Group Blog
 
<<
มีนาคม 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
3 มีนาคม 2549
 
All Blogs
 

การพยากรณ์ถึงการบรรลุธรรม

วันนี้ขอกล่าวถึงเรื่องที่สืบเนื่องจากการบรรลุจุดประสงค์ของการปฏิบัติธรรมครับ นั่นคือการพยากรณ์การบรรลุอริยผลของบุคคลในพระพุทธศาสนามีอาทิภิกษุผู้สำเร็จอรหัตตผล หรือการบรรลุอริยผลข้อใดข้อหนึ่งของเทวดา การทำดั่งนั้นก็โดยการกล่าวธรรมอันเป็นเหตุแห่งการบรรลุธรรมเฉพาะพระพักตร์ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงพอพระทัย ภิกษุนั้นหรือเทวดานั้นเป็นอันมั่นใจในการบรรลุธรรมของตนครับ

พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

*********************************
เสขปริหานิยวรรคที่ ๔

๑. เสกขสูตร

[๓๐๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุผู้เสขะ ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้ชอบการงาน ๑ ความเป็นผู้ชอบคุย ๑ ความเป็นผู้ชอบหลับ ๑ ความเป็นผู้ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ๑ ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑ ความเป็นผู้ไม่รู้ประมาณในโภชนะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุผู้เสขะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุผู้เสขะ ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้ไม่ชอบการงาน ๑ ความเป็นผู้ไม่ชอบคุย ๑ ความเป็นผู้ไม่ชอบความหลับ ๑ ความเป็นผู้ไม่ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ๑ ความเป็นผู้คุ้มครองทวารอินทรีย์ทั้งหลาย ๑ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุผู้เสขะ ฯ
[ธรรม6ประการที่เป็นเหตุแห่งความเสื่อมของพระอริยเจ้าผู้เป็นพระเสขะคือ
1.ความเป็นผู้ชอบการงาน ไม่ปฏิบัติธรรม
2.ความเป็นผู้ชอบคุย
3.ความเป็นผู้ชอบหลับ
4.ความเป็นผู้ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
5.ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
6.ความเป็นผู้ไม่รู้ประมาณในโภชนะ

ธรรม6ประการย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมของพระเสขะคือ
1.ความเป็นผู้ไม่ชอบการงาน
2.ความเป็นผู้ไม่ชอบคุย
3.ความเป็นผู้ไม่ชอบความหลับ
4.ความเป็นผู้ไม่ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
5.ความเป็นผู้คุ้มครองทวารอินทรีย์ทั้งหลาย
6.ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ]


จบสูตรที่ ๑

๒. อปริหานิยสูตรที่ ๑

[๓๐๓] ครั้งนั้น เทวดาตนหนึ่ง เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว มีรัศมีงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่อันควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา ๑ ความเป็นผู้เคารพในพระธรรม ๑ ความเป็นผู้เคารพในพระสงฆ์ ๑ ความเป็นผู้เคารพในสิกขา ๑ ความเป็นผู้เคารพในความไม่ประมาท ๑ ความเป็นผู้เคารพในปฏิสันถาร ๑ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ เทวดานั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย ลำดับนั้น เทวดาตนนั้นทราบว่า พระศาสดาของเราทรงพอพระทัยแล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว หายไป ณ ที่นั้น ฯ

ครั้นพอล่วงราตรีนั้นไป พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เทวดาตนหนึ่ง เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว มีรัศมีงามยิ่ง ยังวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว แล้วเข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา ๑ ความเป็นผู้เคารพในพระธรรม ๑ ความเป็นผู้เคารพในพระสงฆ์ ๑ ความเป็นผู้เคารพในสิกขา ๑ ความเป็นผู้เคารพในความไม่ประมาท ๑ ความเป็นผู้เคารพในปฏิสันถาร ๑ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวดาตนนั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว อภิวาทเรา ทำประทักษิณแล้ว ได้หายไป ณ ที่นั้น ฯ
ภิกษุผู้เคารพในพระศาสดา เคารพในพระธรรม เคารพอย่าง
แรงกล้าในพระสงฆ์ เคารพในความไม่ประมาท เคารพใน
ปฏิสันถาร ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อเสื่อม ย่อมมี ณ ที่ใกล้
นิพพานทีเดียว ฯ
[เทวดาตนหนึ่งเข้ามาเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วกล่าวธรรม6ประการคือ
1.ความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา
2.ความเป็นผู้เคารพในพระธรรม
3.ความเป็นผู้เคารพในพระสงฆ์
4.ความเป็นผู้เคารพในสิกขา
5.ความเป็นผู้เคารพในความไม่ประมาท
6.ความเป็นผู้เคารพในปฏิสันถาร
เมื่อเทวดานั้นกล่าวดังนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย]


