Last Days วันหลุดพ้น



Last Days
วันหลุดพ้น

Starpics Movie Edition ฉบับที่ 687 กันยายน 2549


*หากนับจากอัลบั้ม Nevermind ปี 1991 ภายใต้ชื่อวง Nirvana ซึ่งถือเป็นการแนะนำตัว เคิร์ต โคเบน ให้โลกได้รู้จักอย่างเป็นทางการ จนถึงวันที่เขาลาจากโลกนี้ไปในปี 1994 นับว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสำเร็จที่สั้นยิ่งนัก โดยเฉพาะหากเปรียบเทียบกับคนดังที่จากไปก่อนวัยอันควร และได้รับการเล่าขานจดจารกันต่อมาในฐานะ “ตำนาน”

ปัจจัยใดบ้างที่ส่งให้ เคิร์ต โคเบน เป็นตำนาน...ความสำเร็จ? เพลงฮิต? ยอดขาย? เหล่านี้ไม่ใช่มาตรวัดหรือใบรับรองว่าใครควรจะได้ตำแหน่งนั้น แน่นอนว่า เคิร์ต โคเบน ประสบความสำเร็จสูงสุด มีเพลงฮิตและอัลบั้มที่มียอดจำหน่ายจำนวนมหาศาล แต่ความสำเร็จที่ว่านั้นจะไม่มีความหมายต่อการเป็นตำนานหากมันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ใหม่ในวงการดนตรีที่สร้างแรงกระเพื่อมรุนแรงจนมีผลต่อทิศทางดนตรีทั่วโลก...อย่างที่ เคิร์ต โคเบน ทำได้สำเร็จ

จากซิงเกิล “Smell Like Teen Spirit” ซึ่งโด่งดังทะลุชาร์ต จนส่งให้อัลบั้ม Nevermind ขายดิบขายดีกระทั่งเขี่ยอัลบั้ม Dangerous ของ ไมเคิล แจ๊คสัน หล่นบังลังก์ ความหมายเบื้องหลังความสำเร็จนี้ก็คือ ดนตรีสไตล์อัลเทอร์เนทีฟ ร็อค ได้ผงาดเหนือเพลงป๊อป พร้อมกับเปิดพื้นที่ให้วงดนตรีแนวนี้อีกหลายวงได้รับความนิยมตามมา จนคำว่าอัลเทอร์เนทีฟ ร็อค หรือ “กรันจ์” กลายเป็นหนึ่งในกระแสหลักของวงการดนตรีช่วงต้นทศวรรษ 90

ในฐานะเป็นแกนหลักของวง ทั้งร้องนำ เล่นกีตาร์ และเขียนเพลง ความสำเร็จของเนียร์วานาจึงแยกไม่ออกกับชื่อของเคิร์ต โคเบน หรือหากจะพูดว่าเคิร์ต โคเบน คือเนียร์วานา ก็คงไม่ผิดนัก

ดนตรีร็อคที่มีนัยยะของการปลดปล่อย เมื่อได้เนื้อเพลงที่เข้าถึงความรู้สึกนึกคิดของวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวผู้ไร้ทิศทางและมองหาหลักยึด โคเบนจึงได้รับการสถาปนาเป็นกระบอกเสียงของเจเนอเรชั่นเอ็กซ์โดยปริยาย

เมื่อประกอบกับภาพลักษณ์เถื่อนถ่อย ก้าวร้าว ขณะเดียวกันก็ดูเปลี่ยวเหงา แปลกแยก รวมไปถึงแววตาโศก ผมสีทองไร้ระเบียบยาวประบ่า การแต่งกายเป็นเอกลักษณ์ และท่าเล่นกีตาร์แบบคนถนัดซ้าย ยิ่งทำให้โคเบนแตกต่างจากฮีโร่ดนตรีร็อคคนอื่นๆ เขากลายเป็นแบบอย่างที่คนหนุ่มสาวจำนวนมากยกย่องคลั่งไคล้ หรือแม้กระทั่งเทิดทูนบูชา

