|
ธรรมจากท่านพระสารีบุตร
วันนี้ขอยกเอาพระสูตรในวรรคที่ท่านพระสารีบุตรกล่าวถึงธรรมอันน่าสนใจไว้หลายพระสูตรครับ
พระสูตรยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม 14 อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
***************************************** อาฆาตวรรคที่ ๒
๑. อาฆาตวินยสูตรที่ ๑
[๑๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ระงับความอาฆาตซึ่งเกิดขึ้นแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญกรุณาในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญอุเบกขาในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงถึงการไม่นึกไม่ใฝ่ใจในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงนึกถึงความเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตนให้มั่นในบุคคลนั้นว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักเป็นทายาท (ผู้รับผล) ของกรรมนั้น ดังนี้ ๑ ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นด้วยประการฉะนี้ ฯ [ธรรมอันเป็นที่ระงับของความอาฆาต5ประการคือ 1.พึงเจริญเมตตาในบุคคลผู้ควรอาฆาตด้วย 2.พึงเจริญกรุณาในบุคคลผู้ควรอาฆาตด้วย 3.พึงเจิญอุเบกขาในบุคคลผู้ควรอาฆาตด้วย 4.พึงไม่นึกถึง ไม่ใฝ่ใจในบุคคลผู้ควรอาฆาตด้วย 5.พึงนึกถึงเรื่องกรรมย่อมบังเกิดแก่ผู้กระทำกรรมนั้นเองในเมื่อมีบุคคลผู้ควรอาฆาตด้วย]
จบสูตรที่ ๑
๒. อาฆาตวินยสูตรที่ ๒
[๑๖๒] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรอาวุโส ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ระงับความอาฆาต ซึ่งเกิดขึ้นแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ (แต่) เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้ อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ (แต่) เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้ อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่ย่อมได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้ อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ และย่อมไม่ได้ทางสงบใจ ไม่ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้ อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ และย่อมได้ทางสงบใจ ย่อมได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในบุคคล ๕ จำพวกนั้น บุคคลใด เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ (แต่) เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไร เหมือนอย่างว่า ภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรเห็นผ้าเก่าที่ถนน เหยียบให้มั่นด้วยเท้าซ้าย เขี่ยออกดูด้วยเท้าขวา ส่วนใดเป็นสาระ ก็เลือกถือเอาส่วนนั้นแล้วหลีกไป แม้ฉันใด บุคคลใด เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ (แต่) เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุไม่พึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น ส่วนความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น ฉันนั้น ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย บุคคลใด เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ (แต่) เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไร เหมือนอย่างว่า สระน้ำที่ถูกสาหร่ายและแหนคลุมไว้ บุรุษผู้เดินทางร้อนอบอ้าว เหนื่อยอ่อน ระหายน้ำ เขาลงสู่สระน้ำนั้น แหวกสาหร่ายและแหนด้วยมือทั้งสองแล้ว กอบน้ำขึ้นดื่มแล้วพึงไป แม้ฉันใด บุคคลใด เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ (แต่) เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุไม่พึงใส่ใจในส่วนนั้นในสมัยนั้น ส่วนความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจในส่วนนั้นในสมัยนั้น ฉันนั้น ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนี้อย่างนี้ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย บุคคลใด เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่ย่อมได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไร เหมือนอย่างว่า น้ำเล็กน้อยมีอยู่ในรอยโค บุรุษผู้เดินทางร้อนอบอ้าว เหนื่อยอ่อน ระหายน้ำ เขาพึงเกิดความคิดอย่างนี้ว่า น้ำเล็กน้อยมีอยู่ในรอยโคนี้ ถ้าเราจักกอบขึ้นดื่มหรือใช้ภาชนะตักขึ้นดื่มไซร้ เราก็จักทำน้ำนั้นให้ไหวบ้าง ให้ขุ่นบ้าง ให้ไม่เป็นที่ควรดื่มบ้าง ถ้ากระไรเราพึงคุกเข่าก้มลงดื่มอย่างโคดื่มน้ำแล้วหลีกไปเถิด เขาคุกเข่าก้มลงดื่มน้ำอย่างโคดื่มน้ำแล้วไป แม้ฉันใด บุคคลใด เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่ย่อมได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุไม่พึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น แม้ความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุก็ไม่พึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น แต่การได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควรส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น ฉันนั้น ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย บุคคลใด เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์และย่อมไม่ได้ทางสงบใจ ไม่ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไร เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก เดินทางไกล แม้ข้างหน้าเขาก็มีบ้านอยู่ไกล แม้ข้างหลังเขาก็มีบ้านอยู่ไกล เขาไม่พึงได้อาหารที่สบาย (ถูกโรค) เภสัชที่สบาย ผู้พยาบาลที่สมควร และผู้นำทางไปสู่บ้าน บุรุษบางคนผู้เดินทางไกลพึงเห็นเขา บุรุษนั้นพึงเข้าไปตั้งความการุณ ความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ในเขาว่า โอ คนๆ นี้พึงได้อาหารที่สบาย