Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2548
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
7 พฤศจิกายน 2548
 
All Blogs
 
พระพุทธศาสนายังรุ่งเรืองในโลกสวรรค์

ดังที่พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ว่าเมื่อเวลาล่วงไป 5000 ปี พระศาสนาจักสาบสูญไปจากโลกนั้นเป็นความจริงแท้แน่นอน แต่มิใช่ในโลกของเทวดาหรือสวรรค์ซึ่งเทวดามีอายุยืนยาวกว่าในมนุษยโลกมากมาย ดังจะขอยกมาอ้างในพระสูตรนี้ (ชนวสภสูตร) ในครั้งพุทธกาล แคว้นมคธอันมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระราชา ทรงศรัทธาในพระศาสนา บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ปกครองแคว้นมคธโดยธรรม ต่อมาถูกพระเจ้าอชาตศัตรูผู้เป็นพระราชโอรสปลงพระชนม์เสียแล้วขึ้นครองราชย์แทน บัดนี้จะขอยกเอาคติภพของพระเจ้าพิมพิสารนี้มากล่าวถึงกันครับ เนื้อความตอนนี้ส่วนหนึ่งผมก็เคยอ่านมาจากหนังสือโลกทีปนีที่ท่านพระพรหมโมฬีประพันธ์ขึ้นครับ

เนื้อหานี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค ครับ ดังจะขยายความในเนื้อหาเป็นระยะเพื่อให้อ่านได้โดยสะดวก

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

*******************************
๕. ชนวสภสูตร (๑๘)

[๑๘๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระตำหนักตึก ในบ้านนาทิกะ ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์พวกชนผู้บำเรอพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ในชนบทรอบๆ ซึ่งทำกาละล่วงไปนานแล้ว ในที่เกิดทั้งหลายว่า คนโน้นเกิด ณ ที่โน้น คนโน้นเกิด ณ ที่โน้น ในแคว้นกาสีและโกศล แคว้นวัชชีและมัลละ แคว้นเจตีและวังสะ แคว้นกุรุและปัญจาละ แคว้นมัจฉะและสุรเสนะ ชาวบ้านนาทิกะกว่า ๕๐ คน ซึ่งเป็นผู้บำเรอทำกาละล่วงไปนานแล้ว เป็นโอปปาติกะ เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ อย่าง ปรินิพพาน ณ ที่นั้น ไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา ชาวบ้านนาทิกะกว่า ๙๐ คน ซึ่งเป็นผู้บำเรอ ทำกาละล่วงไปนานแล้ว เป็นพระสกทาคามี เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ อย่าง เพราะราคะ โทสะ และโมหะเบาบาง จะมายังโลกนี้เพียงครั้งเดียว แล้วจักทำที่สุดทุกข์ได้ ชาวบ้านนาทิกะกว่า ๕๐๐ คน ซึ่งเป็นผู้บำเรอ ทำกาละล่วงไปนานแล้ว เป็นพระโสดาบันเพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ อย่าง มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า ฯ

[๑๘๘] ชาวบ้านนาทิกะผู้บำเรอ ได้สดับข่าวมาว่า พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์พวกชนผู้บำเรอพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ในชนบทรอบๆ ซึ่งทำกาละล่วงไปนานแล้ว ในที่เกิดทั้งหลายว่า คนโน้นเกิด ณ ที่โน้น คนโน้น เกิด ณ ที่โน้น ในแคว้นกาสีและโกศล แคว้นวัชชีและมัลละ แคว้นเจตีและวังสะ แคว้นกุรุและปัญจาละ แคว้นมัจฉะและสุรเสนะ ชาวบ้านนาทิกะกว่า ๕๐ คน ซึ่งเป็นผู้บำเรอ ทำกาละล่วงไปนานแล้ว เป็นโอปปาติกะ เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ อย่าง ปรินิพพาน ณ ที่นั้น ไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา ชาวบ้านนาทิกะกว่า ๙๐ คน ซึ่งเป็นผู้บำเรอ ทำกาละล่วงไปนานแล้ว เป็นพระสกทาคามี เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ อย่าง เพราะราคะ โทสะ และโมหะ เบาบาง จะมายังโลกนี้เพียงครั้งเดียว แล้วจักทำที่สุดทุกข์ได้ ชาวบ้านนาทิกะกว่า ๕๐๐ คน ซึ่งเป็นผู้บำเรอ ทำกาละล่วงไปนานแล้ว เป็นพระโสดาบันเพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ อย่าง มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า เพราะเหตุนั้นแล ชาวบ้านนาทิกะผู้บำเรอ จึงปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติและโสมนัส เพราะได้ฟังคำพยากรณ์ปัญหาของพระผู้มีพระภาค ฯ
[พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ถึงผู้เลื่อมใสในศาสนาพุทธแต่ละคนที่สิ้นชีวิตลงผู้ซึ่งได้อาศัยในอาณาบริเวณโดยรอบ อันได้แก่ในแคว้นกาสีและโกศล แคว้นวัชชีและมัลละ แคว้นเจตีและวังสะ แคว้นกุรุและปัญจาละ แคว้นมัจฉะและสุรเสนะ ชาวบ้านนาทิกะ ว่าบ้างเปป็นพระโสดาบัน บ้างเป็นพระสกทาคามี บ้างเป็นพระอนาคามี บ้างบรรลุอรหัตถผล ตามที่เป็นความจริง ยังให้ชาวบ้านนาทิกะมีปีติและโสมนัส]

[๑๘๙] ท่านพระอานนท์ ได้สดับข่าวมาว่า พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์พวกชนผู้บำเรอพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ในชนบทรอบๆ ซึ่งทำกาละ ล่วงไปนานแล้ว ในที่เกิดทั้งหลายว่า คนโน้นเกิด ณ ที่โน้น คนโน้นเกิด ณ ที่โน้น ในแคว้นกาสีและโกศล แคว้นวัชชีและมัลละ แคว้นเจตีและวังสะ แคว้นกุรุและปัญจาละ แคว้นมัจฉะและสุรเสนะ ชาวบ้านนาทิกะกว่า ๕๐ คน ซึ่งเป็นผู้บำเรอ ทำกาละล่วงไปนานแล้ว เป็นโอปปาติกะ เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ อย่าง ปรินิพพาน ณ ที่นั้น ไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา ชาวบ้านนาทิกะกว่า ๙๐ คน ซึ่งเป็นผู้บำเรอ ทำกาละล่วงไปนานแล้ว เป็นพระสกทาคามี เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ อย่าง เพราะราคะ โทสะ และโมหะ เบาบาง จะมายังโลกนี้เพียงครั้งเดียว แล้วจักทำที่สุดทุกข์ได้ ชาวบ้านนาทิกะกว่า ๕๐๐ คน ซึ่งเป็นผู้บำเรอ ทำกาละล่วงไปนานแล้ว เป็นพระโสดาบัน เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ อย่าง มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า เพราะเหตุนั้นแล ชาวบ้านนาทิกะผู้บำเรอจึงปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติและโสมนัส เพราะได้ฟังคำพยากรณ์ปัญหาของพระผู้มีพระภาค ฯ

ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์มีความดำริว่า ก็ชาวมคธผู้บำเรอเหล่านี้ ทั้งมากมาย ทั้งเป็นคนเก่าแก่ ทำกาละล่วงไปนานแล้ว อังคะและมคธะเห็นจะว่างจากชาวมคธผู้บำเรอ ทำกาละล่วงไปนานแล้ว เพราะเหตุนั้น ชาวมคธนั้นที่เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เลื่อมใสในพระธรรม เลื่อมใสในพระสงฆ์ กระทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ทำกาละล่วงไปนานแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงไม่ทรงพยากรณ์ การพยากรณ์จะพึงสำเร็จประโยชน์แก่พวกเขา ชนเป็นอันมากจะพึงเลื่อมใส แต่นั้น จะพึงไปสู่สุคติ อนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินมคธผู้เป็นจอมเสนา ทรงพระนามว่า พิมพิสาร ทรงดำรงอยู่ในธรรม เป็นราชาผู้ปกครองโดยธรรม ทรงเกื้อกูลแก่พวกพราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคม และชาวชนบท อนึ่ง ข่าวว่าพวกมนุษย์พากันสรรเสริญอยู่ว่า พระเจ้าแผ่นดินมคธนั้น ทรงดำรงอยู่ในธรรม เป็นราชาผู้ปกครองโดยธรรม ทรงปกครองพวกเราให้เป็นสุขอย่างนี้ เสด็จสวรรคตเสียแล้ว พวกเราอยู่เป็นผาสุกในแว่นแคว้นของพระองค์ ผู้ทรงดำรงอยู่ในธรรม เป็นราชาผู้ปกครองโดยธรรมอย่างนี้ อนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินมคธนั้น ทรงเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ทรงเลื่อมใสในพระธรรม ทรงเลื่อมใสในพระสงฆ์ ทรงทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย อนึ่ง ข่าวว่า มนุษย์ทั้งหลายกล่าวกันอย่างนี้ว่า แม้จนกระทั่งเวลาจะเสด็จสวรรคต พระเจ้าแผ่นดินมคธผู้เป็นจอมเสนาทรงพระนามว่าพิมพิสาร ก็ยังทรงสรรเสริญพระผู้มีพระภาค เสด็จสวรรคตแล้ว พระเจ้าแผ่นดินมคธนั้นเสด็จสวรรคตล่วงไปนานแล้ว พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ การพยากรณ์จะพึงสำเร็จประโยชน์ แม้แก่พระเจ้าแผ่นดินมคธนั้น ชนเป็นอันมากจะพึงเลื่อมใส แต่นั้นจะพึงไปสู่สุคติ ก็พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ในแผ่นดินมคธ ทำไมพระผู้มีพระภาคจึงไม่ทรงพยากรณ์พวกชาวมคธผู้บำเรอ ซึ่งทำกาละล่วงไปนานแล้วในแผ่นดินมคธที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้นั้น ในที่เกิดทั้งหลาย ก็ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์พวกชาวมคธผู้บำเรอ ซึ่งทำกาละล่วงไปนานแล้ว ในที่เกิดทั้งหลาย พวกชาวมคธผู้บำเรอจะพึงน้อยใจว่า อย่างไร พระผู้มีพระภาคจึงไม่ทรงพยากรณ์พวกเขา ฯ

ท่านพระอานนท์ปรารภพวกชาวมคธผู้บำเรอ พิจารณาเหตุนี้อยู่ในที่ลับแต่ผู้เดียว ลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่านพระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับข่าวมาว่า พระผู้มีพระภาค ทรงพยากรณ์พวกชนผู้บำเรอพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ในชนบทรอบๆ ซึ่งทำกาละล่วงไปนานแล้ว ในที่เกิดทั้งหลายว่า คนโน้นเกิด ณ ที่โน้น คนโน้นเกิด ณ ที่โน้น ในแคว้นกาสีและโกศล แคว้นวัชชีและมัลละ แคว้นเจตีและวังสะ แคว้นกุรุและปัญจาละ แคว้นมัจฉะและสุรเสนะ ชาวบ้านนาทิกะกว่า ๕๐ คน ซึ่งเป็นผู้บำเรอ ทำกาละล่วงไปนานแล้ว เป็นโอปปาติกะ เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ อย่าง ปรินิพพาน ณ ที่นั้น ไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา ชาวบ้านนาทิกะกว่า ๙๐ คน ซึ่งเป็นผู้บำเรอ ทำกาละล่วงไปนานแล้ว เป็นพระสกทาคามี เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ อย่าง เพราะราคะ โทสะ และโมหะ เบาบาง จะมายังโลกนี้เพียงครั้งเดียว แล้วจักทำที่สุดทุกข์ได้ ชาวบ้านนาทิกะกว่า ๕๐๐ คน ซึ่งเป็นผู้บำเรอ ทำกาละล่วงไปนานแล้ว เป็นพระโสดาบัน เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ อย่าง มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า เพราะเหตุนั้นแล ชาวบ้านนาทิกะ ผู้บำเรอ จึงปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติและโสมนัส เพราะได้ฟังคำพยากรณ์ปัญหาของพระผู้มีพระภาค พระเจ้าข้า ก็ชาวมคธผู้บำเรอเหล่านี้ ทั้งมากมาย ทั้งเป็นคนเก่าแก่ ทำกาละล่วงไปนานแล้ว อังคะและมคธะ เห็นจะว่างจากชาวมคธผู้บำเรอ ทำกาละล่วงไปนานแล้ว เพราะเหตุนั้น ชาวมคธนั้นที่เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เลื่อมใสในพระธรรม เลื่อมใสในพระสงฆ์ กระทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ทำกาละล่วงไปนานแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงไม่ทรงพยากรณ์ การพยากรณ์จะพึงสำเร็จประโยชน์แก่พวกเขา ชนเป็นอันมากจะพึงเลื่อมใส แต่นั้น จะพึงไปสู่สุคติ พระเจ้าข้า พระเจ้าแผ่นดินมคธผู้เป็นจอมเสนา ทรงพระนามว่าพิมพิสาร พระองค์นี้ ทรงดำรงอยู่ในธรรม เป็นราชาผู้ปกครองโดยธรรม ทรงเกื้อกูลแก่พวกพราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท อนึ่ง ข่าวว่า พวกมนุษย์พากันสรรเสริญอยู่ว่า พระเจ้าแผ่นดินมคธนั้นทรงดำรงอยู่ในธรรม เป็นราชาผู้ปกครองโดยธรรม ทรงปกครองพวกเราให้เป็นสุขอย่างนี้ เสด็จสวรรคตเสียแล้ว พวกเราอยู่เป็นผาสุกในแว่นแคว้นของพระองค์ ผู้ทรงดำรงอยู่ในธรรม เป็นราชาผู้ปกครองโดยธรรมอย่างนี้ พระเจ้าข้า พระเจ้าแผ่นดินมคธนั้นทรงเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ทรงเลื่อมใสในพระธรรม ทรงเลื่อมใสในพระสงฆ์ ทรงทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย อนึ่ง ข่าวว่า มนุษย์ทั้งหลายกล่าวกันอย่างนี้ว่า แม้จนกระทั่งเวลาจะเสด็จสวรรคต พระเจ้าแผ่นดินมคธผู้เป็นจอมเสนา ทรงพระนามว่าพิมพิสาร ก็ยังทรงสรรเสริญพระผู้มีพระภาคเสด็จสวรรคตแล้ว พระเจ้าแผ่นดินมคธนั้น เสด็จสวรรคตล่วงไปนานแล้ว พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ การพยากรณ์จะพึงสำเร็จประโยชน์แม้แก่พระเจ้าแผ่นดินมคธนั้น ชนเป็นอันมากจะพึงเลื่อมใส แต่นั้นจะพึงไปสู่สุคติ พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ในแผ่นดินมคธ ทำไมพระผู้มีพระภาคจึงไม่ทรงพยากรณ์ชาวมคธผู้บำเรอ ซึ่งทำกาละล่วงไปนานแล้ว ในแผ่นดินมคธที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้นั้น ในที่เกิดทั้งหลาย ก็ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์พวกชาวมคธผู้ซึ่งทำกาละล่วงไปนานแล้ว ในที่เกิดทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น ชาวมคธผู้บำเรอจะพึงน้อยใจว่า อย่างไรพระผู้มีพระภาค จึงไม่ทรงพยากรณ์พวกเขา ฯ

