Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2548
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
19 ธันวาคม 2548
 
All Blogs
 
เรื่องเกี่ยวกับเทวดา -3

(ต่อ)

วุฏฐิสูตรที่ ๔

[๒๐๔] เทวดาทูลถามว่า
บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น สิ่งอะไรหนอประเสริฐ บรรดาสิ่งที่ตกไป
อะไรหนอประเสริฐ บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า ใครเป็นผู้
ประเสริฐ บรรดาชนผู้แถลงคารม ใครเป็นผู้ประเสริฐ ฯ

[๒๐๕] เทวดาผู้หนึ่งแก้ว่า
บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น ข้าวกล้าเป็นประเสริฐ บรรดาสิ่งที่ตกไป
ฝนเป็นประเสริฐ บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า เหล่าโคเป็น
ประเสริฐ บรรดาชนผู้แถลงคารม บุตรเป็นประเสริฐ (เพราะ
ไม่กล่าวร้ายให้มารดาบิดา) ฯ

[๒๐๖] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น ความรู้เป็นประเสริฐ บรรดาสิ่งที่ตกไป
อวิชชาเป็นประเสริฐ บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า พระสงฆ์
เป็นประเสริฐ บรรดาชนผู้แถลงคารม พระพุทธเจ้าเป็น
ประเสริฐ ฯ

ภีตสูตรที่ ๕

[๒๐๗] เทวดาทูลถามว่า
ประชุมชนเป็นอันมากในโลกนี้ กลัวอะไรหนอ มรรคาที่ดีแท้
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ด้วยเหตุมิใช่น้อย ข้าแต่พระโคดมผู้มี
ปัญญาดุจแผ่นดิน ข้าพระองค์ขอถามถึงเหตุนั้น ว่าบุคคล
ตั้งอยู่ในอะไรแล้วไม่พึงกลัวปรโลก ฯ

[๒๐๘] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุคคลตั้งวาจาและใจไว้โดยชอบ มิได้ทำบาปด้วยกาย อยู่
ครอบครองเรือนที่มีข้าวและน้ำมาก เป็นผู้มีศรัทธา เป็นผู้
อ่อนโยน มีปรกติเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทราบถ้อยคำ ผู้ที่ตั้งอยู่
ในธรรม ๔ อย่างเหล่านี้ ชื่อว่าผู้ดำรงในธรรม ไม่ต้องกลัว
ปรโลก ฯ

นชีรติสูตรที่ ๖

[๒๐๙] เทวดาทูลถามว่า
อะไรหนอย่อมทรุดโทรม อะไรไม่ทรุดโทรม อะไรหนอ
ท่านเรียกว่าทางผิด อะไรหนอเป็นอันตรายแห่งธรรม อะไร
หนอสิ้นไปตามคืนและวัน อะไรหนอเป็นมลทินของ
พรหมจรรย์ อะไรไม่ใช่น้ำแต่เป็นเครื่องชำระล้าง ในโลก
มีช่องกี่ช่องที่จิตไม่ตั้งอยู่ได้ ข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระผู้-
มีพระภาค ไฉนข้าพระองค์จะรู้ความข้อนั้นได้ ฯ

[๒๑๐] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
รูปของสัตว์ทั้งหลายย่อมทรุดโทรม นามและโคตรย่อมไม่
ทรุดโทรม ราคะท่านเรียกว่าทางผิด ความโลภเป็นอันตราย
ของธรรม วัยสิ้นไปตามคืนและวัน หญิงเป็นมลทินของ
พรหมจรรย์ หมู่สัตว์นี้ย่อมข้องอยู่ในหญิงนี้ ตบะและ
พรหมจรรย์ทั้งสองนั้น มิใช่น้ำแต่เป็นเครื่องชำระล้าง ในโลก
มีช่องอยู่ ๖ ช่องที่จิตไม่ตั้งอยู่ได้ คือความเกียจคร้าน ๑ ความ
ประมาท ๑ ความไม่หมั่น ๑ ความไม่สำรวม ๑ ความมัก
หลับ ๑ ความอ้างเลศไม่ทำงาน ๑ พึงเว้นช่องทั้ง ๖ เหล่านั้น
เสียโดยประการทั้งปวงเถิด ฯ