กระนั้น ยังมีปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ส่งให้เคิร์ต โคเบน กลายเป็นตำนานอย่างรวดเร็ว หากขาดข้อนี้ไปทำเนียบตำนานคงยังไม่เต็มใจเปิดต้อนรับเขาอย่างเต็มที่นัก ปัจจัยสำคัญที่ว่านั้นคือ “ความตาย” นั่นเอง

11 ปีหลังจากโคเบนเสียชีวิต กัส แวน แซนต์ สร้างหนังเรื่อง Last Days โดยประกาศชัดแจ้งว่ามีแรงบันดาลใจจาก “ความตาย” ครั้งนั้น

อันที่จริง แวน แซนต์มีดำริสร้างหนังชีวประวัติของโคเบนตั้งแต่หลายปีก่อน แต่เขาห่วงว่า คอร์ตนีย์ เลิฟ ภรรยาม่ายของโคเบน จะรับไม่ได้ รวมทั้งกังวลว่าครอบครัว แฟนๆ วงเนียร์นาวา และผู้ที่คลั่งไคล้เคิร์ต โคเบน จะมีปฏิกิริยาเช่นไรเมื่อได้ชม หลังจากจดๆ จ้องๆ อยู่นาน แวน แซนต์จึงตัดสินใจเปลี่ยนให้ เคิร์ต โคเบน เป็นเพียงแรงบันดาลใจ และพูดถึงเฉพาะช่วงเวลาสุดท้ายก่อนการเสียชีวิตเท่านั้น โดยหนังจะมีข้อความแจ้งไว้ชัดเจนว่า เหตุการณ์และตัวละครทั้งหมดเป็นเพียงเรื่องที่แต่งขึ้น

Last Days ถือว่าเป็นภาคสุดท้ายของ “ไตรภาคความตาย” หรือ Death Trilogy ของแวน แซนต์ โดย 2 เรื่องก่อนหน้านี้คือ Gerry ปี 2002 เกี่ยวกับชายหนุ่ม 2 คน(แมตต์ เดมอน กับเคซีย์ แอฟเฟล็ค) เดินหลงอยู่ในทะเลทราย และ Elephant ปี 2003 อ้างอิงจากเหตุโศกนาฏกรรมในโรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ ซึ่งได้รับรางวัลปาล์มทองและผู้กำกับยอดเยี่ยมที่เมืองคานส์

ทั้ง 3 เรื่อง นอกจากจะมีจุดร่วมตรงบทลงท้ายว่าด้วยความตายแล้ว รูปแบบโดยรวมยังใกล้เคียงกันอย่างยิ่ง กล่าวคือ พล็อตเรื่องบางเบาจนแทบจับต้องไม่ได้ ไม่มีบทตอนกระตุ้นอารมณ์หรือนำเสนอเรื่องราวให้น่าติดตาม ตัวละครไร้ที่มาที่ไป ไม่มีเหตุผลแน่ชัดในการกระทำ บทสนทนาน้อยนิด ส่วนใหญ่เป็นการด้นสดของผู้แสดง แต่ละเรื่องมีฉากที่ถ่ายทำแบบ long take หลายฉาก โดยเคลื่อนกล้องอย่างเนิบช้าอ้อยอิ่ง หรือไม่ก็เป็นการตั้งวางนิ่งสนิทอยู่กับที่ รูปแบบที่ว่ามานี้ล้วนแต่ไม่น่าดึงดูดและดูน่าเบื่อสำหรับคนส่วนใหญ่


Last Days เริ่มต้นด้วยภาพชายหนุ่มผมยาวประบ่าในชุดเสื้อยืดสีขาว กางเกงขายาวสีแดง เดินเก้ๆ กังๆ เหมือนคนไร้เรี่ยวแรงลุยป่ามาถึงน้ำตก ได้ยินคำพูดจากปากเขาเบาๆ เป็นห้วงๆ จะเป็นบทกวี เนื้อเพลง หรือเขาแค่พูดกับตนเอง ไม่อาจล่วงรู้... คืนนั้นเขาก่อไฟและพักแรมในป่า เช้ารุ่งขึ้นจึงเดินโซซัดโซเซกลับไปยังบ้านหลังใหญ่

