Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2548
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
13 ธันวาคม 2548
 
All Blogs
 
กรรมและการให้ผลของกรรม

ขอกล่าวถึงเรื่องสำคัญประการหนึ่งในคำสอนของพระผู้มีพระภาคครับ นั่นคือเรื่องของกรรม เป็นเรื่องปกติเลยครับที่เราจะเห็นคนอื่นๆที่รู้จักกันเกิดความท้อแท้ หมดความเลื่อมใสในพระศาสนาไปก็มากมาย ว่าเหตุใดกัน ผู้ทำกรรมดีจึงไม่ได้รับผลดีตอบสนอง ผู้มีธรรมอันลามกกลับรุ่งเรือง ขอให้เชื่อเถิดครับ ว่าพระศาสดาตรัสพระธรรมคำสอนไว้ดีแล้ว ถ้าศึกษาพระศาสนาโดยไม่เชื่อเรื่องของกรรมซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญนั้นก็กล่าวได้ว่า ศึกษาไปก็ไม่สามารถเข้าใจได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ครับ ดังนั้นถือโอกาสนี้ยกเอาพระสูตรอันเป็นเรื่องของกรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงอธิบายนั่นเองครับ

พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

*****************************************
๖. มหากัมมวิภังคสูตร (๑๓๖)

[๕๙๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน อันเคยเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ สมัยนั้นแล ท่านพระสมิทธิอยู่ในกระท่อมในป่า ครั้งนั้น ปริพาชกโปตลิบุตรเดินเล่นไปโดยลำดับ เข้าไปหาท่านพระสมิทธิยังที่อยู่แล้ว ได้ทักทายปราศรัยกับท่านพระสมิทธิ ครั้นผ่านคำทักทายปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๕๙๙] ปริพาชกโปตลิบุตร พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระสมิทธิดังนี้ว่า ดูกรท่านสมิทธิ ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระสมณโคดมดังนี้ว่า กายกรรมเป็นโมฆะ วจีกรรมเป็นโมฆะ มโนกรรมเท่านั้น จริง และว่าสมาบัติที่บุคคลเข้าแล้วไม่เสวยเวทนาอะไรๆ นั้น มีอยู่ ฯ

ท่านพระสมิทธิกล่าวว่า ดูกรโปตลิบุตรผู้มีอายุ ท่านอย่ากล่าวอย่างนี้ อย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคมิได้ตรัสอย่างนี้ว่า กายกรรมเป็นโมฆะ วจีกรรมเป็นโมฆะ มโนกรรมเท่านั้น จริง และว่าสมาบัติที่บุคคลเข้าแล้วไม่เสวยเวทนาอะไรๆ นั้น มีอยู่ ฯ

ป. ดูกรท่านสมิทธิ ท่านบวชมานานเท่าไรแล้ว ฯ

ส. ดูกรท่านผู้มีอายุ ไม่นาน เพียง ๓ พรรษา ฯ

ป. ในเมื่อภิกษุใหม่เข้าใจการระแวดระวังศาสดาถึงอย่างนี้แล้ว คราวนี้พวกเราจักพูดอะไรกะภิกษุผู้เถระได้ ดูกรท่านสมิทธิ บุคคลทำกรรมชนิดที่ประกอบด้วยความจงใจแล้ว ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เขาจะเสวยอะไร ฯ

ส. ดูกรโปตลิบุตรผู้มีอายุ เขาจะเสวยทุกข์ ฯ

ลำดับนั้น ปริพาชกโปตลิบุตรไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของท่านพระสมิทธิ แล้วลุกจากอาสนะหลีกไป ฯ
[ท่านพระสมิทธิผู้บวชเป้นภิกษุได้สามปีตอบช้อสงสัยของปริพาชกโปตลิบุตรได้ไม่กระจ่างแจ้ง ท่านเองก็ไม่ชัดเจนจึงไปสอบถามท่านพระอานนท์]