อิสสรสูตรที่ ๗

[๒๑๑] เทวดาทูลถามว่า
อะไรหนอเป็นใหญ่ในโลก อะไรหนอเป็นสูงสุดแห่งภัณฑะ
ทั้งหลาย อะไรหนอเป็นดังสนิมศัสตราในโลก อะไรหนอ
เป็นเสนียดในโลก ใครหนอนำของไปอยู่ย่อมถูกห้าม แต่
ใครนำไปกลับเป็นที่รัก ใครหนอมาหาบ่อยๆ บัณฑิตย่อม
ยินดีต้อนรับ ฯ

[๒๑๒] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
อำนาจเป็นใหญ่ในโลก หญิงเป็นสูงสุดแห่งภัณฑะทั้งหลาย
ความโกรธเป็นดังสนิมศัสตราในโลก พวกโจรเป็นเสนียด
ในโลก โจรนำของไปอยู่ย่อมถูกห้าม แต่สมณะนำไปกลับ
เป็นที่รัก สมณะมาหาบ่อยๆ บัณฑิตย่อมยินดีต้อนรับ ฯ

กามสูตรที่ ๘

[๒๑๓] เทวดาทูลถามว่า
กุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์ไม่ควรให้สิ่งอะไร คนไม่ควรสละ
อะไร อะไรหนอที่เป็นส่วนดีงามควรปล่อย แต่ที่เป็นส่วน
ลามกไม่ควรปล่อย ฯ

[๒๑๔] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุรุษไม่พึงให้ซึ่งตน ไม่พึงสละซึ่งตน วาจาที่ดีควรปล่อย
แต่วาจาที่ลามกไม่ควรปล่อย

ปาเถยยสูตรที่ ๙

[๒๑๕] เทวดาทูลถามว่า
อะไรหนอย่อมรวบรวมไว้ซึ่งเสบียง อะไรหนอเป็นที่มานอน
แห่งโภคทรัพย์ทั้งหลาย อะไรหนอย่อมเสือกไสนรชนไป
อะไรหนอละได้ยากในโลก สัตว์เป็นอันมากติดอยู่ในอะไร
เหมือนนกติดบ่วง ฯ

[๒๑๖] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ศรัทธาย่อมรวบรวมไว้ซึ่งเสบียง ศิริ (คือมิ่งขวัญ) เป็นที่
มานอนแห่งโภคทรัพย์ทั้งหลาย ความอยากย่อมเสือกไส
นรชนไป ความอยากละได้ยากในโลก สัตว์เป็นอันมากติด
อยู่ในความอยาก เหมือนนกติดบ่วง ฯ

ปัชโชตสูตรที่ ๑๐

[๒๑๗] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเป็นแสงสว่างในโลก อะไรหนอเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่
ในโลก อะไรหนอเป็นสหายในการงานของผู้เป็นอยู่ด้วย
การงาน อะไรหนอเป็นเครื่องสืบต่อชีวิตของเขา อะไรหนอ
บุคคลผู้เกียจคร้านบ้าง ไม่เกียจคร้านบ้าง ย่อมพะนอเลี้ยง
ดุจมารดาเลี้ยงดูบุตร เหล่าสัตว์มีชีวิตที่อาศัยแผ่นดินอาศัย
อะไรหนอเลี้ยงชีวิต ฯ

[๒๑๘] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก สติเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก
ฝูงโคเป็นสหายในการงานของผู้เป็นอยู่ด้วยการงาน ไถเป็น
เครื่องต่อชีวิตของเขา ฝนย่อมเลี้ยงบุคคลผู้เกียจคร้านบ้าง
ไม่เกียจคร้านบ้าง เหมือนมารดาเลี้ยงบุตร เหล่าสัตว์มีชีวิต
ที่อาศัยแผ่นดิน อาศัยฝนเลี้ยงชีวิต ฯ

อรณสูตรที่ ๑๑

[๒๑๙] เทวดาทูลถามว่า
คนพวกไหนหนอไม่เป็นข้าศึกในโลกนี้ พรหมจรรย์ที่อยู่
จบแล้วของชนพวกไหน ย่อมไม่เสื่อม คนพวกไหนกำหนด
รู้ความอยากได้ในโลกนี้ ความเป็นไทยมีแก่คนพวกไหนทุก
เมื่อ มารดาบิดาหรือพี่น้องย่อมไหว้บุคคลนั้น ผู้ตั้งมั่นในศีล
คือ ใครหนอ พวกกษัตริย์ย่อมอภิวาทใครหนอ ในธรรม
วินัยนี้ ผู้มีชาติต่ำ ฯ