ชายคนนี้ชื่อ เบลค(ไมเคิล พิตต์) เรื่องราวเพียงน้อยนิดหลังจากนั้นทำให้ทราบว่าเขาเป็นศิลปินนักร้อง-นักดนตรีที่หลบหน้าผู้คนมากบดานที่นี่ เวลาส่วนใหญ่ของหนังหมดไปกับภาพการกระทำที่ดูไร้จุดหมาย-ไร้สติ เช่น ปรุงอาหาร เล่นดนตรี ดูโทรทัศน์ นั่งเหม่อลอย

การกระทำของเบลคที่เห็นจุดมุ่งหมายชัดเจนมีเพียงประการเดียวคือ การหลบหนี

คนอื่นๆ ที่ปรากฏตัวในหนัง มีกลุ่มหนุ่ม-สาวซึ่งแวะมาพักและจัดปาร์ตี้ในบ้านหลังใหญ่ ประกอบด้วย สก๊อต(สก๊อต แพทริค กรีน) ลุค(ลูคัส ฮาส) เอเชีย(เอเชีย อาร์เจนโต) และนิโคล(นิโคล วิเชียส) นักสืบ(ริคกี้ เจย์) ที่มาตามหาเบลค พร้อมกับชายหนุ่มชื่อโดโนแวน(ไรอัน โอเรียน) นอกจากนี้ มีเซลส์แมนขายโฆษณาในสมุดหน้าเหลือง และฝาแฝดเผยแผ่ศาสนาที่แวะมายังบ้านหลังใหญ่

แม้จะดูไร้เรี่ยวแรงไม่ได้สติในบางเวลา แต่ไม่มีภาพเบลคเสพยาให้เห็น มีเพียงบุหรี่ที่เขาจุดสูบบ่อยครั้ง ทั้งยังไม่มีอาการหดหู่เศร้าซึมรุนแรงจนอาจเป็นสัญญาณของคนคิดฆ่าตัวตาย สิ่งที่สัมผัสได้จากเบลคมีแค่พฤติกรรมที่แสดงถึงความต้องการหันหลังให้กับอะไรบางอย่างซึ่งเคยมีอิทธิพลต่อชีวิตเขา เมื่อเกินควบคุมจนไม่อาจหยุดยั้งได้ ทางเดียวที่จะหนีให้พ้นคือการปลิดชีวิตตนเอง

เพื่อทำความเข้าใจหนังเรื่องนี้ จำเป็นต้องย้อนกลับไปดูประวัติช่วงสุดท้ายของเคิร์ต โคเบน ว่าเป็นเช่นใด หนังมีส่วนเหมือนหรือต่างอย่างไรกับเหตุการณ์จริง ทั้งนี้เพราะภาพลักษณ์และบุคลิกของตัวละคร รวมทั้งเหตุการณ์ในหนังชวนให้นึกว่าเป็นเรื่องของเคิร์ต โคเบน โดยตรง ถึงแม้ แวน แซนต์ จะออกตัวว่า Last Days เป็นเพียงเรื่องแต่งที่ได้แรงบันดาลใจจากศิลปินผู้เป็นตำนานคนนั้น

ประวัติช่วงสุดท้ายเริ่มต้นเมื่อโคเบนสิ้นสุดทัวร์คอนเสิร์ตในยุโรปในเดือนมีนาคม 1994 เขาเริ่มมีปัญหาเรื่องสุขภาพและการใช้ยาเกินขนาดจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในสภาพไม่รู้สึกตัว คอร์ตนีย์ เลิฟ ภรรยาของโคเบนยืนยันว่า นี่คือความพยายามฆ่าตัวตายครั้งแรก

หลังจากนั้น โคเบนยังมีปัญหาเรื่องการใช้ยาอยู่ตลอด เลิฟจัดการให้เขาเข้ารับการบำบัดในลอส แองเจลิส แต่ไม่กี่วันต่อมาโคเบนหนีออกมาจากสถานที่นั้น ขึ้นเครื่องบินกลับมายังบ้านเก่าที่รัฐวอชิงตัน เขาใช้เวลาหลายวันตระเวนเรื่อยไปตามสถานที่ต่างๆ ในซีแอตเติ้ล โดยที่ครอบครัวและเพื่อนๆ ไม่รู้เลยว่าเขาอยู่ที่ไหนกันแน่