ท่านพระอานนท์ปรารภชาวมคธผู้บำเรอนี้ ทูลเลียบเคียงเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค แล้วลุกจากอาสนะถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณหลีกไปแล้ว ฯ
[พระอานนท์ทูลเลียบเคียงพระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ถึงคติภพของงชาวแคว้นมคธบ้าง]

[๑๙๐] ครั้งนั้นแล เมื่อท่านพระอานนท์หลีกไปไม่นาน เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านนาทิกะ เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในบ้านนาทิกะ ภายหลังภัต กลับจากบิณฑบาตแล้ว ทรงล้างพระบาทเสด็จเข้าพระตำหนักตึกแล้ว ทรงปรารภถึงชาวมคธผู้บำเรอ ทรงตั้งพระทัยมนสิการประมวลเหตุทั้งปวงด้วยพระทัย ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ ด้วยทรงพระดำริว่า เราจักรู้คติ จักรู้ภพหน้าของชาวมคธเหล่านั้นว่า ผู้เจริญเหล่านั้นมีคติอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นชาวมคธผู้บำเรอแล้วว่า ผู้เจริญเหล่านั้น มีคติเป็นอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร ครั้งนั้น เวลาเย็น พระผู้มีพระภาคทรงออกจากที่เร้น เสด็จออกจากที่พระตำหนักตึก ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ในร่มเงาวิหาร ฯ
[พระพุทธองค์ทรงตรวจคติภพของชาวแคว้นมคธผู้ล่วงลับไปเป็นจำนวนมาก]

[๑๙๑] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้า แล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่านพระอานนท์นั่งเรียบร้อย แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงปรากฏว่าสงบระงับ สีพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคผุดผ่องนักเพราะพระอินทรีย์ผ่องใส วันนี้ พระผู้มีพระภาคย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันสงบเป็นแน่ ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ข้อที่เธอปรารภชาวมคธผู้บำเรอ พูดเลียบเคียงเฉพาะหน้าเราแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป เพราะข้อนั้นเป็นเหตุ เราเที่ยวบิณฑบาตในบ้านนาทิกะ ภายหลังภัตกลับจากบิณฑบาตแล้ว ล้างเท้าเข้าไปยังตึกที่พักแล้วปรารภชาวมคธผู้บำเรอ ตั้งใจมนสิการ ประมวลเหตุทั้งปวงด้วยใจ นั่งอยู่บนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ด้วยดำริว่า เราจักรู้คติ จักรู้ภพหน้าของชาวมคธเหล่านั้นว่า ผู้เจริญเหล่านั้น มีคติเป็นอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร อานนท์ เราได้เห็นชาวมคธผู้บำเรอแล้วว่า ผู้เจริญเหล่านั้น มีคติเป็นอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร อานนท์ ลำดับนั้น ยักษ์หายไปเปล่งเสียงให้ได้ยินว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระพุทธเจ้ามีนามว่าชนวสภะ ข้าแต่พระสุคต ข้าพระพุทธเจ้ามีนามว่าชนวสภะ เธอรู้หรือไม่ว่า เธอเคยได้ฟังชื่อว่า ชนวสภะเห็นปานนี้ ในกาลก่อนแต่กาลนี้ ฯ
[ขณะนั้นยักษ์นามว่าชนวสภะ - อ่านว่าชะ-นะ-วะ-สะ-ภะ ได้เปล่งเสียงแนะนำนามตัวเองให้พระพุทธองค์ได้สดับ]

อ. ข้าพระองค์ไม่ทราบว่า เคยได้ฟังชื่อว่า ชนวสภะเห็นปานนี้ ในกาลก่อนแต่กาลนี้เลย อนึ่ง ข้าพระองค์ขนลุกชูชันเพราะได้ฟังชื่อว่าชนวสภะ ข้าพระองค์นั้นคิดว่า ผู้ที่มีนามบัญญัติว่า ชนวสภะเห็นปานนี้นั้น ไม่ใช่ยักษ์ต่ำๆ เป็นแน่ ฯ

อานนท์ ในระหว่างที่มีเสียงปรากฏ ยักษ์มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งปรากฏต่อหน้าเรา แม้ครั้งที่สองก็เปล่งเสียงให้ได้ยินว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระพุทธเจ้ามีนามว่า พิมพิสาร ข้าแต่พระสุคต ข้าพระพุทธเจ้ามีนามว่า พิมพิสาร ครั้งที่เจ็ดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเข้าถึงความเป็นสหาย ของท้าวเวสสวรรณมหาราช ข้าพระพุทธเจ้านั้นจุติจากนี้แล้ว สามารถเป็นพระราชาในหมู่มนุษย์ ฯ
[ยักษ์นั้นมีผิวพรรณอันผุดผ่อง ปรากฏตัวขึ้น กล่าวว่าตนคือพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นราชาแคว้นมคธในอดีต ขณะนี้เข้าถึงความเป็นสหายท้าวเวสสวรรณมหาราชในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา]

