Group Blog
 
<<
มีนาคม 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
14 มีนาคม 2549
 
All Blogs
 
ความสำคัญของพระวินัย

วันนี้ขอกล่าวถึงเรื่องสำคัญมากอีกเรื่องในพระพุทธศาสนาครับ นั่นคือเรื่องพระวินัย ในพระไตรปิฎกนั้นได้จัดเอาพระวินัยไว้ในหมวดแรกของพระไตรปิฎก (อีกสองหมวดคือพระสูตรและพระอภิธรรม) เมื่อครั้งที่ท่านพระมหากัสสปะได้เป็นผู้นำในการรวบรวมคำสอนของพระผู้มีพระภาคให้เป็นพระไตรปิฎกภายหลังพระพุทธปรินิพพานได้ไม่นาน ท่านพระอุบาลีผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคยกเป็นผู้เลิศในทางวินัยในหมู่สงฆ์รับหน้าที่สำคัญในส่วนของพระวินัยนี้ ส่วนพระสูตร(ซึ่งเรากำลังศึกษากันอยู่) และพระอภิธรรมนั้น ท่านพระอานนท์ผู้เป็นเลิศในทางพหูสูตและเป็นพระอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้รับภารกิจสำคัญ ดังนั้นที่ยกมาวันนี้ก็เพราะความสำคัญโดยส่วนของพระวินัยเอง แต่ว่าคงไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติมครับ เพราะเนื้อหาไม่ซับซ้อน กล่าวคือท่านพระอุบาลีหรือท่านพระอานนท์รูปใดรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพื่อกราบทูลถามข้อสงสัยในพระวินัย อาทิเช่นการแสดงปาติโมกข์นั้น พระผู้มีพระภาคทรงเล็งเห็นประโยชน์ใดจึงทรงบัญญัติขึ้น

สำหรับผู้สนใจศึกษาเรื่องพระวินัยโดยละเอียดนั้น ก็มีอยู่ในพระไตรปิฎก ซึ่งปัจจุบันนั้นก็มีพระไตรปิฎกออนไลน์ให้ศึกษาอยู่หลายแห่ง ถ้าท่านต้องการศึกษาพระวินัยโดยสรุป ผมเห็นว่ามีเว็บนี้ครับที่น่าสนใจ //www.mv.ac.th/~buddhist/Testvinaltee.htm#คำนำ

สำหรับความหมายของคำต่างๆ เช่น ปาติโมกข์ สัทธิวิหาริก อนุปสัมบัน ฯลฯ ลองดาวน์โหลดและติดตั้งพจนานุกรมพุทธศาสนาตามลิงค์นี้ครับ //www.geocities.com/SouthBeach/Terrace/4587/buddhist-dicdl.htm

พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 สุตตันตปิฎกที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

****************************************
อุปาลิวรรคที่ ๔

อุปาลิสูตรที่ ๑

[๓๑] ... ครั้งนั้นแล ท่านพระอุบาลีได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตทรงอาศัยอำนาจประโยชน์เท่าไรหนอแล จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ทรงแสดงปาติโมกข์แก่สาวกทั้งหลาย ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอุบาลี ตถาคตอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการแล จึงบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวกทั้งหลาย ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ เพื่อความตั้งอยู่ด้วยดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความอยู่สำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่อการอยู่สำราญแห่งภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะทั้งหลายอันเป็นไปในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะทั้งหลายอันเป็นไปในสัมปรายภพ ๑ เพื่อความเลื่อมใสแห่งบุคคลทั้งหลายผู้ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเจริญยิ่งแห่งความเลื่อมใสของบุคคลทั้งหลายผู้เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม ๑ เพื่ออนุเคราะห์วินัย ๑ ดูกรอุบาลี ตถาคตอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการนี้แล จึงบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวกทั้งหลาย ฯ

