|
เรื่องเกี่ยวกับอนุสสติ
อนุสสติเป็นธรรมในหมวดแห่งสมถะ เพื่อความเป็นไปแห่งสมาธิและความหลุดพ้นครับ ในวรรคที่ยกมาวันนี้มีหลายพระสูตรที่เกี่ยวข้องกับอนุสสติ น่าสนใจมากๆครับ
พระสูตรยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปฐมปัณณาสก์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
*********************************** อนุตตริยวรรคที่ ๓
๑. สามกสูตร
[๒๙๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ วิหาร ชื่อโปกขรณีย์ ใกล้หมู่บ้านสามคาม แคว้นสักกะ ครั้งนั้น เทวดาตนหนึ่ง เมื่อปฐมยามผ่านไป มีวรรณะงามยิ่งนัก ยังโปกขรณีย์วิหารทั้งสิ้นให้สว่างไสว แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๓ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุ ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้ชอบการงาน ๑ ความเป็นผู้ชอบคุย ๑ ความเป็นผู้ชอบหลับ ๑ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุ เทวดาตนนั้นได้กล่าวคำนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย ครั้งนั้น เทวดาตนนั้นทราบว่า พระศาสดาของเราทรงพอพระทัย จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้น ฯ
ครั้งนั้น เมื่อราตรีนั้นล่วงไป พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เทวดาตนหนึ่ง เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว มีวรรณะงามยิ่งนัก ยังโปกขรณีย์วิหารทั้งสิ้นให้สว่างไสว แล้วเข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๓ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุ ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้ชอบการงาน ๑ ความเป็นผู้ชอบคุย ๑ ความเป็นผู้ชอบหลับ ๑ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุ ครั้นเทวดาตนนั้นได้กล่าวคำนี้แล้ว อภิวาทเรา ทำประทักษิณแล้วได้หายไป ณ ที่นั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย มิใช่ลาภของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายได้ด้วยยาก ที่เธอทั้งหลายเสื่อมจากกุศลธรรม แม้เทวดาก็รู้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม ๓ ประการแม้เหล่าอื่น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม ๓ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ๑ ความเป็นผู้ว่ายาก ๑ ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาลเสื่อมจากกุศลธรรม ชนเหล่านั้นทั้งปวง ก็เสื่อมแล้วจากกุศลธรรม เพราะธรรม ๖ ประการนี้แล ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคตกาล จักเสื่อมจากกุศลธรรม ชนเหล่านั้นทั้งปวง ก็จักเสื่อมจากกุศลธรรม เพราะธรรม ๖ ประการนี้แล และชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบันกาล ย่อมเสื่อมจากกุศลธรรม ชนเหล่านั้นทั้งปวงก็ย่อมเสื่อมจากกุศลธรรมเพราะธรรม ๖ ประการนี้แล ฯ [ธรรมอันเป็นที่ตั้งของความเสื่อมจากกุศลธรรมของภิกษุ6ประการคือ 1.ความเป็นผู้ชอบการงาน ไม่ปฏิบัติธรรม 2.ความเป็นผุ้ชอบคุย 3.ความเป็นผู้ชอบหลับ 4.ความเป็นผู้ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ 5.ความเป็นผู้ว่ายาก 6.ความเป็นผุ้มีมิตรชั่ว]
จบสูตรที่ ๑
๒. อปริหานิยสูตร
[๒๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรม ๖ ประการนี้ ท่านทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้ไม่ชอบการงาน ๑ ความเป็นผู้ไม่ชอบคุย ๑ ความเป็นผู้ไม่ชอบหลับ ๑ ความเป็นผู้ไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ ความเป็นผู้มีมิตรดี ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรม ๖ ประการนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาล ไม่เสื่อมแล้วจากกุศลธรรม ชนเหล่านั้นทั้งปวง ก็ไม่เสื่อมแล้วจากกุศลธรรม เพราะธรรม ๖ ประการนี้แล ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคตกาล จักไม่เสื่อมจากกุศลธรรม ชนเหล่านั้นทั้งปวง ก็จักไม่เสื่อมจากกุศลธรรมเพราะธรรม ๖ ประการนี้แล ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบัน ย่อมไม่เสื่อมจากกุศลธรรม ชนเหล่านั้นทั้งปวงก็ย่อมไม่เสื่อมจากกุศลธรรมเพราะธรรม ๖ ประการนี้แล ฯ [ธรรมอันเป็นที่ตั้งของความไม่เสื่อมจากกุศลธรรมของภิกษุ6ประการคือ 1.