[๑๙๒] ข้าพระพุทธเจ้าเคลื่อนจากเทวโลกนี้เจ็ดครั้ง จากมนุษยโลกนั้นเจ็ดครั้ง รวมท่องเที่ยวอยู่สิบสี่ครั้ง ย่อมรู้จักภพที่ข้าพระพุทธเจ้าเคยอยู่อาศัยในก่อน ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้ามีความไม่ตกต่ำ ทราบชัดมานานวันถึงความไม่ตกต่ำ อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าตั้งความหวังไว้เพื่อความเป็นพระสกทาคามี ฯ
[ยักษ์ชนวสภะกล่าวว่าตนเคยจุติในสวรรค์นี้มาเป็นพระราชาในโลกมนุษย์เจ็ดครั้ง ครั้นสิ้นชีวิตแต่ละครั้งก็มาเกิดในสวรรค์นี้แล้วมาเกิดในมนุษยโลกอีก รวมสิบสี่ครั้ง ดังนั้นจึงทราบถึงภพทั้งสองเป็นอย่างดี ยักษ์นั้นมุ่งที่จะเป็นพระสกทาคามีในอนาคต]

อา. ข้อที่ท่านชนวสภะยักษ์ประกาศว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้ามีความไม่ตกต่ำ ทราบชัดมานานวันถึงความไม่ตกต่ำ และตั้งความหวังเพื่อความเป็นพระสกทาคามีนี้ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ก็มีอะไรเป็นเหตุ ท่านชนวสภะยักษ์ จึงทราบชัดการบรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้เล่า ฯ

ภ. ชนวสภะยักษ์ประกาศว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อที่ข้าพระพุทธเจ้ารู้การบรรลุคุณวิเศษอันโอฬารนี้นั้น ไม่เว้นจากศาสนาของพระองค์ ข้าแต่พระสุคต ไม่เว้นจากศาสนาของพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตั้งแต่วันที่ข้าพระพุทธเจ้าเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างยิ่งนั้น เป็นต้นมา ข้าพระพุทธเจ้าไม่ตกต่ำ ทราบชัดมานานวันถึงความไม่ตกต่ำ อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าตั้งความหวังไว้เพื่อความเป็นพระสกทาคามี ดังจะกราบทูลให้ทรงทราบ ข้าพระพุทธเจ้าถูกท้าวเวสสวรรณมหาราชส่งไปในสำนักของท้าววิรุฬหกมหาราชด้วยกรณียกิจบางอย่าง ในระหว่างทาง ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นพระผู้มีพระภาค ซึ่งเสด็จไปยังพระตำหนักตึก ทรงปรารภชาวมคธผู้บำเรอ ตั้งพระทัยมนสิการประมวลเหตุทั้งปวงด้วยพระทัยประทับอยู่ด้วยทรงดำริว่า เราจักรู้คติ จักรู้ภพหน้า ของชาวมคธเหล่านั้นว่า ผู้เจริญเหล่านั้น มีคติเป็นอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร ข้อที่ข้าพระพุทธเจ้ารับคำต่อหน้าท้าวเวสสวรรณซึ่งกล่าวในบริษัทนั้นว่า ชาวมคธผู้เจริญเหล่านั้นมีคติเป็นอย่างไร เป็นความอัศจรรย์เล็กน้อย ข้าพระพุทธเจ้าคิดว่า เราจักเฝ้าพระผู้มีพระภาค และจักกราบทูลข้อนี้แด่พระผู้มีพระภาค ข้าพระพุทธเจ้ามีเหตุ ๒ อย่างนี้แล ที่จะได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค วันก่อนๆ นานมาแล้ว ในวันอุโบสถที่ ๑๕ ในราตรีวันเพ็ญวัสสูปนายิกา เทวดาชั้นดาวดึงส์ทั้งสิ้นนั่งประชุมกันในสุธรรมาสภาเทพบริษัทมากมายนั่งอยู่โดยรอบ และท้าวจาตุมหาราชนั่งอยู่ใน ๔ ทิศ คือในทิศบูรพา ท้าวธตรัฏฐมหาราช นั่งผินหน้าไปทางทิศปัจจิม แวดล้อมด้วยเทวดาทั้งหลาย ในทิศทักษิณ ท้าววิรุฬหกมหาราช นั่งผินหน้าไปทางทิศอุดร แวดล้อมด้วยเทวดาทั้งหลาย ในทิศปัจจิม ท้าววิรูปักขมหาราช นั่งผินหน้าไปทางทิศบูรพา แวดล้อมด้วยเทวดาทั้งหลาย ในทิศอุดร ท้าวเวสสวรรณมหาราช นั่งผินหน้าไปทางทิศทักษิณ แวดล้อมด้วยเทวดาทั้งหลาย ก็เมื่อเทวดาชั้นดาวดึงส์ทั้งสิ้นนั่งประชุมกันในสุธรรมาสภา เทพบริษัทมากมายนั่งอยู่โดยรอบ และท้าวจาตุมหาราชนั่งอยู่ในทิศทั้ง ๔ นี่อาสนะท้าวจาตุมหาราช ข้างหลังถัดออกมาก็อาสนะของข้าพระพุทธเจ้า เทวดาเหล่านั้นประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคแล้วบังเกิดในภพดาวดึงส์เมื่อกี้นี้ ย่อมไพโรจน์ล่วงเทวดาเหล่าอื่นด้วยวรรณะและยศ นัยว่า เพราะเหตุนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์จึงปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติและโสมนัสว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ทิพยกายย่อมบริบูรณ์หนอ อสุรกายย่อมเสื่อมไป ฯ

ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงทราบความบันเทิงใจของเทวดาชั้นดาวดึงส์แล้ว จึงทรงบันเทิงตามด้วยคาถาเหล่านี้ ความว่า
[ยักษ์ชนวสภะเล่าความแก่สมเด็จพระผู้มีพระภาคว่าในราตรีวันเพ็ญวัสสูปนายิกา บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทวดาชั้นดาวดึงส์ทั้งสิ้นมาประชุมกันในสุธรรมาสภา แม้ท้าวจาตุมหาราชทั้งสี่รวมถึงตนก็มาร่วมประชุมด้วย ครั้งนั้นมีเทวดาที่เพิ่งบังเกิดใหม่ในสวรรค์ชั้นดาวดีงส์ซึ่งได้ประพฤติพรหมจรรย์ในพระศาสนาเป็นอันมาก มีรัศมีอันไพโรจน์รุ่งเรืองล่วงเทวดาอื่น เหล่าเทวดาต่างปลื้มใจว่าทิพยกายย่อมบริบูรณ์ในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์]

[๑๙๓] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เทวดาชั้นดาวดึงส์พร้อมกับพระอินทร์ย่อมบันเทิงใจหนอ ถวายนมัสการพระตถาคต และความที่พระธรรมเป็นธรรมดี เห็นเทวดาผู้ใหม่ๆ ผู้มีวรรณะ มียศ ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสุคตแล้ว มา ณ ที่นี้ เทวดาเหล่านั้นเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ทรงปัญญาอันกว้างขวาง บรรลุคุณวิเศษแล้ว ย่อมรุ่งเรืองล่วงเทวดาเหล่าอื่น ณ ที่นี้ ด้วยวรรณะ ด้วยยศ และอายุ เทวดาชั้นดาวดึงส์พร้อมกับพระอินทร์เห็นเช่นนี้ ย่อมชื่นบาน ถวายนมัสการพระตถาคต และความที่พระธรรมเป็นธรรมดี ฯ
[แม้พระอินทร์เห็นเช่นนี้ก็ย่อมชื่นบานพระทัยเช่นกัน ทรงเคารพเลื่อมใสในพระรัตนตรัย]

