Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728 
 
1 กุมภาพันธ์ 2549
 
All Blogs
 
ธรรม4ประการของการเป็นพระโสดาบัน

ในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรมในพระศาสนานี้ เชื่อว่าแทบทุกท่านคงวางวัตถุประสงค์ไว้ถึงการบรรลุนิพพาน พ้นจากกิเลส เพื่อจะไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก อย่างน้อยก็เข้าถึงกระแสพระนิพพานคือสำเร็จเป็นพระโสดาบัน ดังนั้นขอยกเอาพระสูตรที่กล่าวถึงว่า บุคคลประกอบด้วยธรรมที่ตั้งไว้ดีแล้วในตนอย่างไร จึงชื่อว่าเป็นพระโสดาบันครับ บางทีท่านที่สนใจอ่านแล้วอาจรู้สึกว่า ไม่ไกลเกินความเป็นไปได้ ขออนุโมทนากับทุกท่านครับ

พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม 11 สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค โสดาปัตติสังยุตต์

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

*****************************************
สรกานิวรรคที่ ๓

มหานามสูตรที่ ๑

ว่าด้วยกาลกิริยาอันไม่เลวทราม

[๑๕๐๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้พระนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้น พระเจ้ามหานามศากยราชเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทรงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนครกบิลพัสดุ์นี้ เป็นพระนครมั่งคั่ง เจริญรุ่งเรือง มีผู้คนมาก แออัดไปด้วยมนุษย์ มีถนนคับแคบ หม่อมฉันนั่งใกล้พระผู้มีพระภาค หรือนั่งใกล้ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่เจริญใจแล้ว เมื่อเข้าไปยังพระนครกบิลพัสดุ์ในเวลาเย็น ย่อมไม่ไปพร้อมกับ ช้าง ม้า รถ เกวียน และแม้กับบุรุษ สมัยนั้น หม่อมฉันลืมสติที่ปรารภถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม พระสงฆ์ หม่อมฉันมีความดำริว่า ถ้าในเวลานี้ เรากระทำกาละลงไป คติของเราจะเป็นอย่างไร อภิสัมปรายภพของเราจะเป็นอย่างไร?

[๑๕๐๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร อย่ากลัวเลยๆ การสวรรคตอันไม่เลวทรามจักมีแก่มหาบพิตร กาลกิริยาอันไม่เลวทรามจักมีแก่มหาบพิตร ดูกร มหาบพิตร จิตของผู้ใดผู้หนึ่งที่อบรมแล้วด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ตลอดกาลนาน กายนี้ของผู้นั้น มีรูป ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด มีความไม่เที่ยง ต้องขัดสี นวดฟั้น และมีอันแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา พวกกา แร้ง นกตะกรุม สุนัข สุนัขจิ้งจอก หรือสัตว์ต่างชนิด ย่อมกัดกินกายนี้แหละ ส่วนจิตของผู้นั้นอันศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา อบรมแล้วตลอดกาลนาน ย่อมเป็นคุณชาติไปในเบื้องบนถึงคุณวิเศษ.
[พระเจ้ามหานามศากยราชทรงกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่าในบางเวลา พระองค์ลืมสติไม่ได้นึกถึงพระรัตนตรัยเนื่องจากทรงมีการงานมาก เกรงว่าจะเป็นความประมาท พระผู้มีพระภาคตรัสว่าพระเจ้ามหานามศากยราชอบรมจิตแล้วด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ตลอดกาลนาน ย่อมมีคุณส่งไปในคติภพอันดี]

[๑๕๐๙] ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนบุรุษลงไปยังห้วงน้ำลึกแล้ว พึงทุบหม้อเนยใสหรือหม้อน้ำมัน สิ่งใดที่มีอยู่ในหม้อนั้นจะเป็นก้อนกรวดหรือกระเบื้องก็ตาม สิ่งนั้นจะจมลง สิ่งใดเป็นเนยใสหรือน้ำมัน สิ่งนั้นจะลอยขึ้นถึงความวิเศษ ฉันใด จิตของผู้ใดผู้หนึ่งอันที่อบรมแล้วด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ตลอดกาลนาน กายนี้ของผู้นั้น มีรูป ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ ... ส่วนจิตของผู้นั้นซึ่งอบรมแล้วด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ตลอดกาลนาน ย่อมเป็นคุณชาติไปในเบื้องบน ถึงคุณวิเศษ ฉันนั้นเหมือนกัน ขอถวายพระพร มหาบพิตรอย่ากลัวเลยๆ การสวรรคตอันไม่ลามกจักมีแก่มหาบพิตร กาลกิริยาอันไม่ลามกจักมีแก่มหาบพิตร.

จบ สูตรที่ ๑

มหานามสูตรที่ ๒

ว่าด้วยกาลกิริยาอันไม่เลวทราม

[๑๕๑๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้พระนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้น พระเจ้ามหานามศากยราชเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทรงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนครกบิลพัสดุ์นี้ เป็นพระนครมั่งคั่ง เจริญรุ่งเรือง มีผู้คนมาก แออัดไปด้วยมนุษย์ มีถนนคับแคบ หม่อมฉันนั่งใกล้พระผู้มีพระภาค หรือนั่งใกล้ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่เจริญใจแล้ว เมื่อเข้าไปยังพระนครกบิลพัสดุ์ในเวลาเย็น ย่อมไม่ไปพร้อมกับ ช้าง ม้า รถ เกวียน และแม้กับบุรุษ สมัยนั้น หม่อมฉันลืมสติที่ปรารภถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม พระสงฆ์ หม่อมฉันมีความดำริว่า ถ้าในเวลานี้ เรากระทำกาละลงไป คติของเราจะเป็นอย่างไร?