จบสูตรที่ ๑

อุปาลิสูตรที่ ๒

อุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การหยุดสวดปาติโมกข์มีกี่ประการ พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรอุบาลี การหยุดสวดปาติโมกข์มี ๑๐ ประการ ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุผู้ต้องปาราชิกนั่งอยู่ในบริษัทนั้น ๑ กถาปรารภปาราชิกเป็นเรื่องยังทำค้างอยู่ ๑ อนุปสัมบันนั่งอยู่ในบริษัทนั้น ๑ กถาปรารภอนุปสัมบันเป็นเรื่องยังทำค้างอยู่ ๑ ผู้บอกลาสิกขานั่งอยู่ในบริษัทนั้น ๑ กถาปรารภผู้บอกลาสิกขาเป็นเรื่องยังทำค้างอยู่ ๑ บัณเฑาะก์นั่งอยู่ในบริษัทนั้น ๑ กถาปรารภบัณเฑาะก์เป็นเรื่องยังทำค้างอยู่ ๑ ผู้ประทุษร้ายนางภิกษุณีนั่งอยู่ในบริษัทนั้น ๑ กถาปรารภผู้ประทุษร้ายนางภิกษุณีเป็นเรื่องยังทำค้างอยู่ ๑ ดูกรอุบาลี การหยุดสวดปาติโมกข์มี ๑๐ ประการนี้แล ฯ

จบสูตรที่ ๒

อุพพาหสูตร

[๓๒] อุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประกอบด้วยธรรมเท่าไรหนอแล สงฆ์พึงสมมติเพื่อให้เป็นผู้รื้อฟื้นอธิกรณ์ ฯ

พ. ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการแล สงฆ์พึงสมมติเพื่อให้เป็นผู้รื้อฟื้นอธิกรณ์ ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมแล้วในปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษทั้งหลายอันมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ๑ เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้สดับมาก ทรงไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ซึ่งธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ๑ ปาติโมกข์ทั้ง ๒ เป็นอุเทศอันภิกษุนั้นจำดีแล้ว จำแนกดีแล้ว กล่าวดีแล้ว โดยพิสดาร วินิจฉัยดีแล้วโดยสูตร โดยอนุพยัญชนะ ๑ อนึ่ง ภิกษุนั้นเป็นผู้เคร่งครัดในวินัยไม่ง่อนแง่น ๑ เป็นผู้สามารถเพื่ออันยังคู่ความทั้ง ๒ ฝ่ายให้ยินยอม ให้ตรวจดู ให้เห็นเหตุผล ให้เลื่อมใสได้ ๑ เป็นผู้ฉลาดในการยังอธิกรณ์อันเกิดขึ้นให้ระงับ ๑ รู้อธิกรณ์ ๑ รู้เหตุเป็นที่เกิดขึ้นแห่งอธิกรณ์ ๑ รู้ความดับแห่งอธิกรณ์ ๑ รู้ทางปฏิบัติเป็นเครื่องถึงความดับอธิกรณ์ ๑ ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล สงฆ์พึงสมมติเพื่อให้เป็นผู้รื้อฟื้นอธิกรณ์ ฯ

จบสูตรที่ ๓

อุปสัมปทาสูตร

[๓๓] อุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรมเท่าไรหนอแล พึงให้กุลบุตรอุปสมบท ฯ

พ. ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการแล พึงให้กุลบุตรอุปสมบท ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมในปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษอันมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ๑ เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้สดับมาก ทรงไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิซึ่งธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ๑ ปาติโมกข์เป็นอุเทศอันภิกษุนั้นจำดีแล้ว จำแนกดีแล้ว ให้เป็นไปดีแล้ว โดยพิสดาร วินิจฉัยดีแล้วโดยสูตรโดยอนุพยัญชนะ ๑ ภิกษุนั้นเป็นผู้สามารถเพื่ออุปัฏฐากเองหรือเพื่อให้ผู้อื่นอุปัฏฐากซึ่งสัทธิวิหาริกผู้เป็นไข้ ๑ เป็นผู้สามารถเพื่อระงับเองหรือให้ผู้อื่นระงับความไม่ยินดียิ่ง (ของสัทธิวิหาริก) ๑ เป็นผู้สามารถเพื่อบรรเทาความรำคาญอันเกิดขึ้นแล้วได้โดยธรรม ๑ เป็นผู้สามารถเพื่อเปลื้องความเห็นผิดอันเกิดขึ้นแล้วโดยธรรม ๑ เป็นผู้สามารถเพื่อให้สมาทานในอธิศีล ๑ เป็นผู้สามารถเพื่อให้สมาทานในอธิจิต ๑ เป็นผู้สามารถเพื่อให้สมาทานในอธิปัญญา ๑ ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล พึงให้กุลบุตรอุปสมบท ฯ

