Group Blog
 
<<
มีนาคม 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
13 มีนาคม 2549
 
All Blogs
 

พระกำลังของพระตถาคต - 3

(ต่อ)

โกศลสูตรที่ ๑

[๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กาสีและโกศลชนบทมีประมาณเท่าใด แว่นแคว้นของพระเจ้าปเสนทิโกศลมีประมาณเท่าใด พระเจ้าปเสนทิโกศล ประชาชนกล่าวว่าเป็นผู้เลิศในกาสีและโกศลชนบท และแว่นแคว้นประมาณนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่โดยแท้ ความแปรปรวนมีอยู่แม้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในความดำรงอยู่ในสมบัตินั้น เมื่อหน่ายในความดำรงอยู่ในสมบัตินั้น ย่อมคลายกำหนัดในความเลิศแห่งสมบัติ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งเลวเล่า ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ย่อมหมุนเวียนส่องทิศให้ไพโรจน์อยู่ในที่มีประมาณเท่าใด โลกธาตุพันหนึ่งมีอยู่ในที่มีประมาณเท่านั้น ในโลกธาตุพันหนึ่งนั้นมีดวงจันทร์พันดวง ดวงอาทิตย์พันดวง ขุนเขาสิเนรุหนึ่งพัน ชมพูทวีปพันทวีป อมรโคยานพันทวีป อุตตรกุรุพันทวีป ปุพพวิเทหะพันทวีป มหาสมุทรสี่พัน เทวโลกชั้นมหาราชสี่พัน ชั้นจาตุมหาราชิกาหนึ่งพัน ชั้นดาวดึงส์หนึ่งพัน ชั้นยามาหนึ่งพัน ชั้นดุสิตหนึ่งพัน ชั้นนิมมานรดีหนึ่งพัน ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีหนึ่งพัน ชั้นพรหมโลกหนึ่งพัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย พันโลกธาตุมีประมาณเท่าใด ท้าวมหาพรหม โลกกล่าวว่าเป็นเลิศในพันโลกธาตุนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่ ความแปรปรวนก็มีอยู่แม้แก่ท้าวมหาพรหม ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในพันโลกธาตุนั้น เมื่อหน่ายในพันโลกธาตุนั้น ย่อมคลายกำหนัดในความเป็นผู้เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยที่โลกนี้พินาศมีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อโลกพินาศอยู่ สัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปในพรหมโลก ชั้นอาภัสสรโดยมาก สัตว์เหล่านั้นเป็นผู้สำเร็จแล้วด้วยใจ มีปีติเป็นภักษา มีแสงสว่างในตัวเอง เที่ยวไปได้ในอากาศ มีปรกติดำรงอยู่ได้ด้วยดี ย่อมดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้นอาภัสสรนั้นตลอดกาลยืนยาวนาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อโลกพินาศอยู่ อาภัสสรเทพทั้งหลาย โลกกล่าวว่าเป็นผู้เลิศ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ ความแปรปรวนก็มีแม้แก่อาภัสสรเทพทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในพรหมโลกชั้นอาภัสสรนั้น เมื่อหน่ายในพรหมโลกชั้นอาภัสสรนั้น ย่อมคลายกำหนัดในความเป็นผู้เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บ่อเกิดแห่งกสิณ ๑๐ ประการนี้ ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลผู้หนึ่ง ย่อมจำปฐวีกสิณในเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่มีสอง หาประมาณมิได้ บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำอาโปกสิณ ... บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำเตโชกสิณ ... บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำวาโยกสิณ ... บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำนีลกสิณ ... บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำปีตกสิณ ... บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำโลหิตกสิณ ... บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำโอทาตกสิณ ... บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำอากาสกสิณ ... บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำวิญญาณกสิณในเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่มีสอง หาประมาณมิได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บ่อเกิดแห่งกสิณ ๑๐ ประการนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาบ่อเกิดแห่งกสิณ ๑๐ ประการนี้ วิญญาณกสิณในเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่มีสอง หาประมาณมิได้ ที่บุคคลผู้หนึ่งจำได้ เป็นยอด สัตว์ทั้งหลาย แม้ผู้มีสัญญาอย่างนี้แลมีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ ความแปรปรวนก็มีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลายแม้มีสัญญาอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในบ่อเกิดแห่งกสิณ เมื่อหน่ายในบ่อเกิดแห่งกสิณนั้น ย่อมคลายกำหนัดในสิ่งที่เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อภิภายตนะ ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือ คนหนึ่งมีรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกเล็กน้อย ทั้งที่มีผิวพรรณดี ทั้งที่มีผิวพรรณทราม ก็มีสัญญาอย่างนี้ว่า เรารู้เราเห็นย่ำยีรูปเหล่านั้น นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๑ ฯ