เช้าวันที่ 8 เมษายน มีผู้พบร่างไร้ชีวิตของเคิร์ต โคเบน ในห้องเก็บของภายในบริเวณบ้านเก่า สภาพศพมีเลือดไหลออกมาทางหู ไม่มีร่องรอยบาดแผล ปืน 1 กระบอกตกอยู่ข้างลำตัว ไม่ไกลกันนั้นมีกระดาษเขียนด้วยลายมือของโคเบนวางอยู่ใต้กระถางต้นไม้ คาดว่าเขาเสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน

*อันที่จริง ช่วงสุดท้ายของโคเบนมีรายละเอียดที่ถูกบันทึกไว้มากมายโดยประมวลจากคำบอกเล่าของใครหลายคนที่พบโคเบนในช่วงเวลานั้น ทั้งยังมีความคิดเห็นแตกต่างในประเด็นที่ว่าจริงๆ แล้วโคเบนฆ่าตัวตายหรือถูกฆาตกรรมให้ถกเถียงขุดคุ้ยกันจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในเมื่อแวน แซนต์ ต้องการเพียงแรงบันดาลใจในการทำ Last Days ข้อเท็จจริงที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยจึงไม่จำเป็น

เมื่อนำเรื่องราวในหนังมาวางทาบเปรียบเทียบกับช่วงสุดท้ายของโคเบนฉบับย่อข้างต้น จะพบว่าหนังจับเอาเรื่องราวตั้งแต่โคเบนหนีกลับมายังวอชิงตันจนสิ้นสุดที่การเสียชีวิต มาแต่งเติมด้วยจินตนาการของแวน แซนต์เอง และของนักแสดงผ่านการอิมโพรไวส์หรือด้นสดขณะถ่ายทำ ผสานกับรูปแบบ-กลวิธีการนำเสนอแบบไร้เรื่องราวแน่ชัด มองไม่เห็นทิศทางที่มาที่ไป ซึ่งแวน แซนต์เคยใช้มาแล้วใน Gerry และ Elephant ทำให้ช่วงสุดท้ายของชีวิตศิลปินที่ได้แรงบันดาลใจจากเคิร์ต โคเบน ยิ่งดูสับสนและเต็มไปด้วยคำถาม ไม่ต่างจากช่วงสุดท้ายของชีวิตศิลปินต้นแบบ

หนังใช้วิธีเล่าเหตุการณ์เดียวกันซ้ำๆ คล้ายกับวิธีที่ใช้ใน Elephant ต่างกันตรงที่ใน Elephant บางเหตุการณ์อาจจะเล่าถึง 2 หรือ 3 มุมมอง ตามแต่ว่าหนังกำลังติดตามตัวละครคนไหน โดยใช้มุมกล้องที่ต่างกันออกไป ขณะที่ใน Last Days จะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือฉากที่นำเสนอตัวละครคนอื่นเข้าไปเกี่ยวข้องกับเบลค กับฉากที่นำเสนอเบลคแล้วมีตัวละครคนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง มุมกล้องอาจจะซ้ำเดิม แต่เพิ่มระยะเวลาหรือตัดให้สั้นลงในรายละเอียด

เช่นฉากงานปาร์ตี้ของกลุ่มหนุ่ม-สาว 4 คนในบ้านหลังใหญ่ สก๊อตกับลุคได้เข้าไปพูดคุยกับเบลคในช่วงเวลาต่อเนื่องกัน เหตุการณ์นี้เล่าซ้ำ 2 ครั้ง ครั้งแรกคือตอนที่ลุคเข้าไปเสนอเดโมเทปกับเบลค และอีกครั้งเป็นตอนที่เบลคทำอาหารแล้วสก๊อตเข้ามาพูดคุยเรื่องค่าใช้จ่าย

