Group Blog
 
<<
มีนาคม 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
30 มีนาคม 2549
 
All Blogs
 
การปฏิบัติเพื่อความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นคือผู้ตรัสรู้ธรรมเพื่อความละกิเลส หลุดพ้นโดยชอบด้วยพระองค์เอง แต่ไม่สั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตามครับ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายจะอุบัติขึ้นในกาลที่โลกว่างจากพระพุทธศาสนา พระสูตรที่กล่าวถึงผู้ประสงค์จะถึงความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในวรรคนี้คือ ขัคควิสาณสูตรที่ 3 ได้กล่าวถึงผู้ประสงค์ในพระปัจเจกโพธิญาณซึ่งก็มีอยู่มิใช่น้อยว่า พึงเที่ยวไป(บำเพ็ญบารมีธรรม)แต่ผู้เดียวดุจนอแรดในสังสารวัฏครับ

พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม 17 ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

****************************************************
อุรควรรคที่ ๑

อุรคสูตรที่ ๑

[๒๙๔] ภิกษุใดแล ย่อมกำจัดความโกรธที่เกิดขึ้นแล้ว เหมือน
หมอกำจัดพิษงูที่ซ่านไปแล้วด้วยโอสถ ฉะนั้น ภิกษุนั้นชื่อ
ว่าย่อมละซึ่งฝั่งในและฝั่งนอกเสียได้ เหมือนงูละคราบเก่า
ที่คร่ำคร่าแล้วฉะนั้น ภิกษุใดตัดราคะได้ขาด พร้อมทั้ง
อนุสัยไม่มีส่วนเหลือ เหมือนบุคคลลงไปตัดดอกปทุมซึ่ง
งอกขึ้นในสระฉะนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าย่อมละฝั่งในและ
ฝั่งนอกเสียได้ เหมือนงูละคราบเก่าที่คร่ำคร่าแล้วฉะนั้น
ภิกษุใดยังตัณหาให้เหือดแห้งไปทีละน้อยๆ แล้วตัดเสีย
ให้ขาดโดยไม่เหลือ ภิกษุนั้นชื่อว่าย่อมละซึ่งฝั่งในและ
ฝั่งนอกเสียได้ เหมือนงูละคราบเก่าที่คร่ำคร่าแล้วฉะนั้น
ภิกษุใดถอนมานะพร้อมทั้งอนุสัยไม่มีส่วนเหลือ เหมือนห้วง
น้ำใหญ่ถอนสะพานไม้อ้อที่ทุรพลฉะนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า
ย่อมละฝั่งในและฝั่งนอกเสียได้ เหมือนงูละคราบเก่าที่
คร่ำคร่าแล้วฉะนั้น ภิกษุใดค้นคว้าอยู่ (ด้วยปัญญา) ไม่
ประสบอัตภาพอันเป็นสาระในภพทั้งหลาย เหมือนพราหมณ์
ค้นคว้าอยู่ ไม่ประสบดอกที่ต้นมะเดื่อฉะนั้น ภิกษุนั้น
ชื่อว่าย่อมละซึ่งฝั่งในและฝั่งนอกเสียได้ เหมือนงูละ
คราบเก่าที่คร่ำคร่าแล้วฉะนั้น กิเลสเป็นเครื่องให้กำเริบ
ย่อมไม่มีภายในจิตของภิกษุใด และภิกษุใดล่วงเสียได้แล้ว
ซึ่งความเจริญและความเสื่อมอย่างนี้ ภิกษุนั้นชื่อว่าย่อมละ
ซึ่งฝั่งในและฝั่งนอกเสียได้ เหมือนงูละคราบเก่าที่คร่ำคร่า
แล้วฉะนั้น ภิกษุใดกำจัดวิตกได้แล้ว ปราบปรามดีแล้ว
ในภายใน ไม่มีส่วนเหลือ ภิกษุนั้นชื่อว่าย่อมละฝั่งในและ
ฝั่งนอกเสียได้ เหมือนงูละคราบเก่าที่คร่ำคร่าแล้ว ฉะนั้น
ภิกษุใดไม่แล่นเลยไป ไม่ล้าอยู่ ล่วงกิเลสเป็นเครื่อง
ให้เนิ่นช้านี้ได้หมดแล้ว ภิกษุนั้นชื่อว่าย่อมละฝั่งในและ
ฝั่งนอกเสียได้ เหมือนงูละคราบเก่าที่คร่ำคร่าแล้ว ฉะนั้น
ภิกษุใดรู้ว่าธรรมชาติมีขันธ์เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นของแปรผัน
ไม่แล่นเลยไป ไม่ล้าอยู่ในโลก ภิกษุนั้นชื่อว่า ย่อมละ
ซึ่งฝั่งในและฝั่งนอกเสียได้ เหมือนงูละคราบเก่าที่คร่ำคร่า
แล้ว ฉะนั้น ภิกษุใดรู้ว่า ธรรมชาติมีขันธ์เป็นต้นทั้งหมด
นี้เป็นของแปรผัน ปราศจากความโลภ ไม่แล่นเลยไป
ไม่ล้าอยู่ในโลก ภิกษุนั้นชื่อว่าย่อมละซึ่งฝั่งในและฝั่งนอก
เสียได้ เหมือนงูละคราบเก่าที่คร่ำคร่าแล้ว ฉะนั้น ภิกษุ
ใดรู้ว่า ธรรมชาติมีขันธ์เป็นต้นทั้งหมดนี้เป็นของแปรผัน
ปราศจากราคะ ไม่แล่นเลยไป ไม่ล้าอยู่ในโลก ภิกษุ
นั้นชื่อว่าย่อมละซึ่งฝั่งในและฝั่งนอกเสียได้ เหมือนงูละ
คราบเก่าที่คร่ำคร่าแล้ว ฉะนั้น ภิกษุใดรู้ว่า ธรรมชาติ
มีขันธ์เป็นต้นทั้งหมดนี้เป็นของแปรผัน ปราศจากโทสะ
ไม่แล่นเลยไป ไม่ล้าอยู่ในโลก ภิกษุนั้นชื่อว่าย่อมละ
ซึ่งฝั่งในและฝั่งนอกเสียได้ เหมือนงูละคราบเก่าที่คร่ำคร่า
แล้ว ฉะนั้น ภิกษุใดรู้ว่า ธรรมชาติมีขันธ์เป็นต้นทั้งหมดนี้
เป็นของแปรผัน ปราศจากโมหะ ไม่แล่นเลยไป ไม่ล้า
อยู่ในโลก ภิกษุนั้นชื่อว่าย่อมละซึ่งฝั่งในและฝั่งนอก
เสียได้ เหมือนงูละคราบเก่าที่คร่ำคร่าแล้วฉะนั้น ภิกษุใด
ไม่มีอนุสัยอะไรๆ ถอนอกุศลมูลได้แล้ว ภิกษุนั้นชื่อว่า
ย่อมละฝั่งในและฝั่งนอกเสียได้ เหมือนงูละคราบเก่าที่
คร่ำคร่าแล้ว ฉะนั้น ภิกษุใดไม่มีกิเลสอันเกิดแต่ความ
กระวนกระวายอะไรๆ อันเป็นปัจจัยเพื่อมาสู่ฝั่งใน ภิกษุนั้น
ชื่อว่าย่อมละฝั่งในและฝั่งนอกเสียได้ เหมือนงูละคราบเก่า
ที่คร่ำคร่าแล้ว ฉะนั้น ภิกษุใดไม่มีกิเลสอันเกิดแต่ตัณหา
ดุจป่าอะไรๆ อันเป็นเหตุเพื่อความผูกพัน เพื่อความเกิด
ภิกษุนั้นชื่อว่าย่อมละฝั่งในและฝั่งนอกเสียได้ เหมือนงูละ
คราบเก่าที่คร่ำคร่าแล้ว ฉะนั้น ภิกษุใดละนิวรณ์ ๕ ได้แล้ว
ไม่มีทุกข์ ข้ามความสงสัยได้แล้ว มีลูกศรปราศไปแล้ว ภิกษุ
นั้นชื่อว่าย่อมละฝั่งในและฝั่งนอกเสียได้ เหมือนงูละคราบเก่า
ที่คร่ำคร่าแล้ว ฉะนั้น ฯ
[ภิกษุผู้ละกิเลสมีอาทิราคะ โทสะ โมหะ นิวรณ์5 ฯลฯ เสียได้โดยชอบ ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไป ดีงนี้ ชื่อว่าละฝั่งในและฝั่งนอกเสียได้ เหมือนงูละคราบเก่าที่คร่ำคร่าแล้ว]