ความเป็นผู้ไม่ชอบการงาน 2.ความเป็นผุ้ไม่ชอบคุย 3.ความเป็นผู้ไม่ชอบหลับ 4.ความเป็นผู้ไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ 5.ความเป็นผู้ว่าง่าย 6.ความเป็นผุ้มีมิตรดี]
จบสูตรที่ ๒
๓. ภยสูตร
[๒๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่า ภัย นี้ เป็นชื่อของกาม คำว่า ทุกข์ นี้ เป็นชื่อของกาม คำว่า โรค นี้เป็นชื่อของกาม คำว่า ฝี นี้เป็นชื่อของกาม คำว่า เครื่องขัดข้อง นี้ เป็นชื่อของกาม คำว่า เปือกตม นี้เป็นชื่อของกาม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุไร คำว่า ภัย นี้ จึงเป็นชื่อของกาม เพราะสัตว์โลกผู้ยินดีด้วยความกำหนัดในกาม ถูกความกำหนัดเพราะความชอบพอเกี่ยวพันไว้ จึงไม่พ้นจากภัยแม้ที่มีในปัจจุบัน ไม่พ้นจากภัยแม้ในสัมปรายภพ ฉะนั้น คำว่าภัยนี้ จึงเป็นชื่อของกาม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุไร คำว่าทุกข์ ... โรค ... ฝี ... เครื่องขัดข้อง ... เปือกตมนี้ จึงเป็นชื่อของกาม เพราะสัตว์โลกผู้ยินดีด้วยความกำหนัดในกามนี้ ถูกความกำหนัดเพราะความชอบพอเกี่ยวพันไว้ จึงไม่พ้นจากเปือกตมแม้ในปัจจุบัน ไม่พ้นจากเปือกตมแม้ในสัมปรายภพ ฉะนั้น คำว่า เปือกตม นี้ จึงเป็นชื่อของกาม ฯ
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้วจึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า เราเรียก ภัย ทุกข์ โรค และสิ่งทั้ง ๒ คือ เครื่องขัดข้อง เปือกตม ว่าเป็นกาม เป็นที่ข้องของปุถุชน เพราะเห็นภัย ในการยึดถือ ซึ่งเป็นแดนเกิดของชาติและมรณะ ชนทั้งหลาย จึงหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น ดำเนินไปในนิพพาน อันเป็นที่ สิ้นชาติและมรณะ ชนเหล่านั้น ถึงแดนเกษม มีสุข ดับ สนิทในปัจจุบัน ผ่านพ้นเวรและภัย ล่วงทุกข์ทั้งปวง ฯ [คำว่ากามนี้อาจเรียกได้เป็นอย่างอื่นอีก6ลักษณะคือ 1.เรียกชื่อของกามว่าภัย เพราะผู้กำหนัดในกาม จึงไม่พ้นจากภัยในปัจจุบันและในสัมปรายภพ 2.เรียกชื่อของกามว่าทุกข์ เพราะผู้กำหนัดในกาม จึงไม่พ้นจากทุกข์ในปัจจุบันและในสัมปรายภพ 3.เรียกชื่อของกามว่าโรค เพราะผู้กำหนัดในกาม จึงไม่พ้นจากโรคในปัจจุบันและในสัมปรายภพ 4.เรียกชื่อของกามว่าฝี เพราะผู้กำหนัดในกาม จึงไม่พ้นจากฝีในปัจจุบันและในสัมปรายภพ 5.เรียกชื่อของกามว่าเครื่องขัดข้อง เพราะผู้กำหนัดในกาม จึงไม่พ้นจากเครื่องขัดข้องในปัจจุบันและในสัมปรายภพ 6.เรียกชื่อของกามว่าเปือกตม เพราะผู้กำหนัดในกาม จึงไม่พ้นจากเปือกตมในปัจจุบันและในสัมปรายภพ]
จบสูตรที่ ๓
๔. หิมวันตสูตร
[๒๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ พึงทำลายขุนเขาหิมวันต์ได้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงอวิชชาอันลามก ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ฉลาดในการเข้าสมาธิ ๑ เป็นผู้ฉลาดในการตั้งอยู่แห่งสมาธิ ๑ เป็นผู้ฉลาดในการออกแห่งสมาธิ ๑ เป็นผู้ฉลาดในความพร้อมมูลแห่งสมาธิ ๑ เป็นผู้ฉลาดในอารมณ์แห่งสมาธิ ๑ เป็นผู้ฉลาดในอภินิหารแห่งสมาธิ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล พึงทำลายขุนเขาหิมวันต์ได้ จะป่วยการกล่าวไปไยถึงอวิชชาอันลามกเล่า ฯ [ภิกษุประกอบด้วยธรรม6ประการพึงทำลายขุนเขาหิมวันต์ได้ จะกล่าวไปไยถึงอวิชชาอันลามก ธรรม6ประการนั้นคือ 1.ภิกษุเป็นผู้ฉลาดในการเข้าสมาธิ 2.ภิกษุเป็นผู้ฉลาดในการตั้งอยู่แห่งสมาธิ 3.ภิกษุเป็นผู้ฉลาดในการออกแห่งสมาธิ 4.ภิกษุเป็นผู้ฉลาดในความพร้อมมูลแห่งสมาธิ 5.ภิกษุเป็นผู้ฉลาดในอารมณ์แห่งสมาธิ 6.ภิกษุเป็นผู้ฉลาดในอภินิหารแห่งสมาธิ]
