www.Chadalaem.com // Welcome to my Beauti-land
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2554
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
29 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 

สาระ // สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ...คอนแทคเลนส์ หรือเลนส์สัมผัส



จาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา Food and Drug Administration

*สามารถ download เอกสารทางให้ความรู้ จาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา Food and Drug Administration ได้ที่นี่ค่ะ สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ คอนแทคเลนส์ หรือ เลนส์สัมผัส


คอนแทคเลนส์ หรือเลนส์สัมผัส เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีวิวัฒนาการของการคิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาการที่ต้องสวมใส่แว่นตาสำหรับผู้ที่มีปัญหาสายตา และเพื่อให้เกิดความสะดวกและประโยชน์สำหรับผู้ที่มีสายตาผิดปกติที่ไม่สามารถใช้แว่นตาได้ เช่น สายตาสั้นมาก หรือใช้ในการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับตาหรือใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น ในปัจจุบันได้มีกระแสแฟชั่นใส่คอนแทคเลนส์ หรือเลนส์สัมผัสเพื่อความสวยงาม ที่ทำให้มองเห็นตากลมโตแบบดาราเกาหลี หรือ ญี่ปุ่น ระบาดเข้ามาสู่วัยรุ่นไทยโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นหญิง

โดยคอนแทคเลนส์ ประเภทนี้เหมือนกับคอนแทคเลนส์แฟชั่นที่มีหลายสีให้เลือก แต่บริเวณตรงกลางมีลักษณะเป็นเลนส์ใสและบริเวณขอบเลนส์มีสีดำ หรือ สีเข้มต่างๆ ที่จะทำให้มองเห็นว่าผู้ใส่มีตาดำขยายใหญ่และกลมโตกว่าปกติ รวมทั้งสามารถหาซื้อได้ง่าย มีวางจำหน่ายตามร้านค้าแผงลอยทั่วไป ซึ่ง การใส่คอนแทคเลนส์อย่างไม่ถูกวิธีนั้น อาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ดวงตา กระจกตาเป็นแผล และอาจทำให้ตาบอดได้

จากผลการศึกษาของภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาล 435 ราย ปรากฏว่ามีจำนวนร้อยละ 18.6 (81 ราย) ที่ใช้คอนแทคเลนส์ โดยพบว่าร้อยละ 34 ของผู้ใส่คอนแทคเลนส์มีการใช้คอนแทคเลนส์ที่ไม่ถูกต้อง และร้อยละ 67 ไม่ได้ถอดคอนแทคเลนส์ ออกขณะนอนหลับในตอนกลางคืน นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ใส่ คอนแทคเลนส์ร้อยละ 72 (42 ราย จาก 58 ราย) มีการติดเชื้อที่กระจกตาซึ่งบางรายมีอาการลุกลามจนต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาใหม่

การติดเชื้อที่กระจกตายังเป็นปัญหาในประเทศไทย การใส่คอนแทคเลนส์ และการใส่คอนแทคเลนส์นอนตลอดทั้งคืนยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ และถึงแม้ว่าการรักษาด้วยยาจะได้ผลดี แต่ภาวะการติดเชื้อที่กระจกตาอาจทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นตามมาได้ ดังนั้น จักษุแพทย์ควรแจ้งให้ผู้ใส่คอนแทคเลนส์ตระหนักถึงอันตรายเหล่านั้น และควรให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้ในการดูแลรักษาคอนแทคเลนส์ด้วย

1. ลักษณะของคอนแทคเลนส์

ลักษณะทั่วไปของคอนแทคเลนส์มีลักษณะเป็นแผ่นพลาสติกใส บางๆ ที่ผลิตขึ้นในรูปแผ่นกลมคล้ายกระทะ ทำให้มีความโค้งพอดีกับตาดำ ตัวเลนส์ที่ใช้จะมีกำลังหักเหของแสงเช่นเดียวกับเลนส์ที่ใช้กับแว่นตา ในระยะเริ่มแรกที่มีคอนแทคเลนส์นั้น เลนส์จะมีลักษณะใส ไร้สี ส่วนคอนแทคเลนส์สีนี้เพิ่งมีการใช้ในระยะสิบปีที่ผ่านมานี้ โดยวิธีการใช้จะต้องนำคอนแทคเลนส์มาวางบนตาดำ และน้ำตาจะเป็นตัวยึดให้เลนส์ติดกับกระจกตา และจะสามารถขยับเลนส์ได้เมื่อกลอกตาไปมา

2. ชนิดของคอนแทคเลนส์

2.1 คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม (Soft ContactLenses)