[๖๐๐] ครั้นปริพาชกโปตลิบุตรหลีกไปแล้วไม่นาน ท่านพระสมิทธิเข้าไปหาท่านพระอานนท์ยังที่อยู่ แล้วได้ทักทายปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านคำทักทายปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงบอกเรื่องเท่าที่ได้สนทนา กับปริพาชกโปตลิบุตรทั้งหมด แก่ท่านพระอานนท์ เมื่อท่านพระสมิทธิบอกแล้วอย่างนี้ ท่านพระอานนท์จึงได้กล่าวกะท่านพระสมิทธิดังนี้ว่า ดูกรท่านสมิทธิ เรื่องนี้มีเค้าพอจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้ มาเถิด เราทั้งสองพึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วกราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แก่เราอย่างไร เราพึงทรงจำคำพยากรณ์นั้นไว้อย่างนั้น ท่านพระสมิทธิรับคำท่านพระอานนท์ว่า ชอบแล้ว ท่านผู้มีอายุ ฯ

ต่อนั้น ท่านพระสมิทธิและท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลเรื่องเท่าที่ท่านพระสมิทธิ ได้สนทนากับปริพาชกโปตลิบุตรทั้งหมด แด่พระผู้มีพระภาค ฯ

[๖๐๑] เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลแล้วอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า ดูกรอานนท์ แม้ความเห็นของปริพาชกโปตลิบุตร เราก็ไม่ทราบชัด ไฉนเล่า จะทราบชัดการสนทนากันเห็นปานนี้ได้ โมฆบุรุษสมิทธินี้แล ได้พยากรณ์ปัญหาที่ควรแยกแยะพยากรณ์ของปริพาชกโปตลิบุตรแต่แง่เดียว ฯ
[ท่านพระอานนท์และท่านพระสมิทธิไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ กราบบังคมทูลเรื่องราวของปริพาชกโปตลิบุตร พระพุทธองค์ตรัสว่าท่านพระสมิทธิไม่สอบถามถึงทิฏฐิของปริพาชกโปตลิบุตรให้ชัดเจน แต่การที่ท่านพระสมิทธิพยากรณ์คำกล่าวของปริพาชกโดยส่วนเดียวว่าเมื่อบุคคลกระทำกรรมโดยจงใจแล้วจะให้ผลเป็นทุกข์นั้นไม่เป็นไปตามคำสอนของพระองค์]

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ ท่านพระอุทายีได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ถ้าท่านพระสมิทธิกล่าวหมายทุกข์ดังนี้แล้ว ไม่ว่าการเสวยอารมณ์ใดๆ ต้องจัดเข้าในทุกข์ทั้งนั้น ฯ
[ท่านพระอุทายีกราบทูลว่า คำพยากรณ์ของท่านพระสมิทธินั้นเป็นอันว่า ไม่ว่าการเสวยอารมณ์ใดๆ ต้องจัดเข้าในทุกข์ทั้งนั้น]