[๑๕๑๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร อย่ากลัวเลยๆ การสวรรคตอันไม่เลวทรามจักมีแก่มหาบพิตร กาลกิริยาอันไม่เลวทรามจักมีแก่มหาบพิตร ดูกร มหาบพิตร อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรมเจ้า ... ในพระสงฆ์ ... ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ... เป็นไปเพื่อสมาธิ.

[๑๕๑๒] ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนต้นไม้ที่น้อมโน้มโอนไปทางทิศปราจีน เมื่อรากขาดแล้ว จะพึงล้มไปทางไหน?

ม. ก็พึงล้มไปทางที่ต้นไม้น้อมโน้มโอนไป พระเจ้าข้า.

พ. ฉันใด อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเหล่านี้ ก็ย่อมเป็นผู้น้อมโน้ม โอนไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกันแล.
[อีกคราวหนึ่ง พระเจ้ามหานามศากยราชทรงกราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยเรื่องเดียวกับในพระสูตรก่อนนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่าพระเจ้ามหานามศากยราชทรงประกอบไปด้วยธรรม 4 ประการคือความเลื่อมใสศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และมีศีลของพระอริยะ เป็นไปเพื่อสมาธิ ธรรม4ประการนี้น้อมนำพระองค์ไปสู่นิพพาน เปรียบดังต้นไม้ที่น้อมโน้มไปทางทิศปราจีน เมื่อรากขาดแล้วจะพึงล้มไปในทางที่ต้นไม้น้อมโน้มโอนไป]

จบ สูตรที่ ๒

โคธาสูตร

ปัญหาเกี่ยวกับการเป็นพระโสดาบัน

[๑๕๑๓] กบิลพัสดุ์นิทาน. ครั้งนั้น พระเจ้ามหานามศากยราชเสด็จเข้าไปหาเจ้าศากยะพระนามว่า โคธา ครั้นแล้วได้ตรัสถามว่า

[๑๕๑๔] ดูกรโคธา พระองค์ย่อมทรงทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมกี่ประการ ว่าเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า? เจ้าศากยะพระนามว่า โคธาตรัสตอบว่า ดูกรมหานาม หม่อมฉันย่อมทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ว่าเป็นพระโสดาบัน ... ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... หม่อมฉันย่อมทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ว่าเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.
[พระเจ้ามหานามศากยราชตรัสถามเจ้าศากยะพระนามว่า โคธาว่าบุคคลประกอบด้วยธรรมกี่ประการจึงชื่อว่าเป็นพระโสดาบัน เจ้าศากยะพระนามว่าโคธาตรัสตอบว่าสามประการ คือความศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์]

[๑๕๑๕] ดูกรมหานาม ก็พระองค์เล่าย่อมทรงทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมกี่ประการ ว่าเป็นพระโสดาบัน ...?

ม. ดูกรโคธา หม่อมฉันย่อมทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ว่าเป็นพระโสดาบัน ... ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน? อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ ดูกรโคธา หม่อมฉันย่อมทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ว่าเป็นพระโสดาบัน ... .

[๑๕๑๖] โค. จงรอก่อน มหานาม จงรอก่อน มหานาม พระผู้มีพระภาคเท่านั้นจะพึงทรงทราบเรื่องนี้ ว่าบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมเหล่านี้ หรือมิใช่ที่เป็นพระโสดาบัน?

ม. ดูกรโคธา เรามาเฝ้าพระผู้มีพระภาคกันเถิด แล้วจักกราบทูลเนื้อความนี้แก่พระองค์.
[พระเจ้ามหานามศากยราชตรัสว่ายังมีธรรมที่สำคัญอีกประการคือศีลที่อริยเจ้าประพฤติปฏิบัติ เป็นไปเพื่อสมาธิ ทั้งสองพระองค์ชักชวนกันไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อทูลถามเรื่องนี้]

[๑๕๑๗] ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่า มหานามและเจ้าศากยะพระนามว่า โคธา เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว เจ้าศากยะพระนามว่า มหานามได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส หม่อมฉันเข้าไปหาเจ้าศากยะพระนามว่า โคธา ได้กล่าวถามว่า ดูกรโคธา พระองค์ย่อมทรงทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมกี่ประการ ว่าเป็นพระโสดาบัน ...?

[๑๕๑๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันกล่าวถามอย่างนี้แล้ว เจ้าโคธาศากยะได้ตรัสตอบหม่อมฉันว่า ดูกรมหานาม หม่อมฉันย่อมทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการว่าเป็นพระโสดาบัน ... ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... หม่อมฉันย่อมทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ว่าเป็นพระโสดาบัน ... ก็พระองค์เล่า ย่อมทรงทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมกี่ประการ ว่าเป็นพระโสดาบัน ...?

[๑๕๑๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเจ้าโคธาศากยะตรัสถามอย่างนี้แล้ว หม่อมฉันตอบว่า ดูกรโคธา หม่อมฉันย่อมทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ว่าเป็นพระโสดาบัน ... ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้วไม่ขาด ... เป็นไปเพื่อสมาธิ หม่อมฉันย่อมทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเหล่านี้แล ว่าเป็นพระโสดาบัน ...

[๑๕๒๐] เมื่อหม่อมฉันกล่าวตอบอย่างนี้แล้ว เจ้าโคธาศากยะได้ตรัสกะหม่อมฉันว่า จงรอก่อน มหานาม จงรอก่อน มหานาม พระผู้มีพระภาคเท่านั้นจะพึงทรงทราบเรื่องนี้ว่าบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมเหล่านี้ หรือมิใช่ที่เป็นพระโสดาบัน?

[๑๕๒๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความบังเกิดแห่งเหตุเฉพาะบางประการ พึงบังเกิดขึ้นได้ในธรรมวินัยนี้ คือ ฝ่ายหนึ่งเป็นพระผู้มีพระภาค (ตรัส) และฝ่ายหนึ่งเป็นภิกษุสงฆ์ (กล่าว) ฝ่ายใด พระผู้มีพระภาคตรัส หม่อมฉันพึงเป็นฝ่ายนั้น ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำหม่อมฉันว่า เป็นผู้เลื่อมใสอย่างนี้.