จบสูตรที่ ๔
๕. อนุสสติฏฐานสูตร
[๒๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุสสติ ๖ ประการนี้ ๖ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ... เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระตถาคต สมัยนั้น จิตของพระอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม ย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความอยาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่าความอยากนี้ เป็นชื่อของเบญจกามคุณ สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำพุทธานุสสติแม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยประการฉะนี้ ฯ
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ฯลฯ อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระธรรม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ... สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำธรรมานุสสติแม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยประการฉะนี้ ฯ
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวก ย่อมระลึกถึงพระสงฆ์ สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ... สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำสังฆานุสสติแม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยประการฉะนี้ ฯ
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมระลึกถึงศีลของตน อันไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงศีล สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ... สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำสีลานุสสติแม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยประการฉะนี้ ฯ
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมระลึกถึงจาคะของตนว่า เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ฯลฯ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงจาคะ สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ... สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำจาคานุสสติแม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยประการฉะนี้ ฯ
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมระลึกถึงเทวดาว่า เทวดาเหล่าจาตุมหาราชมีอยู่ เทวดาเหล่าดาวดึงส์มีอยู่ เทวดาเหล่ายามามีอยู่ เทวดาเหล่าดุสิตมีอยู่ เทวดาเหล่านิมมานรดีมีอยู่ เทวดาเหล่าปรนิมมิตวสวัดดีมีอยู่ เทวดาเหล่าพรหมมีอยู่ เทวดาที่สูงกว่านั้นมีอยู่ เทวดาเหล่านั้น ประกอบด้วยศรัทธาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว อุบัติในเทวดาชั้นนั้น ศรัทธาเช่นนั้นแม้ของเรามีอยู่ เทวดาเหล่านั้น ประกอบด้วยศีลเช่นใด ด้วยสุตะเช่นใด ด้วยจาคะเช่นใด ด้วยปัญญาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว อุบัติในเทวดาชั้นนั้น ปัญญาเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา ของตนและของเทวดาเหล่านั้น สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม เป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความอยาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่า ความอยาก นี้ เป็นชื่อของเบญจกามคุณ สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำเทวตานุสสติแม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยประการฉะนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุสสติ ๖ ประการนี้แล ฯ [พระผุ้มีพระภาคตรัสสอนถึงอนุสสติ 6ประการ คือ 1.อริยสาวกระลึกถึงพระผู้มีพระภาคว่า พระองค์เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม เมื่ออริยสาวกระลึกเช่นนี้ จิตย่อมไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะ กลุ้มรุม พ้นจากตัณหาและกามคุณ5 นี่คือพุทธานุสสติ 2.อริยสาวกระลึกถึงพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผุ้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว วิญญูชนรู้ได้เฉพาะตน เมื่ออริยสาวกระลึกเช่นนี้ จิตย่อมไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะ กลุ้มรุม พ้นจากตัณหาและกามคุณ5 นี่คือธรรมานุสสติ 3.อริยสาวกระลึกถึงพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผุ้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นเนื้อนาบุญของโลก เมื่ออริยสาวกระลึกเช่นนี้ จิตย่อมไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะ กลุ้มรุม พ้นจากตัณหาและกามคุณ5 นี่คือสังฆานุสสติ 4.อริยสาวกระลึกถึงศีลของตนว่า ไม่ขาด ไม่เศร้าหมอง เป็นไปเพื่อสมาธิ เมื่ออริยสาวกระลึกเช่นนี้ จิตย่อมไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะ กลุ้มรุม พ้นจากตัณหาและกามคุณ5 นี่คือสีลานุสสติ 5.อริยสาวกระลึกถึงจาคะของตนว่า เป็นลาภของเราแล้วหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่ปราศจากความตระหนี่ สละทรัพย์ของตนเป็นทานแก่ผุ้มีธรรมอยู่เนืองๆ เป็นผู้ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน เมื่ออริยสาวกระลึกเช่นนี้ จิตย่อมไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะ กลุ้มรุม พ้นจากตัณหาและกามคุณ5 นี่คือจาคานุสสติ 6.อริยสาวกระลึกถึงเทวดาว่า เทวดาเหล่าจาตุมหาราชิกามีอยู่ เทวดาเหล่าดาวดึงส์มีอยู่ เทวดาเหล่ายามามีอยู่ เทวดาเหล่าดุสิตมีอยู่ เทวดาเหล่านิมมานรดีมีอยู่ เทวดาเหล่าปรนิมมิตวสวัตตีมีอยู่ เทวดาเหล่าพรหมมีอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เช่นใด จึงถึงซึ่งความเป็นเทวดานั้น อันศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เช่นนั้น แม้เราก็มีอยู่ เมื่ออริยสาวกระลึกเช่นนี้ จิตย่อมไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะ กลุ้มรุม พ้นจากตัณหาและกามคุณ5 นี่คือเทวตานุสสติ]
จบสูตรที่ ๕
๖. กัจจานสูตร
[๒๙๗] ณ ที่นั้นแล ท่านพระมหากัจจานะ เรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระมหากัจจานะแล้ว ท่านพระมหากัจจานะได้กล่าวดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว คือ ข้อที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้รู้ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ถึงโอกาสได้ในที่คับแคบ เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน การถึงโอกาสนี้ คือ อนุสสติ ๖ ประการ ๖ ประการเป็นไฉน ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระตถาคต สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม เป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความอยาก ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย คำว่าความอยากนี้ เป็นชื่อของเบจญกามคุณ อริยสาวกนั้นแล ย่อมมีใจเสมอด้วยอากาศ ไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน โดยประการทั้งปวงอยู่ สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำพุทธานุสสติแม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดา ด้วยประการฉะนี้ ฯ
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ฯลฯ อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระธรรม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ... สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำธรรมานุสสติแม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดา ด้วยประการฉะนี้ ฯ