[๖๐๒] เมื่อท่านพระอุทายีกล่าวแล้วอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงเห็นความนอกหลู่นอกทางของโมฆบุรุษอุทายีนี้เถิด เรารู้แล้วละ เดี๋ยวนี้แหละ โมฆบุรุษอุทายีนี้โพล่งขึ้นโดยไม่แยบคาย ดูกรอานนท์ เบื้องต้นทีเดียว ปริพาชกโปตลิบุตรถามถึงเวทนา ๓ ถ้าโมฆบุรุษสมิทธิผู้ถูกถามนี้ จะพึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรโปตลิบุตรผู้มีอายุ บุคคลทำกรรมชนิดที่ประกอบด้วยความจงใจแล้ว ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ อันให้ผลเป็นสุข เขาย่อมเสวยสุข บุคคลทำกรรมชนิดที่ประกอบด้วยความจงใจแล้ว ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ อันให้ผลเป็นทุกข์ เขาย่อมเสวยทุกข์ บุคคลทำกรรมชนิดที่ประกอบด้วยความจงใจแล้ว ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ อันให้ผลไม่ทุกข์ไม่สุข เขาย่อมเสวยอทุกขมสุข ดูกรอานนท์ โมฆบุรุษสมิทธิเมื่อพยากรณ์อย่างนี้แล ชื่อว่าพยากรณ์โดยชอบแก่ปริพาชกโปตลิบุตร ก็แต่ว่าพวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นนั้น เป็นคนโง่ ไม่ฉลาด ใครเล่าจักรู้มหากัมมวิภังค์ของตถาคต ถ้าพวกเธอฟังตถาคตจำแนกมหากัมมวิภังค์อยู่ ฯ
[พระผุ้มีพระภาคตรัสแก่พระอานนท์ว่า คำกล่าวของท่านพระอุทายีนั้นนอกลุ่นอกทาง พระองค์สอนว่าเมื่อบุคคลทำกรรมโดยจงใจไม่ว่าทางกาย วาจา ใจ ถ้าเป็นกรรมที่ให้ผลเป็นทุกข์ เขาย่อมเสวยทุกข์ ถ้าเป็นกรรมที่ให้ผลเป็นสุข เขาย่อมเสวยสุข ถ้าเป็นกรรมที่ให้ผลไม่สุขไม่ทุกข์ เขาย่อมเสวยอทุกขมสุขเวทนา นี่เป็นความรู้ในมหากัมมวิภังค์ของพระตถาคต ซึ่งแท้จริงคือเนื้อหาของพระสูตรนี้นั่นเองครับ ดังพระองค์จะอธิบายต่อไปนี้ครับ]

ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคต เป็นกาลสมควรแล้ว ที่พระผู้มีพระภาคจะทรงจำแนกมหากัมมวิภังค์ ภิกษุทั้งหลายสดับต่อพระผู้มีพระภาคแล้วจักได้ทรงจำไว้ ฯ

พ. ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ

[๖๐๓] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรอานนท์ บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเหล่าไหน คือ
[บุคคลในโลกนี้มี 4 จำพวก]

(๑) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง มักถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ มักประพฤติผิดในกาม มักพูดเท็จ มักพูดส่อเสียด มักพูดคำหยาบ มักเจรจาเพ้อเจ้อ มากด้วยอภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิดอยู่ในโลกนี้ เขาตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ก็มี ฯ
[บุคคลบางคนในโลกนี้ทำบาปกรรมอันเลว ตายไปแล้ว เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก]

(๒) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง มักถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ มักประพฤติผิดในกาม มักพูดเท็จ มักพูดส่อเสียด มักพูดคำหยาบ มักเจรจาเพ้อเจ้อ มากด้วยอภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิดอยู่ในโลกนี้ เขาตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ก็มี ฯ
[บุคคลบางคนในโลกนี้ทำบาปกรรมอันเลว ตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์]

(๓) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต เว้นขาดจากอทินนาทาน เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นขาดจากพูดส่อเสียด เว้นขาดจากพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการเจรจาเพ้อเจ้อ ไม่มากด้วยอภิชฌา มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบอยู่ในโลกนี้ เขาตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ก็มี ฯ
[บุคคลบางคนในโลกนี้มีปกติทำกรรมดี ตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์]

(๔) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต เว้นขาดจากอทินนาทาน เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นขาดจากพูดส่อเสียด เว้นขาดจากพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการเจรจาเพ้อเจ้อ ไม่มากด้วยอภิชฌา มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบอยู่ในโลกนี้ เขาตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ก็มี ฯ
[บุคคลบางคนในโลกนี้มีปกติทำกรรมดี ตายไปแล้ว เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก]