[๒๒๐] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
สมณะทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ไม่เป็นข้าศึกในโลก พรหม
จรรย์ที่อยู่จบแล้วของสมณะทั้งหลายย่อมไม่เสื่อม สมณะ
ทั้งหลายย่อมกำหนดรู้ความอยากได้ ความเป็นไทยย่อมมีแก่
สมณะทั้งหลายทุกเมื่อ มารดาบิดาหรือพี่น้องย่อมไหว้บุคคล
นั้น ผู้ตั้งมั่น (ในศีล) คือสมณะ ถึงพวกกษัตริย์ก็อภิวาท
สมณะในธรรมวินัยนี้ ผู้มีชาติต่ำ ฯ

เทวปุตตสงยุต

วรรคที่ ๑

ปฐมกัสสปสูตรที่ ๑

[๒๒๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ฯ

ครั้งนั้น กัสสปเทวบุตร เมื่อราตรีปฐมยามสิ้นไปแล้ว มีวรรณอันงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง กัสสปเทวบุตรยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระผู้มีพระภาคทรงประกาศภิกษุไว้แล้ว แต่ไม่ทรงประกาศคำสอนของภิกษุ ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัสสปเทวบุตร ถ้าอย่างนั้นคำสอนนั้นจงแจ่มแจ้ง ณ ที่นี้เถิด ฯ

[๒๒๒] กัสสปเทวบุตร ได้กราบทูลว่า บุคคลพึงศึกษาคำสุภาษิต การเข้าไปนั่งใกล้สมณะ การนั่งในที่เร้นลับแต่ผู้เดียว และการสงบระงับจิต ฯ

พระศาสดาได้ทรงพอพระทัย ฯ

ลำดับนั้น กัสสปเทวบุตรทราบว่า พระศาสดาทรงพอพระทัย จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ

ทุติยกัสสปสูตรที่ ๒

[๒๒๓] ... อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ... กัสสปเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ภาษิตคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ภิกษุพึงเป็นผู้เพ่งพินิจ มีจิตหลุดพ้นแล้ว พึงหวังธรรมอันไม่
เป็นที่เกิดขึ้นแห่งหฤทัย
อนึ่ง ภิกษุผู้มุ่งต่อพระอรหัตนั้น พึงรู้ความเกิดขึ้น และ
ความเสื่อมไปแห่งโลก พึงมีใจดี อันตัณหาและทิฐิไม่อิง
อาศัยแล้ว ฯ

มาฆสูตรที่ ๓

[๒๒๔] ... อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น มาฆเทวบุตร เมื่อราตรีปฐมยามสิ้นไปแล้ว มีวรรณอันงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๒๒๕] มาฆเทวบุตรยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
บุคคลฆ่าอะไรสิ จึงจะอยู่เป็นสุข ฆ่าอะไรสิ จึงจะไม่เศร้า
โศก ข้าแต่พระโคดม พระองค์ทรงพอพระทัยการฆ่าธรรม
อะไร ซึ่งเป็นธรรมอันเดียว ฯ

[๒๒๖] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุคคลฆ่าความโกรธแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข ฆ่าความโกรธแล้ว
ย่อมไม่เศร้าโศก ดูกรท้าววัตรภู อริยะทั้งหลาย สรรเสริญ
การฆ่าความโกรธ ซึ่งมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน เพราะว่า
บุคคลฆ่าความโกรธนั้นแล้วย่อมไม่เศร้าโศก ฯ

มาคธสูตรที่ ๔

[๒๒๗] มาคธเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
แสงสว่างในโลก มีกี่อย่าง ข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระ
ผู้มีพระภาคแล้ว ไฉนจะพึงทราบข้อนั้นได้ ฯ

[๒๒๘] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
แสงสว่างในโลกมี ๔ อย่าง อย่างที่ ๕ ไม่มีในโลกนี้
พระอาทิตย์ส่องสว่างในกลางวัน พระจันทร์ส่องสว่างใน
กลางคืน ส่วนไฟส่องสว่างในที่นั้นๆ ทั้งกลางวันและ
กลางคืน พระสัมพุทธเจ้าประเสริฐสุดกว่าแสงสว่างทั้งหลาย
แสงสว่างนี้เป็นยอดเยี่ยม ฯ

ทามลิสูตรที่ ๕
[๒๒๙] ... อารามแห่งอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ทามลิเทวบุตร เมื่อราตรีปฐมยามสิ้นไปแล้ว มีวรรณงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๒๓๐] ทามลิเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้ภาษิตคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
พราหมณ์ผู้ไม่เกียจคร้าน พึงทำความเพียรนี้ เขาไม่ปรารถนา
ภพด้วยเหตุนั้น เพราะละกามได้ขาดแล้ว ฯ