[๑๙๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นัยว่า เพราะเหตุนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์จึงปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติและโสมนัสยิ่งกว่าประมาณด้วยกล่าวกันว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ทิพยกายย่อมบริบูรณ์หนอ อสุรกายย่อมเสื่อมไป ครั้งนั้น ท้าวจาตุมหาราชถึงแม้จะมีคำที่เทวดาชั้นดาวดึงส์คิดกันปรึกษากันถึงความประสงค์ ซึ่งเป็นเหตุให้นั่งประชุมกัน ณ สุธรรมาสภากล่าวแล้ว ก็มีในข้อประสงค์นั้น ท้าวจาตุมหาราช แม้รับคำสั่งกำชับมาแล้ว ก็มีในข้อประสงค์นั้น ยืนอยู่บนอาสนะของตนๆ ไม่หลีกไป ฯ

ท้าวมหาราชเหล่านั้นผู้รับถ้อยคำ รับคำสั่งแล้ว มีใจผ่องใส สงบระงับ ยืนอยู่บนอาสนะของตนๆ ดังนี้ ฯ

[๑๙๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้นแล แสงสว่างอย่างยิ่งเกิดขึ้นในทิศอุดร โอภาสปรากฏล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลายครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพจึงตรัสเรียกเทวดาชั้นดาวดึงส์มาว่า ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย นิมิตปรากฏ แสงสว่างเกิดมี โอภาสปรากฏ พรหมจักเกิด ฉันใด ข้อที่แสงสว่างเกิดมี โอภาสปรากฏนี้เป็นบุพพนิมิต เพื่อความเกิดของพรหม ฉันนั้น ฯ

นิมิตปรากฏ พรหมจักเกิด ฉันใด ข้อที่โอภาสอันไพบูลย์มากมายปรากฏนี้ เป็นบุพพนิมิตของพรหม ฉันนั้น ฯ
[ครั้งนั้น เกิดนิมิตเป็นแสงสว่างอย่างยิ่งขึ้นในที่นั้น สมเด็จพระอมรินทราธิราชทรงทราบว่าเมื่อนิมิตเป็นแสงสว่างปรากฏขึ้น หมายถึงมีพระพรหมจักมาปรากฏในที่นั้น]

[๑๙๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้นแล เทวดาชั้นดาวดึงส์นั่งอยู่บนอาสนะของตนๆ กล่าวกันว่า เราทั้งหลายจักรู้โอภาสนั้น วิบากใดจักมี เราทั้งหลายจักทำให้แจ้งซึ่งวิบากนั้นก่อนแล้วจึงไป แม้ท้าวจาตุมหาราชนั่งอยู่บนอาสนะของตนๆ ก็กล่าวกันว่า เราทั้งหลายจักรู้โอภาสนั้น วิบากใดจักมี เราทั้งหลายจักทำให้แจ้งซึ่งวิบากนั้นก่อนแล้วจึงไป เทวดาชั้นดาวดึงส์ฟังความข้อนี้แล้วนั่งสงบอารมณ์อยู่ด้วยประสงค์ว่า เราทั้งหลายจักรู้โอภาสนั้น วิบากใดจักมี เราทั้งหลายจักทำให้แจ้งซึ่งวิบากนั้นก่อนแล้วจึงไป เมื่อใดสนังกุมารพรหมปรากฏแก่เทวดาชั้นดาวดึงส์ นิรมิตอัตภาพใหญ่ยิ่ง เพศปรกติของพรหมอันเทวดาเหล่าอื่นไม่พึงถึง ปรากฏในคลองจักษุของเทวดาชั้นดาวดึงส์ เมื่อใดสนังกุมารพรหมปรากฏแก่เทวดาชั้นดาวดึงส์ รุ่งเรืองล่วงเทวดาเหล่าอื่น ด้วยวรรณะและยศ ดุจเทวดามีกายเป็นทองคำ ย่อมรุ่งเรืองล่วงกายของมนุษย์ฉะนั้น เมื่อใดสนังกุมารพรหมปรากฏแก่เทวดาชั้นดาวดึงส์ เทวดาบางองค์ในบริษัทนั้น ไม่ไหว้ ไม่ต้อนรับ หรือไม่เชิญด้วยอาสนะ เทวดาทั้งหมดเทียว นั่งประคองอัญชลีอยู่บนบัลลังก์ บัดนี้ สนังกุมารพรหมจักปรารถนาแก่เทวดาองค์ใด จักนั่งบนบัลลังก์ของเทวดาองค์นั้น สนังกุมารพรหมนั่งบนบัลลังก์ของเทวดาองค์ใด เทวดาองค์นั้นย่อมได้ความยินดีโสมนัสอย่างยิ่ง ดุจพระราชาผู้กษัตริย์ได้มูรธาภิเษกแล้ว ครองราชสมบัติใหม่ ย่อมทรงได้ความยินดีโสมนัสอย่างยิ่งฉะนั้น เมื่อนั้น สนังกุมารพรหมนิรมิตอัตภาพใหญ่ยิ่ง เป็นเพศกุมารเช่นกับปัญจสิขเทพบุตร ปรากฏแก่เทวดาชั้นดาวดึงส์ เธอเหาะขึ้นเวหาสนั่งขัดสมาธิในอากาศที่ว่างเปล่า เช่นบุรุษผู้มีกำลังนั่งขัดสมาธิบนบัลลังก์ที่ปูลาดดี หรือบนภูมิภาคราบเรียบฉะนั้น ทราบความเบิกบานใจของเทวดาชั้นดาวดึงส์แล้ว ทรงบันเทิงตามด้วยคาถาเหล่านี้ ความว่า
[สนังกุมารพรหมได้ปรากฏขึ้น เหล่าเทวดาต่างพากันต้อนรับและเคารพนอบน้อมและยินดีเมื่อสนังกุมารพรหมจะประทับนั่งบนบัลลังก์ของเทวดาองค์ใด สนังกุมารพรหมนิรมิตอัตภาพเป็นเพศกุมารเช่นกับปัญจสิขเทพบุตร นั่งขัดสมาธิในอากาศ]

[๑๙๗] ดูกรท่านผู้เจริญ เทวดาชั้นดาวดึงส์พร้อมด้วยพระอินทร์ ย่อมบันเทิงใจ ถวายนมัสการพระตถาคต และความที่พระธรรมเป็นธรรมดี เห็นเทวดาผู้ใหม่ๆ ผู้มีวรรณะ มียศ ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสุคตแล้วมาในที่นี้ เทวดาเหล่านั้นเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ทรงพระปัญญากว้างขวาง บรรลุคุณวิเศษแล้ว ย่อมรุ่งเรืองล่วงเทวดาเหล่าอื่น ณ ที่นี้ด้วยวรรณะ ด้วยยศ และอายุ เทวดาชั้นดาวดึงส์ พร้อมด้วยพระอินทร์เห็นเช่นนี้แล้ว ย่อมยินดี ถวายนมัสการพระตถาคต และความที่พระธรรมเป็นธรรมดี ฯ