[๑๕๒๒] ... ฝ่ายหนึ่งเป็นพระผู้มีพระภาค (ตรัส) และฝ่ายหนึ่งเป็นภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ (กล่าว) ฝ่ายใด พระผู้มีพระภาคตรัส หม่อมฉันเป็นฝ่ายนั้น ...

[๑๕๒๓] ... ฝ่ายหนึ่งเป็นพระผู้มีพระภาค (ตรัส) และฝ่ายหนึ่งเป็นภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ และอุบาสกทั้งหลาย (กล่าว) ฝ่ายใด พระผู้มีพระภาคตรัส หม่อมฉันเป็นฝ่ายนั้น ...

[๑๕๒๔] ... ฝ่ายหนึ่งเป็นพระผู้มีพระภาค (ตรัส) และฝ่ายหนึ่งเป็นภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ อุบาสกทั้งหลาย และอุบาสิกาทั้งหลาย (กล่าว) ฝ่ายใด พระผู้มีพระภาคตรัส หม่อมฉันเป็นฝ่ายนั้น ...

[๑๕๒๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความบังเกิดแห่งเหตุเฉพาะบางประการ พึงบังเกิดขึ้นได้ในธรรมวินัยนี้ คือ ฝ่ายหนึ่งเป็นพระผู้มีพระภาค (ตรัส) และฝ่ายหนึ่งเป็นภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ อุบาสกทั้งหลาย และอุบาสิกาทั้งหลาย โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ (กล่าว) ฝ่ายใด พระผู้มีพระภาคตรัส หม่อมฉันพึงเป็นฝ่ายนั้น ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำหม่อมฉันว่า เป็นผู้เลื่อมใสอย่างนี้.
[พระเจ้ามหานามศากยราชทรงตรัสความมีเนื้อหาโดยสรุปอีกว่า แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสในข้อใด อีกฝ่ายหนึ่งประกอบด้วยภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ทั้งหมดนี้กล่าวในอีกทางหนึ่ง พระเจ้ามหานามศากยราชพึงเชื่อถือแต่พระพุทธองค์ นี่คือความเลื่อมใสในพระพุทธองค์ของพระเจ้ามหานามศากยราช ในครั้งนี้พระเจ้ามหานามศากยราชทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงว่าบุคคลประกอบด้วยธรรมกี่ข้อจึงชื่อว่าเป็นพระโสดาบัน]

[๑๕๒๖] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร ผู้มีวาทะอย่างนี้ย่อมตรัสอะไรกะพระเจ้ามหานามศากยราช เจ้าโคธาศากยะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันผู้มีวาทะอย่างนี้ มิได้พูดอะไรกะพระเจ้ามหานามศากยราช นอกจากกัลยาณธรรม นอกจากกุศล.
[พระผู้มีพระภาคตรัสถามพระเจ้ามหานามศากยราชมีใจความว่า ผู้มีวาทะถึงความเลื่อมใสในพระพุทธองค์เช่นนี้คงตรัสสิ่งใดไว้อีกเป็นแน่แท้ เจ้าโคธาศากยะตรัสรับว่าพระองค์เองเป็นเจ้าของวาทะนี้ ซึ่งพระองค์ต้องการแสดงว่าผู้มีความเลื่อมใสในพระพุทธองค์อย่างยิ่งฉะนี้นั้น แม้ยังไม่มีศีลของพระอริยเจ้าก็นับได้ว่าเป็นพระโสดาบัน]

จบ สูตรที่ ๓

สรกานิสูตรที่ ๑

ผู้ถึงสรณคมน์ไม่ไปสู่วินิบาต

[๑๕๒๗] กบิลพัสดุ์นิทาน. ก็สมัยนั้น เจ้าศากยะพระนามว่า สรกานิ สิ้นพระชนม์ พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ท่านว่า เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า ดังได้ยินมา พวกเจ้าศากยะมากด้วยกัน มาร่วมประชุมพร้อมกันแล้ว ย่อมยกโทษติเตียนบ่นว่า น่าอัศจรรย์หนอ ท่านผู้เจริญ ไม่เคยมีมาแล้วหนอ ท่านผู้เจริญ บัดนี้ ในที่นี้ ใครเล่าจักไม่เป็นพระโสดาบัน เพราะเจ้าสรกานิศากยะสิ้นพระชนม์แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ท่านว่า เป็นพระโสดาบัน ... เจ้าสรกานิศากยะถึงความเป็นผู้ทุรพลด้วยสิกขา เสวยน้ำจัณฑ์.

[๑๕๒๘] ครั้งนั้น พระเจ้ามหานามศากยราช เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เจ้าสรกานิศากยะสิ้นพระชนม์ พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ท่านว่า เป็นพระโสดาบัน ... ดังได้ยินมา พวกเจ้าศากยะมากด้วยกันมาประชุมพร้อมกันแล้ว ย่อมยกโทษติเตียนบ่นว่า น่าอัศจรรย์หนอ ท่านผู้เจริญ ไม่เคยมีมาแล้วหนอ ท่านผู้เจริญ บัดนี้ ในที่นี้ ใครเล่าจักไม่เป็นพระโสดาบัน เพราะเจ้าสรกานิศากยะสิ้นพระชนม์แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ท่านว่า เป็นพระโสดาบัน ... เจ้าสรกานิศากยะถึงความเป็นผู้ทุรพลด้วยสิกขา เสวยน้ำจัณฑ์.
[เจ้าศากยะพระนามว่าสรกานิสิ้นพระชนม์ พระพุทธองค์พยากรณ์ว่าเจ้าสรกานิศากยะเป็นพระโสดาบัน พวกเจ้าศากยะพากันไม่เห็นด้วยเพราะเจ้าสรกานิศากยะไม่มีศีล มักทรงเสวยน้ำจัณฑ์ พระเจ้ามหานามศากยราชทูลถามพระพุทธองค์ในเรื่องนี้]

[๑๕๒๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมหาบพิตร อุบาสกผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะตลอดกาลนาน อย่างไรจะพึงไปสู่วินิบาต ก็บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกพึงกล่าวอุบาสกนั้นว่า อุบาสกผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะตลอดกาลนาน บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูก พึงกล่าวเจ้าสรกานิศากยะว่า เจ้าสรกานิศากยะเป็นอุบาสกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะตลอดกาลนาน อย่างไรจะพึงไปสู่วินิบาต.

