร์ชื่อดังของญี่ปุ่น โอสุ ยาสุจิโระ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผกก.ที่ทำหนังสะท้อนความเป็นญี่ปุ่นมากที่สุดคนหนึ่ง ไม่ใช่เพียงแค่ในด้านเนื้อหา แต่ในด้านเทคนิคแล้วโอสุเซนเซยังเป็นต้นตำหรับของหนังที่มีการวางกล้องในระดับทาทามิ (Tatami level) คือขาตั้งกล้องวางสูงจากพื้นประมาณ ๑ เมตร หรือระดับสายตาของคนที่นั่งอยู่บนเสื่อทาทามิในบ้านแบบญี่ปุ่นนั่นเอง ซึ่งโอสุเซนเซใช้เทคนิคนี้กับหนังทุกเรื่อง(และตลอดทั้งเรื่องไม่ว่าจะเป็นฉากในบ้านหรือนอกบ้าน) นอกจากนี้โอสุเซนเซยังเป็นต้นแบบของการทำหนังให้กับผกก.ชื่อดังในปัจจุบันอีกหลายต่อหลายท่าน เช่น โคเรเอดะ ฮิโรคะสุ, โหวเสี่ยวเสี้ยน* รวมถึง ยามาดะ โยจิ ผกก.ภาพยนตร์เรื่องที่กำลังจะกล่าวถึงในบทความนี้



ในปีนี้ Tokyo Story ได้ถูกนำมารีเมคใหม่โดย "บมจ. โชจิกุ ภาพยนตร์" ผู้สร้างเดิม และกำกับโดย ยามาดะ โยจิ ผกก.ลูกหม้อของสตูดิโอ ในชื่อใหม่ว่า Tokyo Family/東京家族 อีกทั้งหนังเรื่องนี้ก็ถูกสร้างในวาระครบรอบ 50 ปีในวงการภาพยนตร์ของยามาดะเองเช่นกัน ตัวยามาดะเองก็เป็นอีกหนึ่งในผกก.ระดับตำนานของญี่ปุ่นที่ปัจจุบันยังคงมีผลงานภาพยนตร์ออกมาต่อเนื่อง ผลงานที่เป็นที่จดจำมากที่สุดของผกก.ท่านนี้เห็นจะเป็นภาพยนตร์ชุด โตระซัง (男はつらいよ) ซึ่งทำสถิติลงหนังสือกินเนสบุ๊คว่าเป็นภาพยนตร์ที่มีภาคต่อมากที่สุดในโลก (๔๘ ภาค) ก่อนที่จะโดนโค่นแชมป์โดยหนังชุด หวงเฟยหง ในเวลาต่อมา สำหรับในเมืองไทยเอง อีกผลงานหนึ่งที่เป็นที่น่าจดจำได้แก่ The Yellow Handkerchief หนังโร้ดมูวี่ชื่อดังที่ท่านมุ้ยนำมารีเมคในชื่อ "ถ้าเธอยังมีรัก" นำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี, นวรัตน์ ยุกตะนันท์ และปัญญา นิรันดร์กุล สำหรับหนังในยุคหลัง ๆ มีผลงานของยามาดะที่เข้ามาฉายแบบจำกัดโรงในบ้านเรา(เท่าที่ตัวเองจำความได้) อยู่สามเรื่องได้แก่ The Twighlight Samurai** (นำแสดงโดย ฮิโรยูกิ ซานาดะ), The Hidden Blade (นำแสดงโดย มัตสึ ทาคาโกะ) และ Love and Honor (นำแสดงโดย คิมูระ ทาคุยะ) เป็นที่น่าเสียดายว่า หนังอีกสองเรื่องให้หลัง (Kabei: Our Mother และ About Her Brother***) ไม่มีผู้จัดจำหน่ายซื้อเข้ามาฉายในประเทศไทย

ความรู้สึกก่อนได้ดูภาพยนตร์เรื่อง Tokyo Family สารภาพตรง ๆ ว่าอยากดูมาก แต่ก็แอบหวั่นว่างานรีเมคมันจะเป็นงานที่ทำได้ไม่ดีเท่าหนังต้นฉบับ แต่ความรู้สึกหลังจากได้ดูนั้นกลับประทับใจมากกว่านั้น เพราะหนังไม่ได้พยายามที่จะตามรอยความดีความงามของหนังต้นฉบับ แต่ยามาดะเอาประเด็นที่อยู่ใน Tokyo Story มาตีความใหม่โดยยังยึดเส้นเรื่องเดิมของโอสุเซนเซไว้และนำเสนอมันด้วยวิธีการของตัวเอง จนเรียกได้ว่าหนังแต่ละเรื่องก็มีดีในตัวมันเองจนไม่ควรนำมาเปรียบเทียบ