เภสัชที่สบาย ผู้พยาบาลที่สมควร และผู้นำทางไปสู่บ้าน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า คนๆ นี้อย่าถึงความพินาศฉิบหาย ณ ที่นี้เลย แม้ฉันใด บุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ และย่อมไม่ได้ทางสงบใจ ไม่ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ภิกษุพึงเข้าไปตั้งความการุณ ความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ ในบุคคลแม้เห็นปานนี้ว่า โอท่านผู้นี้พึงละกายทุจริตแล้ว อบรมกายสุจริต พึงละวจีทุจริตแล้ว อบรมวจีสุจริต พึงละมโนทุจริตแล้ว อบรมมโนสุจริต ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า ท่านผู้นี้เมื่อตายไปแล้ว อย่าเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฉันนั้น ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย บุคคลใด เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ย่อมได้ทางสงบใจ และย่อมได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไร เหมือนอย่างว่า สระน้ำที่มีน้ำใส มีน้ำอร่อยดี มีน้ำเย็น มีน้ำขาว มีท่าน้ำราบเรียบ น่ารื่นรมย์ดาระดาดไปด้วยต้นไม้พันธุ์ต่างๆ บุคคลผู้เดินทางร้อนอบอ้าว เหนื่อย อ่อน ระหายน้ำ เขาพึงลงสู่สระน้ำนั้น อาบบ้าง ดื่มบ้าง แล้วขึ้นมานั่งบ้าง นอนบ้าง ที่ร่มไม้ใกล้สระน้ำนั้น แม้ฉันใด บุคคลใด เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ย่อมได้ทางสงบใจ และย่อมได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร แม้ความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น แม้ความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น แม้การได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัย ฉันนั้น ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย เพราะอาศัยบุคคลผู้เป็นที่น่าเลื่อมใสโดยประการทั้งปวง จิตย่อมเลื่อมใส ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ระงับความอาฆาต ซึ่งเกิดขึ้นแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง ๕ ประการนี้แล ฯ [ท่านพระสารีบุตรเทศนาแก่ภิกษุว่า ต่อผู้พึงอาฆาตด้วย5จำพวก พึงมนสิการเพื่อความไม่อาฆาตต่อบุคคลเหล่านั้นดังนี้ 1.ผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ แต่ประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ โดยการเลือกแต่สิ่งดีๆ ยึดถือเอาแต่สิ่งที่เป็นสาระในวาจาอันบริสุทธิ์ชของเขา เปรียบดังภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เห็นผ้าเก่าที่ถนน จึงเลือกเอาผ้านั้นแต่ส่วนที่ยังดีอยู่ไปใช้ 2.ผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่ประพฤติทางกายบริสุทธิ์ โดยไม่ใส่ใจในวาจาของเขา พึงใส่ใจในความประพฤติทางกายอันบริสุทธิ์ของเขา เปรียบดังสระน้ำที่มีแหนและสาหร่ายคลุม บุรุษผู้กระหายน้ำพึงลงสุ่สระนั้น แหวกสาหร่ายและแหนด้วยมือทั้งสองแล้วกอบน้ำขึ้นดื่ม 3.ผู้มีความประพฤติทางกายและวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่มีใจอันสงบ น่าเลื่อมใส พึงใส่ใจในการได้ความสงบใจ การได้ความเลื่อมใสของเขา เปรียบด้วยน้ำเพียงเล็กน้อยในรอยเท้าโค บุรุษผู้กระหายน้ำไม่ควรกอบขึ้นมาดื่ม เพราะน้ำจักขุ่น แต่ควรคุกเข่าก้มลงดื่มอย่างโคดื่มน้ำ 4.ผู้มีความประพฤติทางกายและวาจาไม่บริสุทธิ์ ไม่มีใจอันสงบ ไม่น่าเลื่อมใส เปรียบดังบุรุษผุ้อาพาธ เป็นไข้หนัก อยู่ห่างไกลบ้าน บุรุษผู้พบเขาควรมีความเอ็นดุ อนุเคราะห์ด้วยคิดเสียว่าคนๆนี้อย่าได้ถึงความพินาศเสียที่นี่เลย ฉันใดก็ฉันนั้น ภิกษุควรเข้าไปอนุคราะห์ว่า ท่านผู้นี้พึงละกายทุจริต อบรมกายสุจริต ละวจีทุจริต อบรมวจีสุจริต ละมโนทุจริต อบรมมโนสุจริต เพื่อว่าท่านผู้นี้เมื่อตายไปแล้วจงอย่าเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก 5.ผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ มีใจอันสงบ น่าเลื่อมใส บุคคลผู้ไม่ชอบใจในผู้นี้พึงคิดว่าเขาเปรียบดังสระน้ำอันใส มีน้ำอร่อย มีน้ำเย็น มีน้ำขาว มีท่าน้ำราบเรียบ น่ารื่นรมย์ มีต้นไม้นานาพันธ์ บุคคลผู้เดินทางไกล กระหายน้ำ เขาพึงลงสู่สระนั้น เพื่ออาบบ้าง ดื่มบ้าง แล้วขึ้นมานั่งบ้าง นอนบ้างที่ร่มไม้ใกล้สระน้ำ บุคคลผุ้ไม่ชอบใจในผู้ที่น่าเลื่อมใสนี้ เมื่ออาศัยแล้ว จิตย่อมเลื่อมใสด้วย]
จบสูตรที่ ๒
๓. สากัจฉาสูตร
[๑๖๓] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อสนทนากับเพื่อนพรหมจรรย์ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลโดยตนเอง และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาด้วยศีลสัมปทากถาได้ ๑ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิโดยตนเอง และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาด้วยสมาธิสัมปทากถาได้ ๑ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาโดยตนเองและเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาด้วยปัญญาสัมปทากถาได้ ๑ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติโดยตนเอง และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาด้วยวิมุตติสัมปทากถาได้ ๑ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะโดยตนเอง และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาด้วยวิมุตติญาณทัสสนะสัมปทากถาได้ ๑ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นผู้ควรเพื่อสนทนากับเพื่อนพรหมจรรย์ ฯ [ท่านพระสารีบุตรเทศนาแก่ภิกษุว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม5ประการนี้ ควรสนทนาด้วย ธรรม5ประการนั้นคือ 1.ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีลด้วยตนเอง ให้ความกระจ่างเรื่องการถึงพร้อมด้วยศีลได้ 2.ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิด้วยตนเอง ให้ความกระจ่างเรื่องการถึงพร้อมด้วยสมาธิได้ 3.ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาด้วยตนเอง ให้ความกระจ่างเรื่องการถึงพร้อมด้วยปัญญาได้ 4.ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติด้วยตนเอง ให้ความกระจ่างเรื่องการถึงพร้อมด้วยวิมุตติได้ 5.ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะด้วยตนเอง ให้ความกระจ่างเรื่องการถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะได้]