[๒๓๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ทามลิ กิจไม่มีแก่พราหมณ์ เพราะว่า พราหมณ์ทำกิจเสร็จ
แล้ว บุคคลยังไม่ได้ท่าจอดในแม่น้ำทั้งหลาย เพียงใด เขา
เป็นสัตว์เกิด ต้องพยายาม ด้วยตัวทุกอย่าง เพียงนั้น ก็ผู้นั้น
ได้ท่าเป็นที่จอดแล้ว ยืนอยู่บนบก ไม่ต้องพยายาม เพราะ
ว่า เขาเป็นผู้ถึงฝั่งแล้ว ฯ
ดูกรทามลิเทวบุตร นี้เป็นข้ออุปมาแห่งพราหมณ์ ผู้มีอาสวะ
สิ้นแล้ว มีปัญญาเพ่งพินิจ ฯ
พราหมณ์นั้น ถึงที่สุดแห่งชาติและมรณะแล้ว ไม่ต้องพยายาม
เพราะเป็นผู้ถึงฝั่งแล้ว ฯ

กามทสูตรที่ ๖

[๒๓๒] กามทเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สมณธรรมทำได้โดยยาก ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สมณธรรมทำได้โดยยากยิ่ง ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ชนทั้งหลาย ผู้ตั้งมั่นแล้วด้วยศีลแห่งพระเสขะ มีตนตั้งมั่น
แล้ว ย่อมกระทำ แม้ซึ่งสมณธรรมอันบุคคลทำได้โดยยาก
ความยินดี ย่อมนำสุขมาให้แก่บุคคลผู้เข้าถึงแล้วซึ่งความ
เป็นผู้ไม่มีเรือน ฯ

[๒๓๓] กามทเทวบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อที่หาได้ยากนี้ คือความสันโดษ ยินดี ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ชนเหล่าใด ยินดีแล้วในความสงบแห่งจิต ชนเหล่าใด มีใจ
ยินดีแล้วในความอบรมจิต ทั้งกลางวันและกลางคืน ชน
เหล่านั้น ย่อมได้แม้ซึ่งสิ่งที่ได้โดยยาก ฯ

[๒๓๔] กามทเทวบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ธรรมชาติที่ตั้งมั่นได้ยากนี้ คือจิต ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ชนเหล่าใด ยินดีแล้วในความสงบอินทรีย์ ชนเหล่านั้น
ย่อมตั้งมั่น ซึ่งจิตที่ตั้งมั่นได้ยาก ดูกรกามทเทวบุตร อริยะ
ทั้งหลายเหล่านั้นตัดข่ายแห่งมัจจุไปได้ ฯ

[๒๓๕] กามทเทวบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ทางที่ไปได้ยาก คือ ทางที่ไม่เสมอ ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรกามทเทวบุตร อริยะทั้งหลาย ย่อมไปได้ แม้ในทางที่
ไม่เสมอ ที่ไปได้ยาก
ผู้มิใช่อริยะ ย่อมเป็นผู้บ่ายศีรษะลงเบื้องต่ำ ตกไปในทาง
อันไม่เสมอ ทางนั้นสม่ำเสมอสำหรับอริยะทั้งหลาย เพราะ
อริยะทั้งหลาย เป็นผู้สม่ำเสมอ ในทางอันไม่เสมอ ฯ

ปัญจาลจัณฑสูตรที่ ๗

[๒๓๖] ปัญจาลจัณฑเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ภาษิตคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
บุคคลผู้มีปัญญามาก ได้ประสบโอกาส ในที่คับแคบหนอ
ผู้ใดได้รู้ฌาน เป็นผู้ตื่น ผู้นั้นเป็นผู้หลีกออกได้อย่างองอาจ
เป็นมุนี ฯ

[๒๓๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ชนเหล่าใด แม้อยู่ในที่คับแคบ แต่ได้เฉพาะแล้วซึ่งสติ
เพื่อการบรรลุธรรม คือพระนิพพาน ชนเหล่านั้น ตั้งมั่น
ดีแล้ว โดยชอบ ฯ