จบอุรคสูตรที่ ๑

ธนิยสูตรที่ ๒

นายธนิยะคนเลี้ยงโคได้กล่าวคาถาว่า
[๒๙๕] เรามีข้าวสำเร็จแล้ว มีน้ำนมรีด (จากแม่โค) รองไว้แล้ว
มีการอยู่กับชนผู้เป็นบริวารผู้มีความประพฤติอนุกูลเสมอกัน
ที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำมหี เรามุงบังกระท่อมแล้ว ก่อไฟไว้แล้ว
แน่ะฝน หากว่าท่านย่อมปรารถนาก็เชิญตกลงมาเถิด ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาตอบว่า
เราเป็นผู้ไม่โกรธ มีกิเลสดุจหลักตอปราศไปแล้ว เรามีการ
อยู่สิ้นราตรีหนึ่งที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำมหี กระท่อมมีหลังคาอัน
เปิดแล้ว ไฟดับแล้ว แน่ะฝน หากว่าท่านปรารถนาก็เชิญ
ตกลงมาเถิด ฯ

นายธนิยะคนเลี้ยงโคได้กล่าวคาถาว่า
เหลือบและยุงย่อมไม่มี โคทั้งหลายย่อมเที่ยวไปในประเทศ
ใกล้แม่น้ำซึ่งมีหญ้างอกขึ้นแล้ว พึงอดทนแม้ซึ่งฝนที่ตกลงมา
ได้ แน่ะฝน หากว่าท่านปรารถนาก็เชิญตกลงมาเถิด ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาตอบว่า
ก็เราผูกแพไว้แล้ว ตกแต่งดีแล้ว กำจัดโอฆะ ข้ามถึงฝั่งแล้ว
ความต้องการด้วยแพย่อมไม่มี แน่ะฝน หากว่าท่านปรารถนา
ก็เชิญตกลงมาเถิด ฯ

นายธนิยะคนเลี้ยงโคได้กล่าวคาถาว่า
ภริยาเชื่อฟังเรา ไม่โลเล เป็นที่พอใจ อยู่ร่วมกันสิ้น
กาลนาน เราไม่ได้ยินความชั่วอะไรๆ ของภริยานั้น
แน่ะฝน หากท่านปรารถนาก็เชิญตกลงมาเถิด ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาตอบว่า
จิตเชื่อฟังเรา หลุดพ้นแล้ว เราอบรมแล้ว ฝึกหัดดีแล้วสิ้น
กาลนาน และความชั่วของเราย่อมไม่มี แน่ะฝน หากว่า
ท่านปรารถนาก็เชิญตกลงมาเถิด ฯ

นายธนิยะคนเลี้ยงโคได้กล่าวคาถาว่า
เราเป็นผู้เลี้ยงตนด้วยอาหารและเครื่องนุ่งห่มและบุตรทั้งหลาย
ของเราดำรงอยู่ดี ไม่มีโรค เราไม่ได้ยินความชั่วอะไรๆ ของ
บุตรเหล่านั้น แน่ะฝน หากว่าท่านปรารถนาก็เชิญตกลงมาเถิด ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาตอบว่า
เราไม่เป็นลูกจ้างของใครๆ เราเที่ยวไปด้วยความเป็น
พระสัพพัญญูผู้ไม่มีความต้องการในโลกทั้งปวง เราไม่มี
ความต้องการค่าจ้าง แน่ะฝน หากว่าท่านปรารถนาก็เชิญ
ตกลงมาเถิด ฯ