จบสูตรที่ ๓
๔. สาชีวสูตร
[๑๖๔] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรเป็นอยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลโดยตนเอง และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาด้วยศีลสัมปทากถาได้ ๑ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิโดยตนเอง และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาด้วยสมาธิสัมปทากถาได้ ๑ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาโดยตนเอง และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาด้วยปัญญาสัมปทากถาได้ ๑ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติโดยตนเอง และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาด้วยวิมุตติสัมปทากถาได้ ๑ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะโดยตนเอง และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาด้วยวิมุตติญาณทัสสนสัมปทากถาได้ ๑ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นผู้ควรเป็นอยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์ ฯ [ท่านพระสารีบุตรเทศนาแก่ภิกษุว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม5ประการนี้ ควรอยู่ร่วมด้วยกับเพื่อนพรหมจรรย์ ธรรม5ประการนั้นคือ 1.ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีลด้วยตนเอง ให้ความกระจ่างเรื่องการถึงพร้อมด้วยศีลได้ 2.ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิด้วยตนเอง ให้ความกระจ่างเรื่องการถึงพร้อมด้วยสมาธิได้ 3.ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาด้วยตนเอง ให้ความกระจ่างเรื่องการถึงพร้อมด้วยปัญญาได้ 4.ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติด้วยตนเอง ให้ความกระจ่างเรื่องการถึงพร้อมด้วยวิมุตติได้ 5.ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะด้วยตนเอง ให้ความกระจ่างเรื่องการถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะได้]
จบสูตรที่ ๔
๕. ปัญหาปุจฉาสูตร
[๑๖๕] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ก็ภิกษุบางรูปย่อมถามปัญหากะภิกษุอื่นด้วยเหตุ ๕ ประการ ทั้งหมดหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง เหตุ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุบางรูปย่อมถามปัญหากะภิกษุอื่นเพราะโง่เขลา เพราะหลงลืม ๑ ภิกษุบางรูปเป็นผู้มีความปรารถนาลามก ถูกความปรารถนาครอบงำ จึงถามปัญหากะภิกษุอื่น ๑ ภิกษุบางรูปดูหมิ่นจึงถามปัญหากะภิกษุอื่น ๑ ภิกษุบางรูปประสงค์จะรู้จึงถามปัญหากะภิกษุอื่น ๑ อนึ่ง ภิกษุบางรูปคิดอย่างนี้ว่า ภิกษุอื่นถ้าถูกเราถามปัญหาก็จักแก้โดยชอบ ข้อนั้นเป็นความดี แต่ถ้าถูกเราถามปัญหาจักไม่แก้โดยชอบ เราเองจักแก้โดยชอบแก่เธอ ดังนี้ จึงถามปัญหากะภิกษุอื่น ๑ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ก็ภิกษุบางรูปย่อมถามปัญหากะภิกษุอื่น ด้วยเหตุ ๕ ประการ ทั้งหมดหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนข้าพเจ้าคิดอย่างนี้ว่า ถ้าภิกษุถูกเราถามปัญหาจักแก้โดยชอบ ข้อนั้นเป็นความดี แต่ถ้าถูกเราถามปัญหาจักไม่แก้โดยชอบ เราเองจักแก้โดยชอบแก่เธอ ดังนี้ จึงถามปัญหากะภิกษุอื่น ฯ [ท่านพระสารีบุตรเทศนาแก่ภิกษุว่า ภิกษุย่อมถามปัญหาแก่ภิกษุด้วยกันด้วยเหตุ5ประการ คือ 1.ภิกษุถามด้วยความโง่เขลา หลงลืม 2.ภิกษุถามด้วยความปรารถนาลามก ถูกความปรารถนาครอบงำ 3.ภิกษุถามด้วยความดูหมิ่นภิกษุอื่น 4.ภิกษุถามเพื่อความประสงค์จะรู้ 5.ภิกษุถามด้วยความคิดว่าหากภิกษุผู้ถูกถามตอบได้ถุกต้องชัดเจน ข้อนั้นเป็นการดี แต่หากถามแล้วตอบไม่ได้ชัดแจ้ง ท่านก็จะช่วยให้ความรู้ความเข้าใจ]
จบสูตรที่ ๕
๖. นิโรธสูตร
[๑๖๖] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ถึงพร้อมด้วยปัญญา พึงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง พึงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ ถ้าเธอไม่พึงบรรลุอรหัตผลในปัจจุบันไซร้ เธอก็ก้าวล่วงความเป็นสหายเหล่าเทพผู้มีกวฬิงการาหารเป็นภักษา เข้าถึงเหล่าเทพผู้มีฤทธิ์ทางใจบางเหล่า พึงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง พึงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายีได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรท่านพระสารีบุตร ข้อที่ภิกษุก้าวล่วงความเป็นสหายเหล่าเทพผู้มีกวฬิงการาหารเป็นภักษา เข้าถึงเหล่าเทพผู้มีฤทธิ์ทางใจบางเหล่า พึงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง พึงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง นั้นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ข้อนั้นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา พึงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง พึงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ถ้าเธอไม่พึงบรรลุอรหัตผลในปัจจุบันไซร้ เธอก็ก้าวล่วงความเป็นสหายเหล่าเทพผู้มีกวฬิงการาหารเป็นภักษา เข้าถึงเหล่าเทพผู้มีฤทธิ์ทางใจบางเหล่า พึงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง พึงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระอุทายีได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรท่านพระสารีบุตร