Group Blog
 
<<
มีนาคม 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
23 มีนาคม 2549
 
All Blogs
 

ธรรมที่ต่างกันโดยพยัญชนะแต่ตรงกันด้วยอรรถะ

วานนี้ผมยกเอาพระสูตรเกี่ยวกับมิจฉัตตะมากล่าว วันนี้จะยกเอาพระสูตรที่เมื่ออ่านแล้วจะมีการแสดงธรรมต่างกันกับพระสูตรที่ยกมาวานนี้ แต่แท้จริงแล้วมีความหมายตรงกัน กล่าวคือมิจฉัตตะนั้นประกอบด้วยธรรม10ประการอันผู้ประพฤติไม่ควรเสพ มิจฉัตตะ10ประการนั้นคือ
1.ความเห็นผิด
2.ความดำริผิด
3.วาจาผิด
4.การงานผิด
5.อาชีพผิด
6.ความพยายามผิด
7.ระลึกผิด
8.ความตั้งใจมั่นผิด
9.ความรู้ผิด
10.การหลุดพ้นผิด

เมื่อกล่าวเช่นนี้ บุคคลผู้ศึกษาหลายท่านอันมีอุปนิสัยต่างกัน ประสบการณ์ต่างกัน ความคุ้นเคยกับการอธิบายต่างกัน ดังนั้นบางท่านอาจอ่านแล้วมองเห็นเนื้อความได้ชัดแจ้ง นำไปปฏิบัติได้ทันที บางท่านอ่านแล้วรู้สึกไม่คุ้นเคย ยังมองไม่เห็นภาพ พระผู้มีพระภาคทรงสอนมนุษย์ทุกรูปทุกนามโดยเท่าเทียมกัน จึงมีพระสูตรอื่นขึ้นมายกตัวอย่างเช่น เมื่อพระพุทธองค์ตรัสไว้โดยย่อหลายครั้งว่าบุคคลควรรู้ในสิ่งที่เป็นธรรม เป็นประโยชน์ และรู้ในสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นประโยชน์ ครั้นแล้วเลือกปฏิบัติในสิ่งที่เป็นธรรม เป็นประโยชน์ โดยพระองค์ตรัสแล้วไม่ทรงอธิบายโดยพิสดาร ภิกษุต่างต้องการทราบความหมายของสิ่งที่เป็นธรรม เป็นประโยชน์ และสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นประโยชน์ ครั้งหนึ่งภิกษุพากันไปถามท่านพระอานนท์ ท่านพระอานนท์อธิบายว่าสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นประโยชน์คือมิจฉัตตะ10ประการข้างต้นนั้นเอง เมื่อพระผู้มีพระภาคทราบความเรื่องนี้ ได้ทรงสรรเสริญท่านพระอานนท์ว่าเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก อีกครั้งหนึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถึงสิ่งที่เป็นธรรม เป็นประโยชน์ ฯ เหล่าภิกษุพากันไปถามท่านพระมหากัจจานะ ท่านอธิบายความหมายของสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นประโยชน์ว่าคือธรรม10ประการ ดังนี้
1.การเป็นผู้ฆ่าสัตว์
2.การเป็นผู้ลักทรัพย์
3.การเป็นผู้ประพฤติผิดในกาม
4.การเป็นผู้พูดเท็จ
5.การเป็นผู้พูดส่อเสียด
6.การเป็นผู้พูดหยาบ
7.การเป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ
8.การเป็นผู้มีความอยากได้ของผู้อื่น(อภิชฌา)
9.การเป็นผู้มีจิตปองร้าย
10.การเป็นผู้มีความเห็นผิด
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบความเรื่องนี้ ได้ทรงสรรเสริญท่านพระมหากัจจานะว่าเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าธรรมทั้งสองบทนี้คือธรรมเดียวกันนั้นเอง หากแต่มีพยัญชนะต่างกัน มีอรรถะตรงกัน บางท่านทราบคำอธิบายของสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นประโยชน์ ว่าหมายถึงมิจฉัตตะแล้วเข้าใจได้ชัดเจนกว่า บางท่านทราบคำอธิบายในแบบของท่านพระมหากัจจานะแล้วเข้าใจได้ชัดเจนกว่า ดังนั้นวันนี้จะยกเอาพระสูตรอีกวรรคหนึ่งซึ่งมีอรรถะตรงกับพระสูตรของวานนี้ แต่มีพยัญชนะต่างออกไปมาเป็นตัวอย่างครับ ผู้ศึกษาอ่านแล้วพึงทราบว่าธรรมจากทั้งสองวรรคเมื่อปฏิบัติแล้วมีอานิสงส์เดียวกัน มีวิบากเดียวกัน

พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

**************************************************
เสวิตัพพาเสวิตัพพวรรคที่ ๕

[๑๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ไม่ควรเสพ ธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ๑ ลักทรัพย์ ๑ ประพฤติผิดในกาม ๑ พูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อ ๑ มีความอยากได้ของผู้อื่น ๑ มีจิตปองร้าย ๑ มีความเห็นผิด ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ไม่ควรเสพ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ควรเสพ ธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลเป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ๑ จากการลักทรัพย์ ๑ จากการประพฤติผิดในกาม ๑ จากการพูดเท็จ ๑ จากการพูดส่อเสียด ๑ จากการพูดคำหยาบ ๑ จากการพูดเพ้อเจ้อ ๑ ไม่อยากได้ของผู้อื่น ๑ มีจิตไม่คิดปองร้าย ๑ มีความเห็นชอบ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แลควรเสพ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ไม่ควรคบ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ควรคบ ... ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ควรเข้าไปนั่งใกล้ ... ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ไม่ควรบูชา ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรบูชา ... ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ไม่ควรสรรเสริญ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรสรรเสริญ ... ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ไม่ควรเคารพ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรเคารพ ... ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ไม่ควรยำเกรง ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรยำเกรง ... ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ไม่ควรให้ยินดี ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรให้ยินดี ... ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมไม่บริสุทธิ์ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมบริสุทธิ์ ... ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมครอบงำมานะไม่ได้ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมครอบงำมานะได้ ... ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมไม่เจริญด้วยปัญญา ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมเจริญด้วยปัญญา ... ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมประสพสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก ธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ๑ ลักทรัพย์ ๑ ประพฤติผิดในกาม ๑ พูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อ ๑ มีความอยากได้ของผู้อื่น ๑ มีจิตคิดปองร้าย ๑ มีความเห็นผิด ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อมประสพสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมประสพบุญเป็นอันมาก ธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลเป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ๑ จากการลักทรัพย์ ๑ จากการประพฤติผิดในกาม ๑ จากการพูดเท็จ ๑ จากการพูดส่อเสียด ๑ จากการพูดคำหยาบ ๑ จากการพูดเพ้อเจ้อ ๑ ไม่อยากได้ของผู้อื่น ๑ มีจิตไม่คิดปองร้าย ๑ มีความเห็นชอบ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อมประสพบุญเป็นอันมาก ฯ
[บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม10ประการนี้ ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ ไม่ควรบูชา ไม่ควรสรรเสริญ ไม่ควรเคารพ ไม่ควรยำเกรง ไม่ควรให้ยินดี ไม่บริสุทธิ์ ยกตน ปราศจากปัญญา ย่อมประสพสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก
1.การเป็นผู้ฆ่าสัตว์
2.การเป็นผู้ลักทรัพย์
3.การเป็นผู้ประพฤติผิดในกาม
4.การเป็นผู้พูดเท็จ
5.การเป็นผู้พูดส่อเสียด
6.การเป็นผู้พูดหยาบ
7.การเป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ
8.การเป็นผู้มีความอยากได้ของผู้อื่น(อภิชฌา)
9.การเป็นผู้มีจิตปองร้าย
10.การเป็นผู้มีความเห็นผิด

บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม10ประการนี้ ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ ควรบูชา ควรสรรเสริญ ควรเคารพ ควรยำเกรง ควรให้ยินดี บริสุทธิ์ ไม่ยกตน เจริญด้วยปัญญา ย่อมประสพบุญเป็นอันมาก
1.การเป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
2.การเป็นผู้งดเว้นจากการลักทรัพย์
3.การเป็นผู้งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
4.การเป็นผู้งดเว้นจากการพูดเท็จ
5.การเป็นผู้งดเว้นจากการพูดส่อเสียด
6.การเป็นผู้งดเว้นจากการพูดหยาบ
7.การเป็นผู้งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
8.การเป็นผู้ไม่มีความอยากได้ของผู้อื่น(อนภิชฌา)
9.การเป็นผู้ไม่มีจิตปองร้าย
10.การเป็นผู้มีความเห็นชอบ]


จบเสวิตัพพาเสวิตัพพวรรคที่ ๕

จบจตุตถปัณณาสก์ที่ ๔

********************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ




 

Create Date : 23 มีนาคม 2549
0 comments
Last Update : 23 มีนาคม 2549 17:27:25 น.
Counter : 607 Pageviews.


พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.