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค ปฏิบัติดีแล้ว ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงพระสงฆ์ สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ... สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำสังฆานุสสติแม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดา ด้วยประการฉะนี้ ฯ
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมระลึกถึงศีลของตน อันไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงศีล สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ฯลฯ สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำสีลานุสสติแม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดาด้วยประการฉะนี้ ฯ
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมระลึกถึงจาคะของตนว่า เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ฯลฯ ยินดีในการจำแนกทาน ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงจาคะ สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ฯลฯ สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำจาคานุสสติแม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดา ด้วยประการฉะนี้ ฯ
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมระลึกถึงเทวดาว่า เทวดาเหล่าจาตุมหาราชมีอยู่ ฯลฯ เทวดาที่สูงกว่านั้นมีอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว อุบัติในเทวดาชั้นนั้น ศรัทธาเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศีลเช่นใด ฯลฯ สุตะ จาคะ ด้วยปัญญาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว อุบัติในเทวดาชั้นนั้น ปัญญาเช่นนั้น แม้ของเราก็มีอยู่ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงศีล สุตะ จาคะ และปัญญา ของตนและของเทวดาเหล่านั้น สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม เป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความอยาก ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย คำว่าความอยากนี้ เป็นชื่อของเบญจกามคุณ อริยสาวกผู้นั้นแล ย่อมมีใจเสมอด้วยอากาศ ไพบูลย์ เป็นมหรคต ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน โดยประการทั้งปวงอยู่ สัตว์บางพวกในโลกนี้ทำเทวตานุสสติแม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดา ด้วยประการฉะนี้ ฯ
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว คือ ข้อที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้การถึงโอกาสได้ ในที่คับแคบ เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน การถึงโอกาสนี้ คือ อนุสสติ ๖ ประการนี้แล ฯ [ท่านพระมหากัจจานะได้เทศนาธรรมเรื่องอนุสสติ6ประการว่า น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ในข้อที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ถึงโอกาสที่จะหลุดพ้นในโลกที่คับแคบเพราะประกอบด้วยกามคุณ5 อนุสสติ6ประการคือ 1.อริยสาวกระลึกถึงพระผู้มีพระภาคว่า พระองค์เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม เมื่ออริยสาวกระลึกเช่นนี้ จิตย่อมไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะ กลุ้มรุม พ้นจากตัณหาและกามคุณ5 นี่คือพุทธานุสสติ 2.อริยสาวกระลึกถึงพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผุ้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว วิญญูชนรู้ได้เฉพาะตน เมื่ออริยสาวกระลึกเช่นนี้ จิตย่อมไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะ กลุ้มรุม พ้นจากตัณหาและกามคุณ5 นี่คือธรรมานุสสติ 3.อริยสาวกระลึกถึงพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผุ้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นเนื้อนาบุญของโลก เมื่ออริยสาวกระลึกเช่นนี้ จิตย่อมไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะ กลุ้มรุม พ้นจากตัณหาและกามคุณ5 นี่คือสังฆานุสสติ 4.