ข้อที่ภิกษุก้าวล่วงความเป็นสหายเหล่าเทพผู้มีกวฬิงการาหารเป็นภักษา เข้าถึงเหล่าเทพผู้มีฤทธิ์ทางใจบางเหล่า พึงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง พึงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง นั่นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ข้อนั้นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ครั้งนั้นท่านพระสารีบุตรได้คิดว่า ท่านพระอุทายีคันค้านเราถึง ๓ ครั้ง และภิกษุบางรูปก็ไม่อนุโมทนา (ภาษิต) เรา ผิฉะนั้น เราพึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ถึงพร้อมด้วยปัญญา พึงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง พึงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ ถ้าเธอไม่พึงบรรลุอรหัตผลในปัจจุบันไซร้ เธอก็ก้าวล่วงความเป็นสหายเหล่าเทพผู้มีกวฬิงการาหารเป็นภักษา เข้าถึงเหล่าเทพผู้มีฤทธิ์ทางใจบางเหล่า พึงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง พึงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายีได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรท่านพระสารีบุตร ข้อที่ภิกษุก้าวล่วงความเป็นสหายเหล่าเทพผู้มีกวฬิงการาหารเป็นภักษา เข้าถึงเหล่าเทพผู้มีฤทธิ์ทางใจบางเหล่า พึงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง พึงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง นั้นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ข้อนั้นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระอุทายี ... ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรได้คิดว่า ท่านพระอุทายีคัดค้านเราถึง ๓ ครั้ง แม้เฉพาะพระภักตร์แห่งพระผู้มีพระภาค และภิกษุบางรูปก็ไม่อนุโมทนาต่อเรา ผิฉะนั้น เราพึงนิ่งเสีย ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรได้นิ่งอยู่ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระอุทายีว่า ดูกรอุทายี ก็เธอย่อมหมายถึงเหล่าเทพผู้มีฤทธิ์ทางใจเหล่าไหน ท่านพระอุทายีได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์หมายถึงเหล่าเทพชั้นอรูปที่สำเร็จด้วยสัญญา พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรอุทายี ไฉนเธอผู้เป็นพาล ไม่ฉลาด จึงได้กล่าวอย่างนั้น เธอเองย่อมเข้าใจคำที่เธอควรพูด ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ไฉนพวกเธอจักวางเฉย (ดูดาย) ภิกษุผู้เถระซึ่งถูกเบียดเบียนอยู่ เพราะว่า แม้ความการุณจักไม่มีในภิกษุผู้ฉลาดซึ่งถูกเบียดเบียนอยู่ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ... ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงเสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปยังพระวิหาร ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปแล้วไม่นาน ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปหาท่านพระอุปวาณะ แล้วกล่าวว่า ดูกรท่านอุปวาณะ ภิกษุเหล่าอื่นในพระศาสนานี้ ย่อมเบียดเบียนภิกษุทั้งหลายผู้เถระ พวกเราจะไม่ถามหาภิกษุเหล่านั้น การที่พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่พักผ่อนในเวลาเย็น จักทรงปรารภเหตุนั้นยกขึ้นแสดง เหมือนดังที่จะพึงตรัสกะท่านอุปวาณะโดยเฉพาะในเหตุนั้น ข้อนั้นไม่เป็นของอัศจรรย์ บัดนี้ ความน้อยใจได้เกิดขึ้นแก่พวกเรา ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้นในเวลาเย็นแล้ว เสด็จเข้าไปนั่งที่อุปัฏฐานศาลา ประทับนั่งบนอาสนะที่ได้ตบแต่งไว้ แล้วจึงตรัสถามท่านพระอุปวาณะว่า ดูกรอุปวาณะ ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรมเท่าไรหนอแล ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ ท่านพระอุปวาณะได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล ฯลฯ ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ๑ เธอเป็นพหุสูต ฯลฯ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ๑ เธอเป็นผู้มีวาจาไพเราะ มีถ้อยคำไพเราะ ประกอบด้วยวาจาชาวเมืองอันสละสลวย ไม่มีโทษ ให้รู้เนื้อความได้แจ่มแจ้ง ๑ เธอเป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ๑ เธอย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ๑ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพและเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ ฯ
พ. ดีละๆ อุปวาณะ ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ ถ้าหากว่าธรรม ๕ ประการนี้ ไม่พึงมีแก่ภิกษุผู้เถระไซร้ เพื่อนพรหมจรรย์พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเธอ โดยความเป็นผู้มีฟันหัก มีผมหงอก มีหนังย่น อะไรกัน แต่เพราะธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้เถระ ฉะนั้น เพื่อนพรหมจรรย์จึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเธอ ฯ [ท่านพระสารีบุตรแสดงธรรมแก่ภิกษุว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ย่อมสามารถบรรลุอรหัตตผล หรืออย่างน้อยก็เป็นพระอนาคามี คือสามารถเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธได้ในเมื่อเข้าถึงพรหมโลกชั้นสุทธาวาส ท่านพระอุทายีกล่าวแย้งท่านพระสารีบุตรถึง3ครั้ง ว่าผู้ถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ข้อที่จะเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ และออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธได้ในเมื่อเข้าถึงพรหมโลกชั้นสุทธาวาสแล้วนั้น ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ ท่านพระสารีบุตรดำริว่าภิกษุอุทายีนี้คัดค้านท่านถึง3ครั้ง และภิกษุบางรุปยังจักไม่เชื่อถือท่าน จึงได้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระอุทายีว่า เธอหมายถึงเหล่าเทพผู้มีฤทธิ์ทางใจเหล่าไหน