นายธนิยะคนเลี้ยงโคได้กล่าวคาถาว่า
โคแก่ ลูกโคอ่อนที่ยังไม่ได้ฝึก แม่โคที่มีครรภ์ ลูกโคหนุ่ม
แม่โคผู้ปรารถนาประเวณีมีอยู่ อนึ่ง แม้โคที่เป็นเจ้าฝูง
แห่งโคก็มีอยู่ แน่ะฝน หากว่าท่านปรารถนาก็เชิญตกลง
มาเถิด ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาตอบว่า
โคแก่ ลูกโคอ่อนที่ยังไม่ได้ฝึก แม่โคที่มีครรภ์ ลูกโคหนุ่ม
แม่โคที่ปรารถนาประเวณีก็ไม่มี อนึ่ง แม้โคที่เป็นเจ้าฝูง
แห่งโคก็ไม่มี แน่ะฝน หากว่าท่านปรารถนาก็เชิญตก
ลงมาเถิด ฯ

นายธนิยะคนเลี้ยงโคได้กล่าวคาถาว่า
เสาเป็นที่ผูกโคเราฝังไว้แล้ว ไม่หวั่นไหว เชือกสำหรับผูก
พิเศษประกอบด้วยปมและบ่วงเราทำไว้แล้ว สำเร็จด้วย
หญ้ามุงกระต่ายเป็นของใหม่มีสัณฐานดีสำหรับผูกโคทั้งหลาย
แม้โคหนุ่มๆ ก็ไม่อาจจะให้ขาดได้เลย แน่ะฝน หากว่า
ท่านปรารถนาก็เชิญตกลงมาเถิด ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาตอบว่า
เราจักไม่เข้าถึงการนอนในครรภ์อีก เหมือนโคตัดเชือก
สำหรับผูกขาดแล้ว เหมือนช้างทำลายเถากระพังโหมได้แล้ว
ฉะนั้น แน่ะฝน หากว่าท่านปรารถนาก็เชิญตกลงมาเถิด ฯ
ฝนได้ตกเต็มทั้งที่ลุ่ม ทั้งที่ดอน ในขณะนั้นเอง นายธนิยะ
คนเลี้ยงโคได้ยินเสียงฝนตกอยู่ ได้กราบทูลเนื้อความนี้ว่า
เป็นลาภของข้าพระองค์ไม่น้อยหนอ ที่ข้าพระองค์ได้เห็น
พระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ผู้มีจักษุ ข้าพระองค์ขอถึง
พระองค์ว่าเป็นสรณะ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมหามุนี ขอ
พระองค์ทรงเป็นพระศาสดาของข้าพระองค์ ทั้งภริยาทั้ง
ข้าพระองค์เป็นผู้เชื่อฟัง ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสุคต
ข้าพระองค์เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งชาติและมรณะจะเป็นผู้กระทำซึ่ง
ที่สุดแห่งทุกข์ได้ ฯ

มารผู้มีบาปได้กล่าวคาถาว่า
คนย่อมเพลิดเพลินเพราะอุปธิทั้งหลาย เปรียบเหมือน
บุคคลผู้มีบุตร ย่อมเพลิดเพลินเพราะบุตร บุคคลมีโค
ย่อมเพลิดเพลินเพราะโค ฉะนั้น คนผู้ไม่มีอุปธิ ย่อมไม่
เพลิดเพลินเลย ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาตอบว่า
คนย่อมเศร้าโศกเพราะอุปธิทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคล
ผู้มีบุตร ย่อมเศร้าโศกเพราะบุตร บุคคลผู้มีโค ย่อม
เศร้าโศกเพราะโค ฉะนั้น คนผู้ไม่มีอุปธิ ย่อมไม่
เศร้าโศกเลย ฯ
[พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ละกิเลสเสียได้แล้ว ปราศจากพันธะในโลก ทรงถึงซึ่งความพร้อมต่อการประกาศธรรมโดยไม่หวั่นต่ออุปสรรคใดเพราะพระองค์ปราศจากความประมาท มีพระสัพพัญญุตญาณ แม้มารก็ไม่อาจรุกราน ประดุจนายธนิยะคนเลี้ยงโคมิได้เกรงกลัวต่อฝนเพราะมีความไม่ประมาท ฉันใดก็ฉันนั้น]