จบสูตรที่ ๒

๓. อปริหานิยสูตรที่ ๒

[๓๐๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เทวดาตนหนึ่ง เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว มีรัศมีงามยิ่งนัก ยังวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว แล้วเข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา ๑ ความเป็นผู้เคารพในพระธรรม ๑ ความเป็นผู้เคารพในพระสงฆ์ ๑ ความเป็นผู้เคารพในสิกขา ๑ ความเป็นผู้เคารพในหิริ ๑ ความเป็นผู้เคารพในโอตตัปปะ ๑ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวดานั้น ครั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว อภิวาทเราทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้นแล ฯ
ภิกษุผู้เคารพในพระศาสดา เคารพในพระธรรม เคารพ
อย่างแรงกล้าในพระสงฆ์ ถึงพร้อมด้วยหิริและโอตตัปปะ
มีความยำเกรง มีความเคารพ ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อเสื่อม
ย่อมมีในที่ใกล้นิพพานทีเดียว ฯ
[เทวดาตนหนึ่งเข้ามาเฝ้าพระศาสดา แล้วกล่าวธรรม6ประการคือ
1.ความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา
2.ความเป็นผู้เคารพในพระธรรม
3.ความเป็นผู้เคารพในพระสงฆ์
4.ความเป็นผู้เคารพในสิกขา
5.ความเป็นผู้เคารพในหิริ
6.ความเป็นผู้เคารพในโอตตัปปะ
เมื่อเทวดานั้นกล่าวดังนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย]


จบสูตรที่ ๓

๔. โมคคัลลานสูตร

[๓๐๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะหลีกออกเร้นอยู่ในที่ลับ เกิดความปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ว่า เทวดาเหล่าไหนหนอ ย่อมมีญาณอย่างนี้ว่า เราเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า ก็สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าติสสะทำกาละไม่นาน ได้เข้าถึงพรหมโลกชั้นหนึ่ง ณ พรหมโลกแม้ชั้นนั้น เทวดา ทั้งหลายย่อมรู้จักพรหมผู้นั้นอย่างนี้ว่า ติสสพรหม เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้หายจากพระวิหารเชตวันไปปรากฏในพรหมโลก เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังพึงเหยียดแขนที่คู้ หรือพึงคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น ติสสพรหมได้เห็นท่านพระโมคคัลลานะมาแต่ไกล ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่านว่า ข้าแต่ท่านพระโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ นิมนต์มาเถิด ท่านมาดีแล้ว ท่านได้ทำปริยายในการมา ณ ที่นี้นานนักแล นิมนต์นั่งเถิดขอรับ นี้อาสนะปูลาดไว้แล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้นั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ แม้ติสสพรหมอภิวาทท่านพระมหาโมคคัลลานะแล้ว ได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ถามว่า ดูกรท่านติสสพรหม เทวดาชั้นไหนหนอ ย่อมมีญาณอย่างนี้ว่าเราเป็นโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า ติสสพรหมได้ตอบว่า ข้าแต่ท่านพระโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ เทวดาชั้นจาตุมหาราชแล ย่อมมีญาณอย่างนี้ว่า เราเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า ฯ

ม. ดูกรติสสพรหม เทวดาชั้นจาตุมหาราชทั้งปวงทีเดียวหรือหนอ ย่อมมีญาณอย่างนี้ว่า เราเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า ฯ

ติ. ข้าแต่ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ เทวดาชั้นจาตุมหาราชมิใช่ทั้งปวงย่อมมีญาณอย่างนี้ว่า เราเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า ข้าแต่ท่านพระโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ เทวดาชั้นจาตุมหาราชเหล่าใด ไม่ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ไม่ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ไม่ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ไม่ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าพอใจ เทวดาชั้นจาตุมหาราชเหล่านั้น ย่อมไม่มีญาณอย่างนี้ว่า เราเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า ส่วนเทวดาชั้นจาตุมหาราชเหล่าใด ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าพอใจ เทวดาชั้นจาตุมหาราชเหล่านั้น ย่อมมีญาณอย่างนี้ว่า เราเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า ฯ

ม. ดูกรท่านติสสพรหม เทวดาชั้นจาตุมหาราชเท่านั้นหรือหนอ ย่อมมีญาณอย่างนี้ว่า เราเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า หรือว่าแม้เทวดาชั้นดาวดึงส์ ฯลฯ แม้เทวดาชั้นยามา ฯลฯ แม้เทวดาชั้นดุสิต ฯลฯ แม้เทวดาชั้นนิมมานรดี ฯลฯ แม้เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี ก็มีญาณอย่างนี้ว่า เราเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ เป็นเบื้องหน้า ฯ

ติ. ข้าแต่ท่านพระโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ แม้เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดีก็ย่อมมีญาณอย่างนี้ว่า เราเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า ฯ

ม. ดูกรท่านติสสพรหม เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดีทั้งปวงทีเดียวหรือหนอ ย่อมมีญาณอย่างนี้ว่า เราเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า ฯ

ติ. ข้าแต่ท่านพระโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดีมิใช่ทั้งปวง ย่อมมีญาณอย่างนี้ว่า เราเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า ข้าแต่ท่านพระโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดีเหล่าใด ไม่ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ไม่ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าพอใจ เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดีเหล่านั้น ย่อมไม่มีญาณอย่างนี้ว่า เราเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า ส่วนเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดีเหล่าใด ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าพอใจ เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดีเหล่านั้น ย่อมมีญาณอย่างนี้ว่า เราเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า ฯ

ลำดับนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของติสสพรหมแล้วหายจากพรหมโลก ไปปรากฏ ณ พระวิหารเชตวัน เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังพึงเหยียดแขนที่คู้ หรือพึงคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น ฯ
[สำหรับเทวดาในสวรรค์ทั้งหกชั้นคือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตตีนั้นยังสามารถทราบได้ด้วยตนว่าบรรลุความเป็นพระโสดาบัน เนื่องเพราะทราบได้เองว่าตนมีศรัทธามั่นคงในพระศาสดา พระธรรม พระสงฆ์ ตลอดจนมีศีลบริสุทธิ์ ดังที่ท่านติสสพรหมตอบข้อสงสัยแก่ท่านพระมหาโมคคัลลานะในพระสูตรนี้]

จบสูตรที่ ๔

๕. วิชชาภาคิยสูตร

[๓๐๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ อนิจจสัญญา ๑ อนิจเจทุกขสัญญา ๑ ทุกเขอนัตตสัญญา ๑ ปหานสัญญา ๑ วิราคสัญญา ๑ นิโรธสัญญา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ฯ
[ธรรม6ประการเป็นที่มาแห่งความรู้โดยชอบคือ
1.อนิจจสัญญา - ความกำหนดรู้ในความไม่เที่ยง
2.อนิจเจทุกขสัญญา - ความกำหนดรู้ในความเป็นทุกข์
3.ทุกเขอนัตตสัญญา - ความกำหนดรู้ในความไม่ใช่ตัวตน
4.ปหานสัญญา - ความกำหนดรู้ถึงการละกิเลส
5.วิราคสัญญา - ความกำหนดรู้ถึงความคลายกำหนัด
6.นิโรธสัญญา -ความกำหนดรู้ถึงความดับทุกข์]


จบสูตรที่ ๕

๖. วิวาทมูลสูตร

[๓๐๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มูลเหตุแห่งการวิวาท ๖ ประการนี้ ๖ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธไว้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดย่อมเป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธไว้ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงแม้ในพระศาสดา ... แม้ในพระธรรม ... แม้ในพระสงฆ์ เป็นผู้ไม่ทำให้บริบูรณ์แม้ในสิกขา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระศาสดา ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ไม่กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ย่อมก่อการวิวาทให้เกิดขึ้นในสงฆ์ ซึ่งเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อสิ่งไม่เป็นสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่อความฉิบหาย เพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเธอทั้งหลายพึงพิจารณาเห็นซึ่งมูลเหตุแห่งการวิวาทเห็นปานนั้นในภายในหรือภายนอกไซร้ เธอทั้งหลายพึงพยายามเพื่อละมูลเหตุแห่งการวิวาทที่เป็นบาปนั้นเสีย ถ้าเธอทั้งหลายไม่พึงพิจารณาเห็นซึ่งมูลเหตุแห่งการวิวาทเห็นปานนั้น ในภายในหรือภายนอกไซร้ เธอทั้งหลายพึงปฏิบัติเพื่อไม่ให้มูลเหตุแห่งการวิวาทเห็นปานนั้นครอบงำต่อไป การละมูลเหตุแห่งการวิวาทที่เป็นบาปนั้น (และ) มูลเหตุแห่งการวิวาทที่เป็นบาปนั้น ไม่ครอบงำต่อไป ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้ ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ลบหลู่ ตีเสมอ ฯลฯ เป็นผู้ริษยา มีความตระหนี่ เป็นผู้โอ้อวด มีมารยา เป็นผู้มีความปรารถนาลามก มีความเห็นผิด เป็นผู้มีความถือมั่นทิฐิของตน มีความถือรั้น สละความเห็นของตนได้ยาก ภิกษุใดเป็นผู้ถือมั่นทิฐิของตน ถือรั้น สละความเห็นของตนได้ยาก ภิกษุนั้น เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่ยำเกรงแม้ในพระศาสดา ... แม้ในพระธรรม ... แม้ในพระสงฆ์ ไม่กระทำให้บริบูรณ์แม้ในสิกขา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระศาสดา ฯลฯ ไม่กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ย่อมก่อการวิวาทให้เกิดขึ้นในสงฆ์ ซึ่งเป็นไปเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อสิ่งที่ไม่เป็นสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่อความฉิบหาย เพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเธอทั้งหลายพึงพิจารณาเห็นมูลเหตุแห่งการวิวาทเห็นปานนั้น ในภายในหรือภายนอกไซร้ เธอทั้งหลายพึงพยายามเพื่อละเหตุแห่งการวิวาทที่เป็นบาปนั้นเสีย ถ้าเธอทั้งหลายไม่พึงพิจารณาเห็นมูลเหตุแห่งการวิวาทเห็นปานนั้น ในภายในหรือภายนอกไซร้ เธอทั้งหลายพึงปฏิบัติเพื่อไม่ให้มูลเหตุแห่งการวิวาทที่เป็นบาปนั้นครอบงำต่อไป การละมูลเหตุแห่งการวิวาทที่เป็นบาปนั้น (และ) มูลเหตุแห่งการวิวาทที่เป็นบาปนั้นไม่ครอบงำต่อไป ย่อมมีได้ด้วยประการอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย มูลเหตุแห่งการวิวาท ๖ ประการนี้แล ฯ
[มุลเหตุแห่งการวิวาทในหมู่สงฆ์6ประการคือ
1.ภิกษุเป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธ ไม่เคารพในพระศาสดา พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ทำให้บริบูรณ์ซึ่งสิกขา
2.ภิกษุเป็นผู้ลบหลู่ ตีเสมอ ไม่เคารพในพระศาสดา พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ทำให้บริบูรณ์ซึ่งสิกขา
3.ภิกษุเป็นผู้ริษยา ตระหนี่ ไม่เคารพในพระศาสดา พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ทำให้บริบูรณ์ซึ่งสิกขา
4.ภิกษุเป็นผู้โอ้อวด มีมารยา ไม่เคารพในพระศาสดา พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ทำให้บริบูรณ์ซึ่งสิกขา
5.ภิกษุเป็นผู้ปรารถนาลามก เห็นผิด ไม่เคารพในพระศาสดา พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ทำให้บริบูรณ์ซึ่งสิกขา
6.ภิกษุเป็นผู้ถือมั่นในทิฏฐิ ถือรั้น สละความเห็นได้ยาก ไม่เคารพในพระศาสดา พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ทำให้บริบูรณ์ซึ่งสิกขา
ภิกษุผู้มีธรรมเช่นนี้ย่อมก่อการวิวาทในสงฆ์ เป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์แก่ชนหมู่มาก เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ภิกษุพึงพิจารณาเห็นถึงมุลเหตุแห่งการวิวาท แล้วละมูลเหตุที่เป็นบาปนั้นเสีย ไม่ให้ครอบงำต่อไป]