คนหนึ่งมีรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกไม่มีประมาณ ทั้งที่มีผิวพรรณดี ทั้งที่มีผิวพรรณทราม ก็มีสัญญาอย่างนี้ว่า เรารู้เราเห็นย่ำยีรูปเหล่านั้น นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๒ ฯ

คนหนึ่งมีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกเล็กน้อย ทั้งที่มีผิวพรรณดี ทั้งที่มีผิวพรรณทราม ก็มีสัญญาอย่างนี้ว่า เรารู้เราเห็นย่ำยีรูปเหล่านั้น นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๓ ฯ

คนหนึ่งมีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกไม่มีประมาณ ทั้งที่มีผิวพรรณดี ทั้งที่มีผิวพรรณทราม ก็มีสัญญาอย่างนี้ว่า เรารู้เราเห็นย่ำยีรูปเหล่านั้น นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๔ ฯ

คนหนึ่งมีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปในภายนอกเขียว มีสีเขียว รัศมีเขียว แสงสว่างเขียว เปรียบเหมือนดอกผักตบเขียว มีสีเขียว รัศมีเขียว แสงสว่างเขียว ฉันใด หรือเปรียบเหมือนผ้าเมืองพาราณสี มีเนื้อเกลี้ยงเกลาทั้งสองข้าง เขียว มีสีเขียว รัศมีเขียว แสงสว่างเขียว ฉันใด คนหนึ่งมีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกเขียว มีสีเขียว รัศมีเขียว แสงสว่างเขียว ก็มีสัญญาอย่างนี้ว่า เรารู้เราเห็นย่ำยีรูปเหล่านั้น ฉันนั้น นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๕ ฯ

คนหนึ่งมีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกเหลือง มีสีเหลือง รัศมีเหลือง แสงสว่างเหลือง เปรียบเหมือนดอกกัณณิกาเหลือง มีสีเหลือง มีรัศมีเหลือง แสงสว่างเหลือง ฉันใด หรือเปรียบเหมือนผ้าเมืองพาราณสี มีเนื้อเกลี้ยงเกลาทั้งสองข้าง เหลือง มีสีเหลือง มีรัศมีเหลือง แสงสว่างเหลือง ฉันใด คนหนึ่งมีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกเหลือง มีสีเหลือง มีรัศมีเหลือง แสงสว่างเหลือง ก็มีสัญญาอย่างนี้ว่า เรารู้เราเห็นย่ำยีรูปเหล่านั้น ฉันนั้น นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๖ ฯ

คนหนึ่งมีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกแดง มีสีแดง รัศมีแดง แสงสว่างแดง เปรียบเหมือนดอกเส้งแดง มีสีแดง รัศมีแดง แสงสว่างแดง ฉันใด หรือเปรียบเหมือนผ้าเมืองพาราณสี มีเนื้อเกลี้ยงเกลาทั้งสองข้าง แดง รัศมีแดง แสงสว่างแดง ฉันใด คนหนึ่งมีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกแดง มีสีแดง มีรัศมีแดง แสงสว่างแดงก็มีสัญญาอย่างนี้ว่า เรารู้เราเห็นย่ำยีรูปเหล่านั้น ฉันนั้น นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๗ ฯ