จบธนิยสูตรที่ ๒

ขัคควิสาณสูตรที่ ๓

[๒๙๖] บุคคลวางอาชญาในสัตว์ทั้งปวงแล้ว ไม่เบียดเบียนบรรดา
สัตว์เหล่านั้นแม้ผู้ใดผู้หนึ่งให้ลำบาก ไม่พึงปรารถนาบุตร
จะพึงปรารถนาสหายแต่ที่ไหน พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือน
นอแรด ฉะนั้น ความเยื่อใยย่อมมีแก่บุคคลผู้เกี่ยวข้องกัน
ทุกข์นี้ย่อมเกิดขึ้นตามความเยื่อใย บุคคลเล็งเห็นโทษอัน
เกิดแต่ความเยื่อใย พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด
ฉะนั้น บุคคลอนุเคราะห์มิตรสหายเป็นผู้มีจิตปฏิพัทธ์แล้ว
ชื่อว่าย่อมยังประโยชน์ให้เสื่อม บุคคลเห็นภัย คือ การยัง
ประโยชน์ให้เสื่อมในการเชยชิดนี้ พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือน
นอแรด ฉะนั้น บุคคลข้องอยู่แล้ว ด้วยความเยื่อใย
ในบุตรและภริยา เหมือนไม้ไผ่กอใหญ่เกี่ยวก่ายกัน ฉะนั้น
บุคคลไม่ข้องอยู่เหมือนหน่อไม้ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือน
นอแรด ฉะนั้น เนื้อในป่าที่บุคคลไม่ผูกไว้แล้ว ย่อมไป
หากินตามความปรารถนา ฉันใด นรชนผู้รู้แจ้ง เพ่งความ
ประพฤติตามความพอใจของตน พึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียว
เหมือนนอแรด ฉะนั้น การปรึกษาในที่อยู่ ที่ยืน ในการไป
ในการเที่ยวย่อมมีในท่ามกลางแห่งสหาย บุคคลเพ่งความ
ประพฤติตามความพอใจ ที่พวกบุรุษชั่วไม่เพ่งเล็งแล้ว
พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น การเล่น
การยินดี ย่อมมีในท่ามกลางแห่งสหาย อนึ่ง ความรัก
ที่ยิ่งใหญ่ย่อมมีในบุตรทั้งหลาย บุคคลเมื่อเกลียดชังความ
พลัดพรากจากสัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก พึงเที่ยวไป
ผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลย่อมเป็นอยู่ตามสบาย
ในทิศทั้งสี่และไม่เดือดร้อน ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้
ครอบงำเสียซึ่งอันตราย ไม่หวาดเสียว พึงเป็นผู้เที่ยวไป
ผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น แม้บรรพชิตบางพวก
ก็สงเคราะห์ได้ยาก อนึ่ง คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนสงเคราะห์
ได้ยาก บุคคลเป็นผู้มีความขวนขวายน้อยในบุตรของผู้อื่น พึง
เที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น นักปราชญ์ละเหตุ
อันเป็นเครื่องปรากฏแห่งคฤหัสถ์ ดุจต้นทองหลางมีใบ
ล่วงหล่น ตัดเครื่องผูกแห่งคฤหัสถ์ได้แล้ว พึงเที่ยวไป
ผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น ถ้าว่าบุคคลพึงได้สหาย
ผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตน ผู้เที่ยวไปร่วมกันได้ มีปรกติ
อยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ไซร้ พึงครอบงำอันตราย
ทั้งปวง เป็นผู้มีใจชื่นชม มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้น
หากว่าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตน ผู้เที่ยว
ไปร่วมกันได้ มีปรกติอยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ไซร้
พึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียว ดุจพระราชาทรงละแว่นแคว้นอัน
พระองค์ทรงชนะแล้วเสด็จไปแต่ผู้เดียว ดุจช้างชื่อมาตังคะ
ละโขลงเที่ยวอยู่ในป่าแต่ผู้เดียว ฉะนั้น เราย่อมสรรเสริญ
สหายผู้ถึงพร้อมด้วยศีลขันธ์เป็นต้น พึงคบสหายผู้ประเสริฐ
สุด ผู้เสมอกัน กุลบุตรไม่ได้สหายผู้ประเสริฐสุดและผู้
เสมอกันเหล่านี้แล้ว พึงเป็นผู้บริโภคโภชนะไม่มีโทษ
เที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลแลดู
กำไลทองทั้งสองอันงามผุดผ่อง ที่บุตรแห่งนายช่างทองให้
สำเร็จด้วยดีแล้ว กระทบกันอยู่ในข้อมือ พึงเที่ยวไป
ผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น การที่เราจะพึงพูดจากับ
พระกุมารที่สอง หรือการข้องอยู่ด้วยอำนาจแห่งความเยื่อใย
พึงมีได้อย่างนี้ บุคคลเล็งเห็นภัยนี้ในอนาคต พึงเที่ยวไป
ผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น ก็กามทั้งหลายงามวิจิตร
มีรสอร่อย เป็นที่รื่นรมย์ใจ ย่อมย่ำยีจิตด้วยรูปแปลกๆ
บุคคลเห็นโทษในกามคุณทั้งหลายแล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว
เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลเห็นภัย คือ จัญไร ผี
อุปัทวะ โรค ลูกศร และความน่ากลัวนี้ ในกามคุณ
ทั้งหลายแล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น
บุคคลพึงครอบงำอันตรายเหล่านี้แม้ทั้งปวง คือ หนาว ร้อน
หิว ระหาย ลม แดด เหลือบและสัตว์เสือกคลานแล้ว
พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลพึงเป็นผู้
เที่ยวไปผู้เดียวเช่นกับนอแรด เปรียบเหมือนช้างใหญ่ผู้เกิด
ในตระกูลปทุม มีศีลขันธ์เกิดขึ้นแล้ว ละโขลงอยู่ในป่าตาม
อภิรมย์ ฉะนั้น (พระปัจเจกพุทธเจ้าได้กล่าวกึ่งคาถาว่า)
บุคคลพึงใคร่ครวญถ้อยคำของพระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระ-
อาทิตย์ว่า การที่บุคคลผู้ยินดีแล้วด้วยการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
จะพึงบรรลุวิมุตติอันมีในสมัยนั้น ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
(พระกุมารได้กล่าวกึ่งคาถาที่พระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าอาทิจจ
พันธุกล่าวแล้วให้บริบูรณ์ว่า) พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือน
นอแรด ฉะนั้น เราล่วงพ้นทิฐิอันเป็นข้าศึกได้แล้ว ถึง
ความเป็นผู้เที่ยง ได้มรรคแล้ว เป็นผู้มีญาณเกิดขึ้นแล้ว อัน
ผู้อื่นไม่พึงแนะนำพึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น
บุคคลผู้ไม่โลภ ไม่หลอกลวง ไม่มีความกระหาย ไม่ลบหลู่
มีโมหะดุจน้ำฝาดอันกำจัดเสียแล้ว ไม่มีความอยาก ครอบงำ
โลกทั้งปวงได้แล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด
ฉะนั้น กุลบุตรพึงเว้นสหายผู้ลามกไม่พึงเสพด้วยตนเอง
ซึ่งสหายผู้ชี้บอกความฉิบหายมิใช่ประโยชน์ ผู้ตั้งอยู่ในกรรม
อันไม่เสมอ ผู้ข้องอยู่ ผู้ประมาท พึงเที่ยวไปผู้เดียว
เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลพึงคบมิตรผู้เป็นพหูสูตร
ทรงธรรม ผู้ยิ่งด้วยคุณธรรม มีปฏิภาณ บุคคลรู้จักประโยชน์
ทั้งหลาย กำจัดความสงสัยได้แล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว
เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลไม่พอใจการเล่น ความยินดี
และกามสุขในโลกแล้ว ไม่เพ่งเล็งอยู่ เว้นจากฐานะแห่ง
การประดับ มีปรกติกล่าวคำสัตย์ พึงเที่ยวไปผู้เดียว
เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลละบุตร ภริยา บิดา
มารดา ทรัพย์ ข้าวเปลือก พวกพ้อง และกามซึ่งตั้งอยู่
ตามส่วนแล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น
บัณฑิตทราบว่า ความเกี่ยวข้องในเวลาบริโภคเบญจกามคุณนี้
มีสุขน้อย มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก ดุจหัวฝี ดังนี้แล้ว
พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลพึงทำลาย
สังโยชน์ทั้งหลายเสีย เหมือนปลาทำลายข่าย เหมือนไฟ
ไม่หวนกลับมาสู่ที่ไหม้แล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือน
นอแรด ฉะนั้น บุคคลผู้มีจักษุทอดลงแล้ว ไม่คะนองเท้า มี
อินทรีย์อันคุ้มครองแล้ว มีใจอันรักษาแล้ว ผู้อันกิเลสไม่รั่วรด
แล้ว และอันไฟ คือกิเลสไม่แผดเผาอยู่ พึงเที่ยวไป
ผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลละเพศแห่งคฤหัสถ์
ดุจต้นทองหลางมีใบล่วงหล่นแล้ว นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออก
บวชเป็นบรรพชิต พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด
ฉะนั้น ภิกษุไม่กระทำความยินดีในรสทั้งหลาย ไม่โลเล
ไม่เลี้ยงคนอื่น มีปรกติเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก ผู้มี
จิตไม่ผูกพันในตระกูล พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด
ฉะนั้น บุคคลละธรรมเป็นเครื่องกั้นจิต ๕ อย่าง บรรเทา
อุปกิเลสทั้งปวงแล้ว ผู้อันทิฐิไม่อาศัย ตัดโทษคือความ
เยื่อใยได้แล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น
บุคคลละสุข ทุกข์ โสมนัสและโทมนัสในกาลก่อนได้
ได้อุเบกขาและสมถะอันบริสุทธิ์แล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว
เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลปรารภความเพียรเพื่อบรรลุ
ปรมัตถประโยชน์ มีจิตไม่หดหู่ มีความประพฤติไม่
เกียจคร้าน มีความบากบั่นมั่น ถึงพร้อมแล้วด้วยกำลังกาย
และกำลังญาณ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น
บุคคลไม่ละการหลีกเร้นและฌาน มีปรกติประพฤติธรรม
อันสมควรเป็นนิตย์ในธรรมทั้งหลาย พิจารณาเห็นโทษใน
ภพทั้งหลาย พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น
บุคคลผู้ปรารถนาความสิ้นตัณหา พึงเป็นผู้ไม่ประมาท ไม่
เป็นคนบ้าคนใบ้ มีการสดับ มีสติ มีธรรมอันกำหนด
รู้แล้ว เป็นผู้เที่ยง มีความเพียร พึงเที่ยวไปผู้เดียว
เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลไม่สะดุ้งในธรรมมีความ
ไม่เที่ยงเป็นต้น เหมือนราชสีห์ไม่สะดุ้งในเสียง ไม่ข้องอยู่
ในธรรมมีขันธ์และอายตนะเป็นต้น เหมือนลมไม่ข้องอยู่
ในข่าย ไม่ติดอยู่ด้วยความยินดีและความโลภ เหมือน
ดอกปทุมไม่ติดอยู่ด้วยน้ำ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด
ฉะนั้น บุคคลพึงเสพเสนาสนะอันสงัด เป็นผู้เที่ยวไป
ผู้เดียวเช่นกับนอแรด เหมือนราชสีห์มีเขี้ยวเป็นกำลัง ข่มขี่
ครอบงำหมู่เนื้อเที่ยวไป ฉะนั้น บุคคลเสพอยู่ซึ่งเมตตา
วิมุติ กรุณาวิมุติ มุทิตาวิมุติ และอุเบกขาวิมุติ ในกาล
อันควร ไม่ยินร้ายด้วยโลกทั้งปวง พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือน
นอแรด ฉะนั้น บุคคลละราคะ โทสะ และโมหะแล้ว
ทำลายสังโยชน์ทั้งหลายแล้ว ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต พึง
เที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น มนุษย์ทั้งหลาย
ผู้ไม่สะอาด มีปัญญามุ่งประโยชน์ตน ย่อมคบหาสมาคม
เพราะมีเหตุเป็นประโยชน์ ผู้ไม่มีเหตุมาเป็นมิตร หาได้ยาก
ในทุกวันนี้ บุคคลพึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น ฯ
[บุคคลเมื่อปรารถนาความหลุดพ้น ย่อมปฏิบัติเพื่อความถึงพร้อมในธรรมทั้งหลายโดยไม่ประมาท หลีกเว้นจากการเบียดเบียนทั้งหลายอันเป็นเหตุบั่นทอนคุณความดีของตนเอง มีใจประดุจพรหม]