[๑๕๓๐] ดูกรมหาบพิตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... มีปัญญาร่าเริง เฉียบแหลม และประกอบด้วยวิมุติ เขาย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ บุคคลแม้นี้พ้นจากนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาต.

[๑๕๓๑] ดูกรมหาบพิตร ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... มีปัญญาร่าเริง เฉียบแหลม แต่ไม่ประกอบด้วยวิมุติ เพราะสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป เขาเกิดเป็นอุปปาติกะ จักปรินิพพานในภพที่เกิดนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา บุคคลแม้นี้ก็พ้นจากนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาต.

[๑๕๓๒] ดูกรมหาบพิตร ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ไม่มีปัญญาร่าเริง ไม่เฉียบแหลม และไม่ประกอบด้วยวิมุติ เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป (และ) เพราะราคะ โทสะ และโมหะเบาบาง เขาได้เป็นพระสกทาคามี มาสู่โลกนี้อีกคราวเดียวเท่านั้น จะกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ บุคคลแม้นี้ก็พ้นจากนรก ... อบาย ทุคติ วินิบาต.

[๑๕๓๓] ดูกรมหาบพิตร ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ไม่มีปัญญาร่าเริง ไม่เฉียบแหลม และไม่ประกอบด้วยวิมุติ เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป เขาได้เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า บุคคลแม้นี้ก็พ้นจากนรก ... อบาย ทุคติ วินิบาต.

[๑๕๓๔] ดูกรมหาบพิตร ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ไม่มีปัญญาร่าเริง ไม่เฉียบแหลม และไม่ประกอบด้วยวิมุติ แต่ว่าเขามีธรรมเหล่านี้ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ ธรรมทั้งหลาย ที่พระตถาคตประกาศแล้ว ย่อมทนซึ่งการเพ่งด้วยปัญญาของเขา (ยิ่ง) กว่าประมาณ บุคคลแม้นี้ก็ไม่ไปสู่นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาต.

[๑๕๓๕] ดูกรมหาบพิตร ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ไม่มีปัญญาร่าเริง ไม่เฉียบแหลม และไม่ประกอบด้วยวิมุติ แต่ว่าเขามีธรรมเหล่านี้ คือ สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ และเขามีศรัทธา มีความรักในพระตถาคตพอประมาณ บุคคลแม้นี้ก็ไม่ไปสู่นรก ... อบาย ทุคติ วินิบาต.

[๑๕๓๖] ดูกรมหาบพิตร ถ้าแม้ต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ พึงรู้ทั่วถึงสุภาษิตทุพภาษิตไซร้ อาตมภาพก็พึงพยากรณ์ต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ว่า เป็นพระโสดาบัน ... จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า จะป่วยกล่าวไปไยถึงเจ้าสรกานิศากยะ เจ้าสรกานิศากยะ สมาทานสิกขาในเวลาสิ้นพระชนม์ ขอถวายพระพร.
[พระพุทธองค์ทรงยืนยันว่าเจ้าสรกานิศากยะทรงสมาทานศีลบริบูรณ์ในเวลาสิ้นพระชนม์]

จบ สูตรที่ ๔

สรกานิสูตรที่ ๒

ผู้ถึงสรณคมน์ไม่ไปสู่วินิบาต

[๑๕๓๗] กบิลพัสดุ์นิทาน. ก็สมัยนั้น เจ้าสรกานิศากยะสิ้นพระชนม์ พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ท่าน ว่าเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า ดังได้ยินมา พวกเจ้าศากยะมากด้วยกัน มาร่วมประชุมพร้อมกันแล้ว ย่อมยกโทษติเตียนบ่นว่า น่าอัศจรรย์หนอ ท่านผู้เจริญ ไม่เคยมีมาแล้วหนอ ท่านผู้เจริญ บัดนี้ ในที่นี้ ใครเล่าจักไม่เป็นพระโสดาบัน เพราะเจ้าสรกานิศากยะสิ้นพระชนม์แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ท่าน ว่าเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า เจ้าสรกานิศากยะมิได้กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขา.

[๑๕๓๘] ครั้งนั้น พระเจ้ามหานามศากยราช เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เจ้าสรกานิศากยะสิ้นพระชนม์ พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ ว่าเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า ดังได้ยินมา พวกเจ้าศากยะมากด้วยกัน มาร่วมประชุมพร้อมกันแล้ว ย่อมยกโทษติเตียนบ่นว่า ... เจ้าสรกานิศากยะมิได้กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขา.

[๑๕๓๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมหาบพิตร อุบาสกผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะตลอดกาลนาน จะพึงไปสู่วินิบาตอย่างไรเล่า ก็บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกพึงกล่าวอุบาสกนั้นว่า อุบาสกผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะตลอดกาลนาน เมื่อจะกล่าวให้ถูก พึงกล่าวเจ้าสรกานิศากยะว่า เจ้าสรกานิศากยะเป็นอุบาสกผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะตลอดกาลนาน เจ้าสรกานิศากยะนั้นจะพึงไปสู่วินิบาตอย่างไร?