เป็นแผ่นพลาสติก นุ่ม ยืดหยุ่น และยอมให้ออกซิเจนผ่านได้จึงอาจทำให้ใช้ได้ง่าย และรู้สึกสบายกว่าใส่คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง ในปัจจุบันวัสดุที่นำมาใช้ผลิตคอนแทคเลนส์จะมีลักษณะเป็นซิลิโคน ไฮโดรเจล (Silicone Hydrogels) เพื่อให้ดวงตาได้รับออกซิเจนมากขึ้นขณะที่ใส่คอนแทคเลนส์
คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มมีหลากหลายชนิดปัจจุบันมีทั้งแบบรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี ชนิดที่ใช้แล้วทิ้ง (Disposable Contact Lenses)ชนิดที่ระบุระยะเวลาการใช้ เมื่อครบกำหนดต้องเปลี่ยนใหม่เช่น ชนิด Daily หมายถึง การสวมใส่ได้ในแต่ละวัน หรือไม่เกิน 12 ชั่วโมง และชนิด Extended สามารถสวมใส่ได้ติดต่อกันตามระยะเวลาที่ระบุ เช่น 7 วันถึง 30 วัน แล้วทิ้ง แต่ไม่แนะนำให้ใส่ในขณะนอนหลับเด็ดขาด

2.2 คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งที่ก๊าซ

สามารถซึมผ่านได้ (Rigid Gas Permeable หรือ RGP Contact Lenses) สามารถใช้ได้นานกว่าและ ยากต่อการเกาะติดของคราบสกปรก อีกทั้งให้ภาพที่ชัดและละเอียดมากกว่า นอกจากนี้ยังมีราคาถูกกว่าเลนส์ชนิดนิ่ม แต่ไม่สะดวกสบายในการสวมใส่เท่ากับชนิดนิ่ม โดยเฉพาะในระยะเริ่มแรกของการสวมใส่คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งนี้ อาจต้องใช้เวลาถึง 1-2 สัปดาห์เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยในการสวมใส่

3. อันตรายที่เกิดจากการใช้คอนแทคเลนส์

การสวมใส่คอนแทคเลนส์ทุกรูปแบบไม่ว่าจะใส่เพื่อแก้ไขความผิดปกติของสายตา หรือใส่คอนแทคเลนส์แฟชั่นเพื่อความสวยงาม หากใช้โดยขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องหรือใช้ไม่ถูกวิธี รวมถึงการไม่ดูแลรักษาความสะอาดคอนแทคเลนส์ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่าง ๆ ต่อสุขภาพได้ เช่น

3.1 เกิดตุ่มอักเสบบนหนังตาด้านใน พบมากในผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม สาเหตุเกิดจากการระคายเคืองจากเลนส์ และอาการที่อาจเกิดต่อเนื่องตามมา เช่น ภาวะตาตก ตาแดง ระคายเคือง มองภาพไม่ชัด มีน้ำตา ตาไม่สู้แสง ฯลฯ

3.2 เกิดการอักเสบของกระจกตาและเยื่อตาขาว ส่วนที่สัมผัสกับคอนแทคเลนส์ อาการนี้มักเกิดจากการแพ้ หรือจากพิษข้างเคียงของวัตถุกันเสียหรือสารเคมีที่ใช้ฆ่าเชื้อ เป็นอาการแพ้ที่ค่อย ๆ เกิดขึ้นซึ่งอาจใช้เวลา 2-3 ปี นอกจากนี้ การเกิดสิ่งสะสมบนเลนส์หรืออาการตาแห้งจะทำให้อาการอักเสบเกิดมากขึ้น

3.3 อาการตาแห้ง ซึ่งมักเกิดจากการแพ้พบในผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์นาน 2-3 ปี นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ตาแห้งได้ เช่น

- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับ-ปัสสาวะ หรือยารักษาโรคหัวใจประเภทเบต้าบล๊อกเกอร์
- การกระพริบตาที่ผิดปกติl ตาโปนผิดปกติ
- ผิวของลูกตาผิดปกติ เนื่องจากมีจุดเหลือง ๆ บนกระจกตา หรือต้อลม หรือต้อเนื้อ
- ผิวคอนแทคเลนส์ไม่เรียบ

3.4 การอักเสบ ลักษณะเป็นจุดเล็ก ๆ ที่เยื่อบุผิวของกระจกตา เนื่องจากเกิดบาดแผลหรือการช้ำที่เยื่อตา ตาแห้ง มีอาการแพ้ หรือขาดออกซิเจน ซึ่งแผลจุดเล็ก ๆ อาจมารวมกันเข้าเป็นบริเวณใหญ่และเ

3.5 การติดเชื้อ เป็นอาการของโรคที่เกิดจากการใช้คอนแทคเลนส์ที่เป็นอันตรายที่สุด เนื่องจากทำให้ตาบอดถาวรได้ พบในผู้ที่ใช้เลนส์ชนิดที่ใส่ติดต่อกันได้นานๆ หรือการติดเชื้อเกิดจากตัวผู้ใช้เอง หรือมาจากน้ำยาที่ใช้กับเลนส์ หรือภาชนะบรรจุเลนส์ และโดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน

4. คำเตือน ข้อควรระวัง และข้อห้ามใช้สำหรับคอนแทคเลนส์

4.1 คำเตือนการใช้เลนส์สัมผัสโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ที่ผิดวิธีมีความเสี่ยงต่อการอักเสบหรือการติดเชื้อของดวงตา อาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียสายตาอย่างถาวรได้

4.2 ข้อควรระวังในการใช้

- การเลือกใช้คอนแทคเลนส์คู่แรก ต้องได้รับการตรวจตาเสียก่อนว่าไม่มีข้อห้ามในการใช้และต้องได้รับการประกอบขนาดที่แน่นอน เหมาะสมจากจักษุแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นไม่ควรไปซื้อเองจากร้านทั่วไป เพราะการใช้คอนแทคเลนส์ที่ไม่พอดีกับดวงตา อาจทำให้กระจกตาเป็นแผล เกิดการติดเชื้อ หรือตาบอดได้

-ผู้ที่มีสภาวะของดวงตาผิดปกติ เช่น ต้อเนื้อต้อลม ตาแดง กระจกตาไวต่อความรู้สึกลดลง ตาแห้ง กระพริบตาไม่เต็มที่ ไม่ควรใช้เลนส์สัมผัส

- ควรใช้น้ำยาล้างเลนส์สัมผัสที่ใหม่ และเปลี่ยนน้ำยาฆ่าเชื้อโรคสำหรับเลนส์สัมผัสทุกครั้งที่แช่เลนส์สัมผัส และแม้ไม่ใส่เลนส์สัมผัส ควรเปลี่ยนน้ำยาใหม่ในตลับทุกวัน

- ควรเปลี่ยนตลับใส่เลนส์สัมผัสทุกสามเดือน

- ไม่ควรใส่เลนส์สัมผัสขณะว่ายน้ำ เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ตาได้

- ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนสัมผัสเลนส์

- หากเกิดอาการผิดปกติ เช่น เจ็บหรือปวดตาเป็นอย่างมากร่วมกับอาการแพ้แสง ตามัวลง น้ำตาไหลมาก ตาแดง ให้หยุดใช้เลนส์สัมผัสทันที และรีบพบจักษุแพทย์โดยเร็ว

- ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ประกอบเลนส์และคู่มือ หรือฉลากอย่างเคร่งครัด และควรได้รับการตรวจตาจากจักษุแพทย์เป็นระยะ ๆแม้ไม่มีอาการผิดปกติ
- ผู้สวมใส่ต้องมีเวลาให้ดวงตาได้พักหรือปลอดจากการใส่เลนส์ ถ้าเป็นผู้มีความผิดปกติของสายตา ควรมีแว่นสายตาไว้ใช้ในระยะเวลาพักของดวงตา

4.3 ข้อห้ามใช้

1. ห้ามใช้เกินระยะเวลาที่กำหนด
2. ห้ามใส่นอนและว่ายน้ำเพราะอาจทำให้ติดเชื้ออย่างไรก็ตาม คอนแทคเลนส์หรือเลนส์สัมผัสถึงแม้ว่าใช้สำหรับผู้ที่มีปัญหาทางสายตาแต่ไม่อยากสวมแว่นแต่สำหรับบางคนก็ใช้เพื่อความสวยงามโดยการเปลี่ยนสีของดวงตา เช่น ให้มีสีน้ำตาล หรือสีฟ้า เป็นต้น หรือรูปแบบของดวงตาแต่ไม่ว่าจะใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตาม เนื่องจากเลนส์ที่ใช้ต้องสัมผัสผิวของดวงตาที่บอบบาง การติดเชื้อหรือฉีกขาดอาจเกิดได้ง่าย

ดังนั้น ถ้าผู้ใช้คอนแทคเลนส์ปฏิบัติตามคำเตือน ข้อควรระวังและข้อห้ามใช้ดังกล่าวข้างต้นก็จะมีความปลอดภัยและสามารถลดความเสี่ยงจากการใช้คอนแทคเลนส์ได้