จบขัคควิสาณสูตรที่ ๓

กสิภารทวาชสูตรที่ ๔

[๒๙๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พราหมณคามชื่อเอกนาฬา ในทักขิณาคิรีชนบท แคว้นมคธ ก็สมัยนั้นแล กสิภารทวาชพราหมณ์ประกอบไถประมาณ ๕๐๐ ในเวลาเป็นที่หว่านพืช ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังที่การงานของกสิภารทวาชพราหมณ์ ก็สมัยนั้นแล การเลี้ยงดูของกสิภารทวาชพราหมณ์กำลังเป็นไป ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปถึงที่เลี้ยงดู ครั้นแล้วได้ประทับยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง กสิภารทวาชพราหมณ์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับยืนอยู่เพื่อบิณฑบาต ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระสมณะ ข้าพระองค์แล ย่อมไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้วย่อมบริโภค แม้พระองค์ก็จงไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้วจงบริโภคเถิด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ แม้เราก็ไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้วย่อมบริโภค ฯ

กสิ. ข้าแต่พระสมณะ ก็ข้าพระองค์ย่อมไม่เห็นแอก ไถ ผาล ปฏัก หรือโค ของท่านพระโคดมเลย ก็แลเมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านพระโคดมตรัสอย่างนี้ว่า ดูกรพราหมณ์ แม้เราก็ไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้วย่อมบริโภค ฯ