ตายนสูตรที่ ๘

[๒๓๘] ครั้งนั้น ตายนเทวบุตรผู้เป็นเจ้าลัทธิมาแต่ก่อน เมื่อราตรีปฐมยามสิ้นไปแล้ว มีวรรณอันงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๒๓๙] ตายนเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ท่านจงพยายามตัดกระแสตัณหา จงบรรเทากามเสียเถิด
พราหมณ์ ฯ
มุนีไม่ละกาม ย่อมไม่เข้าถึงความที่จิตแน่วแน่ได้ ฯ
ถ้าบุคคลจะพึงทำความเพียร พึงทำความเพียรนั้นจริงๆ พึง
บากบั่นทำความเพียรนั้นให้มั่น เพราะว่าการบรรพชาที่ปฏิบัติ
ย่อหย่อน ยิ่งเรี่ยรายโทษดุจธุลี ฯ
ความชั่วไม่ทำเสียเลยประเสริฐกว่า ความชั่วย่อมเผาผลาญ
ในภายหลัง ฯ
ก็กรรมใดทำแล้ว ไม่เดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นเป็น
ความดี ทำแล้วประเสริฐกว่า หญ้าคาอันบุคคลจับไม่ดี ย่อม
บาดมือนั่นเองฉันใด ฯ
ความเป็นสมณะ อันบุคคลปฏิบัติไม่ดี ย่อมฉุดเข้าไปเพื่อ
เกิดในนรก ฉันนั้น ฯ
กรรมอันย่อหย่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง วัตรอันใดที่เศร้าหมอง
และพรหมจรรย์ที่น่ารังเกียจ ทั้งสามอย่างนั้น ไม่มีผลมาก ฯ

ตายนเทวบุตร ครั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว ก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ

[๒๔๐] ครั้งนั้น โดยล่วงราตรีนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เทวบุตรนามว่าตายนะ ผู้เป็นเจ้าลัทธิมาแต่ก่อน เมื่อราตรีปฐมยามสิ้นไปแล้ว มีวรรณอันงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างเข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ก็อภิวาทเราแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ตายนเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ในสำนักของเราว่า
ท่านจงพยายามตัดกระแสตัณหา จงบรรเทากามเสียเถิด
พราหมณ์
มุนีไม่ละกาม ย่อมไม่เข้าถึงความที่จิตแน่วแน่ได้ ฯ
ถ้าบุคคลจะพึงทำความเพียร พึงทำความเพียรนั้นจริงๆ พึง
บากบั่นทำความเพียรนั้นให้มั่น เพราะว่าการบรรพชาที่ปฏิบัติ
ย่อหย่อน ยิ่งเรี่ยรายโทษดุจธุลี ฯ
ความชั่ว ไม่ทำเสียเลยประเสริฐกว่า ความชั่วย่อมเผาผลาญ
ในภายหลัง ฯ
ก็กรรมใดทำแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นเป็น
ความดี ทำแล้วประเสริฐกว่า หญ้าคาอันบุคคลจับไม่ดี ย่อม
บาดมือนั่นเอง ฉันใด ฯ
ความเป็นสมณะ อันบุคคลปฏิบัติไม่ดี ย่อมฉุดเข้าไปเพื่อ
เกิดในนรก ฉันนั้น ฯ
กรรมอันย่อหย่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง วัตรอันใดที่เศร้าหมอง
และพรหมจรรย์ที่น่ารังเกียจ ทั้งสามอย่างนั้น ไม่มีผลมาก ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตายนเทวบุตรครั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว ก็อภิวาทเรา ทำประทักษิณแล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงศึกษา จงเล่าเรียน จงทรงจำตายนคาถาไว้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตายนคาถาประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ฯ

จันทิมสูตรที่ ๙

[๒๔๑] พระผู้มีพระภาคประทับ ... เขตพระนครสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้น จันทิมเทวบุตรถูกอสุรินทราหูเข้าจับแล้ว ครั้งนั้นจันทิมเทวบุตรระลึกถึงพระผู้มีพระภาค ได้ภาษิตคาถานี้ในเวลานั้นว่า
ข้าแต่พระพุทธเจ้า ผู้แกล้วกล้า ขอความนอบน้อมจงมีแด่
พระองค์ พระองค์เป็นผู้หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง ข้าพระ-
องค์ถึงเฉพาะแล้ว ซึ่งฐานะอันคับขัน ขอพระองค์จงเป็นที่พึ่ง
แห่งข้าพระองค์นั้น ฯ

[๒๔๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงปรารภจันทิมเทวบุตรได้ตรัสกะอสุรินทราหูด้วยพระคาถาว่า
จันทิมเทวบุตร ถึงตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ว่าเป็นที่พึ่ง
ดูกรราหู ท่านจงปล่อยจันทิมเทวบุตร พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
เป็นผู้อนุเคราะห์แก่โลก ฯ