[๑๙๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สนังกุมารพรหมได้กล่าวเนื้อความนี้ เสียงของสนังกุมารพรหมผู้กล่าวเนื้อความนี้ ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือแจ่มใส ๑ ชัดเจน ๑ นุ่มนวล ๑ น่าฟัง ๑ กลมกล่อม ๑ ไม่พร่า ๑ ลึก ๑ มีกังวาน ๑ ฯ

ก็สนังกุมารพรหมย่อมยังบริษัทเท่าใดให้ทราบเนื้อความด้วยเสียงของตน กระแสเสียงก็ไม่แพร่ไปในภายนอกบริษัทเท่านั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เสียงของผู้ใดประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอย่างนี้ ผู้นั้นท่านเรียกว่า มีเสียงเพียงดังเสียงพรหม ฯ

ครั้งนั้น สนังกุมารพรหมนิรมิตอัตภาพ ๓๓ อัตภาพ นั่งอยู่บนบัลลังก์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์ทุกๆ บัลลังก์ แล้วเรียกเทวดาชั้นดาวดึงส์มากล่าวว่า เทวดาชั้นดาวดึงส์ผู้เจริญ จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ก็พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเพียงไร ชนเหล่าใด นับถือพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง นับถือพระธรรมเป็นที่พึ่ง นับถือพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง บำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ ชนเหล่านั้นเบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก บางพวกถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัดดี บางพวกถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นนิมมานรดี บางพวกถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นดุสิต บางพวกถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นยามะ บางพวกถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นดาวดึงส์ บางพวกถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นจาตุมหาราช เหล่าใดยังกายให้บริบูรณ์ เลวกว่าเขาหมด เหล่านั้นย่อมเพิ่มจำนวนหมู่เทพคนธรรพ์ ฯ
[สนังกุมารพรหมนิรมิตอัตภาพ 33 อัตภาพ นั่งบนบัลลังก์ (คำว่าดาวดึงส์หรือไตรตรึงส์ หมายถึงสวรรค์ที่ปกครองโดยเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ 33 พระองค์) ทุกบัลลังก์ กล่าวว่าพระพุทธองค์ทรงเกื้อกูลชนเป็นอันมาก ยังให้ผู้ประพฤติตามพระธรรมคำสอน ได้บังเกิดในสวรรค์ทั้ง 6 ชั้นเเป็นจำนวนมากมาย]

[๑๙๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สนังกุมารพรหมได้กล่าวเนื้อความนี้ เมื่อสนังกุมารพรหมกล่าวประกาศความข้อนี้ เทวดาทั้งหลายสำคัญว่า ผู้ที่นั่งบนบัลลังก์ของเรานี้ผู้เดียวกล่าว ฉะนั้นพระโบราณจารย์จึงกล่าวว่า

เมื่อสนังกุมารพรหมกล่าวผู้เดียว รูปนิรมิตทั้งหมดก็กล่าว เมื่อสนังกุมารพรหมนิ่งผู้เดียว รูปนิรมิตเหล่านั้นทั้งหมดก็นิ่ง เทวดาชั้นดาวดึงส์พร้อมด้วยพระอินทร์ ย่อมสำคัญสนังกุมารพรหมนั้นว่า ผู้ที่นั่งบนบัลลังก์ของเรานี้ ผู้เดียวเท่านั้นกล่าว ฯ

[๒๐๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้นแล สนังกุมารพรหมกลับคืนตนเป็นผู้เดียวแล้วนั่งบนบัลลังก์ของท้าวสักกะจอมเทพ แล้วเรียกเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์มากล่าวว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน อิทธิบาท ๔ เหล่านี้ อันพระผู้มีพระภาคผู้รู้ผู้เห็นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงบัญญัติไว้แล้ว เพื่อความทำฤทธิ์ให้มาก เพื่อความทำฤทธิ์ให้วิเศษ เพื่อแสดงฤทธิ์ได้ อิทธิบาท ๔ เป็นไฉน ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เจริญอิทธิบาทประกอบด้วยฉันทสมาธิ และปธานสังขาร เจริญอิทธิบาทประกอบด้วยวิริยสมาธิ และปธานสังขาร เจริญอิทธิบาทประกอบด้วยจิตตสมาธิ และปธานสังขาร เจริญอิทธิบาทประกอบด้วยวิมังสาสมาธิ และปธานสังขาร อิทธิบาท ๔ เหล่านี้แล อันพระผู้มีพระภาคผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงบัญญัติไว้แล้ว เพื่อความทำฤทธิ์ให้มาก เพื่อความทำฤทธิ์ให้วิเศษ เพื่อแสดงฤทธิ์ได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาล แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ทำได้ เพราะเจริญ เพราะให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้แล สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในอนาคตกาล จักแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดจักทำได้ เพราะเจริญ เพราะทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้แล สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในปัจจุบันกาล แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ทำได้เพราะเจริญ เพราะทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้แล เทวดาชั้นดาวดึงส์ทั้งหลาย ไม่เห็นอิทธานุภาพเห็นปานนี้ของเราดอกหรือ ฯ เห็นแล้ว ท่านมหาพรหม ฯ แม้เรา มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ ก็เพราะเจริญ เพราะทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้แล ฯ
[สนังกุมารพรหมกลับคืนอัตภาพเป็นผู้เดียว แล้วนั่งบนบัลลังก์ของพระอินทร์ สรรเสริญคุณของอิทธิบาท 4]

[๒๐๑] สนังกุมารพรหมได้กล่าวเนื้อความนี้ ครั้นแล้วเรียกเทวดาชั้นดาวดึงส์มากล่าวว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย เทวดาชั้นดาวดึงส์ จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไหน การบรรลุโอกาส ๓ ประการ ที่พระผู้มีพระภาคผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสรู้แล้ว เพื่อบรรลุถึงความสุข การบรรลุโอกาส ๓ ประการ เป็นไฉน ฯ
[สนังกุมารพรหมกล่าวว่าพระพุทธองค์ทรงให้โอกาสในการบำเพ็ญเพื่อประโยชน์สุข 3 ข้อแก่บุคคลคือ]