ท่านพระอุทายีกราบทุลว่า ท่านหมายถึงพระอนาคามีผุ้สำเร็จอรูปฌาน เมื่อละสังขารจากโลกมนุษย์นี้ก็จะไปบังเกิดเป็นอรูปพรหมที่สำเร็จอรูปฌานด้วยสัญญา ไม่อาจเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธได้ แต่จักปรินิพพานในภพนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่าไฉนเธอจึงเป็นพาล ไม่ฉลาด เพราะเธอเองย่อมทราบในสิ่งที่สมควรพูด พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ท่านพระอานนท์ว่า ไฉนพวกเธอจึงวางเฉยในเมื่อภิกษุผู้เป็นพระเถระถูกกล่าวเบียดเบียนอยู่เล่า พระองค์ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่าท่านพระสารีบุตรกล่าวไว้ถูกต้องแล้ว ดูเหมือนว่าพระผู้มีพระภาคทรงดำริถึงเรื่องที่ท่านพระอุทายีได้สดับรับฟังพระสัทธรรมจากพระองค์มาเป็นเวลานาน ข้อที่จักกล่าวคัดค้านท่านพระสารีบุตรดังนี้คงมีเหตุผลอยู่ สมควรจักพิจารณาให้ถี่ถ้วน พระองค์เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปยังพระวิหาร ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปไม่นาน ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปหาท่านพระอุปวาณะ แล้วกล่าวว่า ภิกษุผู้เป็นพระเถระก็มักถูกกล่าวเบียดเบียนเช่นนี้ ท่านคงแก้ไขไม่ได้หมดทุกครั้ง การที่พระผู้มีพระภาคจักเสด็จออกจากที่พักผ่อนในเวลาเย็น แล้วหยิบยกเอาเรื่องนี้มากล่าวกับภิกษุดังเช่นกล่าวกับท่านอุปวาณะโดยเฉพาะเป็นต้นนั้น ไม่ใช่ข้อที่น่าอัศจรรย์ แต่บัดนี้ท่านพระอานนท์นั้นบังเกิดความน้อยใจเสียแล้ว ครั้งนั้นเองในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้น ประทับนั่งบนอาสนะที่อุปัฏฐานศาลา ตรัสถามท่านพระอุปวาณะว่า ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรมใดบ้าง จึงเป็นที่รัก ที่พอใจ ที่เคารพยกย่องของเพื่อนภิกษุ ท่านพระอุปวาณะกราบทูลว่า ธรรม5ประการนั้นคือ 1.พระเถระเป็นผู้มีศีล ศึกษาในสิกขาบท 2.พระเถระเป็นพหูสูต 3.พระเถระมีวาจาไพเราะ มีถ้อยคำไพเราะ อธิบายธรรมแจ่มแจ้ง 4.พระเถระชำนาญในฌาน4 เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน 5.พระเถระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ พ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละๆ อุปวาณะ พระเถระย่อมเป็นที่รัก ที่เคารพ ของเพื่อนภิกษุด้วยธรรม5ประการ มิใช่โดยความเป็นผู้มีฟันหัก ผมหงอก มีหนังย่น ดังนี้เลย]
จบสูตรที่ ๖
๗. โจทนาสูตร
[๑๖๗] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุผู้โจทก์ใคร่จะโจทผู้อื่น พึงเข้าไปตั้งธรรม ๕ ประการไว้ภายในก่อนแล้วจึงโจทผู้อื่น ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ธรรมว่า เราจักกล่าวโดยกาลควร จักไม่กล่าวโดยกาลไม่ควร ๑ จักกล่าวด้วยเรื่องจริง จักไม่กล่าวด้วยเรื่องไม่จริง ๑ จักกล่าวด้วยคำอ่อนหวาน จักไม่กล่าวด้วยคำหยาบ ๑ จักกล่าวด้วยเรื่องที่ประกอบด้วยประโยชน์ จักไม่กล่าวด้วยเรื่องที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ จักเป็นผู้มีเมตตาจิตกล่าว จักไม่เป็นผู้เพ่งโทษกล่าว ๑ ดูกรอาวุโส ภิกษุผู้โจทก์ใคร่จะโจทผู้อื่น พึงเข้าไปตั้งธรรม ๕ ประการนี้ไว้ภายในก่อนแล้วจึงโจทผู้อื่น ฯ
ดูกรอาวุโสทั้งหลาย เราเห็นบุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ถูกผู้อื่นโจทโดยกาลไม่ควร ไม่ถูกโจทโดยกาลอันควร ก็โกรธ ถูกผู้อื่นโจทด้วยเรื่องไม่จริง ไม่ถูกโจทด้วยเรื่องจริง ก็โกรธ ถูกผู้อื่นโจทด้วยคำหยาบ ไม่ถูกโจทด้วยคำอ่อนหวาน ก็โกรธ ถูกผู้อื่นโจทด้วยเรื่องที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ถูกโจทด้วยเรื่องที่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็โกรธ ถูกผู้อื่นโจทด้วยเพ่งโทษ ไม่ถูกโจทด้วยเมตตาจิต ก็โกรธ ฯ
ดูกรอาวุโส ความไม่เดือดร้อน ภิกษุพึงให้เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ถูกโจทโดยไม่เป็นธรรม โดยอาการ ๕ คือ ท่านถูกโจทโดยกาลไม่ควร ไม่ถูกโจทโดยกาลควร ท่านจึงไม่ควรเดือดร้อน ท่านถูกโจทด้วยเรื่องไม่จริง ไม่ถูกโจทด้วยเรื่องจริง ท่านจึงไม่ควรเดือดร้อน ท่านถูกโจทด้วยคำหยาบ ไม่ถูกโจทด้วยคำอ่อนหวาน ท่านจึงไม่ควรเดือดร้อน ท่านถูกโจทด้วยเรื่องที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ถูกโจทด้วยเรื่องที่ประกอบด้วยประโยชน์ ท่านจึงไม่ควรเดือดร้อน ท่านถูกโจทด้วยการเพ่งโทษ ไม่ถูกโจทด้วยเมตตาจิต ท่านจึงไม่ควรเดือดร้อน ดูกร อาวุโสทั้งหลาย ความไม่เดือดร้อน ภิกษุพึงให้เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ถูกโจทโดยไม่เป็นธรรม โดยอาการ ๕ นี้ ฯ
ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ความเดือดร้อน ภิกษุพึงให้เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้โจทก์โดยไม่เป็นธรรม โดยอาการ ๕ คือ ท่านโจทโดยกาลไม่ควร ไม่โจทโดยกาลควร ท่านจึงควรเดือดร้อน ท่านโจทด้วยเรื่องไม่จริง ไม่โจทด้วยเรื่องจริง ท่านจึงควรเดือดร้อน ท่านโจทด้วยคำหยาบ ไม่โจทด้วยคำอ่อนหวาน ท่านจึงควรเดือดร้อน ท่านโจทด้วยเรื่องที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่โจทด้วยเรื่องที่ประกอบด้วยประโยชน์ ท่านจึงควรเดือดร้อน ท่านโจทด้วยเพ่งโทษ ไม่โจทด้วยเมตตาจิต ท่านจึงควรเดือดร้อน ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ความเดือดร้อน ภิกษุพึงให้เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้โจทก์โดยไม่เป็นธรรม โดยอาการ ๕ นี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า ภิกษุแม้รูปอื่นไม่พึงเข้าใจว่า พึงโจทด้วยเรื่องไม่จริง ฯ