[๖๐๔] ดูกรอานนท์ สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความตั้งใจมั่น ความประกอบเนืองๆ ความไม่ประมาท ความใส่ใจโดยชอบ ย่อมถูกต้องเจโตสมาธิมีรูปทำนองที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมเล็งเห็นบุคคลโน้น ผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง มักถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ มักประพฤติผิดในกาม มักพูดเท็จ มักพูดส่อเสียด มักพูดคำหยาบ มักเจรจาเพ้อเจ้อ มากด้วยอภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิดในโลกนี้ และเล็งเห็นผู้นั้นตายไปแล้ว เข้าถึงอบาย ทุคติ วิบาต นรกได้ ด้วยจักษุเพียงดังทิพย์ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ สมณะหรือพราหมณ์นั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่ากรรมชั่วมี วิบากของทุจริตมี ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคลโน้น ผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิดในโลกนี้ และผู้นั้นตายไป เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ข้าพเจ้าก็เห็น แล้วกล่าวต่อไปอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่า ผู้ใดมักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิด ผู้นั้นทุกคนตายไปแล้วย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้โดยประการอื่น ความรู้ของชนเหล่านั้นผิด สมณะหรือพราหมณ์นั้นจะพูดปักลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง โดยประการนั้นแหละ ในที่นั้นๆ ตามกำลังและความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า ฯ
[สมณะหรือพราหมณ์บางคนสามารถเล็งเห็นด้วยเจโตสมาธิของตนว่าผลของกรรมเป็นดังบุคคลจำพวกแรกข้างต้น-ทำกรรมชั่วไปสุ่ทุคติ จึงยึดถือและปักใจเชื่อ กล่าวว่าความเห็นผู้อื่นผิด ความเห็นตนถูก]

[๖๐๕] ดูกรอานนท์ ส่วนสมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความตั้งใจมั่น ความประกอบเนืองๆ ความไม่ประมาท ความใส่ใจโดยชอบ ย่อมถูกต้องเจโตสมาธิมีรูปทำนองที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมเล็งเห็นบุคคลโน้น ผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิดในโลกนี้ และเล็งเห็นผู้นั้นตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ได้ ด้วยจักษุเพียงดังทิพย์ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ สมณะหรือพราหมณ์นั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่ากรรมชั่วไม่มี วิบากของทุจริตไม่มี ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคลโน้นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิดในโลกนี้ และผู้นั้นตายไป เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ข้าพเจ้าก็เห็น แล้วกล่าวต่อไปอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่าผู้ใดมักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิด ผู้นั้นทุกคนตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้โดยประการอื่น ความรู้ของชนเหล่านั้นผิด สมณะหรือพราหมณ์นั้นจะพูดปักลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง โดยประการนั้นแหละ ในที่นั้นๆ ตามกำลังและความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า ฯ
[สมณะหรือพราหมณ์บางคนสามารถเล็งเห็นด้วยเจโตสมาธิของตนว่าผลของกรรมเป็นดังบุคคลจำพวกที่สองข้างต้น-ทำกรรมชั่วไปสู่สุคติ จึงยึดถือและปักใจเชื่อ กล่าวว่าความเห็นผู้อื่นผิด ความเห็นตนถูก]


[๖๐๖] ดูกรอานนท์ สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความตั้งใจมั่น ความประกอบเนืองๆ ความไม่ประมาท ความใส่ใจโดยชอบ ย่อมถูกต้องเจโตสมาธิมีรูปทำนองที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมเล็งเห็นบุคคลโน้น ผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต เว้นขาดจากอทินนาทาน เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นขาดจากพูดส่อเสียด เว้นขาดจากพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการเจรจาเพ้อเจ้อ ไม่มากด้วยอภิชฌา มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบในโลกนี้ และเล็งเห็นผู้นั้นเมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ได้ ด้วยจักษุเพียงดังทิพย์ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ สมณะหรือพราหมณ์นั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่า กรรมดีมี วิบากของสุจริตมี ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคลโน้น ผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลกนี้ และผู้นั้นตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ข้าพเจ้าก็เห็น แล้วกล่าวต่อไปอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่า ผู้ใดเว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบ ผู้นั้นทุกคนตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้โดยประการอื่น ความรู้ของชนเหล่านั้นผิด สมณะหรือพราหมณ์นั้นจะพูดปักลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง โดยประการนั้นแหละ ในที่นั้นๆ ตามกำลังและความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า ฯ
[สมณะหรือพราหมณ์บางคนสามารถเล็งเห็นด้วยเจโตสมาธิของตนว่าผลของกรรมเป็นดังบุคคลจำพวกที่สามข้างต้น-ทำกรรมดีไปสู่สุคติ จึงยึดถือและปักใจเชื่อ กล่าวว่าความเห็นผู้อื่นผิด ความเห็นตนถูก]