[๒๐๒] ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ยังเกี่ยวข้องด้วยกาม คลุกคลีด้วยอกุศลธรรมอยู่ สมัยอื่น เขาฟังธรรมของพระอริยเจ้า มนสิการโดยแยบคาย ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เขาอาศัยการฟังธรรมของพระอริยเจ้าและการมนสิการโดยแยบคาย ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม ไม่คลุกคลีด้วยอกุศลธรรมอยู่ สุขย่อมเกิดแก่เขาผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม ไม่คลุกคลีด้วยอกุศลธรรม โสมนัสอันยิ่งกว่าสุขก็เกิดขึ้น ดุจความปราโมทย์เกิดต่อจากความบันเทิงใจฉะนั้น ท่านผู้เจริญทั้งหลาย การบรรลุโอกาสนี้เป็นประการที่ ๑ ที่พระผู้มีพระภาคผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตรัสรู้แล้วเพื่อบรรลุถึงความสุข ฯ
[1.ผู้ยังเกี่ยวข้องกาม คลุกคลีอกุศลธรรม ได้ฟังธรรม ทำในใจโดยแยบคายแล้วย่อมเห็นโทษของกามและอกุศลธรรม]

[๒๐๓] ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร ส่วนหยาบ ของคนบางคนในโลกนี้ ยังไม่สงบระงับ สมัยอื่น เขาฟังธรรมของพระอริยเจ้า มนสิการโดยแยบคาย ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เมื่อเขาอาศัยการฟังธรรมของพระอริยเจ้า มนสิการโดยแยบคาย ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมอยู่ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร ที่หยาบๆ ย่อมสงบระงับ เพราะกายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร ที่หยาบๆ สงบระงับ สุขย่อมเกิดแก่เขา โสมนัสอันยิ่งกว่าสุขก็เกิดขึ้น ดุจความปราโมทย์ เกิดต่อจากความบันเทิงใจฉะนั้น ท่านผู้เจริญทั้งหลาย การบรรลุโอกาสนี้เป็นประการที่ ๒ ที่พระผู้มีพระภาค ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสรู้แล้ว เพื่อบรรลุถึงความสุข ฯ
[2.ผู้มีความประพฤติทางกาย วาจา ใจ ที่หยาบ ได้ฟังธรรม ทำในใจโดยแยบคายแล้วระงับกายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขารที่หยาบลง]

[๒๐๔] ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง คนบางคนในโลกนี้ไม่รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้กุศล นี้อกุศล นี้มีโทษ นี้ไม่มีโทษ นี้ควรเสพ นี้ไม่ควรเสพ นี้เลว นี้ประณีต นี้เป็นส่วนธรรมดำและธรรมขาว สมัยอื่น เขาฟังธรรมของพระอริยเจ้า มนสิการโดยแยบคาย ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เขาอาศัยการฟังธรรมของพระอริยเจ้า มนสิการโดยแยบคาย ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้กุศล นี้อกุศล นี้มีโทษ นี้ไม่มีโทษ นี้ควรเสพ นี้ไม่ควรเสพ นี้เลว นี้ประณีต นี้เป็นส่วนธรรมดำและธรรมขาว เมื่อเขารู้เห็นอย่างนี้ ย่อมละอวิชชาได้ขาด วิชชาย่อมเกิดขึ้น เพราะปราศจากอวิชชา เพราะวิชชาเกิดขึ้น สุขย่อมเกิดแก่เขา โสมนัสยิ่งกว่าสุขก็เกิดขึ้น ดุจความปราโมทย์เกิดต่อจากความบันเทิงใจฉะนั้น ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย การบรรลุโอกาสนี้เป็นประการที่ ๓ ที่พระผู้มีพระภาค ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสรู้แล้วเพื่อบรรลุถึงความสุข ท่านผู้เจริญทั้งหลาย การบรรลุโอกาส ๓ ประการเหล่านี้แล อันพระผู้มีพระภาค ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสรู้แล้ว เพื่อบรรลุถึงความสุข ฯ
[3.ผู้ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ได้ฟังธรรม ทำในใจโดยแยบคายแล้วทราบชัดว่านี้กุศล นี้อกุศล นี้มีโทษ นี้ไม่มีโทษ นี้ควรเสพ นี้ไม่ควรเสพ นี้เลว นี้ประณีต นี้เป็นส่วนธรรมดำและธรรมขาว]

[๒๐๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สนังกุมารพรหมได้กล่าวเนื้อความนี้แล้ว เรียกเทวดาชั้นดาวดึงส์มากล่าวว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย เทวดาชั้นดาวดึงส์จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สติปัฏฐาน ๔ นี้ อันพระผู้มีพระภาค ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงบัญญัติดีแล้วเพื่อบรรลุกุศล สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน ฯ

ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณากายในกายเป็นภายใน มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชญาและโทมนัสในโลกอยู่ เมื่อภิกษุพิจารณากายในกายเป็นภายในอยู่ ย่อมตั้งจิตไว้โดยชอบ ผ่องใสโดยชอบในกายานุปัสสนานั้น เธอตั้งจิตไว้โดยชอบ ผ่องใสโดยชอบในกายานุปัสสนานั้นแล้ว ยังญาณทัสสนะให้เกิดในกายอื่นในภายนอก ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเป็นภายใน มีความเพียร มีสติสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกอยู่ เมื่อภิกษุพิจารณาเวทนาในเวทนาเป็นภายในอยู่ ย่อมตั้งจิตไว้โดยชอบ ผ่องใสโดยชอบ เวทนานุปัสสนานั้น เธอตั้งจิตไว้โดยชอบ ผ่องใสโดยชอบในเวทนานุปัสสนานั้นแล้ว ยังญาณทัสสนะให้เกิดในเวทนาอื่นในภายนอก ภิกษุพิจารณาจิตในจิตเป็นภายใน มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกอยู่ เมื่อภิกษุพิจารณาจิตในจิตเป็นภายในอยู่ ย่อมตั้งจิตไว้โดยชอบ ย่อมผ่องใสโดยชอบในจิตตานุปัสสนานั้น เธอตั้งจิตไว้โดยชอบ ผ่องใสโดยชอบในจิตตานุปัสสนานั้นแล้ว ยังญาณทัสสนะให้เกิดในจิตอื่นในภายนอก ภิกษุพิจารณาธรรมในธรรมเป็นภายใน มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกอยู่ เมื่อภิกษุพิจารณาธรรมในธรรมเป็นภายในอยู่ ย่อมตั้งจิตไว้โดยชอบ ผ่องใสโดยชอบในธัมมานุปัสสนานั้น เธอตั้งจิตไว้โดยชอบ ผ่องใสโดยชอบในธัมมานุปัสสนานั้นแล้ว ยังญาณทัสสนะให้เกิดในธรรมอื่น ในภายนอก ท่านผู้เจริญทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ นี้แล อันพระผู้มีพระภาค ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงบัญญัติแล้วเพื่อบรรลุกุศล ฯ
[สนังกุมารพรหมกล่าวถึงคุณของสติปัฏฐาน 4]

