มิถุนายน 2554

 
 
 
1
2
3
4
5
7
9
11
12
14
17
18
19
21
22
23
24
25
26
27
28
29
 
 
All Blog
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย.....งานอนุรักษ์สรรพสิ่งจากยอดเขาสู่ใต้ท้องทะเลคราม
"ให้กองทัพเรือ ทำงานนี้เพื่อความมั่นคงของประเทศ"
คือพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เหล่าราชนาวีทุกนายรับใส่เกล้าใส่กระหม่อม

นำไปปฎิบัติเพื่ออนุรักษ์ไว้ซึ่งทรัพยากรอันทรงคุณค่าจากยอดเขาอันเขียวขจีสู่ใต้ท้องน้ำสีคราม และเหนืออื่นใดเพื่อความมั่นคงของประเทศ

การรอคอยที่สิ้นสุด ตลอดระยะเวลา 4 ปีเศษ ทุกชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานตามแนวพระราชดำริ เฝ้าคอยวันที่โครงการนี้สิ้นสุดลงและเรียกขานพื้นที่แห่งการอนุรักษ์และปกป้องท้องทะเลไทยด้วยความภาคภูมิใจ

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย มีลักษณะเป็นอาคารไต่ระดับเขา ถึงยอดเขา เพื่อให้มองเห็นทัศนียภาพมุมกว้าง ไกล และมองเห็นความลึกของทะเล โดยมุ่งที่จะให้ผู้ชมเห็นความงดงามของท้องทะเลแล้วเกิดจินตนาการและความสำนึกหวงแหนที่ร่วมกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ตามแนวพระราชดำริ

กำหนดวันและเวลาในการเยี่ยมชม ระหว่างวันอังคาร - วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 9.00 ถึง 17.00 น.

หยุดวันจันทร์ 1 วัน ยกเว้นตรงกับวันนักขัตฤกษ์ จะเปิดให้เข้าชมเป็นกรณีพิเศษ ทางพิพิธภัณฑ์ฯ จำหน่ายบัตรเยี่ยมชม เพื่อสมทบเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาพิพิธภัณฑ์ฯ ดังนี้

สำหรับผู้ใหญ่ คนละ 50 บาท เด็กนักเรียนไม่เกินชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 คนละ 20 บาท

กรณีทำหนังสือแจ้งมาเป็นหมู่คณะ (จำนวน20 คนขึ้นไป) จะเสียค่าบำรุงผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 20 บาท

กรณียกเว้นค่าเยี่ยมชม ทหารเรือในเครื่องแบบ นักบวช เด็กเล็กความสูงไม่เกิน 110 ซม

อาคารหลังที่ 1 หรือ "อาคารเทอดพระเกียรติมหาราช" แบ่งออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรก (โซน A) เป็นการนำเสนอวัตถุประสงค์ ความเป็นมาของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงสืบทอดจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามพระราชปณิธาน " เดินตามรอยเท้าพ่อ"

จนถึงพระราชดำริเพิ่มเติมในการเรียนรู้ทรัพยากร การใช้ประโยชน์และการสร้างจิตสำนึก โดยมุ่งเทอดพระเกียรติในลักษณะ "เจ้าฟ้านักอนุรักษ์"

ส่วนที่ 2 (โซน B) ของอาคารการจัดการแสดงมุ่งเน้นความสัมพันธ์ระหว่างหิน ดิน และชีวิต อาทิ กระบวนการเกิดดิน อนุภาคของดินที่เอื้อประโยชน์ต่อระบบนิเวศ

รูปแบบชนิดของหินดินแร่ ความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลอันก่อให้เกิดสภาพภูมิศาสตร์ปัจจุบัน

รวมทั้งเรื่องราวของฟอสซิล หรือซากดึกดำบรรพ์ที่คณะสำรวจของโครงการฯ ค้นพบบนเกาะบอน จังหวัดพังงา และร่องรอยอีกมากมายของฟอสซิลภายใต้ท้องทะเล

สิ่งที่จัดแสดงเหล่านี้จะทำให้ผู้เข้าชม เข้าใจถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลง และหลักฐานที่ใช้สนับสนุนกระบวนการทางวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตและเน้นประจักษ์พยานของทฤษฎีวัฒนาการนี้ด้วย

อาคารหลังที่ 2 หรือ "อาคารปวงปราชญ์ร่วมแรงใจ" แบ่งเป็น 2 ส่วนเช่นกัน

ส่วนแรก (โซน A) มุ่งเสนอนิเวศของป่า พรรณพืช และสัตว์ มีสาระเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ สังคมพืชป่าดงดิบ ป่าผลัดใบ พืชที่พบจากเกาะต่างๆ และการค้นพบพันธุ์พืชที่มีอยู่เฉพาะในประเทศไทย พันธุ์ไม้ที่เป็น new record species หลายชนิด รวมทั้งความหลากหลายของสมุนไพร