คนหนึ่งมีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกขาว มีสีขาว รัศมีขาว แสงสว่างขาว เปรียบเหมือนดาวประกายพฤกษ์ขาว มีสีขาว มีรัศมีขาว แสงสว่างขาว ฉันใด หรือเปรียบเหมือนผ้าเมืองพาราณสี มีเนื้อเกลี้ยงเกลาทั้งสองข้าง ขาว มีสีขาว รัศมีขาว แสดงสว่างขาว ฉันใด คนหนึ่งมีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกขาว มีสีขาว รัศมีขาว แสงสว่างขาว ก็มีสัญญาอย่างนี้ว่า เรารู้เราเห็นย่ำยีรูปเหล่านั้น ฉันนั้น นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๘ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อภิภายตนะ ๘ ประการนี้แล บรรดาอภิภายตนะ ๘ ประการนี้ อภิภายตนะประการที่ ๘ คือ คนหนึ่งมีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกขาว มีสีขาว มีรัศมีขาว แสงสว่างขาว ก็มีสัญญาอย่างนี้ว่า เรารู้เราเห็นย่ำยีรูปเหล่านั้น นี้เป็นเลิศ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายแม้ผู้มีสัญญาอย่างนี้แลมีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ ความแปรปรวนมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลายแม้มีสัญญาอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในอภิภายตนะนั้น เมื่อหน่ายในอภิภายตนะนั้น ย่อมคลายกำหนัดในสิ่งที่เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้า ๑ ปฏิบัติลำบากแต่รู้ได้เร็ว ๑ ปฏิบัติสะดวกแต่รู้ได้ช้า ๑ ปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็ว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาปฏิปทา ๔ ประการนี้ ปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็วเป็นเลิศ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายแม้ผู้ปฏิบัติอย่างนี้แลมีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ ความแปรปรวนมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลายแม้ปฏิบัติอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในปฏิปทานั้น เมื่อหน่ายในปฏิปทานั้น ย่อมคลายกำหนัดในสิ่งที่เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ คนหนึ่งย่อมจำปริตตารมณ์ คนหนึ่งย่อมจำมหัคคตารมณ์ ๒ คนหนึ่งย่อมจำอัปปมาณารมณ์ ๓ คนหนึ่งย่อมจำอากิญจัญญายตนะ ๔ ว่า หน่อยหนึ่งไม่มี ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๔ ประการนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสัญญา ๔ ประการนี้ อากิญจัญญายตนะที่คนหนึ่งจำได้ว่า หน่อยหนึ่งไม่มี ดังนี้เป็นเลิศ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายแม้ผู้มีสัญญาอย่างนี้แลมีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ ความแปรปรวนมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลายแม้ผู้มีสัญญาอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในสัญญานั้น เมื่อหน่ายในสัญญานั้น ย่อมคลายกำหนัดในสิ่งที่เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาทิฐินอกศาสนา ทิฐิว่า ถ้าเราจักไม่ได้มีแล้วไซร้ อัตภาพนี้ไม่พึงมีแก่เรา ถ้าเราจักไม่มีไซร้ ความห่วงในอะไรจักไม่มีแก่เรา ดังนี้ เป็นเลิศ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้มีทิฐิอย่างนี้พึงหวังข้อนี้ได้ว่า ความที่ใจไม่ชอบในภพจักไม่มีแก่เขา และความที่ใจชอบในความดับภพจักไม่มีแก่เขา ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้มีทิฐิอย่างนี้แลมีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ ความแปรปรวนมีอยู่แม้แก่สัตว์ทั้งหลายผู้มีทิฐิอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในทิฐินั้น เมื่อหน่ายในทิฐินั้น ย่อมคลายกำหนัดในสิ่งที่เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่งย่อมบัญญัติความหมดจดในสัตว์ผู้สูงสุดมีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ก้าวล่วงอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวงเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะอยู่นั้นเลิศกว่าบรรดาสมณพราหมณ์ผู้บัญญัติความหมดจดในสัตว์ผู้สูงสุด สมณพราหมณ์เหล่านั้น รู้ยิ่งแล้วซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น ย่อมแสดงธรรมเพื่อทำให้แจ้งซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายแม้ผู้มีวาทะอย่างนี้แลมีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ ความแปรปรวนมีอยู่แม้แก่สัตว์ทั้งหลายผู้มีวาทะอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น เมื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัดในสิ่งที่เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัตินิพพานอันยวดยิ่งในปัจจุบันมีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น เพราะรู้ความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ ประการ เลิศกว่าการบัญญัตินิพพานอันยอดยิ่งในปัจจุบันแห่งสมณพราหมณ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่งย่อมกล่าวตู่เราผู้มีวาทะอย่างนี้ ผู้กล่าวอย่างนี้ด้วยคำไม่จริง ด้วยคำเปล่า ด้วยคำเท็จ ด้วยคำไม่เป็นจริงว่า พระสมณโคดมไม่บัญญัติความกำหนดรู้กามทั้งหลาย ไม่บัญญัติความกำหนดรู้รูปทั้งหลาย ไม่บัญญัติความกำหนดรู้เวทนาทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมบัญญัติความกำหนดรู้กามทั้งหลายด้วย ย่อมบัญญัติความกำหนดรู้รูปทั้งหลายด้วย ย่อมบัญญัติความกำหนดรู้เวทนาทั้งหลายด้วย เราเป็นผู้หายหิวแล้ว ดับแล้ว เย็นแล้ว ย่อมบัญญัติอนุปาทาปรินิพพานในปัจจุบัน ฯ
[พระผู้มีพระภาคทรงยกธรรมว่าด้วยความไม่เที่ยง10ประการดังนี้
1.แคว้นกาสีและโกศล แว่นแคว้นของพระเจ้าปเสนทิโกศลมีประมาณเท่าใด พระเะจ้าปเสนทิโกศลผู้เป็นเลิศในแคว้นนั้น ยังมีความเป็นอย่างอื่น ความแปรปรวนไป ความคลายกำหนัดในความเลิศแห่งสมบัติมีอยู่ จะกล่าวไปไยถึงสิ่งเลวเล่า
2.ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ตลอดจนพันโลกธาตุมีท้าวมหาพรหมเป็นเลิศ พระพรหมนั้นยังมีความเป็นอย่างอื่น มีความแปรปรวนไป ความเบื่อหน่ายในพันโลกธาตุนั้นมีอยู่ จะกล่าวไปไยถึงสิ่งที่เลวเล่า
3.สมัยที่โลกพินาศอยู่ สัตว์ทั้งหลายเข้าถึงพรหมโลกชั้นอาภัสสร อาภัสสรเทพนี้ โลกกล่าวว่าเป็นผู้เลิศ แม้อาภัสสรเทพนี้ก็มีความเป็นอย่างอื่น มีความแปรปรวนไป เมื่อมีความหน่ายในพรหมโลกชั้นอาภัสสรอันเลิศ จะกล่าวไปไยถึงสิ่งเลวเล่า