[๖๐๗] ดูกรอานนท์ ส่วนสมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความตั้งใจมั่น ความประกอบเนืองๆ ความไม่ประมาท ความใส่ใจโดยชอบ ย่อมถูกต้องเจโตสมาธิมีรูปทำนองที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมเล็งเห็นบุคคลโน้น ผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลกนี้ และเล็งเห็นผู้นั้นตายไปแล้ว เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกได้ ด้วยจักษุเพียงดังทิพย์ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ สมณะหรือพราหมณ์นั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่า กรรมดีไม่มี วิบากของสุจริตไม่มี ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคลโน้น ผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลกนี้ และผู้นั้นตายไป เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ข้าพเจ้าก็เห็นแล้วกล่าวต่อไปอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่า ผู้ใดเว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบ ผู้นั้นทุกคนตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้โดยประการอื่น ความรู้ของชนเหล่านั้นผิด สมณะหรือพราหมณ์นั้นจะพูดปักลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง โดยประการนั้นแหละ ในที่นั้นๆ ตามกำลังและความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า ฯ
[สมณะหรือพราหมณ์บางคนสามารถเล็งเห็นด้วยเจโตสมาธิของตนว่าผลของกรรมเป็นดังบุคคลจำพวกที่สี่ข้างต้น-ทำกรรมดีไปสู่ทุคติ จึงยึดถือและปักใจเชื่อ กล่าวว่าความเห็นผู้อื่นผิด ความเห็นตนถูก]

[๖๐๘] ดูกรอานนท์ ในสมณะหรือพราหมณ์ ๔ จำพวกนั้น เราอนุมัติ วาทะของสมณะหรือพราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่า กรรมชั่วมี วิบากของทุจริตมี แม้วาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคลโน้น ผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิดในโลกนี้ และผู้นั้นตายไปแล้ว เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ข้าพเจ้าก็เห็น นี้เราก็อนุมัติ ส่วนวาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่า ผู้ใดมักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิด ผู้นั้นทุกคนตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก นี้เรายังไม่อนุมัติ แม้วาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้โดยประการอื่น ความรู้ของชนเหล่านั้นผิด นี้เราก็ยังไม่อนุมัติ แม้วาทะของเขาที่พูดปักลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง นั้นแหละในที่นั้นๆ ตามกำลังและความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า นี้เราก็ยังไม่อนุมัติ นั่นเพราะเหตุไร ดูกรอานนท์ เพราะตถาคตมีญาณในมหากัมมวิภังค์เป็นอย่างอื่น ฯ
[พระพุทธองค์อธิบายว่า ในความเห็นของสมณะพราหมณ์พวกแรก
1.สมณะพราหมณ์เห็นผู้ทำกรรมชั่วไปสู่ทุคติ พระองค์รับรองในข้อนี้
2.สมณะพราหมณ์กล่าวว่าผู้ทำกรรมชั่วไปสู่ทุคติ พระองค์ไม่รับรองในข้อนี้
3.ความเห็นตามข้อ2ที่สมณะพราหมณ์ยืนยันว่าถูกต้อง ความเห็นผู้อื่นผิด พระองค์ไม่รับรองในข้อนี้
4.สมณะพราหมณ์ยืนยันความเเห็นข้อ2ว่าจริง เพราะตนรู้เอง เห็นเอง ทราบเอง พระองค์ไม่รับรองในข้อนี้
ทั้งนี้เพราะพระพุทธองค์มีญาณในมหาวิกัมมวิภังค์เป็นอย่างอื่น]


