เสพภาพยนตร์เป็นจานหลัก พักสายตาฟังเจป๊อบเป็นจานรอง ให้อาหารสมองด้วยโดระมะ แปลเนื้อเพลงญี่ปุ่นเป็นงานอดิเรก
Group Blog
 
<<
เมษายน 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
24 เมษายน 2549
 
All Blogs
 
Always : Sunset On Third Street / ความหวังบนถนนสายที่สาม

A Film by Yamazaki Takashi

ไม่ทราบว่าเป็นอะไร หลังจากที่ได้มีโอกาสไปเยือนประเทศที่อยากไปตั้งนานแล้วอย่างญี่ปุ่นกับครอบครัว ทำให้จากเดิมที่เคยชื่นชมกับวัฒนธรรมอันแข็งแรงของประเทศนี้ยิ่งอาการหนักเข้าไปทุกที ๆ โดยเฉพาะจากเดิมที่บ้ากับหนังจากประเทศนี้อยู่เดิมแล้ว

การดูหนังญี่ปุ่น ซึ่งตลาดในประเทศไทยนั้นไม่ได้วงกว้างมากนัก (หนำซ้ำยังไม่ค่อยจะมีมาฉายในบ้านเราสักเท่าไหร่) ก็ได้พึ่งพวกผีทั้งหลายที่ทยอย ๆ ให้เราได้ดู ผมรู้สึกว่าหนังญี่ปุ่นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าประเทศที่มีอุตสาหกรรมหนังแข็งแรงอื่น ๆ เลย และพื้นที่ในบ้านก็เพียงพอสำหรับการอยู่รอดของอุตสาหกรรม จึงเป็นเหตุที่หนังญี่ปุ่นเองไม่ได้ทะยานที่จะออกสู่สายตาชาวโลกในวงกว้างมากนัก(บวกกับค่าลิขสิทธิ์อันแสนแพง) แต่แล้วหากใครได้สัมผัส คุณจะพบถึงความเรียบง่ายแต่แฝงแง่มุมอันลึกล้ำอยู่ไม่น้อย

แม้หนังญี่ปุ่นในสายตาของคนทั่วไป อาจมีแต่หนังบ้า ๆ บอ ๆ อย่าง Swing Girl หรือหนังเรียกน้ำตาอย่าง Be with you ที่ดูเผิน ๆ ก็ไม่ได้ต่างจากหนังเกาหลีที่กำลังเป็นกระแสสักเท่าไหร่ แต่หากมองลงไปลึก ๆ แล้ว วัฒนธรรมของการทำหนังญี่ปุ่นนั้นต่างนัก ทั้งการใช้มุมกล้องที่จะเคลื่อนกล้องน้อย ชอบปล่อยลองเทค หรือแม้กระทั่งการใช้บทสนทนาที่น้อย

ก่อนที่จะเลยเถิดไปขอพูดถึงหนังที่พึ่งได้ดูมาสด ๆ ร้อน ๆ เรื่อง Always: Sunset on Third Street ซึ่งตอนที่ผมเดินทางไปญี่ปุ่น ร้านดีวีดีทุกร้านที่นั่นมีโปสเตอร์แปะโฆษณาออกมาแล้ว ซึ่งผมก็ได้แต่รอว่าเมื่อกลับมาบ้านเราจะรีบแจ้นไปลิโด้ทันทีเมื่อหนังเรื่องนี้เข้า แต่แล้วก็ไม่ผิดหวังจริง ๆ สิ่งที่ท่านจะได้อ่านต่อไป อาจเกิดจากความลำเอียงอยู่บ้าง เนื่องจากเกิดจากการได้ไปสัมผัสวัฒนธรรมจริง ๆ ของคนที่นั่น ซึ่งมันประจวบเหมาะซะเหลือเกินกับหนังเรื่องนี้

หนังเรื่องนี้หยิบเอาหนังสือมังงะเรื่องหนึ่งมาทำ ซึ่งเป็นที่น่างงว่าการ์ตูนอะไรถึงได้เขียนเรื่องราวออกจะดราม่าซะขนาดนั้น แต่แล้วอันนี้คงจะบอกไม่ได้ว่าภาพในหนังสือกับภาพบนจอหนังนั้น แบบไหนที่จะมีเสน่ห์กว่ากัน ขอให้ลองไปหยิบมังงะเรื่องนี้มาอ่านกันเอาเอง