ลำดับนั้น กสิภารทวาชพราหมณ์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
[๒๙๘] พระองค์ย่อมปฏิญาณว่าเป็นชาวนา แต่ข้าพระองค์ไม่เห็น
ไถของพระองค์ พระองค์อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอได้
โปรดตรัสบอกไถแก่ข้าพระองค์ โดยวิธีที่ข้าพระองค์จะพึง
รู้จักไถของพระองค์ ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า
ศรัทธาของเราเป็นพืช ความเพียรของเราเป็นฝน ปัญญา
ของเราเป็นแอกและไถ หิริของเราเป็นงอนไถ ใจของเรา
เป็นเชือก สติของเราเป็นผาลและปฏัก เราคุ้มครองกาย
คุ้มครองวาจา สำรวมในอาหารในท้อง ย่อมกระทำการ
ถอนหญ้า คือ การกล่าวให้พลาดด้วยสัจจะ ความสงบเสงี่ยม
ของเราเป็นเครื่องปลดเปลื้องกิเลส ความเพียรของเรานำธุระ
ไปเพื่อธุระนำไปถึงแดนเกษมจากโยคะ ไม่หวนกลับมา
ย่อมถึงสถานที่ๆ บุคคลไปแล้วไม่เศร้าโศก การไถนานั้น
เราไถแล้วอย่างนี้ การไถนานั้น ย่อมมีผลเป็นอมตะ บุคคล
ไถนานั่นแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ฯ

[๒๙๙] ลำดับนั้นแล กสิภารทวาชพราหมณ์เทข้าวปายาสลงในถาดสำริดใหญ่ แล้วน้อมถวายแด่พระผู้มีพระภาคด้วยกราบทูลว่า ขอท่านพระโคดมเสวยข้าวปายาสเถิด เพราะพระองค์ท่านเป็นชาวนา ย่อมไถนา อันมีผลไม่ตาย ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า
ดูกรพราหมณ์ เราไม่ควรบริโภคโภชนะที่ขับกล่อมได้มา
ข้อนี้ไม่ใช่ธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้เห็นอยู่โดยชอบ
พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงห้ามโภชนะที่ขับกล่อมได้มา
ดูกรพราหมณ์ เมื่อธรรมมีอยู่ การแสวงหานี้เป็นความ
ประพฤติของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เชิญท่านบำรุงพระขีณาสพ
ผู้บริบูรณ์ด้วยคุณทั้งปวง ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ผู้มีความ
คะนองอันสงบแล้ว ด้วยข้าวและน้ำอย่างอื่นเถิด เพราะว่า
เขตนั้นเป็นเขตของบุคคลผู้มุ่งบุญ ฯ

[๓๐๐] กสิ. ข้าแต่พระโคดม ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพระองค์จะถวายข้าวปายาสนี้แก่ใคร ฯ

พ. ดูกรพราหมณ์ เราย่อมไม่เห็นบุคคลในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ผู้บริโภคข้าวปายาสนั้นแล้ว จะพึงให้ย่อยได้โดยชอบ นอกจากตถาคตหรือสาวกของตถาคตเลย ดูกรพราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงทิ้งข้าวปายาสนั้นเสียในที่ปราศจากของเขียว หรือจงให้จมลงในน้ำซึ่งไม่มีตัวสัตว์เถิด ฯ

ลำดับนั้น กสิภารทวาชพราหมณ์เทข้าวปายาสนั้นให้จมลงในน้ำอันไม่มีตัวสัตว์ พอข้าวปายาสนั้นอันกสิภารทวาชพราหมณ์เทลงในน้ำ (ก็มีเสียง) ดังจิจจิฏะ จิฏิจิฏะ เป็นควันกลุ้มโดยรอบ เหมือนก้อนเหล็กที่บุคคลเผาให้ร้อนตลอดวัน ทิ้งลงในน้ำ (มีเสียง) ดังจิจจิฏะ จิฏิจิฏะ เป็นควันกลุ้มโดยรอบ ฉะนั้น ฯ

[๓๐๑] ลำดับนั้นแล กสิภารทวาชพราหมณ์สลดใจ มีขนชูชัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ หมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืดด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญกับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระโคดมผู้เจริญเถิด กสิภารทวาชพราหมณ์ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็ท่านภารทวาชะอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่ช้านักก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็ท่านภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ
[ครั้งหนึ่ง กสิภารทวาชพราหมณ์ผู้กำลังไถนา ประกอบการงานเลี้ยงชีพ พร้อมทั้งประกอบทานมีอาหารเป็นต้น ได้เชื่อเชิญพระผู้มีพระภาคผู้ประทับยืนอยู่เพื่อบิณฑบาตให้ทรงมาไถนาด้วยกัน พระผู้มีพระภาคตรัสว่าพระองค์ก็ไถและหว่าน แล้วย่อมบริโภคเช่นกัน กล่าวคือ พระองค์เพราะปลูกพืชคือศรัทธา อาศัยฝนคือความเพียรของพระองค์ มีปัญญาเป็นดุจแอกและไถ มีความละอายต่อบาปเป็นงอนไถ มีใจเป็นดั่งเชือก มีสติเป็นผาลและปฏัก พระองค์ทรงคุ้มครองกาย วาจา สำรวมการบริโภคอาหาร ถอนหญ้าอันได้แก่การกล่าวผิดพลาดเสียด้วยการตรัสความจริง ทรงละกิเลสด้วยความสงบเสงี่ยม ปรารถความเพียรเพื่อให้ถึงแดนอันเกษม ไม่หวนกลับมา การไถนาของพระองค์เช่นนี้มีผลคืออมตะ เมื่อพระองค์ตรัสดังนี้ กสิภารทวาชพราหมณ์จะทรงถวายข้าวปายาส พระองค์ตรัสว่าพระผู้มีพระภาคทั้งหลายไม่รัโภชนะอันได้มาด้วยการขับกล่อม กสิภารทวาชพราหมณ์ทูลถามว่าข้าวปายาสนี้ตนจักถวายแก่ใคร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระองค์ไม่เห็นบุคคลในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ผู้บริโภคข้าวปายาสนั้นแล้วจะย่อยได้ นอกจากพระองค์หรือพระสาวก พระองค์ขอให้ทิ้งข้าวนั้นเสียในที่เหมาะสม เมื่อกสิภารทวาชพราหมณ์เทข้าวปายาสนั้นลงในน้ำที่ไม่มีตัวสัตว์ ก็มีเสียงและควันประดุจเทก้อนเหล็กร้อนแดงลงในน้ำ กสิภารทวาชพราหมณ์เกิดความสลดใจ ขนลุกชูชัน ขอบวชเป็นภิกษุ ในกาลต่อมาไม่นานนัก ท่านได้เป็นพระอรหันตขีนาสพรูปหนึ่งในพระศาสนา]