[๖๐๙] ดูกรอานนท์ ในสมณะหรือพราหมณ์ ๔ จำพวกนั้น เราไม่อนุมัติ วาทะของสมณะหรือพราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่า กรรมชั่วไม่มี วิบากของทุจริตไม่มี แต่วาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคลโน้น ผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิดในโลกนี้ และผู้นั้นตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ข้าพเจ้าก็เห็น นี้เราอนุมัติ ส่วนวาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่า ผู้ใดมักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิด ผู้นั้นทุกคนตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี้เรายังไม่อนุมัติ แม้วาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้โดยประการอื่น ความรู้ของชนเหล่านั้นผิด นี้เราก็ยังไม่อนุมัติ แม้วาทะของเขาที่พูดปักลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเองนั้นแหละ ในที่นั้นๆ ตามกำลังและความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า นี้เราก็ยังไม่อนุมัติ นั่นเพราะเหตุไร ดูกรอานนท์ เพราะตถาคตมีญาณในมหากัมมวิภังค์เป็นอย่างอื่น ฯ
[ในความเห็นของสมณะพราหมณ์พวกที่สอง
1.สมณะพราหมณ์เห็นผู้ทำกรรมชั่วไปสู่สุคติ พระองค์รับรองในข้อนี้
2.สมณะพราหมณ์กล่าวว่าผู้ทำกรรมชั่วไปสู่สุคติ พระองค์ไม่รับรองในข้อนี้
3.ความเห็นตามข้อ2ที่สมณะพราหมณ์ยืนยันว่าถูกต้อง ความเห็นผู้อื่นผิด พระองค์ไม่รับรองในข้อนี้
4.สมณะพราหมณ์ยืนยันความเเห็นข้อ2ว่าจริง เพราะตนรู้เอง เห็นเอง ทราบเอง พระองค์ไม่รับรองในข้อนี้
ทั้งนี้เพราะพระพุทธองค์มีญาณในมหาวิกัมมวิภังค์เป็นอย่างอื่น]


[๖๑๐] ดูกรอานนท์ ในสมณะหรือพราหมณ์ ๔ จำพวกนั้น เราอนุมัติ วาทะของสมณะหรือพราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่า กรรมดีมีวิบากของสุจริตมี แม้วาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าเห็นบุคคลโน้น ผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลกนี้ และผู้นั้นตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ข้าพเจ้าก็เห็น นี้เราก็อนุมัติ ส่วนวาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่า ผู้ใดเว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบ ผู้นั้นทุกคนตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี้เรายังไม่อนุมัติ แม้วาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้โดยประการอื่น ความรู้ของชนเหล่านั้นผิด นี้เราก็ยังไม่อนุมัติ แม้วาทะของเขาที่พูดปักลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง นั้นแหละในที่นั้นๆ ตามกำลังและความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า นี้เราก็ยังไม่อนุมัติ นั่นเพราะเหตุไร ดูกรอานนท์ เพราะตถาคตมีญาณในมหากัมมวิภังค์เป็นอย่างอื่น ฯ
[ในความเห็นของสมณะพราหมณ์พวกที่สาม
1.สมณะพราหมณ์เห็นผู้ทำกรรมดีไปสู่สุคติ พระองค์รับรองในข้อนี้
2.สมณะพราหมณ์กล่าวว่าผู้ทำกรรมดีไปสู่สุคติ พระองค์ไม่รับรองในข้อนี้
3.ความเห็นตามข้อ2ที่สมณะพราหมณ์ยืนยันว่าถูกต้อง ความเห็นผู้อื่นผิด พระองค์ไม่รับรองในข้อนี้
4.สมณะพราหมณ์ยืนยันความเเห็นข้อ2ว่าจริง เพราะตนรู้เอง เห็นเอง ทราบเอง พระองค์ไม่รับรองในข้อนี้
ทั้งนี้เพราะพระพุทธองค์มีญาณในมหาวิกัมมวิภังค์เป็นอย่างอื่น]