[๒๔๓] ลำดับนั้นอสุรินทราหู ปล่อยจันทิมเทวบุตรแล้ว มีรูปอันกระหืดกระหอบ เข้าไปหาอสุรินทเวปจิตติถึงที่อยู่ ครั้นแล้วก็เป็นผู้เศร้าสลด เกิดขนพอง ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๒๔๔] อสุรินทเวปจิตติ ได้กล่าวกะอสุรินทราหู ผู้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ด้วยคาถาว่า
ดูกรราหู ทำไมหนอ ท่านจึงกระหืดกระหอบปล่อยพระจันทร์
เสีย ทำไมหนอ ท่านจึงมีรูปสลด มายืนกลัวอยู่ ฯ

[๒๔๕] อสุรินทราหูกล่าวว่า
ข้าพเจ้าถูกขับด้วยคาถาของพระพุทธเจ้า หากข้าพเจ้าไม่พึง
ปล่อยจันทิมเทวบุตร ศีรษะของข้าพเจ้าพึงแตกเจ็ดเสี่ยง
มีชีวิตอยู่ ก็ไม่พึงได้รับความสุข ฯ

สุริยสูตรที่ ๑๐

[๒๔๖] ก็โดยสมัยนั้น สุริยเทวบุตร ถูกอสุรินทราหูเข้าจับแล้ว ครั้งนั้น สุริยเทวบุตร ระลึกถึงพระผู้มีพระภาค ได้กล่าวคาถานี้ในเวลานั้นว่า
ข้าแต่พระพุทธเจ้า ผู้แกล้วกล้า ขอความนอบน้อมจงมีแด่
พระองค์ พระองค์เป็นผู้หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง ข้า
พระองค์ถึงเฉพาะแล้วซึ่งฐานะอันคับขัน ขอพระองค์จงเป็น
ที่พึ่งแห่งข้าพระองค์นั้น ฯ

[๒๔๗] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงปรารภสุริยเทวบุตรได้ตรัสกะอสุรินทราหูด้วยพระคาถาว่า
สุริยเทวบุตร ถึงตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ว่าเป็นที่พึง ดูกร
ราหู ท่านจงปล่อยสุริยะ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้
อนุเคราะห์แก่โลก สุริยะใดเป็นผู้ส่องแสง กระทำความสว่าง
ในที่มืดมิด มีสัณฐานเป็นวงกลม มีเดชสูง ดูกรราหู ท่าน
อย่ากลืนกินสุริยะนั้น ผู้เที่ยวไปในอากาศ ดูกรราหู ท่าน
จงปล่อยสุริยะ ผู้เป็นบุตรของเรา ฯ

[๒๔๘] ลำดับนั้น อสุรินทราหู ปล่อยสุริยเทวบุตรแล้ว มีรูปอันกระหืดกระหอบ เข้าไปหาอสุรินทเวปจิตติถึงที่อยู่ ครั้นแล้วก็เป็นผู้เศร้าสลด เกิดขนพอง ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๒๔๙] อสุรินทเวปจิตติ ได้กล่าวกะอสุรินทราหู ผู้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ด้วยคาถาว่า
ดูกรราหู ทำไมหนอ ท่านจึงกระหืดกระหอบ ปล่อยพระ
สุริยะเสีย ทำไมหนอ ท่านจึงมีรูปเศร้าสลด มายืนกลัวอยู่ ฯ

[๒๕๐] อสุรินทราหู กล่าวว่า
ข้าพเจ้าถูกขับด้วยคาถาของพระพุทธเจ้า ถ้าข้าพเจ้าไม่พึง
ปล่อยพระสุริยะ ศีรษะของข้าพเจ้าพึงแตกเจ็ดเสี่ยง มีชีวิต
อยู่ ก็ไม่พึงได้รับความสุข ฯ

อนาถปิณฑิกวรรคที่ ๒

จันทิมสสูตรที่ ๑

[๒๕๑] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น จันทิมสเทวบุตร เมื่อปฐมยามสิ้นไปแล้ว มีวรรณงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๒๕๒] จันทิมสเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ก็ชนเหล่าใด เข้าถึงฌาน มีจิตเป็นสมาธิ มีปัญญา มีสติ
ชนเหล่านั้น จักถึงความสวัสดี ประดุจเนื้อในชวากเขา ไร้
ริ้นยุง ฉะนั้น ฯ

[๒๕๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ชนเหล่าใด เข้าถึงฌาน ไม่ประมาท ละกิเลสได้ ชน
เหล่านั้น จักถึงฝั่งประดุจปลา ทำลายข่ายได้แล้ว ฉะนั้น ฯ