จบกสิภารทวาชสูตรที่ ๔

จุนทสูตรที่ ๕

นายจุนทกัมมารบุตรทูลถามว่า
[๓๐๒] ข้าพระองค์ขอทูลถามพระพุทธเจ้าผู้เป็นมุนี มีพระปัญญามาก
ผู้เป็นเจ้าของแห่งพระธรรม ผู้มีตัณหาปราศไปแล้ว ผู้สูงสุด
กว่าสัตว์ ผู้ประเสริฐกว่าสารถีทั้งหลายว่า สมณะในโลกมี
เท่าไร ขอเชิญพระองค์ตรัสบอกสมณะเหล่านั้นเถิด ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรจุนทะ
สมณะมี ๔ สมณะที่ ๕ ไม่มี เราถูกท่านถามซึ่งหน้าแล้ว
ขอชี้แจงสมณะทั้ง ๔ เหล่านั้น ให้แจ่มแจ้งแก่ท่าน คือ
สมณะผู้ชนะสรรพกิเลสด้วยมรรค ๑ สมณะผู้แสดงมรรค
(แก่ชนเหล่าอื่น) ๑ สมณะเป็นอยู่ในมรรค ๑ สมณะ
ผู้ประทุษร้ายมรรค ๑

นายจุนทกัมมารบุตรทูลถามว่า
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมตรัสสมณะผู้ชนะสรรพกิเลสด้วย
มรรคอะไร สมณะเป็นผู้มีปรกติเพ่งมรรคไม่มีผู้เปรียบ
สมณะเป็นอยู่ในมรรค ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอพระองค์
ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ อนึ่ง ขอพระองค์ทรงชี้แจง สมณะ
ผู้ประทุษร้ายมรรคให้แจ้งแก่ข้าพระองค์เถิด ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมตรัสสมณะผู้ข้ามความสงสัย
ได้แล้ว ผู้ไม่มีกิเลสดุจลูกศร ผู้ยินดียิ่งแล้วในนิพพาน ผู้ไม่มี
ความกำหนัด ผู้คงที่ เป็นผู้นำโลกพร้อมด้วยเทวโลกว่า
สมณะผู้ชนะสรรพกิเลสด้วยมรรค ๑ ภิกษุใดในศาสนานี้รู้ว่า
นิพพานเป็นธรรมยิ่ง ย่อมบอก ย่อมจำแนกธรรมในธรรม
วินัยนี้แล พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสภิกษุที่ ๒ ผู้ตัดความ
สงสัย ผู้เป็นมุนีผู้ไม่หวั่นไหวนั้น ว่าสมณะผู้แสดงมรรค
ภิกษุใด เมื่อบทธรรมอันพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงแสดงไว้
ดีแล้ว เป็นผู้สำรวมแล้ว มีสติ เสพบทอันไม่มีโทษอยู่
ชื่อว่าเป็นอยู่ในมรรค พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรัสภิกษุที่ ๓
นั้นว่า เป็นอยู่ในมรรค บุคคลกระทำเพศแห่งพระพุทธเจ้า
พระปัจเจกพระพุทธเจ้า และพระสาวกผู้มีวัตรอันงาม ให้
เป็นเครื่องปกปิดแล้ว มักประพฤติแล่นไป ประทุษร้าย
ตระกูล เป็นผู้คะนอง มีมายา ไม่สำรวม เป็นคนแกลบ
บุคคลนั้นแลชื่อว่า เป็นสมณะผู้ประทุษร้ายมรรคอย่างยิ่งด้วย
วัตตปฏิรูป ก็พระอริยสาวกผู้ได้สดับ มีปัญญา ทราบสมณะ
เหล่านั้นทั้งหมดว่าเป็นเช่นนั้น เห็นแล้วอย่างนี้ ย่อมไม่ยัง
ศรัทธาของคฤหัสถ์ผู้ทราบชัดสมณะเปล่านี้ให้เสื่อม จะพึง
กระทำสมณะผู้ไม่ถูกโทษประทุษร้าย ให้เสมอด้วยสมณะ
ผู้ถูกโทษประทุษร้าย จะพึงกระทำสมณะผู้บริสุทธิ์ ให้เสมอ
ด้วยสมณะผู้ไม่บริสุทธิ์ อย่างไรได้ ฯ
[นายจุนทกัมมารบุตรผู้ถวายบิณฑบาตครั้งสุดท้ายแก่พระผู้มีพระภาคทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า สมณะในโลกมีเท่าไร พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า สมณะมี4ประเภท ไม่มีสมณะประเภทที่5 สมณะ4ประเภทคือ
1.สมณะผู้ชนะสรรพกิเลสด้วยมรรค คือภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ คือไม่มีกิเลส
2.สมณะผู้แสดงมรรคแก่ชนเหล่าอื่น คือภิกษุผู้เป็นอริยะ ตัดเสียได้ซึ่งความคลางแคลงในพระรัตนตรัย สามารถแสดงธรรมแก่ผู้อื่น
3.สมณะผู้อยู่ในมรรค คือภิกษุผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้สำรวม มีสติ
4.สมณะผู้ประทุษร้ายมรรค คือผู้ปกปิดในความดีงามของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกผู้มีธรรมอันงาม เป็นผู้ประทุษร้ายตระกูล เป็นผู้คะนอง มีมายา ไม่สำรวม เป็นคนแกลบ ชื่อว่าเป็นสมณะผู้ประทุษร้ายมรรคอย่างยิ่งด้วยการบิดเบือนข้อปฏิบัติ พระอริยสาวกผู้มีปัญญา ทราบในบุคคลเช่นนี้ย่อมไม่ปล่อยให้คฤหัสถ์เสื่อมศรัทธาเพราะทราบในบุคคลเช่นนี้อยู่โดยการกระทำสมณะผู้ไม่ถูกโทษประทุษร้ายให้เสอด้วยสมณะผู้มีโทษประทุษร้าย ไม่กระทำสมณะผู้บริสุทธิ์ให้เสมอด้วยสมณะผู้ไม่บริสุทธิ์]