ฉากหลังที่เปี่ยมเสน่ห์อยู่ตรงที่การใช้การสร้างหอโตเกียวทาว์เวอร์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นของใหม่สำหรับคนญี่ปุ่น อีกทั้งมันก็ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ถึงความเจริญที่กำลังจะเข้ามาทั้งที่เป็นยุคที่ญี่ปุ่นเพิ่งเป็นประเทศผู้แพ้สงครามมาหมาด ๆ นั่นยิ่งแสดงให้เห็นถึงผู้นำประเทศไม่ได้นิ่งเฉยกับกระแสโลกที่กำลังจะเข้ามาในอนาคต

เรื่องราวก็ได้หยิบถึงชุมชนเล็ก ๆ บนถนนสายที่สามของกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นยุคสมัยที่น่าจดจำ เนื่องจากมันก็ไม่ได้ต่างจากชุมชนในต่างจังหวัดของปัจจุบัน ที่คนรู้จักกันตั้งแต่หัวถนนยันท้ายซอย ตัวละครต่าง ๆ ในหนังทำหน้าที่ของตนเองในชุมชนนั้น ๆ อย่างมีสีสัน

ตัวละครตัวแรกที่หนังเข้าประเด็นก่อนเห็นจะเป็นเด็กสาวต่างจังหวัดที่หวังจะเข้าโตเกียวเพื่อมาเป็นเลขาท่านประธานบริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่ แต่แล้วสิ่งที่เธอมาพบกลายเป็นร้านซ่อมรถยนต์เล็ก ๆ บนถนนสายนี้ ซึ่งเจ้าของเป็นหนุ่มใจร้อน เอาแต่ใจ แต่ก็เป็นคนที่รักครอบครัว และมีลูกชายตัวเล็ก ๆ น่ารัก ๆ คนหนึ่ง

ที่ฝั่งตรงกันข้ามของร้านซ่อมรถยนต์เป็นร้านขายขนมของนักประพันธ์ใส้แห้ง ที่พร่ำจะเขียนวรรณกรรมของตนเองส่งไปชิงรางวัล แต่ก็แห้วมันซะทุกครั้ง แถมตัวร้านขายขนมของเขาเป็นร้านที่ไม่ค่อยจะสู้ดีเอาซะเลย

ชุมชนแห่งนี้มีทั้งคุณหมอ ซึ่งกลายเป็นคนตัวคนเดียวหลังจากสงครามเนื่องจากลูกและภรรยาเสียชีวิตในเวลานั้น อีกทั้งมีร้านขายเหล้าของอดีตเกอิชา ซึ่งเป็นเหมือนกับสโมสรอะไรบางอย่างที่บรรดาเหล่าท่านชายทั้งหลายมาสังสรรค์กันที่นี่

ด้วยวิธีการถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ที่ดูเชย แต่อย่าได้คิดว่าสิ่งต่าง ๆ ในหนังนั้นจะเชยตามไปซะทั้งหมด กลับกลายเป็นการแฝงไว้ซึ่งสัญลักษณ์หลายอย่างอย่างเฉียบคม

ในแง่แรกเมื่อหนังเปิดเรื่องนั้น พวกเราจะต้องแปลกตา (สำหรับคอหนังญี่ปุ่น) สำหรับการใช้ภาพแบบ Cinemascope (ภาพสัดส่วนกว้างที่จอหนังจะเปิดม่านจนสุดผนัง) ซึ่งประเทศญี่ปุ่นก็เหมือนกับบ้านเราคือเลิกใช้ไปแล้ว(แต่สำหรับหลายที่ยังใช้กันอยู่) บวกกับการขึ้นไตเติ้ล Toho Scope ซึ่งเป็นสิทธิบัตรของสัดส่วนภาพนี้ของสตูดิโอโตโฮ ซึ่งเป็นที่นิยมอยู่ระหว่างยุค 50-70 นั่นเป็นการบ่งบอกอย่างแรกว่า เป็นการถวิลหาช่วงเวลาที่นั้นในอดีต

ประเด็นของตัวละครที่แฝงไว้นั้นเฉียบคมอย่างไม่น่าเชื่อ ในแง่ของหน้าที่ของตัวละครในสังคมเล็ก ๆ อย่างนี้ กลับสะท้อนอะไรบางอย่าง เช่น ตัวร้านซูซูกิออโต้ที่เป็นร้านซ่อมรถยนต์ ซึ่งเปรียบเสมือนกับผู้นำทางความเจริญก้าวหน้าให้กับชุมชน ทั้งการมีโทรทัศน์เครื่องแรกของชุมชนแห่งนี้ รวมไปถึงตู้เย็นที่ใช้ไฟฟ้าเครื่องแรก ซึ่งสมัยนั้นไม่ใช่ทุกคนจะมีได้ ซึ่งหนังก็แอบทำตลกที่ทำให้คนขายน้ำแข็งตกงาน