[๖๑๑] ดูกรอานนท์ ในสมณะหรือพราหมณ์ ๔ จำพวกนั้น เราไม่อนุมัติวาทะของสมณะหรือพราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่า กรรมดีไม่มี วิบากของสุจริตไม่มี แต่วาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคลโน้น ผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลกนี้ และผู้นั้นตายไปแล้วเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ข้าพเจ้าก็เห็น นี้เราอนุมัติ ส่วนวาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่า ผู้ใดเว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบ ผู้นั้นทุกคนตายไปแล้วย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก นี้ เรายังไม่อนุมัติ แม้วาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้โดยประการอื่น ความรู้ของชนเหล่านั้นผิด นี้เราก็ยังไม่อนุมัติ แม้วาทะของเขาที่พูดปักลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเองนั้นแหละ ในที่นั้นๆ ตามกำลังและความแน่ใจว่านี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า นี้เราก็ยังไม่อนุมัติ นั่นเพราะเหตุไร ดูกรอานนท์ เพราะตถาคตมีญาณในมหากัมมวิภังค์เป็นอย่างอื่น ฯ
[ในความเห็นของสมณะพราหมณ์พวกที่สี่
1.สมณะพราหมณ์เห็นผู้ทำกรรมดีไปสู่ทุคติ พระองค์รับรองในข้อนี้
2.สมณะพราหมณ์กล่าวว่าผู้ทำกรรมดีไปสู่ทุคติ พระองค์ไม่รับรองในข้อนี้
3.ความเห็นตามข้อ2ที่สมณะพราหมณ์ยืนยันว่าถูกต้อง ความเห็นผู้อื่นผิด พระองค์ไม่รับรองในข้อนี้
4.สมณะพราหมณ์ยืนยันความเเห็นข้อ2ว่าจริง เพราะตนรู้เอง เห็นเอง ทราบเอง พระองค์ไม่รับรองในข้อนี้
ทั้งนี้เพราะพระพุทธองค์มีญาณในมหาวิกัมมวิภังค์เป็นอย่างอื่น]


[๖๑๒] ดูกรอานนท์ ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลที่เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิดในโลกนี้ ตายไปแล้ว เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก นี้ เป็นอันว่า เขาทำกรรมชั่วที่ให้ผลเป็นทุกข์ไว้ในกาลก่อน หรือในกาลภายหลัง หรือว่ามีมิจฉาทิฐิพรั่งพร้อม สมาทานแล้วในเวลาจะตาย เพราะฉะนั้น เขาตายไป จึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ก็แหละบุคคลที่เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิดในโลกนี้นั้น เขาย่อมเสวยวิบากของกรรมนั้นในชาตินี้ หรือในชาติหน้า หรือในชาติต่อไป ฯ
[เหตุผลที่พระตถาคตกล่าวดังข้างต้นคือ
1.ผุ้มีปกติทำกรรมชั่วไปสุ่ทุคติ เป็นเพราะ
1.1เขาทำกรรมชั่วที่ให้ผลเป็นทุกข์ไว้ในกาลก่อน หรือกาลต่อมา
1.2เขามีมิจฉาทิฏฐิพรั่งพร้อม สมาทานไว้ในเวลาจะตาย
ส่วนผลกรรมชั่วที่เขาทำเป็นปกตินั้น เขาย่อมได้รับในชาตินี้ หรือในชาติหน้า หรือในชาติต่อไป]