จบสูตรที่ ๖

๗. ทานสูตร

[๓๐๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล อุบาสิกา ชื่อนันทมารดา ชาวเมืองเวฬุกัณฑกะ ถวายทักษิณาทานอันประกอบด้วยองค์ ๖ ประการ ในภิกษุสงฆ์มีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นประมุข พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นอุบาสิกาชื่อนันทมารดา ชาวเมืองเวฬุกัณฑกะถวายทักษิณาทานอันประกอบด้วยองค์ ๖ ประการ ในภิกษุสงฆ์มีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นประมุข ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ แล้วตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาชื่อนันทมารดาชาวเมืองเวฬุกัณฑกะนั้น ถวายทักษิณาทานอันประกอบด้วยองค์ ๖ ประการ ในภิกษุสงฆ์มีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นประมุข ก็ทักษิณาทานอันประกอบด้วยองค์ ๖ ประการเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย องค์ ๓ ของทายก องค์ ๓ ของปฏิคาหก องค์ ๓ ของทายกเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทายกก่อนให้ทาน เป็นผู้ดีใจ ๑ กำลังให้ทานอยู่ย่อมยังจิตให้เลื่อมใส ๑ ครั้นให้ทานแล้วย่อมปลื้มใจ ๑ นี้องค์ ๓ ของทายก องค์ ๓ ของปฏิคาหกเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิคาหกในศาสนานี้เป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจักราคะ ๑ เป็นผู้ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ ๑ เป็นผู้ปราศจากโมหะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะ ๑ นี้องค์ ๓ ของปฏิคาหก องค์ ๓ ของทายก องค์ ๓ ของปฏิคาหก ย่อมมีด้วยประการดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทักษิณาทานที่ประกอบด้วยองค์ ๖ ประการย่อมมีด้วยประการอย่างนี้แล การถือประมาณบุญแห่งทักษิณาทานที่ประกอบด้วยองค์ ๖ ประการอย่างนี้ว่า ห้วงบุญห้วงกุศลมีประมาณเท่านี้นำสุขมาให้มีอารมณ์เลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข ดังนี้ ไม่ใช่ทำได้ง่าย โดยที่แท้ บุญแห่งทักษิณาทานนั้น ย่อมถึงการนับว่า เป็นห้วงบุญห้วงกุศลที่จะนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ เป็นกองบุญใหญ่ทีเดียว เปรียบเหมือนการถือเอาประมาณแห่งน้ำในมหาสมุทรว่า เท่านี้อาฬหกะ เท่านี้ร้อยอาฬหกะ เท่านี้พันอาฬหกะ หรือเท่านี้แสนอาฬหกะ ไม่ใช่ทำได้ง่าย โดยที่แท้ น้ำในมหาสมุทรย่อมถึงการนับว่า เป็นห้วงน้ำที่จะนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ เป็นห้วงน้ำใหญ่ทีเดียวฉะนั้น ฯ
ทายกก่อนแต่จะให้ทานเป็นผู้ดีใจ กำลังให้ทานอยู่ย่อมยังจิต
ให้เลื่อมใส ครั้นให้ทานแล้วย่อมปลื้มใจ นี้เป็นยัญสมบัติ
ปฏิคาหกผู้สำรวมประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย คือ ท่านผู้
ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ไม่มีอาสวะ
ย่อมเป็นเขตถึงพร้อมแห่งยัญ ทายกต้อนรับปฏิคาหกด้วย
ตนเอง ถวายทานด้วยมือตนเอง ยัญนั้นย่อมมีผลมากเพราะตน
(ทายกผู้ให้ทาน) และเพราะผู้อื่น (ปฏิคาหก) ทายกผู้มี
ปัญญา มีศรัทธา เป็นบัณฑิต มีใจพ้นจากความตระหนี่
ครั้นบำเพ็ญทานอย่างนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกที่เป็นสุขไม่มี
ความเบียดเบียน ฯ
[การทำบุญแก่ผู้ควรแก่การรับของทำบุญนั้นประกอบด้วยองค์6ประการคือ
1.ผู้ให้ ก่อนให้ทานนั้นเป็นผู้ดีใจ
2.ผู้ให้ ขณะให้ทานย่อมยังจิตให้เลื่อมใส
3.ผู้ให้ ครั้นให้ทานแล้วย่อมปลื้มใจ
4.ผู้รับเป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ
5.ผู้รับเป็นผู้ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ
6.ผู้รับเป็นผู้ปราศจากโมหะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะ
การทำบุญที่ประกอบด้วยองค์6ประการนี้ย่อมมีผลมากนับประมาณมิได้]