[๑๕๔๐] ดูกรมหาบพิตร บุคคลบางคนในโลกนี้ เลื่อมใสยิ่งแน่วแน่ในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... มีปัญญาร่าเริง เฉียบแหลม และประกอบด้วยวิมุติ เขาย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ บุคคลแม้นี้ก็พ้นจากนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาต.

[๑๕๔๑] ดูกรมหาบพิตร ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ เลื่อมใสยิ่ง แน่วแน่ในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... มีปัญญาร่าเริง เฉียบแหลม แต่ไม่ประกอบด้วยวิมุติ เพราะสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป เขาเป็นพระอนาคามี ผู้อันตราปรินิพพายี อุปหัจจปรินิพพายี อสังขารปรินิพพายี สสังขารปรินิพพายี อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี บุคคลแม้นี้ก็พ้นจากนรก ... อบาย ทุคติ วินิบาต.

[๑๕๔๒] ดูกรมหาบพิตร ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ เลื่อมใสยิ่งแน่วแน่ในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ไม่มีปัญญาร่าเริง ไม่เฉียบแหลม ไม่ประกอบด้วยวิมุติ เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป เพราะราคะ โทสะ และโมหะเบาบาง เขาได้เป็นพระสกทาคามี จักมาสู่โลกนี้อีกคราวเดียวเท่านั้น แล้วกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ บุคคลแม้นี้ก็พ้นจากนรก ... อบาย ทุคติ วินิบาต.

[๑๕๔๓] ดูกรมหาบพิตร บุคคลบางคนในโลกนี้ เลื่อมใสยิ่งแน่วแน่ในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ไม่มีปัญญาร่าเริง ไม่เฉียบแหลม ทั้งไม่ประกอบด้วยวิมุติเพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป เขาได้เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า บุคคลแม้นี้ก็พ้นจากนรก ... อบาย ทุคติ วินิบาต.

[๑๕๔๔] ดูกรมหาบพิตร ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่เลื่อมใสยิ่งแน่วแน่ในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ไม่มีปัญญาร่าเริง ไม่เฉียบแหลม ทั้งไม่ประกอบด้วยวิมุติ แต่เขามีธรรมเหล่านี้ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ ธรรมทั้งหลายที่พระตถาคตประกาศแล้ว ย่อมทนซึ่งการเพ่งด้วยปัญญาของเขา (ยิ่ง) กว่าประมาณ บุคคลแม้นี้ก็ไม่ไปสู่นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาต.

[๑๕๔๕] ดูกรมหาบพิตร ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่เลื่อมใสยิ่งแน่วแน่ในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ไม่มีปัญญาร่าเริง ไม่เฉียบแหลม ทั้งไม่ประกอบด้วยวิมุติ แต่เขามีธรรมเหล่านี้ คือ สัทธินทรีย์ ... ปัญญินทรีย์ และเขามีศรัทธา มีความรักในพระตถาคตพอประมาณ บุคคลแม้นี้ก็ไม่ไปสู่นรก ... อบาย ทุคติ วินิบาต.

[๑๕๔๖] ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนนาที่ไม่ราบเรียบ มีพื้นไม่ดี ยังมิได้ก่นหลักตอออก และพืชเล่าก็แตกร้าว เสีย ถูกลมและแดดกระทบแล้ว ไม่แข็ง (ลีบ) เก็บไว้ไม่ดี ถึงฝนจะหลั่งสายน้ำลงมาเป็นอย่างดี พืชเหล่านั้นจะพึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์บ้างไหม?

พระเจ้ามหานามศกยราชกราบทูลว่า หามิได้ พระเจ้าข้า.

พ. ข้อนี้ฉันใด ดูกรมหาบพิตร ในข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมที่กล่าวไม่ดี ประกาศไม่ดี ไม่เป็นนิยยานิกธรรม ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศ อาตมภาพกล่าวเรื่องนี้ในเพราะนาที่ไม่ราบเรียบ และสาวกเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมในธรรมนั้น อาตมภาพกล่าวเรื่องนี้ในเพราะพืชที่ไม่ดี.

[๑๕๔๗] ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนนาที่ราบเรียบ มีพื้นดี ก่นหลักตอออกหมดแล้ว และพืชเล่าก็ไม่แตกร้าว ไม่เสีย ลมและแดดมิได้กระทบ แข็งแกร่ง เก็บไว้ดีแล้ว ฝนพึงหลั่งสายน้ำลงมาเป็นอย่างดี พืชเหล่านั้นจะพึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์บ้างไหม?

ม. ได้ พระเจ้าข้า.

พ. ข้อนั้นฉันใด ดูกรมหาบพิตร ในข้อนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมที่กล่าวดีแล้ว ประกาศดีแล้ว เป็นนิยยานิกธรรม เป็นไปเพื่อความสงบ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ อาตมภาพกล่าวเรื่องนี้ในเพราะนาที่ราบเรียบ และสาวกเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมในธรรมนั้น อาตมภาพกล่าวเรื่องนี้ในเพราะพืชที่ไม่ดี จะป่วยกล่าวไปไยถึงเจ้าสรกานิศากยะ เจ้าสรกานิศากยะได้กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในเวลาจะสิ้นพระชนม์.

จบ สูตรที่ ๕

ทุสีลยสูตรที่ ๑

จำแนกโสตาปัตติยังคะ ๔ ด้วยอาการ ๑๐

[๑๕๔๘] สาวัตถีนิทาน. ก็สมัยนั้น ท่านอนาถบิณฑิกหฤหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านจงไปเถิด จงเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร ครั้นแล้ว จงไหว้เท้าทั้งสองของท่านพระสารีบุตรด้วยเศียรเกล้าตามคำของเราว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก เขาขอกราบเท้าทั้งสองของท่านพระสารีบุตรด้วยเศียรเกล้า และท่านจงเรียนอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ได้โปรดเถิด ขอท่านพระสารีบุตรจงอาศัยความอนุเคราะห์เข้าไปยังนิเวศน์ ของท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเถิด บุรุษนั้นรับคำของท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีแล้ว เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้เรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ท่านขอกราบเท้าทั้งสองของท่านพระสารีบุตรด้วยเศียรเกล้า และท่านสั่งมาอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ได้โปรดเถิด ขอท่านพระสารีบุตรจงอาศัยความอนุเคราะห์เข้าไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเถิด ท่านพระสารีบุตรรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ.