เหตุการณ์ที่เบลคหลบหนีนักสืบกับโดโนแวนก็เช่นกัน หนังเล่าเหตุการณ์นี้ซ้ำ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อทั้งสองคนมาถึงบ้าน ภาพต่อมาคือเบลคกำลังวิ่งออกมานอกบ้าน กับอีกครั้ง เราได้เห็นเบลคอยู่ในบ้านขณะรู้ว่ามีคนมาตามหา จนได้เห็นเขาเริ่มต้นวิ่งหลบออกมา

วิธีการเล่าซ้ำนี้อาจจะสร้างความงุนงงสับสนให้แก่ผู้ชมพอสมควร ซ้ำยังอาจเบื่อหน่ายเพราะหนังไม่คืบหน้า แต่วิธีนี้ช่วยสื่อสะท้อนภาวะที่เบลค(หรืออาจจะรวมไปถึงเคิร์ต โคเบน) ต้องเผชิญอยู่ได้เป็นอย่างดี เพราะการเล่าซ้ำทำให้รู้สึกราวกับว่ามีคนมาขอความช่วยเหลือหรือหวังประโยชน์จากเขาไม่หยุดหย่อน รวมทั้งต้องหลบหนีสิ่งที่เขาต้องการหันหลังให้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่รู้สิ้นสุด

เมื่อรวมกับภาพความโดดเดี่ยว เปลี่ยวเหงา ไร้สถานที่ให้หยุดพักได้ยาวนาน ยิ่งช่วยให้เราเข้าใจว่าสำหรับคนบางคนเมื่อถึงจุดหนึ่ง การยุติชีวิตตนเองอาจเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะหลุดพ้นและหยุดพักได้อย่างแท้จริง

นอกจากบทสนทนาที่มีไม่มากนัก กับบทเพลงที่เป็นส่วนประกอบในบางฉาก หนังใส่เสียงประกอบไร้ที่มาที่ไปในฉากของเบลคบ่อยครั้งซึ่งน่าจะสื่อถึงสภาวะสับสนอื้ออึงในความคิด เช่น เสียงเร่งเครื่องยนต์ เสียงประตูรถ เสียงนาฬิกา หรือเสียงเพลงสวดในโบสถ์ในคืนสุดท้ายของเบลค ชัดเจนที่สุดคือเสียงเดินย่ำน้ำทั้งที่เบลคกำลังเดินบนที่แห้ง

เหตุการณ์เดินย่ำน้ำเกิดขึ้นจริงในซีเควนซ์เปิดเรื่องที่เบลคเดินย่ำหนองน้ำระหว่างทางกลับบ้าน มีคำสบถสั้นๆ ออกมาจากปากเบลคว่า “นี่มันปลักตมอันน่าทุเรศ” ดังนั้น เสียงย่ำน้ำที่ปรากฏให้ได้ยินจึงหมายถึงปลักตมที่มองไม่เห็นซึ่งห้อมล้อมตัวเขาอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

เมื่อพิจารณาในส่วนของตัวละครเปรียบเทียบกับเคิร์ต โคเบน จะเห็นว่าหนังไม่ได้สร้างตัวละครโดยถอดแบบเคิร์ต โคเบน มาทั้งหมด นอกจากบุคลิกภายนอก เช่น การแต่งกาย ทรงผม และลักษณะท่าทางซึ่งดูคลับคล้ายโคเบนมากแล้ว ในรายละเอียดซึ่งเป็นส่วนสำคัญราวกับเป็น “โลโก้” ของโคเบนอย่างการเล่นกีตาร์แบบคนถนัดซ้าย หนังปล่อยผ่านตรงจุดนี้โดยให้ ไมเคิล พิตต์ ผู้รับบทเบลค เล่นกีตาร์แบบคนถนัดขวา ขณะที่การเขียนหนังสือซึ่งโคเบนเขียนหนังสือมือขวา เบลคกลับเขียนด้วยมือซ้าย

