(PAP) ด้วยการตั้งกฎกติกามารยาทที่เข้มงวด และหลังชัยชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เขาได้เขียนจดหมายวางแนวทางการปฏิบัติให้กับทุกคนทั้งหมด 37 ข้อ จะเรียกว่า กฎเหล็ก ก็ได้หรือ คู่มือจริยธรรมของ ส.ส. ก็ไม่ผิด
นอกจากจะเขียนตรงถึง ส.ส. ทุกคนแล้ว หลี่เสียนหลงยังเอาขึ้น Facebook และส่งไปถึงสื่อมวลชนทั้งหลายให้เผยแพร่ เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบว่านี่คือมาตรฐาน ของความเป็นนักการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างเคร่งครัด หากประชาชนเห็นพฤติกรรมของใครที่ผิดไปจากนี้ ให้ถือว่าแหกคอกและเขาหรือเธอคนนั้นจะถูกสอบสวนเพื่อลงโทษด้วย
เขาเอาจริงกับเรื่องคอร์รัปชันมาก ในคู่มือเล่มนี้จึงเน้นเรื่องนี้เป็นพิเศษ
ผมยกบางข้อมาให้อ่านเพื่อจะได้เตือนนักการเมือง และข้าราชการที่อ้างว่าทำงานเพื่อประชาชน
จากจดหมายน้อยถึง ส.ส. ที่หลี่เสียนหลงตั้งหัวข้อว่า Rules of Prudence ซึ่งอาจแปลเป็นไทยได้ว่าเป็นกฎกติกา ว่าด้วยความรอบคอบแห่งพฤติกรรมส่วนตัว
ข้อหนึ่งบอกว่า
จงถ่อมตนเมื่อได้ชัยชนะ จงจำไว้ในฐานะเป็นผู้แทนราษฎรว่าเราคือคนรับใช้ประชาชน ไม่ใช่เป็นเจ้านาย อย่าตีความผิดว่าผลเลือกตั้งที่ออกมาในทางที่ดีนั้นแปลว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว หรือคิดว่าเราลดความทุ่มเทในการทำงาน เพราะความจริงคือยังมีงานที่ต้องทำอีกมากที่เกี่ยวกับชาวสิงคโปร์ และเป็นหน้าที่ของเราจะต้องหาหนทางใหม่ ๆ ที่ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน...จงอยู่ใกล้ประชาชน จงฟังชาวบ้านเพื่อรับทราบถึงความทุกข์ร้อนของพวกเขา และนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อจะได้วางนโยบายที่ถูกต้อง....
เรื่องสำคัญที่สุดในจดหมายน้อยฉบับนี้คือเรื่องกำหนดกติกาป้องกันพฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวง นายกฯหลี่เสียนหลงจึงลงรายละเอียดเรื่องนี้เป็นพิเศษ
ปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้พรรค PAP สามารถรักษาไว้ซึ่งความไว้วางใจของชาวสิงคโปร์มายาวนานคือความซื่อสัตย์สุจริต ชื่อเสียงของพรรคในฐานะเป็นรัฐบาลที่สะอาดไม่โกงกินเป็นทรัพย์สินสมบัติที่มีค่าที่สุด...ดังนั้น ส.ส.ทุกคนของพรรคจะต้องรักษามาตรฐานแห่งความสุจริตนี้อย่างเคร่งครัด...อย่าให้มีเหตุใดที่จะถูกกล่าวหาว่าท่านใช้ตำแหน่งในทางที่ผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่าได้ทำอะไรที่ถูกกล่าวหาได้ว่าการที่ท่านเข้าถึงรัฐมนตรีได้ทำให้ท่านใช้อำนาจไปในทางที่ไม่เหมาะไม่ควร เพราะหากเกิดเช่นนั้นท่านจะทำลายชื่อของตัวเองและของพรรคด้วย...
ในเอกสารนี้หลี่เสียนหลงเตือน ส.ส. ว่าให้ระวังคนทั้งหลายที่จะมาตีสนิทและให้ของขวัญ หรือสิ่งของมีค่าเพื่อจะได้เข้าใกล้ชิด ส.ส. และเพื่อขอสิทธิพิเศษไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่
อีกทั้งยังเตือนว่า ส.ส. ไม่ควรจะวิ่งเต้นกับกระทรวงหรือหน่วยงานรัฐในนามของใครที่ไม่ใช่เป็นประชาชนในเขตเลือกตั้งของตน
ให้ระมัดระวังการไปติดต่อหน่วยราชการให้กับเพื่อน ลูกค้า ผู้รับเหมา นายจ้างหรือเจ้าของทุนเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขา
การติดต่อกับหน่วยงานของรัฐทั้งหลายทั้งปวงให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร และให้พยายามหลีกเลี่ยงการติดต่อทางโทรศัพท์
หากท่านต้องสื่อสารด้วยวาจา ก็จงตามด้วยเอกสารที่เป็นตัวหนังสือ และระบุคำร้องขอของท่านต่อหน่วยงานของรัฐเป็นลายลักษณ์อักษร...
น่าสนใจว่านายกฯในฐานะเบอร์หนึ่งของพรรคและรัฐบาลระบุในคู่มือวินัยของลูกพรรคเลยว่า
จงปฏิเสธคำขอให้ท่านไปเป็นประธานเปิดร้านหรืออีเวนท์ทางด้านธุรกิจ แต่ถ้าหากท่านคิดว่าจำเป็นจริง ๆ ให้ขออนุญาตล่วงหน้าจากวิปของพรรคก่อน เพราะในฐานะเป็น ส.ส. ท่านจะได้รับการติดต่อจากเพื่อน ผู้นำท้องถิ่นหรือเจ้าของธุรกิจให้ไปเป็นประธานเปิดร้านหรือกิจกรรมทางธุรกิจเสมอ และบ่อยครั้ง พวกเขาก็จะเสนอเงินบริจาคให้กับกิจกรรมการกุศล หรือกองทุนสวัสดิการของชุมชนนั้น ๆ... แม้ว่าเป็นการยากที่จะปฏิเสธคำเชิญหรือคำขอเช่นนี้ แต่เมื่อท่านรับคำเชิญแล้วก็เป็นเรื่องยากที่จะขีดเส้นว่าอะไรควรอะไรไม่ควร... โดยหลักปฏิบัติแล้ว ก็ควรจะปฏิเสธ...
ถ้าเป็นเมืองไทยก็จะมีประเด็นเรื่องนักการเมืองไปเป็นประธาน งานสังคมมากมายก่ายกองที่ทำกันจนเป็นกิจวัตร ผู้นำสิงคโปร์วางกฎไว้อย่างเปิดเผยเช่นนี้, ก็สามารถลดกิจกรรมที่อาจจะทำให้เกิดคำถามต่อการวางตัวของ ส.ส. ได้
ยังมีหลายๆ ข้อใน Rules of Prudence ของนายกฯสิงคโปร์ ที่วางหลักปฏิบัติให้กับ ส.ส. ของตน พรุ่งนี้ว่าต่อเพราะเป็น คู่มือความประพฤตินักการเมือง ที่น่าสนใจและวิเคราะห์อย่างยิ่ง/จบ
.................................................................................................................................