จบสูตรที่ ๗

๘. อัตตการีสูตร

[๓๐๙] ครั้งนั้นแล พราหมณ์คนหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ข้าพระองค์มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า การทำเพื่อตนไม่มี การทำเพื่อผู้อื่นไม่มี พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ เราอย่าได้เห็นหรือได้ฟังคำของบุคคลผู้กล่าวว่า เรามีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ ก็บุคคลเมื่อก้าวไปเองได้ ถอยกลับเองได้ ไฉนเล่าจักกล่าวอย่างนี้ว่า การทำเพื่อตนไม่มี การทำเพื่อผู้อื่นไม่มี ดูกรพราหมณ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน อารัพภธาตุ (ความเพียรเป็นเหตุปรารภ) มีอยู่หรือ ฯ
[พราหมณ์ผู้หนึ่งแสดงทิฏฐิแก่พระผู้มีพระภาคว่า การทำเพื่อตนไม่มี การทำเพื่อผู้อื่นไม่มี พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลเมื่อมีเจตนาของตน ย่อมก้าวเท้าไปข้างหน้าด้วยตนเองได้ เมื่อมีเจตนาของตน ย่อมถอยเท้ากลับด้วยตนเองได้ ดังนี้แล้ว จะกล่าวว่าการทำเพื่อตนไม่มี การทำเพื่อผู้อื่นไม่มี ได้อย่างไร]

อ. อย่างนั้น ท่านพระโคดม ฯ

พ. เมื่ออารัพภธาตุมีอยู่ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความปรารภย่อมปรากฏหรือ ฯ

อ. อย่างนั้น ท่านพระโคดม ฯ

พ. ดูกรพราหมณ์ การที่เมื่ออารัพภธาตุมีอยู่ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความปรารภย่อมปรากฏ นี้แหละเป็นการทำเพื่อตน นี้แหละเป็นการทำเพื่อผู้อื่น ของสัตว์ทั้งหลาย ดูกรพราหมณ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน นิกกมธาตุ (ความเพียรเป็นเครื่องก้าวออก) มีอยู่หรือ ฯลฯ ปรักกมธาตุ (ความเพียรเป็นเครื่องก้าวไปข้างหน้า) มีอยู่หรือ ถามธาตุ (ความเพียรเป็นกำลัง) มีอยู่หรือ ธิติธาติ (ความเพียรเป็นเครื่องทรงไว้) มีอยู่หรือ อุปักกมธาตุ (ความพยายาม) มีอยู่หรือ ฯ

อ. อย่างนั้น ท่านพระโคดม ฯ

พ. ดูกรพราหมณ์ เมื่ออุปักกมธาตุมีอยู่ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความพยายามย่อมปรากฏหรือ ฯ

อ. อย่างนั้น ท่านพระโคดม ฯ

พ. ดูกรพราหมณ์ การที่เมื่ออุปักกมธาตุมีอยู่ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความพยายามย่อมปรากฏ นี้แหละเป็นการกระทำเพื่อตน นี้แหละเป็นการทำเพื่อผู้อื่นของสัตว์ทั้งหลาย ดูกรพราหมณ์ เราอย่าได้เห็นหรือได้ฟังคำของบุคคลผู้กล่าวว่าเรามีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ ก็บุคคลเมื่อก้าวไปเองได้ ถอยกลับเองได้ ไฉนเล่า จักกล่าวอย่างนี้ว่า การทำเพื่อตนไม่มี การทำเพื่อผู้อื่นไม่มี ฯ
[บุคคลย่อมมีซึ่งการปรารภเพื่อประกอบความเพียร การปรารภความเพียรเพื่อก้าวไป ไม่ย่ำอยู่กับที่ การปรารภความเพียรเพื่อก้าวไปสู่สิ่งที่ชอบใจ การปรารภความเพียรเพื่อมีกำลังผลักดัน การปรารภความเพียรเพื่อไม่ให้เสื่อม การปรารภความเพียรเพื่อให้สำเร็จ สิ่งต่างๆนี้แหละเป็นการกระทำเพื่อตน เป็นการกระทำเพื่อผู้อื่น]

อ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปได้ฉะนั้น ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ

จบสูตรที่ ๘

๙. นิทานสูตร

[๓๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุเพื่อเกิดกรรม (อกุศลกรรม) ๓ ประการนี้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ โลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อโลภะย่อมไม่เกิดขึ้นเพราะโลภะ โดยที่แท้ โลภะย่อมเกิดขึ้นเพราะโลภะ อโทสะย่อมไม่เกิดขึ้นเพราะโทสะ โดยที่แท้ โทสะย่อมเกิดขึ้นเพราะโทสะ อโมหะย่อมไม่เกิดขึ้นเพราะโมหะ โดยที่แท้ โมหะย่อมเกิดขึ้นเพราะโมหะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวดา มนุษย์ หรือแม้สุคติอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมไม่ปรากฏเพราะกรรมที่เกิดแต่โลภะ แต่โทสะ แต่โมหะ โดยที่แท้ นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย หรือ แม้ทุคติอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมปรากฏเพราะกรรมที่เกิดแต่โลภะ แต่โทสะ แต่โมหะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุเพื่อเกิดกรรม ๓ ประการนี้แล ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุเพื่อเกิดกรรม (กุศลกรรม) ๓ ประการนี้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ อโลภะ ๑ อโทสะ ๑ อโมหะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลภะย่อมไม่เกิดขึ้นเพราะอโลภะ โดยที่แท้ อโลภะย่อมเกิดขึ้นเพราะอโลภะ โทสะย่อมไม่เกิดเพราะอโทสะ โดยที่แท้ อโทสะย่อมเกิดขึ้นเพราะอโทสะ โมหะย่อมไม่เกิดขึ้นเพราะอโมหะ โดยที่แท้ อโมหะย่อมเกิดขึ้นเพราะอโมหะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย หรือแม้ทุคติอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมไม่ปรากฏเพราะกรรมที่เกิดแต่อโลภะ แต่อโทสะ แต่อโมหะ โดยที่แท้ เทวดา มนุษย์ หรือแม้สุคติอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมปรากฏเพราะกรรมที่เกิดแต่อโลภะ แต่อโทสะ แต่อโมหะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุเพื่อเกิดกรรม ๓ ประการนี้แล ฯ
[เหตุเกิดของกรรม6ประการคือ
1.โลภะ เป็นเหตุแห่งอกุศลกรรม นำไปสู่คติอันไม่ดี
2.โทสะ เป็นเหตุแห่งอกุศลกรรม นำไปสู่คติอันไม่ดี
3.โมหะ เป็นเหตุแห่งอกุศลกรรม นำไปสู่คติอันไม่ดี
4.อโลภะ เป็นเหตุแห่งกุศลกรรม นำไปสู่คติอันดี
5.อโทสะ เป็นเหตุแห่งกุศลกรรม นำไปสู่คติอันดี
6.อโมหะ เป็นเหตุแห่งกุศลกรรม นำไปสู่คติอันดี
โลภะย่อมไม่เกิดเพราะอโลภะ อโลภะย่อมไม่เกิดเพราะโลภะ โลภะย่อมเกิดเพราะโลภะ อโลภะย่อมเกิดเพราะอโลภะ ฯลฯ]


จบสูตรที่ ๙

๑๐. กิมมิลสูตร

[๓๑๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ -

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เวฬุวัน ใกล้พระนครกิมมิลา ครั้งนั้น ท่านพระกิมมิละได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้พระสัทธรรมไม่ดำรงอยู่นาน ในเมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกิมมิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา ในความไม่ประมาท ในปฏิสันถาร ดูกรกิมมิละ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้พระสัทธรรมไม่ดำรงอยู่นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว

กิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อะไร เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว ฯ

พ. ดูกรกิมมิละ พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีความเคารพ มีความยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา ในความไม่ประมาท ในการปฏิสันถาร ดูกรกิมมิละ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ฯ
[เหตที่พระศาสนาจักไม่ดำรงอยู่ได้นานภายหลังพระพุทธปรินิพพาน คือ
1.บริษัท4ในพระศาสนานี้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระศาสดา
2.บริษัท4ในพระศาสนานี้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระธรรม
3.บริษัท4ในพระศาสนานี้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระสงฆ์
4.บริษัท4ในพระศาสนานี้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในสิกขา
5.บริษัท4ในพระศาสนานี้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในความไม่ประมาท
6.บริษัท4ในพระศาสนานี้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในปฏิสันถาร

พระศาสนาจักดำรงได้อยู่นานภายหลังพระพุทธปรินิพพาน เพราะว่า
1.บริษัท4ในพระศาสนานี้เคารพ ยำเกรงในพระศาสดา
2.บริษัท4ในพระศาสนานี้เคารพ ยำเกรงในพระธรรม
3.บริษัท4ในพระศาสนานี้เคารพ ยำเกรงในพระสงฆ์
4.บริษัท4ในพระศาสนานี้เคารพ ยำเกรงในสิกขา
5.บริษัท4ในพระศาสนานี้เคารพ ยำเกรงในความไม่ประมาท
6.บริษัท4ในพระศาสนานี้เคารพ ยำเกรงในปฏิสันถาร]


จบสูตรที่ ๑๐

๑๑. ทารุกขันธสูตร

[๓๑๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น เป็นเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรลงจากภูเขาคิชฌกูฏ พร้อมด้วยภิกษุหลายรูป เห็นกองไม้กองใหญ่ ณ ที่แห่งหนึ่งแล้ว ถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายย่อมเห็นกองไม้กองใหญ่โน้นหรือไม่ ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ ฯ