ดูกรอาวุโสทั้งหลาย เราเห็นบุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ ถูกโจทโดยกาลควร ไม่ถูกโจทโดยกาลไม่ควร ก็โกรธ ถูกโจทด้วยเรื่องจริง ไม่ถูกโจทด้วยเรื่องไม่จริง ก็โกรธ ถูกโจทด้วยคำอ่อนหวาน ไม่ถูกโจทด้วยคำหยาบก็โกรธ ถูกโจทด้วยเรื่องที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ถูกโจทด้วยเรื่องที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็โกรธ ถูกโจทด้วยเมตตาจิต ไม่ถูกโจทด้วยเพ่งโทษก็โกรธ ฯ
ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ความเดือดร้อน ภิกษุพึงให้เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ถูกโจทโดยธรรม ด้วยอาการ ๕ คือ ท่านถูกโจทโดยกาลควร ไม่ถูกโจทโดยกาลไม่ควร ท่านจึงควรเดือดร้อน ท่านถูกโจทด้วยเรื่องจริง ไม่ถูกโจทด้วยเรื่องไม่จริง ท่านจึงควรเดือดร้อน ท่านถูกโจทด้วยคำอ่อนหวาน ไม่ถูกโจทด้วยคำหยาบ ท่านจึงควรเดือดร้อน ท่านถูกโจทด้วยเรื่องที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ถูกโจทด้วยเรื่องที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ท่านจึงควรเดือดร้อน ท่านถูกโจทด้วยเมตตาจิต ไม่ถูกโจทด้วยการเพ่งโทษ ท่านจึงควรเดือดร้อน ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ความเดือดร้อน ภิกษุพึงให้เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ถูกโจทโดยธรรม ด้วยอาการ ๕ นี้ ฯ
ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ความไม่เดือดร้อน ภิกษุพึงให้เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้โจทโดยเป็นธรรม โดยอาการ ๕ คือ ท่านโจทโดยกาลควร ไม่โจทโดยกาลไม่ควร ท่านจึงไม่ควรเดือดร้อน ท่านโจทด้วยเรื่องจริง ไม่โจทด้วยเรื่องไม่จริง ท่านจึงไม่ควรเดือดร้อน ท่านโจทด้วยคำอ่อนหวาน ไม่โจทด้วยคำหยาบ ท่านจึงไม่ควรเดือดร้อน ท่านโจทด้วยเรื่องที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่โจทด้วยเรื่องที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ท่านจึงไม่ควรเดือดร้อน ท่านโจทด้วยเมตตาจิต ไม่โจทด้วยการเพ่งโทษ ท่านจึงไม่ควรเดือดร้อน ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ความไม่เดือดร้อน ภิกษุพึงให้เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้โจทก์เป็นธรรม โดยอาการ ๕ นี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าภิกษุแม้รูปอื่นพึงเข้าใจว่า พึงโจทด้วยเรื่องจริง ฯ
ดูกรอาวุโสทั้งหลาย อันบุคคลผู้ถูกโจทพึงตั้งอยู่ในธรรม ๒ ประการ คือ ความจริง และความไม่โกรธ ฯ
ดูกรอาวุโสทั้งหลาย (ถ้า) ผู้อื่นพึงโจท (เรา) ด้วยธรรม ๕ ประการ คือ พึงโจทโดยกาลควรหรือโดยกาลไม่ควร ๑ ด้วยเรื่องจริงหรือด้วยเรื่องไม่จริง ๑ ด้วยคำอ่อนหวานหรือด้วยคำหยาบ ๑ ด้วยเรื่องที่ประกอบด้วยประโยชน์ หรือด้วยเรื่องที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ ด้วยเมตตาจิตหรือด้วยเพ่งโทษ ๑ แม้เราก็พึงตั้งอยู่ในธรรม ๒ ประการ คือ ความจริงและความไม่โกรธ ถ้าเราพึงทราบว่าธรรมนั้นมีอยู่ในเราไซร้ เราก็พึงกล่าวธรรมนั้นว่า มีอยู่ ว่าธรรมนั้นมีอยู่พร้อมในเรา ถ้าเราพึงทราบว่าธรรมนั้นไม่มีอยู่ในเราไซร้ เราก็พึงกล่าวธรรมนั้นว่าไม่มีอยู่ ว่าธรรมนั้นไม่มีอยู่พร้อมในเรา ฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรสารีบุตร เรื่องก็จะพึงเป็นเช่นนั้น แต่ว่าโมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้ เมื่อถูกกล่าวสอน ย่อมไม่รับโดยเคารพ ฯ
สา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลเหล่าใด ไม่มีศรัทธา ต้องการเลี้ยงชีวิต มิใช่ออกบวชด้วยศรัทธา เป็นผู้โอ้อวด มีมารยา เกเร ฟุ้งซ่าน เย่อหยิ่ง เหลาะแหละ ปากกล้า พูดพล่าม ไม่สำรวมทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบความเพียร ไม่เพ่งถึงความเป็นสมณะ ไม่มีความเคารพกล้าในสิกขา มักมาก ย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในการล่วงละเมิด ทอดธุระในวิเวก เกียจคร้าน มีความเพียรทราม มีสติเลอะเลือน ไม่มีสัมปชัญญะ ไม่มีจิตมั่นคง มีจิตฟุ้งซ่าน มีปัญญาทราม คล้ายคนบ้าน้ำลาย คนเหล่านั้น เมื่อถูกข้าพระองค์กล่าวสอนอย่างนี้ ย่อมไม่รับโดยเคารพ ส่วนกุลบุตรเหล่าใด มีศรัทธาออกบวช ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ไม่เกเร ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เย่อหยิ่ง ไม่เหลาะแหละ ไม่ปากกล้า ไม่พูดพล่าม สำรวมทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียร เพ่งถึงความเป็นสมณะ มีความเคารพกล้าในสิกขา ไม่มักมาก ไม่ย่อหย่อน ทอดธุระในการล่วงละเมิดเป็นหัวหน้าในวิเวก ปรารภความเพียร อบรมตน มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีจิตมั่นคง มีจิตเป็นหนึ่ง มีปัญญา มิใช่คล้ายคนบ้าน้ำลาย กุลบุตรเหล่านั้นเมื่อถูกข้าพระองค์กล่าวสอนอย่างนี้ย่อมรับโดยเคารพ ฯ
พ. ดูกรสารีบุตร บุคคลเหล่าใด ไม่มีศรัทธา ต้องการเลี้ยงชีวิต ... มีปัญญาทราม คล้ายคนบ้าน้ำลาย จงยกไว้ (ยกเว้น) ส่วนกุลบุตรเหล่าใด มีศรัทธาออกบวช ... มีปัญญา มิใช่คล้ายคนบ้าน้ำลาย ดูกรสารีบุตร เธอพึงว่ากล่าวกุลบุตรเหล่านั้น จงกล่าวสอนเพื่อนพรหมจรรย์ จงพร่ำสอนเพื่อนพรหมจรรย์ ด้วยหวังว่าเราจักยกเพื่อนพรหมจรรย์จากอสัทธรรม ให้ตั้งอยู่ในสัทธรรม เธอพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้แล สารีบุตร ฯ [ท่านพระสารีบุตรบรรยายธรรมแก่ภิกษุว่า ภิกษุผู้จักกล่าวในโทษผิดพระวินัยของเพื่อนภิกษุนั้น พึงตั้งอยู่ในธรรม5ประการก่อน ดังนี้ 1.จักกล่าวในเวลาอันควร 2.จักกล่าวในเรื่องจริง 3.จักกล่าวด้วยถ้อยคำอันอ่อนหวาน 4.จักกล่าวด้วยเรื่องที่ประกอบด้วยประโยชน์ 5.จักกล่าวด้วยเมตตาจิต มิใช่การเพ่งโทษ
ดังนั้นภิกษุผู้ถูกกล่าวโทษในเวลาอันไม่ควร ถูกกล่าวโทษในเรื่องไม่จริง ถูกกล่าวโทษด้วยถ้อยคำหยาบ ถูกกล่าวโทษด้วยเรื่องไม่เป็นสาระ ถูกกล่าวโทษด้วยการจับผิด ข้อนั้นภิกษุผู้ถูกกล่าวโทษไม่ควรโกรธ ไม่จำต้องเดือดร้อน
