แดเนียล รัสเซล จับมือให้ช่างภาพทำเนียบรัฐบาลถ่ายรูปนี้ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ก็คงจะทำให้เข้าใจได้ถึงวลีการทูตใหม่ที่ว่า ความสัมพันธ์ภายใต้ข้อจำกัด ระหว่างสองประเทศในขณะนี้ ความหมายคงจะเป็นทำนองว่านี่คือ ภาวะไม่ปกติ ดังนั้นความสัมพันธ์ของสองประเทศอันยาวนานจึงเข้าสู่สภาพที่มี ข้อจำกัด เพราะรัฐประหารที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
การที่รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกนำทีมสหรัฐมา ปรึกษาหารือยุทธศาสตร์ ที่เรียกว่า Strategic Dialogue กับฝ่ายไทยต้องถือว่าเป็นการ ค่อย ๆ ฟื้น ความสัมพันธ์เพราะต่างฝ่ายต่างก็ยืนยันว่าไทยมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคนี้ และสหรัฐก็เป็นมหาอำนาจที่ต้องการมีมิตรในแถบนี้เช่นกัน
รัสเซลบอกว่าได้ตั้งใจฟังคำชี้แจงของนายกฯไทย และแลกเปลี่ยนความเห็นทั้งที่เป็นประเด็น ความหวัง ความทุกข์และความกังวล (hope, woes and concerns) ขณะที่ฝ่ายไทยบอกว่าได้ขอให้ฝ่ายสหรัฐ ได้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเมืองของไทย และให้มองประชาธิปไตยจากหลาย ๆ ด้าน
รัสเซลบอกนายกฯประยุทธ์ให้ระวังเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และการค้ามนุษย์ขณะที่นายกฯ ไทย อธิบายให้ผู้มาเยือนเข้าใจสถานการณ์ของไทย ขอย้อนให้กลับไปดูการเมืองในอดีตว่าเกิดอะไรขึ้น จะทำให้สหรัฐเข้าใจไทยในปัจจุบันและมองอนาคตได้อย่างชัดเจน
นายกฯประยุทธ์ยืนยันกับรัสเซล ว่าการมองประเทศไทยขออย่ามองที่ตัวบุคคล แต่ขอให้ไปศึกษาเพิ่มเติม และไทยไม่ได้ถอยห่างจากหลักประชาธิปไตย แต่กำลังทำให้ไทยกลับไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง และเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนคนไทยมีความรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ของตนเอง
รัสเซลบอกนายกฯไทยว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นที่อาจถูกนำไปเป็นประเด็นได้ ขอให้ระมัดระวังเรื่องนี้ นายกฯตอบว่าได้ระมัดระวังอยู่แล้ว แต่ความเคลื่อนไหวที่เป็นข่าวนั้นล้วนแต่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ไม่ใช่พลังบริสุทธิ์ แต่ต้องการสร้างประเด็นให้สหรัฐและองค์กรระหว่างประเทศมากดดันประเทศไทย
อีกมุมหนึ่งของการแลกเปลี่ยนคือ การเมืองภูมิรัฐศาสตร์ หรือ Geopolitics อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะท่าทีสหรัฐที่ส่งรัฐมนตรีช่วยมาไทยครั้งนี้เป็นการตอกย้ำว่าวอชิงตันไม่ต้องการให้ไทยรู้สึกถูกโดดเดี่ยวโดยอเมริกาจนต้องเข้าสู่อ้อมกอดของจีน
ขณะเดียวกันไทยก็ตระหนักถึงความสำคัญ ของการรักษาดุลถ่วงระหว่างมหาอำนาจในภูมิภาคนี้ จึงไม่แสดงตนว่ากระโดดเข้าหาจีนเต็มตัว อย่างที่อาจจะมีการวิเคราะห์กันจากบางสำนัก
นายกฯประยุทธ์บอกรัสเซลว่าไทยพร้อมให้การสนับสนุนบทบาทของสหรัฐในการทำให้ภูมิภาคนี้เข้มแข็ง และรู้สึกยินดีที่สหรัฐกลับมาให้ความสำคัญประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายกฯไทยบอกรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐด้วย ว่าไทยยินดีที่วอชิงตันหันกลับมาให้ความสำคัญประเทศไทย แม้จะอยู่ภายใต้ข้อจำกัดโดยกฎหมายของสหรัฐเอง
สหรัฐยืนยันพร้อมเดินหน้าไปด้วยกันภายใต้ข้อจำกัด พยายามลดช่องว่างความสัมพันธ์ที่ผ่านมา
ดูจากเนื้อหาที่ออกมาจากการสนทนารอบนี้ ต้องถือว่าได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างตรงไปตรงมาพอสมควร ต่างฝ่ายต่างยังยืนยันจุดเดิมของตน แต่ก็พร้อมจะฟังอีกฝ่ายหนึ่งและเข้าใจในเหตุผลที่ต้องทำอย่างที่ทำ แต่ก็ต้องพยายามรักษาความสัมพันธ์นั้นเอาไว้เพราะเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
การดำเนินการนโยบายต่างประเทศ ต้องหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ความรู้สึก หรือมาตรฐานแห่งตนเป็นเครื่องวัด เพราะการคบหาระหว่างประเทศย่อมอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ไม่มีใครกดดันบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งทำในสิ่งที่ขัดต่อประโยชน์แห่งตนได้
เมื่อมีช่องทางการปรึกษาหารืออย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้ ก็คงจะลดดีกรีของ การทูตโทรโข่ง หรือ megaphone diplomacy ที่ฝ่ายหนึ่งส่งเสียงตะโกนในที่สาธารณะทั้ง ๆ ที่สมควรจะนั่งลงจับเข่าพูดจากัน
ในเมื่อต่างฝ่ายต่างยอมรับว่านี่คือ ความสัมพันธ์ภายใต้ข้อจำกัด การเปิดช่องทางของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำเสนอแนวทางที่ตนอยากเห็น
ทั้งสองฝ่ายต้องเคารพ กติกาการทูตสากล เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่ไม่จำเป็นดั่งที่ผ่านมา/จบ
...............................................................................................................................