[๖๑๓] ดูกรอานนท์ ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลที่เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิดในโลกนี้ ตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์นี้ เป็นอันว่า เขาทำกรรมดีที่ให้ผลเป็นสุขไว้ในกาลก่อนๆ หรือในกาลภายหลัง หรือว่ามีสัมมาทิฐิพรั่งพร้อม สมาทานแล้วในเวลาจะตาย เพราะฉะนั้น เขาตายไปจึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ก็แหละบุคคลที่เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิดในโลกนี้นั้น เขาย่อมเสวยวิบากของกรรมนั้นในชาตินี้ หรือในชาติหน้า หรือในชาติต่อไป ฯ
[2.ผุ้มีปกติทำกรรมชั่วไปสุ่สุคติ เป็นเพราะ
2.1เขาทำกรรมดีที่ให้ผลเป็นสุขไว้ในกาลก่อน หรือกาลต่อมา
2.2เขามีสัมมาทิฏฐิพรั่งพร้อม สมาทานไว้ในเวลาจะตาย
ส่วนผลกรรมชั่วที่เขาทำเป็นปกตินั้น เขาย่อมได้รับในชาตินี้ หรือในชาติหน้า หรือในชาติต่อไป]


[๖๑๔] ดูกรอานนท์ ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลที่เว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลกนี้ ตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์นี้ เป็นอันว่า เขาทำกรรมดีที่ให้ผลเป็นสุขไว้ในกาลก่อนๆ หรือในกาลภายหลัง หรือว่ามีสัมมาทิฐิพรั่งพร้อม สมาทานแล้วในเวลาจะตาย เพราะฉะนั้น เขาตายไป จึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ก็แหละบุคคลที่เว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลกนี้นั้น เขาย่อมเสวยวิบากของกรรมนั้นในชาตินี้ หรือในชาติหน้า หรือในชาติต่อไป ฯ
[3.ผุ้มีปกติทำกรรมดีไปสุ่สุคติ เป็นเพราะ
3.1เขาทำกรรมดีที่ให้ผลเป็นสุขไว้ในกาลก่อน หรือกาลต่อมา
3.2เขามีสัมมาทิฏฐิพรั่งพร้อม สมาทานไว้ในเวลาจะตาย
ส่วนผลกรรมดีที่เขาทำเป็นปกตินั้น เขาย่อมได้รับในชาตินี้ หรือในชาติหน้า หรือในชาติต่อไป]


[๖๑๕] ดูกรอานนท์ ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลที่เว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลกนี้ ตายไปแล้ว เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก นี้ เป็นอันว่า เขาทำกรรมชั่วที่ให้ผลเป็นทุกข์ไว้ในกาลก่อนๆ หรือในกาลภายหลัง หรือว่ามีมิจฉาทิฐิพรั่งพร้อม สมาทานแล้วในเวลาจะตาย เพราะฉะนั้น เขาตายไปจึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ก็แหละบุคคลที่เว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลกนี้นั้น เขาย่อมเสวยวิบาก ของกรรมนั้นในชาตินี้ หรือในชาติหน้า หรือในชาติต่อไป ฯ
[4.ผุ้มีปกติทำกรรมดีไปสุ่ทุคติ เป็นเพราะ
4.1เขาทำกรรมชั่วที่ให้ผลเป็นทุกข์ไว้ในกาลก่อน หรือกาลต่อมา
4.2เขามีมิจฉาทิฏฐิพรั่งพร้อม สมาทานไว้ในเวลาจะตาย
ส่วนผลกรรมดีที่เขาทำเป็นปกตินั้น เขาย่อมได้รับในชาตินี้ หรือในชาติหน้า หรือในชาติต่อไป]


[๖๑๖] ดูกรอานนท์ ด้วยประการนี้แล กรรมไม่ควร ส่องให้เห็นว่าไม่ควรก็มี ให้เห็นว่าควรก็มี และกรรมที่ควรแท้ๆ ส่องให้เห็นว่าควรก็มี ให้เห็นว่าไม่ควรก็มี ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์จึงชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ

จบ มหากัมมวิภังคสูตร ที่ ๖

*****************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ


Create Date : 13 ธันวาคม 2548
Last Update : 13 ธันวาคม 2548 18:14:55 น. 0 comments
Counter : 518 Pageviews.

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.