เช่นเดียวกันภิกษุผู้กล่าวโทษด้วยเวลาอันควร ด้วยเรื่องที่เป็นจริง ด้วยถ้อยคำอันอ่อนหวาน ด้วยเรื่องที่ประกอบด้วยประโยชน์ ด้วยความมีเมตตาจิต ดังนี้ ภิกษุผู้กล่าวโทษไม่ต้องมีความเดือดร้อน
ภิกษุผู้ถูกกล่าวโทษพึงตั้งอยู่ในธรรม2ประการ คือความจริงและความไม่โกรธ ภิกษุผู้ถูกกล่าวหานี้ย่อมทราบอยู่ว่าธรรม5ประการนี้มีอยู่ในเราหรือไม่ คือตนถูกกล่าวหาในกาลสมควรหรือไม่ ตนถุกกล่าวหาด้วยเรื่องจริงหรือไม่ ตนถูกกล่าวหาด้วยถ้อยคำอันไม่อ่อนหวานหรือไม่ ตนถูกกล่าวหาด้วยเรื่องที่เป็นประโยชน์หรือไม่ ตนถุกกล่าวหาด้วยการเพ่งโทษหรือไม่
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นจริงเช่นนั้น แต่โมฆบุรุษบางคน เมื่อถูกกล่าวสอนแล้วย่อมไม่รับฟังด้วยความเคารพ ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่าบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา ออกบวชเพื่อเลี้ยงชีวิต เป็นผู้โอ้อวด มีมารยา เกเร ฟุ้งซ่าน เย่อหยิ่ง เหลาะแหละ ปากกล้า พูดพล่าม ไม่สำรวมทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบความเพียร ไม่เพ่งถึงความเป็นสมณะ ไม่มีความเคารพกล้าในสิกขา มักมาก ย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในการล่วงละเมิด ทอดธุระในวิเวก เกียจคร้าน มีความเพียรทราม มีสติเลอะเลือน ไม่มีสัมปชัญญะ ไม่มีจิตมั่นคง มีจิตฟุ้งซ่าน มีปัญญาทราม คล้ายคนบ้าน้ำลาย คนเหล่านั้นย่อมไม่รับฟังคำสอนของท่านโดยเคารพ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่ากุลบุตรผู้รับฟังคำสอนโดยเคารพนั้นแล เธอจงพร่ำสอนด้วยหวังว่าเราจักยกเพื่อนหรหมจรรย์ให้พ้นจากอสัทธรรม ให้ตั้งอยู่ในสัทธรรม]
จบสูตรที่ ๗
๘. สีลสูตร
[๑๖๘] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย สัมมาสมาธิของภิกษุผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมเป็นธรรมมีอุปนิสัยถูกขจัด เมื่อสัมมาสมาธิไม่มี ยถาภูตญาณทัสสนะของภิกษุผู้มีสัมมาสมาธิวิบัติ ย่อมเป็นธรรมมีอุปนิสัยถูกขจัด เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะไม่มี นิพพิทาวิราคะของภิกษุผู้มียถาภูตญาณทัสสนะวิบัติ ย่อมเป็นธรรมมีอุปนิสัยถูกขจัด เมื่อนิพพิทาวิราคะไม่มี วิมุตติญาณทัสสนะของภิกษุผู้มีนิพพิทาวิราคะวิบัติ ย่อมเป็นธรรมมีอุปนิสัยถูกขจัด เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีกิ่งและใบวิบัติ แม้กะเทาะของต้นไม้นั้น ก็ย่อมไม่ถึงความบริบูรณ์ แม้เปลือก กะพี้ แก่นของต้นไม้นั้น ก็ย่อมไม่ถึงความบริบูรณ์ แม้ฉันใด ดูกรอาวุโสทั้งหลาย สัมมาสมาธิของภิกษุผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมเป็นธรรมมีอุปนิสัยถูกขจัด เมื่อสัมมาสมาธิไม่มี ยถาภูตญาณทัสสนะของภิกษุผู้มีสัมมาสมาธิวิบัติ ย่อมเป็นธรรมมีอุปนิสัยถูกขจัด เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะไม่มี นิพพิทาวิราคะของภิกษุผู้มียถาภูตญาณทัสสนะวิบัติ ย่อมเป็นธรรมมีอุปนิสัยถูกขจัด เมื่อนิพพิทาวิราคะไม่มี วิมุตติญาณทัสสนะของภิกษุผู้มีนิพพิทาวิราคะวิบัติ ย่อมเป็นธรรมมีอุปนิสัยถูกขจัด ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ
ดูกรอาวุโสทั้งหลาย สัมมาสมาธิของภิกษุผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมถึงพร้อมด้วยธรรมเป็นอุปนิสัย เมื่อสัมมาสมาธิมีอยู่ ยถาภูตญาณทัสสนะของภิกษุผู้มีสัมมาสมาธิสมบูรณ์ ย่อมถึงพร้อมด้วยธรรมเป็นอุปนิสัย เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะมีอยู่ นิพพิทาวิราคะของภิกษุผู้มียถาภูตญาณทัสสนะสมบูรณ์ ย่อมถึงพร้อมด้วยธรรมเป็นอุปนิสัย เมื่อนิพพิทาวิราคะมีอยู่ วิมุตติญาณทัสสนะของภิกษุผู้มีนิพพิทาวิราคะสมบูรณ์ ย่อมถึงพร้อมด้วยธรรมเป็นอุปนิสัย เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีกิ่งและใบสมบูรณ์ แม้กะเทาะของต้นไม้นั้น ก็ย่อมถึงความบริบูรณ์ แม้เปลือก กะพี้ แก่นของต้นไม้นั้น ก็ย่อมถึงความบริบูรณ์ แม้ฉันใด ดูกรอาวุโสทั้งหลาย สัมมาสมาธิของภิกษุผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมถึงพร้อมด้วยธรรมเป็นอุปนิสัย เมื่อสัมมาสมาธิมีอยู่ ยถาภูตญาณทัสสนะของภิกษุผู้มีสัมมาสมาธิสมบูรณ์ ย่อมถึงพร้อมด้วยธรรมเป็นอุปนิสัย เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะมีอยู่ นิพพิทาวิราคะของภิกษุผู้มียถาภูตญาณทัสสนะสมบูรณ์ ย่อมถึงพร้อมด้วยธรรมเป็นอุปนิสัย เมื่อนิพพิทาวิราคะมีอยู่ วิมุตติญาณทัสสนะของภิกษุผู้มีนิพพิทาวิราคะสมบูรณ์ ย่อมถึงพร้อมด้วยธรรมเป็นอุปนิสัย ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ [ท่านพระสารีบุตรกล่าวสอนภิกษุว่า ผู้ทุศีล ย่อมไม่มีสัมมาสมาธิ เมื่อไม่มีสัมมาสมาธิ ย่อมไม่มียถาภูตญาณทัสสนะ เมื่อไม่มียถาภูตญาณทัสสนะ ย่อมไม่มีนิพพิทาวิราคะ เมื่อไม่มีนิพพิทาวิราคะ ย่อมไม่มีวิมุตติญาณทัสสนะ
ภิกษผู้มีศีลสมบูรณ์ ย่อมมีสัมมาสมาธิ เมื่อมีสัมมาสมาธิสมบูรณ์ ย่อมมียถาภูตญาณทัสสนะ เมื่อมียถาภูตญาณทัสสนะสมบูรณ์ ย่อมมีนิพพิทาวิราคะ เมื่อมีนิพพิทาวิราคะสมบูรณ์ ย่อมมีวิมุตติญาณทัสสนะ]
จบสูตรที่ ๘
๙. นิสันติสูตร
[๑๖๙] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั้ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรอาวุโสสารีบุตร ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล ภิกษุจึงจะเป็นผู้ใคร่ครวญได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย เรียนได้ดี เรียนได้มาก และสิ่งที่เธอเรียนแล้ว ย่อมไม่เลือนไป ท่านพระสารีบุตรได้ตอบว่า ท่านอานนท์แลเป็นพหูสูต ข้อความนั้นจงแจ่มแจ้งแก่ท่านอานนท์ทีเดียว ฯ