เวณฑุสูตรที่ ๒

[๒๕๔] เวณฑุเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ชนเหล่าใด นั่งใกล้พระสุคต ประกอบตนในศาสนาของ
พระโคดม ไม่ประมาทแล้ว ศึกษาตามอยู่ ชนเหล่านั้น
ถึงความสุขแล้วหนอ ฯ

[๒๕๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ชนเหล่าใด เป็นผู้เพ่งพินิจ ศึกษาตามในข้อสั่งสอน อันเรา
กล่าวไว้แล้ว ชนเหล่านั้น ไม่ประมาทอยู่ในกาล ไม่พึงไปสู่
อำนาจแห่งมัจจุ ฯ

ทีฆลัฏฐิสูตรที่ ๓

[๒๕๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่ให้เหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น ทีฆลัฏฐิเทวบุตร เมื่อราตรีปฐมยามสิ้นไปแล้ว มีวรรณอันงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเวฬุวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๒๕๗] ทีฆลัฏฐิเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ภิกษุพึงเป็นผู้มีปกติเพ่งพินิจ มีจิตหลุดพ้นแล้ว พึงหวัง
ความไม่เกิดขึ้นแห่งหทัย รู้ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป
แห่งโลกแล้ว มีใจดี อันตัณหาและทิฐิไม่อิงอาศัยแล้ว มี
คุณข้อนั้นเป็นอานิสงส์ ฯ

นันทนสูตรที่ ๔

[๒๕๘] นันทนเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
ข้าแต่พระโคดม ผู้มีพระปัญญากว้างขวาง ข้าพระองค์ขอทูลถาม
พระองค์ถึงญาณทัสสนะ อันไม่เวียนกลับแห่งพระผู้มีพระภาค
บัณฑิตทั้งหลายเรียกบุคคลชนิดไรว่า เป็นผู้มีศีล เรียก
บุคคลชนิดไรว่า เป็นผู้มีปัญญา บุคคลชนิดไรล่วงทุกข์
อยู่ได้ เทวดาทั้งหลาย บูชาบุคคลชนิดไร ฯ

[๒๕๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุคคลใด มีศีล มีปัญญา มีตนอบรมแล้ว มีจิตตั้งมั่น
ยินดีในฌาน มีสติ เขาปราศจากความโศกทั้งหมด ละได้ขาด
มีอาสวะสิ้นแล้ว ทรงไว้ซึ่งร่างกายมีในที่สุด บัณฑิตทั้งหลาย
เรียกบุคคลชนิดนั้นว่า เป็นผู้มีศีล เรียกบุคคลชนิดนั้นว่า
เป็นผู้มีปัญญา บุคคลชนิดนั้นล่วงทุกข์อยู่ได้ เทวดาทั้งหลาย
บูชาบุคคลชนิดนั้น ฯ

จันทนสูตรที่ ๕

[๒๖๐] จันทนเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
บุคคลผู้ไม่เกียจคร้านทั้งกลางคืนและกลางวัน จะข้ามโอฆะ
ได้อย่างไรสิ ใครจะไม่จมในห้วงน้ำลึก อันไม่มีที่พึ่งพิง
ไม่มีที่ยึดเหนี่ยว ฯ

[๒๖๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ในกาลทุกเมื่อ มีปัญญา มีใจ
ตั้งมั่นดีแล้ว ปรารภความเพียร มีตนส่งไปแล้ว ย่อมข้าม
โอฆะที่ข้ามได้ยาก เข้าเว้นขาดแล้วจากกามสัญญา ล่วงรูป
สัญโญชน์ได้ มีภพเป็นที่เพลิดเพลินสิ้นไปแล้ว ย่อมไม่จม
ในห้วงน้ำลึก ฯ

วาสุทัตตสูตรที่ ๖

[๒๖๒] วาสุทัตตเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ภิกษุพึงมีสติเพื่อละกามราคะ งดเว้นเสีย ประดุจบุคคลถูก
แทงด้วยหอก ประดุจบุคคลถูกไฟไหม้ศีรษะอยู่ ฯ

[๒๖๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ภิกษุพึงมีสติเพื่อการละสักกายทิฏฐิ งดเว้นเสีย ประดุจ
บุคคลถูกแทงด้วยหอก ประดุจบุคคลถูกไฟไหม้ศีรษะอยู่ ฯ