เอกสารอ้างอิง

1. กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา.ความเสี่ยงและข้อควรคำนึงเกี่ยวกับการใส่คอนแทคเลนส์. 2551.
2. กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา.(ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เลนส์สัมผัส, 2551.
3. กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา.ข่าวเพื่อสื่อมวลชน เรื่อง “อย. เตรียมประกาศคุมเลนส์สัมผัสแฟชั่นเป็นเครื่องมือแพทย์ เพิ่มมาตรการเข้ม!.” (โรเนียว) , 2552.
4. สมพร ขจรวุฒิเดช, เลนส์สัมผัสและแนวทางการควบคุม, พฤษภาคม 2550.
5. สุภมาศ วัยอุดมวุฒิ(2550). รู้จัก “คอนแทคเลนส์” กันอีกสักนิด. สาระสังเขปออนไลน์ ค้นคืนวันที่ 8 มกราคม 2552 จาก //www.oryor.com/oryor/admin/module/fda_fact_sheet/file/f_48_1171618356.pdf
6. U.S. Food And Drug Administration.(2006). Contat Lenses – Types of Contact Lenses. Retrieved March 2, 2009, from //fda.gov/cdrh/contactlenses/types.html
7. P.Pisit, R Usa, L.Rungroj and K.Skowrat. Contact Lenses – Related Microbial Keratitis. Journal of The Medical Association of Thailand (2007) ; 90(4) : 737-43.




 

Create Date : 29 สิงหาคม 2554
3 comments
Last Update : 28 มกราคม 2560 14:05:31 น.
Counter : 1883 Pageviews.

 

แวะมาทักทายน้องโอ๋ค่ะ ..ข้อความมีประโยชน์มากเลยค่ะ ^_^

 

โดย: ลูกแม่ดอกบัว IP: 76.168.49.121 29 สิงหาคม 2554 6:48:45 น.  

 

สวัสดีค่าพี่ปุ้ม ^ ^

 

โดย: ชฎาแหลม 29 สิงหาคม 2554 8:36:10 น.  

 

แวะมาทักทายจ้ะ rassapoom rassapoom clinic รัสมิ์ภูมิ รัสมิ์ภูมิ คลินิก Ultraformer ยกกระชับ ลดริ้วรอย สลายไขมันใต้ชั้นผิว ฟิลเลอร์ร่องแก้ม ฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม Drakarian สลายไขมันใต้ผิว ฉีดฟิลเลอร์ปาก ฟิลเลอร์ปาก เลเซอร์กำจัดขน เลเซอร์ขน กำจัดขน Hair Removal ฉีดฟิลเลอร์น้องสาว ฟิลเลอร์น้องสาว ดูดไขมันเหนียง คางสองชั้น FaceTite AccuTite Hifu Super Hifu มาส์กหน้า ตาสองชั้น ทำตาสองชั้น ศัลยกรรมตาสองชั้น ฟิลเลอร์สะโพก ฟิลเลอร์เสริมสะโพก ฉีดฟิลเลอร์สะโพก ฉีดฟิลเลอร์เสริมสะโพก Morpheus Morpheus Pro ยกกระชับผิว ฟิลเลอร์คาง โปรแกรมฟิลเลอร์คาง Exosome Exosome Plus Exosome Plus+ กระชับช่องคลอด ช่องคลอด Vaginal Vaginal Reju Skin Quality ฉีดฟิลเลอร์ใต้ตา ฟิลเลอร์ใต้ตา Ultracol ไหมน้ำ Allergan โบ Allergan ฉีดโบ Allergan Super Skin Laser ฝ้า กระ ฝ้า กระ จุดด่างดำ Picocare 450 Laser ร้อยไหม ร้อยไหมคืออะไร Lenisna JUVELOOK สารเติมเต็ม REVIVE BELOTERO REVIVE Rejuran Gouri คอลลาเจน กระตุ้นคอลลาเจน Juvederm Juvederm Volite New Juvederm Volite Radiesse Radiesse Filler Sculptra คอลลาเจน เสริมจมูก ศัลยกรรมเสริมจมูก ปลูกผม FUE ฟิลเลอร์ Filler ฉีดฟิลเลอร์ Thermage Thermage FLX ยกกระชับ ยกกระชับผิว Ulthera EMFACE ยกกระชับ ยกกระชับกล้ามเนื้อ ฉีดแฟต สลายไขมัน ฉีดแฟตสลายไขมัน CoolSculpting Elite CoolSculpting สลายไขมันด้วยความเย็น สลายไขมัน BodyTite ดูดไขมัน Emsculpt สร้างกล้ามเนื้อ ลดไขมัน สอนฉีดโปรแกรมฟิลเลอร์ สอนฉีดฟิลเลอร์ ฉีดฟิลเลอร์ ให้ใจ สุขภาพ

 

โดย: teawpretty 27 กุมภาพันธ์ 2567 15:47:08 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ชฎาแหลม
Location :
United Kingdom

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 66 คน [?]




สงวนลิขสิทธิ์ ตาม พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ห้ามผู้ใดละเมิด ไม่ว่าจะเป็นการลอกเลียน หรือ นำส่วนหนึ่งส่วนในของข้อความ รูปภาพ ใน Blog Chadalaem แห่งนี้ไปใช้ โดยเผยแพร่ในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด
Friends' blogs
[Add ชฎาแหลม's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.