อา. ดูกรอาวุโสสารีบุตร ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ท่านพระสารีบุตรรับคำท่านพระอานนท์ว่า อย่างนั้น อาวุโส ท่านพระอานนท์ได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโสสารีบุตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้ฉลาดในอรรถ ฉลาดในธรรม ฉลาดในพยัญชนะ ฉลาดในนิรุตติ และฉลาดในเบื้องต้นและเบื้องปลาย ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ภิกษุจึงจะเป็นผู้ใคร่ครวญได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย เรียนได้ดี เรียนได้มาก และสิ่งที่เธอเรียนแล้วย่อมไม่เลือนไป ฯ
สา. ดูกรอาวุโส น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ตามที่ท่านอานนท์กล่าวไว้ดีแล้วนี้ และพวกเราย่อมทรงจำท่านอานนท์ผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้ว่า ท่านอานนท์เป็นผู้ฉลาดในอรรถ ฉลาดในธรรม ฉลาดในพยัญชนะ ฉลาดในนิรุตติ และฉลาดในเบื้องต้นและเบื้องปลาย ฯ [ท่านพระอานนท์กล่าวแนะนำท่านพระสารีบุตรเรื่องที่ภิกษุจะเป็นผู้ใคร่ครวญในกุศลธรรมได้เร็ว เรียนได้ดี เรียนได้มาก ทรงจำได้นาน ดังนี้ 1.ภิกษุฉลาดในอรรถ 2.ภิกษุฉลาดในธรรม 3.ภิกษุฉลาดในพยัญชนะ 4.ภิกษุฉลาดในนิรุตติ 5.ภิกษุฉลาดในเบื้องต้นและเบื้องปลาย]
จบสูตรที่ ๙
๑๐. ภัททชิสูตร
[๑๗๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้กรุงโกสัมพี ครั้งนั้นแล ท่านพระภัททชิได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระอานนท์ได้ถามท่านพระภัททชิว่า ดูกรอาวุโสภัททชิ บรรดาการเห็นทั้งหลาย การเห็นชนิดไหนเป็นยอด บรรดาการได้ยินทั้งหลาย การได้ยินชนิดไหนเป็นยอด บรรดาสุขทั้งหลาย สุขชนิดไหนเป็นยอด บรรดาสัญญาทั้งหลาย สัญญาชนิดไหนเป็นยอด บรรดาภพทั้งหลาย ภพชนิดไหนเป็นยอด ฯ
ท่านพระภัททชิตอบว่า ดูกรอาวุโส พรหมผู้เป็นใหญ่ยิ่ง ไม่มีใครครอบงำได้ เห็นสิ่งทั้งปวง ยังผู้อื่นให้เป็นไปในอำนาจ มีอยู่ ผู้ใดเห็นพรหมนั้น การเห็นของผู้นั้นเป็นยอดของการเห็นทั้งหลาย เทพเหล่าอาภัสสระผู้เพรียบพร้อมด้วยความสุขมีอยู่ เทพเหล่านั้นย่อมเปล่งอุทานในการบางครั้งบางคราวว่า สุขหนอๆ ผู้ใดได้ยินเสียงนั้น การได้ยินเสียงของผู้นั้นเป็นยอดของการได้ยินทั้งหลาย เทพเหล่าสุภกิณหะมีอยู่ เทพเหล่านั้นยินดีเฉพาะสิ่งที่มีอยู่ ย่อมเสวยสุข การเสวยสุขนี้เป็นยอดของความสุขทั้งหลาย พวกเทพผู้เข้าถึงอากิญจัญญายตนภพมีอยู่ การเข้าถึงอากิญจัญญายตนภพนี้เป็นยอดของสัญญาทั้งหลาย พวกเทพผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพมีอยู่ การเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพนี้เป็นยอดของภพทั้งหลาย ฯ
อา. คำพูดของท่านภัททชินี้ย่อมสมกับชนเป็นอันมาก ฯ
ภ. ท่านพระอานนท์เป็นพหูสูต ขอความข้อนั้นจงแจ่มแจ้งเฉพาะท่านพระอานนท์เทียว ฯ
อา. ดูกรอาวุโสภัททชิ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ท่านพระภัททชิรับคำท่านพระอานนท์ว่า อย่างนั้น อาวุโส ท่านพระอานนท์ได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโส ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีในลำดับแห่งบุคคลผู้เห็นตามเป็นจริง นี้เป็นยอดของการเห็นทั้งหลาย ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายย่อมมีในลำดับแห่งบุคคลผู้ได้ยินตามเป็นจริง นี้เป็นยอดของการได้ยินทั้งหลาย ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีในลำดับแห่งบุคคลผู้ได้รับความสุขตามเป็นจริง นี้เป็นยอดของความสุขทั้งหลาย ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีในลำดับแห่งบุคคลผู้มีสัญญาตามเป็นจริง นี้เป็นยอดของสัญญาทั้งหลาย ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีในลำดับแห่งบุคคลผู้เป็นอยู่แล้วตามเป็นจริง นี้เป็นยอดของภพทั้งหลาย ฯ [ท่านพระอานนท์กล่าวถามท่านภัททชิ5ประการว่า 1.บรรดาการเห็นทั้งหลาย การเห็นชนิดไหนเป็นยอด 2.บรรดาการได้ยินทั้งหลาย การได้ยินชนิดไหนเป็นยอด 3.บรรดาสุขทั้งหลาย สุขชนิดไหนเป็นยอด 4.บรรดาสัญญาทั้งหลาย สัญญาชนิดไหนเป็นยอด 5.บรรดาภพทั้งหลาย ภพชนิดไหนเป็นยอด
ท่านภัททชิตอบว่า 1.พรหมผู้เป็นใหญ่ยิ่ง ไม่มีใครครอบงำได้ เห็นสิ่งทั้งปวง ยังผู้อื่นให้เป็นไปในอำนาจ มีอยู่ ผู้ใดเห็นพรหมนั้น การเห็นของผู้นั้นเป็นยอดของการเห็นทั้งหลาย 2.เทพเหล่าอาภัสสระผู้เพรียบพร้อมด้วยความสุขมีอยู่ เทพเหล่านั้นย่อมเปล่งอุทานในการบางครั้งบางคราวว่า สุขหนอๆ ผู้ใดได้ยินเสียงนั้น การได้ยินเสียงของผู้นั้นเป็น
ยอดของการได้ยินทั้งหลาย 3.เทพเหล่าสุภกิณหะมีอยู่ เทพเหล่านั้นยินดีเฉพาะสิ่งที่มีอยู่ ย่อมเสวยสุข การเสวยสุขนี้เป็นยอดของความสุขทั้งหลาย 4.พวกเทพผู้เข้าถึงอากิญจัญญายตนภพมีอยู่ การเข้าถึงอากิญจัญญายตนภพนี้เป็นยอดของสัญญาทั้งหลาย 5.พวกเทพผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพมีอยู่ การเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพนี้เป็นยอดของภพทั้งหลาย
ครั้นแล้วท่านภัททชิได้เชิญท่านพระอานนท์ผู้เป็นพหูสูตเฉลยคำถามของท่านเอง ท่านพระอานนท์กล่าวว่า 1.ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีในลำดับแห่งบุคคลผู้เห็นตามเป็นจริง นี้เป็นยอดของการเห็นทั้งหลาย 2.ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีในลำดับแห่งบุคคลผู้ได้ยินตามเป็นจริง นี้เป็นยอดของการได้ยินทั้งหลาย 3.ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีในลำดับแห่งบุคคลผู้ได้รับความสุขตามเป็นจริง นี้เป็นยอดของความสุขทั้งหลาย 4.ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีในลำดับแห่งบุคคลผู้มีสัญญาตามเป็นจริง นี้เป็นยอดของสัญญาทั้งหลาย 5.ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีในลำดับแห่งบุคคลผู้เป็นอยู่แล้วตามเป็นจริง นี้เป็นยอดของภพทั้งหลาย]
จบสูตรที่ ๑๐
จบอาฆาตวรรคที่ ๒
********************************* ขอบคุณทุกท่านที่เข้าอ่านครับ
Create Date : 01 มีนาคม 2549 |
|
0 comments |
Last Update : 1 มีนาคม 2549 14:40:55 น. |
Counter : 693 Pageviews. |
|
 |
|
|
|
|
|
|