*ไมเคิล พิตต์ นักแสดงหนุ่มซึ่งเคยแสดงหนังฉาวเรื่องดัง The Dreamers ของ แบร์นาโด แบร์โตลุคชี่ สวมบทศิลปินผู้เปลี่ยวเหงาซึ่งอ้างอิงจากเคิร์ต โคเบน ได้อย่างยอดเยี่ยม แม้ว่าหน้าตาจะไม่คล้ายโคเบนเท่าใดนัก แต่เมื่อแต่งหน้าและเสริมแต่งทรงผม ผสมกับการเลียนแบบลักษณะท่าทาง ทำให้หลายๆ ฉาก ผู้เขียนรู้สึกราวกับว่าเคิร์ต โคเบน โลดแล่นอยู่ในหนังจริงๆ ข้อได้เปรียบของพิตต์คือเขามีความสามารถด้านดนตรีอยู่แล้ว ฉากที่ต้องเล่นเครื่องดนตรีหลายชนิดจึงดูเป็นธรรมชาติมาก

นักแสดงคนอื่นๆ ทั้งสก๊อต แพทริค กรีน, ลูคัส ฮาส, เอเชีย อาร์เจนโต และนิโคล วิเชียส ไม่มีอะไรให้จับต้องมากนัก แต่ละคนมีบทเพียงผิวเผินและไม่สำคัญต่อหนัง ที่ต้องพูดถึงเป็นพิเศษมีเพียง คิม กอร์ดอน ร็อคเกอร์สาวจากวงโซนิค ยูธ ที่แสดงเป็นผู้บริหารค่ายเพลงมาพูดคุยปลอบใจเบลค ในชีวิตจริงเธอคือเพื่อนสนิทของเคิร์ต โคเบน และมั่นใจว่าเพื่อนของเธอถูกฆาตกรรม

งานกำกับภาพของ แฮร์ริส ซาวิเดส ยังคงโดดเด่นเสมอ ใน Last Days ซาวิเดสยังสนุกกับการเคลื่อนกล้องติดตามตัวละคร และถ่ายทอดบรรยากาศแวดล้อมช่วยสื่ออารมณ์ความรู้สึก เหมือนที่เขาเคยใช้อย่างได้ผลใน Gerry และ Elephant ผลงานเด่นเรื่องอื่นของซาวิเดสที่น่าจดจำเมื่อไม่นานมานี้คือการถ่ายภาพให้ความรู้สึกลึกลับหนาวสะท้านในเรื่อง Birth(2004) ของ โจนาธาน เกลเซอร์ ที่ นิโคล คิดแมน นำแสดง

อีกจุดหนึ่งที่ควรหยิบมากล่าวถึงสำหรับผลงานของ กัส แวน แซนต์ คือ นี่เป็นอีกครั้งที่เขาใส่ฉากความสัมพันธ์แบบชายกับชายลงไปในหนัง โดยข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่เปิดเผยมานานแล้วคือตัวกัส แวน แซนต์เองเป็นเกย์ ใน Elephant แวน แซนต์ให้ตัวละครเด็กผู้ชาย 2 คนที่เป็นฆาตกร กอดจูบกันในห้องน้ำ ซึ่งผู้เขียนมองว่าเรื่องราวที่อ้างอิงจากเหตุการณ์สะเทือนใจและยังหาคำตอบอันเป็นสาเหตุของโศกนาฏกรรมไม่ได้แน่ชัดนี้ การใส่ฉากรักร่วมเพศดังกล่าวลงไปถือเป็นการกระทำที่เลยเถิด

แต่สำหรับ Last Days มีฉากที่ตัวละครสก๊อตกับลุคซึ่งต่างมีคู่ขาเป็นผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์กันเอง และมีฉากที่เบลคเอาชุดสลิปของผู้หญิงมาใส่ และใช้แปรงของผู้หญิงแปรงผม นี่อาจจะเป็นความตั้งใจของแวน แซนต์ในการสื่อถึงตัวตนของเคิร์ต โคเบน เพราะโคเบนเคยบอกว่าตนเองมีจิตใจที่เป็นเกย์ และน่าจะเป็นไบเซ็กช่วล

แม้กัส แวน แซนต์ จะออกตัวอย่างแข็งขันว่า Last Days เป็นเพียงหนังที่ได้แรงบันดาลใจจากเคิร์ต โคเบน ทั้งยังแต่งเติมและเปลี่ยนแปลงเรื่องราวจากข้อเท็จจริงพอสมควร แต่ก็ถือได้ว่าหนังถ่ายทอดภาวะหลงคว้างบีบคั้นก่อนจะตัดสินใจปลิดชีวิตตนเองของโคเบนได้ในระดับที่น่าชื่นชม ในรูปรอยของเรื่องเล่าทางอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าจะเป็นเรื่องราวข้อเท็จจริงที่เต็มไปด้วยรายละเอียด