4.วิญญาณกสิณในเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง เป็นยอดแห่งกสิณทั้งหลาย สัตว์ผู้มีสัญญาเช่นนี้มีอยู่ แต่ความเป็นอย่างอื่น ความแปรปรวนไปย่อมมีแก่สัตว์ผู้มีสัญญาเช่นนี้ อริยสาวกย่อมหน่ายในบ่อเกิดแห่งกสิณ ย่อมคลายกำหนัดในสิ่งที่เลิศเช่นนี้ จะกล่าวไปไยถึงสิ่งที่เลวเล่า
5.ในอภิภายตนะ8ประการ อภิภายตนะว่าคนหนึ่งมีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกขาว มีสีขาว มีรัศมีขาว แสงสว่างขาว ก็กำนดรู้ว่าเรารู้เราเห็นย่ำยีรูปเหล่านั้น นี้เป็นเลิศ สัตว์ผู้มีความกำหนดรู้ดังนี้มีอยู่ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความกำหนดรู้ดังนี้ก็ยังมีความเป็นอย่างอื่น มีความแปรปรวนไป อริยสาวกย่อมคลายกำหนัดในสิ่งที่เลิศดังนี้ จะกล่าวไปไยถึงสิ่งที่เลวเล่า
6.ปฏิปทา4ประการคือ 1.ปฏิบัติลำบากรู้ได้ช้า 2.ปฏิบัติลำบากรู้ได้เร็ว 3.ปฏิบัติสะดวกรู้ได้ช้า 4.ปฏิบัติสะดวกรู้ได้เร็ว ปฏิปทาที่ปฏิบัติสะดวกรู้ได้เร็วเป็นเลิศ สัตว์ทั้งหลายผู้มีปฏิปทานี้มีอยู่ แต่ความแปรปรวน ความเป็นอย่างอื่นไปย่อมมีแก่สัตว์เหล่านั้น อริยสาวกย่อมหน่ายแม้ในปฏิปทาที่เลิศนี้ จะกล่าวไปไยถึงสิ่งที่เลวเล่า
7.ความกำหนดรู้4ประการคือ 1.กามาวจรสัญญา 2.รูปาวจรสัญญา 3.โลกุตตรสัญญา 4.อากิญจัญญายตนสัญญา นี้ อากิญจัญญายตนะสัญญาเป็นเลิศ สัตว์ทั้งหลายที่มีสัญญาอันเลิศนี้มีอยู่ สัตว์เหล่านั้นยังมีความแปรปรวนไป มีความเป็นอย่างอื่นไป อริยสาวกนี้ย่อมคลายกำหนัดในสัญญาที่เลิศนี้ จะกล่าวไปไยถึงสิ่งที่เลวเล่า
8.ในบรรดาทิฏฐินอกพระศาสนา ทิฏฐิว่า ถ้าเราจักไม่ได้มีแล้วไซร้ อัตภาพนี้ไม่พึงมีแก่เรา ถ้าเราจักไม่มีไซร้ ความห่วงในอะไรจักไม่มีแก่เรา ถือเป็นทิฏฐิที่เลิศ เพราะผู้มีทิฏฐินี้ย่อมมีภพที่น่าชอบใจ ไม่พอใจในความดับภพทีเดียว สัตว์ทั้งหลายผู้มีทิฏฐิดังนี้มีอยู่ สัตว์ผู้มีทิฏฐินี้ยังมีความแปรปรวนไป มีความเป็นอย่างอื่น อริยสาวกย่อมหน่ายในทิฏฐิที่เลิศนั้น จะกล่าวไปไยถึงสิ่งที่เลว
9.ผู้ที่เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะมีอยู่ เป็นผู้เลิศในความหมดจดในสัตว์ สมณพราหมณ์ผู้รู้ยิ่งซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะ ย่อมแสดงวาทะเพื่อทำให้แจ้งเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น ความเป็นอย่างอื่น ความแปรปรวนไปยังมีแก่สมณพราหมณ์ผู้มีวาทะนั้น อริยสาวกทราบดังนี้ย่อมหน่ายในเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น เมื่อหน่ายในสิ่งที่เลิศ จะกล่าวไปไยถึงสิ่งที่เลว
10.สมณพราหมณ์ภายนอกพระศาสนาพวหนึ่งบัญญัตินิพพานไว้ แต่ความหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น เพราะรู้ความเกิด ดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งผัสสายตนะ6ประการ ยังเลิศกว่านั้น สมณพราหมณ์พวกหนึ่งย่อมไม่รู้ กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคว่าไม่ได้บัญญัติในความกำหนดรู้ในกาม ในรูป ในเวทนาทั้งหลาย แท้จริงพระผู้มีพระภาคย่อมบัญญัติความกำหนดรู้กามทั้งหลาย บัญญัติความกำหนดรู้รูปทั้งหลาย บัญญัติความกำหนดู้เวทนาทั้งหลาย พระองค์เป็นผู้หายหิวแล้ว ดับแล้ว เย็นแล้ว ย่อมบัญญัติซึ่งอนุปาทาปรินิพพาน]