อริยสาวกระลึกถึงศีลของตนว่า ไม่ขาด ไม่เศร้าหมอง เป็นไปเพื่อสมาธิ เมื่ออริยสาวกระลึกเช่นนี้ จิตย่อมไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะ กลุ้มรุม พ้นจากตัณหาและกามคุณ5 นี่คือสีลานุสสติ 5.อริยสาวกระลึกถึงจาคะของตนว่า เป็นลาภของเราแล้วหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่ปราศจากความตระหนี่ สละทรัพย์ของตนเป็นทานแก่ผุ้มีธรรมอยู่เนืองๆ เป็นผู้ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน เมื่ออริยสาวกระลึกเช่นนี้ จิตย่อมไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะ กลุ้มรุม พ้นจากตัณหาและกามคุณ5 นี่คือจาคานุสสติ 6.อริยสาวกระลึกถึงเทวดาว่า เทวดาเหล่าจาตุมหาราชิกามีอยู่ เทวดาเหล่าดาวดึงส์มีอยู่ เทวดาเหล่ายามามีอยู่ เทวดาเหล่าดุสิตมีอยู่ เทวดาเหล่านิมมานรดีมีอยู่ เทวดาเหล่าปรนิมมิตวสวัตตีมีอยู่ เทวดาเหล่าพรหมมีอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เช่นใด จึงถึงซึ่งความเป็นเทวดานั้น อันศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เช่นนั้น แม้เราก็มีอยู่ เมื่ออริยสาวกระลึกเช่นนี้ จิตย่อมไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะ กลุ้มรุม พ้นจากตัณหาและกามคุณ5 นี่คือเทวตานุสสติ]
จบสูตรที่ ๖
๗. สมยสูตรที่ ๑
[๒๙๘] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ มีเท่าไรหนอแล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ สมัยที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ มี ๖ ประการนี้ ๖ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุ สมัยใด ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีใจถูกกามราคะกลุ้มรุม ถูกกามราคะครอบงำอยู่ และเธอย่อมไม่ทราบชัดตามความเป็นจริง ซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งกามราคะที่เกิดขึ้นแล้ว สมัยนั้นภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ผมมีใจถูกกามราคะกลุ้มรุม ถูกกามราคะครอบงำอยู่ และไม่ทราบชัดตามความเป็นจริง ซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งกามราคะที่เกิดขึ้นแล้ว ดีแล้ว ขอท่านผู้มีอายุจงแสดงธรรมเพื่อละกามราคะแก่ผม ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ย่อมแสดงธรรมเพื่อละกามราคะแก่เธอ ดูกรภิกษุ นี้เป็นสมัยที่ ๑ ที่ควรเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ฯ
อีกประการหนึ่ง สมัยใด ภิกษุมีใจถูกพยาบาทกลุ้มรุม ถูกพยาบาทครอบงำอยู่ และเธอย่อมไม่ทราบชัดตามความเป็นจริง ซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้ว สมัยนั้น ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ผมมีใจถูกพยาบาทกลุ้มรุม ถูกพยาบาทครอบงำอยู่ และไม่ทราบชัดตามความเป็นจริง ซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้ว ดีแล้ว ขอท่านผู้มีอายุจงแสดงธรรมเพื่อละพยาบาทแก่ผม ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ย่อมแสดงธรรมเพื่อละพยาบาทแก่เธอ ดูกรภิกษุ นี้เป็นสมัยที่ ๒ ที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ฯ
อีกประการหนึ่ง สมัยใด ภิกษุมีใจถูกถีนมิทธะกลุ้มรุม ถูกถีนมิทธะครอบงำอยู่ และเธอย่อมไม่ทราบชัดตามความเป็นจริง ซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว สมัยนั้น ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ผมมีใจถูกถีนมิทธะกลุ้มรุม ถูกถีนมิทธะครอบงำอยู่ และไม่ทราบชัดตามความเป็นจริง ซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว ดีแล้ว ขอท่านผู้มีอายุจงแสดงธรรมเพื่อละถีนมิทธะแก่ผม ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจย่อมแสดงธรรมเพื่อละถีนมิทธะแก่เธอ ดูกรภิกษุ นี้เป็นสมัยที่ ๓ ที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ฯ