ถ้าจะเปรียบเทียบ...Last Days ย่อมไม่ใช่ดนตรีกรันจ์หนักแน่น มีท่อนริฟฟ์กีตาร์ จังหวะเบส-กลองกระแทกกระทั้น แต่เป็นเช่นภาพของชายหนุ่มผมยาวประบ่า ก้มหน้าหลบนัยน์ตาเศร้าไม่ให้ใครเห็น นั่งร้องเพลง-เล่นกีตาร์โปร่งจังหวะเชื่องช้าพลิ้วไหวซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก่อนที่เสียงเพลงจะค่อยๆ แผ่วเบา พร้อมกับไฟที่หรี่แสงลงจนดับสนิท...




 

Create Date : 07 เมษายน 2550
16 comments
Last Update : 1 กันยายน 2552 12:24:51 น.
Counter : 3356 Pageviews.

 

ถ้า น้า Kurt มาอยู่ในยุคนี้อาจถูกเรียกว่า Emo ก็ได้ครับ

แต่ผมว่ามันเทียบกันได้หรอก ความเศร้าแบบ Grunge (ซึ่งมักจะซ่อนความเกรี้ยวเอาไว้ด้วย) กับ ความเศร้าแบบ Emo (ในเด็กยุคปัจจุบัน) มันตื้นกว่านะ

เท่าที่อ่านเรื่องย่อจากในนี้ พอจะเข้าใจความรู้สึกของอีตาตัวเอกอยู่ระดับหนึ่ง เคยรู้สึกอยากตายมาวูบ ๆ แต่ไม่ใช่เพราะเศร้า มันเป็นความรู้สึกว่าง ๆ โหวง ๆ มองไม่เห็นอนาคต หรืออีกทีก็ไม่ค่อยอยากมอง ไม่ค่อยอยากมีอนาคตมากกว่านี้ ถ้าผมถูกรอบข้างกดดันแบบตัวเอกคนนี้ผมคงเผลอทำอะไรไปแล้วบ้างก็ได้

ช่วงนี้ผมก็หนี ๆ สังคมอีกแล้วล่ะครับ แต่โชคดีมีสาว ๆ 2D คอยเป็นแรงใจ จนกระทั่ง Minitrue มัน Block Youtube นั่นเอง !!! ทำให้ผมอดดู MV ดี ๆ แล้วยัง Anime อีก

นี้ผมบ่นยาวไปแน่เลยแฮะ

 

โดย: บ้าไปแล้ว -------> (ShadowServant ) 8 เมษายน 2550 2:03:59 น.  

 

อยากดูเรื่องนี้มาตั้งนานแล้วอ่ะค่ะ

 

โดย: tistoo 8 เมษายน 2550 15:31:50 น.  

 

ผมว่าอารมณ์เรื่อง The Last Day นี้คล้าย ๆ The Queen นะครับ คือคนเขียนเอาสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมาใช้จินตนาการขยายรายละเอียดได้อย่างน่าสนใจ

พูดถึง The Fountain ผมมองว่าที่ด้อยกว่า 2001 A sapace odyysey ส่วนหนึ่งคงต้องกล่าวว่าในฐานะวรรณกรรม อาร์เธอร์ ซี คลาร์ก ผู้เขียนที่สนใจแนวพุทธอยู่แล้วก็อัจฉริยะมากมายละครับ พอคูบลิคเอามาถ่ายทอดมันไม่ต้องเปลืองแรงคิดคอนเซปท์ใหม่

แต่ซี คลาร์กนี้แกอัจฉริยะจริง ๆ

 

โดย: I will see U in the next life. 8 เมษายน 2550 21:47:23 น.  