อีกประเด็นหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในเรื่องของนักประพันธ์ที่อยู่ฝั่งตรงกันข้าม แม้ว่าบทประพันธ์เยาวชนของเขาจะเป็นขยะสำหรับคนทั่วไป แต่ความหวังของเขาในแง่ของการปลูกฝังค่านิยมด้านการอ่าน ซึ่งตัวเขาก็พยายามบอกกับคนทั่วไปในเรื่องของการสร้างจิตสำนึกในการอ่านบางอย่างให้กับเด็กดีกว่าที่จะพยายามบอกอะไรบางอย่างกับผู้ใหญ่คร่ำครึ ซึ่งจริง ๆ มันจะน่าขำของใครหลายคน และมันยังเป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่เด็กฝากเลี้ยงของอดีตเกอิชาที่เอามายัดเยียดให้เขาดูแลนั้น กลับเป็นแฟนตัวยงของเขาไปซะดื้อ ๆ

ประเด็นที่น่าจะเห็นชัดที่สุดน่าจะเป็นเรื่องราวของความหวัง แม้ญี่ปุ่นจะเพิ่งผ่านสงครามมาหมาด ๆ แต่ผู้คนกลับไม่ได้ตกต่ำไปตามสถานการณ์นั้นเลย ทั้งความขยันขันแข็งของเด็กสาวต่างจังหวัดในร้านซ่อมรถ, ความมุ่งมานะของตัวเจ้าของร้านซ่อมรถ แม้กระทั่งความหวังที่จะมีครอบครัวของตัวนักประพันธ์กับอดีตเกอิชา และการฉลองวันคริสตมาสเล็ก ๆ ของพวกเขาที่เด็กรอรับของขวัญจากซานตา และรวมไปถึงอีกหลายตัวละครในหนังที่จะนำมาสาธยายไม่หมด

แต่แล้วสิ่งที่คนดูจะต้องไม่ลืมอย่างยิ่งคือนี่คือหลังยุคสงครามที่จะต้องมีคนที่ได้รับผลกระทบต่าง ๆ เหล่านั้น เช่น ตัวคุณหมอนั้นแม้เขาจะเป็นที่นับถึอของคนในชุมชน แต่แล้วเขาต้องจมทุกข์อยู่กับสิ่งที่สงครามทำกับครอบครัวเขา หรือแม้กระทั่งอดีตเกอิชา ที่เธอรับรักและแอบแต่งงานอยู่ในใจกับหนุ่มนักประพันธ์นั้น แต่เธอจำต้องกลับไปแต่งงานกับคนอื่นเพื่อใช้หนี้ ซึ่งผลกระทบต่าง ๆ แม้มันเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ แต่พวกเขาก็ต้องยอมรับและมีความหวังกับสิ่งที่กำลังจะก้าวเข้ามาในอนาคต

จะว่าไปหนังเรื่องนี้ได้กล่าวถึงประเด็นการสร้างชาติของญี่ปุ่นในหลาย ๆ แง่ดังได้ที่กล่าวมา ซึ่งเรื่องราวนั้นไม่ได้ถ่ายทอดออกมาซีเรียส แต่กลับออกมาเป็นแบบขบขันสลับกับความซาบซึ้ง อีกทั้งก็ยังไม่ลืมที่จะไม่ละเลยถึงประเด็นความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่หนังพยายามปลูกฝังให้เป็นสิ่งแข็งแรงสำหรับประเทศที่กำลังจะก้าวสู่ความเจริญทางอุตสาหกรรม




Create Date : 24 เมษายน 2549
Last Update : 24 เมษายน 2549 17:33:09 น. 2 comments
Counter : 1483 Pageviews.

 
ขอไม่อ่านนะคะ เพราะอยากไปดูค่ะ

คุณ "ผมอยู่ข้างหลังคุณ" ก็แนะนำเรื่องนี้ไว้เหมือนกันค่ะ

ว่าแล้วก็อยากดูหนักขึ้นไปอีก

เจ้าของบล็อกหายไปนานเลยนะคะ


โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 24 เมษายน 2549 เวลา:17:59:24 น.  

 
ชอบเรื่องนี้มากๆครับ แรกดู film เก่าๆ แต่ว่ารู้สึกคุ้มค่ามากๆครับ


โดย: noooon010 IP: 58.136.19.77 วันที่: 7 พฤษภาคม 2550 เวลา:12:37:11 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Filmism
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Friends' blogs
[Add Filmism's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.