จบสูตรที่ ๔

นิสสยสูตร

[๓๔] อุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรมเท่าไรหนอแล พึงให้นิสัย ฯลฯ

จบสูตรที่ ๕

สามเณรสูตร

อุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรมเท่าไรหนอแล พึงให้สามเณรอุปัฏฐาก ฯ

พ. ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการแล พึงให้สามเณรอุปัฏฐาก ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมแล้วในปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษอันมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ๑ เป็นพหูสูต ฯลฯ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ๑ ปาติโมกข์เป็นอุเทศอันภิกษุนั้นเรียนดีแล้ว ฯลฯ ๑ ภิกษุนั้นเป็นผู้สามารถเพื่ออุปัฏฐากเอง หรือเพื่อให้ผู้อื่นอุปัฏฐากซึ่งสัทธิวิหาริกผู้เป็นไข้ ๑ เป็นผู้สามารถเพื่อระงับเองหรือเพื่อให้ผู้อื่นช่วยระงับซึ่งความไม่ยินดียิ่ง ๑ เป็นผู้สามารถเพื่อบรรเทาความรำคาญที่เกิดขึ้นแล้วโดยธรรม ๑ เป็นผู้สามารถเพื่อเปลื้องความเห็นผิดที่เกิดขึ้นแล้วโดยธรรม ๑ เป็นผู้สามารถเพื่อให้สมาทานในอธิศีล ๑ เป็นผู้สามารถเพื่อให้สมาทานในอธิจิต ๑ เป็นผู้สามารถเพื่อให้สมาทานในอธิปัญญา ๑ ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล พึงให้สามเณรอุปัฏฐาก ฯ

จบสูตรที่ ๖

อุปาลิสังฆเภทสูตร

[๓๕] อุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า สังฆเภท สังฆเภท ดังนี้ สงฆ์จะเป็นผู้แตกกันด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล ฯ

พ. ดูกรอุบาลี ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมว่า เป็นธรรม ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นธรรมว่าไม่เป็นธรรม ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่ใช่วินัยว่าเป็นวินัย ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นวินัยว่าไม่เป็นวินัย ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้กล่าวไว้ไม่ได้บอกไว้ว่า ตถาคตกล่าวไว้บอกไว้ ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตกล่าวไว้บอกไว้ว่า ตถาคตไม่ได้กล่าวไว้ไม่ได้บอกไว้ ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่เคยประพฤติมาว่า ตถาคตเคยประพฤติมา ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตเคยประพฤติมาว่า ตถาคตไม่เคยประพฤติมา ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่บัญญัติไว้ว่า ตถาคตบัญญัติไว้ ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตบัญญัติไว้ว่า ตถาคตไม่บัญญัติไว้ ๑ ภิกษุเหล่านั้นย่อมทอดทิ้งกัน แยกจากกัน ทำสังฆกรรมแยกกัน สวดปาติโมกข์แยกจากกัน ด้วยวัตถุ ๑๐ ประการนี้ ดูกรอุบาลี สงฆ์จะเป็นผู้แตกกันด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล ฯ

จบสูตรที่ ๗

อุปาลิสามัคคีสูตร

[๓๖] อุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า สังฆสามัคคี สังฆสามัคคี ดังนี้ สงฆ์จะเป็นผู้พร้อมเพรียงกันด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล ฯ

พ. ดูกรอุบาลี ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมว่าไม่ใช่ธรรม ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นธรรมว่าเป็นธรรม ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่เป็นวินัยว่าไม่เป็นวินัย ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นวินัยว่าเป็นวินัย ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้กล่าวไว้ไม่ได้บอกไว้ว่า ตถาคตไม่ได้กล่าวไว้ไม่ได้บอกไว้ ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตกล่าวไว้บอกไว้ว่าตถาคตกล่าวไว้บอกไว้ ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่เคยประพฤติมาว่า ตถาคตไม่เคยประพฤติมา ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตเคยประพฤติมาว่า ตถาคตเคยประพฤติมา ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้บัญญัติว่า ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตบัญญัติไว้ว่าตถาคตบัญญัติไว้ ๑ ภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่ทอดทิ้งกัน ไม่แยกจากกัน ไม่ทำสังฆกรรมแยกจากกัน ไม่สวดปาติโมกข์แยกจากกัน ด้วยวัตถุ ๑๐ ประการนี้ ดูกรอุบาลี สงฆ์ย่อมเป็นผู้พร้อมเพรียงกันด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล ฯ