จบสูตรที่ ๙

โกศลสูตรที่ ๒

[๓๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จกลับจากการรบชนะสงครามมาแล้ว มีพระราชประสงค์อันได้แล้ว ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปยังอาราม เสด็จไปโดยพระราชยานเท่าที่ยานจะไปได้ เสด็จลงจากยานแล้ว เสด็จไปด้วยพระบาทเข้าไปสู่อาราม ฯ

ก็โดยสมัยนั้น ภิกษุมากรูปเดินจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นแล้วได้ตรัสถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ในที่ไหนหนอ ด้วยว่าดิฉันประสงค์จะเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ขอถวายพระพร ขอมหาบพิตรจงเงียบเสียงเสด็จเข้าไปยังพระวิหารซึ่งมีประตูปิดนั่นแล้ว ไม่รีบด่วน เสด็จเข้าไปยังระเบียงทรงกระแอม ทรงเคาะอกเลาประตูเถิด พระผู้มีพระภาคจักทรงเปิดประตูรับ ขอถวายพระพร ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเงียบเสียง เสด็จเข้าไปยังวิหารที่มีประตูปิดนั้น ครั้นแล้ว มิได้ทรงรีบด่วน เสด็จเข้าไปยังระเบียงแล้ว ทรงกระแอม ทรงเคาะอกเลาประตู พระผู้มีพระภาคทรงเปิดประตูรับ ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปสู่วิหาร ซบพระเศียรลงที่พระบาททั้งคู่ของพระผู้มีพระภาคทรงจุ๊บพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยพระโอฐ ทรงนวดด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง และทรงประกาศพระนามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันคือพระเจ้าปเสนทิโกศล หม่อมฉันคือพระเจ้าปเสนทิโกศล ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรทรงเห็นอำนาจประโยชน์อะไรเล่า จึงทรงทำความนบนอบอย่างยิ่ง มอบถวายความนับถืออันประกอบด้วยเมตตาเห็นปานนี้ ในสรีระนี้ ฯ

พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นความกตัญญูกตเวที จึงทำความนบนอบอย่างยิ่ง ถวายความนับถืออันประกอบด้วยเมตตาเห็นปานนี้ ในพระผู้มีพระภาค เพราะพระผู้มีพระภาคทรงปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ชนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่อเกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก ทรงยังชนหมู่มากให้ดำรงอยู่ในอริยญายธรรม คือ ความเป็นผู้มีกัลยาณธรรม ความเป็นผู้มีกุศลธรรม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์แม้นี้แล จึงทำความนอบน้อมอย่างยิ่ง ถวายความนับถืออันประกอบด้วยเมตตาเห็นปานนี้ ในพระผู้มีพระภาค ฯ

อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีศีล มีศีลอันเจริญ มีศีลอันประเสริฐ มีศีลเป็นกุศล ทรงเป็นผู้ประกอบแล้วด้วยกุศลศีล ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์แม้นี้แล จึงทำความนอบน้อมอย่างยิ่ง ถวายความนับถืออันประกอบด้วยเมตตาเห็นปานนี้ ในพระผู้มีพระภาค ฯ

อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ทรงเสพเสนาสนะอันสงัดซึ่งตั้งอยู่แนวป่า ตลอดกาลนาน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์แม้นี้แล จึงทำความนอบน้อมอย่างยิ่ง ถวายความนับถืออันประกอบด้วยเมตตาเห็นปานนี้ ในพระผู้มีพระภาค ฯ

อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงสันโดษด้วยจีวร บิณฑบาตเสนาสนะและเภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยแก่คนไข้ ตามมีตามได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์แม้นี้แล จึงทำความนอบน้อมอย่างยิ่ง ถวายความนับถืออันประกอบด้วยเมตตาเห็นปานนี้ ในพระผู้มีพระภาค ฯ

อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี ทรงเป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์แม้นี้แล จึงทำความนอบน้อมอย่างยิ่ง ถวายความนับถืออันประกอบด้วยเมตตาเห็นปานนี้ในพระผู้มีพระภาค ฯ

อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งกถาเป็นเครื่องขัดเกลาอย่างยิ่ง เป็นที่สบายแห่งการเที่ยวไปแห่งจิต คือ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา สีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุตติญาณทัสสนกถา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์แม้นี้แล จึงทำความนอบน้อมอย่างยิ่ง ถวายความนับถืออันประกอบด้วยเมตตาเห็นปานนี้ ในพระผู้มีพระภาค ฯ

อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์แม้นี้แล จึงทำความนอบน้อมอย่างยิ่ง ถวายความนับถืออันประกอบด้วยเมตตาเห็นปานนี้ ในพระผู้มีพระภาค ฯ

อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุข เสวยทุกข์อย่างนี้ มีกำหนดอายุเพียงเท่านี้ ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็เป็นผู้มีชื่อย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนี้ มีกำหนดอายุเพียงเท่านี้ ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ ทรงระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์แม้นี้แล จึงทำความนอบน้อมอย่างยิ่ง ถวายความนับถืออันประกอบด้วยเมตตาเห็นปานนี้ในพระผู้มีพระภาค ฯ

อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคย่อมทรงเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุมนุษย์ ย่อมทรงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ย่อมทรงเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุมนุษย์ ย่อมทรงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นอำนาจประโยชน์แม้นี้แล จึงทำความนอบน้อมอย่างยิ่ง ถวายความนับถืออันประกอบด้วยเมตตาเห็นปานนี้ ในพระผู้มีพระภาค ฯ

อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยพระปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นอำนาจประโยชน์แม้นี้แล จึงทำความนอบน้อมอย่างยิ่ง ถวายความนับถืออันประกอบด้วยเมตตาเห็นปานนี้ ในพระผู้มีพระภาค ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเป็นผู้มีกิจมาก มีกรณียะมากขอถวายบังคมลาไป ณ บัดนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมหาบพิตร ขอมหาบพิตรทรงสำคัญกาลอันควรในบัดนี้เถิด ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกสลเสด็จลุกขึ้นจากอาสน์ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทรงทำประทักษิณแล้ว เสด็จกลับไป ฯ
[ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทรงจูบพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยพระโอฐ ทรงนวดด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง และทรงประกาศพระนามว่า ข้าพระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันคือพระเจ้าปเสนทิโกศล พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า มหาบพิตรทรงเห็นอำนาจประโยชน์ใด จึงทรงทำความนบนอบอย่างยิ่ง มอบถวายความนับถืออันประกอบด้วยเมตตาเห็นปานนี้ ในสรีระนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลถึงเพราะธรรม10ประการของพระผู้มีพระภาคที่พระองค์ทรงเล็งเห็น นั่นคือ
1.พระผู้มีพระภาคทรงปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ชนหมู่มาก เพื่อความสุข ความเกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก ยังชนหมู่มากให้ดำรงอยู่ในอริยญายธรรม
2.พระผู้มีพระภาคทรงมีศีลอันเจริญ ประเสริฐ เป็นกุศล
3.พระผู้มีพระภาคทรงถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ทรงเสพเสนานะอันสงัด ตลอดกาลนาน
4.พระผู้มีพระภาคทรงสันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและเภสัชบริขาร ตามมีตามได้
5.พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ควรของคำนับ ของต้อนรับ ของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี ทรงเป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
6.พระผู้มีพระภาคทรงมีกถาอันเป็นเครื่องขัดเกลาอย่างยิ่ง ได้โดยไม่ลำบาก
7.พระผู้มีพระภาคได้ตามความปรารถนาซึ่งฌาน4อันมีในจิตยิ่งโดยไม่ลำบาก เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
8.พระผู้มีพระภาคทรงระลึกชาติได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ
9.พระผู้มีพระภาคทรงเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต ฯลฯ ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์
10.พระผู้มีพระภาคทรงกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ กระทำให้สิ้นไปซึ่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งโดยพระองค์เอง]


จบสูตรที่ ๑๐

จบมหาวรรคที่ ๓

************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ




 

Create Date : 13 มีนาคม 2549
0 comments
Last Update : 13 มีนาคม 2549 17:59:31 น.
Counter : 467 Pageviews.


พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.