สา. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญทางใจ เมื่อจำนง พึงน้อมใจถึงกองไม้กองโน้นให้เป็นดินได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะที่กองไม้โน้นมีปฐวีธาตุ ซึ่งภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญทางใจ พึงอาศัยน้อมใจถึงให้เป็นดินได้ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญทางใจ เมื่อจำนง พึงน้อมใจถึงกองไม้โน้นให้เป็นน้ำได้ ฯลฯ ให้เป็นไฟได้ ฯลฯ ให้เป็นลมได้ ฯลฯ ให้เป็นของงามได้ ฯลฯ ให้เป็นของไม่งามได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะที่กองไม้โน้นมีอสุภธาตุ ซึ่งภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญทางใจพึงอาศัยน้อมใจถึงให้เป็นของไม่งามได้ ฯ
[ท่านพระสารีบุตรแสดงธรรมแก่ภิกษุโดยยกเอากองไม้กองใหญ่ ณ ที่แห่งหนึ่งมาอธิบายว่า ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญทางใจ
1.หากจำนง พึงน้อมใจถึงกองไม้นั้นให้เป็นดินได้ เพราะกองไม้นั้นมีปฐวีธาตุ
2.หากจำนง พึงน้อมใจถึงกองไม้นั้นให้เป็นน้ำได้ เพราะกองไม้นั้นมีอาโปธาตุ
3.หากจำนง พึงน้อมใจถึงกองไม้นั้นให้เป็นไฟได้ เพราะกองไม้นั้นมีเตโชธาตุ
4.หากจำนง พึงน้อมใจถึงกองไม้นั้นให้เป็นลมได้ เพราะกองไม้นั้นมีวาโยธาตุ
5.หากจำนง พึงน้อมใจถึงกองไม้นั้นให้เป็นของงามได้ เพราะกองไม้นั้นมีสุภธาตุ
6.หากจำนง พึงน้อมใจถึงกองไม้นั้นให้เป็นของไม่งามได้ เพราะกองไม้นั้นมีอสุภธาตุ]


จบสูตรที่ ๑๑

๑๒. นาคิตสูตร

[๓๑๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จถึงพราหมณคามของชาวโกศลชื่ออิจฉานังคละ ได้ยินว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ไพรสณฑ์ชื่ออิจฉานังคละ ใกล้อิจฉานังคลคาม พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านอิจฉานังคละได้สดับข่าวว่า พระสมณโคดมศากยบุตรเสด็จออกบวชจากศากยสกุล เสด็จถึงบ้านอิจฉานังคละ ประทับอยู่ ณ ไพรสณฑ์ชื่ออิจฉานังคละ ใกล้อิจฉานังคลคาม ก็เกียรติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ฯลฯ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พระองค์ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้น ย่อมเป็นการดี ดังนี้ ครั้งนั้น พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านอิจฉานังคละ เมื่อล่วงราตรีนั้นไปแล้ว ถือขาทนียโภชนียาหารเป็นอันมาก ไปยังไพรสณฑ์ชื่ออิจฉานังคละ แล้วได้ยืนอยู่ที่ซุ้มประตูภายนอก ส่งเสียงอื้ออึง ฯ

ก็สมัยนั้น ท่านพระนาคิตะเป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระนาคิตะว่า ดูกรนาคิตะ พวกใครนั่นส่งเสียงอื้ออึงเหมือนชาวประมงแย่งปลากัน ฯ

ท่านพระนาคิตะได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนเหล่านั้น คือพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านอิจฉานังคละ ถือขาทนียโภชนียาหารเป็นอันมากมาจะถวายพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ ยืนอยู่ที่ซุ้มประตูภายนอก พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรนาคิตะ ขอเรา (ตถาคต) อย่าติดยศ และยศอย่าได้ติดเรา ดูกรนาคิตะ ผู้ใดเป็นผู้ไม่ได้ตามความปรารถนา ไม่ได้โดยไม่ยาก ไม่ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ สุขอันเกิดแต่วิเวก สุขอันเกิดแต่ความสงบ สุขอันเกิดแต่ความตรัสรู้ ซึ่งเราได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ผู้นั้นพึงยินดีสุขที่เกิดแต่ของไม่สะอาด สุขที่เกิดเพราะการหลับ สุขที่เกิดเพราะลาภ สักการะและการสรรเสริญ ฯ

นา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคจงรับ ขอพระสุคตจงรับ เวลานี้เป็นเวลาที่พระผู้มีพระภาคควรรับ เวลานี้เป็นเวลาที่พระสุคต (พระผู้มีพระภาค) ควรรับ บัดนี้ พราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท จักพากันหลั่งไหลไปทางที่พระผู้มีพระภาคเสด็จไป เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกลงน้ำย่อมไหลไปตามที่ลุ่ม ฉะนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะพระผู้มีพระภาคทรงมีศีลและปัญญาณะ ฯ