[๑๕๔๙] ครั้งนั้น เวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร มีท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เข้าไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ ครั้นแล้วได้ถามท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี ท่านพออดทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาคลายลง ไม่กำเริบขึ้นแลหรือ ความทุเลาย่อมปรากฏ ความกำเริบไม่ปรากฏแลหรือ ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมอดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนัก ไม่ทุเลาลงเลย ความกำเริบย่อมปรากฏ ความทุเลาไม่ปรากฏ.

[๑๕๕๐] สา. ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าเห็นปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ความไม่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าเห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้จำแนกธรรม ก็เมื่อท่านเห็นความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้านั้นอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับโดยพลัน.

[๑๕๕๑] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสในพระธรรมเห็นปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ความไม่เลื่อมใสในพระธรรมเห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ฯลฯ อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ก็เมื่อท่านเห็นความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมนั้นอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับโดยพลัน.

[๑๕๕๒] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์เห็นปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ความไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์เห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ก็เมื่อท่านเห็นความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์นั้นอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับโดยพลัน.

[๑๕๕๓] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยความเป็นผู้ทุศีลเห็นปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ความเป็นผู้ทุศีลเห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ ก็เมื่อท่านเห็นศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้วอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับโดยพลัน.

[๑๕๕๔] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิเห็นปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาทิฏฐิเห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีสัมมาทิฏฐิ ก็เมื่อท่านเห็นสัมมาทิฏฐินั้นอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับโดยพลัน.

[๑๕๕๕] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยมิจฉาสังกัปปะเห็นปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาสังกัปปะเห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีสัมมาสังกัปปะ ก็เมื่อท่านเห็นสัมมาสังกัปปะนั้นอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับโดยพลัน.

[๑๕๕๖] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยมิจฉาวาจาเห็นปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาวาจาเห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีสัมมาวาจา ก็เมื่อท่านเห็นสัมมาวาจานั้นอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับโดยพลัน.

[๑๕๕๗] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยมิจฉากัมมันตะเห็นปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉากัมมันตะเห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีสัมมากัมมันตะ ก็เมื่อท่านเห็นสัมมากัมมันตะนั้นอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับโดยพลัน.

[๑๕๕๘] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยมิจฉาอาชีวะเห็นปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาอาชีวะเห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีสัมมาอาชีวะ ก็เมื่อท่านเห็นสัมมาอาชีวะนั้นอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับโดยพลัน.

[๑๕๕๙] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยมิจฉาวายามะเห็นปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาวายามะเห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีสัมมาวายามะ ก็เมื่อท่านเห็นสัมมาวายามะนั้นอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับโดยพลัน.

[๑๕๖๐] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยมิจฉาสติเห็นปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาสติเห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีสัมมาสติ ก็เมื่อท่านเห็นสัมมาสตินั้นอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับโดยพลัน.

[๑๕๖๑] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยมิจฉาสมาธิเห็นปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาสมาธิเห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีสัมมาสมาธิ ก็เมื่อท่านเห็นสัมมาสมาธินั้นอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับโดยพลัน.

[๑๕๖๒] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยมิจฉาญาณะเห็นปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาญาณะเห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีสัมมาญาณะ ก็เมื่อท่านเห็นสัมมาญาณะนั้นอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับโดยพลัน.

[๑๕๖๓] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยมิจฉาวิมุติเห็นปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาวิมุติเห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีสัมมาวิมุติ ก็เมื่อท่านเห็นสัมมาวิมุตินั้นอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับโดยพลัน.

[๑๕๖๔] ครั้งนั้น เวทนาของท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีสงบระงับแล้วโดยพลัน ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีอังคาสท่านพระสารีบุตรและท่านพระอานนท์ ด้วยอาหารที่เขาจัดมาเฉพาะตน ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี เมื่อท่านพระสารีบุตรฉันเสร็จนำมือออกจากบาตรแล้วจึงถือเอาอาสนะต่ำอันหนึ่ง นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ท่านพระสารีบุตรอนุโมทนาด้วยคาถาเหล่านี้
[๑๕๖๕] ผู้ใดมีศรัทธา ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ในพระตถาคต มีศีลอันงาม
ที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว สรรเสริญแล้ว มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์
และมีความเห็นอันตรง บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า เป็นคนไม่ขัดสน
ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์ เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มีปัญญา เมื่อ
ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงประกอบตามซึ่งศรัทธา
ศีล ความเลื่อมใสและความเห็นธรรม.
[ท่านพระสารีบุตรเทศนาโปรดท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่ามีท่านมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีศีลบริสุทธิ์ มีสัมมาปฏิปทาในมรรคมีองค์แปด มีสัมมาญาณะและสัมมาวิมุติ เมื่อท่านเห็นว่ามีธรรมเหล่านี้ในตน เวทนาจะสงบระงับโดยพลัน ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีหายป่วยเพราะเหตุนี้]

[๑๕๖๖] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตร ครั้นอนุโมทนาด้วยคาถาเหล่านี้แล้ว จึงลุกจากอาสนะหลีกไป.