จบจุนทสูตรที่ ๕

ปราภวสูตรที่ ๖

[๓๐๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามสิ้นไปแล้ว เทวดาตนหนึ่งมีรัศมีอันงดงามยิ่ง ทำพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
[๓๐๔] ข้าพระองค์มา เพื่อจะทูลถามถึงคนผู้เสื่อม และคนผู้เจริญ
กะท่านพระโคดม จึงขอทูลถามว่าอะไรเป็นทางของคน
เสื่อม ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ ผู้รู้ชั่วเป็นผู้เสื่อม ผู้ใคร่ธรรมเป็นผู้เจริญ
ผู้เกลียดธรรมเป็นผู้เสื่อม เพราะเหตุนั้นแล เราจงทราบชัด
ข้อนี้เถิดว่าความเสื่อมนั้นเป็นที่ ๑

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์จงตรัสบอกคนเสื่อมที่ ๒
อะไรเป็นทางของคนเสื่อม ฯ
คนมีอสัตบุรุษเป็นที่รัก ไม่กระทำสัตบุรุษให้เป็นที่รัก ชอบใจ
ธรรมของอสัตบุรุษ ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม เพราะเหตุ
นั้นแล เราจงทราบข้อนี้เถิดว่า ความเสื่อมนั้นเป็นที่ ๒ ฯ

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์จงตรัสบอกคนเสื่อมที่ ๓
อะไรเป็นทางของคนเสื่อม ฯ
คนใดชอบนอน ชอบคุย ไม่หมั่น เกียจคร้าน โกรธง่าย
ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม เพราะเหตุนั้นแล เราจงทราบ
ชัดข้อนี้เถิดว่า ความเสื่อมนั้นเป็นที่ ๓ ฯ

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์จงตรัสบอกคนเสื่อมที่ ๔
อะไรเป็นทางของคนเสื่อม ฯ
คนใดสามารถ แต่ไม่เลี้ยงมารดาหรือบิดาผู้แก่เฒ่า ผ่านวัย
หนุ่มสาวไปแล้ว ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม เพราะเหตุ
นั้นแล เราจงทราบชัดข้อนี้เถิดว่า ความเสื่อมนั้นเป็นที่ ๔ ฯ

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์จงตรัสบอกคนเสื่อมที่ ๕
อะไรเป็นทางของคนเสื่อม ฯ
คนใดลวงสมณะพราหมณ์ หรือแม้วณิพกอื่นด้วยมุสาวาท
ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม เพราะเหตุนั้นแล เราจงทราบ
ชัดข้อนี้เถิดว่า ความเสื่อมนั้นเป็นที่ ๕ ฯ

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์จงตรัสบอกคนเสื่อมที่ ๖
อะไรเป็นทางของคนเสื่อม ฯ
คนมีทรัพย์มาก มีเงินทองของกิน กินของอร่อยแต่ผู้เดียว
ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม เพราะเหตุนั้นแล เราจงทราบ
ชัดข้อนี้เถิดว่า ความเสื่อมนั้นเป็นที่ ๖ ฯ

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์จงตรัสบอกคนเสื่อมที่ ๗
อะไรเป็นทางของคนเสื่อม ฯ
คนใดหยิ่งเพราะชาติ หยิ่งเพราะทรัพย์ และหยิ่งเพราะโคตร
ย่อมดูหมิ่นญาติของตน ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม เพราะ
เหตุนั้น เราจงทราบชัดข้อนี้เถิดว่า ความเสื่อมนั้นเป็นที่ ๗ ฯ

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์จงตรัสบอกคนเสื่อมที่ ๘
อะไรเป็นทางของคนเสื่อม ฯ
คนใดเป็นนักเลงหญิง เป็นนักเลงสุรา และเป็นนักเลง
การพนันผลาญทรัพย์ที่ตนหามาได้ ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม
เพราะเหตุนั้นแล เราจงทราบชัดข้อนี้เถิดว่า ความเสื่อม
นั้นเป็นที่ ๘ ฯ

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์จงตรัสบอกคนเสื่อมที่ ๙
อะไรเป็นทางของคนเสื่อม ฯ
คนไม่สันโดษด้วยภริยาของตน ประทุษร้ายในภริยาของคนอื่น
เหมือนประทุษร้ายในหญิงแพศยา ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม
เพราะเหตุนั้นแล เราจงทราบชัดข้อนี้เถิดว่า ความเสื่อม
นั้นเป็นที่ ๙ ฯ

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์จงตรัสบอกคนเสื่อมที่ ๑๐
อะไรเป็นทางของคนเสื่อม ฯ
ชายแก่ได้หญิงรุ่นสาวมาเป็นภริยา ย่อมนอนไม่หลับ เพราะ
ความหึงหวงหญิงรุ่นสาวนั้น ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม
เพราะเหตุนั้น เราจงทราบชัดข้อนี้เถิดว่า ความเสื่อมนั้น
เป็นที่ ๑๐ ฯ

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์จงตรัสบอกคนเสื่อมที่ ๑๑
อะไรเป็นทางของคนเสื่อม ฯ
คนใดตั้งหญิงนักเลงสุรุ่ยสุร่าย หรือแม้ชาย เช่นนั้นไว้ในความ
เป็นใหญ่ ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม เพราะเหตุนั้น
เราจงทราบชัดข้อนี้เถิดว่า ความเสื่อมนั้นเป็นที่ ๑๑ ฯ

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์จงตรัสบอกคนเสื่อมที่ ๑๒
อะไรเป็นทางของคนเสื่อม ฯ
ก็บุคคลผู้เกิดในสกุลกษัตริย์ มีโภคทรัพย์น้อย มีความมักใหญ่
ปรารถนาราชสมบัติ ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม บัณฑิตผู้ถึง
พร้อมด้วยความเห็นอันประเสริฐ พิจารณาเห็นคนเหล่านี้
เป็นผู้เสื่อมในโลก ท่านย่อมคบโลกที่เกษม (คนผู้เจริญ) ฯ

จบปราภวสูตรที่ ๖

(ยังมีต่อ)




Create Date : 30 มีนาคม 2549
Last Update : 30 มีนาคม 2549 18:10:11 น. 0 comments
Counter : 662 Pageviews.

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.