จากข้อมูลที่มีอยู่ผมทราบว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงวัตถุธรรมชาติ ทั้งในด้านธรณีวิทยา พฤกษศาสตร์ สัตวศาสตร์ ทางทะเลเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ประมวลมาจากผลการสำรวจเกาะต่าง ๆ ของไทยในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ

ส่วนที่ ๒ (โซน B) ที่อยู่ถัดไปของอาคารปวงปราชญ์ร่วมแรงใจ มุ่งเสนอในหัวข้อผู้ย่อยสลายในธรรมชาติ ได้แก่ ปลวก จุลินทรีย์ดิน เห็ดรา สัตว์หน้าดินในดิน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในห่วงโซ่อาหารและสายใยอาหาร อันเป็นกระบวนการหมุนเวียนพลังงานที่ก่อให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศ



พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย ได้มีการจัดแสดง " มหัศจรรย์ที่ค้นพบ"ที่ได้รับการออกแบบโดยคณะสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ดินแดนแห่งการค้นหาสิ่งมหัศจรรย์แห่งชีวิต เพื่อให้ผู้ชมเรียนรู้ สรรพชีวิตทางทะเล ในลักษณะที่ "สรรพสิ่งล้วนพันเกี่ยว"

หลังจากชมในส่วนอาคารสอง ออกมาพักสายตา กับทิวทัศน์รอบๆอาคารที่สวยงามก่อนไปต่อ เกาะแรดที่เห็นอยู่เบื้องหน้า ก็เป็นอีกที่หนึ่งที่มีการเก็บพืชพรรณที่หายากไว้โดยมีผุ้ดูแลอย่างใกล้ชิด

ในขณะนั้น อาคารหลังที่ 3 และ 4 ยังไม่แล้วเสร็จจึงยังไม่เปิดให้ชม จึงต้องมุ่งหน้าสู่อาคารหลังที่ 5 ระหว่างทางไปยังอาคารหลังที่ 5 ที่สูงขึ้นไปตามความสูงของภูเขา มองเห็นทิวทัศน์ที่สวยงาม ว่ากันว่าทิวทัศน์ที่สวยงามมักแปรผันตรงกับความสูง ดูจะจริงไม่น้อย

อาคารหลังที่ 5 หรือ "อาคารพิทักษ์ศักยภาพทะเลไทย" เป็นอาคารบนยอดเนินเขาหมาจอ หันออกสู่ทะเลในมุมกว้าง มองเห็นเกาะแสมสารที่ตั้งตระหง่านรวมอยู่กับหมู่เกาะข้างเคียงในทะเลกว้างตัดกับท้องฟ้าสีคราม

อาคารหลังนี้กำหนดไว้เป็นที่จัดแสดงงานของกองทัพเรือในการพิทักษ์รักษาอธิปไตยของชาติทางทะเล การสนับสนุนการพัฒนาประเทศ การช่วยเหลือประชาชน

รวมทั้งการเข้าร่วมในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ โดยตระหนักว่างานนี้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจการรักษาความมั่นคงของชาติทางทะเล

ภายในอาคาร แบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนที่ 1 ดอกประดู่คู่ชาติไทย
ที่มีลักษณะโดดเด่นคือ ความพร้อมเพรียง ความร่วมมือร่วมใจ สามัคคีมีพลัง
เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เปรียบได้กับเหล่าทหารหาญที่มีใจรักสามัคคี ร่วมทุกข์ร่วมสุข และพร้อมพลีชีพเพื่อปกป้องประเทศชาติร่วมกัน ซึ่งในบริเวณนี้ได้นำเสนอบทบาทหน้าที่ของกองทัพเรือในการรักษาอธิปไตยของชาติเป็นหลัก

ส่วนที่ 2 นักรบ - นักอนุรักษ์ ยามศึกเรารบ ยามสงบเรารักษ์ แสดงถึงภารกิจที่สำคัญของกองทัพเรืออีกภารกิจหนึ่ง นอกเหนือจากภารกิจหลักในการป้องกันประเทศและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล นั่นคือ การดำเนินการและสนับสนุน “การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเล”

ส่วนที่ 3 เทิดพระเกียรติศักดิ์แห่งราชนาวีไทย

เป็นพื้นที่จัดแสดงเทิดพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ไทย และ พระบรมวงศานุวงศ์ 8 พระองค์ที่ทรงสร้างคุณูปการให้แก่กองทัพเรือและประเทศชาติให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นในประเทศหลายยุคหลายสมัย