[๒๐๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สนังกุมารพรหมได้กล่าวเนื้อความนี้แล้ว เรียกเทวดาชั้นดาวดึงส์มากล่าวว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย เทวดาชั้นดาวดึงส์จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บริขารแห่งสมาธิ ๗ ประการนี้ อันพระผู้มีพระภาคผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงบัญญัติดีแล้วเพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์แห่งสัมมาสมาธิ บริขารแห่งสมาธิ ๗ ประการเป็นไฉน คือสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ความที่จิตตั้งมั่น แวดล้อมด้วยองค์ ๗ นี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สัมมาสมาธิอันเป็นอริยะมีอุปนิสัยดังนี้บ้าง มีบริขารดังนี้บ้าง ฯ

ดูกรท่านผู้เจริญ สัมมาสังกัปปะย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาทิฐิ สัมมาวาจาย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาสังกัปปะ สัมมากัมมันตะย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาวาจา สัมมาอาชีวะ ย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมากัมมันตะ สัมมาวายามะย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาอาชีวะ สัมมาสติย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาวายามะ สัมมาสมาธิย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาสติ สัมมาญาณะย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาสมาธิ สัมมาวิมุตติย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาญาณะ ฯ

ดูกรท่านผู้เจริญ ก็บุคคลเมื่อกล่าวถึงข้อนั้นโดยชอบ พึงกล่าวว่าพระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันบุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ฉะนั้น ประตูพระนิพพานเปิดเพื่อท่านแล้ว บุคคลเมื่อกล่าวโดยชอบกะบุคคลผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างแน่นแฟ้นในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พึงกล่าวว่า ก็พระธรรม อันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันบุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ฉะนั้น ประตูพระนิพพานเปิดเพื่อท่านแล้ว ฯ
ดูกรท่านผู้เจริญ ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างแน่นแฟ้น ในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าชอบใจ ชนเหล่านี้เป็นโอปปาติกะ อันพระผู้มีพระภาคทรงแนะนำแล้วในธรรม ชาวมคธผู้บำเรอเกินสองล้านสี่แสนคน ทำกาละล่วงไปนานแล้ว เป็นพระโสดาบันเพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ อย่าง มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้ในเบื้องหน้า ข้าพเจ้ากลัวการพูดเท็จ จึงไม่อาจคำนวณได้ว่าในชนเหล่านี้มีพระสกทาคามีเท่าไร และหมู่สัตว์นอกนี้บังเกิดด้วยส่วนบุญ ฯ
[สนังกุมารพรหมกล่าวถึงมรรคมีองค์แปดว่า ย่อมนำไปสู่ สัมมาญาณะและสัมมาวิมุตติ คุณแห่งพระธรรม เมื่อมนุษย์ได้ไปเกิดในสวรรค์แล้วย่อมประพฤติธรรมได้ สามารถบรรลุได้แม้อรหัตตผล ชาวมคธในเวลานั้นถึงสองล้านสี่แสนคนที่ได้บรรลุเป็นพระอริยเจ้าและกระทำกาละลง ไปบังเกิดในเทวโลก นอกจากนี้ยังมีผู้ไปสู่ความเป็นเทวดาเพราะผลบุญอีกด้วย]

[๒๐๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สนังกุมารพรหมได้กล่าวเนื้อความนี้ เมื่อสนังกุมารพรหมกล่าวเนื้อความนี้อยู่ ความดำริแห่งใจเกิดขึ้นแก่ท้าวเวสสวรรณมหาราชอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์หนอ ไม่เคยมีมาหนอ จักมีพระศาสดาผู้ยิ่งเห็นปานนี้ จักมีการแสดงธรรมที่ยิ่งเห็นปานนี้ จักปรากฏการบรรลุคุณวิเศษที่ยิ่งเห็นปานนี้ ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้น สนังกุมารพรหมทราบความดำริแห่งใจของท้าวเวสสวรรณมหาราชด้วยใจ แล้วได้กล่าวกะท้าวเวสสวรรณมหาราชว่า ท่านเวสสวรรณมหาราชจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในอดีตกาลก็ได้มีพระศาสดาผู้ยิ่งเห็นปานนี้ ได้มีการแสดงธรรมที่ยิ่งเห็นปานนี้ ปรากฏการบรรลุคุณวิเศษที่ยิ่งเห็นปานนี้มาแล้ว ถึงในอนาคตกาล ก็จักมีพระศาสดาผู้ยิ่งเห็นปานนี้ จักมีการแสดงธรรมที่ยิ่งเห็นปานนี้ จักปรากฏการบรรลุคุณวิเศษที่ยิ่งเห็นปานนี้ ฯ
[ท้าวเวสสวรรณมหาราชได้มีความรู้สึกอัศจรรย์ใจในพระศาสดา การแสดงธรรมอันยิ่งใหญ่ และการบรรลุคุณวิเศษเห็นปานฉะนี้ ซึ่งสนังกุมารพรหมได้รับรองในวิสัยแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย]

[๒๐๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สนังกุมารพรหมได้กล่าวเนื้อความนี้แก่เทวดาชั้นดาวดึงส์ ท้าวเวสสวรรณมหาราชตรัสบอกเนื้อความนี้ ที่พระองค์สดับมาต่อหน้า รับมาต่อหน้าสนังกุมารพรหม ผู้กล่าวแก่เทวดาชั้นดาวดึงส์ ในบริษัทของพระองค์ ชนวสภะยักษ์ กราบทูลความนี้ที่ตนสดับมาต่อหน้า รับมาต่อหน้า แห่งท้าวเวสสวรรณมหาราชผู้ตรัสในบริษัทของพระองค์ แก่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงสดับความข้อนี้มาต่อหน้า ทรงรับความข้อนี้มาต่อหน้าชนวสภะยักษ์ และทรงทราบด้วยพระองค์เอง แล้วตรัสบอกแก่ท่านพระอานนท์ ท่านพระอานนท์ ได้ฟังความข้อนี้มาต่อพระพักตร์ รับความข้อนี้มาต่อพระพักตร์พระผู้มีพระภาคแล้วจึงบอกแก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พรหมจรรย์นี้นั้น บริบูรณ์ แพร่หลาย กว้างขวาง ชนเป็นอันมากทราบชัด เป็นปึกแผ่น จนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ประกาศดีแล้ว ดังนี้แล ฯ
[สนังกุมารพรหมได้กล่าวเนื้อความนี้แก่เทวดาชั้นดาวดึงส์ ซึ่งยักษ์ชนวสภะมาเล่าถวายแก่พระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทราบด้วยพระองค์เอง แล้วตรัสบอกแก่ท่านพระอานนท์ ท่านพระอานนท์รับความเหล่านี้มาต่อหน้าพระพักต์พระผู้มีพระภาค แล้วบอกต่อแก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ว่าพรหมจรรย์นี้นั้น บริบูรณ์ แพร่หลาย กว้างขวาง ชนเป็นอันมากทราบชัด เป็นปึกแผ่น จนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกาศดีแล้ว]

จบชนวสภสูตร ที่ ๕

*******************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ


Create Date : 07 พฤศจิกายน 2548
Last Update : 7 พฤศจิกายน 2548 13:56:55 น. 0 comments
Counter : 862 Pageviews.

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.