อีกประการหนึ่ง สมัยใด ภิกษุมีใจถูกอุทธัจจกุกกุจจะกลุ้มรุม อุทธัจจกุกกุจจะครอบงำอยู่ และเธอย่อมไม่ทราบชัดตามความเป็นจริง ซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว สมัยนั้น ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ผมมีใจถูกอุทธัจจกุกกุจจะกลุ้มรุม ถูกอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำอยู่ และไม่ทราบชัดตามความเป็นจริง ซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว ดีแล้ว ขอท่านผู้มีอายุจงแสดงธรรมเพื่อละอุทธัจจกุกกุจจะแก่ผม ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ย่อมแสดงธรรมเพื่อละอุทธัจจกุกกุจจะแก่เธอ ดูกรภิกษุ นี้เป็นสมัยที่ ๔ ที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ฯ
อีกประการหนึ่ง สมัยใด ภิกษุมีใจถูกวิจิกิจฉากลุ้มรุม ถูกวิจิกิจฉาครอบงำอยู่ และเธอย่อมไม่ทราบชัดตามความเป็นจริง ซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว สมัยนั้น ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ผมมีใจถูกวิจิกิจฉากลุ้มรุม ถูกวิจิกิจฉาครอบงำอยู่ และไม่ทราบชัดตามความเป็นจริง ซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว ดีแล้ว ขอท่านผู้มีอายุจงแสดงธรรมเพื่อละวิจิกิจฉาแก่ผม ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ย่อมแสดงธรรมเพื่อละวิจิกิจฉาแก่เธอ ดูกรภิกษุ นี้เป็นสมัยที่ ๕ ที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ฯ
อีกประการหนึ่ง สมัยใด ภิกษุไม่รู้ ไม่เห็น ซึ่งนิมิตเป็นที่สิ้นอาสวะโดยลำดับ ในเมื่อตนอาศัยกระทำไว้ในใจนั้น สมัยนั้น ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ผมไม่รู้ ไม่เห็นซึ่งนิมิตเป็นที่สิ้นอาสวะโดยลำดับ ในเมื่อผมอาศัยกระทำไว้ในใจนั้น ดีแล้ว ขอท่านผู้มีอายุจงแสดงธรรมเพื่อความสิ้นอาสวะแก่ผม ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจย่อมแสดงธรรมเพื่อความสิ้นอาสวะแก่เธอ ดูกรภิกษุ นี้เป็นสมัยที่ ๖ ที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ฯ [พระผู้มีพระภาคทรงสั่งสอนว่า เวลาที่ควรแก่การเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ คือ 1.ภิกษุถูกกามราคะครอบงำ พึงเข้าไปสอบถามภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจเพื่อทราบถึงอุบายเครื่องสลัดออกซึ่งกามราคะนั้น และขอให้ท่านแสดงธรรมเพื่อละกามราคะนั้น 2.ภิกษุถูกความพยาบาทครอบงำ พึงเข้าไปสอบถามภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจเพื่อทราบถึงอุบายเครื่องสลัดออกซึ่งความพยาบาทนั้น และขอให้ท่านแสดงธรรมเพื่อละความพยาบาทนั้น 3.ภิกษุถูกถีนมิทธะครอบงำ พึงเข้าไปสอบถามภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจเพื่อทราบถึงอุบายเครื่องสลัดออกซึ่งถีนมิทธะนั้น และขอให้ท่านแสดงธรรมเพื่อละถีนมิทธะนั้น 4.ภิกษุถูกอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำ พึงเข้าไปสอบถามภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจเพื่อทราบถึงอุบายเครื่องสลัดออกซึ่งอุทธัจจกุกกุจจะนั้น และขอให้ท่านแสดงธรรมเพื่อละอุทธัจจกุกกุจจะนั้น 5.ภิกษุถูกวิจิกิจฉาครอบงำ พึงเข้าไปสอบถามภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจเพื่อทราบถึงอุบายเครื่องสลัดออกซึ่งวิจิกิจฉานั้น และขอให้ท่านแสดงธรรมเพื่อละวิจิกิจฉานั้น 6.ภิกษุไม่รู้ไม่เห็นซึ่งหนทางปฏิบัติเพื่อความสิ้นอาสวะโดยลำดับ พึงเข้าไปสอบถามภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจเพื่อทราบถึงหนทางปฏิบัติเพื่อความสิ้นอาสวะโดยลำดับ ในเมื่อตนกระทำไว้ในใจโดยชอบแล้ว และขอให้ท่านแสดงธรรมเพื่อความสิ้นอาสวะ]
จบสูตรที่ ๗
(ยังมีต่อ)
Create Date : 02 มีนาคม 2549 |
Last Update : 9 มีนาคม 2549 16:15:17 น. |
|
0 comments
|
Counter : 589 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
|
|