มาตรฐานโลก-มาตรฐานไทย
ขอขอบคุณเนื้อหาความรู้ของคุณสุทธิชัย หยุ่น จากกรุงเทพธุรกิจรายวัน
เมื่อวานเห็นข่าวสองชิ้น ที่กระทบอนาคตการส่งออกของไทย ทั้งสองเรื่องเกี่ยวกับมาตรฐานแรงงาน และสิทธิคนทำงานทั้งไทยและต่างด้าว ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในต่างประเทศ
ใครที่เคยคิดว่าเรื่องมาตรฐานแรงงาน สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อมและประชาธิปไตยไม่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศก็ต้องคิดใหม่หมด
เพราะนี่คือโลกแห่งยุคของการเรียกร้องความเท่าเทียม เสรีภาพและสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์... ประกอบกับการแพร่ข่าวสารอย่างรวดเร็วฉับพลัน ของโซเชียลมีเดียทั้งที่ถูกบ้างผิดบ้าง แต่ผลกระทบเกิดได้ฉับพลันกะทันหันอย่างเหลือเชื่อ
ปัญหาสั่งสมของสังคมไทยที่เคยถูกปัดไว้ใต้เสื่อ หรือซ่อนเร้นด้วยวิธีการต่าง ๆ วันนี้กำลังถูกเปิดเผยออกมาพร้อม ๆ กันเกือบทุกเรื่อง
หลายประเด็นที่เรากำลังแก้ไขกันอย่างขะมักเขม้น ก็จะต้องเดินไปพร้อมกับการออกข่าวสารข้อมูลตรงไปตรงมาอย่างทันท่วงที
ที่ยังเป็นปัญหาเพราะยังมีอุปสรรค แก้ไขไม่ได้ หรือไม่ยอมแก้จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็หนีไม่พ้นว่าจะต้องยอมรับความจริง ว่าไม่มีใครสามารถปกปิดความลับได้ตลอดไป หากไม่กระโดดเข้าแก้ไข และบอกกล่าวกับคนไทยและชาวโลกว่าทำอะไรไปถึงไหน ก็จะต้องโดนกระหน่ำทั้งโดยเจ้าหน้าที่ทางการของประเทศอื่น หรือไม่ก็เป็นในลักษณะ คว่ำบาตรทางสังคม ที่เรียกว่า social sanctions ซึ่งบางทีหนักหน่วงรุนแรงกว่ามาตรการตามกฎหมายด้วยซ้ำ
Dont eat that shrimp (อย่ากินกุ้งตัวนั้น) คือพาดหัวของบทความใน Washingpost Post ที่อ้างถึงรายงานสำนักข่าวเอพี ที่ไปติดตามข่าวว่าอุตสาหกรรมกุ้งส่งออกของไทยยังใช้ แรงงานทาส อยู่
เขาระบุว่าเครือข่ายธุรกิจอเมริกันยังซื้อกุ้งจากไทย ที่ละเมิดมาตรฐานแรงงานมาขายให้ผู้บริโภคในอเมริกาไม่ว่าจะเป็น Wal-Mart, Kroger, Whole Foods, Dollar General และ Petco รวมไปถึงภัตตาคารดัง ๆ อย่าง Red Lobster และ Olive Garden
และยังกล่าวหาว่ากุ้งไทยที่ผลิตด้วยวิธีการ มาในรูปของสินค้าทะเลยี่ห้อดังเช่น Chicken of the Sea และ Fancy Feast และวางขายในร้านรวงที่คนอเมริกันอุดหนุนเป็นประจำเช่น Safeway, Schnucks, Piggly Wiggly และ Albertsons
เข้าใจว่าผู้ผลิตสินค้าอาหารทะเลของไทยรายใหญ่ ๆ ได้พยายามยุติการใช้แรงงานที่เข้าข่ายมีปัญหา แต่เป็นที่รู้กันว่าพฤติกรรมเช่นนี้ยังมีอยู่ในหลาย ๆ จุด ใครไปตรวจก็สามารถจับผิดได้จนกลายเป็นข่าวคราวดังที่ปรากฏอยู่
วันเดียวกันกลุ่ม Finnwatch ของฟินแลนด์ก็ออกแถลงการณ์ว่า เครือข่ายร้านขายปลีกที่นั่นชื่อ Tokmanni ได้สั่งอาหารจากโรงงานที่ใช้คนงานต่างด้าว ที่ถูกละเมิดสิทธิทางกฎหมาย สินค้าที่ถูกระบุว่าเข้าข่ายนี้มีทั้งมะม่วงกระป๋องและสินค้าทารกเป็นต้น
นักเคลื่อนไหวฟินแลนด์กลุ่มนี้กล่าวหาบริษัทฟินแลนด์ ว่าไม่ได้ตรวจตราว่าสินค้าจากประเทศไทยได้ใช้ แรงงานเยี่ยงทาส ผลิตสินค้าจึงเรียกร้องให้คนของเขาร่วมกันคว่ำบาตร ด้วยการไม่ซื้อสินค้าเหล่านี้จากประเทศไทย
Finnwatch ทำรายงานกรณีต่าง ๆ ที่มีการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม ชื่อ On the Borderline of Responsibility (อยู่ตรงรอยตะเข็บของความรับผิดชอบ) เพื่อเรียกร้องให้ธุรกิจทั้งหลายแสดงความรับผิดชอบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานทั่วโลก
เขาอ้างว่านายจ้างไทยจำนวนหนึ่ง ว่าจ้างพนักงานต่างด้าวที่ถูกบังคับให้ต้องจ่ายค่าสมัครงาน ผ่านสำนักหางานในอัตราที่แพงมากทั้งๆ ที่นายจ้างควรจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ให้คนงานที่มีฐานะทางการเงินที่ย่ำแย่อยู่แล้ว
เขาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเข้ามาดูแลแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับคนงานต่างด้าว ที่กลายเป็นเหยื่อของพฤติกรรมที่ทำให้แรงงานกลายเป็นทาส ของความไม่ชอบมาพากลในระบบแรงงานของไทย
มาตรฐานโลกสูงขึ้นทุกขณะ หากมาตรฐานไทยยังย่ำอยู่ที่เดิม เราจะทำมาหากินกับชาวโลกได้อย่างไร?