 


อ่านแล้วคิดถึงเคิร์ทเล่นเพลงนี้แบบอะคูสติกเลยอ่ะ
(ไม่รู้เกี่ยวกันไม๊ แต่นึกถึงจนหูแว่วมาเลยจริงๆ)

What else could I say
Everyone is gay
What else could I write
I don't have the right
What else should I be
All apologies

In the sun
In the sun I feel as one
In the sun
In the sun
Married
Buried
Married
Yeah yeah yeah yeah

I wish I was like you
Easily amused
Find my nest of salt
Everything is my fault
I'll take all the blame
Aqua seafoam shame
Sunburn with freezer burn
Choking on the ashes of her enemy

In the sun
In the sun I feel as one
In the sun
In the sun
Married
Buried
Married
Buried

Yeah yeah yeah yeah

All in all is all we are



... All Apologies by Nirvana ...



 

โดย: LunarLilies* 9 เมษายน 2550 14:20:39 น.  

 

พระพุทธศาสนาสอนว่า...การฆ่าตัวตายไม่ใช่หนทางหลุดพ้นจากความทุกข์

ปล.ไปร่วมลงชื่อเพื่อปกป้องและรักษามรดกโสตทัศน์ของชาติแล้วนะคะ

 

โดย: G IP: 203.113.76.9 9 เมษายน 2550 20:54:03 น.  

 

คงต้องไปหา Gerry มาดูบ้างละ จะได้ครบไตรภาค

 

โดย: renton_renton 12 เมษายน 2550 9:40:48 น.  

 


มาหวัดดีปีใหม่แบบไทยๆบอสหน่อย
(เก๊าะวันนี้เค้าให้ลูกหลานมารดน้ำผู้สูงอายุงาย 555)
อิอิ ล้อเล่นน่า บอสสุดหล่อของหนู
ขอให้ปีนี้เป็นปีที่ชุ่มฉ่ำ เย็นใส สบายใจ เหมือนสายน้ำที่ไหลเข้ามาหาในวันนี้เลยนะค้า
รักบอสน้า จ๊วบๆ


 

โดย: LunarLilies* 13 เมษายน 2550 11:02:41 น.  

 

มารดน้ำบอสสสด้วยคน สุขสันติ์วันผู้สูงอายุนะคะ อิอิอิ
มีความสุขมั่กๆๆๆ สุขกายสบายใจ ตลอดไปเลยน้า

 

โดย: G IP: 203.113.76.7 13 เมษายน 2550 19:20:17 น.  

 

 

โดย: renton_renton 3 ตุลาคม 2550 20:59:28 น.  

 

เพิ่งจะดูหนังเรื่องนี้จบเมื่อกี้เอง คิดถึง kurt ว่ะ

 

โดย: inutero IP: 125.24.223.35 18 มกราคม 2551 0:07:45 น.  

 

ขอสั้นๆ ผมรัก Nirvana .....

 

โดย: Trauma IP: 118.173.150.169 4 มิถุนายน 2551 17:03:34 น.  

 

ผมเคยดูครั้งหนึ่งเเต่เพิ่งมาเข้าใจทั้งหมดก็วันนี้
ผมโครตรักNirvanaเลยว่ะ
คิดถึงKurtว่ะ

 

โดย: Pea_grunge IP: 117.47.242.154 10 พฤศจิกายน 2551 3:27:48 น.  

 

อยากได้อ่ะซื้อได้ที่ไหนอ่ะ

 

โดย: em IP: 124.122.140.23 15 เมษายน 2552 23:29:38 น.  

 

เยี่ยมมากบล็อกนี้
น้าเคิร์ทคือฮีโร่

 

โดย: ผู้ร่วอุดมการณ์ IP: 118.174.12.30 1 กุมภาพันธ์ 2553 2:01:17 น.  

 

คิดถึง

 

โดย: koot IP: 111.84.193.205 15 มิถุนายน 2553 3:16:13 น.  

 

ติดตามวงนี้ตั้งแต่เริ่มต้น เสียดายในฝีมือ และเสียใจกับการตัดสินใจนี้ครับ

 

โดย: thai.nirvana IP: 58.9.27.29 16 ตุลาคม 2553 21:15:46 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
เมษายน 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
7 เมษายน 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.