[๑๕๖๗] ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอมาจากไหนแต่ยังวัน ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรกล่าวสอนอนาถบิณฑิกคฤหบดีด้วยโอวาทข้อนี้ๆ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ สารีบุตรเป็นบัณฑิต สารีบุตรมีปัญญามาก ได้จำแนกโสตาปัตติยังคะ ๔ ด้วยอาการ ๑๐ อย่าง.
[ท่านพระอานนท์กราบทูลพระผู้มีพระภาคถึงเรื่องนี้ พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญท่านพระสารีบุตรว่าเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก ได้จำแนกโสตาปัตติยังคะ4 ด้วยอาการ10 อย่าง
โสตาปัตติยังคะ4 - ความเลื่อมใสศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และความมีศีลบริสุทธิ์ เป็นไปเพื่อสมาธิ
อาการ10 - สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมากัมมันตะ สัมมาวาจา สัมมาอาชีวะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุติ]


จบ สูตรที่ ๖

ทุสีลยสูตรที่ ๒

กลัวความตายเพราะไม่มีธรรม ๔ ประการ

[๑๕๖๘] สาวัตถีนิทาน. ก็สมัยนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านจงไปเถิด จงเข้าไปหาท่านพระอานนท์ ครั้นแล้ว จงไหว้เท้าทั้งสองของท่านพระอานนท์ด้วยเศียรเกล้าตามคำของเราว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ขอกราบเท้าทั้งสองของท่านพระอานนท์ด้วยเศียรเกล้า และท่านจงเรียนอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ได้โปรดเถิด ขอท่านพระอานนท์จงอาศัยความอนุเคราะห์เข้าไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเถิด บุรุษนั้นรับคำของท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีแล้ว เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้เรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ท่านขอกราบเท้าทั้งสองของท่านพระอานนท์ด้วยเศียรเกล้า และท่านสั่งมาอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ได้โปรดเถิด ขอท่านพระอานนท์จงอาศัยความอนุเคราะห์เข้าไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเถิด ท่านพระอานนท์รับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ.

[๑๕๖๙] ครั้งนั้น เวลาเช้า ท่านพระอานนท์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ ครั้นแล้วได้ถามท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า

[๑๕๗๐] ดูกรคฤหบดี ท่านพออดทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้แลหรือ ทุกขเวทนาคลายลง ไม่กำเริบขึ้นแลหรือ ความทุเลาย่อมปรากฏ ความกำเริบไม่ปรากฏแลหรือ? ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมอดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนัก ไม่ทุเลาลงเลย ความกำเริบย่อมปรากฏ ความทุเลาไม่ปรากฏ.

[๑๕๗๑] อ. ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมมีความสะดุ้งหวาดเสียว กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า ธรรม ๔ ประการ เป็นไฉน? ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับในโลกนี้ ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ก็เมื่อเขาเห็นความไม่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้านั้นอยู่ในตน ย่อมมีความสะดุ้งหวาดเสียว กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า.

อีกประการหนึ่ง ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสในพระธรรม ก็เมื่อเขาเห็นความไม่เลื่อมใสในพระธรรมนั้นอยู่ในตน ย่อมมีความสะดุ้งหวาดเสียว กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า.

อีกประการหนึ่ง ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์ ก็เมื่อเขาเห็นความไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์นั้นอยู่ในตน ย่อมมีความสะดุ้งหวาดเสียว กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า.

อีกประการหนึ่ง ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยความเป็นผู้ทุศีล ก็เมื่อเขาเห็นความเป็นผู้ทุศีลนั้นอยู่ในตน ย่อมมีความสะดุ้งหวาดเสียว กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า.

ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมมีความสะดุ้งหวาดเสียว กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า.

[๑๕๗๒] ดูกรคฤหบดี อริยสาวกผู้ได้สดับ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียว ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า ธรรม ๔ ประการ เป็นไฉน? อริยสาวกผู้ได้สดับในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้จำแนกธรรม ก็เมื่อเขาเห็นความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้านั้นอยู่ในตน ย่อมไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียว ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า.

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกผู้ได้สดับ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ฯลฯ อันวิญญูชน พึงรู้เฉพาะตน ก็เมื่อเขาเห็นความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมนั้นอยู่ในตน ย่อมไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียว ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า.

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกผู้ได้สดับ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ก็เมื่อเขาเห็นความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์นั้นอยู่ในตน ย่อมไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียว ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า.

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกผู้ได้สดับ ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ ก็เมื่อเขาเห็นศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้วนั้นอยู่ในตน ย่อมไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียว ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า.

ดูกรคฤหบดี อริยสาวกผู้ได้สดับ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียว ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า.

[๑๕๗๓] ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีกล่าวว่า ข้าแต่ท่านอานนท์ผู้เจริญ กระผมไม่กลัว กระผมจักพูดแก่ท่านได้ ด้วยว่ากระผมประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... อนึ่ง สิกขาบทเหล่าใดซึ่งสมควรแก่คฤหัสถ์ อันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว กระผมยังไม่แลเห็นความขาดอะไรๆ ของสิกขาบทเหล่านั้นในตนเลย.
[ท่านพระอานนท์เทศนาสั่งสอนท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า ผู้มีความเลื่อมใสมั่นคงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และมีศีลบริสุทธิ์ย่อมไม่สะดุ้งกลัว ไม่มีความหวาดเสียวต่อภัยต่างๆ ไม่หวาดกลัวต่อความตาย ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐียืนยันคำเทศนาของท่านพระอานนท์ว่าท่านเองมีองค์แห่งความเป็นพระโสดาบันครบถ้วนบริบูรณ์]

อ. ดูกรคฤหบดี เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว โสดาปัตติผล ท่านพยากรณ์แล้ว.