สุพรหมสูตรที่ ๗

[๒๖๔] สุพรหมเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
จิตนี้สะดุ้งอยู่เป็นนิตย์ ใจนี้หวาดเสียวอยู่เป็นนิตย์ ถ้าเมื่อ
กิจทั้งหลายยังไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้วก็ตาม ถ้าความ
ไม่สะดุ้งกลัวมีอยู่ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอจงตรัสบอก
ข้อนั้นแก่ข้าพระองค์ ฯ

[๒๖๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
นอกจากปัญญาและความเพียร นอกจากความสำรวมอินทรีย์
นอกจากความสละวางโดยประการทั้งปวง เรายังไม่เห็นความ
สวัสดีแห่งสัตว์ทั้งหลาย ฯ

สุพรหมเทวบุตรได้กล่าวดังนี้แล้ว ฯลฯ ก็อันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ

กกุธสูตรที่ ๘

[๒๖๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระอัญชนวัน สถานพระราชทานอภัยแก่เนื้อ เขตเมืองสาเกต ครั้งนั้น กกุธเทวบุตร เมื่อราตรีปฐมยามสิ้นไปแล้ว มีวรรณงามยิ่งนัก ยังอัญชนวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๒๖๗] กกุธเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระสมณะ พระองค์ทรงยินดีอยู่หรือ ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรผู้มีอายุ เราได้อะไรจึงจะยินดี ฯ

กกุธเทวบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระสมณะ ถ้าอย่างนั้นพระองค์ทรงเศร้าโศกอยู่หรือ ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรผู้มีอายุ เราเสื่อมอะไรจึงจะเศร้าโศก ฯ

กกุธเทวบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระสมณะ ถ้าอย่างนั้นพระองค์ไม่ทรงยินดีเลย ไม่ทรงเศร้าโศกเลยหรือ ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นเช่นนั้นผู้มีอายุ ฯ

[๒๖๘] กกุธเทวบุตร กราบทูลว่า
ข้าแต่ภิกษุ พระองค์ไม่มีทุกข์บ้างหรือ ความเพลิดเพลิน
ไม่มีบ้างหรือ ความเบื่อหน่ายไม่ครอบงำพระองค์ผู้ประทับนั่ง
แต่พระองค์เดียวบ้างหรือ ฯ

[๒๖๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรท่านผู้อันคนบูชา เราไม่มีทุกข์เลย และความเพลิดเพลิน
ก็ไม่มี อนึ่ง ความเบื่อหน่าย ก็ไม่ครอบงำเราผู้นั่งแต่
ผู้เดียว ฯ

[๒๗๐] กกุธเทวบุตรกราบทูลว่า
ข้าแต่ภิกษุ ทำไมพระองค์จึงไม่มีทุกข์ ทำไมความเพลิดเพลิน
จึงไม่มี ทำไมความเบื่อหน่าย จึงไม่ครอบงำพระองค์ผู้นั่ง
แต่ผู้เดียว ฯ

[๒๗๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ผู้มีทุกข์นั่นแหละ จึงมีความเพลิดเพลิน ผู้มีความเพลิดเพลิน
นั่นแหละ จึงมีทุกข์ ภิกษุย่อมเป็นผู้ไม่มีความเพลิดเพลิน
ไม่มีทุกข์ ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด ผู้มีอายุ ฯ

[๒๗๒] กกุธเทวบุตรกราบทูลว่า
นานหนอ ข้าพระองค์จึงพบเห็นภิกษุ ผู้เป็นพราหมณ์
ดับรอบแล้ว ไม่มีความเพลิดเพลิน ไม่มีทุกข์ ข้ามพ้น
เครื่องข้องในโลกแล้ว ฯ

อุตตรสูตรที่ ๙

[๒๗๓] ราชคฤหนิทาน ฯ อุตตรเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ชีวิตมีอายุน้อย ถูกชราต้อนเข้าไป ชีวิตที่ถูกชราต้อนเข้าไป
แล้ว ย่อมไม่มีที่ต้านทาน บุคคลเห็นภัยในมรณะนี้แล้ว
พึงทำบุญอันจะนำความสุขมาให้ ฯ

[๒๗๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ชีวิตมีอายุน้อย ถูกชราต้อนเข้าไป ชีวิตที่ถูกชราต้อนเข้าไป
แล้ว ย่อมไม่มีที่ต้านทาน ผู้เห็นภัยในความตายนี้ พึงละ
โลกามิสเสีย มุ่งต่อสันติ ฯ

(ยังมีต่อ)


Create Date : 19 ธันวาคม 2548
Last Update : 19 ธันวาคม 2548 19:18:02 น. 0 comments
Counter : 414 Pageviews.

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.