จบสูตรที่ ๘

อานันทสังฆเภทสูตร

[๓๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า สังฆเภท สังฆเภท ดังนี้ สงฆ์จะเป็นผู้แตกกันด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมว่าเป็นธรรม ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นธรรมว่า ไม่ใช่ธรรม ... ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ตถาคตบัญญัติไว้ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตบัญญัติไว้ว่า ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ ภิกษุเหล่านั้นย่อมทอดทิ้งกัน ย่อมแยกจากกัน ย่อมทำสังฆกรรมแยกกัน สวดปาติโมกข์แยกจากกัน ด้วยวัตถุ ๑๐ ประการนี้ ดูกรอานนท์ สงฆ์จะเป็นผู้แตกกันด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล ฯ

[๓๘] อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บุคคลผู้ที่ทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน จะประสพผลอะไร พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ที่ทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันนั้นจะประสพผลอันเผ็ดร้อนซึ่งตั้งอยู่ตลอดกัปหนึ่ง ฯ

อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ผลอันเผ็ดร้อนซึ่งตั้งอยู่ตลอดกัปหนึ่ง คืออะไร พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ที่ทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันนั้นจะเสวยผลกรรมอยู่ในนรกตลอดกัปหนึ่ง ฯ
บุคคลผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ยินดีแล้วในการแตกแยก
ตั้งอยู่ในอธรรม เป็นผู้เข้าถึงอบาย เข้าถึงนรก ตั้งอยู่ใน
นรกนั้นตลอดกัปหนึ่ง ย่อมพลาดจากธรรมเป็นแดนเกษม
จากโยคะ ย่อมเสวยกรรมอยู่ในนรกตลอดกัปหนึ่ง เพราะ
ทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันให้แตกกัน ฯ

จบสูตรที่ ๙

อานันทสังฆสามัคคีสูตร

[๓๙] ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่าสังฆสามัคคี สังฆสามัคคี ดังนี้ สงฆ์จะเป็นผู้พร้อมเพรียงกันด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมว่าไม่ใช่ธรรม ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นธรรมว่าเป็นธรรม ... ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตได้บัญญัติไว้ว่า ตถาคตได้บัญญัติไว้ ภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่ทอดทิ้งกัน ไม่แยกจากกัน ไม่ทำสังฆกรรมแยกกัน ไม่สวดปาติโมกข์แยกกัน ด้วยวัตถุ ๑๐ ประการนี้ ดูกรอานนท์ สงฆ์ย่อมเป็นผู้พร้อมเพรียงกันด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล ฯ

[๔๐] อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บุคคลผู้สมานสงฆ์ผู้แตกกันแล้วให้พร้อมเพรียงกัน จะประสพผลอะไร พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ที่ทำสงฆ์ผู้แตกกันแล้วให้พร้อมเพรียงกันนั้น จะประสพบุญอันประเสริฐ ฯ

อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุญอันประเสริฐคืออะไร พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรอานนท์ บุคคลผู้สมานสงฆ์ผู้แตกกันแล้วให้พร้อมเพรียงกันนั้น จะบันเทิงอยู่ในสวรรค์ตลอดกัปหนึ่ง ฯ
ความพร้อมเพรียงแห่งสงฆ์ เป็นเหตุให้เกิดความสุข และ
บุคคลผู้อนุเคราะห์สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันแล้ว ผู้ยินดีแล้วใน
ความพร้อมเพรียงกัน ตั้งอยู่ในธรรม ย่อมไม่พลาดจากธรรม
เป็นแดนเกษมจากโยคะ ย่อมบันเทิงอยู่ในสวรรค์ตลอด
กัปหนึ่ง เพราะสมานสงฆ์ให้พร้อมเพรียงกัน ฯ

จบสูตรที่ ๑๐

จบอุปาลิวรรคที่ ๔

****************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ


Create Date : 14 มีนาคม 2549
Last Update : 14 มีนาคม 2549 17:14:13 น. 0 comments
Counter : 1215 Pageviews.

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.