ตัวหนังทั้งสองเรื่องว่าด้วยเรื่องของครอบครัวหนึ่งที่พื้นเพอยู่ในต่างจังหวัด แต่ว่าลูก ๆ เข้าไปทำงานและมีครอบครัวในกรุงโตเกียวกันหมด ในวันที่พ่อแม่เข้าไปเยี่ยมดูความเป็นอยู่ของลูก ๆ แต่ละคนในวัยที่ไม่ต้องพึ่งพาพ่อแม่อีกแล้ว ลูก ๆ ที่ปกติจะวุ่นวายกับหน้าที่การงานกับชีวิตครอบครัวของแต่ละคนอยู่แล้ว ก็มีอันต้องแบ่งภาคมาดูแลพ่อแม่ที่อุตส่าห์เดินทางมาจากต่างจังหวัดกันด้วย นั่นเลยทำให้แต่ละคนก็เหมือนกับจะเกี่ยงกันในการทำหน้าที่ดังกล่าว

โอสุเซนเซเป็นผกก.ที่มีความโดดเด่นในแง่ของการทำหนังแบบ Minimalism หรือ ประเภททำน้อยได้มาก Tokyo Story จึงออกมาในลักษณะราวกับว่าผกก.ไปตั้งกล้องทิ้งไว้ และถ่ายให้เห็นถึงความเป็นไปของตัวละครต่าง ๆ ในเรื่อง โดยไม่มีการแต่งเติมให้ดูเกินจริงหรือจงใจบิ้วอารมณ์คนดูแบบดราม่า แต่ด้วยวิธีการนี้เองหนังจึงดูเหมือนจริงจนคนดูมีอารมณ์ร่วมคล้อยตามไปกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น และในขณะเดียวกันโอสุเซนเซก็ไม่ได้พยายามที่จะสรุปความเพื่อที่จะสื่อสารในหนังแบบชัด ๆ แต่ค่อย ๆ ให้คนดูเริ่มตั้งประเด็นจากเรื่องราวที่เห็นได้เอง

Tokyo Story สร้างขึ้นในปีค.ศ. ๑๙๕๓ ดังนั้นแบกกราวด์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหนังหนังจึงเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวจากสงครามและเศรษฐกิจของประเทศกำลังอยู่ในช่วงเติบโต และนั่นเองก็ทำให้สภาพสังคมของญี่ปุ่นเองต้องเปลี่ยนจากสังคมแบบชนบทที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายอยู่ร่วมกัน กลายเป็นสังคมเมืองที่คนรุ่นใหม่จะพากันเข้ามาในเมืองเพื่อแสวงหาโอกาสและความมั่งคั่งในชีวิต จริง ๆ แล้วเรื่องราวแบบนี้ก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบันเช่นกัน แต่ทว่าสภาพสังคมแบบนี้อย่างน้อย ๆ จนถึงปัจจุบันก็เป็นกันมาแบบนี้กันเกินครึ่งศตวรรษ (หรือแทบจะเรียกได้ว่าเกือบหนึ่งชั่วอายุคน) กันไปแล้ว ผู้คนในปัจจุบันก็ยอมรับกับสภาพที่เป็นอยู่แบบนี้จนรู้สึกคุ้นชินกันไปแล้ว อีกทั้งการไปมาหาสู่กันระหว่างเมืองใหญ่ กับเมืองในต่างจังหวัดเองก็ไม่ได้ลำบากเหมือนเช่นในอดีต

ใน Tokyo Story โอสุเซนเซพยายามตั้งคำถามถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ส่งผลถึงวิถีชีวิตของคนในครอบครัวที่ลูก ๆ ทุกคนอยู่กันในลักษณะต่างคนต่างอยู่ และสุดท้ายกรรมก็ตกไปอยู่กับคนแก่ที่ต้องถูกลูก ๆ ทิ้งไว้ตามลำพัง แต่สำหรับ Tokyo Family นั้นยามาดะกลับไม่ได้พยายามตั้งคำถามในเชิงสังคมสักเท่าไหร่ แต่ใช้บริบททางสังคมที่เราเองก็คุ้นชินกับมันอยู่แล้ว มาสำรวจความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว และไม่ได้พยายามนำไปสู่บทสรุปถึงความลำบากของคนแก่ที่ต้องอยู่อย่างลำพัง แต่ออกมาในลักษณะของการเป็นกระจกสะท้อนและให้กำลังใจคนรุ่นใหม่ในการมีชีวิตต่อไป