โดยการวางรากฐานที่แข็งแกร่งและพัฒนากองทัพเรือไทยให้ทัดเทียมนานาชาติและยิ่งใหญ่เกรียงไกรได้เช่นทุกวันนี้

ส่วนที่ 4 เทิดไท้มหาราชาภูมิพล

เป็นพื้นที่นำเสนอโครงการเฉลิมพระเกียรติต่างๆที่กองทัพเรือได้จัดทำเพื่อน้อมเกล้าฯถวายแด่่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งโครงการ สนองพระราชดำริ เนื่องในวาระสำคัญต่างๆ

ทิวทัศน์อันงดงามจากอาคาร 5 ที่อยู่บนจุดสูงสุดของยอดเขา มองเห็นหาดยาว ที่เคยเป็นที่ชุมนุมลูกเสือโลก

ส่วนที่ 5 เปิดปูมกองทัพเรือ

นำเสนอแสนยานุภาพของกองทัพเรือไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย – กรุงรัตนโกสินทร์ที่กองทัพเรือได้เข้าร่วมในสมรภูมิรบหลายครั้ง

สามารถดำรงเอกราชและอธิปไตยของชาติได้อย่างสมภาคภูมิสมควรงยิ่งที่ทุกคนควรสำนึกใน ความกล้าหาญ ความเสียสละ การอุทิศชีวิตและเลือดเนื้อแด่ทหารหาญเหล่านั้น ที่ทำให้ประเทศไทยเป็นแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนที่ร่มเย็นเป็นสุขได้เช่นทุกวันนี้


พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย เป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจของกองทัพเรือในอันที่จะสนองพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้พระราชทานไว้แก่กองทัพเรือเมื่อครั้งที่บัญชาการทหารเรือ เข้าเฝ้าฯ ถวายพื้นที่เนินเขาหมาจอ ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ไว้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติทางทะเลแห่งแรกในประเทศไทย ระหว่างทางลงจากยอดเขา มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ พร้อมป้ายสื่อความหมายไปตลอดทาง สมกับเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้จริงๆ

ผมเดินทางกลับลงมาด้วยความอิ่มเอมกับเรื่องราวดีๆ ที่ได้รับแลเรียนรู้จากสถานที่แห่งนี้ เวลาหนึ่งวันดูช่างน้อยเกินไปที่จะเที่ยวชมและศึกษาความเป็นมาของสถานที่อันทรงคุณค่าแห่งนี้ แต่อย่างน้อยก็เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางที่ไม่สูญเปล่า อย่างน้อยก็ได้อะไรมากมายกลับมากว่าที่คิดไว้

คำจารึก ที่ว่า "กองทัพเรือทำงานนี้เพื่อความมั่นคงของประเทศ" ประโยคนี้จารึกอยู่บนแผ่นโลหะสัมฤทธิ์ ตั้งไว้บนยอดเนินเขาที่สูงสุดของเกาะแสมสาร

ทรงเจิมและทรงพระสุหร่ายแผ่นจารึกนี้ด้วยพระองศ์เอง ยังคงจารึกไว้ในใจเหล่าราชนาวีทุกนาย ด้วยความตระหนักถึงนัยแห่งกระแสพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี


อำลาพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทยด้วยภาพมุมสูงระหว่างทางลงจากอาคาร 5 ครับ

สัญญาว่าจะกลับมาที่นี่อีกครั้งเพื่อชมอาคาร 3 และ อาคาร 4 เพื่อนำมาเสนอในโอกาสต่อไปครับ



Create Date : 15 มิถุนายน 2554
Last Update : 15 มิถุนายน 2554 9:33:43 น.
Counter : 6301 Pageviews.

5 comments
  
ภาพสวยสุดยอดไปเลยครับ
โดย: benz47 วันที่: 15 มิถุนายน 2554 เวลา:12:41:54 น.
  
ภาพสวยมากๆค่ะ
โดย: auau_py วันที่: 15 มิถุนายน 2554 เวลา:15:46:20 น.
  
อย่าลืมแวะไปชม Blog รวบรวมสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว
โดย: nonguide วันที่: 16 มิถุนายน 2554 เวลา:9:41:28 น.
  
อย่าลืมแวะไปชม Blog รวบรวมสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว
โดย: nonguide วันที่: 16 มิถุนายน 2554 เวลา:9:43:52 น.
  
ฟ้าสวย ทะเลใสมากคะ ชอบๆ
โดย: ASDK_MK วันที่: 16 มิถุนายน 2554 เวลา:14:55:06 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

3KKK
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]



New Comments
MY VIP Friend