จบ สูตรที่ ๗

เวรภยสูตรที่ ๑

ว่าด้วยภัยเวร ๕ ประการ

[๑๕๗๔] สาวัตถีนิทาน. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี ผู้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า ดูกรคฤหบดี ภัยเวร ๕ ประการของอริยสาวกสงบระงับแล้ว อริยสาวกประกอบแล้วด้วยโสตาปัตติยังคะ ๔ ประการ และญายธรรมอันประเสริฐ อริยสาวกนั้นเห็นดีแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา อริยสาวกนั้นหวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เรามีนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาต สิ้นแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.

[๑๕๗๕] ภัยเวร ๕ ประการเป็นไฉน? ดูกรคฤหบดี บุคคลผู้มีปกติฆ่าสัตว์ ย่อมประสพภัยเวรอันใด ที่เป็นไปในปัจจุบันก็มี ที่เป็นไปในสัมปรายภพก็มี ได้เสวยทุกขโทมนัสที่เป็นไปทางใจก็มี ก็เพราะการฆ่าสัตว์เป็นปัจจัย เมื่ออริยสาวกเว้นจากการฆ่าสัตว์แล้ว ภัยเวรอันนั้นเป็นอันสงบระงับไปด้วยประการฉะนี้ บุคคลผู้ลักทรัพย์ ... บุคคลผู้ประพฤติผิดในกาม ... บุคคลผู้พูดเท็จ ... บุคคลผู้ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ย่อมประสพภัยเวรอันใด ที่เป็นไปในปัจจุบันก็มี ที่เป็นไปในสัมปรายภพก็มี ได้เสวยทุกข์โทมนัสที่เป็นไปทางใจก็มี ก็เพราะดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเป็นปัจจัย เมื่ออริยสาวกงดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ภัยเวรอัน อันนั้นเป็นอันสงบระงับไปด้วยประการฉะนี้ ภัยเวร ๕ ประการเหล่านี้ สงบระงับแล้ว.
[ภัยเวร 5 ประการที่พระอริยเจ้าทำให้สงบระงับแล้วคือการไปกำเนิดในภพภูมิอันเป็นทุคติ คือนรก เปรตวิสัย อสุรกายภูมิ และติรัจฉานภูมิ เนื่องจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ละเมิดผิดในกาม พูดเท็จ ดื่มสุรา]

[๑๕๗๖] อริยสาวกประกอบด้วยโสตาปัตติยังคะ ๔ ประการเป็นไฉน? ดูกรคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ อริยสาวกประกอบด้วยโสตาปัตติยังคะ ๔ ประการเหล่านี้.

[๑๕๗๗] ก็ญายธรรมอันประเสริฐ อันอริยสาวกนั้นเห็นดีแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา เป็นไฉน? ดูกรคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมกระทำไว้ในใจซึ่งปฏิจจสมุปบาทอย่างเดียว โดยอุบายอันแยบคายเป็นอย่างดีว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้ย่อมเกิด ด้วยประการดังนี้ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ย่อมดับ ด้วยประการดังนี้ คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้ ก็เพราะอวิชชาดับด้วยการสำรอกโดยหาส่วนเหลือมิได้ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับวิญญาณจึงดับ ... ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้ ญายธรรมอันประเสริฐนี้ อริยสาวกนั้นเห็นดีแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา.

[๑๕๗๘] ดูกรคฤหบดี เมื่อใด ภัยเวร ๕ ประการนี้ของอริยสาวกสงบระงับแล้ว อริยสาวกประกอบแล้วด้วยโสตาปัตติยังคะ ๔ ประการเหล่านี้ และญายธรรมอันประเสริฐนี้ อันอริยสาวกนั้นเห็นดีแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นหวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เรามีนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาต สิ้นแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.

จบ สูตรที่ ๘

เวรภยสูตรที่ ๒

ผู้ระงับภัยเวร ๕ ได้พยากรณ์ตนเองได้

[๑๕๗๙] สาวัตถีนิทาน ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด ภัยเวร ๕ ประการนี้ของอริยสาวกสงบระงับแล้ว อริยสาวกประกอบแล้วด้วยโสตาปัตติยังคะ ๔ ประการเหล่านี้ และญายธรรมอันประเสริฐนี้ อันอริยสาวกนั้นเห็นดีแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นหวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เรามีนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาต สิ้นแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.

จบ สูตรที่ ๙

ลิจฉวีสูตร

ผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเป็นพระโสดาบัน

[๑๕๘๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้น มหาอำมาตย์ของเจ้าลิจฉวีชื่อนันทกะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะมหาอำมาตย์ของเจ้าลิจฉวีชื่อนันทกะว่า

[๑๕๘๑] ดูกรนันทกะ อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ... เป็นไปเพื่อสมาธิ ดูกรนันทกะ อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.

[๑๕๘๒] ดูกรนันทกะ ก็แลอริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยอายุทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เป็นผู้ประกอบด้วยวรรณะทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เป็นผู้ประกอบด้วยสุขทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เป็นผู้ประกอบด้วยยศทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เป็นผู้ประกอบด้วยความเป็นใหญ่ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ดูกรนันทกะ ก็เราได้ฟังแต่สมณะหรือพราหมณ์อื่น จึงกล่าวเรื่องนั้น หามิได้ ความจริง เรารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง จึงกล่าวเรื่องนั้น.

[๑๕๘๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว บุรุษคนหนึ่งได้กล่าวกะมหาอำมาตย์ของเจ้าลิจฉวีชื่อนันทกะว่า ถึงเวลาอาบน้ำแล้ว ท่านผู้เจริญ นันทกะมหาอำมาตย์กล่าวว่า ดูกรพนาย บัดนี้ยังไม่ต้องการอาบน้ำภายนอก ต้องการจักอาบน้ำภายใน คือ ความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค.

จบ สูตรที่ ๑๐

จบ สรกานิวรรคที่ ๓

**************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ


Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2549
Last Update : 1 กุมภาพันธ์ 2549 15:40:42 น. 0 comments
Counter : 676 Pageviews.

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.