ประเด็นทางสังคมที่ยามาดะได้พยายามสอดแทรกเอาไว้ในหนังก็มีอยู่หลาย ๆ ประเด็น เช่น เทคโนโลยีอย่างเช่นการติดต่อสื่อสาร หรือการไปมาหาสู่ที่สะดวกขึ้น(อย่างรถชินกันเซน) มันอาจจะย่อโลกไว้ได้มากกว่าแต่ก่อนก็จริง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ผู้คนได้ใกล้ชิดกันสักเท่าไหร่ หรือการเข้ามาของชาวต่างชาติที่มากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีให้เห็นในหลาย ๆ ฉากกำลังสะท้อนความคิดที่ว่าคนญี่ปุ่นเองกำลังจับตามประเทศจีนซึ่งกำลังเป็นเศรษฐีใหม่และจะกลายเป็นผู้ที่มีอิทธิพลอย่างมากกับคนญี่ปุ่นในอนาคต

ในแง่ของการนำเสนอ ยามาดะยังคงใช้เทคนิคตั้งกล้องระดับทาทามิเหมือนกับที่โอสุเซนเซเคยใช้ แต่ไม่ได้ตั้งกล้องนิ่ง ๆ หรือปล่อยลองเทคยาว ๆ เหมือนกับต้นฉบับ ด้วยความที่ยามาดะเองเป็นผกก.มาทางสายละครเวที ทำให้การนำเสนอจึงเน้นความเป็นดราม่ามากขึ้น และมีการลงรายละเอียดของชีวิตตัวละครแต่ละตัวมากขึ้น อีกทั้งยามาดะก็ยังคงแม่นยำในแง่ของจังหวะการเล่าเรื่องและการวางจังหวะด้านอารมณ์ของหนัง ทำให้หนังออกมาลงตัวและไม่ได้มีความพยายามไปทับทางของต้นฉบับอย่างที่ได้เกริ่นไว้ข้างต้น

กล่าวโดยสรุปคือ ส่วนตัวชอบหนังเรื่องนี้มากทั้งในแง่ของการเป็นกระจกสะท้อนสังคม การตีความใหม่จากเนื้อเรื่องเดิมแต่บนบริบททางสังคมในปัจจุบัน และการเป็นงานคารวะอาจารย์ที่ไม่พยายามไปย้อนรอยเดิมที่มีอยู่ก่อน แต่พยายามนำเสนอในรูปแบบของตัวเองบวกกับการตีความใหม่จากมุมมองของคนที่ผ่านโลกมาจนความคิดได้ตกผลึกออกมาแล้ว และสิ่งที่อยากชื่นชมอีกเรื่องคือแคสติ้งกับการแสดงของนักแสดงนั้นดูเข้าขาและรับส่งกันได้ดีมาก โดยเฉพาะลุงที่เล่นเป็นพ่อนั้นการแสดงโดดเด่นมาก 

ป.ล. แอบเคืองนิดหน่อยตรงที่กว่าจะให้น้องอาโออิ ยูออกมาหนังผ่านไปตั้งครึ่งเรื่องแล้ว (แหงะ)

* ผกก.ทั้งสองท่านเคยมีผลงานที่สร้างเพื่อเป็นการคารวะโอสุเซนเซมาแล้ว โดยโคเรเอะดะ เคยทำเรื่อง Maborosi(1995) และ โหวเสี่ยวเสี้ยน เคยทำเรื่อง Café Lumière (2003)  
** ภาพยนตร์เรื่อง The Twilight Samurai เข้ารอบ 5 เรื่องสุดท้ายที่เข้าชิงภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศบนเวทีออสการ์เมื่อปี 2003 (ปีเดียวกับ The Babarian Invasion)
*** ภาพยนตร์เรื่อง About Her Brother ได้รับเกียรติ์ให้ฉายปิดเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลินปี 2010 ซึ่งในปีนั้นเองยามาดะก็ได้รางวัลเกียรติยศจากเทศกาลนี้ด้วย 




 

Create Date : 19 มกราคม 2556
1 comments
Last Update : 20 มกราคม 2556 15:52:40 น.
Counter : 3773 Pageviews.

 

อ่านแล้วอยากดูบ้างเลยครับคุณเอ็กซ์

 

โดย: กล้วย IP: 131.112.115.168 25 เมษายน 2556 19:43:33 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Filmism
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Friends' blogs
[Add Filmism's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.