พ. ดูกรนาคิตะ เราอย่าได้ติดยศ และยศอย่าติดเรา ดูกรนาคิตะ ผู้ใดเป็นผู้ไม่ได้ตามความปรารถนา ไม่ได้โดยไม่ยาก ไม่ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ สุขอันเกิดแต่วิเวก สุขอันเกิดแต่ความสงบ สุขอันเกิดแต่ความตรัสรู้ ซึ่งเราได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ผู้นั้นพึงยินดีสุขอันเกิดแต่ของไม่สะอาด สุขที่เกิดเพราะการหลับ สุขที่เกิดเพราะลาภ สักการะและการสรรเสริญ ดูกรนาคิตะ เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้อยู่ใกล้บ้านผู้นั่งเข้าสมาธิอยู่ใกล้บ้าน เราย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า บัดนี้ ไฉนคนวัดจักยังท่านผู้มีอายุรูปนี้ให้สืบต่อสมาธินั้นได้ หรือสามเณรจักยังท่านผู้มีอายุนั้นได้ หรือสามเณรจักยังท่านผู้มีอายุนั้นให้เลื่อนจากสมาธิ ฉะนั้น เราจึงไม่พอใจด้วยการอยู่ใกล้บ้านของภิกษุนั้น อนึ่ง เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรนั่งโงกง่วงอยู่ในป่า เราย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า บัดนี้ ท่านผู้มีอายุรูปนี้ จักบรรเทาความเหน็ดเหนื่อยเพราะการนอนนี้ แล้วกระทำอรัญญสัญญาไว้ในใจเป็นเอกัคคตา ฉะนั้น เราจึงพอใจด้วยการอยู่ในป่าของภิกษุรูปนั้น อนึ่ง เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ไม่มีจิตเป็นสมาธินั่งอยู่ในป่า เรามีความคิดอย่างนี้ว่า บัดนี้ ท่านผู้มีอายุรูปนี้ จักตั้งจิตที่ไม่เป็นสมาธิให้เป็นสมาธิ หรือจักตามรักษาจิตที่เป็นสมาธิไว้ ฉะนั้น เราจึงพอใจด้วยการอยู่ในป่าของภิกษุนั้น อนึ่ง เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร มีจิตเป็นสมาธินั่งอยู่ในป่า เรามีความคิดอย่างนี้ว่า บัดนี้ ท่านผู้มีอายุรูปนี้ จักเปลื้องจิตที่ยังไม่หลุดพ้นให้หลุดพ้นหรือจักตามรักษาจิตที่หลุดพ้นแล้วไว้ ฉะนั้น เราจึงพอใจด้วยการอยู่ป่าของภิกษุนั้น อนึ่ง เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ใกล้บ้าน ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เธอพอใจลาภ สักการะและการสรรเสริญนั้นย่อมละทิ้งการหลีกออกเร้น ย่อมละทิ้งเสนาสนะสงัดอันตั้งอยู่ในราวป่า มารวมกันอยู่ยังบ้าน นิคม และราชธานี ฉะนั้น เราจึงไม่พอใจด้วยการอยู่ใกล้บ้านของภิกษุนั้น อนึ่ง เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร เธอละลาภ สักการะและการสรรเสริญนั้น ย่อมไม่ละทิ้งการหลีกออกเร้น ย่อมไม่ละทิ้งเสนาสนะสงัดอันตั้งอยู่ในราวป่า ฉะนั้น เราจึงพอใจด้วยการอยู่ป่าของภิกษุนั้น อนึ่งสมัยใด เราเดินทางไกล ย่อมไม่เห็นใครข้างหน้าหรือข้างหลัง สมัยนั้น เราย่อมมีความสบายโดยที่สุดด้วยการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ฯ
[พระผู้มีพระภาคทรงยินดีในความวิเวก สันโดษ การอยุ่ในป่า ด้วยเหตุ6ประการคือ
1.ภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้านจักเคลื่อนจากสมาธิได้ง่าย
2.ภิกษุผุ้อยู่ในป่าเมื่อนอนพักบรรเทาความเหน็ดเหนื่อยแล้วย่อมกำหนดอรัญญสัญญาเพื่อบรรเทาความง่วงนอน
3.ภิกษุผุ้อยู่ในป่าจักสามารถตั้งจิตที่ไม่เป็นสมาธิให้เป็นสมาธิ หรือตามรักษาจิตที่เป็นสมาธิได้โดยไม่ลำบาก
4.ภิกษุผุ้อยู่ในป่าจักเปลื้องจิตที่ยังไม่หลุดพ้นหรือตามรักษาจิตที่หลุดพ้นแล้วได้โดยไม่ลำบาก
5.ภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้านจักได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย ย่อมพอใจในลาภ สักการะ ย่อมละทิ้งการหลีกออกเร้นเพื่อปฏิบัติธรรม ส่วนภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตรเมื่อได้ลาภ สักการะ ย่อมละลาภ สักการะนั้น ไม่ละทิ้งการหลีกออกเร้น ไม่ละทิ้งความสงัด
6.ภิกษุผุ้อยู่โดยสันโดษย่อมสะดวกใจในการทำกิจธุระอันเป็นส่วนตัวด้วยตนเอง]


จบสูตรที่ ๑๒

จบเสกขปริหานิยวรรคที่ ๔

*********************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ




 

Create Date : 03 มีนาคม 2549
0 comments
Last Update : 3 มีนาคม 2549 14:46:53 น.
Counter : 732 Pageviews.


พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.